พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๑๐. วิตักกสัณฐานสูตร

 
บ้านธัมมะ
วันที่  27 ส.ค. 2564
หมายเลข  36024
อ่าน  852

[เล่มที่ 18] พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 234

๑๐. วิตักกสัณฐานสูตร


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 18]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 8 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 234

๑๐. วิตักกสัณฐานสูตร

[๒๕๖] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้ :-

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี. ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเหล่านั้นทูลรับพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว.

เรื่องนิมิต ๕

[๒๕๗] พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสพระพุทธพจน์นี้ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้หมั่นประกอบอธิจิต ควรมนสิการถึงนิมิต ๕ ประการ ตามเวลาอันสมควร. นิมิต ๕ ประการเป็นไฉน. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เมื่อภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ อาศัยนิมิตใดแล้วมนสิการนิมิตใดอยู่ วิตกทั้งหลายอันเป็นบาปอกุศล ประกอบด้วยฉันทะบ้าง โทสะบ้าง โมหะบ้าง ย่อมเกิดขึ้น ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุนั้นควรมนสิการนิมิตอื่นจากนิมิตนั้น อันประกอบด้วยกุศล เมื่อเธอมนสิการนิมิตอื่นจากนิมิตนั้น อันประกอบด้วยกุศลอยู่ วิตกอันเป็นบาปอกุศล ประกอบด้วยฉันทะบ้าง โทสะบ้าง โมหะบ้าง อันเธอย่อมละเสียได้ ย่อมถึงความตั้งอยู่ไม่ได้ เพราะละวิตกอันเป็นบาปอกุศลเหล่านั้นได้ จิตย่อมตั้งอยู่ด้วยดี สงบ เป็นธรรมเอกผุดขึ้น ตั้งมั่น ในภายในนั้นแล. เหมือนช่างไม้หรือลูกมือของช่างไม้ผู้ฉลาด ใช้ลิ่มอันเล็กตอก โยก ถอนลิ่มอันใหญ่ออก แม้ฉันใด ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุก็ฉันนั้น เมื่ออาศัยนิมิตใดแล้ว มนสิการนิมิตใดอยู่ วิตกทั้งหลายอันเป็นบาปอกุศล ประกอบด้วยฉันทะบ้าง ประกอบด้วยโทสะบ้าง ประกอบด้วยโมหะบ้าง ย่อมเกิดขึ้น

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 8 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 235

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุนั้นควรมนสิการนิมิตอื่นจากนิมิตนั้น อันประกอบด้วยกุศล เมื่อเธอมนสิการนิมิตอื่นจากนิมิตนั้นอันประกอบด้วยกุศลอยู่ วิตกอันเป็นบาปอกุศล อันประกอบด้วยฉันทะบ้าง โทสะบ้าง โมหะบ้าง อันเธอย่อมละเสียได้ ย่อมถึงความตั้งอยู่ไม่ได้ เพราะละวิตกอันเป็นบาปอกุศลเหล่านั้นได้ จิตย่อมตั้งอยู่ด้วยดี สงบ เป็นธรรมเอกผุดขึ้น ตั้งมั่น ในภายในนั้นแล.

[๒๕๘] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย หากว่า เมื่อภิกษุนั้นมนสิการนิมิตอื่นจากนิมิตนั้น อันประกอบด้วยกุศลอยู่ วิตกอันเป็นบาปอกุศล ประกอบด้วยฉันทะบ้าง โทสะบ้าง โมหะบ้าง ยังเกิดขึ้นเรื่อยๆ ทีเดียว ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุนั้นควรพิจารณาโทษของวิตกเหล่านั้นว่า วิตกเหล่านี้ล้วนแต่เป็นอกุศล แม้อย่างนี้ วิตกเหล่านี้ล้วนแต่เป็นโทษ แม้อย่างนี้ วิตกเหล่านี้ล้วนแต่มีทุกข์เป็นวิบาก แม้อย่างนี้ ดังนี้. เมื่อเธอพิจารณาโทษของวิตกเหล่านั้นอยู่ วิตกอันเป็นบาปอกุศล ประกอบด้วยฉันทะบ้าง โทสะบ้าง โมหะบ้าง อันเธอย่อมละเสียได้ ย่อมถึงความตั้งอยู่ไม่ได้ เพราะละวิตกอันเป็นบาปอกุศลเหล่านั้นได้ จิตย่อมตั้งอยู่ด้วยดี สงบ เป็นธรรมเอกผุดขึ้น ตั้งมั่น ในภายในนั้นแล. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เหมือนหญิงสาวหรือชายหนุ่มที่ชอบแต่งตัว รู้สึกอึดอัดระอา เกลียดชังต่อซากงู ซากสุนัข หรือซากมนุษย์ ซึ่งผูกติดอยู่ที่คอ (ของตน) แม้ฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้น หากเมื่อเธอมนสิการนิมิตอื่นจากนิมิตนั้น อันประกอบด้วยกุศลอยู่ วิตกอันเป็นบาปอกุศล ประกอบด้วยฉันทะบ้าง โทสะบ้าง โมหะบ้าง ยังเกิดขึ้นเรื่อยๆ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุนั้นควรพิจารณาโทษของวิตกเหล่านั้นว่า วิตกเหล่านี้ล้วนแต่เป็นอกุศล แม้อย่างนี้ วิตกเหล่านี้ล้วนแต่เป็นโทษ แม้อย่างนี้ วิตกเหล่านี้ล้วนแต่มีทุกข์เป็นวิบาก แม้อย่างนี้ ดังนี้. เมื่อเธอพิจารณาโทษของวิตกเหล่านั้นอยู่ วิตกอันเป็นบาป

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 8 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 236

อกุศล ประกอบด้วยฉันทะบ้าง โทสะบ้าง โมหะบ้าง อันเธอย่อมละเสียได้ ย่อมถึงความตั้งอยู่ไม่ได้ เพราะละวิตกอันเป็นบาปอกุศลเหล่านั้นได้ จิตย่อมตั้งอยู่ด้วยดี สงบ เป็นธรรมเอกผุดขึ้น ตั้งมั่น ในภายในนั้นแล.

[๒๕๙] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย หากว่า เมื่อภิกษุนั้นพิจารณาโทษของวิตกเหล่านั้นอยู่ วิตกอันเป็นบาปอกุศล ประกอบด้วยฉันทะบ้าง โทสะบ้าง โมหะบ้าง ยังเกิดขึ้นเรื่อยๆ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุนั้นพึงถึงความไม่นึก ไม่ใส่ใจวิตกเหล่านั้น เมื่อเธอถึงความไม่นึก ไม่ใส่ใจวิตกเหล่านั้นอยู่ วิตกอันเป็นบาปอกุศล ประกอบด้วยฉันทะบ้าง โทสะบ้าง โมหะบ้าง อันเธอย่อมละเสียได้ ย่อมถึงความตั้งอยู่ไม่ได้ เพราะละวิตกอันเป็นบาปอกุศลเหล่านั้นได้ จิตย่อมตั้งอยู่ด้วยดี สงบ เป็นธรรมเอกผุดขึ้น ตั้งมั่น ในภายในนั้นแล. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เหมือนบุรุษผู้มีจักษุ ไม่ต้องการจะเห็นรูปที่ผ่าน เขาพึงหลับตาเสีย หรือเหลียวไปทางอื่นเสีย แม้ฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้น หากเมื่อเธอพิจารณาโทษของวิตกเหล่านั้นอยู่ วิตกอันเป็นบาปอกุศล ประกอบด้วยฉันทะบ้าง ฯลฯ เป็นธรรมเอกผุดขึ้น ตั้งมั่น ในภายในนั้นแล.

