พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๗. จูฬหัตถิปโทปมสูตร

 
บ้านธัมมะ
วันที่  27 ส.ค. 2564
หมายเลข  36031
อ่าน  1,067

[เล่มที่ 18] พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 470

๗. จูฬหัตถิปโทปมสูตร


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 18]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 9 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 470

๗. จูฬหัตถิปโทปมสูตร

[๓๒๙] ข้าพเจ้าได้ฟังมาแล้วอย่างนี้ :-

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี กรุงสาวัตถี. สมัยนั้น ชาณุโสณีพราหมณ์ ออกจากกรุงสาวัตถีด้วยรถที่เทียมด้วยลา มีเครื่องประดับขาวทุกอย่าง ในเวลาเที่ยงวัน ได้เห็นปิโลติกปริพาชกเดินมาแต่ไกล แล้วได้กล่าวกะปิโลติกปริพาชกดังนี้ว่า เออแน่ะ ท่านวัจฉายนะมาจากไหนแต่เที่ยงวันเทียว. ปิโลติกปริพาชกตอบว่า ท่านผู้เจริญ ข้าพเจ้ามาในที่นี้จากสํานักของพระสมณโคดมนั่นแล. ชาณุโสณีพราหมณ์ถามว่า ท่านผู้เจริญ บัณฑิตย่อมสําคัญความมีปัญญาและความฉลาดของพระสมณโคดมเป็นอย่างไร. ปิโลติกปริพาชกตอบว่า ท่านผู้เจริญ ก็ไฉนข้าพเจ้าจักรู้ความมีปัญญาและความฉลาดของพระสมณโคดมได้ แม้ผู้ที่จะพึงรู้ความมีปัญญาและความฉลาดของท่านพระสมณโคดมได้ ก็ต้องเป็นเช่นท่านพระสมณโคดมแน่แท้ทีเดียว. ชาณุโสณีพราหมณ์กล่าวว่า ท่านวัจฉายนะสรรเสริญท่านพระสมณโคดมด้วยการสรรเสริญอย่างยิ่ง. ปิโลติกปริพาชกกล่าวว่า ท่านผู้เจริญ ข้าพเจ้าจักสรรเสริญท่านพระสมณโคดมได้อย่างไรเล่าเพราะท่านพระสมณโคดมนั้น ใครๆ ก็สรรเสริญแล้วสรรเสริญเล่า ท่านเป็นผู้ประเสริฐกว่าเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย. ชาณุโสณีพราหมณ์ถามว่า ท่านวัจฉายนะเห็นอํานาจประโยชน์อะไรเล่า จึงเป็นผู้เลื่อมใสยิ่งในพระสมณโคดมถึงเพียงนี้.

รอยเท้า ๔ อย่าง

[๓๓๐] ปิโลติกปริพาชกตอบว่า ท่านผู้เจริญ ทําไมข้าพเจ้าจึงเป็นผู้เลื่อมใสยิ่งในท่านพระสมณโคดมถึงอย่างนี้ ท่านผู้เจริญ เปรียบเหมือนคน

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 9 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 471

ต่อช้างผู้ฉลาดเข้าไปในป่าที่อยู่แห่งช้าง เห็นรอยเท้าช้างรอยใหญ่ แม้ว่าโดยส่วนยาว ส่วนกว้าง ส่วนขวาง และที่เสียดสีในป่าช้าง เขาก็สันนิษฐานได้ว่า ช้างขนาดใหญ่หนอ ดังนี้ แม้ฉันใด ข้าพเจ้าก็ฉันนั้นเหมือนกันแล เมื่อใดได้เห็นร่องรอยทั้ง ๔ ในพระสมณโคดมแล้ว เมื่อนั้น ข้าพเจ้าก็สันนิษฐานได้ว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระธรรม อันพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสดีแล้ว พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นผู้ปฏิบัติดีแล้ว ดังนี้ ร่องรอย ๔ เป็นไฉน ท่านผู้เจริญ ข้าพเจ้าเห็นขัตติยบัณฑิตบางพวกในโลกนี้ ผู้ละเอียดละออ ผู้ปราบปรับปวาทได้แล้ว ประหนึ่งนายขมังธนูยิงขนทรายได้ ขัตติยบัณฑิตเหล่านั้น ชะรอยเที่ยวทําลายทิฏฐิทั้งหลาย (ของผู้อื่น) ด้วยปัญญา (ของตน) ขัตติยบัณฑิตเหล่านั้นได้ฟังว่า ได้ยินว่าพระสมณโคดมจักเสด็จเที่ยวไปสู่บ้านหรือนิคมชื่อโน้น ขัตติยบัณฑิตเหล่านั้นพากันคิดผูกปัญหา ด้วยหมายใจว่า จักเข้าไปหาพระสมณโคดมแล้วถามปัญหานี้ หากว่าพระสมณโคดมนั้นถูกพวกเราถามแล้วอย่างนี้ จักพยากรณ์อย่างนี้ไซร้ พวกเราจักยกวาทะอย่างนี้แก่พระองค์ แม้หากว่า พระสมณโคดมนั้นถูกพวกเราถามแล้วอย่างนี้ จักพยากรณ์อย่างนี้ไซร้ พวกเราจักยกวาทะแม้อย่างนี้แก่พระองค์ ดังนี้ ขัตติยบัณฑิตเหล่านั้น ได้ฟังว่า ท่านผู้เจริญ ได้ยินว่าพระสมณโคดมได้เสด็จเที่ยวไปถึงบ้านหรือนิคมชื่อโน้นแล้ว ขัตติยบัณฑิตเหล่านั้น ก็พากันเข้าไปเฝ้า ณ ที่ซึ่งพระสมณโคดมประทับอยู่ พระสมณโคดมก็ทรง ให้เห็นแจ้ง ให้สมาทาน ให้อาจหาญ ให้ร่าเริง ด้วยธรรมีกถา ขัตติยบัณฑิตเหล่านั้น ถูกพระสมณโคดมทรงให้เห็นแจ้ง ให้สมาทาน ให้อาจหาญ ให้ร่าเริง ด้วยธรรมีกถาแล้ว ก็ไม่ถามปัญหากะพระสมณโคดมเลย แล้วจักยกวาทะแก่พระสมณโคดมที่ไหนได้ ย่อมกลายเป็นสาวกของพระสมณโคดมไปโดยแท้ เมื่อใด ข้าพเจ้าได้เห็นร่องรอยที่หนึ่งนี้ ในพระสมณโคดมแล้ว เมื่อนั้น ข้าพเจ้าก็สันนิษฐานได้ว่า พระผู้ว่าพระภาคเจ้า

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 9 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 472

เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระธรรมอันพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสดีแล้ว พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นผู้ปฏิบัติดีแล้ว ดังนี้.

