๑. กกจูปมสูตร
[เล่มที่ 18] พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 254
โอปัมมวรรค
๑. กกจูปมสูตร
อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 18]
พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 254
๑. กกจูปมสูตร
[๒๖๓] ข้าพเจ้าได้ฟังมาแล้วอย่างนี้:-
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี กรุงสาวัตถี สมัยนั้น ท่านพระโมลิยผัคคุนะอยู่คลุกคลีกับภิกษุณีทั้งหลายเกินขอบเขต ท่านพระโมลิยผัคคุนะอยู่คลุกคลีกับภิกษุณีทั้งหลายอย่างนี้ ถ้าภิกษุรูปไรติเตียนภิกษุณีเหล่านั้นต่อหน้าท่านพระโมลิยผัคคุนะ ท่านก็โกรธ ขัดใจ ถึงกระทําให้เป็นอธิกรณ์ก็มี. อนึ่ง ถ้าภิกษุรูปไรติเตียนท่านพระโมลิยผัคคุนะต่อหน้าภิกษุณีเหล่านั้น พวกภิกษุณีก็พากันโกรธ ขัดใจ ถึงกระทําให้เป็นอธิกรณ์ก็มี ท่านพระโมลิยผัคคุนะอยู่คลุกคลีกับภิกษุณีทั้งหลายอย่างนี้ ครั้งนั้นภิกษุรูปหนึ่งเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า ถวายบังคมแล้วนั่งอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ท่านพระโมลิยผัคคุนะอยู่คลุกคลีกับพวกภิกษุณีเกินขอบเขต ท่านพระโมลิยผัคคุนะอยู่คลุกคลีกับพวกภิกษุณีเช่นนี้ ถ้าภิกษุรูปไรติเตียนภิกษุณีเหล่านั้นต่อหน้าท่านพระโมลิยผัคคุนะ ท่านก็โกรธ ขัดใจ ถึงกระทําให้เป็นอธิกรณ์ก็มี อนึ่ง ถ้าภิกษุรูปไรติเตียนท่านพระโมลิยผัคคุนะต่อหน้าภิกษุณีเหล่านั้น ภิกษุณีเหล่านั้นก็โกรธ ขัดใจ ถึงกระทําให้เป็นอธิกรณ์ก็มี ท่านพระโมลิยผัคคุนะอยู่คลุกคลีกับพวกภิกษุณีเช่นนี้.
[๒๖๔] ลําดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเรียกภิกษุรูปหนึ่ง มาตรัสสั่งว่า มานี่ภิกษุ เธอจงบอกโมลิยผัคคุนะภิกษุ ตามคําของเราว่า พระ
พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 255
ศาสดารับสั่งให้หาท่าน. ภิกษุรูปนั้นทูลรับพระดํารัสของพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว เข้าไปหาท่านพระโมลิยผัคคุนะถึงที่อยู่ แล้วกล่าวว่า ท่านโมลิยผัคคุนะ พระศาสดารับสั่งให้หาท่าน. ท่านพระโมลิยผัคคุนะ รับคําภิกษุรูปนั้นแล้ว ก็เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า ถวายบังคมแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสถามท่านพระโมลิยผัคคุนะว่า ดูก่อนผัคคุนะ ได้ทราบว่าเธออยู่คลุกคลีกับพวกภิกษุณีจนเกินขอบเขต ดูก่อนผัคคุนะ เธออยู่คลุกคลีกับพวกภิกษุณีเช่นนั้น ถ้าภิกษุรูปไรติเตียนภิกษุณีเหล่านั้นต่อหน้าเธอ เธอก็โกรธ ขัดใจ ถึงกระทําให้เป็นอธิกรณ์ก็มี อนึ่ง ถ้าภิกษุรูปไรติเตียนเธอต่อหน้าภิกษุณีทั้งหลาย ภิกษุณีเหล่านั้นก็โกรธ ขัดใจ ถึงกระทําให้เป็นอธิกรณ์ก็มี ผัคคุนะ เธออยู่คลุกคลีกับภิกษุณีทั้งหลายเช่นนี้จริงหรือ พระโมลิยผัคคุนะทูลรับว่า จริงพระเจ้าข้า จึงตรัสถามต่อไปว่า ผัคคุนะ เธอเป็นกุลบุตรออกจากเรือนไม่มีเรือนบวชด้วยศรัทธามิใช่หรือ
โม. อย่างนั้น พระเจ้าข้า.
พ. ผัคคุนะ การที่เธออยู่คลุกคลีกับพวกภิกษุณีจนเกินขอบเขต ไม่สมควรแก่เธอผู้เป็นกุลบุตรออกจากเรือนไม่มีเรือนบวชด้วยศรัทธาเลย ผัคคุนะเพราะฉะนั้น ถ้าแม้ภิกษุรูปไรติเตียนภิกษุณีเหล่านั้นต่อหน้าเธอ แม้ในข้อนั้นเธอพึงละความพอใจ และวิตกอันอาศัยเรือนเสีย แม้ในข้อนั้น เธอพึงศึกษาอย่างนี้ว่า จิตของเราจักไม่แปรปรวน และเราจักไม่เปล่งวาจาที่ชั่ว จักอนุเคราะห์ด้วยประโยชน์อยู่ แลจักเป็นผู้มีเมตตาจิต ไม่มีโทสะภายใน เธอพึงศึกษาอย่างนี้แล ผัคคุนะ เพราะฉะนั้น ถ้าใครๆ ประหารภิกษุณีเหล่านั้นด้วยฝ่ามือ ด้วยก้อนดิน ด้วยท่อนไม้ ด้วยศาสตราต่อหน้าเธอ แม้ในข้อนั้นเธอพึงละความพอใจ และวิตกอันอาศัยเรือนเสีย แม้ในข้อนั้น เธอพึงศึกษาอย่างนี้ว่า จิตของเราจักไม่แปรปรวน และเราจักไม่เปล่งวาจาที่ชั่วจักอนุ-
พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 256
เคราะห์ด้วยประโยชน์อยู่ แลจักเป็นผู้มีเมตตาจิตไม่มีโทสะภายใน เธอพึงศึกษาอย่างนี้แล ผัคคุนะ เพราะฉะนั้น ถ้าใครๆ ติเตียนตัวเธอเอง ต่อหน้าเธอ แม้ในข้อนั้น เธอพึงละความพอใจ และวิตกอันอาศัยเรือนเสีย ผัคคุนะ แม้ในข้อนั้น เธอพึงศึกษาอย่างนี้ว่า จิตของเราจักไม่แปรปรวน และเราจักไม่เปล่งวาจาที่ชั่ว จักอนุเคราะห์ด้วยประโยชน์อยู่ แลจักเป็นผู้มีเมตตาจิต ไม่มีโทสะภายใน เธอพึงศึกษาอย่างนี้แล ผัคคุนะ เพราะฉะนั้น ถ้าใครๆ ประหารเธอด้วยฝ่ามือ ด้วยก้อนดิน ด้วยท่อนไม้ ด้วยศาสตรา ผัคคุนะ แม้ในข้อนั้น เธอพึงละความพอใจ และวิตกอันอาศัยเรือนเสีย แม้ในข้อนั้น เธอพึงศึกษาอย่างนี้ว่า จิตของเราจักไม่แปรปรวน และเราจักไม่เปล่งวาจาที่ชั่ว จักอนุเคราะห์ด้วยประโยชน์ แลจักเป็นผู้มีเมตตาจิต ไม่มีโทสะภายใน ผัคคุนะ เธอพึงศึกษาอย่างนี้ ดังนี้แล.
[๒๖๕] ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายมา ตรัสว่า ภิกษุทั้งหลาย สมัยหนึ่ง พวกภิกษุได้ทําจิตของเราให้ยินดีเป็นอันมาก เราขอเตือนภิกษุทั้งหลายไว้ในที่นี้ว่า ภิกษุทั้งหลาย เราฉันอาหารหนเดียว เมื่อเราฉันอาหารหนเดียวอยู่แล รู้สึกว่ามีอาพาธน้อย ลําบากกายน้อย เบากายมีกําลัง และอยู่อย่างผาสุก ภิกษุทั้งหลาย ถึงพวกเธอก็จงฉันอาหารหนเดียวเถิด แม้พวกเธอฉันอาหารหนเดียว ก็จะรู้สึกว่ามีอาพาธน้อย ลําบากกายน้อย เบากาย มีกําลัง และอยู่อย่างผาสุก ภิกษุทั้งหลาย เราไม่ต้องพร่ําสอนภิกษุเหล่านั้น มีกิจแต่จะทําสติให้เกิดในภิกษุเหล่านั้นเท่านั้น ภิกษุทั้งหลายเปรียบเหมือนรถที่เทียมด้วยม้าอาชาไนย ม้าที่ได้รับการฝึกมาดีแล้ว ก็เดินไปตามพื้นที่เรียบ หรือเดินไปตามหนทางใหญ่ ๔ แพร่ง ไม่ต้องใช้แส้ เพียงแต่นายสารถีผู้ฝึกหัดที่ฉลาดขึ้นรถ แล้วจับสายบังเหียนด้วยมือซ้าย จับแส้ด้วย
พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 257
มือขวาแล้วก็เตือนให้ม้าวิ่งตรงไปบ้าง ทั้งเลี้ยวกลับไปตามความปรารถนาบ้าง ฉันใด ภิกษุทั้งหลาย เราไม่ต้องพร่ําสอนภิกษุทั้งหลายเนืองๆ ฉันนั้นเหมือนกัน มีแต่กิจที่จะทําสติให้เกิดในภิกษุเหล่านั้นเท่านั้น ภิกษุทั้งหลาย เพราะฉะนั้น แม้พวกเธอก็จงละอกุศลธรรมเสีย จงทําความพากเพียรแต่ในกุศลธรรมทั้งหลาย เมื่อเป็นเช่นนี้ แม้พวกเธอก็จักถึงความเจริญงอกงามไพบูลย์ในพระธรรมวินัยนี้ ภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนป่าไม้สาละป่าใหญ่ ใกล้บ้านหรือนิคม และป่านั้นปกคลุมไปด้วยเหล่าต้นละหุ่ง ชายไรๆ พึงหวังดี หวังประโยชน์ และหวังความปลอดภัยของต้นสาละนั้น เขาจึงตัดต้นรังเล็กๆ ที่คดที่ต้นละหุ่ง คอยแย่งโอชาออกนําไปทิ้งเสียภายนอก แผ้วถางภายในป่าให้สะอาดเรียบร้อยแล้ว คอยบํารุงรักษาต้นรังเล็กๆ ที่ต้นตรงขึ้นแรงดีไว้ได้โดยชอบ ภิกษุทั้งหลาย ด้วยการกระทําดังที่กล่าวมานี้ สมัยต่อมา ป่าไม้รังนั้นก็เจริญงอกงามไพบูลย์ขึ้นโดยลําดับ ฉันใด ภิกษุทั้งหลาย แม้พวกเธอก็จงละอกุศลธรรมเสีย จงทําความพากเพียรอยู่แต่ในกุศลธรรมทั้งหลาย ฉันนั้นเถิด เมื่อเป็นเช่นนี้ แม้พวกเธอ ก็จักเจริญงอกงามไพบูลย์ในพระธรรมวินัยนี้ถ่ายเดียว.