[๒๖๐] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย หากว่า เมื่อภิกษุนั้นถึงความไม่นึก ไม่ใส่ใจวิตกเหล่านั้นอยู่ วิตกอันเป็นบาปอกุศล ประกอบด้วยฉันทะบ้าง โทสะบ้าง โมหะบ้าง ยังเกิดขึ้นเรื่อยๆ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุนั้นควรมนสิการสัณฐานแห่งวิตก สังขารของวิตกเหล่านั้น เมื่อเธอมนสิการสัณฐานแห่งวิตก สังขารของวิตกเหล่านั้นอยู่ วิตกอันเป็นบาปอกุศล ประกอบด้วยฉันทะบ้าง โทสะบ้าง โมหะบ้าง อันเธอย่อมละเสียได้ ย่อมถึงความตั้งอยู่ไม่ได้ เพราะละวิตกอันเป็นบาปอกุศลเหล่านั้นได้ จิตย่อมตั้งอยู่ด้วยดี สงบ เป็นธรรมเอกผุดขึ้น ตั้งมั่น ในภายในนั้นแล. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เหมือนบุรุษพึงเดินเร็ว เขาพึงมีความคิดอย่างนี้ว่า เราจะเดินเร็วทําไมหนอ ถ้ากระไร

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 8 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 237

เราพึงค่อยๆ เดิน เขาก็พึงค่อยๆ เดิน เขาพึงมีความคิดอย่างนี้ว่า เราค่อยๆ เดินไปทําไมหนอ ถ้ากระไร เราควรยืน เขาพึงยืน. เขาพึงมีความคิดอย่างนี้อีกว่า เราจะยืนทําไมหนอ ถ้ากระไร เราควรนั่ง เขาพึงนั่ง. เขาพึงมีความคิดอย่างนี้ว่า เราจะนั่งทําไมหนอ ถ้ากระไรเราควรนอน เขาพึงลงนอน. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็บุรุษคนนั้น มาผ่อนทิ้งอิริยาบถหยาบๆ เสีย พึงสําเร็จอิริยาบถละเอียดๆ แม้ฉันใด ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุก็ฉันนั้น หากว่าเมื่อเธอมนสิการสัณฐานแห่งวิตก สังขารของวิตกเหล่านั้นอยู่ วิตกอันเป็นบาปอกุศลประกอบด้วยฉันทะบ้าง ฯลฯ เป็นธรรมเอกผุดขึ้น ตั้งมั่น ในภายในนั้นแล.

[๒๖๑] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย หากว่า เมื่อภิกษุนั้นมนสิการถึงสัณฐานแห่งวิตก สังขารของวิตกแม้เหล่านั้นอยู่ วิตกอันเป็นบาปอกุศล ประกอบด้วยฉันทะบ้าง โทสะบ้าง โมหะบ้าง ยังเกิดขึ้นเรื่อยๆ ภิกษุนั้นพึงกัดฟันด้วยฟัน ดุนเพดานด้วยลิ้น ข่ม บีบคั้น บังคับจิตด้วยจิต เมื่อเธอกัดฟันด้วยฟัน ดุนเพดานด้วยลิ้น ข่ม บีบคั้น บังคับจิตด้วยจิตอยู่ วิตกอันเป็นบาปอกุศล ประกอบด้วยฉันทะบ้าง โทสะบ้าง โมหะบ้าง อันเธอย่อมละเสียได้ ย่อมถึงความตั้งอยู่ไม่ได้ เพราะละวิตกอันเป็นบาปอกุศลเหล่านั้น จิตย่อมตั้งอยู่ด้วยดี สงบ เป็นธรรมเอกผุดขึ้น ตั้งมั่น ในภายในนั้นแล. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เหมือนบุรุษผู้มีกําลังมากจับบุรุษผู้มีกําลังน้อยกว่าไว้ได้แล้ว บีบ กด เค้นที่ศีรษะ คอ หรือก้านคอไว้ให้แน่นแม้ฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้น หากเมื่อเธอมนสิการถึงสัณฐานแห่งวิตก สังขารของวิตกแม้เหล่านั้นอยู่ วิตกอันเป็นบาปอกุศล ประกอบด้วยฉันทะบ้าง โทสะบ้าง โมหะบ้างยังเกิดขึ้นเรื่อยๆ ภิกษุนั้นพึงกัดฟันด้วยฟัน ดุนเพดานด้วยลิ้น ข่ม บีบคั้น บังคับจิตไว้ด้วยจิต เมื่อเธอกัดฟันด้วยฟัน ดุนเพดานด้วยลิ้น ข่ม บีบคั้น บังคับจิตอยู่ได้ วิตกอันเป็นบาปอกุศล ประกอบด้วยฉันทะบ้าง โทสะบ้าง

 
  ข้อความที่ 5  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 8 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 238

โมหะบ้าง อันเธอย่อมละเสียได้ ย่อมถึงความตั้งอยู่ไม่ได้ เพราะละวิตกอันเป็นบาปอกุศลเหล่านั้นได้ จิตย่อมตั้งอยู่ด้วยดี สงบ เป็นธรรมเอกผุดขึ้น ตั้งมั่น ในภายในนั้นแล.

ความเป็นผู้ชํานาญในทางเดินแห่งวิตก

[๒๖๒] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เมื่อภิกษุอาศัยนิมิตใดแล้ว มนสิการนิมิตใดอยู่ วิตกอันเป็นบาปอกุศล ประกอบด้วยฉันทะบ้าง โทสะบ้าง โมหะบ้าง ย่อมเกิดขึ้น เมื่อเธอมนสิการนิมิตอื่นจากนิมิตนั้น อันประกอบด้วยกุศลวิตกอันเป็นบาปอกุศล ประกอบด้วยฉันทะบ้าง โทสะบ้าง โมหะบ้าง อันเธอย่อมละเสียได้ ย่อมถึงความตั้งอยู่ไม่ได้ เพราะละวิตกอันเป็นบาปอกุศลเหล่านั้นได้ จิตย่อมตั้งอยู่ด้วยดี สงบ เป็นธรรมเอกผุดขึ้น ตั้งมั่น ในภายในนั้นแล. เมื่อภิกษุนั้นพิจารณาโทษของวิตกเหล่านั้นอยู่ วิตกอันเป็นบาปอกุศลประกอบด้วยฉันทะบ้าง โทสะบ้าง โมหะบ้าง อันเธอย่อมละเสียได้ ย่อมถึงความตั้งอยู่ไม่ได้ เพราะละวิตกอันเป็นบาปอกุศลเหล่านั้นได้ จิตย่อมตั้งอยู่ด้วยดี สงบ เป็นธรรมเอกผุดขึ้น ตั้งมั่น ในภายในนั้นแล. เมื่อภิกษุนั้นถึงความไม่นึก ไม่ใส่ใจวิตกเหล่านั้นอยู่ วิตกอันเป็นบาปอกุศล ประกอบด้วยฉันทะบ้าง โทสะบ้าง โมหะบ้าง อันเธอย่อมละเสียได้ ย่อมถึงความตั้งอยู่ไม่ได้ เพราะละวิตกอันเป็นบาปอกุศลเหล่านั้นได้ จิตย่อมตั้งอยู่ด้วยดี สงบ เป็นธรรมเอกผุดขึ้น ตั้งมั่น ในภายในนั้นแล. เมื่อภิกษุนั้นมนสิการสัณฐานแห่งวิตก สังขารของวิตกเหล่านั้นอยู่ วิตกอันเป็นบาปอกุศล ประกอบด้วยฉันทะบ้าง โทสะบ้าง โมหะบ้าง อันเธอย่อมละเสียได้ ย่อมถึงความตั้งอยู่ไม่ได้ เพราะละวิตกอันเป็นบาปอกุศลเหล่านั้นได้ จิตย่อมตั้งอยู่ด้วยดี สงบ เป็นธรรมเอกผุดขึ้น ตั้งมั่น ในภายในนั้นแล. เมื่อภิกษุนั้นกัดฟันด้วยฟัน ดุนเพดานด้วยลิ้น