ท่านผู้เจริญ ยังอีกข้อหนึ่ง ข้าพเจ้าเห็นพราหมณบัณฑิตบางพวกในโลกนี้ ผู้ละเอียดลออ ผู้ปราบปรัปปวาท ประหนึ่งนายขมังธนูยิงขนทรายได้ พราหมณบัณฑิตเหล่านั้นชะรอยเที่ยวทําลายทิฏฐิทั้งหลาย (ของผู้อื่น) ด้วยปัญญา (ของตน) พราหมณบัณฑิตเหล่านั้นได้ฟังว่า ได้ยินว่า พระสมณโคดมจักเสด็จเที่ยวไปสู่บ้านหรือนิคมชื่อโน้น พราหมณบัณฑิตเหล่านั้น พากันคิดผูกปัญหา ด้วยหมายใจว่า จักเข้าไปหาพระสมณโคดมแล้วถามปัญหานี้ หากว่าพระสมณโคดมนั้นถูกพวกเราถามแล้วอย่างนี้ จักพยากรณ์อย่างนี้ไซร้ พวกเราจักยกวาทะอย่างนี้แก่พระองค์ แม้หากว่า พระสมณโคดมนั้นถูกพวกเราถามแล้วอย่างนี้ จักพยากรณ์อย่างนี้ไซร้ พวกเราจักยกวาทะแม้อย่างนี้แก่พระองค์ดังนี้ พราหมณบัณฑิตเหล่านั้นได้ฟังว่า ได้ยินว่า พระสมณโคดมได้เสด็จเที่ยวไปถึงบ้านหรือนิคมชื่อโน้นแล้ว พราหมณบัณฑิตเหล่านั้น ก็พากันเข้าไปเฝ้า ณ ที่ซึ่งพระสมณโคดมประทับอยู่ พระสมณโคดมก็ทรงให้เห็นแจ้ง ให้สมาทาน ให้อาจหาญ ให้ร่าเริง ด้วยธรรมีกถา พราหมณบัณฑิตเหล่านั้น ถูกพระสมณโคดมทรงให้เห็นแจ้ง ให้สมาทาน ให้อาจหาญ ให้ร่าเริง ด้วยธรรมีกถาแล้ว ก็ไม่ถามปัญหากะพระสมณโคดมเลย แล้วจักยกวาทะแก่พระสมณโคดมที่ไหนได้ ย่อมกลายเป็นสาวกของพระสมณโคดมไปโดยแท้ เมื่อใด ข้าพเจ้าได้เห็นร่องรอยที่สองนี้ในพระสมณโคดมแล้ว เมื่อนั้นข้าพเจ้าก็สันนิษฐานได้ว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระธรรมอันพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสดีแล้ว พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า เป็นผู้ปฏิบัติดีแล้ว ดังนี้.

ท่านผู้เจริญ ยังอีกข้อหนึ่ง ข้าพเจ้าได้เห็นคฤหบดีบัณฑิตบางพวกในโลกนี้ ผู้ละเอียดลออ ผู้ปราบปรัปปวาทได้แล้ว ผู้ประหนึ่งนายขมังธนู

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 9 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 473

ยิงขนทรายได้ คฤหบดีบัณฑิตเหล่านั้น ชะรอยเที่ยวทําลายทิฏฐิทั้งหลาย (ของผู้อื่น) ด้วยปัญญา (ของตน) คฤหบดีบัณฑิตเหล่านั้นได้ฟังว่า ได้ยินว่าพระสมณโคดมจักเสด็จเที่ยวไปสู่บ้านหรือนิคมโน้น คฤหบดีบัณฑิตเหล่านั้นพากันคิดผูกปัญหา ด้วยหมายใจว่า จักเข้าไปหาพระสมณโคดมแล้วถามปัญหานี้ หากว่าพระสมณโคดมนั้นถูกพวกเราถามแล้วอย่างนี้ จักพยากรณ์อย่างนี้ไซร้ พวกเราจักยกวาทะอย่างนี้แก่พระองค์ แม้หากว่า พระสมณโคดมนั้นถูกพวกเราถามแล้วอย่างนี้ จักพยากรณ์อย่างนี้ไซร้ พวกเราจักยกวาทะแม้อย่างนี้แก่พระองค์ ดังนี้ คฤหบดีบัณฑิตเหล่านั้น ได้ฟังว่า ได้ยินว่าพระสมณโคดมได้เสด็จเที่ยวไปถึงบ้านหรือนิคมชื่อโน้นแล้ว คฤหบดีบัณฑิตเหล่านั้น ก็พากันเข้าไปเฝ้า ณ ที่ซึ่งพระสมณโคดมประทับอยู่ พระสมณโคดมก็ทรงให้เห็นแจ้ง ให้สมาทาน ให้อาจหาญ ให้ร่าเริง ด้วยธรรมีกถา คฤหบดีบัณฑิตเหล่านั้น ถูกพระสมณโคดมทรงให้เห็นแจ้ง ให้สมาทาน ให้อาจหาญให้ร่าเริง ด้วยธรรมีกถาแล้ว ก็ไม่ถามปัญหากะพระสมณโคดมเลย แล้วจักยกวาทะแก่พระสมณโคดมที่ไหนได้ ย่อมกลายเป็นสาวกของพระสมณโคดมไปโดยแท้ เมื่อใด ข้าพเจ้าได้เห็นร่องรอยที่สามนี้ในพระสมณโคดมแล้วเมื่อนั้น ข้าพเจ้าก็สันนิษฐานได้ว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระธรรมอันพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสดีแล้ว พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นผู้ปฏิบัติดีแล้ว ดังนี้.