[๒๖๖] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เรื่องเคยมีมาแล้ว ที่กรุงสาวัตถีนี้แหละ มีแม่บ้านคนหนึ่งชื่อว่าเวเทหิกา เกียรติศัพท์อันงามของแม่บ้านเวเทหิกาขจรไปแล้วอย่างนี้ว่า แม่บ้านเวเทหิกา เป็นคนเสงี่ยม เจียมตน เยือกเย็น ภิกษุทั้งหลาย ก็แม่บ้านเวเทหิกา มีทาสีชื่อกาลี เป็นคนขยัน ไม่เกียจคร้าน จัดการงานดี ต่อมานางกาลีได้คิดอย่างนี้ว่า เกียรติศัพท์อันงามของนายหญิงของเราขจรไปแล้วอย่างนี้ว่า แม่บ้านเวเทหิกา เป็นคนเสงี่ยม เจียมตน เยือกเย็น ดังนี้ นายหญิงของเราไม่ทําความโกรธที่มีอยู่ภายในให้ปรากฏ หรือไม่มีความโกรธอยู่เลย หรือว่านายหญิงของเราไม่ทําความโกรธที่มีอยู่ในภายในให้ปรากฏ ก็เพราะเราจัดการงานทั้งหลายเรียบร้อยดี ไม่ใช่ไม่มีความโกรธ
พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 258
อย่ากระนั้นเลย จําเราจะต้องทดลองนายหญิงดู วันรุ่งขึ้นนางกาลีทาสี ก็แสร้งลุกขึ้นสาย ภิกษุทั้งหลาย ฝ่ายแม่บ้านเวเทหิกา ก็ได้ตวาดนางกาลีทาสีขึ้นว่า เฮ้ย อีคนใช้กาลี นางกาลีจึงขานรับว่า อะไรเจ้าข้า.
เว. เฮ้ย ทําไมเองจึงลุกจนสาย.
กา. ไม่เป็นอะไรดอก เจ้าค่ะแม่นาย
นางจึงกล่าวอีกว่า อีคนชั่วร้าย ก็เมื่อไม่เป็นอะไร ทําไมเองจึงลุกขึ้นจนสาย ดังนี้แล้ว โกรธ ขัดใจ ก็หน้านิ่วคิ้วขมวด.
ภิกษุทั้งหลาย ทีนั้นนางกาลีทาสีจึงคิดว่า นายหญิงของเราไม่ทําความโกรธที่มีอยู่ในภายในให้ปรากฏเท่านั้น ไม่ใช่ไม่มีความโกรธ ที่ไม่ทําความโกรธที่มีอยู่ในภายในให้ปรากฏ ก็เพราะเราจัดการงานทั้งหลายเรียบร้อยดี ไม่ใช่ไม่มีความโกรธ อย่ากระนั้นเลย เราจะต้องทดลองนายหญิงให้ยิ่งขึ้นไป ภิกษุทั้งหลาย ถัดจากวันนั้นมา นางกาลีทาสี จึงลุกขึ้นสายกว่านั้นอีก ครั้งนั้นแม่บ้านเวเทหิกา ก็ตวาดนางกาลีทาสีอีกว่า เฮ้ย อีกาลี.
กา. อะไร เจ้าขาแม่นาย.
เว. เช้ ทําไมเองจึงนอนตื่นสาย.
กา. ไม่เป็นอะไรดอก เจ้าค่ะ.
นางจึงกล่าวอีกว่า เฮ้ย อีตัวร้าย ก็เมื่อไม่เป็นอะไร ทําไมเองจึงนอนตื่นสายเล่า ดังนี้แล้ว โกรธ ขัดใจ ก็แผดเสียงวาจาที่ขัดใจ ภิกษุทั้งหลาย ทีนั้น นางกาลีทาสีจึงคิดว่า นายหญิงของเรา ไม่ทําความโกรธที่มีอยู่ในภายในให้ปรากฏเท่านั้น ไม่ใช่ไม่มีความโกรธ ที่ไม่ทําความโกรธที่มีอยู่ในภายในให้ปรากฏ ก็เพราะเราจัดการงานทั้งหลายให้เรียบร้อยดี ไม่ใช่ไม่มีความโกรธอย่ากระนั้นเลย เราจะต้องทดลองให้ยิ่งขึ้นไปกว่านี้อีก ดังนี้ แต่นั้นมานางกาลีทาสีก็ลุกขึ้นสายกว่าทุกวัน ครั้งนั้น แม่บ้านเวเทหิกาผู้นาย ก็ร้อง
พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 259
ด่ากราด โกรธจัด จึงคว้าลิ่มประตูปาศีรษะ ด้วยหมายจะทําศีรษะทาสีให้แตก ภิกษุทั้งหลาย คราวนั้น นางกาลีทาสีศรีษะแตก โลหิตไหลโซม จึงเที่ยวโพนทะนา แก่คนบ้านใกล้เคียงว่า แม่พ่อทั้งหลาย เชิญดูการกระทําของคนเสงี่ยม เจียมตัว เยือกเย็นเอาเถิด ทําไมจึงทําแก่ทาสีคนเดียวอย่างนี้เล่า เพราะโกรธว่านอนตื่นสาย จึงคว้าลิ่มประตูปาเอาศีรษะ ด้วยหมายจะทําลายหัวข้า ดังนี้ ภิกษุทั้งหลาย แต่นั้นมา เกียรติศัพท์อันชั่วของแม่บ้านเวเทหิกาก็ขจรไปอย่างนี้ว่า แม่เรือนเวเทหิกา เป็นคนดุร้าย ไม่เจียมตัว ไม่เยือกเย็นแม้ฉันใด ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุบางรูปในพระธรรมวินัยนี้ก็ฉันนั้น เป็นคนสงบเสงี่ยมจัด เป็นคนเจียมตัวจัด เป็นคนเยือกเย็นจัด ได้ก็เพียงชั่วเวลาที่ยังไม่ได้กระทบถ้อยคําอันไม่เป็นที่พอใจเท่านั้น ภิกษุทั้งหลาย ก็เมื่อใดเธอกระทบถ้อยคําอันไม่เป็นที่พอใจเข้า ก็ยังเป็นคนสงบเสงี่ยม เจียมตัว เยือกเย็นอยู่ได้ ภิกษุทั้งหลาย เมื่อนั้นแหละควรทราบว่า เธอเป็นคนสงบเสงี่ยม เป็นคนเจียมตัว เป็นคนเยือกเย็นจริง ภิกษุทั้งหลาย เราไม่เรียกภิกษุรูปที่เป็นคนว่าง่าย ถึงความเป็นคนว่าง่าย เพราะเหตุได้จีวร บิณฑบาต เสนาสนะแลคิลานปัจจัยเภสัชบริขารว่า เป็นคนว่าง่ายเลย ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะภิกษุรูปนั้น เมื่อไม่ได้จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชบริขารนั้น ก็จะไม่เป็นคนว่าง่าย จะไม่ถึงความเป็นคนว่าง่ายได้ ภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง ภิกษุรูปใดแล มาสักการะเคารพ นอบน้อมพระธรรมอยู่ เป็นคนว่าง่าย ถึงความเป็นคนว่าง่าย เราเรียกภิกษุรูปนั้นว่า เป็นคนว่าง่าย ดังนี้ เพราะฉะนั้นแหละ ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอพึงศึกษาอย่างนี้ว่า เราจักเป็นผู้สักการะ เคารพ นอบน้อมพระธรรม จักเป็นผู้ว่าง่าย จักถึงความเป็นคนว่าง่าย ดังนี้.