 
  ข้อความที่ 6  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 8 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 239

ข่ม บีบคั้น บังคับจิตด้วยจิตอยู่ วิตกอันเป็นบาปอกุศล ประกอบด้วยฉันทะบ้าง โทสะบ้าง โมหะบ้าง อันเธอย่อมละเสียได้ ย่อมถึงความตั้งอยู่ไม่ได้ เพราะละวิตกอันเป็นบาปอกุศลเหล่านั้นได้ จิตย่อมตั้งอยู่ด้วยดี สงบ เป็นธรรมเอกผุดขึ้น ตั้งมั่น ในภายในนั้นแล. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุนี้เรากล่าวว่า เป็นผู้ชํานาญในทางเดินของวิตก เธอจักจํานงวิตกใด ก็จักตรึกวิตกนั้นได้ จักไม่จํานงวิตกใด ก็จักไม่ตรึกวิตกนั้นได้ ตัดตัณหาได้แล้ว คลี่คลายสังโยชน์ได้แล้ว ทําที่สุดแห่งทุกข์ได้แล้ว เพราะตรัสรู้ได้โดยชอบ.

พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสพระพุทธพจน์นี้แล้ว ภิกษุเหล่านั้นมีใจชื่นชมยินดีภาษิตของพระผู้มีพระภาคเจ้า แล้วแล.

จบ วิตักกสัณฐานสูตร ที่ ๑๐

จบ สีหนาทวรรค

 
  ข้อความที่ 7  
 
chatchai.k
วันที่ 17 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 240

อรรถกถาวิตักกสัณฐานสูตร

วิตักกสัณฐานสูตร มีคําเริ่มต้นว่า ข้าพเจ้าได้ฟังมาอย่างนี้.

พึงทราบวินิจฉัยในบทเหล่านั้น บทว่า อธิจิตฺตมนุยุตฺเตน ความว่า จิตที่เกิดขึ้น ด้วยกุศลกรรมบถ ๑๐ อย่าง เป็นจิตเท่านั้น จิตในสมาบัติ ๘ มีวิปัสสนาเป็นบาท เป็นจิตยิ่งกว่าจิตนั้น เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสเรียกจิตนั้นว่า อธิจิต.

บทว่า อนุยุตฺเตน ได้แก่ หมั่นประกอบอธิจิตนั้น อธิบายว่าประกอบแล้ว ขวนขวายแล้วในอธิจิต. ในข้อนั้นภิกษุเที่ยวไปบิณฑบาตในเวลาปุเรภัต กลับจากบิณฑบาตในเวลาปัจฉาภัต แล้วถือเอาผ้านิสีทนะออกไปด้วยคิดว่า เราจักทําสมณธรรมที่โคนต้นไม้โน้น หรือที่ไพรสณฑ์ หรือว่าที่เชิงเขา หรือว่าที่เงื้อมเขา ดังนี้ แล้วก็นําหญ้าใบไม้ออกจากที่สําหรับประกอบอธิจิต ก็ครั้นเธอล้างมือและเท้าแล้ว ก็มานั่งคู้บัลลังก์ ถือเอามูลกรรมฐาน ประกอบเนืองๆ อยู่ซึ่งอธิจิตนั่นแหละ.

คําว่า นิมิต ได้แก่ การณะ (คือเหตุ).

คําว่า ตามกาลเวลาอันสมควร ได้แก่ ตามสมัยอันสมควร.

ถามว่า ก็ธรรมดาว่า กรรมฐานนั้นพระโยคีมิได้ทอดทิ้งแม้สักครู่หนึ่ง คือ มนสิการติดต่อกัน ไป มิใช่หรือ เพราะเหตุไร พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสคําว่า ตามกาลเวลาอันสมควร ดังนี้.

ตอบว่า ก็เพราะพระบาลีจําแนกกรรมฐานไว้ ๓๘ ในกรรมฐานเหล่านั้น ภิกษุผู้นั่งปฏิบัติกรรมฐาน จําเดิมแต่อุปกิเลสอะไรๆ ยังมิได้เกิดขึ้น กิจที่จะต้องมนสิการด้วยนิมิตอื่นๆ ยังมิได้มีก่อน แต่เมื่อใดกิเลสเกิดขึ้น เธอ

 
  ข้อความที่ 8  
 
chatchai.k
วันที่ 17 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 241

ก็พึงถือเอานิมิตทั้งหลาย นํากิเลสที่เกิดขึ้นในจิตออกไป พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเห็นเหตุนั้น จึงตรัสอย่างนี้.

ว่าด้วยเขตแดน และอารมณ์ของอกุศลวิตก

พึงทราบเขตแดน และ อารมณ์ของวิตกเหล่านี้ คือ :-

วิตกที่ประกอบด้วย ฉันทะ

วิตกที่สหรคตด้วย ฉันทะ

วิตกที่สัมปยุตด้วย ราคะ

ในสามอย่างนั้น จิตอันสหรคตด้วยโลภะ ๘ ดวง เป็นเขตแดนของวิตกที่ประกอบด้วยฉันทะ จิตที่สหรคตด้วยโทสะ ๒ ดวง เป็นเขตแดนของวิตกที่ประกอบด้วยโทสะ อกุศลจิต ๑๒ ดวง เป็นเขตแดนของวิตกที่ประกอบด้วยโมหะ. แต่ว่าจิตที่สัมปยุตด้วยวิจิกิจฉา และอุทธัจจะ เป็นเขตแดนเฉพาะบุคคลผู้มีวิตกอันสัมปยุตด้วยวิจิกิจฉาและอุทธัจจะเท่านั้น. สัตว์ทั้งหลายและสังขารทั้งหลาย แม้ทั้งหมด ก็เป็นอารมณ์ของวิตกได้ทั้งนั้น เพราะว่า เมื่อภิกษุไม่เพ่งดูอารมณ์ที่ชอบ และที่ไม่ชอบแล้ว วิตกในสัตว์และสังขารเหล่านั้นก็ไม่เกิดขึ้น.

ว่าด้วยมนสิการนิมิตอื่นๆ

คําว่า ภิกษุนั้น ควรมนสิการนิมิตอื่นอันประกอบด้วยกุศล ได้แก่ ควรมนสิการนิมิตอันอาศัยกุศลอื่น โดยเว้นจากอกุศลนิมิตนั้น.