ท่านผู้เจริญ ยังอีกข้อหนึ่ง ข้าพเจ้าได้เห็นสมณบัณฑิตบางพวกในโลกนี้ ผู้ละเอียดลออ ผู้ปราบปรัปปวาทได้แล้ว ผู้ประหนึ่งนายขมังธนูยิงขนทรายได้ สมณบัณฑิตเหล่านั้น ชะรอยเที่ยวทําลายทิฏฐิทั้งหลาย (ของผู้อื่น) ด้วยปัญญา (ของตน) สมณบัณฑิตเหล่านั้นได้ฟังว่าได้ยินว่า พระสมณโคดมจักเสด็จเที่ยวไปสู่บ้านหรือนิคมชื่อโน้น สมณบัณฑิตเหล่านั้น พากันคิดผูกปัญหา ด้วยหมายใจว่า จักเข้าไปหาพระสมณโคดมแล้วถามปัญหานี้ หากว่า

 
  ข้อความที่ 5  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 9 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 474

พระสมณโคดมนั้นถูกพวกเราถามแล้วอย่างนี้ จักพยากรณ์อย่างนี้ไซร้ พวกเราจักยกวาทะอย่างนี้แก่พระองค์ แม้หากว่า พระสมณโคดมนั้นถูกพวกเราถามแล้วอย่างนี้ จักพยากรณ์อย่างนี้ไซร้ พวกเราจักยกวาทะแม้อย่างนี้แก่พระองค์ ดังนี้ สมณบัณฑิตเหล่านี้ ได้ฟังว่า ได้ยินว่า พระสมณโคดมได้เสด็จเที่ยวไปถึงบ้านหรือนิคมชื่อโน้นแล้ว สมณบัณฑิตเหล่านั้น ก็พากันเข้าไปเฝ้า ณ ที่ซึ่งพระสมณโคดมประทับอยู่ พระสมณโคดมก็ทรงให้เห็นแจ้ง ให้สมาทาน ให้อาจหาญ ให้ร่าเริง ด้วยธรรมีกถา สมณบัณฑิตเหล่านั้นถูกพระสมณโคดม ทรงให้เห็นแจ้ง ให้สมาทาน ให้อาจหาญ ให้ร่าเริง ด้วยธรรมีกถาแล้ว. ก็ไม่ถามปัญหากะพระสมณโคดมเลย แล้วจักยกวาทะแก่พระสมณโคดมนั้นที่ไหนได้ ย่อมพากันทูลขอโอกาสกะพระสมณโคดมนั้นแหละ ออกจากเรือนไม่มีเรือนบวชโดยแท้. พระสมณโคดมก็ยังสมณบัณฑิตเหล่านั้นให้บวช สมณบัณฑิตเหล่านั้น บวชในธรรมวินัยนั้นแล้ว ปลีกตัวออก (จากหมู่) ไม่ประมาท มีความเพียรมุ่งมั่นปฏิบัติอยู่ ไม่นานนักก็ทำให้แจ้งซึ่งพระอรหัตตผล เป็นธรรมอันยอดเยี่ยม เป็นที่สุดแห่งพรหมจรรย์ ซึ่งเป็นประโยชน์ที่กุลบุตรทั้งหลายผู้ออกจากเรือนไม่มีเรือนบวชโดยชอบ มุ่งหมายด้วยปัญญาอันยิ่งด้วยตนเอง เข้าถึงอยู่ในปัจจุบันเทียว สมณบัณฑิตเหล่านั้นจึงพากันกล่าวอย่างนี้ว่า ท่านผู้เจริญ เราทั้งหลายไม่เสียหายสักหน่อยหนอ เพราะว่าแต่ก่อนเราทั้งหลายไม่เป็นสมณะเลย ก็ปฏิญาณว่าเป็นสมณะ ไม่เป็นพราหมณ์เลย ก็ปฏิญาณว่า เป็นพราหมณ์ ไม่เป็นพระอรหันต์เลย ก็ปฏิญาณว่า เป็นพระอรหันต์ บัดนี้แล พวกเราเป็นสมณะแล้ว บัดนี้แล พวกเราเป็นพราหมณ์แล้ว บัดนี้แล พวกเราเป็นพระอรหันต์แล้ว ดังนี้ ท่านผู้เจริญ เมื่อใดข้าพเจ้าได้เห็นร่องรอยที่สี่นี้ในสมณโคดมแล้ว เมื่อนั้น ข้าพเจ้าก็สันนิษฐานได้ว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระธรรมอันพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสดีแล้ว พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นผู้ปฏิบัติดี

 
  ข้อความที่ 6  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 9 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 475

แล้ว ดังนี้ ท่านผู้เจริญ เมื่อใด ข้าพเจ้าได้เห็นร่องรอยทั้ง ๔ เหล่านี้ในพระสมณโคดมแล้ว เมื่อนั้น ข้าพเจ้าก็สันนิษฐานได้ว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระธรรมอันพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสดีแล้ว พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นผู้ปฏิบัติดีแล้ว ดังนี้.

ชาณุโสณีพราหมณ์เปล่งอุทาน

[๓๓๑] เมื่อปิโลติกปริพาชกกล่าวอย่างนี้แล้ว ชาณุโสณีพราหมณ์ได้ลงจากรถที่เทียมด้วยลา มีเครื่องประดับขาวทุกอย่างแล้ว ทําผ้าห่มเฉวียงบ่าข้างหนึ่ง ประณมอัญชลีไปทางทิศที่พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่แล้ว เปล่งอุทานวาจาสามครั้งว่า

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ถ้ากระไร ในบางครั้งบางคราว เราพึงสมาคมกับพระสมณโคดมพระองค์นั้น ถ้ากระไร การสนทนาปราศรัยบางอย่างนั่นแหละจะพึงมี. ครั้งนั้นแล ชาณุโสณีพราหมณ์ได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า สนทนาปราศรัยกันตามธรรมเนียมไปแล้ว ได้นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้ทูลเล่าถ้อยคําสนทนาปราศรัยกับปิโลติกปริพาชก ตามที่ได้มีแล้วทั้งหมดแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า.

เมื่อชาณุโสณีพราหมณ์กราบทูลอย่างนี้แล้ว พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสกะชาณุโสณีพราหมณ์ดังนี้ว่าดูก่อนพราหมณ์ ด้วยเหตุมีประมาณเท่านี้ ข้อความเปรียบด้วยรอยเท้าช้าง ยังมิได้บริบูรณ์โดยพิสดาร ดูก่อนพราหมณ์ ก็แลท่านจงฟังข้อความเปรียบด้วยรอยเท้าช้างโดยประการที่บริบูรณ์โดยพิสดาร

 
  ข้อความที่ 7  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 9 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 476

จงใส่ใจเป็นอันดีเถิด เราจักกล่าว บัดนี้ ชาณุโสณีพราหมณ์ทูลรับพระดํารัสของพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว.

