พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๖. ปาสราสิสูตร

 
บ้านธัมมะ
วันที่  27 ส.ค. 2564
หมายเลข  36030
อ่าน  938
  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 9 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 410

๖. ปาสราสิสูตร

[๓๑๒] ข้าพเจ้าได้ฟังมาอย่างนี้:-

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับ อยู่ที่พระวิหารเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี กรุงสาวัตถี ครั้งนั้นเป็นเวลาเช้า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงนุ่งสบงถือบาตรจีวร เสด็จเข้าไปยังกรุงสาวัตถีเพื่อบิณฑบาต. ครั้งนั้น ภิกษุหลายรูปเข้าไปหาท่านพระอานนท์กล่าวว่า ท่านอานนท์ พวกข้าพเจ้าได้ฟังธรรมีกถา เฉพาะพระพักตร์พระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นเวลานานมาแล้ว ขอให้พวกข้าพเจ้าได้ฟังธรรมีกถาเฉพาะพระพักตร์พระผู้มีพระภาคเจ้าเถิด.

ท่านพระอานนท์กล่าวว่า ถ้าเช่นนั้น ขอพวกท่านจงไปสู่อาศรมของพราหมณ์ชื่อรัมมกะ จึงจะได้ฟังธรรมีกถาเฉพาะพระพักตร์พระผู้มีพระภาคเจ้า. ภิกษุเหล่านั้น ได้รับคําท่านพระอานนท์แล้ว.

ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จเข้าไปบิณฑบาตที่กรุงสาวัตถี กลับจากบิณฑบาตในเวลาปัจฉาภัตนี้แล้ว ตรัสเรียกท่านพระอานนท์มา ตรัสว่า อานนท์ เราจะไปพักผ่อนกลางวันที่ปราสาทแห่งมิคารมารดา (นางวิสาขา) ที่บุพพาราม. ท่านพระอานนท์ได้ทูลรับพระดํารัสแล้ว. พระผู้มีพระภาคเจ้ากับท่านพระอานนท์ได้เสด็จไปพักผ่อนกลางวันที่ปราสาทแห่งมิคารมารดาที่บุพพาราม เวลาเย็นเสด็จออกจากที่พักผ่อนแล้ว ตรัสเรียกท่านพระอานนท์มา ตรัสว่า อานนท์ เรามาไปสรงน้ำที่ท่าบุพพโกฏฐกะ (๑) ท่านพระอานนท์ได้ทูลรับพระดํารัสแล้ว พระผู้มีพระภาคเจ้ากับท่านพระอานนท์ได้เสด็จไปสรงน้ำที่ท่าบุพพโกฏฐกะ. สรงเสร็จแล้วจึงกลับขึ้นมา ทรงจีวรผืนเดียวประทับยืนผึ่งพระองค์อยู่. ท่านพระอานนท์กราบทูลว่า พระเจ้าข้า อาศรมของพราหมณ์ชื่อรัมมกะอยู่


(๑) ท่าอาบน้ำตั้งอยู่ด้านปราจีน มีหาดทรายขาวสะอาดเป็นที่อาบน้ำ ๔ ที่ สําหรับกษัตริย์ ชาวเมือง พวกภิกษุ และพระพุทธเจ้า ไม่อาบรวมกัน.

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 9 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 411

ไม่ไกล เป็นที่รื่นรมย์ น่าเลื่อมใส ขอโปรดเสด็จไปที่นั้นเพื่อทรงอนุเคราะห์เถิด. พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงรับโดยดุษณีภาพ แล้วจึงเสด็จไปที่อาศรมของพราหมณ์ชื่อรัมมกะ. สมัยนั้น ภิกษุหลายรูปนั่งสนทนาธรรมีกถากันอยู่ที่นั้น. พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับยืนอยู่ที่ซุ้มประตูข้างนอก คอยให้ภิกษุเหล่านั้นสนทนากันจบ.

ว่าด้วยการแสวงหา ๒ อย่าง

[๓๑๓] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทราบว่า ภิกษุเหล่านั้นสนทนากันจบแล้ว จึงทรงกระแอมแล้วเคาะบานประตู ภิกษุเหล่านั้นได้เปิดประตูรับ พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จเข้าไปที่อาศรมของพราหมณ์ชื่อรัมมกะ ประทับนั่งบนอาสนะที่ได้จัดไว้ แล้วจึงตรัสถามภิกษุทั้งหลายว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บัดนี้พวกเธอนั่งสนทนาเรื่องอะไรกัน และเรื่องอะไรที่พวกเธอสนทนากันค้างไว้. ภิกษุเหล่านั้นทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ธรรมีกถาปรารภถึงพระผู้มีภาคเจ้านั้นแล พวกข้าพระองค์พูดกันค้างอยู่ ก็พอดีพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จมาถึง. จึงตรัสว่า ดีละ ภิกษุทั้งหลาย การที่พวกเธอผู้เป็นกุลบุตร ออกจากเรือนไม่มีเรือน บวชด้วยศรัทธา นั่งสนทนาธรรมีกถากันเป็นการสมควร พวกเธอเมื่อนั่งประชุมกัน ควรทํากิจสองอย่าง คือสนทนาธรรมกัน หรือนั่งนิ่งตามแบบพระอริยะ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย การแสวงหามีสองอย่าง คือ การแสวงหาที่ไม่ประเสริฐอย่างหนึ่ง การแสวงหาที่ประเสริฐอย่างหนึ่ง.

ว่าด้วยการแสวงหาที่ไม่ประเสริฐ

[๓๑๔] ดูก่อนภิกษุทั้งหลายการแสวงหาที่ไม่ประเสริฐเป็นไฉน. คนบางคนในโลกนี้ ตนเองเป็นผู้มีความเกิดเป็นธรรมดา ก็ยังแสวงหาสิ่งมีชาติเป็นธรรมดาอยู่นั่นแหละ เป็นผู้มีชราความแก่เป็นธรรมดา ก็ยังแสวงหาสิ่งมีชราความแก่เป็นธรรมดาอยู่นั่นแหละ เป็นผู้มีพยาธิความเจ็บไข้เป็นธรรมดา

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 9 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 412

ก็ยังแสวงหาสิ่งมีพยาธิความเจ็บไข้เป็นธรรมดาอยู่นั่นแหละ เป็นผู้มีมรณะความตายเป็นธรรมดา ยังแสวงหาสิ่งมีมรณะความตายเป็นธรรมดาอยู่นั่นแหละ เป็นผู้มีโศกเป็นธรรมดา ยังแสวงหาสิ่งมีโศกเศร้าเป็นธรรมดาอยู่นั่นแหละ เป็นผู้มีสังกิเลสความเศร้าหมองเป็นธรรมดา ยังแสวงหาสิ่งมีสังกิเลสความเศร้าหมองเป็นธรรมดาอยู่นั่นแหละ. เธอบอกได้ไหมว่าอะไรคือสิ่งมีชาติเป็นธรรมดา. บุตร ภรรยา ทาสหญิง ทาสชาย แพะ แกะ ไก่ สุกร ช้าง โค ม้า ลา ทอง เงิน เรียกว่าสิ่งมีชาติเป็นธรรมดา. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สิ่งมีชาติเป็นธรรมดาเหล่านั้นเป็นอุปธิ ผู้ที่ติดพัน ลุ่มหลง เกี่ยวข้องในสิ่งมีชาติเป็นธรรมดาเหล่านั้น ชื่อว่าตนเองเป็นผู้มีชาติเป็นธรรมดา ยังแสวงหาสิ่งมีชาติเป็นธรรมดาอยู่นั่นแหละ. เธอบอกได้ไหมว่าอะไรคือ สิ่งมีชราเป็นธรรมดา. บุตร ภรรยา ทาสหญิง ทาสชาย แพะ แกะ ไก่ สุกร ช้าง โค ม้า ลา ทอง เงิน เรียกว่าสิ่งมีชราเป็นธรรมดา. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สิ่งมีชราเป็นธรรมดาเหล่านั้นเป็นอุปธิ ผู้ที่ติดพัน ลุ่มหลง เกี่ยวข้อง ในสิ่งมีชราเป็นธรรมดาเหล่านั้น ชื่อว่าตนเองเป็นผู้มีชราเป็นธรรมดา ยังแสวงหาสิ่งมีชราเป็นธรรมดาอยู่นั่นแหละ. เธอบอกได้ไหมว่า อะไรเล่า คือ สิ่งมีพยาธิเป็นธรรมดา. บุตร ภรรยา ทาสหญิง ทาสชาย แพะ แกะ ไก่ สุกร ช้าง โค ม้า ลา ทอง เงิน เรียกว่า สิ่งมีพยาธิเป็นธรรมดา. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สิ่งมีพยาธิเป็นธรรมดาเหล่านั้นเป็นอุปธิ ผู้ที่ติดพัน ลุ่มหลง เกี่ยวข้องในสิ่งมีพยาธิเป็นธรรมดาเหล่านั้น ชื่อว่าตนเองเป็นผู้มีพยาธิเป็นธรรมดา ยังแสวงหาสิ่งมีพยาธิเป็นธรรมดาอยู่นั่นแหละ. เธอบอกได้ไหมว่า อะไรเล่าคือสิ่งมีมรณะเป็นธรรมดา. บุตร ภรรยา ทาสหญิง ทาสชาย แพะ แกะ ไก่ สุกร ช้าง โค ม้า ลา ทอง เงิน เรียกว่าสิ่งมีมรณะเป็นธรรมดา.ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สิ่งมีมรณะเป็นธรรมดาเหล่านั้นเป็นอุปธิ ผู้ที่ติดพัน ลุ่มหลง เกี่ยวข้อง ในสิ่งมีมรณะเป็นธรรมดาเหล่านั้น ชื่อว่าตนเองเป็นผู้มีมรณะ

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 9 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 413

เป็นธรรมดา ยังแสวงหาสิ่งมีมรณะเป็นธรรมดาอยู่นั่นแหละ. เธอบอกได้ไหมว่า อะไรคือสิ่งมีความโศกเป็นธรรมดา. บุตร ภรรยา ทาสหญิง ทาสชาย แพะ แกะ ไก่ สุกร ช้าง โค ม้า ลา ทอง เงิน เรียกว่าสิ่งมีความโศกเป็นธรรมดา. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สิ่งมีความโศกเป็นธรรมดาเหล่านั้นเป็นอุปธิ ผู้ที่ติดพัน ลุ่มหลง เกี่ยวข้อง ในสิ่งมีความโศกเป็นธรรมดาเหล่านั้น ชื่อว่าตนเองเป็นผู้มีความโศกเป็นธรรมดา ยังแสวงหาสิ่งมีความโศกเป็นธรรมดาอยู่นั่นแหละ. เธอบอกได้ไหมว่า อะไรคือสิ่งมีกิเลสเป็นธรรมดา. บุตร ภรรยา ทาสหญิง ทาสชาย แพะ แกะ ไก่ สุกร ช้าง โค ม้า ลา ทอง เงิน เรียกว่าสิ่งมีสังกิเลสเป็นธรรมดา. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สิ่งมีสังกิเลสเป็นธรรมดาเหล่านั้นเป็นอุปธิ ผู้ที่ติดพัน ลุ่มหลง เกี่ยวข้อง ในสิ่งมีสังกิเลสเป็นธรรมดาเหล่านั้น ชื่อว่าตนเองเป็นผู้มีสังกิเลสเป็นธรรมดา ยังแสวงหาสิ่งมีสังกิเลสเป็นธรรมดาอยู่นั่นแหละ. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย นี้คือการแสวงหาที่ไม่ประเสริฐ.

ว่าด้วยการแสวงหาสิ่งประเสริฐ

[๓๑๕] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย การแสวงหาที่ประเสริฐเป็นไฉน. คนบางคนในโลกนี้ ตนเองเป็นผู้มีชาติเป็นธรรมดา ทราบชัดโทษในสิ่งมีชาติเป็นธรรมดา ย่อมแสวงหาพระนิพพาน ที่ไม่เกิด หาธรรมอื่นยิ่งกว่ามิได้ เกษมจากโยคะ ตนเองเป็นผู้มีชราเป็นธรรมดา ทราบชัดโทษในสิ่งมีชราเป็นธรรมดา ย่อมแสวงหาพระนิพพาน ที่ไม่แก่ หาธรรมอื่นยิ่งกว่ามิได้ เกษมจากโยคะ ตนเองเป็นผู้มีพยาธิเป็นธรรมดา ทราบชัดโทษในสิ่งมีพยาธิเป็นธรรมดา ย่อมแสวงหาพระนิพพาน ที่หาพยาธิมิได้ หาธรรมอื่นยิ่งกว่ามิได้ เกษมจากโยคะ ตนเองมีมรณะเป็นธรรมดา ทราบชัดโทษในสิ่งมีมรณะเป็นธรรมดา ย่อมแสวงหาพระนิพพาน ที่ไม่ตาย หาธรรมอื่นยิ่งกว่ามิได้ เกษมจากโยคะ ตนเองเป็นผู้มีโศกเป็นธรรมดา ทราบชัดโทษในสิ่งมีโศกเป็นธรรมดา ย่อมแสวงหาพระนิพพาน ที่หาโศกมิได้ เกษมจากโยคะ ตนเองเป็นผู้มีสังกิเลสเป็นธรรมดา

 
  ข้อความที่ 5  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 9 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 414

ทราบชัดโทษในสิ่งมีสังกิเลสเป็นธรรมดา ย่อมแสวงหาพระนิพพาน ที่ไม่เศร้าหมอง หาธรรมอื่นยิ่งกว่ามิได้ เกษมจากโยคะ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย นี้แลคือการแสวงที่ประเสริฐ.

[๓๑๖] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย แม้เราก่อนแต่ตรัสรู้ ยังไม่ได้ตรัสรู้เป็นโพธิสัตว์อยู่ ตนเองเป็นผู้มีชาติเป็นธรรมดา ก็ยังแสวงหาสิ่งมีชาติเป็นธรรมดานั่นแล เป็นผู้มีชราเป็นธรรมดา ก็ยังแสวงหาสิ่งมีชราเป็นธรรมดานั่นแล เป็นผู้มีพยาธิเป็นธรรมดา ก็ยังแสวงหาสิ่งมีพยาธิเป็นธรรมดานั่นแล เป็นผู้มีมรณะเป็นธรรมดา ก็ยังแสวงหาสิ่งมีมรณะเป็นธรรมดานั่นแล เป็นผู้มีโศกเป็นธรรมดา ก็ยังแสวงหาสิ่งมีความโศกเป็นธรรมดานั่นแล เป็นผู้มีสังกิเลสเป็นธรรมดา ก็ยังแสวงหาสิ่งมีสังกิเลสเป็นธรรมดานั่นแล เราจึงคิดดังนี้ว่า เราเป็นผู้มีชาติเป็นธรรมดา ทําไมจึงยังแสวงหาสิ่งมีชาติเป็นธรรมดาอยู่เล่า เรามีชราเป็นธรรมดา ทําไมจึงแสวงหาสิ่งมีชราเป็นธรรมดาอยู่เล่า เราเป็นผู้มีพยาธิเป็นธรรมดา ทําไมจึงยังแสวงหาสิ่งมีพยาธิเป็นธรรมดาอยู่เล่า เป็นผู้มีมรณะเป็นธรรมดา ทําไมจึงยังแสวงหาสิ่งมีมรณะเป็นธรรมดาอยู่เล่า เป็นผู้มีโศกเป็นธรรมดา ทําไมจึงยังแสวงหาสิ่งมีโศกเป็นธรรมดาอยู่เล่า เป็นผู้มีสังกิเลสเป็นธรรมดา ทําไมจึงยังแสวงหาสิ่งมีสังกิเลสเป็นธรรมดาอยู่เล่า ถ้ากระไร เราเมื่อเป็นผู้มีชาติเป็นธรรมดา ก็ควรทราบชัดโทษในสิ่งมีชาติเป็นธรรมดา แล้วแสวงหาพระนิพพาน ที่ไม่เกิด หาธรรมอื่นยิ่งกว่ามิได้ เกษมจากโยคะ เมื่อเป็นผู้มีชราเป็นธรรมดา ก็ควรทราบชัดโทษในสิ่งมีชราเป็นธรรมดา แล้วแสวงหาพระนิพพาน ที่ไม่แก่ หาธรรมอื่นยิ่งกว่ามิได้ เกษมจากโยคะ เมื่อเป็นผู้มีพยาธิเป็นธรรมดา ก็ควรทราบชัดโทษในสิ่งมีพยาธิเป็นธรรมดา แล้วแสวงหาพระนิพพาน ที่หาพยาธิมิได้ หาธรรมอื่นยิ่งกว่ามิได้ เกษมจากโยคะ เมื่อเป็นผู้มีมรณะเป็นธรรมดาก็ควรทราบชัดโทษในสิ่งมีมรณะเป็นธรรมดา แล้วแสวงหาพระนิพพานที่ไม่ตาย หาธรรมอื่น

 
  ข้อความที่ 6  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 9 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 415

ยิ่งกว่ามิได้เกษมจากโยคะ เมื่อเป็นผู้มีโศกเป็นธรรมดา ก็ควรทราบชัดโทษในสิ่งมีโศกเป็นธรรมดา แล้วแสวงหาพระนิพพาน ที่หาโศกมิได้ หาธรรมอื่นยิ่งกว่ามิได้ เกษมจากโยคะ เมื่อเป็นผู้มีสังกิเลสเป็นธรรมดาก็ควรทราบชัดโทษในสิ่งมีสังกิเลสเป็นธรรมดา แล้วแสวงหาพระนิพพาน ที่ไม่เศร้าหมอง หาธรรมอื่นยิ่งกว่ามิได้ เกษมจากโยคะ.

เสด็จเข้าไปหาอาฬารดาบส

[๓๑๗] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สมัยต่อมา เรากําลังรุ่นหนุ่ม มีเกศาดําสนิท ยังอยู่ในปฐมวัย เมื่อพระมารดาและพระบิดาไม่ทรงปรารถนาจะให้บวช มีพระพักตร์อาบด้วยน้ำพระเนตร ทรงกันแสงอยู่ จึงปลงผมและหนวด นุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ ออกจากเรือนไม่มีเรือนบวช เมื่อบวชแล้ว ก็เสาะหาว่ากุศลเป็นอย่างไร ขณะที่แสวงหาทางสงบระงับอันประเสริฐซึ่งหาทางอื่นยิ่งกว่ามิได้ ได้เข้าไปหาอาฬารดาบส กาลามโคตรแล้ว กล่าวว่า ท่านกาลามะ ข้าพเจ้าปรารถนาจะประพฤติพรหมจรรย์ในธรรมวินัยนี้. เมื่อเรากล่าวอย่างนี้ อาฬารดาบส กาลามโคตร จึงกล่าวกะเราว่า เชิญอยู่เถิดท่าน ธรรมนี้ก็เป็นธรรมเช่นเดียวกับที่วิูชนทําให้แจ้งลัทธิของอาจารย์ตนด้วยความรู้ยิ่งเองเข้าถึงอยู่ไม่ช้าเลย. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราเรียนธรรมนั้นได้โดยรวดเร็วไม่นานเราเพียงเปิดปากเจรจาปราศรัยเท่านั้น เราก็กล่าวญาณวาทและเถรวาทได้ และทั้งเรา ทั้งผู้อื่นก็ทราบชัดว่า เรารู้ เราเห็น. เราจึงคิดว่า อาฬารดาบส กาลามโคตร ย่อมบอกธรรมนี้มิใช่โดยเหตุเพียงความเชื่ออย่างเดียวว่า เรากระทําให้แจ้งด้วยความรู้ยิ่งโดยตนเองเข้าถึงอยู่ โดยที่แท้ อาฬารดาบส กาลามโคตร ก็รู้เห็นธรรมนี้อยู่. ต่อนั้น เราจึงเข้าไปหาอาฬารดาบส กาลามโคตร แล้วถามว่า ท่านกาลามะ ท่านกระทําให้แจ้งซึ่งธรรมนี้ ด้วยความรู้ยิ่งโดยตนเอง เข้าถึง บอกโดยด้วยเหตุเพียงเท่าใด. เมื่อเราถามอย่างนี้ อาฬารดาบสกาลามโคตร จึงบอกอากิญจัญญายตนสมาบัติแก่เรา. เราจึงคิดว่า มิใช่แต่

 
  ข้อความที่ 7  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 9 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 416

อาฬารดาบส กาลามโคตรเท่านั้นที่มีศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา แม้เราก็มีศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา เหมือนกัน ผิฉะนั้น เราต้องเริ่มบําเพ็ญเพื่อทําให้แจ้งซึ่งธรรมที่อาฬารดาบส กาลามโคตรบอกว่ากระทําให้แจ้งด้วยความรู้ยิ่งโดยตนเอง เข้าถึงอยู่ได้. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ต่อมาไม่นานนักเราก็กระทําให้แจ้งซึ่งธรรมนั้น ด้วยความรู้ยิ่งโดยตนเอง เข้าถึงอยู่ได้ ต่อนั้น เราจึงเข้าไปหาอาฬารดาบส กาลามโคตร แล้วถามว่า ท่านกาลามะ ท่านกระทําให้แจ้งซึ่งธรรมนี้ ด้วยความรู้ยิ่งโดยตนเอง เข้าถึง บอกได้ ด้วยเหตุเพียงเท่านี้หรือ.

อา. ผู้มีอายุ แม้ข้าพเจ้ากระทําให้แจ้งซึ่งธรรมนี้ ด้วยความรู้ยิ่งโดยตนเอง เข้าถึง บอกได้ ด้วยเหตุเพียงเท่านี้แหละ.

พ. ท่านกาลามะ แม้ข้าพเจ้าก็กระทําให้แจ้งซึ่งธรรมนี้ ด้วยความรู้ยิ่งโดยตนเอง เข้าถึงอยู่ ด้วยเหตุเพียงเท่านี้เหมือนกัน.

อา. เป็นลาภของพวกข้าพเจ้า พวกข้าพเจ้าได้ดีแล้วที่ได้เห็นสพรหมจารีเช่นท่าน เพราะข้าพเจ้ากระทําให้แจ้งซึ่งธรรมดา ด้วยความรู้ยิ่งโดยตนเองเข้าถึง บอกได้ ท่านก็กระทําให้แจ้งซึ่งธรรมนั้น ด้วยความรู้ยิ่งโดยตนเองเข้าถึงอยู่ได้ ท่านกระทําให้แจ้งซึ่งธรรมใด เข้าถึงอยู่ได้ ข้าพเจ้าก็กระทําให้แจ้งซึ่งธรรมนั้น ด้วยความรู้ยิ่งโดยตนเอง เข้าจึง บอกได้ ข้าพเจ้าทราบธรรมใด ท่านก็ทราบธรรมนั้น ท่านทราบธรรมใด ข้าพเจ้าก็ทราบธรรมนั้น เป็นอันว่า ข้าพเจ้าเป็นเช่นใด ท่านก็เป็นเช่นนั้น ท่านเป็นเช่นใด ข้าพเจ้าก็เป็นเช่นนั้น มาเถิด บัดนี้ เราทั้งสองจะอยู่ร่วมกันบริหารคณะนี้. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อาฬารดาบส กาลามโคตร ทั้งที่เป็นอาจารย์ของเรา ก็ยกย่องเราผู้เป็นศิษย์ให้สม่ําเสมอกับตน และบูชาเราอย่างโอฬาร ด้วยประการฉะนี้. แต่เราคิดว่า ธรรมนี้ไม่เป็นไปเพื่อนิพพิทา วิราคะ นิโรธะ อุปสมะ อภิญญา

 
  ข้อความที่ 8  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 9 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 417

สัมโพธะ และนิพพาน ย่อมเป็นไปเพื่อเข้าถึงอากิญจัญญายตนสมาบัติเท่านั้น. เราไม่พอใจ เบื่อหน่ายธรรมนั้น จึงลาจากไป.