[๒๖๗] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ทางแห่งถ้อยคําที่บุคคลอื่นจะพึงกล่าวกะท่านมีอยู่ ๕ ประการ คือ กล่าวโดยกาลอันสมควรหรือไม่สมควร ๑ กล่าว
พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 260
ด้วยเรื่องจริงหรือไม่จริง ๑ กล่าวด้วยคําอ่อนหวานหรือคําหยาบคาย ๑ กล่าวด้วยคําประกอบด้วยประโยชน์หรือไม่ประกอบด้วยประโยชน์ ๑ มีจิตเมตตาหรือมีโทสะในภายในกล่าว ๑ ภิกษุทั้งหลาย เมื่อบุคคลอื่นจะกล่าวโดยกาลอันสมควรหรือไม่สมควรก็ตาม จะกล่าวด้วยเรื่องจริงหรือไม่จริงก็ตาม จะกล่าวถ้อยคําอ่อนหวานหรือหยาบคายก็ตาม จะกล่าวถ้อยคําประกอบด้วยประโยชน์หรือไม่ประกอบด้วยประโยชน์ก็ตาม จะมีจิตเมตตาหรือมีโทสะในภายในกล่าวก็ตาม แม้ในข้อนั้น พวกเธอพึงศึกษาอย่างนี้ว่า จิตของเราจักไม่แปรปรวน เราจักไม่เปล่งวาจาชั่ว เราจักอนุเคราะห์ด้วยประโยชน์ เราจักมีจิตเมตตาไม่มีโทสะในภายใน เราจักแผ่เมตตาจิตไปถึงบุคคลนั้น และเราจักแผ่เมตตาจิตอันไพบูลย์ ใหญ่ยิ่ง หาประมาณมิได้ ไม่มีเวร ไม่มีพยาบาท ไปตลอดโลก ทุกทิศทุกทาง ซึ่งเป็นอารมณ์ของจิตนั้น ดังนี้ ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายพึงศึกษาด้วยอาการดังที่กล่าวมานี้แล.
[๒๖๘] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนบุรุษถือเอาจอบและตะกร้ามาแล้ว กล่าวอย่างนี้ว่า เราจักกระทําแผ่นดินอันใหญ่นี้ไม่ให้เป็นแผ่นดินดังนี้ เขาขุดลงตรงที่นั้นๆ โกยขี้ดินทิ้งในที่นั้นๆ บ้วนน้ำลายลงในที่นั้นๆ แล้วสําทับว่าเองอย่าเป็นแผ่นดินๆ ดังนี้ ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจะสําคัญความข้อนั้นเป็นไฉน บุรุษนั้นจักทําแผ่นดินอันใหญ่นี้ไม่ให้เป็นแผ่นดินได้หรือไม่. ภิกษุเหล่านั้นกราบทูลว่า ไม่ได้ พระเจ้าข้า. ข้อนั้น เพราะเหตุไร. เพราะเหตุว่าแผ่นดินอันใหญ่นี้ ลึกหาประมาณมิได้ เขาจะทําแผ่นดินอันใหญ่นี้ไม่ให้เป็นแผ่นดิน ไม่ได้ง่ายเลย ก็แลบุรุษนั้นจะต้องเหน็ดเหนื่อยลําบากเสียเปล่าเป็นแน่แท้ ดังนี้ แม้ฉันใด ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ทางแห่งถ้อยคําที่บุคคลอื่นจะพึงกล่าวกะท่านมีอยู่ ๕ ประการ คือ กล่าวโดยกาลอันสมควรหรือไม่สมควร ๑ กล่าวด้วยเรื่องจริงหรือไม่จริง ๑ กล่าวด้วยคําอ่อนหวานหรือคํา
พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 261
หยาบคาย ๑ กล่าวด้วยคําประกอบด้วยประโยชน์หรือไม่ประกอบด้วยประโยชน์ ๑ มีจิตเมตตาหรือมีโทสะในภายในกล่าว ๑ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน เมื่อบุคคลอื่นจะกล่าวโดยกาลอันสมควรหรือไม่สมควรก็ตาม จะกล่าวด้วยเรื่องจริงหรือไม่จริงก็ตาม จะกล่าวด้วยถ้อยคําอ่อนหวานหรือหยาบคายก็ตาม จะกล่าวถ้อยคําประกอบด้วยประโยชน์หรือไม่ประกอบด้วยประโยชน์ก็ตาม จะมีจิตเมตตาหรือมีโทสะในภายในกล่าวก็ตาม แม้ในข้อนั้น พวกเธอพึงศึกษาอย่างนี้ว่า จิตของเราจักไม่แปรปรวน เราจักไม่เปล่งวาจาที่ชั่ว เราจักอนุเคราะห์ด้วยประโยชน์ เราจักมีจิตเมตตา ไม่มีโทสะภายใน เราจักแผ่เมตตาจิตไปถึงบุคคลนั้น และเราจักแผ่เมตตาจิตอันเสมอด้วยแผ่นดิน ไพบูลย์ ใหญ่ยิ่ง หาประมาณมิได้ ไม่มีเวร ไม่มีพยาบาทไปตลอดโลก ทุกทิศทุกทาง ซึ่งเป็นอารมณ์ของจิตนั้น ดังนี้ ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายพึงศึกษาด้วยอาการดังที่กล่าวมานี้แล.
[๒๖๕] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เปรียบบุรุษถือเอาครั่งก็ตาม สีเหลือง สีเขียว หรือสีแดงอ่อนก็ตาม มาแล้ว กล่าวอย่างนี้ว่า เราจักเขียนรูปต่างๆ ในอากาศนี้ กระทําให้รูปปรากฏชัด ดังนี้ ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจะสําคัญความข้อนั้นเป็นไฉน บุรุษนั้นจะเขียนรูปต่างๆ ในอากาศนี้ กระทําให้รูปปรากฏชัดได้หรือไม่. ไม่ได้พระเจ้าข้า. ข้อนั้นเพราะเหตุอะไร. เพราะธรรมดาอากาศนี้ย่อมเป็นของไม่มีรูปร่าง ชี้ให้เห็นไม่ได้ เขาจะเขียนรูปในอากาศนั้น ทําให้รูปเด่นปรากฏชัดไม่ได้ง่ายเลย ก็แหละบุรุษนั้นจะต้องเหน็ดเหนื่อยลําบากเสียเปล่าเป็นแน่แท้ ดังนี้ แม้ฉันใด ภิกษุทั้งหลาย ทางแห่งถ้อยคําที่บุคคลอื่นจะพึงกล่าวกะท่าน มีอยู่ ๕ ประการ คือ กล่าวโดยกาลอันสมควรหรือไม่สมควร ๑ กล่าวด้วยเรื่องจริงหรือไม่จริง ๑ กล่าวด้วยคําอ่อนหวานหรือคําหยาบคาย ๑ กล่าวด้วยคําประกอบด้วยประโยชน์หรือไม่ประกอบด้วยประโยชน์ ๑ มีจิตเมตตาหรือมีโทสะในภายในกล่าว ๑ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน ภิกษุทั้งหลาย เมื่อ
พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 262
บุคคลอื่นจะกล่าวโดยกาลอันสมควรหรือไม่สมควรก็ตาม จะกล่าวด้วยเรื่องจริงหรือไม่จริงก็ตาม จะกล่าวถ้อยคําอ่อนหวานหรือหยาบคายก็ตาม จะกล่าวถ้อยคําประกอบด้วยประโยชน์หรือไม่ประกอบด้วยประโยชน์ก็ตาม จะมีจิตเมตตาหรือมีโทสะในภายในกล่าวก็ตาม แม้ในข้อนั้น พวกเธอพึงศึกษาอย่างนี้ว่า จิตของเราจักไม่แปรปรวน เราจักไม่เปล่งวาจาชั่ว เราจักอนุเคราะห์ด้วยประโยชน์ เราจักมีจิตเมตตา ไม่มีโทสะในภายใน เราจักแผ่เมตตาจิตไปถึงบุคคลนั้น และเราจะแผ่เมตตาจิตอันไพบูลย์ ใหญ่ยิ่ง หาประมาณมิได้ ไม่มีเวร ไม่มีพยาบาท ไปตลอดโลก ทุกทิศทุกทาง ซึ่งเป็นอารมณ์ของจิตนั้น ดังนี้ ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายพึงศึกษาด้วยอาการดังกล่าวมานี้แล.