อุปมารอยเท้าช้าง ๔ อย่าง

[๓๓๒] พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสพระพุทธพจน์นี้ว่า พราหมณ์เปรียบเหมือนคนต่อช้างเข้าไปสู่ป่าช้าง เขาเห็นรอยเท้าช้างที่ใหญ่ แม้ว่าโดยส่วนยาว ส่วนกว้างส่วนขวาง ในป่าช้าง คนต่อช้างผู้ฉลาด ย่อมไม่ตกลงใจก่อนว่าเป็นช้างใหญ่หนอ ดังนี้ ข้อนั้นเป็นเพราะเหตุไร เพราะว่าช้างพังทั้งหลายชื่อว่า วามนิกา (พังค่อม) มีรอยเท้าใหญ่มีอยู่ในป่าเป็นที่อยู่แห่งช้าง รอยเท้านี้จะเป็นรอยเท้าช้างพังวามนิกาเหล่านั้นก็ได้ คนต่อช้างนั้นก็ตามรอยเท้าช้างนั้นไป เขากําลังตามรอยเท้านั้นอยู่ ก็พบรอยเท้าช้างใหญ่ ไม่ว่าโดยส่วนยาว ส่วนกว้าง และส่วนขวาง ที่ซึ่งถูกเสียดสีที่อยู่ประจําในที่สูงในป่าช้าง ซึ่งคนต่อช้างผู้ฉลาด ก็ยังไม่ตกลงใจก่อนว่า เป็นช้างใหญ่หนอ ดังนี้ ข้อนั้นเพราะเหตุไร ดูก่อนพราหมณ์ เพราะว่าช้างพังทั้งหลายชื่อว่า อุจจากฬาริกา มีรอยเท้าใหญ่มีอยู่ในป่าช้าง รอยเท้านี้พึงจะเป็นรอยเท้าช้างพังเหล่านั้นก็ได้ คนต่อช้างนั้นก็เดินตามรอยเท้าช้างนั้นไป เขากําลังเดินตามรอยเท้าช้างนั้นอยู่ ก็จะพบรอยเท้าช้างใหญ่ ทั้งยาว ทั้งกว้าง ทั้งส่วนขวางที่ซึ่งถูกเสียดสีในที่สูง และที่ซึ่งขนายแทงไว้ในที่สูง คนต่อช้างผู้ฉลาด ก็ยังไม่ตกลงใจก่อนว่า ช้างใหญ่หนอ ดังนี้ ข้อนั้นเพราะเหตุไร ดูก่อนพราหมณ์ เพราะว่าช้างพังทั้งหลายชื่อ อุจจากเณรุกา มีรอยเท้าใหญ่มีอยู่ในป่าที่อยู่แห่งช้าง รอยเท้านี้จะเป็นรอยเท้าช้างพังเหล่านั้นก็ได้ คนต่อช้างนั้นก็เดินตามรอยเท้าช้างนั้นไป เขากําลังเดินตามรอยเท้าช้างนั้นอยู่ ก็จะพบรอยเท้าช้างใหญ่ ทั้งยาว ทั้งกว้าง ทั้งขวางที่ซึ่งถูกเสียดสีในที่สูง ที่ซึ่งขนายแทงไว้ในที่สูง และกิ่งไม้หักในที่สูง และเห็นตัวช้างนั้นอยู่โคนต้นไม้ อยู่กลางแจ้ง เดินอยู่ ยืนอยู่ นั่งอยู่หรือนอน เขาย่อมตกลงใจว่า ช้างเชือกนี้เองคือช้างใหญ่เชือกนั้น ดังนี้ แม้ฉันใด ดูก่อนพราหมณ์

 
  ข้อความที่ 8  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 9 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 477

ข้ออุปไมยก็ฉันนั้นนั่นแล ตถาคตอุบัติในโลกนี้ เป็นอรหันต์ รู้เองโดยชอบถึงพร้อมแล้วด้วยวิชชาและจรณะ ไปดีแล้ว เป็นผู้รู้โลก เป็นสารถีฝึกบุรุษที่ควรฝึก ไม่มีผู้อื่นยิ่งกว่า เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นผู้ตื่นแล้ว เป็นผู้จําแนกธรรมนั้น ตถาคตนั้น ทําให้แจ้งซึ่งโลกนี้พร้อมด้วยเทวโลก มารโลก พรหมโลก ซึ่งหมู่สัตว์พร้อมด้วยสมณพราหมณ์ทั้งเทวดาและมนุษย์ ด้วยปัญญาอันยิ่งด้วยตนเองแล้ว สอนผู้อื่นให้รู้ตาม ตถาคตนั้นย่อมแสดงธรรมงามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด ประกาศพรหมจรรย์พร้อมทั้งอรรถทั้งพยัญชนะบริสุทธิ์บริบูรณ์ สิ้นเชิง คฤหบดี คฤหบดีบุตร หรือผู้ที่เกิดมาภายหลังแล้วในสกุลใดสกุลหนึ่ง ย่อมฟังธรรมนั้น ครั้นได้ฟังธรรมนั้นแล้ว ย่อมได้เฉพาะซึ่งศรัทธาในตถาคต เขาประกอบด้วยการได้เฉพาะซึ่งศรัทธาแม้นั้น ย่อมพิจารณาเห็นแม้ดังนี้ว่า ฆราวาสเป็นที่คับแคบ เป็นทางมาแห่งกิเลสเพียงดังธุลีบรรพชาเป็นโอกาสอันปลอดโปร่ง การที่ผู้อยู่ครองเรือนจะประพฤติพรหมจรรย์ให้บริบูรณ์ให้บริสุทธิ์โดยส่วนเดียว ดุจสังข์ที่ขัดแล้วนี้ หาเป็นกิจอันใครๆ กระทําได้โดยง่ายไม่ อย่ากระนั้นเลย เราพึงปลงผมและหนวดนุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ออกจากเรือนไม่มีเรือนบวชเถิด ต่อมา เขาละกองโภคสมบัติน้อยใหญ่ และเครือญาติน้อยใหญ่ ปลงผมและหนวดนุ่มห่มผ้ากาสาวพัสตร์ ออกจากเรือนไม่มีเรือนบวช.