เสด็จเข้าไปหาอุททกดาบส

[๓๑๘] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เรานั้นเป็นผู้เสาะหาว่ากุศลเป็นอย่างไร ขณะที่แสวงหาทางสงบระงับอันประเสริฐ ซึ่งหาทางอื่นยิ่งกว่ามิได้ ได้เข้าไปหาอุททกดาบส รามบุตร แล้วกล่าวว่า ท่านรามะ ข้าพเจ้าปรารถนาจะประพฤติพรหมจรรย์ในธรรมวินัยนี้. เมื่อเรากล่าวอย่างนี้ อุททกดาบส รามบุตรจึงกล่าวกะเราว่า เชิญอยู่เถิดท่าน ธรรมนี้เป็นเช่นเดียวกับธรรมที่วิญูชนทําให้แจ้งลัทธิของอาจารย์ตนด้วยความรู้ยิ่งเอง เข้าถึงอยู่ไม่ช้าเลย ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราเรียนธรรมนั้นได้โดยรวดเร็ว ไม่ช้าเลยเพียงเปิดปากเจรจาปราศรัยเท่านั้น เราก็กล่าวญาณวาท และเถรวาทได้ และทั้งเรา ทั้งผู้อื่นก็ทราบชัดว่า เรารู้เราเห็น. เราจึงคิดว่า รามบุตรย่อมบอกธรรมนี้ มิใช่โดยเหตุเพียงความเชื่ออย่างเดียวว่า เรากระทําให้แจ้ง ด้วยความรู้ยิ่งโดยตนเองเข้าถึงอยู่ได้ โดยที่แท้ รามบุตรก็รู้เห็นธรรมนี้อยู่. ต่อนั้นเราจึงเข้าไปหาอุททกดาบส รามบุตร แล้วถามว่า ท่านรามะ ท่านกระทําให้แจ้งซึ่งธรรมนี้ด้วยความรู้ยิ่งโดยตนเอง เข้าถึง บอกได้ ด้วยเหตุเพียงเท่าใด. เมื่อเราถามอย่างนี้ อุททกดาบส รามบุตร จึงบอกเนวสัญญานาสัญญายตนสมาบัติแก่เรา. เราจึงคิดว่า มิใช่แต่เพียงอุททกดาบส รามบุตรเท่านั้นที่มีศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา แม้เราก็มีศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา เหมือนกัน ผิฉะนั้น เราต้องเริ่มบําเพ็ญเพียร เพื่อทําให้แจ้งซึ่งธรรมที่อุททกดาบสรามบุตร บอกว่า การทําให้แจ้ง ด้วยความรู้ยิ่งโดยตนเอง เข้าถึงอยู่ได้. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราก็ได้กระทําให้แจ้งซึ่งธรรมนั้น ด้วยความรู้ยิ่งโดยตนเอง เข้าถึงอยู่ ต่อนั้น เราจึงเข้าไปหาอุททกดาบส รามบุตร แล้วถาม

 
  ข้อความที่ 9  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 9 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 418

ว่า ท่านรามะ ท่านกระทําให้แจ้งซึ่งธรรมนี้ ด้วยความรู้ยิ่งโดยตนเอง เข้าถึงบอกได้ ด้วยเหตุเพียงเท่านี้หรือ.

อุ. ผู้มีอายุ แม้ข้าพเจ้าก็กระทําให้แจ้งซึ่งธรรมนั้น ด้วยความรู้ยิ่งโดยตนเอง เข้าถึง บอกได้ โดยเหตุเพียงเท่านี้แหละ.

พ. ท่านรามะ แม้ข้าพเจ้าก็กระทําให้แจ้งซึ่งธรรมนี้ ด้วยความรู้ยิ่งด้วยตนเอง ด้วยเหตุเท่านี้เหมือนกัน.

อุ. เป็นลาภของพวกข้าพเจ้า พวกข้าพเจ้าได้ดีแล้วที่ได้เห็นสพรหมจารีเช่นท่าน เพราะท่านรามะกระทําให้แจ้งซึ่งธรรมใด ด้วยความรู้ยิ่งโดยตนเอง เข้าถึง บอกได้ ท่านก็กระทําให้แจ้งซึ่งธรรมนั้น ด้วยความรู้ยิ่งโดยตนเอง เข้าถึง บอกได้ ท่านรามะทําให้แจ้งซึ่งธรรมใด ด้วยความรู้ยิ่งโดยตนเอง เข้าถึงอยู่ได้ ท่านรามะก็กระทําให้แจ้ง ซึ่งธรรมนั้น ด้วยความรู้ยิ่งโดยตนเอง เข้าถึง บอกได้ ท่านรามะได้ทราบธรรมใด ท่านก็ทราบธรรมนั้น ท่านทราบธรรมใด ท่านรามะก็ได้ทราบธรรมนั้น เป็นอันว่าท่านรามะเป็นเช่นใด ท่านก็ได้เป็นเช่นนั้น ท่านเป็นเช่นใด ท่านรามะก็ได้เป็นเช่นนั้น มาเถิด บัดนี้ เราทั้งสองจะอยู่ร่วมกัน บริหารคณะนี้. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อุททกดาบส รามบุตร ทั้งที่เป็นสพรหมจารีของเรา ก็ยกย่องเราไว้ในฐานอาจารย์ และบูชาเราอย่างโอฬารด้วยประการฉะนี้. แต่เราคิดว่าธรรมนี้ไม่เป็นไปเพื่อนิพพิทา วิราคะ นิโรธะ อุปสมะ อภิญญา สัมโพธะ และนิพพาน ย่อมเป็นไปเพื่อเข้าถึงเนวสัญญานาสัญญายตนสมาบัติเท่านั้น เราไม่พอใจ เบื่อหน่ายธรรมนั้น จึงลาจากไป.

[๓๑๙] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เรานั้นเป็นผู้ชอบเสาะหาว่ากุศลเป็นอย่างไร ขณะที่แสวงหาทางสงบระงับอันประเสริฐ ซึ่งหาทางอื่นยิ่งกว่ามิได้ เมื่อเที่ยวจาริกไปในมคธชนบทโดยลําดับ ได้ไปถึงตําบลอุรุเวลาเสนานิคม

 
  ข้อความที่ 10  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 9 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 419

ได้เห็นภูมิภาคที่น่ารื่นรมย์ มีราวป่าเป็นที่เพลินใจ มีแม่น้ำไหลเอื่อย มีท่าน้ำสะอาดดี น่ารื่นรมย์ มีโคจรคามตั้งอยู่โดยรอบ. เราจึงคิดว่า ภูมิภาคเป็นที่น่ารื่นรมย์หนอ มีราวป่าเป็นที่เพลินใจ มีแม่น้ำไหลเอื่อย มีท่าน้ำสะอาดดีน่ารื่นรมย์ มีโคจรคามตั้งอยู่โดยรอบ เป็นที่สมควรเริ่มบําเพ็ญเพียรของกุลบุตรผู้ต้องการจะบําเพ็ญเพียร เราจึงนั่ง ณ ที่นั้น ด้วยคิดว่า ที่นี้เหมาะแก่การบําเพ็ญเพียร.

[๓๒๐] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราโดยตนเอง เป็นผู้มีชาติเป็นธรรมดา ทราบชัดโทษในสิ่งมีชาติเป็นธรรมดา แสวงหาจนได้บรรลุนิพพาน ที่ไม่เกิด หาธรรมอื่นยิ่งกว่ามิได้ เกษมจากโยคะ. เป็นผู้มีชราเป็นธรรมดา ทราบชัดโทษในสิ่งมีชราเป็นธรรมดา แสวงหาจนได้บรรลุนิพพาน ที่ไม่แก่ หาธรรมอื่นยิ่งกว่ามิได้ เกษมจากโยคะ. เป็นผู้มีพยาธิเป็นธรรมดา ทราบชัดโทษในสิ่งมีพยาธิเป็นธรรมดา แสวงหาจนได้บรรลุนิพพาน ที่หาพยาธิมิได้ หาธรรมอื่นยิ่งกว่ามิได้ เกษมจากโยคะ. เป็นผู้มีมรณะเป็นธรรมดา ทราบชัดโทษในสิ่งมีมรณะเป็นธรรมดา แสวงหาจนได้บรรลุนิพพาน ที่ไม่ตาย หาธรรมอื่นยิ่งกว่ามิได้ เกษมจากโยคะ. เป็นผู้มีโศกเป็นธรรมดา แสวงหาจนได้บรรลุนิพพานที่หาโศกมิได้ หาธรรมอื่นยิ่งกว่ามิได้ เกษมจากโยคะ. เป็นผู้มีสังกิเลสเป็นธรรมดา ทราบชัดโทษในสิ่งมีสังกิเลสเป็นธรรมดา แสวงหาจนได้บรรลุนิพพาน ที่ไม่เศร้าหมอง หาธรรมอื่นยิ่งกว่ามิได้ เกษมจากโยคะ. และญาณทัสสนะได้เกิดแก่เราว่า วิมุตติของเราไม่กําเริบ ชาตินี้เป็นที่สุด ไม่มีภพใหม่ต่อไป.

ทรงระลึกถึงธรรม

[๓๒๑] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราได้มีความดําริว่า ธรรมที่เราได้บรรลุนี้ลึก เห็นได้ยาก รู้ตามได้ยาก เป็นธรรมสงบ ประณีต หยั่งไม่ได้ด้วยความตรึก ละเอียด รู้ได้แต่บัณฑิต ส่วนหมู่สัตว์นี้เป็นผู้ยินดีเพลิดเพลิน

 
  ข้อความที่ 11  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 9 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 420

ใจในอาลัย ยากที่จะเห็นปฏิจจสมุปบาทที่เป็นปัจจัยแห่งธรรมเหล่านี้ได้ และยากที่จะเห็นธรรมที่สงบสังขารทั้งปวง สลัดอุปธิทั้งปวง เป็นที่สิ้นตัณหา เป็นที่สํารอก เป็นที่ดับ เป็นที่ออกจากตัณหา ก็ถ้าเราพึงแสดงธรรม และคนอื่นไม่รู้ทั่วถึงธรรมของเรา เราก็จะลําบากเหน็ดเหนื่อยเปล่า. ดูก่อนภิกษุทั้งหลายทั้งคาถาอันอัศจรรย์น้อย ที่เราไม่เคยได้สดับมาแต่ก่อน ก็ได้แจ่มแจ้งแก่เราดังนี้ว่า

บัดนี้ ไม่ควรประกาศธรรมที่เราบรรลุได้โดยยาก ธรรมนี้ ชนผู้มีราคะโทสะหนาแน่น ตรัสรู้ไม่ได้โดยง่าย ชนผู้กําหนัดด้วยอํานาจราคะ ถูกกองอวิชชาความมืดหุ้มห่อไว้ ย่อมไม่เห็นธรรมที่ทวนกระแสโลก อันละเอียดเป็นอณูลึกซึ้ง เห็นได้ยาก.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เมื่อเราคิดเห็นเช่นนี้ ก็มีจิตน้อมไปเพื่อขวนขวายน้อย ไม่น้อมไปเพื่อแสดงธรรม.

สหัมบดีพรหมทูลให้ทรงแสดงธรรม

[๓๒๒] ดูก่อนภิกษุทั้งหลายครั้งนั้น สหัมบดีพรหมทราบความดําริของเรา จึงได้มีความปริวิตกว่า โอ โลกจะฉิบหายแหลกลาญเสียแล้วหนอ เพราะพระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า มีพระทัยน้อมไปเพื่อขวนขวายน้อย ไม่น้อมไปเพื่อทรงแสดงธรรม. สหัมบดีพรหมจึงอันตรธานจากพรหมโลกมาปรากฏตัวตรงหน้าเรา คล้ายกับบุรุษผู้มีกําลัง เหยียดแขนที่งอเข้า หรืองอแขนที่เหยียดออก ฉะนั้น. แล้วจึงเฉวียงผ้าห่มประคองอัญชลีมาทางเรา กล่าวว่าข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าโปรดทรงแสดงธรรม ขอพระสุคตโปรดทรงแสดงธรรม สัตว์ผู้มีกิเลสดุจธุลีที่ดวงตาน้อยเป็นปกติมีอยู่ เพราะ

 
  ข้อความที่ 12  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 9 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 421

ไม่ได้สดับธรรม สัตว์เหล่านั้นจึงเสื่อม ผู้ที่รู้ธรรมจักมีอยู่. ครั้นสหัมบดีพรหมกล่าวดังนี้แล้ว จึงกล่าวคาถาประพันธ์ต่อไปดังนี้ว่า

แต่ก่อนในแคว้นมคธ ได้ปรากฏมีธรรมที่ไม่บริสุทธิ์ ซึ่งชนพวกที่มีมลทินคิดกันไว้ ขอพระองค์โปรดทรงเปิดประตูอมฤตนครเถิด ขอสัตว์ทั้งหลาย จงสดับธรรมที่พระองค์ผู้ทรงหมดมลทินตรัสรู้ ชนผู้อยู่บนยอดเขาศิลาพึงเห็นประชุมชนได้โดยรอบ ฉันใด ข้าแต่พระองค์ผู้มีพระปรีชา มีพระเนตรคือปัญญาโดยรอบ ขอพระองค์ผู้ปราศจากโศก โปรดเสด็จขึ้นปราสาทที่สําเร็จด้วยธรรม ซึ่งมีอุปมาฉันนั้น ทรงตรวจดูประชุมชนผู้ระงมด้วยโศก ถูกชาติชราครอบงํา ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงความเพียร ทรงพิชิตสงคราม ผู้นําหมู่สัตว์ ผู้หากิเลสมิได้ โปรดเสด็จลุกขึ้น จาริกโปรดสัตว์ในโลก ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าโปรดทรงแสดงธรรมเถิด ผู้รู้ทั่วถึงจักมีอยู่.

[๓๒๓] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เรารู้การอาราธนาของสหัมบดีพรหม และอาศัยความกรุณาในสัตว์ทั้งหลาย จึงได้ตรวจดูโลกด้วยพุทธจักษุ ก็ได้เห็นเหล่าสัตว์ผู้มีกิเลสดุจธุลีในดวงตาน้อยก็มี ผู้มีกิเลสดุจธุลีในดวงตามากก็มี ผู้มีอินทรีย์กล้าก็มี ผู้มีอินทรีย์อ่อนก็มี ผู้มีอาการดีก็มี ผู้มีอาการชั่วก็มี ผู้พอจะ

 
  ข้อความที่ 13  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 9 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 422

พึงสอนให้รู้ได้ง่ายก็มี ผู้จะพึงสอนให้รู้ได้ยากก็มี บางพวกมีปกติเห็นโทษและภัยในปรโลก เปรียบเหมือนในกออุบล ในกอปทุม หรือในกอบุณฑริก ดอกอุบล ดอกปทุม ดอกบุณฑริก บางดอกเกิดในน้ำ เจริญในน้ำ อยู่กับน้ำ จมอยู่ภายในน้ำ อันน้ำหล่อเลี้ยงไว้ บางดอกเกิดในน้ำ เจริญในน้ำอยู่กับน้ำ ตั้งอยู่เสมอกับน้ำ บางดอกเกิดในน้ำ เจริญในน้ำ โผล่พ้นน้ำขึ้นมาแล้วตั้งอยู่ น้ำซึมเข้าไปไม่ได้ ฉันใด เราขณะที่ตรวจดูโลกด้วยพุทธจักษุ ก็ได้เห็นเหล่าสัตว์ ฉันนั้น บางพวกมีกิเลสดุจธุลีในดวงตาน้อย บางพวกมีกิเลสดุจธุลีในดวงตามาก บางพวกมีอินทรีย์กล้า บางพวกมีอินทรีย์อ่อน บางพวกมีอาการดี บางพวกมีอาการชั่ว บางพวกพอจะสอนให้รู้ได้ง่าย บางพวกสอนให้รู้ได้ยาก บางพวกมีปรกติเห็นโทษและภัยในปรโลก. เราจึงได้กล่าวคาถาตอบสหัมบดีพรหมว่า

เราได้เปิดประตูอมฤตธรรมแล้ว ขอเหล่าชนผู้สดับจงปล่อยศรัทธาออกรับ ดูก่อนพรหม เราสําคัญว่าจะลําบาก จึงไม่กล่าวธรรมที่ประณีตซึ่งเราคล่องแคล่วในหมู่มนุษย์.

เมื่อสหัมบดีพรหมทราบว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงประทานโอกาสเพื่อแสดงธรรมแล้ว จึงอภิวาท กระทําประทักษิณ อันตรธานไปในที่นั้น.

ทรงระลึกถึงการแสดงธรรมครั้งแรก

[๓๒๔] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราดําริว่า เราจะแสดงธรรมครั้งแรกแก่ใครหนอ ใครจักรู้ทั่วถึงธรรมนี้ได้เร็ว. เราจึงคิดว่า อาฬารดาบส กาลามโคตรนี้แล เป็นบัณฑิต ฉลาด มีปัญญา มีกิเลสดุจธุลีในดวงตาน้อยมานาน ถ้ากระไร พึงแสดงธรรมครั้งแรกแก่เธอ เธอจักรู้ทั่วถึงธรรมนี้ได้เร็ว. ครั้งนั้น

 
  ข้อความที่ 14  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 9 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 423

เทวดาองค์หนึ่งเข้ามาหาเราแล้วบอกว่า พระองค์ผู้เจริญ อาฬารดาบส กาลามโคตร มรณภาพไปแล้วได้ ๗ วัน. อนึ่ง เราก็เกิดญาณทัสสนะรู้เห็นว่า อาฬารดาบส กาลามโคตร เป็นผู้เสื่อมใหญ่เสียแล้วหนอ เพราะถ้าเธอพึงได้สดับธรรมนี้ไซร้ ก็จะพึงรู้ทั่วถึงได้เร็ว. เราจึงคิดว่า เราจะแสดงธรรมครั้งแรกแก่ใครหนอ ใครจักรู้ทั่วถึงธรรมนี้ได้เร็ว. เราจึงคิดว่า อุททกดาบส รามบุตรนี้แล เป็นบัณฑิต ฉลาด มีปัญญา มีกิเลสดุจธุลีในดวงตาน้อยมานาน ถ้ากระไร เราพึงแสดงธรรมครั้งแรกแก่เธอ เธอจักรู้ทั่วถึงธรรมนี้ได้เร็ว ครั้งนั้นเทวดาองค์หนึ่งเข้ามาหาเราแล้วบอกว่า พระองค์ผู้เจริญ อุททกดาบส รามบุตรได้มรณภาพไปเสียแล้วเมื่อเย็นวานนี้. อนึ่ง เราก็เกิดญาณทัสสนะรู้เห็นว่า อุททกดาบส รามบุตร ได้มรณภาพไปเสียแล้วเมื่อเย็นวานนี้ เราจึงคิดว่า อุทกดาบส รามบุตร เป็นผู้เสื่อมใหญ่เสียแล้วหนอ เพราะถ้าเธอพึงได้สดับธรรมนี้ไซร้ ก็จะพึงรู้ทั่วถึงได้โดยเร็ว. เราจึงคิดว่าเราจะแสดงธรรมครั้งแรกแก่ใครหนอ ใครจักรู้ทั่วถึงธรรมนี้ได้เร็ว. เราจึงคิดว่า ภิกษุปัญจวัคคีย์ได้อุปัฏฐากเรา ผู้กําลังบําเพ็ญเพียรอยู่ เป็นผู้มีอุปการะแก่เรามาก ถ้ากระไรเราพึงแสดงธรรมครั้งแรกแก่พวกเธอ เราจึงคิดว่า บัดนี้ ภิกษุปัญจวัคคีย์อยู่ที่ไหนหนอ เราก็รู้ได้ว่าภิกษุปัญจวัคคีย์อยู่ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน กรุงพาราณสี ด้วยทิพยจักษุที่บริสุทธิ์ ล่วงจักษุของมนุษย์ ครั้นเราอยู่ที่ตําบลอุรุเวลาพอสมควรแล้ว จึงได้ออกจาริกไปกรุงพาราณสี.

[๓๒๕] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อาชีวกชื่ออุปกะ ได้พบเราผู้กําลังเดินทางไกลที่ระหว่างตําบลคยา และต้นมหาโพธิ์ จึงถามเราว่า ผู้มีอายุ อินทรีย์ของท่านผ่องใสนัก ฉวีวรรณของท่านบริสุทธิ์ผุดผ่อง ท่านบวชเฉพาะใคร ใครเป็นศาสดาของท่าน หรือท่านชอบใจธรรมของใคร. เมื่ออุปกะชีวกถามอย่างนี้ เราจึงได้กล่าวคาถาตอบว่า

 
  ข้อความที่ 15  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 9 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 424

เราเป็นผู้ครอบงําธรรมทั้งปวง รู้ธรรมทั้งปวง ไม่ติดข้องในธรรมทั้งปวง ละเว้นธรรมทั้งปวงไปในธรรมเป็นที่สิ้นตัณหา เพราะรู้ยิ่งด้วยตนเอง เราจะพึงแสดงใครเล่าว่าเป็นอาจารย์ อาจารย์ของเราไม่มี ผู้ที่เหมือนเราไม่มี ผู้ที่เทียบเสมอเราไม่มี ในโลกทั้งเทวโลก ความจริง เราเป็นพระอรหันต์ เป็นศาสดาผู้ยอดเยี่ยม เป็นเอก เป็นสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นผู้เย็น ดับกิเลสแล้ว เราจะไปราชธานีของชาวกาสีเพื่อประกาศธรรมจักร โดยหมายจะย่ําอมฤตเภรีกลองธรรม ในโลกที่มืดมน.

อุปกอาชีวกถามเราว่า เหตุใดท่านจึงปฏิญาณว่าเป็นอรหันตอนันตชินะ เราจึงกล่าวคาถาตอบว่า

ผู้ที่ถึงอาสวักขัยเช่นเรา ย่อมเป็นผู้มีนามว่าชินะ เพราะเราชนะบาปธรรมทั้งหลายแล้ว ฉะนั้น เราจึงมีนามว่า ชินะ.

เมื่อเรากล่าวตอบอย่างนี้ อุปกอาชีวกนั้นได้กล่าวว่า เป็นเช่นนั้นหรือ ท่าน แล้วสั่นศีรษะ แยกทางไป.