ในข้อนั้น ชื่อว่า นิมิตอื่น คือเมื่อวิตกประถอบด้วยฉันทะเกิดขึ้นในสัตว์ทั้งหลาย การเจริญอสุภะ (อสุภสัญญา) ชื่อว่า นิมิตอื่น เมื่อวิตกเกิดขึ้นพอใจในสังขารทั้งหลาย (มีจีวรเป็นต้น) มนสิการถึงความเป็นของไม่เที่ยง (อนิจจสัญญา) ชื่อว่า นิมิตอื่น. ก็เมื่อวิตกประกอบด้วยโทสะในสัตว์ทั้งหลายเกิดขึ้น การเจริญเมตตา ชื่อว่า นิมิตอื่น. เมื่อวิตกในสังขารทั้งหลายเกิดขึ้น

 
  ข้อความที่ 9  
 
chatchai.k
วันที่ 17 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 242

การมนสิการถึงธาตุ ชื่อว่า นิมิตอื่น. เมื่อวิตกประกอบด้วยโมหะเกิดขึ้นในธรรมใด ภิกษุอาศัยธรรม ๕ อย่าง ชื่อว่า นิมิตอื่น.

อธิบายว่า เมื่อโลภะเกิดขึ้นในสัตว์ทั้งหลายโดยนัย มีคําว่า มือ หรือเท้าของผู้นี้งาม ดังเป็นต้น เธอก็นํามาพิจารณาด้วยอสุภะ คือสิ่งที่ไม่งามว่า ท่านยินดีกําหนัดในอะไร ในผมทั้งหลายหรือ หรือว่าในขนทั้งหลาย ฯลฯ หรือว่าในน้ำมูตร ธรรมดาว่า อัตตภาพนี้ประกอบขึ้นด้วยกระดูก ๓๐๐ ท่อน ยกขึ้นผูกไว้ด้วยเอ็น ๙๐๐ เส้น ฉาบทาด้วยชิ้นเนื้อ ๙๐๐ ชิ้น หุ้มห่อด้วยหนังสด อันความยินดีพอใจในผิวปกปิดไว้แล้ว อนึ่งเล่า ของไม่สะอาดทั้งหลาย ย่อมไหลออกจากปากแผลทั้ง ๙ (ทวาร ๙) และจากขุมขนประมาณ ๙๙,๐๐๐ ขุม มีกลิ่นเหม็นเต็มไปด้วยซากศพ เป็นสิ่งน่ารังเกียจ เป็นของปฎิกูลอันสะสมไว้ซึ่งสิ่งปฏิกูล ๓๒ ประการ จะหาสิ่งที่เป็นแก่นสาร หรือสิ่งที่ประเสริฐในกายนี้มิได้มี เมื่อพระโยคีนําความงามออกด้วยอสุภะอย่างนี้ ด้วยประการฉะนี้แล้ว ย่อมละความโลภที่เกิดในสัตว์ทั้งหลายได้ เพราะเหตุนั้นการนําความงามออกได้ด้วยอสุภะนี้ จึงชื่อว่า นิมิตอื่น. เมื่อความโลภเกิดขึ้นในบริขารทั้งหลายมีบาตรและจีวรเป็นต้น ก็มนสิการด้วยสามารถแห่งการพิจารณาถึงความเป็นสิ่งที่ไม่มีเจ้าของ และเป็นของชั่วคราว โดยนัยที่กล่าวไว้ในสติปัฏฐานวรรณนาว่า ภิกษุย่อมวางเฉยในสังขารทั้งหลายมีบาตรและจีวรเป็นต้น ด้วยอาการ ๒ อย่าง คือโดยความเป็นสิ่งที่ไม่มีเจ้าของโดยแท้จริง และเป็นของชั่วคราว เธอก็ย่อมละความโลภนั้นได้. เพราะเหตุนั้น การมนสิการโดยอาการ ๒ อย่างในสังขารนั้น จึงชื่อว่า นิมิตอื่น.

เมื่อโทสะเกิดขึ้นในสัตว์ทั้งหลาย พระโยคีพึงเจริญเมตตาด้วยสามารถแห่งสูตรทั้งหลายที่นําความอาฆาตออก มีกกโจปมสูตรเป็นต้น เมื่อเจริญเมตตาอยู่ ก็ย่อมละโทสะนั้นได้ ด้วยเหตุนั้น การเจริญเมตตานั้น จึงชื่อว่า นิมิตอื่น.

 
  ข้อความที่ 10  
 
chatchai.k
วันที่ 17 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 243

เมื่อโทสะเกิดขึ้นในเพราะวัตถุทั้งหลายมีการกระทบกับตอ หนาม ใบไม้ที่แหลมคมเป็นต้น เธอก็พึงมนสิการถึงธาตุโดยนัยเป็นต้นว่า ท่านย่อมโกรธใคร ย่อมโกรธปฐวีธาตุหรือ หรือว่าอาโปธาตุเป็นต้น เมื่อมนสิการธาตุอยู่อย่างนี้ เธอย่อมละโทสะได้ เพราะเหตุนั้น การมนสิการถึงธาตุอยู่ จึงชื่อว่า นิมิตอื่น.

เมื่อโมหะเกิดขึ้นในธรรมใด เธออาศัยธรรม ๕ เหล่านี้ คือ

๑. การอยู่ร่วมกับครู

๒. การเรียนธรรม (อุทเทส)

๓. การสอบถามธรรม

๔. การฟังธรรมตามกาลอันควร

๕. การวินิจฉัยธรรมที่เป็นฐานะและอฐานะ

ก็ย่อมละโมหะได้ เพราะฉะนั้น ภิกษุควรอาศัยธรรม ๕ เหล่านี้. เพราะว่า เมื่อเธออาศัยอาจารย์ผู้ควรแก่การเคารพ อาจารย์ย่อมลงทัณฑกรรมแก่เธอมีการให้ตักน้ำสักร้อยหม้อ เพราะไม่ถามถึงการเข้าสู่บ้าน หรือไม่ทําวัตรในกาลอันควรเป็นต้น ภิกษุนั้น ชื่อว่าเป็นผู้อันอาจารย์พยายามตกแต่งแล้ว เมื่อเป็นเช่นนั้น เธอก็ย่อมละโมหะในธรรมนั้นได้.

แม้เมื่อเรียนธรรม (อุทเทส) อาจารย์ย่อมลงทัณฑกรรมแก่เธอผู้ไม่เรียนในเวลาอันสมควร หรือสาธยายไม่ดี หรือไม่สาธยาย เป็นต้น เธอย่อมเป็นผู้อันอาจารย์พยายามตกแต่งแล้ว แม้เช่นนี้ เธอก็ย่อมละโมหะธรรมนั้นได้.

ภิกษุเข้าไปหาภิกษุผู้ควรเคารพแล้ว สอบถามว่า ท่านขอรับ ข้อนี้เป็นอย่างไร อรรถของธรรมนี้เป็นอย่างไร เป็นต้น เธอย่อมกําจัดความสงสัยได้ แม้ด้วยอาการอย่างนี้ เธอก็ย่อมละโมหะในธรรมนั้นได้.

 
  ข้อความที่ 11  
 
chatchai.k
วันที่ 17 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 244

แม้เมื่อภิกษุไปสู่ที่เป็นที่ฟังธรรมตามกาลเวลาอันควร ฟังอยู่โดยเคารพ อรรถธรรมในที่นั้นๆ ย่อมจะแจ่มแจ้งแก่เธอ แม้ด้วยอาการอย่างนี้ เธอก็ย่อมละโมหะในธรรมนั้นได้.