ถึงพร้อมด้วยสิกขาสาชีพ

[๓๓๓] กุลบุตรนั้นบวชแล้วอย่างนี้ ถึงพร้อมด้วยสิกขาสาชีพของภิกษุทั้งหลาย ละการฆ่าสัตว์ เว้นจากการฆ่าสัตว์ วางทัณฑะไม้ วางศาสตรามีด มีความละอาย มีความเอ็นดู มีความกรุณา หวังประโยชน์แก่สัตว์ทั้งปวงอยู่ ละการลักทรัพย์ เว้นขาดจากการลักทรัพย์ รับแต่ของที่เขาให้ ต้องการแต่ของที่เขาให้ ไม่เป็นขโมย เป็นผู้สะอาดอยู่ ละกรรมที่เป็นข้าศึกแก่พรหมจรรย์ ประพฤติห่างไกล เว้นขาดจากเมถุนอันเป็นกิจของชาวบ้าน ละการพูด

 
  ข้อความที่ 9  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 9 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 478

เท็จ เว้นขาดจากการพูดเท็จ พูดแต่คําจริง พูดคําสัตย์ตลอด มีถ้อยคําเป็นหลักฐาน ควรเชื่อถือได้ ไม่พูดคลาดเคลื่อนต่อโลก ละคําส่อเสียด เว้นขาดจากคําส่อเสียด ฟังจากข้างนี้แล้ว ไม่ไปบอกข้างโน้น เพื่อให้คนหมู่นี้แตกร้าวกัน หรือฟังจากข้างโน้นแล้วไม่มาบอกข้างนี้ เพื่อให้คนหมู่โน้นแตกร้าวกัน สมานคนที่แตกร้าวกันแล้วบ้าง ส่งเสริมคนที่พร้อมเพรียงกันแล้วบ้าง ชอบคนผู้พร้อมเพรียงกัน ยินดีในคนผู้พร้อมเพรียงกัน เพลิดเพลินในคนผู้พร้อมเพรียงกัน กล่าวแต่คําที่ทําให้คนพร้อมเพรียงกัน ละคําหยาบ เว้นขาดจากคําหยาบ กล่าวแต่คําที่ไม่มีโทษ เพราะหู ชวนให้รัก จับใจ เป็นของชาวเมือง คนส่วนมากรักใคร่พอใจ ละคําเพ้อเจ้อ เว้นขาดจากคําเพ้อเจ้อ พูดถูกกาล พูดแต่คําที่เป็นจริง พูดอิงอรรถ พูดอิงธรรม พูดอิงวินัย พูดแต่คํามีหลักฐาน มีที่อ้าง มีที่กําหนด ประกอบด้วยประโยชน์ โดยกาลอันควร เว้นขาดจากการพรากพืชคามและภูตคาม ฉันหนเดียว เว้นการฉันในราตรี งดจากการฉันในเวลาวิกาล เว้นขาดจากการฟ้อนรําขับร้องประโคมดนตรี และดูการเล่นอันเป็นข้าศึกแก่กุศล เว้นขาดจากการทัดทรงประดับ และตบแต่งร่างกายด้วยดอกไม้ของหอมและเครื่องประเทืองผิว อันเป็นฐานแห่งการแต่งตัว เธอเว้นขาดจากการนั่งนอนบนที่นั่งที่นอนอันสูงใหญ่ เธอเว้นขาดจากการรับทองและเงิน เธอเว้นขาดจากการรับธัญญาหารดิบ เธอเว้นขาดจากการรับเนื้อดิบ เธอเว้นขาดจากการรับสตรีและกุมารี เธอเว้นขาดจากการรับทาสีและทาส เธอเว้นขาดจากการรับแพะและแกะ เธอเว้นขาดจากการรับไก่และสุกร เธอเว้นขาดจากการรับช้าง โค ม้า และลา เธอเว้นขาดจากการรับไร่นาและที่ดิน เธอเว้นขาดจากการประกอบทูตกรรมและการรับใช้ เธอเว้นขาดจากการซื้อการขาย เธอเว้นขาดจากการโกงด้วยตาชั่ง การโกงด้วยของปลอม และการโกงด้วยเครื่องตวงวัด เว้นขาดจากการรับสินบน การล่อลวง และการตลบตะแลง เว้นขาดจากการตัดการฆ่า การจองจํา การตีชิง การปล้นและกรรโชก

 
  ข้อความที่ 10  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 9 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 479

ภิกษุนั้นเป็นผู้สันโดษด้วยจีวรเป็นเครื่องบริหารกาย ด้วยบิณฑบาตเป็นเครื่องบริหารท้อง เธอไปทางทิศาภาคใดๆ ก็ถือไปได้เอง นกมีปีกจะบินไปทางทิศาภาคใดๆ ก็มีแต่ปีกของตัวเป็นภาระบินไปฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้นแล เป็นผู้สันโดษด้วยจีวรเป็นเครื่องบริหารกาย ด้วยบิณฑบาตเป็นเครื่องบริหารท้อง เธอจะไปทิศาภาคใดๆ ก็ถือไปได้เอง ภิกษุนั้นประกอบด้วยศีลขันธ์อันหาโทษมิได้นี้แล้ว ย่อมได้เสวยสุขอันปราศจากโทษในภายใน ภิกษุนั้นเห็นรูปด้วยจักษุแล้ว ไม่ถือนิมิต ไม่ถืออนุพยัญชนะ เธอย่อมปฏิบัติเพื่อสํารวมจักขุนทรีย์ ที่เมื่อไม่สํารวมแล้ว จะเป็นเหตุให้อกุศลธรรมอันลามก คืออภิชฌา และโทมนัสครอบงํานั้น ชื่อว่ารักษาจักขุนทรีย์ ชื่อว่าถึงความสํารวมในจักขุนทรีย์ ภิกษุฟังเสียงด้วยโสต ดมกลิ่นด้วยฆานะ ลิ้มรสด้วยชิวหา ถูกต้องโผฏฐัพพะด้วยกาย รู้แจ้งธรรมารมณ์ด้วยใจแล้ว ไม่ถือนิมิต ไม่ถืออนุพยัญชนะ เธอย่อมปฏิบัติเพื่อสํารวมมนินทรีย์ ที่เมื่อไม่สํารวมแล้ว จะเป็นเหตุให้อกุศลธรรมอันลามก คือ อภิชฌาและโทมนัสครอบงํานั้น ชื่อว่ารักษามนินทรีย์ ชื่อว่าถึงความสํารวมในมนินทรีย์ ภิกษุประกอบด้วยอินทรียสังวรอันเป็นอริยะเช่นนี้ ย่อมได้เสวยสุขอันไม่ระคนด้วยกิเลสในภายใน ภิกษุนั้นย่อมทําความรู้สึกตัวในการก้าว ในการถอย ในการแล ในการเหลียว ในการคู้เข้า ในการเหยียดออก ในการทรงสังฆาฏิ บาตร และจีวร ในการฉัน การดื่ม การเคี้ยว การลิ้ม ในการถ่ายอุจจาระปัสสาวะ ย่อมทําความรู้สึกตัวในการเดิน การยืน การนั่ง การหลับ การตื่น การพูด การนิ่ง.