โปรดปัญจวัคคีย์

[๓๒๖] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราจาริกไปโดยลําดับ ถึงป่าอิสิปตนมฤคทายวัน กรุงพาราณสี เข้าไปหาพวกภิกษุปัญจวัคคีย์. พวกภิกษุปัญจวัคคีย์เห็นเราเดินทางมาแต่ไกลจึงได้นัดหมายกันว่า ท่านพระสมณโคดมพระองค์นี้เป็นผู้มักมาก คลายความเพียร เวียนมาเพื่อความเป็นผู้มักมาก

 
  ข้อความที่ 16  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 9 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 425

กําลังเสด็จมา พวกเราไม่ต้องไหว้ ไม่ต้องลุกขึ้นยืนรับ ไม่ต้องรับบาตรจีวร แต่ว่าต้องปูอาสนะไว้ ถ้าทรงปรารถนา ก็จักประทับนั่ง. เมื่อเราเข้าไปใกล้ พวกภิกษุปัญจวัคคีย์ก็ไม่สามารถดํารงอยู่ในข้อนัดหมายกัน บางรูปลุกขึ้นรับบาตรจีวร บางรูปปูอาสนะ บางรูปตั้งน้ำล้างเท้า แต่พูดกับเราโดยระบุนาม และใช้คําพูดว่า "อาวุโส". เราจึงบอกภิกษุปัญจวัคคีย์ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พวกเธออย่าได้พูดกับตถาคตโดยระบุนาม และใช้คําพูดว่า "อาวุโส" ตถาคตได้เป็นอรหันตสัมมาสัมพุทธะ พวกเธอจงเงี่ยโสตลงสดับ เราจะสอนอมฤตธรรมที่เราได้บรรลุ เราจะแสดงธรรม เมื่อพวกเธอปฏิบัติตามที่เราสอน ไม่นานนัก ก็จักกระทําให้แจ้งซึ่งที่สุดพรหมจรรย์ อันเป็นคุณยอดเยี่ยม ที่กุลบุตรออกจากเรือนไม่มีเรือนบวชโดยชอบ มุ่งหมาย ด้วยความรู้ยิ่งด้วยตนเองในปัจจุบันเข้าถึงอยู่ เมื่อเรากล่าวอย่างนี้แล้ว พวกภิกษุปัญจวัคคีย์ได้กล่าวกะเราว่า อาวุโส โคดม แม้เพราะการประพฤติอย่างนั้น เพราะการปฏิบัติอย่างนั้น เพราะการบําเพ็ญทุกกรกิริยาอย่างนั้น ท่านก็ไม่ได้บรรลุอุตตริมนุสสธรรมที่พอจะเป็นอริยญาณทัสสนะชั้นพิเศษ ก็บัดนี้ไฉนเล่า ท่านผู้เป็นคนมักมาก คลายความเพียร เวียนมาเพื่อความเป็นคนมักมาก จักบรรลุอุตตริมนุสสธรรมที่พอจะเป็นอริยญาณทัสสนะชั้นพิเศษได้. เมื่อพวกภิกษุปัญจวัคคีย์กล่าวอย่างนี้แล้ว เราจึงได้กล่าวว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ตถาคตมิได้เป็นคนมักมาก มิได้คลายความเพียร เวียนมาเพื่อความเป็นผู้มักมาก ตถาคตได้เป็นอรหันตสัมมาสัมพุทธะ พวกเธอจงเงี่ยโสตลงสดับ เราจะสอนอมฤตธรรมที่เราได้บรรลุ เราจะแสดงธรรม เมื่อพวกเธอปฏิบัติตามที่เราสอน ไม่นานนัก ก็จักกระทําให้แจ้งซึ่งที่สุดพรหมจรรย์ อันเป็นคุณยอดเยี่ยม ที่กุลบุตรออกจากเรือนไม่มีเรือนบวชโดยชอบ มุ่งหมาย ด้วยความรู้ยิ่งด้วยตนเองในปัจจุบัน เข้าถึงอยู่. พวกภิกษุปัญจวัคคีย์กล่าวคัดค้านอยู่อย่างนี้ เราจึงได้กล่าวว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย

 
  ข้อความที่ 17  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 9 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 426

เธอทั้งหลายจําได้หรือไม่ว่า คําอย่างนี้ เราได้เคยพูดมาแล้วแต่ก่อน พวกภิกษุปัจวัคคีย์กล่าวว่า พระองค์ผู้เจริญ คําอย่างนี้พระองค์มิได้เคยตรัสเลย. เราจึงกล่าวว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ตถาคตมิได้เป็นคนมักมาก มิได้คลายความเพียร เวียนมาเพื่อความเป็นคนมักมาก ตถาคตได้เป็นอรหันตสัมมาสัมพุทธะ พวกเธอจงเงี่ยโสตลงสดับ เราจะสอนอมฤตธรรมที่เราได้บรรลุ เราจะแสดงธรรม เมื่อพวกเธอปฏิบัติตามที่เราสอน ไม่นานนัก ก็จักกระทําให้แจ้งซึ่งที่สุดพรหมจรรย์อันเป็นคุณยอดเยี่ยมที่กุลบุตร ออกจากเรือนไม่มีเรือนบวชโดยชอบ มุ่งหมาย ด้วยความรู้ยิ่งด้วยตนเองในปัจจุบันเข้าถึงอยู่. เราจึงสามารถให้พวกภิกษุปัญจวัคคีย์ยอมเข้าใจ. เรากล่าวสอนภิกษุทั้งสองรูป ภิกษุสามรูปก็เที่ยวไปบิณฑบาต เราทั้งหกรูปฉันบิณฑบาตที่ภิกษุสามรูปนํามา เรากล่าวสอนภิกษุสามรูป ภิกษุสองรูปก็เที่ยวไปบิณฑบาต เราทั้งหกรูปฉันบิณฑบาตที่ภิกษุสองรูปนํามา. ครั้งนั้น พวกภิกษุปัญจวัคคีย์ซึ่งเราโอวาทอนุศาสน์อยู่อย่างนี้ โดยตนเองเป็นผู้มีชาติเป็นธรรมดา ทราบชัดโทษในสิ่งมีชาติเป็นธรรมดา แสวงหาจนได้บรรลุนิพพาน ที่ไม่เกิด หาธรรมอื่นยิ่งกว่ามิได้ เกษมจากโยคะ. เป็นผู้มีชราเป็นธรรมดา ทราบชัดโทษในสิ่งมีชราเป็นธรรมดา แสวงหาจนได้บรรลุนิพพาน ที่ไม่แก่ หาธรรมอื่นยิ่งกว่ามิได้ เกษมจากโยคะ. เป็นผู้มีพยาธิเป็นธรรมดา ทราบชัดโทษในสิ่งมีพยาธิเป็นธรรมดา แสวงหาจนได้บรรลุนิพพาน ที่หาพยาธิมิได้ หาธรรมอื่นยิ่งกว่ามิได้ เกษมจากโยคะ. เป็นผู้มีมรณะเป็นธรรมดา ทราบชัดโทษในสิ่งมีมรณะเป็นธรรมดา แสวงหาจนได้บรรลุนิพพานที่ไม่ตาย หาธรรมอื่นยิ่งกว่ามิได้ เกษมจากโยคะ. เป็นผู้มีโศกเป็นธรรมดา ทราบชัดโทษในสิ่งมีโศกเป็นธรรมดา แสวงหาจนได้บรรลุนิพพาน ที่หาโศกมิได้ หาธรรมอื่นยิ่งกว่ามิได้ เกษมจากโยคะ. เป็นผู้มีสังกิเลสเป็นธรรมดา ทราบชัดโทษในสิ่งมีสังกิเลสเป็นธรรมดา แสวงหาจนได้

 
  ข้อความที่ 18  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 9 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 427

บรรลุนิพพาน ที่ไม่เศร้าหมอง หาธรรมอื่นยิ่งกว่ามิได้ เกษมจากโยคะ. และพวกภิกษุปัญจวัคคีย์เหล่านั้นได้เกิดญาณทัสสนะขึ้นมาว่า วิมุตติของพวกเราไม่กําเริบ ชาตินี้เป็นที่สุด ไม่มีภพใหม่ต่อไป.

[๓๒๗] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย กามคุณเหล่านี้มี ๕ กามคุณ ๕ เป็นไฉน คือ รูปที่พึงรู้ได้ด้วยจักษุ ซึ่งเป็นที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าชอบใจ น่ารัก ประกอบด้วยกาม เป็นที่ตั้งแห่งความกําหนัด เสียงที่พึงทราบชัดได้ด้วยโสต ... กลิ่นที่พึงรู้สึกได้ด้วยฆานะ ... รสที่พึงรู้ได้ด้วยชิวหา ... โผฏฐัพพะที่พึงรู้ได้ด้วยกาย ซึ่งเป็นที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าชอบใจ น่ารัก ประกอบด้วยกาม เป็นที่ตั้งแห่งความกําหนัด ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย กามคุณ ๕ เหล่านี้แล สมณพราหมณ์พวกใดพวกหนึ่งใฝ่ฝัน ลุ่มหลง ติดพัน ไม่เห็นโทษ ไม่มีปัญญาที่จะคิดนำตนออก ย่อมบริโภคกามคุณ ๕ เหล่านี้ สมณพราหมณ์พวกนั้น บัณฑิตพึงทราบว่า เป็นผู้ถึงความเสื่อม ความพินาศ ถูกมารผู้ใจบาปกระทําได้ตามต้องการ.

อุปมาด้วยเนื้อ ๓ อย่าง

[๓๒๘] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เหมือนอย่างว่า เนื้อป่าที่ติดบ่วงนอนทับกองบ่วง พึงทราบว่า เป็นสัตว์ถึงความเสื่อมความพินาศ ถูกพรานกระทําได้ตามต้องการ เมื่อพรานเดินเข้ามา ก็หนีไปไม่ได้ ตามปรารถนา ฉันใด สมณพราหมณ์พวกใดพวกหนึ่งใฝ่ฝัน ลุ่มหลง ติดพัน ไม่เห็นโทษ ไม่มีปัญญาที่จะคิดนําตนออก ย่อมบริโภคกามคุณ ๕ เหล่านี้ สมณพราหมณ์พวกนั้น บัณฑิตพึงทราบว่า เป็นผู้ถึงความเสื่อม ความพินาศ ถูกมารผู้ใจบาปกระทําได้ตามต้องการ ฉันนั้น. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สมณพราหมณ์พวกใดพวกหนึ่งไม่ใฝ่ฝัน ไม่ลุ่มหลง ไม่ติดพัน เห็นโทษ มีปัญญาที่จะคิดนําตนออก ย่อมบริโภคกามคุณ ๕ เหล่านี้ สมณพราหมณ์พวกนั้น บัณฑิตพึงทราบว่า เป็นผู้ไม่ถึงความเสื่อมความพินาศ ไม่ถูกมารผู้ใจบาปกระทําได้ตาม

 
  ข้อความที่ 19  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 9 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 428

ต้องการ. เหมือนอย่างว่า เนื้อป่าที่ไม่ติดบ่วง นอนทับกองบ่วง พึงทราบว่า เป็นสัตว์ไม่ถึงความเสื่อมความพินาศ ไม่ถูกพรานกระทําได้ตามต้องการ เมื่อพรานเดินเข้ามา ก็หนีไปตามปรารถนา ฉันใด สมณพราหมณ์พวกใดพวกหนึ่งไม่ใฝ่ฝัน ไม่ลุ่มหลง ไม่คิดพัน เห็นโทษ มีปัญญาที่จะคิดนําตนออก ย่อมบริโภคกามคุณ ๕ เหล่านี้ สมณพราหมณ์พวกนั้น บัณฑิตพึงทราบว่าเป็นผู้ไม่ถึงความเสื่อมความพินาศ ไม่ถูกมารผู้ใจบาปกระทําได้ตามต้องการฉันนั้น.

อนึ่ง เหมือนอย่างว่า เนื้อป่า เมื่อเที่ยวไปในป่าใหญ่ ย่อมเดินยืน นั่ง นอน เบาใจ เพราะพรานป่าไม่พบ ฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้น สงัดจากกาม จากอกุศลธรรม ย่อมบรรลุปฐมฌาน มีวิตก มีวิจาร มีปีติและสุขเกิดแต่วิเวกอยู่ ภิกษุนี้เรียกว่าได้ทํามารให้มืด ไม่มีร่องรอย ทําลายจักษุของมาร ไม่ให้มารมองเห็น.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ยังอีกข้อหนึ่ง คือ ภิกษุบรรลุทุติยฌาน มีความผ่องใสแห่งจิตในภายใน เป็นธรรมเอกผุดขึ้น เพราะวิตกวิจารสงบไป ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร มีปีติและสุขเกิดแต่สมาธิอยู่ ภิกษุนี้เรียกว่า ได้ทํามารให้มืด ไม่มีร่องรอย ทําลายจักษุของมาร ไม่ให้มารมองเห็นรอย.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ยังอีกข้อหนึ่ง ภิกษุเป็นผู้มีอุเบกขา มีสติสัมปชัญญะ เสวยสุขด้วยนามกาย เพราะปีติสิ้นไป บรรลุตติยฌานที่พระอริยะทั้งหลายสรรเสริญว่า ผู้ได้ฌานนี้ เป็นผู้มีอุเบกขา มีสติอยู่เป็นสุข ภิกษุนี้เรียกว่าได้ทํามารให้มืด ไม่มีร่องรอย ทําลายจักษุของมาร ไม่ให้มารมองเห็นรอย.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ยังอีกข้อหนึ่ง คือ ภิกษุบรรลุจตุตถฌาน ไม่มีทุกข์ ไม่มีสุข เพราะละสุข ละทุกข์ และดับโสมนัสโทมนัสก่อนๆ ได้ มี

 
  ข้อความที่ 20  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 9 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 429

อุเบกขาเป็นเหตุให้สติบริสุทธิ์อยู่ ภิกษุนี้เรียกว่าได้ทํามารให้มืด ไม่มีร่องรอย ทําลายจักษุของมาร ไม่ให้มารมองเห็นรอย.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ยังอีกข้อหนึ่ง คือ ภิกษุเข้าถึงอากาสานัญจายตนฌานว่า อากาศหาที่สุดมิได้ เพราะก้าวล่วงรูปสัญญา ดับปฏิฆสัญญา ไม่มนสิการนานัตตสัญญาโดยประการทั้งปวงอยู่ ภิกษุนี้เรียกว่า ได้ทํามารให้มืด ไม่มีร่องรอย ทําลายจักษุของมาร ไม่ให้มารมองเห็นรอย.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ยังอีกข้อหนึ่ง คือ ภิกษุล่วงอากาสานัญจายตนฌาน เสียโดยประการทั้งปวง เข้าถึงวิญญาณัญจายตนฌาน วิญญาณหาที่สุดมิได้อยู่ ภิกษุนี้เรียกว่าได้ทํามารให้มืด ไม่มีร่องรอย ทําลายจักษุของมาร ไม่ให้มารมองเห็นรอย.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ยังอีกข้อหนึ่ง คือ ภิกษุล่วงวิญญาณัญจายตนฌาน เสียโดยประการทั้งปวง เข้าถึงอากิญจัญญายตนฌานว่า อะไรหน่อยหนึ่งไม่มีอยู่ ภิกษุนี้เรียกว่า ได้ทํามารให้มืด ไม่มีร่องรอย ทําลายจักษุของมาร ไม่ให้มารมองเห็นรอย.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ยังอีกข้อหนึ่งคือ ภิกษุล่วงอากิญจัญญายตนฌาน เสียโดยประการทั้งปวง เข้าถึงเนวสัญญานาสัญญายตนฌานอยู่ ภิกษุนี้เรียกว่าได้ทํามารให้มืด ไม่มีร่องรอย ทําลายจักษุของมาร ไม่ให้มารมองเห็นรอย.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ยังอีกข้อหนึ่งคือ ภิกษุล่วงเนวสัญญานาสัญญายตนฌาน เสียโดยประการทั้งปวง เข้าถึงสัญญาเวทยิตนิโรธอยู่ ก็แลเพราะเห็นแม้ด้วยปัญญา เธอย่อมสิ้นอาสวะ ภิกษุนี้เรียกว่า ได้ทํามารให้มืดไม่มีร่องรอย

 
  ข้อความที่ 21  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 9 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 430

ทําลายจักษุของมาร ไม่ให้มารมองเห็น. เป็นผู้ข้ามพ้นตัณหาเครื่องข้องในโลกเสียได้ ย่อมเดิน ยืน นั่ง นอน อย่างเบาใจ เพราะมารมองไม่เห็น.

พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสพระพุทธพจน์นี้จบลงแล้ว ภิกษุเหล่านั้นชื่นชมยินดี พระภาษิตของพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้วแล.

จบ ปาสราสิสูตร ที่ ๖

 
  ข้อความที่ 22  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 9 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 431

อรรถกถาปาสราสิสูตร

ปาสราสิสูตรเริ่มต้นว่า ข้าพเจ้าได้ฟังมาแล้วอย่างนี้:-

พึงทราบวินิจฉัยในปาสราสิสูตรนั้น บทว่า สาธุ มยํ อาวุโส ได้แก่กล่าวขอร้อง. เล่ากันมาว่า ภิกษุชาวชนบทประมาณ ๕๐๐ เหล่านั้น คิดจะเฝ้าพระทศพล จึงไปถึงเมืองสาวัตถี. ก็ภิกษุเหล่านั้นได้เฝ้าพระศาสดาแล้ว ยังมิได้ฟังธรรมีกถาก่อน. ด้วยความเคารพในพระศาสดา ภิกษุเหล่านั้นจึงไม่สามารถจะกราบทูลว่า พระเจ้าข้าขอพระองค์โปรดแสดงธรรมีกถาแก่พวกข้าพระองค์เถิด. เพราะพระพุทธเจ้าทั้งหลายเป็นครู ยากที่จะเข้าพบ เหมือนพญาราชสีห์ ตัวเที่ยวไปตามลําพัง เหมือนกุญชรที่ตกมัน เหมือนอสรพิษที่แผ่พังพาน เหมือนกองไฟใหญ่. สมจริงดังที่ท่านกล่าวไว้ว่า

พระพุทธเจ้าทั้งหลาย เข้าถึงได้ยาก เหมือนงูพิษ เหมือนไกรสรราชสีห์ เหมือนพญาช้าง.

ภิกษุเหล่านั้นไม่อาจจะวิงวอนพระศาสดาผู้ที่เข้าพบได้ยาก อย่างนี้ด้วยตนเองจึงขอร้องท่านพระอานนท์ว่า สาธุ มยํ อาวุโส ดังนี้. บทว่า อปฺเปว นามได้แก่ไฉนหนอ พวกเราจะพึงได้.

ก็เพราะเหตุไร พระเถระจึงกล่าวกะภิกษุเหล่านั้นว่า พวกเธอพึงเข้าไปยังอาศรมของรัมมกพราหมณ์. เพราะมีกิริยาปรากฏ. เพราะกิริยาของพระทศพลย่อมปรากฏแก่พระเถระ. พระเถระทราบว่า วันนี้พระศาสดาประทับอยู่ที่พระเชตวัน ทรงพักผ่อนกลางวันในปุพพาราม วันนี้เสด็จเข้าบิณฑบาต

 
  ข้อความที่ 23  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 9 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 432

ลําพังพระองค์ วันนี้แวดล้อมไปด้วยภิกษุสงฆ์ เวลานี้เสด็จจาริกไปในชนบท. ถามว่า ก็เจโตปริยญาณ ย่อมมีเพื่อให้ท่านรู้อย่างนี้ได้อย่างไร. ตอบว่าไม่มี. ท่านรู้โดยถือนัยตามกิริยาที่ทําไว้โดยรู้ตามคาดคะเน. จริงอยู่ วันนั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน มีพระพุทธประสงค์จะทรงพักผ่อนกลางวันในบุพพาราม ในเวลาใด ในเวลานั้น ทรงแสดงอาการ คือการเก็บงําเสนาสนะและเครื่องบริขาร. พระเถระเก็บงําไม้กวาดและสักการะที่เขาทิ้งไว้เป็นต้น. แม้ในเวลาที่ประทับอยู่ในบุพพารามแล้วเสด็จมาพระเชตวัน พักกลางวันก็นัยนี้เหมือนกัน. ก็คราวใดมีพระพุทธประสงค์จะเสด็จเที่ยวไปบิณฑบาตตามลําพัง คราวนั้นก็จะทรงปฏิบัติสรีรกิจแต่เช้า เข้าพระคันธกุฏี ปิดพระทวารเข้าผลสมาบัติ. พระเถระทราบด้วยสัญญานั้นว่า วันนี้พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับนั่งตรวจเหล่าสัตว์ที่ควรตรัสรู้ แล้วจึงให้สัญญาแก่ภิกษุทั้งหลายว่า อาวุโสทั้งหลาย วันนี้พระผู้มีพระภาคเจ้าประสงค์จะเข้าไปตามลําพัง พวกท่านจงเตรียมภิกษาจาร. ก็คราวใดมีพระประสงค์จะมีภิกษุเป็นบริวารเสด็จเข้าไป คราวนั้นจะทรงแง้มทวารพระคันธกุฏี ประทับนั่งเข้าผลสมาบัติ. พระเถระทราบด้วยสัญญานั้น จึงให้สัญญาแก่ภิกษุทั้งหลายเพื่อรับบาตรจีวร. แต่คราวใด มีพระพุทธประสงค์จะเสด็จจาริกไปในชนบท คราวนั้นจะเสวยเกินคําสองคํา และเสด็จจงกรมไปๆ มาๆ ทุกเวลา. พระเถระทราบด้วยสัญญานั้น จึงให้สัญญาแก่ภิกษุทั้งหลายว่า ผู้มีอายุทั้งหลาย พระผู้มีพระภาคเจ้ามีพระพุทธประสงค์จะเสด็จจาริกไปในชนบท พวกท่านจงทํากิจที่ควรทําของท่านเสีย. พระผู้มีพระภาคเจ้าในปฐมโพธิกาลประทับอยู่ไม่ประจํา ๒๐ พรรษา ภายหลังประทับประจํากรุงสาวัตถี ๒๕ พรรษาเลียด วันหนึ่งๆ ทรงใช้สองสถาน. กลางคืนประทับอยู่ในพระเชตวัน รุ่งขึ้นแวดล้อมด้วยภิกษุสงฆ์ เสด็จเข้าบิณฑบาตกรุงสาวัตถีทางประตูทิศใต้ เสด็จออกทางประตู

 
  ข้อความที่ 24  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 9 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 433

ทิศตะวันออก ทรงพักผ่อนกลางวันในบุพพาราม. กลางคืนประทับอยู่ในบุพพาราม รุ่งขึ้นเสด็จเที่ยวบิณฑบาตยังเมืองสาวัตถี ทางประตูด้านทิศตะวันออก แล้วเสด็จออกทางประตูด้านทิศใต้ ทรงพักผ่อนกลางวันในพระเชตวัน. เพราะเหตุไร. เพราะจะทรงอนุเคราะห์แก่ ๒ ตระกูล. จริงอยู่ ธรรมดาว่า คนใดคนหนึ่งผู้ตั้งอยู่ในความเป็นมนุษย์ เหมือนท่านอนาถปิณฑิกเศรษฐีและหญิงคนอื่นผู้ตั้งอยู่ในความเป็นมาตุคาม เหมือนนางวิสาขามหาอุบาสิกาที่จะทําบริจาคทรัพย์อุทิศพระตถาคตย่อมไม่มี เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงทรงใช้ฐานะ ๒ เหล่านี้ ในวันเดียวกัน เพราะอนุเคราะห์แก่ตระกูลนั้น. ก็ในวันนั้น พระองค์ประทับอยู่ในพระเชตวัน. เพราะฉะนั้น เถระจึงคิดว่า วันนี้พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จเที่ยวบิณฑบาตในเมืองสาวัตถี ในเวลาเย็น จักเสด็จไปยังซุ้มประตูด้านทิศตะวันออก เพื่อจะทรงสรงสนานพระองค์ เมื่อเป็นเช่นนี้เราจึงทูลวอนพระผู้มีพระภาคเจ้าผู้ประทับยืนสรงสนานพระองค์แล้ว ไปยึดอาศรมของรัมมกพราหมณ์ เมื่อเป็นเช่นนี้ ภิกษุเหล่านี้จึงจักได้ฟังธรรมีกถาเฉพาะพระพักตร์พระผู้มีพระภาคเจ้า ดังนี้แล้ว จึงได้กล่าวกะภิกษุเหล่านั้นอย่างนี้.