[๒๗๐] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนบุรุษ ถือเอาคบหญ้าที่จุดไฟมาแล้วกล่าวอย่างนี้ว่า เราจักทําแม่น้ำคงคาให้ร้อนจัด ให้เดือดเป็นควันพลุ่ง ด้วยคบหญ้าที่จุดไฟแล้วนี้ ดังนี้ ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจะสําคัญความข้อนั้นเป็นไฉน บุรุษนั้นจักทําแม่น้ำคงคาให้ร้อนจัด ให้เดือดเป็นควันพลุ่งด้วยคบหญ้าคบที่จุดไฟแล้วได้หรือไม่. ไม่ได้พระเจ้าข้า. ข้อนั้นเพราะเหตุไร. เพราะแม่น้ำคงคาเป็นแม่น้ำที่ลึก สุดที่จะประมาณ เขาจะทําแม่น้ำคงคานั้นให้ร้อนจัด ให้เดือดเป็นควันพลุ่ง ด้วยคบหญ้าที่จุดไฟแล้วไม่ได้ง่ายเลย ก็แลบุรุษนั้นจะต้องเหน็ดเหนื่อยลําบากเสียเปล่าเป็นแน่แท้ ดังนี้ แม้ฉันใด ภิกษุทั้งหลาย ทางแห่งถ้อยคําที่บุคคลอื่นจะพึงกล่าวกะท่านมีอยู่ ๕ ประการ คือกล่าวโดยกาลอันสมควรหรือไม่สมควร ๑ กล่าวด้วยเรื่องจริงหรือไม่จริง ๑ กล่าวด้วยคําอ่อนหวานหรือหยาบคาย ๑ กล่าวด้วยคําประกอบด้วยประโยชน์หรือไม่ประกอบด้วยประโยชน์ ๑ มีจิตเมตตาหรือมีโทสะในภายในกล่าว ๑ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน ภิกษุทั้งหลาย เมื่อบุคคลอื่นจะกล่าวโดยกาลอันสมควรหรือไม่สมควรก็ตาม เขาจะกล่าวด้วยเรื่องจริงหรือไม่จริงก็ตาม จะกล่าวถ้อยคํา
พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 263
อ่อนหวานหรือหยาบคายก็ตาม จะกล่าวถ้อยคําประกอบด้วยประโยชน์หรือไม่ประกอบด้วยประโยชน์ก็ตาม จะมีจิตเมตตาหรือมีโทสะในภายในกล่าวก็ตาม แม้ในข้อนั้น พวกเธอพึงศึกษาอย่างนี้ว่า จิตของเราจักไม่แปรปรวน เราจักไม่เปล่งวาจาที่ชั่ว เราจักอนุเคราะห์ด้วยประโยชน์ เราจักมีเมตตาจิต ไม่มีโทสะในภายใน เราจักแผ่เมตตาจิตไปถึงบุคคลนั้น และเราจักแผ่เมตตาจิตอันเสมอด้วยแม่น้ำคงคา ไพบูลย์ ใหญ่ยิ่ง หาประมาณมิได้ ไม่มีเวร ไม่มีพยาบาท ไปตลอดโลก ทุกทิศทุกทาง ซึ่งเป็นอารมณ์ของจิตนั้น ดังนี้ ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายพึงศึกษาด้วยอาการดังที่กล่าวมานี้แล.
[๒๗๑] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนกระสอบหนังแมวที่นายช่างหนังฟอกดีเรียบร้อยแล้ว อ่อนนุ่มดังปุยนุ่นและสําลี เป็นกระสอบที่ดีได้ ไม่ดังก้อง ถ้ามีบุรุษถือเอาไม้หรือกระเบื้องมาพูดขึ้นอย่างนี้ว่า เราจักทํากระสอบหนังแมว ที่เขาฟอกไว้ดีเรียบร้อยแล้ว อ่อนนุ่มดังปุยนุ่นและสําสี ที่ตีได้ไม่ดังก้องนี้ให้เป็นของมีเสียงดังก้อง ด้วยไม้หรือกระเบื้องดังนี้ ภิกษุทั้งหลายพวกเธอจะสําคัญความข้อนั้นเป็นไฉน บุรุษนั้นจะทํากระสอบหนังแมวที่เขาฟอกไว้ดีเรียบร้อยแล้ว อ่อนนุ่มดังปุยนุ่นและสําลี ที่ตีได้ไม่ดังก้องนี้ให้กลับมีเสียงดังก้องขึ้น ด้วยไม้หรือกระเบื้องได้หรือไม่. ไม่ได้พระเจ้าข้า. ข้อนั้นเพราะเหตุไร. เพราะเหตุว่า กระสอบหนังแมวนี้เขาฟอกดีเรียบร้อยแล้ว อ่อนนุ่มดังปุยนุ่นและสําลี ซึ่งเป็นของที่ตีได้ไม่ดังก้อง เขาจะทํากระสอบหนังแมวนั้น ให้กลับเป็นของมีเสียงดังก้องขึ้นด้วยไม้หรือกระเบื้องไม่ได้ง่ายเลย บุรุษคนนั้น จะต้องเหน็ดเหนื่อยลําบากเสียเปล่าเป็นแน่แท้ ดังนี้ แม้ฉันใด ภิกษุทั้งหลาย ทางแห่งถ้อยคําที่บุคคลอื่นจะพึงกล่าวกะท่านมีอยู่ ๕ ประการคือกล่าวโดยกาลอันสมควรหรือไม่สมควร ๑ กล่าวด้วยเรื่องจริงหรือไม่จริง ๑ กล่าวด้วยคําอ่อนหวานหรือหยาบคาย ๑ กล่าวด้วยคํามีประโยชน์หรือไร้ประโยชน์ ๑ มีจิตเมตตาหรือมีโทสะในภายใน
พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 264
กล่าว ๑ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน ภิกษุทั้งหลาย เมื่อคนอื่นจะกล่าวโดยกาลอันสมควร หรือไม่สมควรก็ตาม จะกล่าวด้วยเรื่องจริงหรือไม่จริงก็ตาม จะกล่าวด้วยถ้อยคําอ่อนหวานหรือหยาบคายก็ตาม จะกล่าวด้วยถ้อยคํามีประโยชน์หรือไร้ประโยชน์ก็ตาม จะมีจิตเมตตาหรือมีโทสะในภายในกล่าวก็ตาม แม้ในข้อนั้น พวกเธอพึงศึกษาอย่างนี้ว่า จิตของเราจักไม่แปรปรวน เราจักไม่เปล่งวาจาที่ชั่ว เราจักอนุเคราะห์ผู้อื่นด้วยประโยชน์ เราจักมีเมตตาจิต ไม่มีโทสะในภายใน เราจักแผ่เมตตาจิตไปถึงบุคคลนั้น และเราจักแผ่เมตตาจิตอันเสมอด้วยกระสอบหนังแมว ไพบูลย์ ใหญ่ยิ่ง หาประมาณมิได้ ไม่มีเวร ไม่มีพยาบาท ไปตลอดโลก ทุกทิศทุกทาง ซึ่งเป็นอารมณ์ของจิตนั้น ดังนี้ ภิกษุทั้งหลายเธอทั้งหลายพึงศึกษาด้วยอาการดังที่กล่าวมานี้แล.
[๒๗๒] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย หากจะมีพวกโจรผู้มีความประพฤติต่ําช้า เอาเลื่อยที่มีด้ามสองข้าง เลื่อยอวัยวะใหญ่น้อยของพวกเธอ แม้ในเหตุนั้น ภิกษุหรือภิกษุณีรูปใดมีใจคิดร้ายต่อโจรเหล่านั้น ภิกษุหรือภิกษุณีรูปนั้นไม่ชื่อว่าเป็นผู้ทําตามคําสั่งสอนของเรา เพราะเหตุที่อดกลั้นไม่ได้นั้น ภิกษุทั้งหลาย แม้ในข้อนั้น เธอทั้งหลายพึงศึกษาอย่างนี้ว่า จิตของเราจักไม่แปรปรวน เราจักไม่เปล่งวาจาที่ชั่ว เราจักอนุเคราะห์ผู้อื่นด้วยประโยชน์ เราจักมีเมตตาจิตไม่มีโทสะในภายใน เราจักแผ่เมตตาจิตไปถึงบุคคลนั้น และเราจักแผ่เมตตาจิตอันไพบูลย์ ใหญ่ยิ่ง หาประมาณมิได้ ไม่มีเวร ไม่มีพยาบาท ไปตลอดโลก ทุกทิศทุกทาง ซึ่งเป็นอารมณ์ของจิตนั้น ดังนี้ ภิกษุทั้งหลายพวกเธอพึงศึกษาด้วยอาการดังที่กล่าวมานี้แล.
[๒๗๓] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็พวกเธอควรใส่ใจถึงโอวาทอันเปรียบด้วยเลื่อยนี้เนืองนิตย์เถิด พวกเธอจะไม่มองเห็นทางแห่งถ้อยคําที่มีโทษน้อยหรือโทษมาก ที่พวกเธอจะอดกลั้นไม่ได้ หรือยังจะมีอยู่บ้าง. ไม่มีพระเจ้าข้า.
พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 265
เพราะเหตุนั้นแหละ ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจงใส่ใจถึงโอวาทอันเปรียบได้ด้วยเลื่อยนี้เนืองนิตย์เถิด ข้อนั้นจักเป็นประโยชน์และความสุขแก่พวกเธอสิ้นกาลนาน ดังนี้แล.
พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสพระพุทธพจน์นี้แล้ว ภิกษุเหล่านั้นมีใจชื่นชมยินดีภาษิตของพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้วแล.
จบ กกจูปมสูตรที่ ๑
พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 266
อรรถกถากกจูปมสูตร
กกจูปมสูตร มีคําเริ่มต้นว่า ข้าพเจ้าได้ฟังมาอย่างนี้.
พึงทราบวินิจฉัยใน กกจูปมสูตรนั้น ดังต่อไปนี้. คําว่า โมลิยผัคคุนะ นี้ มวยผม ท่านเรียกว่า โมลี. เหมือนอย่างที่ท่านกล่าวไว้ว่า
เฉตฺวาน โมลี วรคนฺธวาสิตํ เวหาสยํ อุกฺขิปิ สากฺยปุงฺคโว รตนจงฺโกฏวเรน วาสโว สหสฺสเนตฺโต สิรสา ปฏิคฺคหิ.
จอมศากยะผู้ประเสริฐสุด ทรงตัดพระเมาลี (คือมวยผม) อันอบด้วยของหอมอย่างดีแล้วโยนขึ้นไปในอากาศ ท้าววาสวะสหัสสเนตรทรงเอาผอบแก้ว อันประเสริฐ ทูนพระเศียรรับไว้ ดังนี้.
ในเวลาที่ท่านเป็นคฤหัสถ์มีมวยผมใหญ่. เพราะเหตุนั้น เขาจึงเรียกท่านว่า โมลิยผัคคุนะ. แม้บวชแล้วชนทั้งหลายก็ยังจําชื่อนั้นได้.