[๓๓๔] ภิกษุนั้นเป็นผู้ประกอบด้วยศีลขันธ์นี้ อินทรียสังวรสติสัมปชัญญะ และสันโดษ อันเป็นอริยะเช่นนี้แล้ว ย่อมเสพเสนาสนะอันสงัด คือป่า โคนไม้ ภูเขา ซอกเขา ถ้ำ ป่าช้า ป่าชัฏ ที่แจ้ง ลอมฟาง ในเวลาภายหลังภัต เธอกลับจากบิณฑบาตแล้ว นั่งคู้บัลลังก์ ตั้งกายตรง ดํารงสติไว้เฉพาะหน้า ภิกษุนั้นละความเพ่งเล็งในโลก มีจิตปราศจากความเพ่งเล็งอยู่

 
  ข้อความที่ 11  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 9 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 480

ย่อมชําระจิตให้บริสุทธิ์จากความเพ่งเล็งได้ ละความประทุษร้ายคือพยาบาท ไม่คิดพยาบาท มีความกรุณา หวังประโยชน์แก่สัตว์ทั้งปวงอยู่ ย่อมชําระจิตให้บริสุทธิ์จากความประทุษร้ายคือความพยาบาทได้ ละถีนมิทธะได้แล้ว เป็นผู้ปราศจากถีนมิทธะ มีความกําหนดหมายอยู่ที่แสงสว่าง มีสติสัมปชัญญะอยู่ ย่อมชําระจิตให้บริสุทธิ์จากถีนมิทธะได้ ละอุทธัจจกุกกุจจะได้แล้วเป็นผู้ไม่ฟุ้งซ่าน มีจิตสงบภายในอยู่ ย่อมชําระจิตให้บริสุทธิ์จากอุทธัจจกุกกุจจะได้ ละวิจิกิจฉาได้แล้ว เป็นผู้ข้ามวิจิกิจฉา ไม่มีความคลางแคลงในกุศลธรรมทั้งหลายอยู่ ย่อมชําระจิตให้บริสุทธิ์จากวิจิกิจฉาได้.

รูปฌาน ๔

[๓๓๕] ภิกษุนั้นละนิวรณ์ ๕ เหล่านี้ อันเป็นเครื่องเศร้าหมองแห่งจิต อันเป็นเหตุทําปัญญาให้อ่อนกําลังลงได้แล้ว สงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรม บรรลุปฐมฌาน มีวิตก มีวิจาร มีปีติและสุขอันเกิดแต่วิเวกอยู่ ดูก่อนพราหมณ์ข้อนี้เราเรียกว่า ตถาคตบท (ร่องรอย คือญาณของตถาคต) ดังนี้บ้าง (เรียก) ว่าตถาคตนิเสวิตะ (ฐานะอันสีข้าง คือญาณของตถาคตเสพแล้ว) ดังนี้บ้าง (เรียก) ว่าตถาคตารัญชิตะ (ฐานะอันขนายคือญาณของตถาคตแทงแล้ว) ดังนี้บ้าง อริยสาวกก็ยังไม่ตกลงใจก่อนว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระธรรมอันพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสดีแล้ว พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นผู้ปฏิบัติดีแล้ว ดังนี้.

ดูก่อนพราหมณ์ ยังอีกข้อหนึ่ง ภิกษุบรรลุ ทุติยฌาน มีความผ่องใสแห่งจิตในภายใน เป็นธรรมเอกผุดขึ้น เพราะวิตกวิจารสงบไป ไม่มีวิตกไม่มีวิจาร มีปีติและสุขอันเกิดแต่สมาธิอยู่ ฯลฯ เธอมีอุเบกขา มีสติสัมปชัญญะเสวยสุขด้วยนามกายเพราะปีติสิ้นไป บรรลุตติยฌานที่พระอริยเจ้าทั้งหลายสรรเสริญว่า ผู้ได้ฌานนี้ เป็นผู้มีอุเบกขา มีสติอยู่เป็นสุข ฯลฯ เธอบรรลุจตุตถฌานไม่มีทุกข์ไม่มีสุข เพราะละสุขละทุกข์ และดับโสมนัสโทมนัสก่อนๆ

 
  ข้อความที่ 12  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 9 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 481

ได้ เป็นผู้มีอุเบกขาเป็นเหตุให้สติบริสุทธิ์อยู่ ดูก่อนพราหมณ์ ข้อนี้เราเรียกว่าตถาคตบทบ้าง ตถาคตนิเสวิตะบ้าง ตถาคตรัญชิตะบ้าง ดังนี้ อริยสาวกก็ยังไม่ตกลงใจก่อนว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระธรรมอันพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสดีแล้ว พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นผู้ปฏิบัติดีแล้ว ดังนี้.

[๓๓๖] ภิกษุนั้น เมื่อจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ผ่องแผ้ว ไม่มีกิเลสปราศจากอุปกิเลส อ่อน ควรแก่การงาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหว อย่างนี้ ย่อมโน้มน้อมจิตไปเพื่อปุพเพนิวาสานุสติญาณ ภิกษุนั้นย่อมระลึกชาติก่อนได้เป็นอันมาก คือ ระลึกได้ชาติหนึ่งบ้าง สองชาติบ้าง สามชาติบ้าง สี่ชาติบ้าง ห้าชาติบ้าง สิบชาติบ้าง ยี่สิบชาติบ้าง สามสิบชาติบ้าง สี่สิบชาติบ้าง ห้าสิบชาติบ้าง ร้อยชาติบ้าง พันชาติบ้าง แสนชาติบ้าง ตลอดสังวัฏกัปเป็นอันมากบ้าง ตลอดวิวัฏกัปเป็นอันมากบ้าง ตลอดสังวัฏวิวัฏกัปเป็นอันมากบ้างว่า ในภพโน้น เรามีชื่ออย่างนั้น มีโคตรอย่างนั้น มีผิวพรรณอย่างนั้น มีอาหารอย่างนั้น เสวยสุขเสวยทุกข์อย่างนั้นๆ มีกําหนดอายุเพียงเท่านั้น ครั้นจุติจากภพนั้นแล้วได้ไปเกิดในภพโน้น แม้ในภพนั้น เราก็ได้มีชื่ออย่างนั้น มีโคตรอย่างนั้น มีผิวพรรณอย่างนั้น มีอาหารอย่างนั้น เสวยสุขเสวยทุกข์อย่างนั้นๆ มีกําหนดอายุเพียงเท่านั้น ภิกษุนั้นย่อมระลึกถึงชาติก่อนได้เป็นอันมาก พร้อมทั้งอาการ พร้อมทั้งอุเทศ ด้วยประการฉะนี้ ดูก่อนพราหมณ์ แม้ข้อนี้ เราเรียกตถาคตบทบ้าง ตถาคตนิเสวิตะบ้าง ตถาคตารัญชิตะบ้าง อริยสาวกก็ยังไม่ถึงความตกลงใจก่อนว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นพระอรหันตสัมมสัมพุทธเจ้า พระธรรมอันพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสดีแล้ว พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นผู้ปฏิบัติดีแล้ว ดังนี้.