บทว่า มิคารมาตุปาสาโท ได้แก่ปราสาท ของนางวิสาขาอุบาสิกา. จริงอยู่นางวิสาขานั้น ท่านเรียกว่า มิคารมาตา เพราะมิคารเศรษฐีสถาปนาไว้ในฐานเป็นมารดา. บทว่า ปฏิสลฺลานา วุฏฺิโต ความว่า เขาว่า ในปราสาทนั้น ได้มีห้องอันทรงศิริสําหรับพระผู้มีพระภาคเจ้า ตรงกลางห้องอันทรงศิริสําหรับพระมหาสาวกทั้ง ๒. พระเถระเปิดทวาร กวาดภายในห้อง นําซากมาลาออก จัดเตียงและตั่งแล้วได้ถวายสัญญาแด่พระศาสดา. พระศาสดาเสด็จเข้าสู่ห้องอันทรงศิริ มีสติสัมปชัญญะ ทรงบรรทมสีหไสยาสน์โดยประปรัศว์เบื้องขวา ทรงระงับความกระวนกระวาย ลุกขึ้นประทับ นั่งเข้าผลสมาบัติ

 
  ข้อความที่ 25  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 9 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 434

ออกจากผลสมาบัติในเวลาเย็น. ท่านหมายเอาคํานั้นจึงกล่าวว่า ปฏิสลฺลานา วุฏฺิโต. บทว่า ปริสิฺจิตุํ ความว่า ก็ผู้ใดขัดสีตัวด้วยผงดินเป็นต้น หรือขัดสีด้วยหินขัดเป็นต้น จึงอาบ ผู้นั้น ท่านเรียกว่า ย่อมอาบ. ผู้ใดไม่กระทําอย่างนั้น อาบตามปกตินั่นเอง ผู้นั้นท่านเรียกว่า ย่อมรด. ขึ้นชื่อว่าน้ำอันเจือด้วยธุลีที่จะพึงนําไปเช่นนั้น ไม่ติดอยู่ในพระสรีระแม้ของพระตถาคต แต่เพื่อจะถือตามฤดูกาล พระผู้มีพระภาคเจ้าย่อมลงสรงน้ำอย่างเดียว. ด้วยเหตุนั้นท่านจึงกล่าวว่า คตฺตานิ ปริสิฺจิตุํ ทรงรดพระกาย. บทว่า ปุพฺพโกฏฺโก แปลว่า ซุ้มประตูด้านทิศตะวันออก. เล่าว่า ในกรุงสาวัตถี บางคราววิหารก็ใหญ่ บางคราวก็เล็ก. ครั้งนั้นแล วิหารนั้น ครั้งพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพระนามว่าวิปัสสี มีขนาดโยชน์ ๑ ครั้งพระสิขีพุทธเจ้า ขนาด ๓ คาวุต ครั้งพระเวสสภูพุทธเจ้า ขนาดกึ่งโยชน์ ครั้งพระกกุสันธพุทธเจ้า ขนาด ๑ คาวุต ครั้งพระโกนาคมนพุทธเจ้า ขนาดครึ่งคาวุต ครั้งพระกัสสปพุทธเจ้า ขนาด ๒๐ อุสภะ. ครั้งพระผู้มีพระภาคเจ้าของเราทั้งหลาย มีขนาด ๘ กรีส. แม้นครนั้น บางครั้งก็อยู่ทิศตะวันออกของวิหารนั้น บางครั้งก็ทิศใต้ บางครั้งก็ทิศตะวันตก บางครั้งก็ทิศเหนือ. ก็ในพระคันธกุฎีเชตวันวิหาร สถานที่ประดิษฐ์เท้าพระแท่นสี่เท้าแน่นสนิท. จริงอยู่ขึ้นชื่อว่า เจตียสถานอันติดแน่น ๔ แห่ง คือ สถานที่ตั้งมหาโพธิบัลลังก์ ๑ สถานที่ประกาศพระธรรมจักรในป่าอิสิปตนะ ๑ สถานที่เป็นที่ประดิษฐานบันไดครั้งเสด็จลงจากเทวโลก ณ สังกัสสนคร ๑ สถานที่ตั้งพระแท่น (ปรินิพพาน) ๑. ก็ซุ้มประตูด้านหน้านี้เป็นซุ้มประตูด้านทิศตะวันออก ครั้งพระวิหาร ๒๐ อสุภของพระกัสสปทศพล. แม้บัดนี้วิหารนั้นก็ยังปรากฏว่า ซุ้มประตูด้านหน้าอยู่นั้นเอง. ครั้งพระกัสสปทศพล แม่น้ำอจีรวดี ไหลล้อมนคร ถึงซุ้มประตูด้านหน้า ถูกน้ำเซาะทําให้เกิดสระน้ำใหญ่มีท่าเรียบลึกไปตามลําดับ. ณ ที่นั้น

 
  ข้อความที่ 26  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 9 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 435

มีท่าน้ำน่ารื่นรมย์ มีทรายเสมือนแผ่นเงินหล่นเกลื่อนแยกกันเป็นส่วนๆ อย่างนี้คือ ท่าน้ำสําหรับพระราชาท่า ๑ สําหรับชาวพระนครท่า ๑ สําหรับภิกษุสงฆ์ท่า ๑ สําหรับ พระพุทธเจ้าทั้งหลายท่า ๑. ดังนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้ากับท่านพระอานนท์ จึงเสด็จเข้าไปยังที่ซุ้มประตูด้านหน้าอันนี้ตั้งอยู่ เพื่อสรงสนาน พระองค์. ครั้งนั้นท่านพระอานนท์น้อมผ้าสรงน้ำเข้าไปถวาย. พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงเปลื้องผ้าแดง ๒ ชั้น ทรงนุ่งผ้าอาบน้ำ. พระเถระรับจีวรผืนใหญ่กับผ้า ๒ ชั้น ไว้ในมือของตน. พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จลงสรงน้ำ. ฝูงปลาและเต่าในน้ำก็มีสีเหมือนทองไปหมด พร้อมกับที่พระองค์เสด็จลงสรงน้ำ. กาลนั้นได้เป็นเหมือนเวลาเอาทะนานยนต์รดสายน้ำทอง และเหมือนเวลาแผ่แผ่นทอง. ครั้งเมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงแสดงธรรมเนียมการสรงน้ำ ทรงสรงน้ำเสด็จขึ้นแล้ว พระเถระก็น้อมผ้าผืนแดง ๒ ชั้นถวาย. พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงนุ่งผ้านั้น ทรงคาดประคดเอวเสมือนสายฟ้า ทรงจับจีวรผืนใหญ่ที่ชายทั้งสองรวบชายน้อมเข้ามาทําให้เป็นเหมือนกลีบปทุมประทับยืนอยู่. ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงสรงพระองค์ที่ซุ้มประตูด้านหน้า เสด็จขึ้นประทับยืนมีจีวรผืนเดียว. ก็พระสรีระของพระผู้มีพระภาคเจ้าผู้ประทับยืนอย่างนี้ รุ่งโรจน์เหมือนสระที่เต็มไปด้วยดอกบัว และอุบลกําลังแย้ม เหมือนต้นปาริฉัตตกะที่มีดอกบานสะพรั่ง และเหมือนท้องฟ้าที่ระยิบระยับไปด้วยดาวและพยับแดด เหมือนจะเรียกร้องเอามิ่งขวัญ แลกลุ่มลักษณะอันประเสริฐ ๓๒ ของพระองค์ ซึ่งงดงามแวดล้อมด้วยพระรัศมีวาหนึ่ง ไพโรจน์อย่างยิ่งเหมือนดวงจันทร์ ๓๒ ดวง ดวงอาทิตย์ ๓๒ ดวงที่ร้อยวางไว้ เหมือนพระเจ้าจักพรรดิ ๓๒ องค์ เทวราช ๓๒ องค์ และมหาพรหม ๓๒ องค์ ที่สถิตอยู่ตามลําดับ. นี้ชื่อว่าวรรณภูมิ พึงทราบกําลังของพระธรรมกถึกในฐานะเห็นปานนี้ว่า พระธรรมกถึกผู้สามารถควรจะนําเนื้อความอุปมาและเหตุ

 
  ข้อความที่ 27  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 9 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 436

มากล่าวสรรเสริญพระสรีระ และพระคุณของพระพุทธเจ้าทั้งหลายในฐานะเห็นปานนี้ ด้วยจุณณิยบท หรือ คาถาทั้งหลายให้บริบูรณ์.

บทว่า คตฺตานิ ปุพฺพาปยมาโน ความว่า รอความเป็นปกติ กระทําให้พระกายหมดน้ำ อธิบายว่า ทําให้แห้ง. จริงอยู่ เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้ามีพระวรกายชุ่มด้วยน้ำ ทรงห่มจีวรก็เกิดเป็นดอก. เครื่องบริขารก็เสีย. แต่น้ำที่เจือธุลีย่อมไม่ติดในพระสรีระของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย น้ำก็กลิ้งกลับไปเหมือนหยาดน้ำที่ใส่บนใบบัว. แม้เมื่อเป็นเช่นนั้น เพราะความเคารพในสิกขา พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงทรงจับจีวรผืนใหญ่ทั้งสองมุม ด้วยทรงพระดําริว่า นี่ชื่อว่าธรรมเนียมของบรรพชิตประทับยืนปิดพระกายเบื้องหน้า. ขณะนั้นพระเถระคิดว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงห่มจีวรใหญ่ จักกลับพระองค์ลําบาก ตั้งแต่เริ่มเสด็จสู่มิคารมาตุปราสาท ชื่อว่าเปลี่ยนพุทธประสงค์ย่อมหนัก เหมือนเหยียดมือจับราชสีห์ ที่เที่ยวตัวเดียว เหมือนจับงวงช้างตกมัน และเหมือนจับคออสูรพิษที่กําลังแผ่แม่เบี้ย จึงพรรณนาคุณอาศรมของรัมมกพราหมณ์ ทูลวอนพระผู้มีพระภาคเจ้าเพื่อเสด็จไป ณ ที่นั้น. พระเถระได้กระทําอย่างนั้น. เพราะเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า อถโข อายสฺมา อานนฺโท ฯเปฯ อนุกมฺปํ อุปาทาย ดังนี้. บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อนุกมฺปํ อุปาทาย ได้แก่อาศัยความอนุเคราะห์ภิกษุ ๕๐๐ รูป ผู้ไปสู่อาศรมนั้นด้วยตั้งใจจักฟังธรรมีกถาเฉพาะพระพักตร์ของพระผู้มีพระภาคเจ้า อธิบายว่า กระทําความกรุณาในภิกษุทั้งหลาย. บทว่า ธมฺมิยา กถาย ความว่า นั่งประชุมกันชมพระบารมี ๑๐ ประการ อย่างใดอย่างหนึ่ง และมหาภิเนษกรมณ์. บทว่า อาคยมาโน ได้แก่ชะเง้อดู อธิบายว่า ไม่ผลุนผลันเสด็จเข้าไปด้วยถือพระองค์ว่า เราเป็นพระพุทธเจ้า ประทับยืนอยู่จนกว่าเขาจะพูดกันจบ. บทว่า อคฺคฬํ อาโกเฏสิ ได้แก่ เคาะประตู. บทว่า วิวริํสุ ความว่า ทันใดนั้นนั่นเอง ภิกษุทั้งหลายก็มา

 
  ข้อความที่ 28  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 9 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 437

เปิดประตู. เพราะนั่งคอยเงี่ยหูฟังอยู่แล้ว. บทว่า ปฺตฺเต อาสเน ความว่าได้ยินว่า ครั้งพุทธกาล ภิกษุถึงอยู่รูปเดียวในที่ใดๆ ก็จัดพุทธอาสน์ไว้ในที่นั้นๆ ทั้งนั้น.

เพราะเหตุใด. เขาว่า พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงใส่พระทัยถึงภิกษุที่เรียนกรรมฐานในสํานักของพระองค์แล้วอยู่ในที่ผาสุกว่า ภิกษุรูปโน้น รับกรรมฐานในสํานักของเราไปแล้ว สามารถทําคุณวิเศษให้บังเกิดขึ้นหรือไม่หนอ. ลําดับนั้น ทรงเห็นภิกษุนั้นละเลยกรรมฐาน กําลังตรึกอกุศลวิตก แต่นั้นก็ทรงพระดําริว่า อย่างไรเล่า อกุศลวิตกทั้งหลายจึงครอบงํากุลบุตรผู้นี้ซึ่งเรียนกรรมฐานในสํานักของศาสดาเช่นเรา ให้จมลงในวัฏฏทุกข์ ซึ่งติดตามไปรู้ไม่ได้ จึงทรงแสดงพระองค์ในที่นั้นนั่นแหละ เพื่ออนุเคราะห์กุลบุตรนั้น ทรงโอวาทกุลบุตรนั้นแล้วเสด็จเหาะกลับไปที่ประทับของพระองค์. ลําดับนั้น ภิกษุทั้งหลายได้รับโอวาทอย่างนั้น จึงคิดว่า พระศาสดาทรงทราบใจของพวกเราจึงเสด็จมาแสดงพระองค์ประทับยืนอยู่ใกล้ๆ พวกเรา ในขณะนั้น ชื่อว่าการแสวงหาอาสนะเป็นภาระด้วยกราบทูลว่า พระเจ้าข้า โปรดประทับนั่งในที่นี้โปรดประทับนั่งที่นี้ จึงจัดอาสนะไว้อยู่. ภิกษุใดมีตั่ง ภิกษุนั้นก็จัดตั่ง ภิกษุใดไม่มี ภิกษุนั้นก็จัดเตียง หรือแผ่นกระดาน ไม้หินหรือกองทราย. เมื่อไม่ได้ก็ดึงเอาใบไม้เก่าๆ มาลาดตั้งเป็นกองไว้ในที่นั้น. แต่ในเรื่องนี้มีอาสนะที่จัดไว้ตามปกติทั้งนั้น. ท่านหมายเอาอาสนะนั้น จึงกล่าวว่า ปฺตฺเต อาสเนนิสีทิ ดังนี้.

บทว่า กายนุตฺถ ความว่า ท่านทั้งหลายนั่งประชุมกันด้วยเรื่องอะไรหนอ. บาลีว่า กายเนตฺถ ดังนี้ ก็มี. แม้บาลีนั้นก็มีเนื้อความว่า พวกเธอนั่งประชุมกันในที่นี้ด้วยเรื่องอะไรหนอ. บาลีว่า กายโนตฺถ ดังนี้ก็มี บาลีนั้นก็มีเนื้อความอย่างข้อต้นเหมือนกัน. บทว่า อนฺตรากถา ได้แก่ เรื่องอื่นอย่างหนึ่ง ระหว่างการใส่ใจการเรียน การสอบถามกรรมฐานเป็นต้น. บทว่า วิปฺปกตา

 
  ข้อความที่ 29  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 9 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 438

ได้แก่ ยังไม่จบ คือยังไม่ถึงที่สุดเพราะการมาของเราเป็นปัจจัย. บทว่า อถ ภควา อนุปฺปตฺโต ความว่า ครั้งนั้น คือกาลนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จมา. บทว่า ธมฺมี กถา วา ได้แก่ หรือธรรมีกถาที่อิงกถาวัตถุ ๑๐. ก็ในคําว่า อริโย วา ตุณฺหีภาโว นี้ ทั้งทุติยฌาน ทั้งมูลกรรมฐาน พึงทราบว่า อริยดุษณีภาพ เพราะฉะนั้น ภิกษุนั่งเข้าฌานนั้นก็ดี นั่งกําหนดมูลกรรมฐานเป็นอารมณ์ก็ดี พึงทราบว่านั่งโดยอริยดุษณีภาพ. คําว่า เทฺวมา ภิกฺขเว ปริเยสนา มีอนุสนธิเป็นอันเดียวกัน. ภิกษุเหล่านั้นได้กระทําให้เป็นภาระของพระเถระด้วยตั้งใจจักฟังธรรมีกถาเฉพาะพระพักตร์. พระเถระได้กระทําที่ไปอาศรมของภิกษุเหล่านั้น. ภิกษุเหล่านั้นนั่งในที่นั้น มิใช่สนทนากันด้วยเรื่องดิรัจฉานกถา หากนั่งสนทนากันด้วยเรื่องธรรมะ. ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเริ่มเทศนานี้ เพื่อแสดงว่า การแสวงหาของพวกเธอนี้ ชื่อว่าอริยปริเยสนา.

บรรดาบทเหล่านั้น ในบทว่า กตมา จ ภิกฺขเว อนริยปริเยสนา นี้ ความว่า บุรุษผู้ฉลาดในหนทาง เมื่อแสดงทางอุบายที่ควรเว้นก่อน จึงกล่าวว่า จงละทางซ้าย ถือเอาทางขวา ฉันใด พระผู้มีพระภาคเจ้าก็ฉันนั้น เพราะความที่ทรงเป็นผู้ฉลาดเทศนา จึงทรงบอกการแสวงหาอันมิใช่อริยะที่พึงละเว้นเสียก่อน ตอนหลังจึงทรงแยกลําดับอุทเทสก่อนว่า เราจักบอกการแสวงหานอกนี้ ดังนี้แล้วจึงตรัสอย่างนี้.

บทว่า ชาติธมฺโม แปลว่า มีการเกิดเป็นสภาวะ.

บทว่า ชราธมฺโม แปลว่า มีความแก่เป็นสภาวะ.

บทว่า พฺยาธิธมฺโม แปลว่า มีความเจ็บไข้เป็นสภาวะ.

บทว่า มรณธมฺโม แปลว่า มีความตายเป็นสภาวะ.

บทว่า โสกธมฺโม แปลว่า มีความโศกเป็นสภาวะ.

 
  ข้อความที่ 30  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 9 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 439

บทว่า สงฺกิเลสธมฺโม แปลว่า มีความเศร้าหมองเป็นสภาวะ. บทว่า ปุตฺตภริยํ ได้แก่บุตรและภรรยา. ในบททั้งปวงก็นัยนี้. ก็ในคําว่า ชาตรูปรชฏํ นี้ ชาตรูปํ ได้แก่ ทอง. รชฏํ ได้แก่ มาสกโลหะเป็นต้นอย่างใดอย่างหนึ่งที่เขาสมมติกัน. ด้วยบทว่า ชาติธมฺมา เหเต ภิกฺขเว อุปธโย ทรงแสดงว่า กามคุณ ๕ เหล่านั้น ชื่อ อุปธิ อุปธิทั้งหมดนั้นมีความเกิดเป็นธรรม. ทองและเงินท่านไม่ถือเอาใน พฺยาธิธมฺมวาร เป็นต้น เพราะทองและเงินนั้นไม่มีพยาธิมีโรคศีรษะเป็นต้น ไม่มีมรณะกล่าวคือจุติเหมือนสัตว์ทั้งหลาย ไม่เกิดความโศก แต่ย่อมเศร้าหมองด้วยสังกิเลสมีชราเป็นต้น เพราะฉะนั้น ท่านจึงถือเอาในสังกิเลสสิกธรรมวาระ ทั้งถือเอาในชาติธรรมวาระด้วย เพราะมีฤดูเป็นสมุฏฐาน ทั้งถือเอาในชราธรรมวาระด้วย เพราะสนิมจับจึงคร่ําคร่า. บทว่า อยํ ภิกฺขเว อริยปริเยสนา ความว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย การแสวงหานี้ พึงทราบว่า การแสวงหาของพระอริยะ เพราะไม่มีโทษในตัวเองบ้าง เพราะพระอริยะพึงแสวงหาบ้าง.

ถามว่าเพราะเหตุไร จึงเริ่มคําว่า อหํ ปิ สุทํ ภิกขเว. แก้ว่า เพื่อแสดงการเสด็จออกมหาภิเนษกรมณ์ตั้งแต่เดิม. ได้ยินว่า พระองค์มีพระดําริอย่างนี้ว่า ภิกษุทั้งหลาย แม้เราก็เสาะแสวงสิ่งที่ไม่ใช่อริยะมาแต่ก่อน เรานั้นละการแสวงหาอันไม่ใช่อริยะนั้นแล้วแสวงหาสิ่งที่เป็นอริยะ จึงบรรลุสัพพัญุตญาณ แม้พระปัญจวัคคีย์ก็แสวงหาสิ่งที่ไม่ใช่อริยะ พวกเธอก็ละสิ่งที่ไม่ใช่อริยะนั้นแสวงหาสิ่งที่เป็นอริยะ บรรลุขีณาสวภูมิ แม้พวกท่าน ก็ดําเนินตามทางเราและของพระปัญจวัคคีย์ การแสวงหาอันเป็นอริยะจึงจัดเป็นการแสวงหาของพวกท่าน เพราะฉะนั้น เพื่อจะทรงแสดงการออกมหาภิเนษกรมณ์ของพระองค์ตั้งแต่เดิมมา. บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ทหโรว สมาโน แปลว่า กําลังรุ่นหนุ่ม. บทว่า สุสุกาฬเกโส ได้แก่ ผมดําสนิท อธิบายว่ามีผมสีดังดอกอัญชัน.

 
  ข้อความที่ 31  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 9 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 440

บทว่า ภทฺเรน แปลว่างาม. บทว่า ปเมน วยสา ได้แก่ตั้งอยู่โดยปฐมวัย บรรดาวัยทั้ง ๓. บทว่า อกามกานํ ได้แก่ เมื่อไม่ปรารถนา. บทว่า อกามกานํ นี้เป็น ฉัฏฐีวิภัตติ ลงในอรรถแห่ง อนาทร. ชื่อว่า อัสสุมุขา เพราะมีน้ำเนตรนองพระพักตร์แห่งพระมารดาและบิดา ผู้มีพระพักตร์นองด้วยน้ำพระเนตร อธิบายว่าผู้มีพระพักตร์ชุ่มด้วยน้ำพระเนตร. บทว่า รุทนฺตานํ ได้แก่ ร้องไห้คร่ําครวญอยู่. บทว่า กิํกุสลํ คเวสี ได้แก่ แสวงหากุศลอะไร. บทว่า อนุตฺตรํ สนฺติวรปทํ ความว่า แสวงหาบทอันประเสริฐ กล่าวคือ ความสงบอันสูงสุด ได้แก่พระนิพพาน. บทว่า อาฬาโร ในคําว่า เยน อาฬาโร นี้เป็นชื่อของดาบสนั้น. ได้ยินว่า ดาบสนั้น ชื่อว่า ทีฆปิงคละ. ด้วยเหตุนั้นเขาจึงมีนามว่า อาฬาระ. บทว่า กาลาโม เป็นโคตร. บทว่า วิหารตายสฺมา แปลว่าขอท่านผู้มีอายุเชิญอยู่ก่อน. บทว่า ยตฺถ วิฺูปุริโส ได้แก่บุรุษผู้เป็นบัณฑิตในธรรมใด. บทว่า สกํ อาจริยกํ ได้แก่ลัทธิอาจารย์ของตน. บทว่า อุปสมฺปชฺช วิหเรยฺย ได้แก่ พึงเข้าถึงอยู่ ด้วยเหตุเท่านี้เป็นอันเขาได้ทําโอกาสแล้ว. บทว่า ตํ ธมฺมํ ได้แก่ แบบแผนลัทธิของเขาเหล่านั้น. บทว่า ปริยาปุณิํ ได้แก่ พอได้ฟังเรียนเอา. บทว่า โอฏฺปหตมตฺเตน ความว่า ด้วยเหตุเพียงหุบปาก เพื่อรับคําที่เขากล่าว อธิบายว่าเพียงเจรจาปราศรัยกลับ ไปกลับมา. บทว่า ลปิตลาปนมตฺเตน ได้แก่ด้วยเหตุเพียงถือเอาถ้อยคําที่เขาบ่นเพ้อ. บทว่า าณวาทํ ได้วาทะว่าเราจะรู้ชัด. บทว่า เถรวาทํ ได้แก่ วาทะว่ามั่นคง. คํานี้หมายความว่าข้าพเจ้าเป็นผู้มั่นคงในข้อนี้. บทว่า อหฺเจว อฺเ จ ความว่า ไม่ใช่แต่เราจะกล่าวเพียงคนเดียวเท่านั้น แม้คนอื่นเป็นอันมากก็กล่าวอย่างนี้. บทว่า เกวลํ สทฺธามตฺตเกน ความว่า ด้วยเหตุเพียงศรัทธาอันบริสุทธิ์เท่านั้น มิใช่กระทําให้แจ้งด้วยปัญญา. ได้ยินว่า พระโพธิสัตว์ เรียนธรรมด้วยวาจาเท่านั้น

 
  ข้อความที่ 32  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 9 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 441

ได้รู้ว่า ท่านกาลามะได้เพียงปริยัติ ด้วยวาจาเพียงอย่างเดียวในธรรมนี้ก็หาไม่ ท่านยังได้สมาบัติ ๗ อย่างแน่นอน ด้วยเหตุนั้นท่านจึงมีความคิดอย่างนี้. บทว่าอากิฺจฺายตนํ ปเวเทสิ ความว่า ได้ให้เรารู้สมาบัติ ๗ อันมีอากิญจัญญายตนสมาบัติเป็นที่สุด. บทว่า สทฺธา ได้แก่ศรัทธาเพื่อให้เกิดสมาบัติ ๗ เหล่านี้. แม้ในความเพียรเป็นต้นก็นัยนี้เหมือนกัน. บทว่า ปทเหยฺยํ ได้แก่พึงกระทําความพยายาม. บทว่า น จิรสฺเสว ตํ ธมฺมํ สยํ อภิฺา สจฺฉิกตฺวา อุปสมฺปชฺช วิหาสิํ ได้แก่นัยว่าพระโพธิสัตว์ทรงบําเพ็ญความเพียรทําสมาบัติ ๗ ให้เกิดขึ้นเพียงเวลา ๒ - ๓ วันเท่านั้น เหมือนคลี่ม่านทอง ๗ ชั้น เพราะฉะนั้น จึงกล่าวอย่างนั้น.