บทว่า อติเวลํ แปลว่า เกินขอบเขต. ในบทว่า อติเวลํ นั้น เวลามี ๓ คือ
๑. กาลเวลา ขอบเขตคือเวลา
๒. สีมเวลา ขอบเขตคือเขตแดน
๓. สีลเวลา ขอบเขตคือศีล
พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 267
จริงอยู่ ในคําว่า ทรงเปล่งอุทานนี้ในเวลานั้น ดังนี้ เวลานี้ชื่อว่า กาลเวลา. ในคําว่า ภิกษุผู้มีธรรมอันตั้งอยู่แล้วจะไม่ก้าวล่วงแดน ดังนี้ เวลานี้ ชื่อว่า สีมเวลา. ในคําว่า การไม่ล่วงละเมิดเวลา คือ ที่ชื่อเสตุฆาตวิรัติ อริยมรรคผู้ฆ่า ซึ่งบาปธรรมอันนับเนื่องแล้วในพระอริยมรรค ชื่อว่า เสตุ และในคําว่า ชื่อว่า เวลา เพราะอรรถว่า การไม่ล่วงละเมิดนี้ ดังนี้ เวลานี้ชื่อว่า สีลเวลา.
พระโมลิยผัคคุนะนั้นย่อมก้าวล่วงขอบเขตตามที่กล่าวแล้วนั้นแม้ทั้ง ๓ ทีเดียว. จริงอยู่ กาลเวลาสําหรับการให้โอวาทภิกษุณีทั้งหลาย มีอยู่. เมื่อพระอาทิตย์อัศดงคตตกแล้ว พระโมลิยผัคคุนะนั้นก็ยังกล่าวสอนอยู่ จึงชื่อว่าเกินกาลเวลาแม้นั้น. ชื่อว่า ประมาณ (การกําหนด) ในการกล่าวสอนภิกษุณีทั้งหลาย มีอยู่ ชื่อว่า สีมมริยาทา แปลว่า เขตแดน พระโมลิยผัคคุนะนั้น กล่าวสอนเกินกว่าห้าหกคําขึ้นไป จึงชื่อว่า เกินสีมเวลาแม้นั้น. ก็พระโมลิยผัคคุนะเมื่อกล่าวธรรมอยู่ ก็กระทําเป็นเล่น (มีการพูดตลกเป็นต้น) ย่อมกล่าวคํามากเพียงพอที่จะเป็นอาบัติหยาบได้. ด้วยอาการอย่างนี้ ชื่อว่า เกินแม้ซึ่งสีลเวลา.
บทว่า สํ สฏฺโ คือว่าเป็นผู้ปะปนกัน ร่วมสุขทุกข์กัน.
บทว่า สมฺมุขา คือ ข้างหน้า.
บทว่า อวณฺณํ ภาสติ ความว่า ภิกษุรูปไรๆ เห็นพวกภิกษุณีเหล่านั้นทํากิจ มีการตําข้าวเป็นต้น ก็จะกล่าวสิ่งที่ไม่เป็นเป็นคุณว่า ภิกษุณีพวกนี้ประพฤติไม่ดี ว่ายาก เป็นผู้คะนอง คงไม่ต้องอาบัติ ดังนี้.
บทว่า อธิกรณํปิ กโรติ ความว่า พระโมลิยผัคคุนะ ย่อมชักอธิกรณ์ (เรื่องราว) แก่ภิกษุทั้งหลายเหล่านี้ว่า จําเดิมแต่เห็นภิกษุณีทั้งหลายเหล่านี้แล้ว ขัดลูกตา การบูชาด้วยดอกไม้ในวิหารนี้ หรือว่า การกระต่างๆ มีการชําระล้างอาสนะ. และการประพรมเป็นต้น ย่อมดําเนินโดยภิกษุณีเหล่านี้ ภิกษุณีเหล่านี้เป็นกุลธิดา เป็นผู้มีความละอาย พวกท่านกล่าวอย่างนี้ๆ แก่ภิกษุณีเหล่านั้น
พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 268
พวกท่านเป็นอาบัติชื่อนี้ พวกท่านจงมาสํานักพระวินัยธร แล้วให้วินิจฉัยแก่เรา.
บทว่า โมลิยผคฺคุนสฺส อวณฺณํ ภาสติ ความว่า ภิกษุไรๆ ย่อมกล่าวสิ่งอันมิใช่คุณว่า ชื่อว่า อาบัติ ย่อมไม่มีแก่ภิกษุนี้ ที่บริเวณของพระโมลิยผัคคุนะนี้ ไม่ว่างภิกษุณีตลอดกาลเป็นนิตย์ ดังนี้.
บทว่า อธิกรณํปิ กโรนฺติ ความว่า ย่อมชักอธิกรณ์แก่ภิกษุทั้งหลายเหล่านี้ว่า จําเดิมแต่เราเห็นพระโมลิยผัคคุนะเถระแล้ว ย่อมขัดลูกตา ใครๆ ไม่อาจแม้แต่จะแลดูที่อยู่ของพวกภิกษุอื่นในวิหารนี้ได้ พวกภิกษุณีที่มาสู่วิหารนี้ ได้อาศัยพระเถระ (พระโมลิยผัคคุนะ) รูปเดียวแท้ๆ จึงได้โอวาทบ้าง การต้อนรับบ้างบทอุทเทสบ้าง ท่านเป็นบุตรของผู้มีตระกูล มีความละอาย มีความรําคาญ พวกท่านจงกล่าวถ้อยคําอย่างนี้ๆ เห็นปานนี้ พวกท่านจงมา ให้พระวินัยธรวินิจฉัยแก่เรา ดังนี้.
ข้อว่า โส ภิกฺขุ ภควนฺตํ เอตทโวจ ความว่า ได้กราบทูลเพื่อต้องการจะให้เป็นที่รักก็หาไม่ หรือด้วยประสงค์เพื่อให้เขาแตกกันก็หาไม่ ที่แท้เพื่อมุ่งประโยชน์เท่านั้น.
ได้ยินว่า ภิกษุนั้นคิดว่า เมื่อภิกษุ (โมลิยผัคคุนะ) นี้คลุกคลีอยู่อย่างนี้ ความเสื่อมยศ จักเกิดขึ้น สิ่งที่มิใช่ยศนั้นเป็นโทษแม้แก่พระศาสนา ก็พระโมลิยผัคคุนะนี้ถูกภิกษุอื่นตักเตือนแล้วก็จักไม่ยอมงดเว้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงธรรมให้โอวาทแล้วก็จักงดเว้น ดังนี้. เพราะภิกษุนั้นเป็นผู้มุ่งประโยชน์ จึงได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า อายสฺมา ภนฺเต เป็นต้น แปลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ท่านพระโมลิยผัคคุนะ คลุกคลีอยู่กับพวกภิกษุณีเกินขอบเขต เป็นต้น.
บทว่า อามนฺเตหิ คือว่า จงให้ทราบ.
บทว่า อามนฺเตติ แปลว่า ตรัสเรียก.
บทว่า สทฺธา แปลว่าด้วยศรัทธา.
บทว่า ตสฺมา ความว่า ก็เพราะเหตุที่เธอเป็นบุตรผู้มีตระกูล เป็นผู้บวชด้วยศรัทธา หรือเหตุที่เธอคลุกคลีอยู่กับภิกษุณีทั้งหลายอย่างนั้น คนพวกใด
พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 269
ด่าภิกษุณี หรือประหารภิกษุณี เกิดความโทมนัสขัดใจในคนพวกนั้น เมื่อเธอละความคลุกคลีได้แล้ว ความโทมนัสก็จักไม่เกิด ดังนี้.
บทว่า ตตฺร คือว่า ในการติเตียนนั้น.
บทว่า เคหสิตา คือว่าอาศัยเบญจกามคุณ.
บทว่า ฉนฺทา คือว่า พอใจด้วยตัณหาบ้าง พอใจด้วยปฏิฆะบ้าง.
บทว่า วิปริณตํ ความว่า จิตกําหนัดด้วยอํานาจตัณหาก็แปรปรวน ทั้งจิตที่โกรธ ทั้งจิตที่หลง ก็แปรปรวนเป็นอื่น. แต่ในที่นี้ จิตที่กําหนัดโดยความพอใจด้วยอํานาจตัณหาก็ควร แม้จิตที่โกรธโดยความพอใจ ด้วยอํานาจปฏิฆะก็ควร.
บทว่า หิตานุกมฺปิ ได้แก่อนุเคราะห์ด้วยประโยชน์เกื้อกูล คือว่าแผ่ออกไปด้วยประโยชน์เกื้อกูล.
บทว่า น โทสนฺตโร คือว่า เราจักไม่เป็นผู้มีโทสะจิต.
เพราะเหตุไร ท่านจึงเริ่มคําว่า อถ โข ภควา เป็นต้น. ได้ยินว่าแม้ความคิดว่า เราให้โอวาทเพียงนี้แล้ว จักงดเว้นจากการคลุกคลีกับภิกษุณีทั้งหลาย ดังนี้ ของพระโมลิยผัคคุนะมิได้เกิด. ก็พระโมลิยผัคคุนะนั้นเป็นผู้ขัดแย้งกับพระผู้มีพระภาคเจ้า ราวกะว่าเป็นลิ่มสลัก ผ้าสะดึง. ในครั้งนั้นเพราะทรงเห็นภิกษุผู้ว่ายากรูปนี้ ภาพเหล่าภิกษุผู้ว่าง่าย ครั้งปฐมโพธิกาลก็มาปรากฎแก่พระผู้มีพระภาคเจ้า เหมือนบุคคลผู้หิว ปรารถนาอาหาร ผู้กระหายน้ำ ปรารถนาน้ำดื่ม ผู้กระทบความหนาว ปรารถนาความอุ่น ผู้ประสบทุกข์ ปรารถนาสุขฉะนั้น. ลําดับนั้น ทรงประสงค์จะสรรเสริญพวกภิกษุผู้ว่าง่ายเหล่านั้น จึงเริ่มเทศนานี้.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อาราธยิํสุ แปลว่าให้ยินดีคือให้ถือเอา.