[๓๓๗] ภิกษุนั้น เมื่อจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ผ่องแผ้ว ไม่มีกิเลสปราศจากอุปกิเลส อ่อน ควรแก่การงาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหว อย่างนี้ ย่อม

 
  ข้อความที่ 13  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 9 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 482

โน้มน้อมจิตไปเพื่อรู้จุติและอุปบัติแห่งสัตว์ทั้งหลาย ภิกษุนั้นย่อมเห็นหมู่สัตว์ทั้งหลาย ภิกษุนั้นย่อมเห็นหมู่สัตว์ที่กําลังจุติ กําลังอุปบัติ เลว ประณีต มีผิวพรรณดี มีผิวพรรณทราม ได้ดี ตกยาก ด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์ ล่วงจักษุมนุษย์ ย่อมรู้ชัดซึ่งหมู่สัตว์ผู้เป็นไปตามกรรมว่า สัตว์เหล่านี้ประกอบด้วยกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต ติเตียนพระอริยเจ้า เป็นมิจฉาทิฏฐิ ยึดถือการกระทําด้วยอํานาจมิจฉาทิฏฐิ เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก เขาย่อมเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก ส่วนสัตว์เหล่านี้ ประกอบด้วยกายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต ไม่ติเตียนพระอริยเจ้า เป็นสัมมาทิฏฐิ ยึดถือการกระทําด้วยอํานาจสัมมาทิฏฐิ เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก เขาย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ดังนี้ ภิกษุนั้น ย่อมเห็นหมู่สัตว์ที่กําลังจุติ กําลังอุปบัติ เลว ประณีตมีผิวพรรณดี มีผิวพรรณทราม ได้ดี ตกยาก ด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์ ล่วงจักษุมนุษย์ ย่อมรู้ชัดซึ่งหมู่สัตว์ผู้เป็นไปตามกรรม ด้วยประการฉะนี้ ดูก่อนพราหมณ์ แม้ข้อนี้เราเรียกว่า ตถาคตบทบ้าง ตถาคตนิเสวิตะบ้าง ถ้าคตารัญชิตะบ้าง อริยสาวกก็ยังไม่ตกลงใจก่อนว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระธรรมอันพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสแล้วพระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นผ้ปฏิบัติดีแล้ว ดังนี้.

อาสวักขยาญาณ

[๓๓๘] ภิกษุนั้น เมื่อจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ผ่องแผ้ว ไม่มีกิเลสปราศจากอุปกิเลส อ่อน ควรแก่งาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหว อย่างนี้ ย่อมโน้มน้อมจิตไปเพื่ออาสวักขยญาณ ภิกษุนั้นย่อมรู้ชัดตามความเป็นจริงว่า นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย นี้ทุกขนิโรธ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา ย่อมรู้ชัดตามความเป็นจริงว่า เหล่านี้อาสวะ นี้อาสวสมุทัย นี้อาสวนิโรธ นี้อาสวนิโรธคามินีปฏิปทา ดูก่อนพราหมณ์ แม่ข้อนี้เรากล่าวว่า ตถาคตบทบ้าง ตถาคตนิเสวิตะบ้าง ตถาคตารัญชิตะบ้าง อริยสาวกก็ยังไม่ถึงความตกลงใจก่อน อริยสาวกนั้น

 
  ข้อความที่ 14  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 9 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 483

ย่อมจะถึงความตกลงใจว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระธรรมอันพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสดีแล้ว พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นผู้ปฏิบัติดีแล้ว ดังนี้.

เมื่อภิกษุนั้นรู้เห็นอย่างนั้น จิตย่อมหลุดพ้น แม้จากกามาสวะ แม้จากภวาสวะ แม้จากอวิชชาสวะ เมื่อจิตหลุดพ้นแล้ว ก็มีญาณหยั่งรู้ว่า พ้นแล้ว ภิกษุนั้นย่อมรู้ชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทําทําเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี.

ดูก่อนพราหมณ์ แม้ข้อนี้ เราเรียกว่าตถาคตบทบ้าง ตถาคตนิเสวิตะบ้าง ตถาคตารัญชิตะบ้าง ดังนี้ ด้วยเหตุมีประมาณเท่านี้แล ดูก่อนพราหมณ์ อริยสาวกย่อมตกลงใจว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระธรรมอันพระผู้มีพระภาคตรัสดีแล้ว พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นผู้ปฏิบัติดีแล้ว ด้วยเหตุมีประมาณเท่านี้แล ดูก่อนพราหมณ์ข้อความเปรียบเทียบด้วยรอยเท้าช้าง เป็นอันบริบูรณ์แล้วโดยพิสดาร ดังนี้.

[๓๓๙] เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสอย่างนี้แล้ว ชาณุโสณีพราหมณ์ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าดังนี้ว่า ข้าแต่พระโคคมผู้เจริญ พระธรรมเทศนาแจ่มแจ้งนัก ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ บุคคลพึงหงายของที่คว่ํา พึงเปิดของที่ปกปิด พึงบอกทางแก่คนหลงทาง หรือพึงส่องประทีปในที่มืด ด้วยคิดว่าผู้มีจักษุจักเห็นรูปทั้งหลายได้ ฉันใด พระโคดมผู้เจริญ ได้ทรงประกาศพระธรรมโดยอเนกปริยายฉันนั้นเหมือนกัน ข้าพระองค์นี้ขอถึงท่านพระโคดม พระธรรม และพระสงฆ์ว่าเป็นสรณะ ขอท่านพระโคดมจงทรงจําข้าพเจ้าว่าเป็นอุบาสก ผู้ถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะตลอดชีวิต ตั้งแต่วันนี้เป็นต้น ไปเถิด

จบ จูฬหัตถิปโทปมสูตรที่ ๗

 
  ข้อความที่ 15  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 9 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 484