บทว่า ลาภา โน อาวุโส ความว่า ได้ยินว่า ท่านกาลามะนี้เป็นคนไม่ริษยา เพราะฉะนั้น ท่านคิดว่า ผู้นี้เพิ่งมาทําอะไรทําธรรมนี้ให้บังเกิดได้ดังนี้แล้ว ก็ไม่ริษยา กลับเลื่อมใส เมื่อจะประกาศความเลื่อมใสจึงกล่าวอย่างนี้. บทว่า อุโภ วสนฺตา อิมํ คณํ ปริหราม ความว่า ท่านกล่าวว่า คณะนี้เป็นคณะใหญ่ เราสองคนมาช่วยกันบริหารเถิดแล้วได้ให้สัญญาแก่คณะ. ท่านกล่าวว่า แม้เราก็ได้สมาบัติ ๗ พระมหาบุรุษก็ได้สมาบัติ ๗ เหมือนกัน คนจํานวนเท่านี้เรียนบริกรรมในสํานักของพระมหาบุรุษ จํานวนเท่านี้เรียนในสํานักของเรา ดังนี้แล้วได้แบ่งให้ครึ่งหนึ่ง. บทว่า อุฬาราย แปลว่า สูงสุด. บทว่า ปูชาย ได้แก่ เขาว่า ทั้งหญิงทั้งชายที่เป็นอุปัฏฐากของท่านกาลามะถือของหอมและดอกไม้เป็นต้นมา. ท่านกาลามะบอกว่า ท่านทั้งหลายจงไปบูชาพระมหาบุรุษเถิด. คนเหล่านั้นบูชาพระมหาบุรุษแล้วบูชาท่านกาลามะด้วยของที่เหลือ. คนทั้งหลายนําเตียงตั่งเป็นต้นที่มีค่ามากมาให้แม้ของเหล่านั้นแก่พระมหาบุรุษ ถ้ามีเหลือ ตนเองจึงรับ. ในที่ที่ไปด้วยกัน ท่านกาลามะสั่งให้จัดเสนาสนะอย่างดีแก่พระโพธิสัตว์ ตนเองรับส่วนที่เหลือ. ในคําว่า นายํ ธมฺโมนิพฺพิทาย เป็นต้น ความว่า ธรรมคือสมาบัติ ๗ นี้ ไม่เป็นไปเพื่อ

 
  ข้อความที่ 33  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 9 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 442

เบื่อหน่ายในวัฏฏะ ไม่เป็นไปเพื่อคลายกําหนัด ไม่เป็นไปเพื่อดับราคะเป็นต้น ไม่เป็นไปเพื่อความสงบ ไม่เป็นไปเพื่อรู้ยิ่งธรรมที่ควรรู้ยิ่ง ไม่เป็นไปเพื่อตรัสรู้สัจจะ ๔ ไม่เป็นไปเพื่อทําให้แจ้งพระนิพพาน. บทว่า ยาวเทว อากิฺจฺายตนูปปตฺติยา ความว่า เป็นไปเพียงเกิดในอากิญจัญญายตนภพ ซึ่งมีอายุประมาณ ๖๐,๐๐๐ กัปป ไม่สูงไปกว่านั้น ธรรมนี้เป็นธรรมเวียนมาอีก ทั้งให้ถึงฐานะอันใด ฐานะอันนั้น ก็ไม่พ้นจากชาติชรามรณะไปได้เลย ถูกล้อมไว้ด้วยบ่วงมฤตยูทั้งนั้น. ก็แลบุรุษผู้หิวโหยได้โภชนะที่น่าพอใจ บริโภคอิ่มหนําสําราญแล้วทิ้งด้วยอํานาจน้ำดีบ้าง เสลดบ้าง โดยหลงลืมเสียบ้าง ไม่เกิดความรู้ว่า เราจักบริโภคข้าวก้อนเดียวกันอีก เปรียบฉันใดตั้งแต่นั้นมา พระมหาสัตว์ ก็เปรียบฉันนั้นเหมือนกัน แม้ทําสมาบัติ ๗ ให้บังเกิดด้วยอุตสาหะอย่างมาก เห็นโทษต่างโดยการเวียนมาอีกเป็นต้นนี้ ในสมาบัติเหล่านั้น มิได้เกิดจิตคิดว่า เราจักคํานึง หรือจักเข้า จักตั้ง จักออกหรือ จักพิจารณาธรรมนี้อีก. บทว่า อนลงฺกริตฺวา ได้แก่ ไม่พึงพอใจบ่อยๆ ว่า จะพออะไรด้วยสิ่งนี้ จะพอใจอะไรด้วยสิ่งนี้. บทว่า นิพฺพิชฺช แปลว่าระอา. บทว่า อปกฺกมิํ แปลว่าได้ไปแล้ว. บทว่า น โข ราโม อิมํ ธมฺมํ ความว่า พระโพธิสัตว์เรียนธรรมแม้ในที่นี้ รู้ทั่วแล้วว่า ธรรมคือสมาบัติ ๘ นี้ เป็นธรรมอันอุททกดาบสรามบุตรตั้งไว้เพียงเรียนด้วยวาจาเท่านั้น แต่ที่แท้ อุททกดาบส รามบุตร ผู้นี้เป็นผู้ได้สมาบัติ ๘ ด้วยเหตุนั้นพระโพธิสัตว์ จึงคิดอย่างนี้ว่า น โข ราโม ฯเปฯ ชานํ ปสฺสํ วิหาสิ.คําที่เหลือในข้อนี้พึงทราบโดยนัยที่กล่าวแล้วในวาระต้นนั่นแล. เขตใหญ่ อธิบายว่ากองทรายใหญ่ ชื่อว่า อุรุเวลา ในคําว่า เยน อุรุเวลา เสนานิคโม นี้. อีกนัยหนึ่ง ทรายท่านเรียกว่า อุรุ เขตแดนเรียกว่า เวลา. พึงทราบในคํานี้อย่างนี้ว่า ทรายที่เขานํามา เหตุล่วงขอบเขตชื่อว่า อุรุเวลา.

 
  ข้อความที่ 34  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 9 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 443

ดังได้สดับมา ในอดีตกาล ครั้งพระพุทธเจ้ายังไม่อุบัติ กุลบุตรประมาณ ๑๐,๐๐๐ บวชเป็นดาบส อยู่ในประเทศนั้น วันหนึ่งประชุมกัน ตั้งกติกากันไว้ว่า ขึ้นชื่อว่า กายกรรม และวจีกรรมปรากฏแก่ชนทั้งหลายเหล่าอื่น ส่วนมโนกรรมไม่ปรากฏ เพราะฉะนั้น ผู้ใด ตรึกกามวิตก พยาบาทวิตก หรือวิหิงสาวิตก คนอื่นที่จะเตือนผู้นั้นไม่มี ผู้นั้นจงเตือนตนด้วยตนเอง จงเอาภาชนะใส่ทรายให้เต็มมาเกลี่ยไว้ในที่นี้ อันนี้เป็นการลงโทษผู้นั้น. ตั้งแต่นั้นมา ผู้ใดตรึกวิตกเช่นนั้น ผู้นั้นก็ต้องเอาภาชนะใส่ทรายมาเกลี่ยลงในที่นั้น กองทรายใหญ่เกิดขึ้นโดยลําดับในที่นั้นด้วยประการฉะนี้ ต่อแต่นั้นคนที่เกิดมาในภายหลังจึงล้อมกองทรายใหญ่นั้นไว้ทําเป็นเจดีย์สถาน ท่านหมายเอากองทรายใหญ่นั้นจึงกล่าวว่า อุรุเวลาติ ฯเปฯ อตฺโถ ทฏฺพฺโพ.

บทว่า เสนานิคโม แปลว่า นิคมของเสนา. เล่าว่า เหล่าชนครั้งปฐมกัปได้มีการพักกองทัพ อยู่ในที่นั้น เพราะฉะนั้น ที่นั้นเขาจึงเรียกว่าเสนานิคม ก็มี. ปาฐะว่า เสนานิคาโม ก็มี. อธิบายว่า บิดาของนางสุชาดา ชื่อว่าเสนานิ บ้านของนายเสนานินั้น. บทว่า ตทวสริํ แปลว่า รวมลงในที่นั้น. บทว่า รมฺมณียํ ภูมิภาคํ ได้แก่ ภูมิภาคที่น่ารื่นรมย์ ที่งดงามด้วยดอกไม้น้ำ และบก มีประการต่างๆ ที่บานสะพรั่ง. บทว่า ปาสาทิกํ วนสณฺฑํ ความว่า ได้เห็นไพรสณฑ์ที่ให้เกิดความเลื่อมใสเช่นกับกําหางนกยูง. บทว่า นทิฺจ สนฺทนฺติํ ความว่าได้เห็นแม่น้ำเนรัญชรา มีน้ำใสสีเขียวเย็น เช่นกับกองแก้วมณีกําลังไหลเอื่อย. บทว่า เสตกํ ได้แก่ สะอาดปราศจากเปือกตม. บทว่า สุปติตฺถํ ได้แก่ประกอบด้วยท่าอันดีที่ลุ่มลึกโดยลําดับ. บทว่า รมฺมณียํ ได้แก่ มีทิวทัศน์น่ารื่นรมย์ มีทรายที่เกลี่ยไว้เสมือนแผ่นเงิน มีปลาและเต่ามาก. บทว่า สมนฺตา จ โคจรคามํ ความว่า ได้เห็นโคจรคามที่หาภิกษาได้ง่าย สําหรับบรรพชิตผู้มาถึงแล้วสมบูรณ์ไปด้วยคมนาคมในที่ไม่

 
  ข้อความที่ 35  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 9 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 444

ไกลโดยรอบประเทศนั้น. บทว่า อลํ วต แปลว่า สามารถหนอ. บทว่า ตตฺเถว นิสีทิํ ท่านกล่าวหมายเอาประทับนั่ง ณ โพธิบัลลังก์. จริงอยู่บทว่า ตตฺเถว ในพระสูตรก่อนท่านประสงค์เอาสถานที่ทรงบําเพ็ญทุกกรกิริยา ส่วนในพระสูตรนี้ ท่านประสงค์เอาโพธิบัลลังก์ ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า ตตฺเถว นิสีทิํ ดังนี้. บทว่า อลมิทํ ปธานาย ความว่า ประทับนั่ง ทรงดําริอย่างนี้ว่า ที่นี้สามารถทําความเพียรได้. บทว่า อชฺฌคมิํ ได้แก่บรรลุคือได้เฉพาะแล้ว. บทว่า าณฺจ ปน เม ทสฺสนํ ความว่า ก็แลพระสัพพัญุตญาณ ที่สามารถเห็นธรรมทั้งปวง เกิดขึ้นแก่เรา. บทว่า อกุปฺปา เม วิมุตฺติ ความว่า วิมุตติอันประกอบด้วยพระอรหัตตผลของเราชื่อว่า อกุปปะ เพราะไม่กําเริบ และเพราะมีอกุปปธรรมเป็นอารมณ์ วิมุตตินั้นไม่กําเริบด้วยราคะเป็นต้น เพราะเหตุนั้น จึงชื่อว่าอกุปปะ แม้เพราะไม่กําเริบ เป็นอกุปปธรรมที่มีพระนิพพานเป็นอารมณ์ เพราะเหตุนั้น จึงชื่อว่าอกุปปะ แม้เพราะมีอกุปปธรรมเป็นอารมณ์. บทว่า อยมนฺติมา ชาติ แปลว่า นี้เป็นชาติสุดท้ายทั้งหมด. ด้วยบทว่า นตฺถิทานิ ปุนพฺภโว ท่านแสดงว่า แม้ปัจจเวกขณญาณก็เกิดขึ้นแก่เราอย่างนี้ว่า บัดนี้ เราไม่มีปฏิสนธิอีก. บทว่า อธิคโต แปลว่า แทงตลอดแล้ว. บทว่า ธมฺโม ได้แก่ธรรมคือสัจจะ ๔. คําว่า คมฺภีโร นี้ เป็นคําปฏิเสธความตื้น. บทว่า ทุทฺทโส ได้แก่ชื่อว่าเห็นยาก พึงเห็นได้โดยลําบาก ไม่อาจเห็นได้โดยง่ายเพราะเป็นธรรมอันลึก ชื่อว่า รู้ตามได้ยาก รู้ได้โดยลําบาก ไม่อาจรู้ได้โดยง่ายเพราะเป็นธรรมที่เห็นได้ยาก. บทว่า สนฺโต ได้แก่ดับ. บทว่า ปณีโต ได้แก่ไม่เร่าร้อน. คําทั้งสองนี้ ท่านกล่าวหมายเอาโลกุตตรธรรมเท่านั้น. บทว่า อตกฺกาวจโร ได้แก่ เป็นธรรมที่ไม่พึงสอดส่องหยั่งลงด้วยความตรึก คือพิจารณาด้วยญาณเท่านั้น.

 
  ข้อความที่ 36  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 9 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 445

บทว่า นิปุโณ แปลว่าละเอียด. บทว่า ปณฺฑิตเวทนีโย ได้แก่อัน เหล่าบัณฑิตผู้ปฏิบัติสัมมาปฏิบัติพึงรู้.

บทว่า อาลยรามา ความว่า สัตว์ทั้งหลายย่อมข้องกามคุณ ๕ เพราะฉะนั้นกามคุณ ๕ นั้น เรียกว่าอาลัย. สัตว์ทั้งหลายย่อมข้องตัณหาวิปริต ๑๐๘ เพราะฉะนั้น จึงเรียกว่าอาลัย. สัตว์ทั้งหลายชื่อว่าอาลยรามา เพราะยินดีด้วยกามคุณอันเป็นที่อาลัยนั้น. ชื่อว่า อาลยรตา เพราะยินดีในกามคุณอันเป็นที่อาลัย. ชื่อว่า อาลยสมฺมุทิตา เพราะยินดีด้วยดีในกามคุณอันเป็นที่อาลัย. เหมือนอย่างว่า พระราชาเสด็จเข้าไปยังพระราชอุทยานที่สมบูรณ์ด้วยต้นไม้อันเต็มไปด้วยดอกและผลเป็นต้นที่ตกแต่งไว้เป็นอย่างดี ทรงยินดีด้วยสมบัตินั้นๆ. ย่อมทรงบันเทิงรื่นเริงเบิกบานไม่เบื่อ แม้เย็นแล้วก็ไม่ปรารถนาจะออกไปฉันใด สัตว์ทั้งหลายย่อมยินดีด้วยอาลัย คือกามและอาลัยคือตัณหาเหล่านี้ก็ฉันนั้น ย่อมเบิกบานไม่เบื่ออยู่ในสังสารวัฏฏ์. ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อจะทรงแสดงอาลัย ๒ อย่างแก่สัตว์เหล่านั้น ให้เหมือนอุทยานภูมิ จึงตรัสคํามีอาทิว่า อาลยรามา ดังนี้. บทว่า ยทิทํ เป็นนิบาต. หมายเอาฐานะแห่งอาลัยนั้น พึงเห็นเนื้อความอย่างนี้ว่า ยํ อิทํ หมายเอาปฏิจจสมุปบาท พึงเห็นเนื้อความอย่างนี้ว่า โย อยํ ดังนี้. บทว่า อิทปฺปจฺจยตาปฏิจฺจสมุปฺปาโท ความว่า ปัจจัยแห่งธรรมเหล่านี้ชื่อว่า อิทปฺปจฺจยา. อิทปฺปจฺจยา นั่นแล ชื่อว่าอิทปฺปจฺจยตา อิทปฺปจฺจยตา นั้นด้วย ปฏิจจสมุปบาทด้วย เพราะฉะนั้นจึงชื่อว่า อิทัปปัจจยตาปฏิจจสมุปบาท. คําว่า อิทปฺปจฺจยตาปฏิจฺจสมุปปาโท นี้เป็นชื่อของปัจจัยมีสังขารเป็นต้น. บทว่า สพฺพสงฺขารสมโถ เป็นต้นทุกบทเป็นไวพจน์ของพระนิพพาน ทั้งนั้น. ก็เพราะเหตุที่ความดิ้นรนแห่งสังขารทั้งหมด อาศัยพระนิพพานนั้น ย่อมสงบระงับ ฉะนั้นนิพพานนั้นท่านจึงเรียกว่า สพฺพสงฺขารสมโถ เป็นที่สงบสังขาร

 
  ข้อความที่ 37  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 9 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 446

ทั้งปวง. อนึ่ง เพราะอุปธิทั้งหมดอาศัยพระนิพพานนั้น ย่อมสละคืน ตัณหาทั้งปวงย่อมสิ้นไป ราคะคือกิเลสทั้งปวงย่อมคลายไป ทุกข์ทั้งปวงย่อมดับไป. ฉะนั้น นิพพานนั้นท่านจึงเรียกว่า สพฺพูปธิปฏินิสฺสคฺโค สละคืนอุปธิทั้งปวง ตณฺหกฺขโย เป็นที่สิ้นตัณหา วิราโค ธรรมเป็นที่สํารอกกิเลส. นิโรโธ ความดับ. ก็ตัณหาท่านเรียก วานะ เพราะร้อยรัดเย็บภพกับภพ หรือกรรมกับผล. ชื่อว่า นิพพานเพราะออกจากตัณหา คือ วานะนั้น. บทว่า โสมมสฺส กิลมโถ ความว่า ชื่อว่า การแสดงธรรมแก่ผู้ไม่รู้เป็นความลําบากแก่เรา ความลําบากอันใดพึงมีแก่เรา ความลําบากอันนั้นพึงเป็นความเบียดเบียนแก่เรา. ท่านอธิบายว่า พึงเป็นความลําบากกาย และเป็นการเบียดเบียนกาย ดังนี้. แต่ทั้ง ๒ อย่างนั้นไม่มีในจิตของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย.

บทว่า อปิสฺสุ เป็นนิบาตลงในอรรถว่าเพิ่มพูน. พระเถระนั้นย่อมแสดงว่า มิได้มีคํานั้นเท่านั้น แม้คาถาเหล่านั้น ก็ปรากฏแล้ว. บทว่า มํ แปลว่า แก่เรา. บทว่า อนจฺฉริยา เป็น อนุอจฺฉริยา เป็นอัศจรรย์เล็กน้อย. บทว่า ปฏิภํ สุ ได้แก่ เป็นทางเดินของญาณ กล่าวคือปฏิภาณ คือถึงความเป็นข้อที่จะพึงปริวิตก.

บทว่า กิจฺเฉน ได้แก่ ไม่ใช่เป็นทุกขาปฏิทา. จริงอยู่ มรรค ๔ ย่อมเป็นสุขาปฏิปทาสําหรับพระพุทธเจ้าทั้งหลายเทียว. คํานี้ท่านกล่าวหมายเอาอาคมนียปฏิปทา แห่งพระองค์ผู้ยังมีราคะ ยังมีโทสะ และยังมีโมหะอยู่ทีเดียว ในกาลทรงบําเพ็ญพระบารมีทรงตัดศีรษะอันประดับแล้ว ตกแต่งแล้ว นําเลือดในลําพระศอออก ควักนัยน์ตาอันหยอดยาตาดีแล้ว ให้ทานวัตถุอย่างอื่นมีอย่างนี้เป็นต้น คือบุตรผู้เป็นประทีปแห่งตระกูลวงศ์ ภริยาผู้มีจรรยาน่าพอใจแก่ยาจกผู้มาแล้วมาเล่า และถึงความตัดถูกทําลายเป็นต้นในอัตตภาพทั้งหลายเช่นกับขันติวาทีดาบส. อักษรในคําว่า หลํ นี้เป็นเพียงนิบาต ความว่าอย่าเลย.

 
  ข้อความที่ 38  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 9 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 447

บทว่า ปกาสิตุํ แปลว่า เพื่อแสดง คือ อย่าจําแนก อย่าแสดงสอนธรรมที่เราบรรลุแล้วโดยยากอย่างนี้เลย อธิบายว่าธรรมที่เราแสดงแล้ว จะมีประโยชน์อะไร. บทว่า ราคโทสปเรเตหิ ได้แก่ ผู้อันราคะและโทสะถูกต้องแล้ว หรืออันราคะและโทสะครอบงําแล้ว. บทว่า ปฏิโสตคามิํ ได้แก่สัจจธรรม ๔ ที่ไปแล้วอย่างนี้ว่า อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา อสุภํ (ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ไม่งาม) อันทวนกระแสแห่งธรรมมีความเที่ยงเป็นต้น. บทว่า ราครตา ได้แก่ผู้ยินดีแล้วด้วยกามราคะ ภวราคะ และทิฏฐิราคะ. บทว่า น ทกฺขนฺติ ความว่า ย่อมไม่เห็นโดยสภาวะนี้ว่า ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ไม่งาม ดังนี้. ใครแล จักอาจเพื่อทําบุคคลผู้ไม่เห็นเหล่านั้นให้ถือเอาอย่างนี้ได้. บทว่า ตโมกฺขนฺเธนอาวุตา ความว่า ผู้อันกองอวิชชาท่วมทับแล้ว. บทว่า อปฺโปสฺสุกฺกตาย ได้แก่เพื่อไม่มีความขวนขวาย อธิบายว่า เพื่อไม่ประสงค์จะเทศนา.

ถามว่า ก็เพราะเหตุไร จิตของพระองค์จึงน้อมไปอย่างนี้ว่า เรานี้พ้นแล้วจักทําผู้อื่นให้พ้น ข้ามแล้วก็จักทําผู้อื่นให้ข้ามมิใช่หรือ พระองค์ตั้งความปรารถนาไว้ว่า

เราผู้มีเพศที่ไม่มีใครรู้จัก กระทําให้แจ้งธรรมในโลกนี้ยังจะต้องการอะไร เราบรรลุสัพพัญุตญาณแล้ว จักทําโลกพร้อมทั้งเทวโลกให้ข้าม

ดังนี้แล้วบําเพ็ญบารมีทั้งหลาย ก็บรรลุสัพพัญุตญาณ. ตอบว่า ข้อนี้เป็นความจริง จิตของพระองค์น้อมไปอย่างนี้ด้วยอานุภาพแห่งปัจจเวกขณญาณ ก็พระองค์บรรลุสัพพัุุตญาณ พิจารณาถึงความที่สัตว์ยังยึดกิเลส และความที่ธรรมเป็นสภาพลึกซึ้ง จึงปรากฏว่าสัตว์ยังยึดกิเลสและธรรมเป็นสภาพลึกซึ้ง โดยอาการทั้งปวง เมื่อเป็นอย่างนั้น ก็ทรงพระดําริ

 
  ข้อความที่ 39  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 9 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 448

ว่า สัตว์เหล่านั้นเพียบไปด้วยกิเลสเศร้าหมองเหลือเกิน กําหนัดเพราะราคะ โกรธเพราะโทสะ หลงเพราะโมหะ เหมือนน้ำเต้าเต็มด้วยน้ำข้าว เหมือนตุ่มเต็มด้วยเปรียง เหมือนผ้าเก่าชุ่มด้วยมันข้น และเหมือนมือเปื้อนยาหยอดตา สัตว์ทั้งหลายเหล่านั้นจักตรัสรู้ได้อย่างไรเล่า จึงทรงน้อมจิตไปอย่างนั้นแม้ด้วยอานุภาพแห่งการพิจารณาถึงการยึดกิเลส ก็ธรรมนี้พึงทราบว่าลึกเหมือนลําน้ำที่รองแผ่นดิน เห็นได้ยาก เหมือนเมล็ดพันธุ์ผักกาดที่เอาภูเขามาวางปิด รู้ตามได้แสนยากเหมือนปลายแห่งขนทรายที่แบ่งออกเป็น ๗ ส่วน ชื่อว่า ทานที่เราพยายามเพื่อแทงตลอดธรรมนี้ไม่ให้แล้วไม่มี ชื่อว่าศีลที่เราไม่ได้รักษาแล้วก็ไม่มี. ชื่อว่าบารมีไรๆ ที่เรามิได้บําเพ็ญ ก็ไม่มี เมื่อเรานั้น กําจัดกําลังของมารที่เหมือนไร้อุตสาหะ แผ่นดิน ก็ไม่ไหว เมื่อระลึกถึงปุพเพนิวาสญาณ ในปฐมยาม ก็ไม่ไหว เมื่อชําระทิพยจักษุในมัชฌิมยามก็ไม่ไหว แต่เมื่อแทงตลอดปฏิจจสมุปบาท ในปัจฉิมยาม หมื่นโลกธาตุจึงไหว ดังนั้น ผู้ที่มีญาณกล้าแม้เช่นเรายังแทงตลอดธรรมนี้ได้โดยยากทีเดียว โลกิยมหาชนจักแทงตลอดธรรมนั้นได้อย่างไร พึงทราบว่า ทรงน้อมจิตไปอย่างนี้ แม้ด้วยอานุภาพแห่งการพิจารณาความลึกซึ้งแห่งพระธรรมด้วยประการดังนี้.