บทว่า เอกํ สมยํ แปลว่า สมัยหนึ่ง.
บทว่า เอกาสนโภชนํ ได้แก่ การฉันอาหารในเวลาปุเรภัตครั้งเดียว. จริงอยู่ ตั้งแต่พระอาทิตย์ขึ้นจนถึงเวลาเที่ยงวัน แม้ภิกษุจะฉันอาหาร ๑๐ ครั้ง ท่านก็ประสงค์เอาในข้อว่า ฉันอาหารหนเดียวนี้.
บทว่า อปฺปาพาธตํ คือ ปราศจากอาพาธ.
บทว่า อปฺปาตงฺกตํ คือปราศจากทุกข์.
บทว่า ลหุฏฺานํ
พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 270
ได้แก่ มีร่างกายคล่องแคล่ว.
บทว่า พลํ แปลว่า มีกําลังกาย.
บทว่า ผาสุวิหารํ คือ ร่างกายอยู่เป็นสุข.
ถามว่า ทําไม พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสไว้ด้วยสูตรนี้.
ตอบว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสถึงกาลให้ละการฉันอาหารในเวลาวิกาลในเวลากลางวันในสูตรนี้ แต่ในภัททาลิสูตรตรัสถึงกาลให้ละการฉันอาหารในเวลาวิกาลในเวลากลางคืน. พระผู้มีพระภาคเจ้ามิได้ทรงให้ภิกษุละการฉันอาหารในเวลาวิกาลทั้งสองนี้พร้อมกัน.
ถามว่า เพราะเหตุไร.
ตอบว่า ก็เพราะอาหารในเวลาวิกาลทั้งสองนี้ สัตว์ทั้งหลายประพฤติมาจนชินในวัฏฏะแล้วกุลบุตรผู้สุขุมาล (ผู้ละเอียดอ่อน) มีอยู่ กุลบุตรเหล่านั้นถ้าละอาหารในเวลาวิกาลทั้งสองพร้อมกัน ย่อมลําบาก เพราะฉะนั้น จึงไม่ทรงให้ละพร้อมกัน คือให้ละการฉันอาหารนั้นคนละคราว คือให้ละอาหารในเวลาวิกาลในเวลากลางวันคราวหนึ่ง และให้ละอาหารในเวลาวิกาลในเวลากลางคืนคราวหนึ่ง.
ในสองคราวนั้น ในสูตรนี้ ตรัสให้ละการฉันอาหารในเวลาวิกาลในเวลากลางวัน. พระพุทธเจ้าทั้งหลายมิใช่ทรงชี้ภัย ให้ละการฉันอาหารในเวลาวิกาลเท่านั้น แต่ทรงแสดงอานิสงส์แล้วจึงให้ละ ด้วยเหตุนั้นแหละ สัตว์ทั้งหลาย จึงละได้โดยง่าย เพราะฉะนั้น เมื่อจะแสดงอานิสงส์ จึงตรัสคุณประโยชน์ ๕ เหล่านี้ (คือ มีอาพาธน้อย มีความลําบากน้อยเป็นต้น).
บทว่า อนุสาสนี กรณียา ความว่า ต้องพร่ำสอนบ่อยๆ ว่าพวกเธอ จงทําสิ่งนี้ อย่าทําสิ่งนี้ คือ มีแต่กิจทําให้เกิดสติเท่านั้น และตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ครั้งปฐมโพธิกาล ด้วยเหตุเพียงเท่านั้น ภิกษุเหล่านั้นได้ทําสิ่งที่ควรทํา ได้ละสิ่งที่ควรละ ภิกษุทั้งหลาย เป็นผู้ว่าง่าย เชื่อฟังรับสนองโอวาท.
พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 271
บัดนี้ เมื่อจะทรงนําอุปมาอันสอนถึงความที่ภิกษุเหล่านั้นเป็นผู้ว่าง่าย จึงตรัสคําว่า เสยฺยถาปิ เป็นต้น. บรรดาบทเหล่านั้น
บทว่า สุภูมิยํ ได้แก่ พื้นที่ดีเรียบ เหมือนในประโยคที่ว่า บุคคลพึงหว่านพืชในพื้นที่ดี ในนาดีอันปราศจากตอไม้เป็นต้น และคําที่มาในประโยคว่า พื้นที่สะอาดเป็นพื้นที่ดี เป็นต้น.
บทว่า จตุมหาปเถ ได้แก่ ในที่ทางใหญ่สองสายตัดผ่านกันไป.
บทว่า อาชฺรโถ ได้แก่ รถที่เทียมด้วยม้าที่ฝึกดีแล้ว.
บทว่า โอธสฺตปโตโท ความว่า นายสารถีผู้ฉลาดก้าวขึ้นบนรถแล้ว สามารถเพื่อจะถือแส้ที่วางไว้ทางขวางแล้วห้อยลง.
บทว่า โยคฺคาจริโยได้แก่ นายสารถี. ผู้ใดย่อมฝึกม้า ผู้นั้น ชื่อว่า อสฺสทมฺมสารถิ.
บทว่า เยนิจฺฉกํ คือ ย่อมปรารถนาไปทางใด.
บทว่า ยทิจฺฉกํ คือ ย่อมต้องการออกไปที่ใด.
บทว่า สาเรยฺย คือ พึงไปทางตรงข้างหน้า.
บทว่า ปจฺฉา สาเรยฺย คือให้กลับ.
บทว่า เอวเมว โข ความว่า เหมือนอย่างว่า นายสารถีนั้น ย่อมปรารถนาจะไปทางใดๆ ม้าก็จะขึ้นทางนั้นๆ ย่อมปรารถนาโดยคติใดๆ ก็ถือเอาคตินั้นๆ นั่นแหละไป ม้าลากรถไป ก็ไม่ห้ามไม่เฆี่ยน แต่ม้าวางกีบไปในพื้นอันเรียบอย่างดีเท่านั้น. คําที่เราพึงกล่าวซ้ำซากในภิกษุทั้งหลายเหล่านั้นมิได้มีแล้ว ด้วยอาการอย่างนี้ว่า จงทําการนี้ อย่าทําการนี้ มีกิจที่ควรกระทําก็เพียงเตือนสติเท่านั้น ดังนี้ กิจที่ควรทําก็เป็นอันภิกษุแม้เหล่านั้น ทํามาก่อนแล้วทั้งนั้น กิจไม่ควรทําเธอก็ละเสียแล้ว.
บทว่า ตสฺมา ความว่า เหล่าภิกษุผู้ว่าง่าย เปรียบเทียบด้วยยานที่เทียมด้วยม้าอาชาไนย ก็ละอกุศลธรรมได้ ด้วยเพียงให้เกิดสติเท่านั้น เพราะฉะนั้น แม้พวกเธอจงละอกุศลธรรมเสีย.
บทว่า เอลณฺเฑหิ ได้ยินว่า ต้นละหุ่งทั้งหลายย่อมประทุษร้ายต้นสาละ เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสแล้วอย่างนั้น.
บทว่า วิโสเธยฺย คือ พึงตัดต้นละหุ่งทั้งหลาย และเถาวัลย์อื่นเสีย แล้วก็ทําความ
พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 272
สะอาดโดยนําไปทิ้งภายนอก.
บทว่า สุชาตา ได้แก่ ตั้งอยู่ด้วยดี.
บทว่า สมฺมา ปริหเรยฺย คือว่า พึงกั้นเขตทําให้เจริญ เลี้ยงดูให้ถูกต้อง โดยการรดน้ำบ้าง พรวนดินที่ใกล้โคนตามเวลาอันควรบ้าง ตัดเครือเถาวัลย์และกอไม้เป็นต้นบ้าง นํารังมดดําออกไปบ้าง เอาใยแมลงมุมและท่อนไม้แห้งออกไปบ้าง. ความเจริญ เป็นต้น มีเนื้อความกล่าวไว้แล้วทั้งนั้น.
บัดนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อจะทรงแสดงโทษแห่งความไม่อดทน จึงตรัสคําว่า ภูตปุพฺพํ เป็นอาทิ. บรรดาคําเหล่านั้น
บทว่า เวเทหิกา นี้เป็นชื่อ กุลธิดา ผู้อาศัยอยู่ในเวเทหรัฐ. อีกอย่างหนึ่ง ท่านเรียกปัญญาว่า เวทะ. ผู้ใดย่อมไป ย่อมดําเนินไปด้วยปัญญา เหตุนั้น ผู้นั้นชื่อว่า เวเทหิกา อธิบายว่า บัณฑิต.
บทว่า คหปตานิ คือ หญิงเจ้าเรือน.
บทว่า กิตฺติสทฺโท คือเกียรติก้อง.
บทว่า โสรตา ได้แก่ ผู้ประกอบด้วยความสงบเสงี่ยม.
บทว่า นิวาตา คือ ประพฤติถ่อมตน.
บทว่า อุปสนฺตา คือ เป็นผู้เยือกเย็น.
บทว่า ทกฺขา ได้แก่ เป็นผู้ฉลาดในการงานทั้งหลาย มีการหุงข้าวปูที่นอนและตามไฟ เป็นต้น.
บทว่า อนลสา คือ เป็นผู้ลุกขึ้น (ขยัน).