บุคคลผู้ฉลาดในการวินิจฉัยในสิ่งที่เป็นฐานะ คือสิ่งที่เป็นไปได้ และอฐานะ คือสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ว่า นี้เป็นเหตุของสิ่งนี้ นี้ไม่ใช่เหตุของสิ่งนี้ดังนี้เป็นต้น แม้ด้วยอาการอย่างนี้ เธอก็ย่อมละโมหะในธรรมนั้นได้. เพราะเหตุนั้น การอาศัยธรรม ๕ ของเธอนั้น จึงชื่อว่า เป็นนิมิตอื่น.

อีกอย่างหนึ่ง เมื่อภิกษุเจริญกรรมฐานอย่างใดอย่างหนึ่งใน ๓๘ เธอย่อมละอกุศลวิตกเหล่านี้ได้ เพราะนิมิต ๕ ที่มีลักษณะอย่างนี้ เป็นข้าศึก และปฎิปักษ์โดยตรงต่อกิเลสทั้งหลาย มีราคะเป็นต้น กิเลสที่มีราคะเป็นต้นที่ละได้ด้วยนิมิต ๕ เหล่านี้แล้ว ย่อมเป็นการละอย่างดี. เหมือนอย่างว่า บุคคลผู้ดับไฟโดยใช้ไม้สดโบยบ้าง ฝุ่นบ้าง กิ่งไม้อื่นๆ บ้าง ย่อมทําให้ไฟดับ แต่น้ำซึ่งเป็นข้าศึกโดยตรงของไฟ เมื่อเขาดับไฟด้วยน้ำซึ่งเป็นข้าศึกโดยตรง ย่อมเป็นการดับดีแล้ว ฉันใด กิเลสทั้งหลายมีราคะเป็นต้นที่ละได้ด้วยนิมิต ๕ เหล่านี้ ชื่อว่า เป็นการละอย่างดี ฉันนั้น. เพราะฉะนั้น บัณฑิตพึงทราบคําเหล่านี้ตามที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้แล้ว.

บทว่า กุสลูปสฺหิตํ คือว่า อาศัยกุศลเป็นปัจจัยแก่กุศล.

บทว่า อชฺฌตฺตเมว คือว่า เป็นอารมณ์ภายนั่นแล.

บทว่า ปลคณฺโฑ แปลว่า นายช่างไม้.

บทว่า สุขุมาย อาณิยา ความว่า นายช่างไม้ หรือลูกมือของนายช่างไม้ผู้ฉลาด ต้องการจะนําลิ่มอันใดออก ก็ตอกด้วยลิ่มไม้อันแข็งกว่าลิ่มอันนั้นเข้าไป.

 
  ข้อความที่ 12  
 
chatchai.k
วันที่ 17 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 245

บทว่า โอฬาริกํ อาณิํ ได้แก่ ลิ่มที่ไม่เสมอกันที่นายช่างตอกเข้าไปในแผ่นกระดานไม้จันทน์ หรือกระดานไม้เนื้อแข็ง.

บทว่า อภิหเนยฺย คือว่า เมื่อตอกด้วยไม้ค้อนแล้วก็นําออกมา.

บทว่า อภินีหเนยฺย คือว่า เมื่อโยกอยู่อย่างนั้น ก็พึงนําลิ่มออกจากแผ่นกระดานได้.

บทว่า อภินิวฏฺเฎยฺย ความว่า บัดนี้ เมื่อนายช่างรู้ว่าลิ่มเป็นอันมากเหล่านี้เขยื้อนออกแล้ว จึงเอามือจับคลอนไปมาแล้วดึงออก.

บัณฑิตพึงทราบความในที่นี้ว่า จิตเหมือนแผ่นกระดาน. อกุศลวิตกเปรียบเหมือนลิ่มที่ทําให้แผ่นกระดานไม่เสมอกัน. กุศลนิมิตมีการเจริญอสุภะ คือความไม่งามเป็นต้น เปรียบเหมือนลิ่มเล็ก. การนําอกุศลวิตกเหล่านั้นออกด้วยกุศลนิมิตทั้งหลาย มีการเจริญอสุภะเป็นต้น เปรียบเหมือนการตอก โยก ถอนลิ่มใหญ่ออกได้ด้วยลิ่มอันเล็กที่แข็งกว่าฉะนั้น.

บทว่า อหิกุณเปน เป็นอาทิ แปลว่า ซากงูเป็นต้นนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ เพื่อแสดงถึงซากศพทั้งหลายว่าล้วนเป็นของปฏิกูล น่ารังเกียจอย่างยิ่ง.

บทว่า กณฺเ อาลคฺเคน คือว่า นําเอาซากศพ ที่ใดที่หนึ่งซึ่งหาประโยชน์มิได้มาผูก คือมาสวมใส่ไว้ที่คอ.

บทว่า อฏฺฏิเยยฺย ได้แก่ ความละอาย.

บทว่า ชิคุจฺเฉยฺย คือว่า พึงรังเกียจอันเกิดขึ้นเอง.

บทว่า ปหียนฺติ ความว่า เมื่อเธอรังเกียจด้วยเหตุแม้นี้แล้ว ใคร่ครวญด้วยกําลังปัญญาของตนว่า อกุศลธรรมเหล่านี้มีโทษ มีทุกข์เป็นวิบากก็จะละเสียได้ เปรียบเหมือนหญิงสาวหรือชายหนุ่ม รังเกียจซากงูเป็นต้น

 
  ข้อความที่ 13  
 
chatchai.k
วันที่ 17 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 246

ฉะนั้น. ก็เมื่อภิกษุใด ไม่อาจเพื่อจะใคร่ครวญด้วยกําลังปัญญาของตนได้ เธอพึงเข้าไปหาอาจารย์ หรืออุปัชฌาย์ หรือเพื่อนพรหมจรรย์ผู้ควรแก่การเคารพ หรือพระสังฆเถระ รูปใดรูปหนึ่งแล้วตีระฆังให้ภิกษุมาประชุมกัน บอกให้ทราบถึงเหตุนั้น เพราะว่ามนุษย์ผู้เป็นบัณฑิตคนหนึ่งจักมีในที่ประชุมนั้น ก็บัณฑิตนี้จักบอกว่า ท่านพึงเห็นโทษในอกุศลวิตกอย่างนี้ๆ หรือว่า จักข่มอกุศลวิตกเหล่านั้น ด้วยกถาทั้งหลาย มีกายวิจฉินทนียกถาเป็นต้น.

บทว่า อสติมนสิกาโร อาปชฺชิตพฺโพ ได้แก่ภิกษุนั้นไม่พึงนึก ไม่พึงใส่ใจถึงอกุศลวิตกเหล่านั้น พึงเป็นผู้ส่งใจไปในอารมณ์อื่นๆ เหมือนบุคคลผู้ไม่ประสงค์จะเห็นรูป พึงหลับตาทั้งสอง ฉันใด ภิกษุผู้ถือมูลกรรมฐานมานั่งแล้ว เมื่อวิตกเกิดขึ้นในจิต ก็พึงเป็นผู้ส่งใจไปในอารมณ์อื่นฉันนั้น. ภิกษุนั้น ย่อมละอกุศลวิตกได้ด้วยอาการอย่างนี้ เมื่อเธอประสงค์จะละ ก็พึงถือเอากรรมฐานมา แล้วนั่งลงเถิด. ก็ถ้าเธอยังละไม่ได้ ก็ควรสาธยายพระบาลีธรรมกถาที่เรียนมาด้วยเสียงอันดัง. ถ้าเธอใส่ใจไปในอารมณ์อื่นอย่างนี้ ยังละไม่ได้ ก็จงหยิบสมุดเปล่าออกจากย่ามเขียนพรรณนาความดีของพระพุทธเจ้าข้อใดข้อหนึ่ง เธอพึงเป็นผู้นําอกุศลวิตกนั้นออก ด้วยการส่งใจไปในอารมณ์อื่น อย่างนี้.