อนึ่ง เมื่อสหัมบดีพรหมทูลอาราธนา พระองค์ก็ทรงน้อมจิตไปอย่างนี้เพราะมีพุทธประสงค์จะทรงแสดงธรรม. จริงอยู่ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทราบว่า เมื่อเราน้อมจิตไปเพื่อความเป็นผู้มีความขวนขวายน้อย ท้าวมหาพรหมก็จักอาราธนาเราแสดงธรรม. ด้วยว่า สัตว์เหล่านี้เคารพพรหม สัตว์เหล่านั้นสําคัญอยู่ว่า พระศาสดาไม่ประสงค์จะทรงแสดงธรรม แต่ท้าวมหาพรหมอาราธนาให้เราแสดงธรรม ท่านผู้เจริญทั้งหลาย ธรรมนี้สงบประณีตหนอจักตั้งใจฟังด้วยดี อาศัยเหตุนี้พึงทราบว่า พระองค์น้อมจิตไปเพื่อความเป็นผู้ขวนขวายน้อยมิได้น้อมไปเพื่อแสดงธรรม.

 
  ข้อความที่ 40  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 9 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 449

บทว่า สหมฺปติสฺส ความว่า ได้ยินว่า ท้าวสหัมบดีพรหมนั้น ครั้งศาสนาพระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามว่า กัสสป เป็นพระเถระชื่อสหกะ ทําปฐมฌานให้บังเกิดแล้วไปเกิดเป็นพรหมอายุกัปหนึ่งในภูมิแห่งปฐมฌาน. ชนทั้งหลายย่อมหมายถึงท้าวมหาพรหมนั้นว่า สหัมบดีพรหมในคํานั้น. ท่านหมายเอาสหัมบดีพรหมนั้น จึงกล่าวว่า พฺรหฺมุโน สหมฺปติสฺส. บทว่า นสฺสติวต โภ ความว่าได้ยินว่า สหัมบดีพรหมนั้น เปล่งเสียงนี้ออกโดยที่พรหมในหมื่นโลกธาตุ ได้ยินแล้วประชุมกันทั้งหมด. บทว่า ยตฺร หิ นาม แปลว่าในโลกใด. บทว่า ปุรโต ปาตุรโหสิ ปรากฏพร้อมกับพรหมพันหนึ่งนั้น. บทว่า อปฺปรชกฺขชาติกา ได้แก่ ธุลี คือ ราคะ โทสะ และโมหะในนัยน์ตาอันสําเร็จด้วยปัญญามีประมาณเล็กน้อยของสัตว์เหล่านี้ มีสภาวะอย่างนี้ เพราะฉะนั้นสัตว์เหล่านี้ จึงชื่อว่า อปฺปรชกฺชาติกา มีธุลีคือกิเลสในนัยน์ตาน้อย. บทว่า อสฺสวนตา แปลว่า เพราะไม่ได้สดับ. ด้วยบทว่า ภวิสฺสนฺติ ท่านแสดงว่า สัตว์ทั้งหลายผู้กระทําบุญโดยบุญกิริยาวัตถุ ๑๐ ในพระพุทธเจ้าองค์ก่อนๆ หวังการแสดงธรรมประหนึ่งดอกปทุมที่แก่ต้องแสงอาทิตย์ ควรจะหยั่งลงในอริยภูมิเมื่อจบคาถา ๔ บท ไม่ใช่คนเดียว ไม่ใช่สองคน แต่หลายแสน ที่จักตรัสรู้ธรรม.

บทว่า ปาตุรโหสิ แปลว่า ปรากฏ. บทว่า สมเลหิ จินฺติโต ได้แก่ ที่พวกศาสดาทั้ง ๖ ผู้มีมลทินคิด. จริงอยู่ ศาสดาเหล่านั้น เกิดขึ้นก่อน พากันแสดงธรรมคือมิจฉาทิฏฐิที่มีมลทินเหมือนลาดหนามไว้ และเหมือนราดยาพิษไว้ทั่วชมพูทวีป. บทว่า อปาปุเรตํ ได้แก่เปิดประตูอมตะนั้น. บทว่า อมตสฺส ทฺวารํ ได้แก่อริยมรรคอันเป็นประตูอมตนิพพาน. บทว่า สุณนฺตุ ธมฺมํ วิมเลนานุพุทฺธํ ความว่า ทูลวอนว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า ก่อนอื่นขอสัตว์เหล่านี้จงสดับธรรมคืออริยสัจจ์ ๔ ที่พระสัมมา-

 
  ข้อความที่ 41  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 9 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 450

สัมพุทธเจ้าผู้ไม่มีมลทิน เพราะไม่มีมลทินมีราคะเป็นต้น ตรัสรู้แล้ว. บทว่า เสเล ยถา ปพฺพตมุทฺธนิฏฺิโต ความว่า อุปมาเหมือนบุคคลผู้ยืนอยู่บนภูเขาอันเป็นแท่งทึบล้วนศิลา ไม่จําเป็นที่จะต้องชูเหยียดคอ เพื่อจะดูคนที่ยืนอยู่บนยอดภูเขา ที่เป็นเท่งทึบล้วนศิลา. บทว่า ตถูปมํ เทียบอย่างนั้น หรืออุปมาด้วยภูเขาหิน.

ก็ความย่อในข้อนี้มีดังนี้ บุรุษผู้มีจักษุยืนอยู่บนยอดเขาหินพึงเห็นหมู่ชนได้โดยรอบฉันใด ดูก่อนสุเมธผู้มีปัญญาดี พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้มีสมันตจักษุด้วยสัพพัญุตญาณ แม้พระองค์ โปรดขึ้นปราสาทธรรมคือปัญญาไม่เศร้าโศกด้วยพระองค์เอง โปรดใคร่ครวญพิจารณาตรวจตราหมู่ชนผู้ระงมด้วยความโศก และถูกชาติชราครอบงํา ก็ฉันนั้น. ในข้อนี้มีอธิบายว่า เหมือนอย่างว่า ชนทั้งหลายทํานามากรอบเชิงเขา ปลูกกระท่อมไว้ที่เขตคันนา ในที่นั้น กลางคืนตามไฟไว้ ก็ความมืดมิดที่ประกอบด้วยองค์ ๔ พึงมี เมื่อเป็นดังนั้น บุรุษผู้มีจักษุ ยืนบนยอดเขานั้น มองดูพื้นดิน ไร่นาก็ไม่ปรากฏ เขตคันนาก็ไม่ปรากฏ กระท่อมก็ไม่ปรากฏ ผู้คนที่นอนอยู่ในที่นั้นก็ไม่ปรากฏ ปรากฏก็แต่เพียงแสงไฟที่กระท่อมเท่านั้นฉันใด เมื่อพระตถาคตขึ้นธรรมปราสาทตรวจดูหมู่สัตว์ หมู่สัตว์ผู้ไม่ได้ทํากรรมดีแม้จะนั่งอยู่ใกล้พระชาณุเบื้องขวาในวิหารเดียวกัน ก็ไม่ปรากฏแก่พระพุทธจักษุ เหมือนยิงธนู ในเวลากลางคืน ส่วนเวไนยบุคคลผู้กระทํากรรมดีแม้จะอยู่ในที่ไกล ก็มาปรากฏแก่พระองค์เปรียบเหมือนไฟ และเหมือนหิมวันตบรรพตฉันนั้น. สมดังคาถาประพันธ์ที่ท่านกล่าวไว้ว่า

ทูเร สนฺโต ปกาเสนฺติ หิมวนฺโตว ปพฺพโต อสนฺเตตฺถ น ทิสฺสนฺติ รตฺติํ ขิตฺตา ยถา สรา.

 
  ข้อความที่ 42  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 9 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 451

สัตบุรุษย่อมปรากฏในที่ไกล เหมือนหิมวันตบรรพต อสัตบุรุษอยู่ในที่นั้นเอง ก็ไม่ปรากฏ เหมือนลูกธนูที่ยิงไปในเวลากลางคืนฉะนั้น.

บทว่า อุฏฺเหิ พรหมทูลวอนพระผู้มีพระภาคเจ้าให้เสด็จจาริกแสดงธรรม. ในคําว่า วีร เป็นต้น พระผู้มีพระภาคเจ้า ชื่อว่าวีระ เพราะทรงมีความเพียร. ชื่อว่าผู้ชนะสงคราม เพราะทรงชนะเทวบุตรมาร มัจจุมาร และกิเลสมารผู้เป็นดังนายกองเกวียน เพราะเป็นผู้สามารถในอันนําหมู่เวไนยสัตว์ ให้ข้ามชาติกันดารเป็นต้น พึงทราบว่า ผู้ไม่เป็นหนี้ เพราะไม่มีหนี้ คือกามฉันทะ.

บทว่า อชฺเฌสนํ แปลว่า ทูลวอน. บทว่า พุทฺธจกฺขุนา ได้แก่ รู้อินทรีย์ของสัตว์อ่อนแก่ และรู้อัธยาศัยและกิเลส ก็คําว่าพุทธจักษุเป็นชื่อของญาณ ๒ เหล่านี้ สมันตจักษุ เป็นชื่อของ สัพพัญุตญาณ ธรรมจักษุเป็นชื่อของมรรคญาณ ๓. ในคําว่า อปฺปรชกฺเข เป็นต้น กิเลสธุลีมีราคะเป็นต้น ในปัญญาจักษุของสัตว์เหล่าใด มีน้อย โดยนัยที่กล่าวแล้วนั้นแล สัตว์เหล่านั้นชื่อว่า อัปปรชักขะ สัตว์เหล่าใดมีกิเลสธุลีนั้นมาก สัตว์เหล่านั้นชื่อว่า มหารชักขะ สัตว์เหล่าใดมีอินทรีย์คือศรัทธาเป็นต้นกล้า สัตว์เหล่านั้นชื่อว่า ติกขินทริยะ สัตว์เหล่าใดมีอินทรีย์เหล่านั้นอ่อน สัตว์เหล่านั้น ชื่อว่า มุทินทริยะ สัตว์เหล่าใดมีอาการคือศรัทธา เป็นต้นเหล่านั้น ดี สัตว์เหล่านั้นชื่อว่า สวาการะ สัตว์เหล่าใด กําหนดรู้เหตุที่ตรัส สามารถรู้ได้ง่าย สัตว์เหล่านั้น ชื่อว่า สุวิญญาปยะ สัตว์เหล่าใดเห็นปรโลกและโทษโดยเป็นภัย สัตว์เหล่านั้น ชื่อว่าเห็นปรโลกและโทษว่าเป็นภัย.

ก็ในที่นั้นมีบาลีดังต่อไปนี้ บุคคลผู้มีศรัทธา ชื่อว่า มีกิเลสธุลีในปัญญาจักษุน้อย บุคคลผู้ไม่มีศรัทธา ชื่อว่า ผู้มีกิเลสธุลีในปัญญาจักษุมาก ผู้ปรารภความเพียรชื่อว่า อัปปรชักขะ ผู้เกียจคร้าน ชื่อว่า มหารชักขะ

 
  ข้อความที่ 43  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 9 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 452

ผู้มีสติมั่นคง ชื่อว่า อัปปรชักขะ ผู้มีสติหลงลืม ชื่อว่า มหารชักขะ ผู้มีจิตตั้งมั่นชื่อว่า อัปปรชักขะ ผู้มีจิตไม่ตั้งมั่น ชื่อว่า มหารชักขะ ผู้มีปัญญา ชื่อว่า อัปปรชักขะ ผู้มีปัญญาทรามชื่อว่า มหารชักขะ บุคคลผู้มีศรัทธาอย่างนั้น ชื่อว่ามีอินทรีย์กล้า ฯลฯ บุคคลผู้ปัญญาชื่อว่า ผู้เห็นปรโลกและโทษว่าเป็นภัย บุคคลผู้มีปัญญาทราม ชื่อว่าไม่เห็นปรโลกและโทษว่าเป็นภัย. บทว่า โลโก ได้แก่โลก คือขันธ์ โลกคือธาตุ โลกคืออายตนะ โลกคือสัมปัตติภพ โลกคือสัมปัตติสมภพ โลกคือวิปัตติภพ โลกคือวิปัตติสมภพ. โลก ๑ คือสัตว์ทั้งปวง ดํารงอยู่ได้ด้วยอาหาร. โลก ๒ คือ นามและรูป. โลก ๓ คือเวทนา ๓ โลก ๔ คืออาหาร ๔ โลก ๕ คืออุปาทานขันธ์ ๕ โลก ๖ คืออายตนะภายใน ๖ โลก ๗ คือวิญญาณฐิติ ๗ โลก ๘ คือ โลกธรรม ๘ โลก ๙ คือสัตตาวาส ๙ โลก ๑๐ คือ อายตนะ ๑๐ โลก ๑๒ คือ อายตนะ ๑๒ โลก ๑๘ คือ ธาตุ ๑๘. บทว่า วชฺชํ ความว่ากิเลสทั้งปวงจัดเป็นโทษ ทุจริตทั้งปวงจัดเป็นโทษ อภิสังขารทั้งปวง จัดเป็นโทษ กรรมอันเป็นเหตุนําสัตว์ไปสู่ภพทั้งปวงจัดเป็นโทษ ความสําคัญในโลกนี้ และในโทษนี้ว่าเป็นภัยอย่างแรงกล้าปรากฏแล้ว เหมือนเพชฌฆาตเงื้อดาบ พระตถาคต ย่อมรู้เห็น รู้ตัว รู้ตลอดอินทรีย์ ๕ เหล่านี้ ด้วยอาการ ๕๐ เหล่านี้ ชื่อว่า อินทริยปโรปริยัตติญาณ ของพระตถาคต.

บทว่า อุปฺปลิยํ แปลว่า ในป่าอุบล. แม้ในคํานอกนี้ก็นัยนี้เหมือนกัน. บทว่า อนฺโต นิมุคฺคโปสี ได้แก่ ดอกอุบลที่อยู่ใต้น้ำที่ธรรมชาติเลี้ยงไว้. บทว่า อุทกํ อจฺจุคฺคมฺม ติฏฺนฺติ ได้แก่ โผล่น้ำตั้งอยู่. ในดอกอุบลเหล่านี้ เหล่าใดขึ้นพ้นน้ำรออยู่ เหล่านั้น คอยรับสัมผัสแสงอาทิตย์จะบานในวันนี้ เหล่าใดตั้งอยู่เสมอน้ำ เหล่านั้นก็จะบานในวันพรุ่งนี้ เหล่าใดจมอยู่ใต้น้ำ จมอยู่ในน้ำธรรมชาติเลี้ยงไว้ เหล่านั้นก็จะบาน ในวันที่ ๓. ส่วนดอกอุบลที่อยู่ในสระเป็นต้น แม้เหล่าอื่นอยู่ใต้น้ำยังมีอยู่ เหล่าใดจักไม่บาน

 
  ข้อความที่ 44  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 9 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 453

เหล่านั้นก็จักเป็นภักษาของปลาและเต่าอย่างเดียว ดอกบัวเหล่านั้นท่านแสดงไว้ยังไม่ขึ้นสู่บาลี ก็พึงแสดง. เหมือนอย่างว่า ดอกไม้ ๔ อย่างเหล่านั้นฉันใด บุคคล ๔ จําพวก คือ อุคฆฏิตัญู วิปัจจิตัญู เนยยะ ปทปรมะ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน. ในบุคคล ๔ เหล่านั้น บุคคลใดตรัสรู้ธรรมพร้อมกับเวลายกหัวข้อธรรม บุคคลนี้ท่านเรียกว่า อุคฆฏิตัญู. บุคคลใดตรัสรู้ธรรมเมื่อท่านแจกอรรถแห่งภาษิตสังเขปได้โดยพิสดาร บุคคลนี้ท่านเรียกว่า วิปัจจิตัญู. บุคคลใดใส่ใจโดยแยบคายทั้งโดยอุเทศทั้งโดยปริปุจฉา ส้องเสพคบหาเข้าใกล้กัลยาณมิตรจึงตรัสรู้ธรรมบุคคลนี้ท่านเรียกว่า เนยยะ. บุคคลใด ฟังมากก็ดี กล่าวมากก็ดี ทรงจํามากก็ดี สอนมากก็ดี ก็ยังไม่ตรัสรู้ธรรมในชาตินั้น บุคคลนี้ท่านเรียกว่า ปทปรมะ. บรรดาบุคคลเหล่านั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงตรวจดูหมื่นโลกธาตุ ซึ่งเป็นเสมือนดอกบัวเป็นต้น ก็ได้ทรงเห็นว่า อุคฆฏิตัญูเปรียบเหมือนดอกไม้บานในวันนี้ วิปัจจิตัญูเปรียบดอกไม้บานในวันพรุ่งนี้ เนยยะเปรียบเหมือนดอกไม้บานในวันที่ ๓ ปทปรมะเปรียบเหมือนดอกไม้ที่เป็นภักษาของปลาและเต่า. ก็พระผู้มีพระภาคเจ้าเมื่อทรงเห็น ก็ทรงเห็นโดยอาการทุกอย่าง อย่างนี้ว่า สัตว์มีประมาณเท่านี้ มีกิเลสธุลีในปัญญาจักษุน้อย เหล่านี้มีกิเลสธุลีในปัญญาจักษุมาก บรรดาสัตว์เหล่านั้น เหล่านี้เป็นอุคฆฏิตัญู ดังนี้เป็นต้น.พระธรรมเทศนาของพระผู้มีพระภาคเจ้าย่อมให้สําเร็จประโยชน์ในอัตภาพนี้เท่านั้น แก่บุคคล ๓ ประเภท ในจํานวนบุคคลเหล่านั้น ปทปรมะ มีวาสนาเพื่อประโยชน์ในอนาคตกาล. ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทราบว่า พระธรรมเทศนาจะนําประโยชน์มาให้แก่บุคคล ๔ ประเภทจึงทรงทําให้เกิดพระพุทธประสงค์ที่จะทรงแสดงธรรม จึงทรงจําแนกเหล่าสัตว์ใน ๓ ภพ ทั้งหมด อีกสองคือ ภัพพบุคคล และอภัพพบุคคล. ท่านหมายเอาสัตว์เหล่าใด จึงกล่าวคํานี้ไว้ ว่าเหล่าสัตว์ผู้ประกอบด้วยการห้ามกรรม ห้ามวิบาก ห้ามกิเลส ไม่มีศรัทธา

 
  ข้อความที่ 45  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 9 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 454

ตัดไม่ขาด ไม่มีปัญญา ไม่ควรก้าวลงสู่ความชอบในกุศลธรรมแน่นอน สัตว์เหล่านี้นั้นจัดเป็นอภัพพะ. เหล่าสัตว์ผู้เป็นภัพพะเหล่านั้นเป็นไฉน คือเหล่าสัตว์ผู้ไม่ประกอบด้วยการห้ามกรรม ห้ามวิบาก ห้ามกิเลส ฯลฯ สัตว์เหล่านี้นั้น จัดเป็นภัพพะ. ในสัตว์สองประเภทนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงละอภัพพบุคคลทั้งหมด ทรงกําหนดถือเอาด้วยพระญาณ เฉพาะภัพพบุคคลเท่านั้น ทรงจําแนกออกเป็น ๖ ส่วน คือเหล่านี้มีราคจริต โทสจริต โมหจริต วิตกจริต ศรัทธาจริต และพุทธิจริต. ครั้นจําแนกอย่างนี้แล้ว ก็ทรงพระดําริจักทรงแสดงธรรมโปรด.

บทว่า ปจฺจภาสิํ แปลว่า ตรัสเฉพาะ. บทว่า อปารุตา แปลว่าเปิด. บทว่า อมตสฺส ทฺวารา ได้แก่ อริยมรรค. จริงอยู่ อริยมรรคนั้นเป็นประตูแห่งพระนิพพาน กล่าวคืออมตะ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงว่า อริยมรรคนั้นเราเปิดตั้งไว้แล้ว. บทว่า ปมุฺจนตุ สทฺธํ ได้แก่ ขอสรรพสัตว์ จงปล่อย จงหลั่งศรัทธาของตน. ในสองบทหลังมีความดังนี้ว่า แม้เราเข้าใจว่าจะลําบากทางกายและวาจา จึงไม่กล่าวธรรมสูงสุดอันประณีตนี้ ที่คล่องแคล่ว แม้ที่เป็นไปด้วยดีของตน แต่มาบัดนี้ ขอชนทั้งปวง จงน้อมนําภาชนะคือศรัทธาเข้ามา เราจะทําความดําริของสัตว์เหล่านั้นให้เต็ม. บทว่า ตสฺส มยฺหํ ภิกฺขเว เอตทโหสิ ความว่า เราได้มีความดําริอย่างนี้ว่า เราจะพึงแสดงธรรมแก่ใครก่อนหนอ ความวิตกอันเกี่ยวด้วยการแสดงธรรมนี้เกิดขึ้นแล้ว. ถามว่าก็ความวิตกนี้เกิดขึ้นเมื่อไร. ตอบว่า เมื่อเป็นพระพุทธเจ้าสัปดาห์ที่ ๘. ในข้อนั้นจะกล่าวลําดับความดังนี้

ดังได้สดับมา ในวันมหาภิเนษกรมณ์ พระโพธิสัตว์ทอดพระเนตรเห็นเรือนสนมกํานัลเปิดก็สลดพระทัย จึงตรัสเรียกนายฉันนะมาสั่งว่า นําม้ากัณฐกะมาซิ มีนายฉันนะเป็นสหาย เสด็จขึ้นทรงหลังพญาม้า ออกจากพระนคร

 
  ข้อความที่ 46  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 9 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 455

ทรงแสดงเจติยสถานที่ให้ม้ากัณฐกะกลับ ทรงละราชสมบัติ ทรงผนวชใกล้ฝังแม่น้ำอโนมานที เสด็จจาริกไปตามลําดับ เที่ยวแสวงหาอาหารในกรุงราชคฤห์ ประทับนั่ง ณ ปัณฑวบรรพต ถูกพระเจ้าพิมพิสารตรัสถามถึงนามและโคตร ตรัสขอให้ทรงรับราชสมบัติ แต่ทูลว่าอย่าเลยมหาบพิตร อาตมภาพไม่ต้องการราชสมบัติ อาตมภาพละราชสมบัติ มาประกอบความเพียร เพื่อต้องการเกื้อกูลแก่โลก ออกบวชด้วยหมายจักเป็นพระพุทธเจ้าตัดความหมุนเวียนในโลก ทรงรับปฏิญาณของพระเจ้าพิมพิสารที่ว่า ถ้าอย่างนั้น พระองค์เป็นพระพุทธเจ้าแล้ว โปรดเสด็จมาแคว้นหม่อมฉันก่อนดังนี้ แล้วเสด็จเข้าไปหาอาฬารดาบสกาลามโคตร และอุททกดาบสรามบุตร เมื่อไม่พบสาระแห่งธรรมเทศนาของดาบสทั้ง ๒ นั้น จึงหลีกออกไปบําเพ็ญทุกกรกิริยาถึง ๖ ปีที่อุรุเวลา เมื่อไม่อาจแทงตลอดอมตธรรม ทําพระกายให้เอิบอิ่มด้วยการเสวยอาหารหยาบๆ. ครั้งนั้น ธิดากุฏมพี ชื่อว่า สุชาดาในอุรุเวลคาม ตั้งความปรารถนา ณ ต้นนิโครธต้นหนึ่งว่า ถ้าเราแต่งงานกับคนมีชาติเสมอกัน ได้บุตรชายท้องแรกจักกระทําการบวงสรวง. นางสําเร็จความปรารถนานั้นแล้ว. วันวิสาขปุรณมีนางตระเตรียมข้าวมธุปายาสอย่างดีเวลาใกล้รุ่งราตรี ด้วยหมายจะทําการบวงสรวงแต่เช้าตรู่. เมื่อกําลังหุงข้าวมธุปายาสอยู่นั้น ฟองข้าวมธุปายาสฟองใหญ่ๆ ผุดขึ้นวนเวียนไปทางขวา. แม้ส่วนที่ถูกสัมผัสอย่างหนึ่ง ก็ไม่กระเด็นออกไปข้างนอก. ท้าวมหาพรหมกั้นฉัตร. ท้าวโลกบาลทั้ง ๔ ถือพระขรรค์อารักขา. ท้าวสักกะ รวบรวมไม้แห้ง (ฟืน) มาติดไฟ. เทวดาใน ๔ ทวีป ก็รวบรวมโอชะมาใส่ลงในมธุปายาสนั้น. พระโพธิสัตว์ คอยเวลาภิกษาจารเสด็จไปแต่เช้าตรู่ ประทับนั่ง ณ โคนไม้. แม่นมมาเพื่อแผ้วถางโคนไม้ บอกแก่นางสุชาดาว่า เทวดามานั่งอยู่โคนไม้แล้ว. นางสุชาดาประดับเครื่องประดับทั้งปวงแล้ว บรรจงจัดข้าวมธุปายาสใส่ลงในถาดทองมีค่า ๑๐๐,๐๐๐ ปิดด้วยถาดทอง

 
  ข้อความที่ 47  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 9 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 456

อีกถาดหนึ่ง แล้วยกขึ้นเดินไป เห็นพระมหาบุรุษ จึงวางไว้ในมือพร้อมกับถาดนั่นแหละ ไหว้แล้วกล่าวว่า มโนรถของดิฉัน สําเร็จแล้วฉันใด ขอมโนรถแม้ของท่านก็จงสําเร็จ ฉันนั้นเทอญ แล้วก็กลับไป.