บทว่า สุสํวิหิตกมฺมนฺตา คือ มีการงานอันจัดไว้แล้วอย่างดี. ท่านแสดงว่าทาสีคนหนึ่งไม่เกียจคร้าน แต่จับภาชนะใดๆ ก็ทําให้ภาชนะนั้นๆ แตกหรือบิ่น ทาสีผู้นี้ไม่เป็นเช่นนั้น. บทว่า ทิวา อุฏาสิ ความว่าลุกขึ้นในเวลาที่พระอาทิตย์ขึ้นโด่งแล้ว ไม่กระทําการงานแม้การรีดนมโคเป็นต้น ที่ควรกระทําแต่เช้าตรู่.
บทว่า เห เช กาฬิ ความว่า เฮ้ยอีกาลี เพราะเหตุไรเจ้าจึงลุกขึ้นสาย เจ้าไม่สบายเป็นอะไรหรือ.
บทว่า โน วต เร กิฺจิ ความว่า ความไม่ผาสุกอะไรๆ มีการปวดหัวปวดหลังเป็นต้น มิได้มี เมื่อเป็นเช่นนั้น นางนั้น จึงได้กล่าวว่า แนะอีชาติชั่ว เพราะเหตุไร เจ้าจึงลุกขึ้นสาย ดังนี้ แล้วโกรธ ขัดใจ หน้านิ่วคิ้วขมวด.
บทว่า ทิวาตรํ อุฏฺาสิ
พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 273
คือ ในวันรุ่งขึ้น ก็ลุกขึ้นสายกว่า.
บทว่า อนตฺตมนํ วาจํ ความว่า แม่บ้านนั้นกล่าวว่า เฮ้ยอีคนชาติชั่ว เจ้าไม่รู้จักประมาณของตนเอง สําคัญว่าหนาวจัดหรือ บัดนี้ เมื่อจักให้นางกาลี ทาสีนั้นสํานึกตน จึงเปล่งเสียงถ้อยคําของคนที่โกรธ.
บทว่า ปฏิวิสฺสกานํ แปลว่า ผู้อยู่บ้านใกล้เคียง.
บทว่า อุชฺฌาเปสิ คือว่า เที่ยวโพนทะนาให้เขาดูหมิ่น.
บทว่า จณฺฑี คือ ไม่สงบเสงี่ยมเป็นคนชั่ว. อธิบายว่า คุณทั้งหลายมีเพียงเท่านี้ด้วยอาการอย่างนี้ แต่โทษเกิดขึ้นเป็นทวีคูณ มากกว่าคุณนั้น. ธรรมดาว่าคุณทั้งหลายย่อมค่อยๆ มา. แต่โทษนั้นเพียงวันเดียวก็แผ่ขยายไป.
บทว่า โสรตโสรโต แปลว่า เป็นคนสงบเสงี่ยมอย่างยิ่ง. ถึงกับเขากล่าวว่าเป็นพระโสดาบันหรือหนอ พระสกทาคามี พระอนาคามี พระอรหันต์หรือหนอ.
บทว่า ผุสนฺติ ได้แก่ แห่งถ้อยคําที่ปรากฏมาถูก กระทบ ทีนั้น จึงรู้ได้ว่า ภิกษุนั้นเป็นผู้สงบเสงี่ยม. อีกอย่างหนึ่งภิกษุผู้ตั้งอยู่ในอธิวาสนขันติ พึงทราบว่า เป็นภิกษุผู้สงบเสงี่ยม.
บทว่า โยจีวร ฯเปฯ ปริกฺขารเหตุ ความว่า ภิกษุรูปใด เมื่อได้ปัจจัยทั้งหลายมีจีวรเป็นต้น ที่ประณีตๆ เหล่านี้ ย่อมทําการนวดเท้านวดหลังเป็นต้น โดยพูดคําเดียวเท่านั้น.
บทว่า อลภมาโน คือว่า เมื่อไม่ได้อย่างที่เคยได้มาก่อน.
บทว่า ธมฺมํเยว สกฺกโรนฺโต คือว่า เมื่อกระทําสักการะ คือการที่กระทําให้ดีต่อธรรมนั้นนั่นแหละ.
บทว่า ครุกโรนฺโต คือว่า กระทําเคารพ คือ ให้เป็นภาระ.
บทว่า มาเนนฺโต คือว่า กระทําให้เป็นที่รักด้วยความนอบน้อม. บทว่า ปูเชนฺโต ได้แก่ บูชาด้วยปัจจัย.
บทว่า อปจายมาโน ได้แก่นอบน้อม แสดงความยําเกรง ถ่อมตน ต่อธรรมนั่นแล.
พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 274
ทางแห่งถ้อยคํา ๕ ประการ
พระผู้มีพระภาคเจ้าครั้นทรงแสดงโทษแห่งความไม่อดทนอย่างนี้แล้ว บัดนี้ เมื่อจะทรงแสดงทางแห่งถ้อยคํา ๕ ประการ ด้วยพระดํารัสว่า เหล่าชนย่อมอดกลั้นอย่างนี้แล้ว ตรัสคําว่า ปฺจีเม ภิกฺขเว เป็นต้น บรรดาบทเหล่านั้น
บทว่า กาเลน แปลว่า โดยถึงกาลเวลาอันสมควร.
บทว่า ภูเตน แปลว่า ด้วยคําอันเป็นจริง.
บทว่า สณฺเหน คือว่า ด้วยถ้อยคําที่สุภาพ.
บทว่า อตฺถสฺหิเตน ด้วยถ้อยคําอันอาศัยประโยชน์ อาศัยเหตุการณะ.
บทว่า อกาเลน เป็นอาทิ แปลว่า โดยกาลอันไม่สมควรเป็นต้น บัณฑิตพึงทราบด้วยสามารถแห่งธรรมที่เป็นปฎิปักษ์ต่อธรรมเหล่านั้นนั่นแหละ.
บทว่า เมตฺตจิตฺตา คือ เกิดเมตตาจิต.
บทว่า โทสนฺตรา คือ จิตอันโทสะประทุษร้ายแล้ว คือ เกิดโทสะขึ้นแล้วในภายใน.
บทว่า ตตฺราปิ คือ ในทางแห่งถ้อยคําเหล่านั้น.
บทว่า ผริตฺวา คือ น้อมไป.
บทว่า ตทารมฺมณํจ คือ กระทําถ้อยคําให้เป็นอารมณ์ของจิตนั้นไปทั่วโลก ภิกษุกระทําบุคคลผู้ถือเอาทางแห่งถ้อยคํา ๕ มาแล้วให้เป็นอารมณ์ของเมตตาจิต เมื่อกระทําสัตว์ที่เหลือให้เป็นอารมณ์ของเมตตาจิต นั้นนั่นแหละอีก จึงชื่อว่า กระทําให้เป็นอารมณ์ของจิตนั้นไปทั่วโลก. ในข้อนั้น พึงทราบความหมายแห่งถ้อยคําดังนี้
บทว่า ตทารมฺมณฺจ ว่า ได้แก่ กระทําให้เป็นอารมณ์แห่งเมตตาจิตนั้นนั่นแหละ.
บทว่า สพฺพาวนฺตํ ได้แก่ มีสัตว์ทั้งหมด.
บทว่า โลกํ ได้แก่สัตว์โลก. บทว่า วิปุเลน ได้แก่ มีสัตว์มิใช่น้อยเป็นอารมณ์.
บทว่า มหคฺคเตน คือ ประกอบด้วยจิตมหัคคตภูมิ.
บทว่า อปฺปมาเณน คือเจริญดีแล้ว.
บทว่า อเวเรน คือ ไม่มีโทษ.
บทว่า อพฺยาปชฺเฌน คือไม่มีทุกข์.
บทว่า ผริตฺวา วิหริสฺสาม ความว่า พวกเราน้อมนึกถึงบุคคล
พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 275
นั้นและสัตว์โลกทั้งหมด กระทําให้เป็นอารมณ์ของจิตนั้น ด้วยจิตอันสหรคตด้วยเมตตาเห็นปานนี้แล้วอยู่.
บัดนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าเมื่อจะทรงนําอุปมาอันชี้แจงถึงอรรถนั้นจึงตรัสคําว่า เสยฺยยาปิ เป็นอาทิ. บรรดาบทเหล่านั้น
บทว่า อปวิํ ได้แก่ จักกระทําไม่ให้มีแผ่นดิน อธิบายว่าจักให้ถึงความไม่มีแผ่นดิน.
บทว่า ตตฺร ตตฺร แปลว่า ที่นั้นๆ.
บทว่า วิกิเรยฺย คือเอากระเช้ายกดินขึ้นโปรย ดุจพืชทั้งหลาย.
บทว่า โอฏฺเภยฺย คือถ่มน้ำลาย.
บทว่า อปฺวิํกเรยฺย ความว่า ใครถึงแม้จะทําความเพียรด้วยกายและวาจาอยู่อย่างนี้ ก็ไม่อาจกระทําแผ่นดินใหญ่ไม่ให้เป็นแผ่นดินเลย.
แผ่นดินหนาลึก ๒๔๐,๐๐๐ โยชน์ (๑)
บทว่า คมฺภีรา แปลว่า ลึก คือว่าโดยส่วนที่หนาลึก สองแสนสี่หมื่นโยชน์.
บทว่า อปฺปเมยฺย แปลว่า หาประมาณมิได้ คือว่า กําหนดไม่ได้ในทางขวาง.