ถ้าแม้ด้วยอาการอย่างนี้แล้วก็ยังละอกุศลวิตกนั้นไม่ได้ ก็พึงหยิบไม้สีไฟออกมาจากย่าม แล้วพิจารณา หรือส่งใจไปในอารมณ์อื่นว่า นี้ไม้สีไฟอันบน นี้ไม้สีไฟอันล่าง ดังนี้. ถ้าอย่างนี้แล้วก็ยังละอกุศลวิตกไม่ได้ ก็พึงเอากล่องเล็กออกมารวมบริขารไว้ หรือส่งใจไปในอารมณ์อื่นว่า อันนี้ ชื่อว่ากล่องเข็ม อันนี้ ชื่อว่า มีดเล็ก อันนี้ ชื่อว่า เครื่องตัดเล็บ อันนี้ ชื่อว่า เข็ม เป็นต้นเธอก็จะพึงละอกุศลวิตกนั้นได้. ถ้าอย่างนี้แล้วก็ยังละอกุศลวิตกนั้นไม่ได้พึงหยิบเอาเข็มมาเย็บจีวรที่ขาด เพื่อส่งใจไปในอารมณ์อื่น ตราบใดที่เธอยังละอกุศล

 
  ข้อความที่ 14  
 
chatchai.k
วันที่ 17 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 247

วิตกไม่ได้ ก็พึงส่งใจไปในอารมณ์อื่น โดยการทํากุศลกรรมนั้นๆ ก็เมื่อเธอละอกุศลวิตกได้แล้ว ก็พึงถือเอามูลกรรมฐานมานั่งลง ไม่พึงเป็นผู้เริ่มนวกรรม (การก่อสร้าง).

ถามว่า เพราะเหตุไร

ตอบว่า เพราะว่า เธอทําลายอกุศลวิตกยังไม่ได้ ก็ไม่มีโอกาสมนสิการกรรมฐานได้. แม้บัณฑิตในกาลก่อนจะทํานวกรรม ก็ต้องทําลายอกุศลจิตก่อน. ในข้อนี้นั้น มีเรื่องเป็นอุทาหรณ์ ดังต่อไปนี้.-

เรื่องติสสสามเณร

ได้ยินว่า พระอุปัชฌาย์ของสามเณรอาศัยอยู่ในมหาวิหารชื่อว่า ติสสะ สามเณรกล่าวกับท่านอุปัชฌาย์ว่า ท่านขอรับ กระผมกระวนกระวาย (อยากลาสิกขาบท). ครั้งนั้น พระเถระได้กล่าวกะสามเณรว่า ในวิหารนี้หาน้ำอาบได้ยาก เธอจงพาเราไปที่จิตตลดาบรรพต. สามเณรได้กระทําเหมือนอย่างนั้น. พระเถระกล่าวกะสามเณรในที่นั้นว่า วิหารนี้เป็นของเฉพาะสงฆ์ เธอจงทํา (สร้างที่อยู่ใหม่) ให้เป็นที่อาศัยอยู่เฉพาะบุคคลคนหนึ่ง. สามเณรรับคําว่า ดีแล้วขอรับ แล้วสามเณรก็เริ่มสิ่งทั้งสามพร้อมๆ กัน คือ การเรียนคัมภีร์สังยุตตนิกายตั้งแต่ต้น การชําระพื้นที่ที่เงื้อมเขา และการบริกรรมเตโชกสิณ และได้ยังกรรมฐานนั้นให้ถึงอัปปนา ยังการเรียนสังยุตตนิกายให้จบลงแล้วเริ่มนวกรรมในถ้ำ เธอได้ทํากิจนวกรรมทั้งปวงสําเร็จแล้ว จึงได้แจ้งให้พระอุปัชฌาย์ทราบ. พระอุปัชฌาย์กล่าวว่า สามเณร ที่อยู่เฉพาะบุคคลคนหนึ่งเธอทําสําเร็จในวันนี้ได้โดยลําบาก เธอนั่นแหละจงอยู่ ดังนี้.

สามเณรนั้น เมื่ออยู่ในถ้ำตลอดราตรี ได้อุตุสัปปายะ จึงยังวิปัสสนาให้เจริญแล้วบรรลุพระอรหัต ปรินิพพานแล้วในถ้ำนั้นนั่นแหละ. ชนทั้ง

 
  ข้อความที่ 15  
 
chatchai.k
วันที่ 17 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 248

หลายถือเอาธาตุของสามเณรก่อสร้างพระเจดีย์ไว้. เจดีย์ของพระติสสะเถระได้ปรากฏมาจนทุกวันนี้แล.

บัพพะ (ข้อที่ควรกําหนด) นี้ ชื่อว่า อสติบัพพะ (แปลว่าข้อกําหนดว่าด้วยการระลึกไม่ได้)

ว่าด้วยข้อทําลายมูลราก

พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อจะแสดงการทําลายมูลรากของอกุศลวิตกว่า เมื่อภิกษุตั้งอยู่ในข้อนี้ (คืออสติบัพพะ) แล้วยังไม่อาจข่มอกุศลวิตกได้ ก็ต้องตั้งอยู่ในข้อที่ทําลายมูลรากของอกุศลวิตกนี้ ดังนี้ แล้วตรัสคําว่า ตสฺส เจ ภิกฺขเว เป็นต้น แปลว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย หากว่า เมื่อภิกษุนั้นถึงความไม่นึก ไม่ใส่ใจวิตกเหล่านั้นอยู่ เป็นต้น.

ในข้อนี้ พึงทราบวิเคราะห์คําว่า สังขาร ในคําว่า พึงมนสิการสัณฐานสังขารของตน นั้นว่า สภาวะใด ย่อมปรุงแต่ง เหตุนั้น สภาวะนั้นจึงชื่อว่า สังขาร. อธิบายว่า เป็นปัจจัย (คือเป็นเหตุเครื่องอาศัย) เป็นการณะ (คือเป็นเหตุกระทํา) เป็นมูล (คือเป็นราก).

ชื่อว่า สัณฐาน เพราะอรรถวิเคราะห์ว่า เป็นที่ตั้งอยู่ดี. สัณฐานของวิตกสังขาร ชื่อว่า วิตักกสังขารสัณฐาน. ภิกษุพึงมนสิการสัณฐานอันนั้น. คํานี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสอธิบายไว้ว่า ภิกษุพึงมนสิการถึงเหตุ และมิใช่เหตุของวิตกทั้งหลายว่า วิตกนี้มีอะไรเป็นเหตุ มีอะไรเป็นปัจจัย เพราะเหตุไรจึงเกิดขึ้น ดังนี้.