พระโพธิสัตว์เสด็จไปยังริมฝังแม่น้ำเนรัญชรา แล้ววางถาดทองไว้ริมฝังลงสรงน้ำเสด็จขึ้นแล้ว ทรงปั้นข้าวมธุปายาส จํานวน ๔๙ ก้อน เสวยข้าวมธุปายาสแล้ว ทรงเสี่ยงทายว่า ถ้าเราจะเป็นพระพุทธเจ้าวันนี้ ขอถาดจงลอยทวนกระแสน้ำ ดังนี้แล้ว ทรงเหวี่ยงถาดไป. ถาดก็ลอยทวนกระแสน้ำแล้วหยุดหน่อยหนึ่ง เข้าไปสู่ภพของท้าวกาฬนาคราช วางทับถาดของพระพุทธเจ้า ๓ พระองค์. พระมหาสัตว์ประทับพักกลางวัน ณ แนวป่า ตกเวลาเย็น ทรงรับหญ้า ๘ กําที่โสตถิยพราหมณ์ถวายแล้วเสด็จขึ้นสู่โพธิมัณฑสถาน ประทับยืน ณ ส่วนทิศใต้. ประเทศนั้น ได้ไหว เหมือนหยาดน้ำในใบปทุม. พระมหาสัตว์ทรงดําริว่า ตรงนี้ไม่อาจทรงคุณของเราได้ ก็เสด็จไปส่วนทิศตะวันตก. แม้ที่นั้นก็ไหวเหมือนอย่างนั้น. ได้เสด็จไปส่วนทิศเหนือ. แม้ที่นั้นก็ไหวเหมือนกัน จึงเสด็จไปส่วนทิศตะวันออก ณ ที่นั้นฐานที่ทําเป็นบัลลังก์ไม่ไหวเลยเหมือนเสาหลักที่ปักไว้ดีแล้ว. พระมหาสัตว์ทรงดําริว่า ที่นี้เป็นสถานที่รื้อบัญชรกิเลส ของพระพุทธเจ้าทุกพระองค์ ทรงจับยอดหญ้าเหล่านั้นเขย่า ยอดหญ้าเหล่านั้น ก็ได้เป็นเหมือนช่างจิตรกรรม วาดด้วยปลายนุ่น.พระโพธิสัตว์ทรงเข้าประชิดต้นโพธิ ทรงอฐิษฐานความเพียรมีองค์ ๔ ว่าจักไม่ทรงทําลายบัลลังก์นี้ แล้วประทับนั่งขัดสมาธิ.

ทันใดนั้นเอง มารเนรมิตแขน ๑,๐๐๐ ขึ้น ช้างชื่อคิริเมขละสูง ๑๕๐โยชน์ พาพลมาร ๙ โยชน์ มองดูครึ่งดวงตา เข้าประชิด ประหนึ่งภูเขา.พระมหาสัตว์ทรงเหยียดพระหัตถ์ตรัสว่า เรากําลังบําเพ็ญบารมี ๑๐ ไม่มีสมณะพราหมณ์เทวดามารหรือพรหมเป็นพยาน แต่ในอัตตภาพที่เป็นพระเวสสันดร

 
  ข้อความที่ 48  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 9 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 457

มหาปฐพีได้เป็นพยานของเรา ใน ๗ ฐานะ แม้บัดนี้ มหาปฐพีที่ไม่มีใจ และอุปมาด้วยท่อนไม้ ก็เป็นสักขีพยาน. ทันทีนั้นเอง มหาปฐพีก็เปล่งเสียงร้อง ร้อยครั้งพันครั้ง เหมือนกังสดาลที่ถูกดีด้วยท่อนเหล็ก แล้วกลิ้งม้วนเอาพลมารไปกองไว้ที่ขอบปากจักรวาล. เมื่อดวงอาทิตย์ดํารงอยู่นั่นแล พระมหาสัตว์ ก็ทรงกําจัดพลมารได้ ทรงชําระปุพเพนิวาสญาณในปฐมยาม ทิพย์จักษุญาณในมัชฌิมยาม ทรงหยั่งญาณลงในปฏิจจสมุปบาทในปัจฉิมยาม ทรงพิจารณาวัฏฏะและวิวัฏฏะ เวลารุ่งอรุณ ก็เป็นพระพุทธเจ้า ทรงดําริว่า เราทําความพยายาม เพื่อบัลลังก์นี้มาตลอดหลายแสนโกฏิกัลป ดังนี้แล้วประทับนั่งขัดสมาธิท่าเดียวตลอดสัปดาห์.

ต่อมาเทวดาบางเหล่าเกิดสงสัยว่า ยังมีธรรมที่ทําความเป็นพระพุทธเจ้าอยู่อีกหรือ. ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงออกจากสมาบัติในวันที่ ๘ ทรงทราบความสงสัยของเหล่าเทวดา จึงเสด็จเหาะแสดงยมกปาฏิหารย์เพื่อกําจัดความสงสัย ครั้นทรงกําจัดความสงสัย ของเทวดาเหล่านั้นแล้ว ประทับยืนที่ส่วนทิศเหนือเยื้องทิศตะวันออกจากบัลลังก์หน่อยหนึ่ง ทรงสํารวจสถานที่บรรลุผลแห่งพระบารมีที่ทรงบําเพ็ญมาตลอด ๔ อสงไขยกําไรแสนกัปป พระบัลลังก์และโพธิพฤกษ์ ด้วยดวงพระเนตรที่ไม่กระพริบ ล่วงไปสัปดาห์หนึ่ง. สถานที่นั้น ชื่อว่า อนิมมิสเจดีย์. ต่อมาเสด็จจงกรม ณ รัตนจงกรมที่ต่อจากทิศตะวันออกและทิศตะวันตก ในระหว่างพระบัลลังก์และสถานที่ประทับยืนล่วงไปสัปดาห์หนึ่ง. สถานที่นั้น ชื่อว่า รัตนจงกรมเจดีย์. ต่อนั้น เหล่าเทวดาในส่วนทิศตะวันตก เนรมิตเรือนทําด้วยแก้วไว้. ประทับนั่งขัดสมาธิ ณ เรือนนั้น ทรงเฟ้นอภิธรรมปิฎก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สมันตปัฏฐานอนันตนัย ในอภิธรรมนั้น ล่วงไปสัปดาห์หนึ่ง. สถานที่นั้น ชื่อว่า รัตนฆรเจดีย์. ณ ที่ใกล้โพธิมัณฑสถานนั่นเอง ล่วงไป ๔ สัปดาห์ ด้วยอาการอย่างนี้ ในสัปดาห์

 
  ข้อความที่ 49  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 9 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 458

ที่ ๕ เสด็จออกจากโคนโพธิพฤกษ์ เสด็จเข้าไปยัง อชปาลนิโครธ. ทรงเฟ้นธรรมแม้ในที่นั้น ประทับนั่งเสวยวิมุตติสุขอยู่. เมื่อทรงเฟ้นธรรม ก็ทรงพิจารณาเพียงนัยแห่งอภิธรรมในธรรมนั้นคือคัมภีร์แรก ชื่อธัมมสังคณีปกรณ์ต่อนั้น ก็วิภังคปกรณ์ ธาตุกถาปกรณ์ บุคคลบัญญัติปกรณ์ กถาวัตถุปกรณ์ ยมกปกรณ์ ต่อนั้น มหาปกรณ์ ชื่อปัฏฐาน.

เมื่อจิตของพระองค์หยั่งลงในปัฏฐานอันละเอียดสุขุม ในพระอภิธรรมนั้น ปีติก็เกิดขึ้น. เมื่อปีติเกิดขึ้นพระโลหิตก็ใส เมื่อพระโลหิตใส พระฉวีก็สดใส เมื่อพระฉวีสดใส พระรัศมีขนาดเท่าเรือนยอดเป็นต้นก็ผุดขึ้นจากพระกายส่วนหน้า แล่นไปตลอดอนันตจักรวาล ทางทิศตะวันออก เหมือนโขลงพญาฉัททันต์แล่นไปในอากาศ. พระรัศมีผุดขึ้นจากพระกายส่วนพระปฤษฏางค์ ก็แล่นไปทางทิศตะวันตก ผุดขึ้นจากปลายพระอังสาเบื้องขวา ก็แล่นไปทางทิศใต้ ผุดขึ้นจากปลายพระอังสาเบื้องซ้าย แล่นไปตลอดอนันตจักรวาลทางทิศเหนือ. พระรัศมีมีวรรณะดังหน่อแก้วประพาฬก็ออกจากพื้นพระบาททะลุมหาปฐพี แหวกน้ำเป็นสองส่วน ทําลายกองลม แล่นไปตลอดอัชฎากาส เกลียวพระรัศมีสีเขียว เหมือนพวงแก้วมณีหมุนเป็นเกลียวผุดขึ้นจากพระเศียร ทะลุเทวโลก ๖ ชั้น เลยพรหมโลก ๙ ชั้น แล่นไปตลอดอัชฎากาส วันนั้น เหล่าสัตว์ไม่มีประมาณ ในจักรวาลที่หาประมาณมิได้ ก็พากันมีวรรณะดังทองไปหมด. ก็แลวันนั้น พระรัศมีเหล่านั้นที่สร้างออกจากพระสรีระของพระผู้มีพระภาคเจ้า ก็ยังดําเนินไปอยู่ตลอดอนันตโลกธาตุแม้กระทั่งทุกวันนี้.

พระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นประทับนั่ง ณ อชปาลนิโครธ ล่วงไปสัปดาห์หนึ่ง ด้วยอาการอย่างนี้แล้ว ต่อแต่นั้น ก็ประทับนั่ง ณ มุจจลินท์อีกสัปดาห์หนึ่ง. พอพระผู้มีพระภาคเจ้านั้นประทับนั่งเท่านั้น มหาเมฆซึ่ง

 
  ข้อความที่ 50  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 9 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 459

มิใช่ฤดูกาล ก็เกิดตก ทําให้ห้องสกุลจักรวาลเต็มเปียมไป. เล่าว่า มหาเมฆเช่นนั้นตกในกาลทั้งสองเท่านั้น คือเมื่อพระเจ้าจักรพรรดิ หรือพระพุทธเจ้าอุบัติ มหาเมฆนั้นเกิดในพุทธกาลนี้. ก็เมื่อมหาเมฆนั้นเกิดขึ้นแล้ว พญานาค ชื่อมุจจลินท์ ก็ดําริว่า เมฆนี้เกิดขึ้นเมื่อพระศาสดาเสด็จเข้ามายังภพเรา พระองค์ควรจะได้อาคารบังฝน. พญานาคนั้นยังดําริว่า ถึงจะสามารถเนรมิตปราสาทเป็นรัตนะ ๗ ประการ เมื่อทําอย่างนั้นแล้ว ก็จักไม่มีผลใหญ่ จําเราจักทําความขวนขวาย ด้วยการถวายแด่พระทศพล แล้วจึงขยายอัตภาพให้ใหญ่เอาขนดล้อมรอบพระศาสดาไว้ ๗ ชั้น กั้นพังพานไว้ข้างบน. โอกาสภายในขนดเบื้องล่างมีขนาดเท่าโลหะปราสาท. พญานาคมีอัธยาศรัย น้อมไปว่า พระศาสดาจักประทับอยู่ตามอิริยาบถที่ทรงต้องการ. เพราะฉะนั้นจึงล้อมโอกาสที่ใหญ่ไว้อย่างนี้. ตกแต่งรัตนบัลลังก์ไว้ตรงกลาง มีเพดานผ้ามีพวงของหอมพวงดอกไม้พรั่งพร้อม วิจิตรด้วยดาวทอง อยู่เบื้องบน. ประทีปน้ำมันหอมสว่างทั้ง ๔ มุม ตั้งกล่องจันทน์เปิดไว้ ๔ ทิศ. พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับ ณ มุจจลินท์นั้น ล่วงไปสัปดาห์หนึ่งด้วยอาการอย่างนั้น ต่อแต่นั้น ประทับนั่ง ณ ราชายตนพฤกษ์อีกสัปดาห์หนึ่ง. สัปดาห์ที่ ๘ ต่อจากราชายตนพฤกษ์ ทรงเคี้ยวไม้สีฟันและสมอยาที่ท้าวสักกะจอมเทพนํามาถวาย ทรงบ้วนพระโอฐแล้ว เมื่อท้าวจตุโลกบาลน้อมบาตรศิลามีค่าพิเศษถวาย ก็เสวยบิณฑบาตของตปุสสะและภัลลิกะสองพาณิชแล้วเสด็จกลับมาประทับนั่ง ณ อชปาลนิโครธอีก ทรงเกิดปริวิตกนี้ที่พระพุทธเจ้าทุกพระองค์ก็ทรงเคยปริวิตกกันมาแล้ว.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ปณฺฑิโต ได้แก่ ผู้ประกอบด้วยความเป็นบัณฑิต. บทว่า พยตฺโต ได้แก่ผู้ประกอบด้วยความฉลาด. บทว่า เมธาวี ได้แก่ ผู้ประกอบด้วยปัญญาขั้นมูลฐาน. บทว่า อปฺปรชกฺชชาติโก คือสัตว์บริสุทธิ์หมดกิเลส เหตุข่มไว้ได้ด้วยสมาบัติ. บทว่า อาชานิสฺสติ

 
  ข้อความที่ 51  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 9 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 460

คือ กําหนดรู้ แทงตลอด. บทว่า าณฺจ ปน เม ได้แก่พระสัพพัญุตญาณเกิดขึ้นแม้แก่เรา. นัยว่า พระผู้มีพระภาคเจ้า ไม่ตกลงพระทัยตามถ้อยคําที่เทวดาทูลเท่านั้น ทรงตรวจดูด้วยพระองค์เอง ด้วยพระสัพพัญุตญาณก็ทรงทราบว่า อาฬารดาบสกาลามโคตร ทํากาละ (มรณภาพ) ได้ ๗ วัน นับแต่วันนี้ บังเกิดในอากิญจัญญายตนภพแล้ว. พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงหมายถึงข้อนั้น จึงตรัสว่า าณฺจ ปน เม ทสฺสนํ อุทปาทิ ดังนี้. บทว่า มหาชานิโย คือ ชื่อว่ามหาชานิยะ เพราะมีความเสื่อมใหญ่ เหตุเป็นผู้เสื่อมจากมรรคผล ที่พึงบรรลุระหว่าง ๗ วัน. อาฬารดาบส กาสามโคตรนั้น ก็ไม่มีโสตประสาทที่จะฟังธรรมแม้ที่พระองค์เสด็จไปแสดงโปรดเพราะท่านบังเกิดในอขณะ (อสมัย เวลาที่ยังไม่ควรจะตรัสรู้) แม้บทที่จะชักมาเป็นฐานแห่งพระธรรมเทศนานี้ก็ไม่มี ด้วยเหตุนี้ จึงทรงแสดงว่า มหาชานิโย ชาโตเกิดเสื่อมใหญ่ ดังนี้. บทว่า อภิโทสกาลกโต คือกระทํากาละ เสียแล้วเมื่อเที่ยงคืน. บทว่า าณฺจ ปน เม ได้แก่พระสัพพัญุตญาณ ก็เกิดขึ้นแล้วแม้แก่เรา. นัยว่า พระผู้มีพระภาคเจ้า ไม่ทรงตกลงพระทัยตามคําของเทวดา ทรงตรวจดูด้วยพระสัพพัญุตญาณ ก็ทรงเห็นว่า อุททกดาบสรามบุตร กระทํากาละเสียเมื่อเที่ยงคืนวานนี้ บังเกิดในเนวสัญญานาสัญญายตนภพ. เพราะฉะนั้น จึงตรัสอย่างนี้. คําที่เหลือก็เหมือนนัยแรกนั่นแหละ. บทว่า พหุการา แปลว่า มีอุปการะมาก. บทว่า ปธานปหิตตฺตํ อุปฏฺหิํสุ ความว่า เหล่าภิกษุปัญจวัคคีย์บํารุงเราผู้ตั้งความมุ่งมาดเพื่อทําความเพียร ด้วยการปัดกวาดบริเวณที่อยู่ ด้วยถือบาตรจีวรติดตามไป และด้วยการให้น้ำบ้วนปากไม้สีฟันเป็นต้น.

ก็ใครที่ชื่อปัญจวัคคีย์นั้น. คือพราหมณ์ ๘ คน ผู้ทํานายพระสุบินและทํานายพระลักษณะในเวลาที่พระโพธิสัตว์เกิด ตามคาถาประพันธ์ว่า

 
  ข้อความที่ 52  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 9 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 461

ราโม ธโช ลกฺขโณ โชติมนฺตี ยฺโ สุโภโช สุยาโม สุทตฺโต เอเต ตทา อฏฺ อเหสุ พฺราหฺมณา ฉฬงฺควา มนฺต วิยากริํสุ

ครั้งนั้น ได้มีพราหมณ์ ๘ คนเหล่านี้ คือ รามะ ธชะ ลักษณะ โชติมันติ ยัญญะ สุโภชะ สุยามะ สุทัตตะ ใช้ฉฬังควมนต์พยากรณ์ (พระลักษณะ).

บรรดาพราหมณ์ ๘ คนนั้น ๓ คน พยากรณ์เป็น ๒ คติว่า ผู้ประกอบด้วยลักษณะเหล่านี้ อยู่ครองเรือน ก็จะเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ออกบวชก็จะเป็นพระพุทธเจ้า. พราหมณ์ ๕ คน พยากรณ์คติเดียวว่า ผู้ประกอบด้วยลักษณะเหล่านี้ จะไม่ครองเรือน จะเป็นพระพุทธเจ้าอย่างเดียว. บรรดาพราหมณ์เหล่านั้น ๓ คนแรก ถือตามบทมนต์. ส่วน ๕ คนนี้ ก้าวล่วงบทมนต์. พวกเขาจึงสละของรางวัลเต็มภาชนะที่ตนได้มาแก่เหล่าญาติ หมดความสงสัยว่าพระมหาบุรุษนี้ จักไม่อยู่ครองเรือน จักเป็นพระพุทธเจ้าโดยส่วนเดียว จึงบวชเป็นสมณะอุทิศพระโพธิสัตว์. อาจารย์บางพวกกล่าวว่า พวกที่บวชเป็นบุตรของพราหมณ์เหล่านี้ดังนี้ก็มี. คํานั้นอรรถกถาค้าน. เล่ากันว่า พราหมณ์ ๕ คนนั้น เวลายังหนุ่มรู้มนต์มาก เพราะฉะนั้น พราหมณ์เหล่านั้นจึงอยู่ในฐานะอาจารย์. ภายหลัง พราหมณ์เหล่านั้น คิดกันว่า พวกเราไม่อาจตัดคนที่เป็นบุตรภรรยาบวชได้ จึงบวชเสียในเวลาที่ยังเป็นหนุ่มทีเดียว ใช้สอยเสนาสนะที่น่ารื่นรมย์เที่ยวกันไป. แต่ต่อๆ มา ถามกันว่าผู้เจริญ พระมหาบุรุษออกบวชแล้วหรือ. ผู้คนทั้งหลายกล่าวว่า พวกท่านจักพบพระมหาบุรุษได้ที่ไหน ท่านเสวยสมบัติอย่างกะเทวดา ท่ามกลางนางรํา ๓ ประเภท บนปราสาท ๓ ฤดู.

 
  ข้อความที่ 53  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 9 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 462

พราหมณ์ทั้ง ๕ คน คิดว่า ญาณของพระมหาบุรุษ ยังไม่แก่กล้า แล้วพากันขวนขวายน้อยอยู่.

ถามว่า ก็เพราะเหตุไร พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า ปัญจวัคคีย์มีอุปการะแก่เรามาก พระองค์จะทรงแสดงธรรมแก่เหล่าคนที่มีอุปการะเท่านั้น ไม่ทรงแสดงธรรมแก่พวกคนที่ไม่มีอุปการะหรือ. ตอบว่า มิใช่ไม่ทรงแสดงธรรม ความจริง พระองค์ทรงตรวจดูอาฬารดาบสกาลามโคตร และอุททกดาบสรามบุตร โดยการสั่งสมบารมี. แต่เว้นท่านพระอัญญาโกณทัญญะเสีย ก็ไม่มีผู้สามารถกระทําให้แจ้งธรรมได้ก่อน ในพุทธเขตนี้. เพราะเหตุไร.เพราะท่านพระอัญญาโกณทัญญะมีอุปนิสสัย ๓ อย่าง. เล่ากันว่า ในชาติก่อนมีพี่น้องสองคน ในเวลาทําบุญ. ผู้พี่คิดจะถวายทานข้าวอย่างเลิศ ๙ ครั้ง ในฤดูข้าวฤดูหนึ่ง. เขาก็ถวายทานเมล็ดข้าวอย่างเลิศในเวลาหว่าน เวลาข้าวตั้งท้องก็ปรึกษากับผู้น้องว่า น้องเอย เวลาข้าวตั้งท้องพี่จะผ่าท้องข้าวถวายทาน. ผู้น้องบอกว่า พี่ต้องการจะทําข้าวอ่อนให้เสียหรือ. ผู้พี่รู้ว่า น้องไม่ยินยอม ก็แบ่งนากัน ผ่าท้องข้าวจากนาส่วนของตน คั้นน้ำนมปรุงกับเนยใสและน้ำอ้อยถวายทาน. เวลาเป็นข้าวเม่า ก็ให้ทําข้าวเม่าอย่างเลิศถวายทาน เวลาเก็บเกี่ยว ก็ให้ทําข้าวที่เก็บเกี่ยวอย่างเลิศถวายทาน เวลาทําคะเน็ด ก็ให้ทําข้าวคะเน็ดอย่างเลิศถวายทาน เวลาทํากําเป็นต้น ก็ให้ถวายทานอันเลิศเวลาทํากํา ทานอันเลิศเวลาขนข้าวเข้าลาน ทานอันเลิศเวลานวด ทานอันเลิศ เวลาข้าวเข้ายุ้ง ถวายทานอันเลิศ ๙ ครั้ง ในฤดูข้าวฤดูหนึ่ง ดังกล่าวมานี้. ส่วนผู้น้องของเขาหมดฤดูข้าวแล้ว จึงถวายทาน. ทั้งสองคนนั้น ผู้พี่ก็คือท่านพระอัญญาโกณฑัญญะ ผู้น้องก็คือ สุภัททปริพาชก. เว้นพระเถระเสียก็ไม่มีตนอื่นๆ ที่จะสามารถทําให้แจ้งธรรมได้ก่อน เพราะท่านถวายทานอันเลิศ ๙ ครั้ง ในฤดูข้าว

 
  ข้อความที่ 54  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 9 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 463

ฤดูเดียว. ก็คําว่า พหุการา โข เม ปฺจวคฺคิยา นี้ ตรัสโดยเพียงทรงระลึกถึงอุปการะเท่านั้น.