บทว่า เอวเมว โข นี้เป็นการเทียบเคียงด้วยข้ออุปมาในที่นี้ เมตตาจิต พึงเห็นเหมือนแผ่นดิน. บุคคลผู้ถือเอาทางแห่งถ้อยคํา ๕ อย่างมาแล้ว เหมือนบุรุษถือเอาจอบและตะกร้ามาแล้ว. บุรุษนั้นย่อมไม่อาจเพื่อทําแผ่นดินใหญ่ไม่ให้เป็นแผ่นดินได้ ด้วยจอบและตะกร้า ฉันใด บุคคลผู้ถือเอาทางแห่งถ้อยคํา ๕ อย่างมาแล้ว ก็จักไม่อาจเพื่อกระทําเมตตาจิตของท่านทั้งหลายให้แปรปรวนได้ ฉันนั้น.
(๑) แผ่นดินนี้แบ่งเป็น ๒ ชนิด คือ ตอนบนครึ่งหนึ่ง เรียกว่า บังสุปฐวี ตอนล่างครึ่งหนึ่งเรียกว่า ศิลาปฐวี. ในอังคุตตนิกาย พระบาลีว่า อยํ โข อานนฺท มหาปถวี อุทเก ปติฏิตา อุทกํ วาเต ปติฏฺิตํ วาโต อากาสฏฺโ โหติ แปลว่า ดูก่อนอานนท์ มหาปฐพีนี้แลตั้งอยู่บนน้ำ น้ำตั้งอยู่บนลม ลมตั้งอยู่บนอากาศ.
พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 276
พึงทราบวินิจฉัยในอุปมาที่สองดังต่อไปนี้.
บทว่า หลิทฺทิํ ได้แก่สีเหลืองอย่างใด อย่างหนึ่ง.
บทว่า นีลํ ได้แก่ สีเขียว สําริด หรือสีเขียวใบไม้. บทว่า อรูปี แปลว่า ไม่มีรูป.
ถามว่า ก็ปริจฉินนากาส (๑) ในระหว่างแห่งหมู่ไม้ทั้งสอง หรือต้นไม้ หรือที่นอน หรือศิลา ก็ปรากฏว่า รูป มิใช่หรือ เพราะเหตุไร ในที่นี้พระผู้มีพระภาคเจ้าจงตรัสว่า อากาศเป็นของไม่มีรูปร่าง ดังนี้.
ตอบว่า เพราะปฏิเสธการเห็นรูป. ด้วยเหตุนั้นนั่นแหละ จึงตรัสคําว่า อนิทสฺสโน แปลว่า ชี้ให้เห็นไม่ได้. จริงอยู่ ใครๆ ไม่อาจเขียนรูป แสดงรูปให้ปรากฏในอากาศนั้นได้ ฉะนั้น จึงตรัสว่า อรูปี แปลว่าไม่มีรูป ดังนี้.
บทว่า อนิทสฺสโน คือ ไม่ใช่วิถีของจักขุวิญญาณที่ทําหน้าที่เห็น. ก็ในการเปรียบเทียบอุปมาในข้อที่สองนี้ เมตตาจิต เปรียบเหมือนอากาศ ทางแห่งถ้อยคํา ๕ อย่างเปรียบเหมือนเครื่องเขียนสี ๔ อย่าง มีปุยฝ้ายเป็นที่ ๕. บุคคลผู้ถือเอาทางแห่งถ้อยคํา ๕ อย่างมาแล้ว เปรียบเหมือนบุรุษผู้ถือเอาเครื่องเขียนสีทั้งหลาย มีปุยฝ้ายเป็นที่ ๕ มาแล้ว. บุรุษนั้น ย่อมไม่อาจทํารูปภาพให้ปรากฏในอากาศได้ด้วยเครื่องเขียนสีทั้งหลาย ซึ่งมีปุยฝ้ายเป็นที่ ๕ ฉันใด บุคคลผู้ถือเอาทางแห่งถ้อยคําทั้ง ๕ มาแล้ว ก็จักไม่อาจกระทําเมตตาจิตของท่านทั้งหลายให้แปรปรวน คือให้เป็นโทสะเกิดขึ้นได้ฉันนั้น.
พึงทราบวินิจฉัยในอุปมาที่สามดังต่อไปนี้.
บทว่า อาทิตฺตํ คือว่า ไฟลุกขึ้นโพลงแล้ว.
บทว่า คมฺภีรา อปฺปเมยฺยา ความว่า ส่วนที่ลึกแห่งแม่น้ำคงคานี้มีคาวุตหนึ่ง (หนึ่งร้อยเส้น) ก็มี กึ่งโยชน์ก็มี หนึ่ง
๑. อากาศมี ๔ ประเภท คือ อัชฏากาส ได้แก่ อากาศในท้องฟ้า ปริจฉินนากาส ได้แก่ อากาศที่กําหนดได้ในระหว่างแห่งวัตถุ กสิณุคฆาปฏิมากาส ได้แก่ อากาศที่ได้มาเนื่องจากเพิกกสิณ ๙ ปริจเฉทากาส ได้แก่ อากาศที่ขั้นระหว่างรูปกับรูป.
พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 277
โยชน์ก็มี ส่วนกว้างของแม่น้ำคงคานี้ ก็อย่างนั้นเหมือนกัน. แต่โดยส่วนยาวประมาณ ๕๐๐ โยชน์.
ถามว่า ส่วนลึกนั้น ประมาณไม่ได้ เพราะเหตุไร.
ตอบว่า เพราะเปลี่ยนแปลงด้วยความพยายามนั้น ไม่อาจทําแม่น้ำนั้นให้ร้อนได้เหมือนอย่างน้ำเอาตั้งเตาไฟ. ก็น้ำประมาณ หนึ่งองคุลีหรือ ๘ องคุลี ใครก็อาจทํามันให้ร้อนได้ด้วยอุบายบางอย่าง แต่แม่น้ำคงคานี้ ใครๆ ไม่อาจทําให้ร้อนได้ เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสอย่างนั้น. ก็ในการเทียบเคียงอุปมาในข้อนี้มีดังนี้ เมตตาจิตเปรียบเหมือน แม่น้ำคงคา. บุคคลผู้ถือเอาทางแห่งวาจา ๕ อย่างมาแล้ว เปรียบเหมือนบุรุษผู้ถือคบหญ้ามาแล้ว. บุรุษนั้นไม่อาจทําแม่น้ำคงคาให้ร้อนด้วยคบหญ้า ฉันใด บุคคลผู้ถือเอาทางแห่งวาจา ๕ อย่างมาแล้ว ก็จักไม่อาจกระทําเมตตาจิตให้แปรปรวน (คือเป็นโทสะ) ได้ฉันนั้น.
พึงทราบวินิจฉัยอุปมาที่ ๔ ดังต่อไปนี้
บทว่า วิฬารภสฺตา แปลว่ากระสอบหนังแมว.
บทว่า สุมทฺทิตา แปลว่า ขยําดีแล้ว.
บทว่า สุปริมทฺทิตา คือขยําเรียบร้อยแล้วโดยรอบ ทั้งภายในและภายนอก.
บทว่า ตูลินี คือว่า เป็นของเสมอกับปุยงิ้ว ปุยเถาวัลย์.
บทว่า ฉินฺนสสฺสรา แปลว่า ขาดสุ้มเสียง.
บทว่า ฉินฺนปพฺภรา แปลว่าขาดเสียงกังวาน. ก็ในการเปรียบเทียบอุปมาในข้อนี้มีดังนี้ เมตตาจิตเปรียบเหมือนกระสอบหนังแมว. บุคคลผู้ถือเอาทางแห่งถ้อยคํา ๕ อย่างมาแล้ว เปรียบเหมือนบุรุษผู้ถือเอาไม้ หรือกระเบื้องมาแล้ว. บุรุษนั้นย่อมไม่อาจเอาไม้หรือกระเบื้องตีกระสอบหนังแมวให้มีเสียงดังก้อง ฉันใด บุคคลผู้ถือเอาทางของถ้อยคํา ๕ อย่างมาแล้ว ก็จักไม่อาจกระทําเมตตาจิตให้แปรปรวน คือให้เป็นไปตามโทสะได้ ฉันนั้น ดังนี้.
บทว่า โอจรา คือ ประพฤติต่ํา อธิบายว่า ผู้ทํากรรมอันต่ํา.
บทว่า โย มโน ปโทเสยฺย
พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 278
ความว่าผู้ใดไม่ว่าภิกษุหรือ ภิกษุณี เคืองใจ อดกลั้นการเลื่อย ด้วยเลื่อยนั้นไม่ได้.
บทว่า น เม โส เตน สาสนกโร ความว่า ผู้นั้น ไม่ชื่อว่า เป็นผู้กระทําตามคําสอนของเรา เหตุอดกลั้นไม่ได้นั้น ก็แต่ว่า อาบัติย่อมไม่มีแก่เธอในเพราะอดกลั้นไม่ได้นั้น.
บทว่า อณุํ วา ถูลํ วา แปลว่า มีโทษน้อย หรือว่ามีโทษมาก.
บทว่า ยํ ตุมฺเห นาธิวาเสยฺยาถ ความว่า บุคคลใดที่พึงเป็นผู้ที่พวกเธออดกลั้นไม่ได้.
บทว่า โน เหตํ ภนฺเต อธิบายว่า พวกข้าพระองค์ไม่เห็นทางแห่งถ้อยคําที่ข้าพระองค์อดกลั้นไม่ได้ หามิได้.
พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงถือเอายอดด้วยพระอรหัต จึงให้เทศนาจบลงตามลําดับอนุสนธิว่าข้อนั้น จักเป็นประโยชน์เกื้อกูล และความสุขแก่พวกเธอสิ้นกาลนาน ด้วยประการฉะนี้แล.
จบ อรรถกถากกจูปมสูตรที่ ๑