บทว่า กิํ นุ โข อหิํ สีฆํ คจฺฉามิ ความว่า บุรุษผู้เดินเร็วนั้นย่อมคิดว่า ประโยชน์อะไรด้วยการเดินเร็วของเรานี้ เราจักค่อยๆ ไปดังนี้

 
  ข้อความที่ 16  
 
chatchai.k
วันที่ 17 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 249

บทว่า โส สนิกํ คจฺเฉยฺย คือว่า ครั้นเขาคิดอย่างนั้นแล้วจึงค่อยๆ เดิน. ในคําทั้งปวงก็นัยนี้แหละ.

บัณฑิตพึงทราบความในข้อนั้นว่า เวลาเกิดขึ้นแห่งวิตกของภิกษุนี้ เปรียบเหมือนการเดินเร็วของบุรุษ. เวลากําหนดการเที่ยวไปแห่งวิตกของภิกษุนี้ เปรียบเหมือน การค่อยๆ เดินไปในที่นั้น. กาลที่ภิกษุนี้กําหนดการเที่ยวไปของวิตกได้แล้ว นําวิตกมาสู่มูลกรรมฐาน เปรียบเหมือการตรึกของบุรุษนั้น. กาลที่ภิกษุนี้ ยังวิปัสสนาให้เจริญแล้วบรรลุพระอรหัต เปรียบเหมือนกาลที่บุรุษนั้นนั่งลงแล้ว. กาลที่ภิกษุนี้ให้เวลาผ่านไปตลอดวันด้วยผลสมาบัติ ซึ่งมีพระนิพพานเป็นอารมณ์ เปรียบเหมือน กาลที่บุรุษนั้นนอนแล้ว.

ในข้อว่า วิตกเหล่านี้มีอะไรเป็นเหตุ มีอะไรเป็นปัจจัย ความว่าการเที่ยวไปของวิตก ย่อมเป็นของเบาบางแล้วแก่ผู้ถึงเหตุและมิใช่เหตุของวิตกทั้งหลาย เมื่อวิตกนั้นเป็นของเบาบางถึงที่สุดแล้ว ก็ย่อมดับไปโดยประการทั้งปวง. บัณฑิตพึงแสดงข้อความนี้ด้วยทุททุภชาดก (คือเรื่องกระต่ายตื่นตูม)

เรื่องกระต่ายตื่นตูม

ได้ยินว่า กระต่ายตัวหนึ่งนอนหลับอยู่ที่ใกล้ต้นมะตูม ลูกมะตูมสุกหลุดจากขั้วหล่นลงมาใกล้หูของกระต่าย. กระต่ายนั้นก็ผลุดลุกขึ้นหนีไปโดยเร็วด้วยสําคัญว่า แผ่นดินถล่ม เพราะเสียงดังของลูกมะตูมนั้น. สัตว์จตุบาท (๔ เท้า) ทั้งหลายแม้อื่นๆ ข้างหน้าเห็นกระต่ายวิ่งมาโดยเร็ว ก็พากันวิ่งหนีไปด้วย. ครั้งนั้น พระโพธิสัตว์ของเราเกิดเป็นราชสีห์. ราชสีห์นั้นคิดว่า ธรรมดาว่าแผ่นดินนี้จะถล่มพินาศไปก็เพราะกัปพินาศ ชื่อว่าการที่แผ่นดินนี้จะแตกทําลายไปในระหว่างมิได้มี เราจะต้องไปสืบดูต้นเหตุให้ได้ดังนี้. ราชสีห์ จึงเริ่มถามสัตว์ทั้งหลายตั้งแต่ช้างใหญ่ไปจนถึงกระต่ายตัวนั้น

 
  ข้อความที่ 17  
 
chatchai.k
วันที่ 17 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 250

ว่า เจ้าเห็นแผ่นดินถล่มหรือ ดังนี้ กระต่ายกล่าวว่า ข้าแต่นายผู้เป็นใหญ่ ข้าพเจ้าเห็น. ราชสีห์จึงกล่าวว่า เจ้าจงพาเราไปดู. กระต่ายกล่าวว่า ข้าพเจ้าไม่อาจ. ราชสีห์จึงตวาดว่า เฮ้ยเจ้ากระต่าย จงพาเราไป เจ้าอย่ากลัว แล้วก็ปลอบใจกระต่ายด้วยคําสุภาพเรียบร้อยแล้วก็พากระต่ายไป. กระต่ายยืนอยู่ในที่ไม่ไกลของต้นมะตูมแล้วได้กล่าว เป็นคาถาว่า

ข้าแต่ท่านผู้สง่างาม ข้าพเจ้าอยู่ในที่นั้น ได้ยินเสียงถล่ม ข้าพเจ้าไม่รู้จักสิ่งนั้นว่าเป็นเสียงอะไร.

พระโพธิสัตว์กล่าวกะกระต่ายว่า เจ้าจงยืนอยู่ในที่นี้แหละ แล้วก็ไปที่โคนต้นมะตูม ได้เห็นที่เป็นที่นอนของกระต่าย และได้เห็นลูกมะตูมสุก จึงแลดูข้างบนได้เห็นขั้วของมะตูม ครั้นเห็นแล้ว ก็รู้ว่า กระต่ายตัวนี้ นอนที่นี้ กําลังหลับ เมื่อลูกมะตูมสุกนี้หล่นลงมาใกล้หู จึงมีความสําคัญว่า เสียงแผ่นดินถล่ม จึงรีบหนีไปโดยเร็ว ดังนี้ แล้วจึงถามถึงเหตุนั้น. กระต่ายรับคําว่าถูกแล้วท่านผู้เป็นนาย. พระโพธิสัตว์ จึงกล่าวคําเป็นคาถาว่า

เวลฺวํ ปติตํ สุตฺวา ทุทฺทุภนฺติ สโส ชวิสสสฺส วจนํ สุตฺวา สนฺตตฺตา มิควาหนี

แปลว่า กระต่ายฟังเสียงลูกมะตูมหล่นลง สําคัญว่าเสียงแผ่นดินถล่ม จึงวิ่งไปโดยเร็ว พวกมฤคทั้งหลาย ปานดังกองทัพเป็นผู้เร่าร้อนแล้ว เพราะฟังถ้อยคําของกระต่าย.

ลําดับนั้น พระโพธิสัตว์ จึงปลอบใจพวกมฤคทั้งหลายว่า พวกท่านอย่ากลัวเลย ดังนี้.

 
  ข้อความที่ 18  
 
chatchai.k
วันที่ 17 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 251

เมื่อภิกษุค้นหาต้นเหตุของอกุศลวิตกทั้งหลายด้วยอาการอย่างนี้ ก็ย่อมละได้. พระผู้มีพระภาคเจ้าเมื่อจะแสดงการณะ (เหตุ) แม้นี้ว่า อันภิกษุผู้ดํารงอยู่ในข้อทําลายมูลเหตุของอกุศลวิตกนี้แล้ว ก็ยังไม่อาจเพื่อข่มวิตกนั้นได้ ก็พึงข่มอย่างนี้ แล้วตรัสคําว่า ตสฺส เจ ภิกฺขเว เป็นอาทิ แปลว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย หากว่า เมื่อภิกษุนั้นมนสิการถึงสัณฐานของวิตกดังนี้เป็นต้น.

บทว่า ทนฺเตภิ ทนฺตมาธาย ได้แก่ พึงกดฟันบนลงที่ฟันข้างล่าง.