บทว่า อิสิปตเน มิคทาเย ความว่า นัยว่า ณ ประเทศที่นั้น เมื่อยังไม่เกิดพุทธุปบาทกาล พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าทั้งหลาย ยับยั้งอยู่ด้วยนิโรธสมาบัติตลอดสัปดาห์ ณ คันธมาทนบรรพต ออกจากนิโรธสมาบัติแล้ว เคี้ยวไม้ชําระฟันชื่อนาคลดา บ้วนปากที่สระอโนดาดถือบาตรจีวรเหาะไปแล้ว ลงห่มจีวรในที่นั้นแล้วเที่ยวไปบิณบาตในพระนคร ฉันเสร็จแล้วถึงเวลาก็เหาะจากที่นั้นไป. ดังนั้นฤๅษีทั้งหลายลงและเข้าไปในที่นั้น เหตุนั้น ที่นั้นจึงนับว่า อิสิปตน ส่วนที่เรียกว่า มิคทายะ เพราะให้อภัยแก่เนื้อทั้งหลาย ด้วยเหตุนั้นท่านจึงเรียกว่า อิสิปตเน มิคทาเย. บทว่า อนฺตรา จ คยํ อนุตรา จ โพธิํ ได้แก่ ในสถานระหว่าง ๓ คาวุต ในช่วงของตําบลคยา และโพธิพฤกษ์. ตั้งแต่โพธิมัณฑสถานถึงตําบลคยา ๓ คาวุต กรุงพาราณสี ๑๘ โยชน์. อุปกาชีวก ได้เห็นพระผู้มีพระภาคเจ้าระหว่างโพธิสถานและตําบลคยา. แต่เพราะประกอบด้วยอันตราศัพท์ ท่านจึงทําเป็นทุติยาวิภัติ. แต่ในที่นี้นักอักษรศาสตร์ประกอบอันตราศัพท์อย่างเดียวเท่านั้นว่า อนฺตรา คามฺจ นทิฺจ ยาติ ไประหว่างบ้านและแม่น้ำ อันตราศัพท์นั้นก็ประกอบแม้ด้วยบทที่ ๒ เมื่อไม่ประกอบ ก็ไม่ถึงทุติยาวิภัติ แต่ในที่นี้ ท่านประกอบแล้วจึงได้กล่าวอย่างนี้.

บทว่า อทฺธานมคฺคปฏิปนฺนํ ความว่า เดินทางที่นับว่าไกล อธิบายว่าเดินทางยาว. จริงอยู่ สมัยที่เดินทางไกลแม้กึ่งโยชน์ ก็ชื่อว่า ทางไกล เพราะพระบาลีในวิภังค์เป็นต้นว่า พึงฉันเสียด้วยคิดจะเดินทางกึ่งโยชน์. ตั้งแต่โพธิมัณฑสถานถึงตําบลคยา ทาง ๓ คาวุต. บทว่า สพฺพาภิภู ได้แก่ ครอบงําทางที่เป็นไปในภูมิ ๓ ทั้งหมดตั้งอยู่. บทว่า สพฺพวิทู ความว่าได้รู้ ได้แก่ ตรัสรู้ทั่วถึงธรรมอันเป็นไปในภูมิ ๔ ทั้งหมด. บทว่า สพฺเพสุ ธมฺเมสุ

 
  ข้อความที่ 55  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 9 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 464

อนูปลิตฺโต ได้แก่ ไม่ติดอยู่เพราะสิ้นกิเลสในธรรมอันไปในภูมิ ๓ ทั้งหมด. บทว่า สพฺพฺชโห ได้แก่ ละธรรมที่เป็นไปในภูมิ ๓ ทั้งหมดตั้งอยู่. บทว่า ตณฺหกฺขเย วิมุตฺโต ได้แก่ พ้นจากอารมณ์ในพระนิพพาน เป็นที่สิ้นตัณหา. บทว่า สยํ อภิฺาย ได้แก่ รู้ธรรมที่เป็นไปในภูมิ ๔ ทั้งหมดด้วยตนเอง. บทว่า กมุทฺทิเสยฺยํ ความว่า เราจะพึงยกใครอื่นว่า ผู้นี้เป็นอาจารย์ของเรา. บทว่า น เม อาจริโย อตฺถิ ความว่า เราไม่มีอาจารย์ในโลกุตตรธรรม. บทว่า นตฺถิ เม ปฏิปุคฺคโล ความว่า ไม่มีบุคคลที่จะเทียบเรา. บทว่า สมฺมาสมฺพุทฺโธ ได้แก่ ตรัสรู้เองซึ่งสัจจะ ๔ โดยชอบ โดยเหตุ โดยนัยทีเดียว. บทว่า สีติภูโต ชื่อว่า เป็นผู้เย็นเพราะดับไฟคือกิเลสหมดสิ้น ชื่อว่า ดับเพราะกิเกสทั้งหลายดับไป. บทว่า กาสีนํ ปุรํ ได้แก่ นครในแคว้นกาสี. บทว่า อาหฺิํ อมตทุนฺทุภิํ ความว่า เดินทางหมายจะตีอมตเภรี เพื่อให้สัตว์ได้ดวงตาเห็นธรรม. บทว่า อรหสิ อนนฺตชิโน ได้แก่ ท่านควรจะเป็นอนันตชินหรือ. บทว่า หุเวยฺยาวุโส ความว่า อุปกาชีวกกล่าวว่า ผู้มีอายุ จะพึงมีชื่ออย่างนั้นหรือ. บทว่า ปกฺกามิ ได้แก่ได้ไปยังชนบทชื่อว่าวังกหาร.

เรื่องอุปกาชีวก

ในชนบทนั้น อุปกาชีวกอาศัยหมู่บ้านพรานล่าเนื้ออยู่. หัวหน้าพรานบํารุงเขาไว้. ในชนบทนั้น มีชาวประมงดุร้าย ให้เขาอยู่ด้วยภาชนะใบเดียว. พรานล่าเนื้อ จะไปล่าเนื้อในที่ไกล จึงสั่งธิดาชื่อ นาวา ว่าอย่าประมาทในพระอรหันต์ของพวกเรา แล้วไปกับเหล่าบุตรผู้เป็นพี่ๆ. ก็ธิดาของพรานนั้นมีรูปโฉมน่าชม สมบูรณ์ด้วยส่วนสัด. วันรุ่งขึ้น อุปกะมาเรือนพบหญิงรุ่นนั้นเข้ามาเลี้ยงดูทําการปรนนิบัติทุกอย่าง เกิดรักอย่างแรง ไม่อาจแม้แต่จะกินถือ

 
  ข้อความที่ 56  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 9 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 465

ภาชนะอาหารไปที่อยู่ วางอาหารไว้ข้างหนึ่ง คิดว่า ถ้าเราได้แม่นาวา จึงจะมีชีวิต ถ้าไม่ได้ก็จะตายเสีย แล้วนอนอดอาหาร. วันที่ ๗ นายพรานกลับมา ถามเรื่องอุปกะกับธิดา. ธิดาบอกว่า เขามาวันเดียวเท่านั้น แล้วไม่เคยมาอีกจ้ะ. โดยชุดที่มาจากป่านั่นแหละ. นายพรานบอกธิดาว่า พ่อจักเข้าไปถามเขาเองแล้วไปทันที จับเท้าถามว่า ท่านเจ้าข้า ไม่สบายเป็นอะไรไป. อุปกะถอนใจกลิ้งเกลือกไป. นายพรานกล่าวว่า ท่านเจ้าข้า บอกสิ ข้าอาจทําได้ ก็จักทําทุกอย่าง. อุปกะจึงบอกว่า ถ้าเราได้แม่นาวา ก็จะมีชีวิตอยู่ ถ้าไม่ได้ก็จะตายในที่นี่แหละประเสริฐกว่า. นายพรานถามว่า ท่านเจ้าข้า ท่านรู้ศิลปะอะไรบ้างละ. อุปกะตอบว่าเราไม่รู้เลย. นายพรานกล่าวว่า เมื่อไม่รู้ศิลปะอะไรๆ จะอยู่ครองเรือนได้หรือ. อุปกะนั้นจึงกล่าวว่า เราไม่รู้ศิลปะจริงๆ แต่เราจักเป็นคนแบกเนื้อของท่านมาขายได้นะ. นายพรานคิดว่า เขาชอบกิจการนี่ของเรา จึงให้ผ้านุ่งผืนหนึ่ง นําไปเรือนมอบธิดาให้. อาศัยการสมสู่ของคนทั้งสองนั้น ก็เกิดบุตรขึ้นมาคนหนึ่ง. ทั้งสองสามีภรรยาจึงตั้งชื่อบุตรว่า สุภัททะ. เวลาบุตรร้องนางจะพูดว่า เจ้าลูกคนแบกเนื้อ เจ้าลูกพรานเนื้อ อย่าร้องดังนี้เป็นต้น เย้ยหยันอุปกะ ด้วยเพลงกล่อมลูก. อุปกะกล่าวว่า แม่งาม เจ้าเข้าใจว่าข้าไม่มีที่พึ่งอยู่หรือ ข้ามีสหายคนหนึ่ง ชื่ออนันตชินะ ข้าจะไปยังสํานักเขา. นางนาวารู้ว่า สามีอึดอัดใจด้วยอาการอย่างนี้ จึงกล่าวบ่อยๆ. วันหนึ่ง อุปกะนั้นไม่บอกกล่าว ก็มุ่งหน้าไปยังมัชฌิมประเทศ.

ก็สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับ อยู่ ณ พระเชตวันมหาวิหาร กรุงสาวัตถี ทรงสั่งภิกษุทั้งหลายไว้ก่อนว่า ภิกษุทั้งหลาย ผู้ใด มาถามหาอนันตชินะ พวกท่านจงชี้แจงแก่เขา. แม้ชีวกก็ถามเรื่อยๆ ไปว่า อนันตชินะอยู่ไหนมาถึงกรุงสาวัตถีตามลําดับ ยืนอยู่กลางพระวิหาร ถามว่า อนันตชินะอยู่ไหน. ภิกษุทั้งหลายก็พาเขาไปยังสํานักพระผู้มีพระภาคเจ้า. อุปกะนั้นเห็นพระผู้มี

 
  ข้อความที่ 57  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 9 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 466

พระภาคเจ้า ทูลถามว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าจําข้าได้ไหม. ตรัสว่า เออ อุปกะ จําได้ซิ ก็ท่านอยู่ไหนละ. ทูลว่าวังกหารชนบท เจ้าข้า. ตรัสว่า อุปกะ ท่านแก่แล้วนะ บวชได้หรือ. ทูลว่า พอจะบวชได้เจ้าข้า. พระผู้มีพระภาคเจ้าให้บวชประทานกรรมฐานแก่เขา. อุปกะนั้นกระทํากิจในกรรมฐาน ตั้งอยู่ในอนาคามิผลกระทํากาละแล้ว บังเกิดในสุทธาวาสชั้นอวิหา แล้วบรรลุพระอรหัตในขณะที่เกิดนั่นเอง. จริงอยู่ ชน ๗ คน พอเกิดในสุทธาวาสชั้นอวิหา ก็บรรลุพระอรหัต. ในจํานวน ๗ คนนั้น อุปกะก็เป็นคนหนึ่ง. สมจริงดังคําที่ท่านกล่าวไว้ดังนี้ว่า

ภิกษุ ๗ รูปพ้นแล้ว สิ้นราคะโทสะแล้ว ข้ามกิเลสที่ซ่านไปในโลก เข้าถึงสุทธาวาสพรหมชั้นอวิหา คือ คน ๓ คนได้แก่ อุปกะ ปลคัณฑะ ปุกกุสาติ ๔ คน คือ ภัททิยะ ขัณฑเทวะ พาหุทัตติ และปิงคิยะ ทั้ง ๗ คนนั้น ละกายมนุษย์แล้ว เข้าถึงกายทิพย์.

บทว่า สณฺเปสุํ ได้แก่ กระทํากติกา. บทว่า พาหุลฺลิโก ได้แก่ ปฏิบัติเพื่อประโยชน์แก่ความมักมากในจีวรเป็นต้น. บทว่า ปธานวิพฺภนฺโต ได้แก่ พรากเสื่อมจากความเพียร. บทว่า อาวตฺโต พาหุลฺลาย ได้แก่เวียนมาเพื่อต้องการจีวรเป็นต้นมากๆ. บทว่า อปิจ โข อาสนํ เปตพฺพํ ความว่า ปัญจวัคคีย์กล่าวว่า พึงวางเพียงอาสนะไว้สําหรับ ท่านผู้เกิดในตระกูลสูง. บทว่า นาสกฺขิํสุ ความว่า ปัญจวัคคีย์ถูกอานุภาพอํานาจของพระพุทธเจ้าครอบงําไว้ จึงตั้งอยู่ในกติกาของตนไม่ได้. บทว่า นาเมน จ อาวุโส

 
  ข้อความที่ 58  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 9 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 467

วาเทน จ สมุทาจรนฺติ ความว่า เรียกว่า โคตมะ เรียกว่า อาวุโส อธิบายว่า กล่าวคําเห็นปานนี้ว่า อาวุโสโคดม เวลาที่ท่านบําเพ็ญเพียร ณ อุรุเวลา พวกเราช่วยกันถือบาตรจีวรเที่ยวไป ถวายน้ำบ้วนโอษฐ์และไม้ชําระฟัน กวาดบริเวณที่อยู่ ภายหลังใครทําวัตรปฏิบัติแก่ท่าน ครั้นพวกเราหนีไปแล้ว ท่านไม่คิดบ้างหรือ. บทว่า อิริยาย ได้แก่ ด้วยการดําเนินไปที่ทำได้ยาก. บทว่า ปฏิปทาย ได้แก่ ด้วยการปฏิบัติที่ทําได้ยาก. บทว่า ทุกฺกรการิกาย ได้แก่ ด้วยการกระทําที่ทําได้ยาก มีทําอาหารด้วยถั่วเขียว ถั่วพูฟายมือหนึ่ง หรือกึ่งฟายมือเป็นต้น. บทว่า อภิชานาถ เม โน ได้แก่ พวกท่านเคยรู้ถึงคําที่เรากล่าวนี้หรือ. บทว่า เอวรูปํ จ ภาสิตเมตํ ความว่า การเปล่งถ้อยคําเห็นปานนี้. อธิบายว่า ผู้มีอายุ เรามากลางคืนหรือกลางวันเพื่อสงเคราะห์อนุเคราะห์ท่าน อย่าวิตกไปเลยในการบําเพ็ญเพียร ณ อุรฺเวลา โอภาส หรือนิมิตปรากฏแก่เราอยู่ เพราะฉะนั้นจึงได้กล่าวคําบางคําเห็นปานนี้. พวกใครได้สติด้วยพระดํารัสบทเดียวเท่านั้น เกิดความเคารพเชื่อว่า เอาเถิด ท่านผู้นี้เป็นพระพุทธเจ้าแน่แล้ว แล้วกล่าวว่า โน เหตํ ภนฺเต คํานั้นไม่เคยได้ฟังพระเจ้าข้า. บทว่า อสกฺขิํ โข อหํภิกฺขเว ปฺจวคฺคิเย ภิกฺขุ สฺาเปตุํ ความว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราสามารถทําให้ภิกษุปัจวัคคีย์รู้ว่าเราเป็นพระพุทธเจ้าเป็นพระอรหันต์. ก็ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จมาในวันอุโบสถ ทรงทําให้ภิกษุปัญจวัคคีย์ได้รู้ความที่พระองค์เป็นพระพุทธเจ้า ตรัสธัมมจักกัปปวัตตนสูตร ทําพระโกณฑัญญะให้เป็นกายสักขี. เวลาจบพระสูตร พระเถระตั้งอยู่ในโสดาปัตติผลพร้อมด้วยพรหม ๑๘ โกฏิ. พระอาทิตย์ยังไม่ทันอัสดงคตเทศนาจบลงแล้ว. พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จเข้าจําพรรษาในป่าอิสิปตนมฤคทายวันนั่นเอง. คําว่า เทฺวปิสุทํ ภิกฺขเว ภิกฺขุ โอวทามิ เป็นต้น ตรัสเพื่อแสดงการไม่เสด็จเข้าบ้านแม้เพื่อบิณฑบาต ตั้งแต่วันปาฏิบทแรมค่ําหนึ่ง. เพื่อจะทรงชําระมลทินที่เกิด

 
  ข้อความที่ 59  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 9 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 468

ขึ้นในพระกรรมฐานของภิกษุทั้งหลายเหล่านั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงได้ประทับอยู่ภายในพระวิหารเท่านั้น. ภิกษุเหล่านั้นได้ไปยังสํานักของพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้วทูลถามถึงมลทินของพระกรรมฐานที่เกิดขึ้นๆ. ฝ่ายพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จไปยังที่ที่ภิกษุเหล่านั้นนั่ง ทรงบรรเทามลทิน. ลําดับนั้น บรรดาภิกษุปัญจวัคคีย์เหล่านั้น ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงนําภัตรออกไปอย่างนี้ โอวาทอยู่ พระวัปปเถระได้เป็นพระโสดาบันในวันปาฏิบท. แรม ๒ ค่ํา พระภัททิยะ แรม ๓ ค่ํา พระมหานามะ แรม ๔ ค่ํา พระอัสสชิ. ในวันแรม ๕ ค่ําของปักษ์ พระผู้มีพระภาคเจ้าให้พระปัญจวัคคีย์เหล่านั้นทั้งหมดประชุมรวมกัน ตรัสอนัตตลักขณสูตร. เวลาจบพระสูตร ภิกษุทั้งหมดตั้งอยู่ในพระอรหัตตผล. ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า อถโข ภิกฺขเว ปฺจวคฺคิยา ภิกฺขุ ฯเปฯ อนุตฺตรํ โยคกฺเขมํ นิพฺพานํ อชฺฌคมํ สุ ดังนี้. บทว่า นตฺถิทานิ ปุนพฺภโว ความว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสกถามรรคใดไว้ก่อน เมื่อทรงแสดงอนุสนธิเป็นอันเดียวกันดังนี้ว่า แม้พวกเธอก็ขึ้นสู่ทางของเราและของปัญจวัคคีย์ การแสวงหาของพวกเธอ ชื่อว่า อริยปริเยสนา ดังนี้จึงทรงนํากถามรรคเพียงเท่านั้น.

บัดนี้ ก็เพราะเหตุที่การแสวงหากามคุณ ๕ เป็นอนริยปริเยสนาของคฤหัสถ์ทั้งหลาย เป็นอนริยปริเยสนา แม้ของเหล่าบรรพชิตผู้ไม่พิจารณาบริโภคปัจจัย ๔ ด้วยโดยอํานาจกามคุณ ๕ ฉะนั้น เพื่อจะทรงแสดงข้อนั้น จึงตรัสว่า ปฺจิเม ภิกฺขเว กามคุณา เป็นต้น. ในกามคุณ ๕ เหล่านั้นกามคุณ ๔ มีรูปที่พึงรู้ด้วยจักษุเป็นต้น ย่อมได้ในปัจจัย ๔ มีบาตรและจีวรเป็นต้นที่ได้มาใหม่. ส่วนรสในกามคุณนั้น ก็คือรสในการบริโภค กามคุณแม้ทั้ง ๕ ย่อมได้ในบิณฑบาตและเภสัชที่พอใจ. กามคุณ ๔ ย่อมได้ในเสนาสนบริขารเหมือนในจีวร. ส่วนรสในเสนาสนบริขารแม้นั้น ก็คือรสในการ

 
  ข้อความที่ 60  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 9 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 469

บริโภคนั้นเอง. เพราะเหตุไร พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงทรงเริ่มว่า เย หิ เกจิ ภิกฺขเว ดังนี้. เพราะว่าพระผู้มีพระภาคเจ้าครั้นทรงแสดงกามคุณ ๕ อย่างนี้แล้ว บัดนี้ เพื่อต้องการจะปฏิเสธพวกที่กล่าวอย่างนี้ว่า ชื่อว่า อนริยปริเยสนาตั้งแต่บวช จะเป็นอริยปริเยสนาของบรรพชิตได้ที่ไหน จึงทรงเริ่มเทศนานี้เพื่อแสดงว่า การบริโภคด้วยการไม่พิจารณาในปัจจัย ๔ เป็นอนริยปริเยสนาแม้ของบรรพชิต. บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า คธิตา ได้แก่ กําหนัดด้วยความกําหนัด ด้วยอํานาจตัณหา. บทว่า มุจฺฉิตาได้แก่ สยบด้วยความสยบ ด้วยอำนาจตัณหา. บทว่า อชฺฌาปนฺนา ได้แก่ ถูกตัณหาครอบงําแล้ว. บทว่า อนาทีนวทสฺสาวิโน ได้แก่ ไม่เห็นโทษ. ปัจจเวกขณญาณ ท่านเรียกว่า นิสสรณะ ในคําว่า อนิสฺสรณปฺปฺา เว้นปัจจเวกขณญาณนั้น.

บัดนี้ เมื่อทรงแสดงอุปมาที่จะสาธกเนื้อความนั้น จึงตรัสว่า เสยฺยถาปิ ภิกฺขเว เป็นอาทิ. พึงทราบข้อเปรียบเทียบในคํานั้นดังนี้. ความว่า สมณพราหณ์เหมือนเนื้อในป่า ปัจจัย ๔ เหมือนบ่วงที่พรานดักไว้ในป่า เวลาที่สมณพราหมณ์เหล่านั้นไม่พิจารณาบริโภคปัจจัย ๔ เหมือนเวลาที่พรานนั้นดักบ่วงแล้วนอน เวลาที่สมณพราหมณ์ทั้งหลายถูกมารกระทําตามชอบใจ ตกไปสู่อํานาจมาร เหมือนเวลาที่เมื่อพรานมา เนื้อไปไม่ได้ตามชอบใจ. อนึ่ง การพิจารณาในปัจจัย ๔ แล้วบริโภค ของสมณพราหมณ์ พึงเห็นเหมือนเวลาที่เนื้อยังไม่ติดบ่วงนอนทับบ่วงเสีย การไม่ตกไปสู่อํานาจมารของสมณพราหมณ์ พึงทราบเหมือนเมื่อพรานมา เนื้อก็ไปได้ตามชอบใจ. บทว่า วิสฏฺโ ได้แก่ ปลอดความกลัว ปลอดความระแวง. บทที่เหลือในที่ทุกแห่งมีความง่ายทั้งนั้น.

จบ อรรถกถาปาสราสิสูตร ที่ ๖