บทว่า เจตสา จิตฺตํ ได้แก่ พึงป้องกันอกุศลจิต ด้วยกุศลจิต.

บทว่า พลวา ปุริโส เป็นต้น ความว่า เปรียบเหมือนบุรุษผู้สมบูรณ์ด้วยเรี่ยวแรง มีกําลังมากจับบุรุษผู้มีกําลังน้อยกว่าแล้วบีบ กด เค้นที่ศีรษะ หรือที่ก้านคอไว้ให้แน่น พึงกระทําบุรุษนั้นให้เร่าร้อน ให้ลําบาก ให้สยบ มีความตายเป็นที่สุด ฉันใด ภิกษุ ก็ฉันนั้นนั่นแหละ พึงเป็นนักมวยปล้ำซึ่งเป็นคู่ต่อสู้กับอกุศลวิตกทั้งหลายว่า พวกเจ้าเป็นอะไร เราเป็นอะไร ดังนี้ ครั้นครอบงําแล้ว พึงประคองความเพียรใหญ่อย่างนี้ว่า

กามํ ตโจ นหารู จ อฏฺิ จ อวสุสฺสตุอวสฺสิสฺสตุ เม สรีเร สพฺพนฺตํ มํ สโลหิตํ

แปลว่า เนื้อและเลือดทั้งหมดในร่างกายของเรานี้จะเหือดแห้งไป เหลือแต่หนึ่งเอ็นกระดูก ก็ตามที.

เธอก็พึงข่มอกุศลวิตกทั้งหลายได้. เมื่อจะแสดงอย่างนี้ จึงตรัสคําอุปมาอันแสดงอรรถะนี้ว่า ยโต จ โข ภิกฺขเว เป็นต้น แปลว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลายภิกษุอาศัยนิมิตใด แล้วมนสิการนิมิตใดอยู่ เป็นต้น. ข้อนี้ ชื่อว่ามริยาทภาชนีย์

 
  ข้อความที่ 19  
 
chatchai.k
วันที่ 17 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 252

(คือคําจําแนกเขตแดน). คํานั้น มีเนื้อความตื้นทั้งนั้น. พึงทราบคําอุปมาต่อไปนี้.

เหมือนอย่างว่า อาจารย์ผู้ให้คําแนะนําสั่งสอนพระราชกุมารซึ่งมาจากแว่นแคว้นภายนอก ให้เรียนเอาซึ่งศิลปะว่าด้วยอาวุธ ๕ แล้วแสดงสิ่งที่ควรกระทําด้วยอาวุธแม้ทั้ง ๕ อย่างนี้ว่า ท่านจงกลับไปครองราชสมบัติในแว่นแคว้นของตน ถ้าพวกโจรปรากฏในระหว่างทางแก่ท่าน ท่านจงใช้ธนูนี้ แล้วก็จงไป ถ้าธนูของท่านหายหรือหัก จงใช้หอก หอกหัก จงใช้ดาบดังนี้เป็นต้น แล้วให้กลับไป. พระราชกุมารนั้น ได้กระทําเหมือนอย่างนั้น ครั้นไปถึงแว่นแคว้นของตนแล้ว ได้ครองสิริราชสมบัติ ฉันใด ข้อนี้ก็ ฉันนั้นแหละ พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อจะทรงส่งภิกษุผู้หมั่นประกอบอธิจิต เพื่อถือเอาซึ่งพระอรหัตและทรงแสดงบัพพะ (ข้อที่ควรกําหนด) ๕ เหล่านี้ว่า

ถ้าว่า อกุศลจิตเกิดขึ้นแก่เธอในระหว่าง ก็ควรตั้งอยู่ในข้อว่าด้วยนิมิตอื่น (เรียกว่า อัญญนิมิตตบัพพะ) ครั้นเธอข่มอกุศลวิตกทั้งหลายได้แล้ว ก็จักยังวิปัสสนาให้เจริญ แล้วจักบรรลุพระอรหัต เมื่อไม่อาจในข้อนั้น (คือในอัญญนิมิตตบัพพะ) ก็จะตั้งอยู่ในข้อว่าด้วยอาทีนพ เมื่อไม่อาจในข้อนั้น ก็จะตั้งอยู่ในข้อด้วยอสติบัพพะ เมื่อไม่อาจในข้อนี้ ก็ควรตั้งอยู่ในข้อว่าด้วยการทําลายมูลเหตุของอกุศลวิตก เมื่อไม่อาจแม้ในข้อนี้ ก็จะตั้งอยู่ในข้อว่าด้วยการข่ม ครั้นข่มวิตกทั้งหลายเหล่านั้นได้แล้ว จักยังวิปัสสนาให้เจริญแล้วจักบรรลุพระอรหัต ดังนี้.

บทว่า วสี วิตกฺกปริยายปเถสุ แปลว่า ผู้ชํานาญในทางเดินของวิตก ได้แก่ ผู้ชํานาญตามที่ตนสั่งสมไว้แล้ว คือ เป็นผู้ชํานาญคล่องแคล่วในทางเป็นไปของการตรึก

 
  ข้อความที่ 20  
 
chatchai.k
วันที่ 17 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 253

บทว่า ยํ วิตกฺกํ อากงฺขิสฺสติ แปลว่า เธอจักจํานงวิตกใดนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเพื่อแสดงถึงลักษณะของความเป็นผู้ชํานาญ. เพราะว่าบุคคลนี้ ครั้งก่อน อยากจะตรึกวิตกใด ย่อมตรึกวิตกนั้นไม่ได้ ไม่ประสงค์จะตรึกวิตกใด ย่อมตรึกวิตกนั้นได้ แต่บัดนี้ เพราะความเป็นผู้ชํานาญแล้ว เธอเป็นผู้ใคร่เพื่อจะตรึกถึงวิตกใด ย่อมตรึกถึงวิตกนั้นได้ ไม่ต้องการตรึกวิตกใด ก็ไม่ต้องตรึกวิตกนั้น เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า เธอจักจํานงวิตกใดก็จักตรึกวิตกนั้นได้ จักไม่จํานงวิตกใดก็จักไม่ตรึกวิตกนั้นได้ ดังนี้.

บทว่า อจฺเฉชฺชิ ตณฺหํ แปลว่า ตัดตัณหาได้แล้วเป็นต้นนี้ ได้กล่าวไว้ในสัพพาสวสูตรแล้ว แล.

จบ อรรถกถาวิตักกสัณฐานสูตรที่ ๑๐

จบ อรรถกถาวรรคที่ ๒

รวมพระสูตรในเล่มนี้

๑. จูฬสีหนาทสูตร พร้อมทั้งอรรถกถา

๒. มหาสีหนาทสูตร พร้อมทั้งอรรถกถา

๓. มหาทุกขักขันธสูตร พร้อมทั้งอรรถกถา

๔. จูฬทุกขักขันธสูตร พร้อมทั้งอรรถกถา

๕. อนุมานสูตร พร้อมทั้งอรรถกถา

๖. เจโตขีลสูตร พร้อมทั้งอรรถกถา

๗. วนปัตถสูตร พร้อมทั้งอรรถกถา

๘. มธุปิณฑิกสูตร พร้อมทั้งอรรถกถา

๙. เทวธาวิตักกสูตร พร้อมทั้งอรรถกถา

๑๐. วิตักกสัณฐานสูตร พร้อมทั้งอรรถกถา