อรรถกถาจุลลหัตถิปโทปมสูตร

จุลลหัตตถิปโทปมสูตร เริ่มต้นว่า ข้าพเจ้าได้ฟังมาแล้วอย่างนี้:-

พึงทราบวินิจฉัยในจุลลหัตถิปโทปมสูตรนั้นดังต่อไปนี้ บทว่า สพฺพเสเตน วฬวาภิรเถน ความว่า รถที่เทียมด้วยลา ๔ จําพวก ขาวสิ้นที่ท่านกล่าวไว้อย่างนี้ว่า ได้ยินว่า ม้าขาว มีเครื่องประดับขาวที่เทียมแล้ว รถขาวมีเครื่องประดับขาว มีบริวารขาว รัศมีขาว แส้ขาว ฉัตรขาว อุณหิสขาว ผ้าขาว รองเท้าขาว พัดด้วยพัดวาลวิชนีขาว. ก็ธรรมดาว่ารถนี้มี ๒ อย่างคือ รถรบกับรถประดับ. บรรดารถทั้ง ๒ นั้น รถรบมีทรง ๔ เหลี่ยม ไม่ใหญ่นัก สามารถจุคนได้ ๒ - ๓ คน รถประดับคันใหญ่ทั้งยาวทั้งกว้าง. ในรถประดับ คน ๘ คน หรือ ๑๐ คน คือคนกั้นร่ม คนถือพัดวีชนี คนถือพัดใบตาล สามารถจะยืน นั่ง หรือนอนได้ตามสะดวก แม้รถนี้ชื่อว่ารถประดับอย่างเดียว. รถนั้นทั้งหมด พร้อมด้วยล้อ หน้าต่างและธูปรถ ขลิบด้วยเงิน. ลาตามปกติก็สีขาว แม้เครื่องประดับลาเหล่านั้น ก็ทําด้วยเงิน แม้เชือกที่ชุบน้ำประสานเงิน แม้แส้ก็ขลิบด้วยเงิน แม้พราหมณ์ก็นุ่งผ้าขาวห่มผ้าขาว ลูบไล้เครื่องไล้ขาว ประดับมาลัยขาว สรวมแหวนทั้ง ๑๐ นิ้ว ติดตุ้มหูทั้ง ๒ ข้าง รวมความดังกล่าวมานี้เป็นต้น แม้เครื่องประดับของรถนั้น ก็เป็นเงินทั้งนั้น. แม้พราหมณ์ผู้เป็นบริวารของพราหมณ์นั้น ก็ประดับด้วยผ้าเครื่องลูบไล้ของหอม และมาลัยขาวอย่างนั้นเหมือนกัน. ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า สพฺพเสเตน วฬวาภิรเถน.

บทว่า สาวตฺถิยา นิยฺยาติ ความว่า ได้ยินว่า ทุก ๖ เดือนพราหมณ์นั้น จะทําประทักษิณพระนครครั้งหนึ่ง. จะมีการโฆษณาล่วงหน้าไว้ว่า

 
  ข้อความที่ 16  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 9 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 485

พราหมณ์จะทําประทักษิณ พระนครวันเท่านี้นับจากวันนี้. คนทั้งหลายฟังเรื่องนั้นแล้ว พวกที่ไม่ไปจากพระนครก็ไม่ไป แม้พวกที่ไปแล้วก็กลับมาด้วยหมายจะชมสิริสมบัติของผู้มีบุญ. วันใด พราหมณ์ทําประทักษิณพระนคร วันนั้นแต่เช้าตรู่ ผู้คนก็จะกวาดถนนในพระนคร เกลี่ยทราย โปรยดอกไม้พร้อมข้าวตอก ตั้งหม้อน้ำที่มีน้ำเต็ม ยกต้นกล้วยและธง ทําพระนครทั้งสิ้นให้หอมตระหลบไปด้วยกลิ่นธูป. แต่เช้าตรู่ พราหมณ์ก็อาบน้ำดําเกล้า กินอาหารเบาก่อนอาหารหนัก แต่งตัวด้วยผ้าขาวเป็นต้น โดยนัยดังกล่าวแล้วนั่นแล ลงจากปราสาทแล้วขึ้นรถ. ครั้งนั้นพราหมณ์เหล่านั้น ประดับด้วยผ้าเครื่องลูบไล้และมาลาขาวทั้งสิ้น ถือร่มขาวล้อมชาณุโสณิพราหมณ์นั้น. ต่อแต่นั้น ก็แจกผลไม้น้อยใหญ่แก่พวกเด็กรุ่นๆ ก่อนทีเทียว เพื่อให้มหาชนประชุมกันต่อแต่นั้นก็โปรยมาสก และกหาปณะ มหาชนก็ชุมนุมกัน ต่างก็ส่งเสียงโห่ร้องกึกก้อง และยกผ้าโบกสะบัดไปทั่ว. ลําดับนั้น เมื่อมังคลิกพราหมณ์ และโสวัตถิกพราหมณ์เป็นต้น ทําการมงคลและสวัสดิ์มงคล ทําประทักษิณพระนครด้วยสมบัติอันใหญ่. มนุษย์ผู้มีบุญทั้งหลายก็ขึ้นไปปราสาทชั้นเดียวเป็นต้น เปิดหน้าต่างและประตูเสมือนภาชนะขาวมองดู. ฝ่ายพราหมณ์มุ่งหน้าไปทางประตูด้านทิศใต้ ประหนึ่งครอบพระนครไว้ด้วยสมบัติ คือ ยศและสิริของตน. ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า สาวตฺถิยา นิยฺยาติ.

บทว่า ทิวาทิวสฺส แปลว่า วันของวัน อธิบายว่า เวลากลางวัน. บทว่า ปิโลติกํ ปริพฺพาชกํ ได้แก่ ปริพาชกผู้ได้ชื่อโดยเรียกเป็นเพศหญิงอย่างนี้ว่า ปิโลติกา. ได้ยินว่า ปริพาชกนั้นเป็นหนุ่มอยู่ในปฐมวัย มีวรรณดังทองคําเป็นพุทธอุปฐาก กระทําอุปัฏฐากพระตถาคต และพระมหาเถระแต่เช้าตรู่ ถือเอาไม้ ๓ อัน และเครื่องบริขารมีคณโฑน้ำเป็นต้น ออกจากพระเชตวัน เดินมุ่งหน้าไปทางพระนคร. ชาณุโสณิพราหมณ์นั้นเห็นปิโลติกปริ-

 
  ข้อความที่ 17  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 9 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 486

พาชกนั้นเดินมาแต่ไกล. บทว่า เอตทโวจ ความว่า ชาณุโสณิพราหมณ์จําได้ว่า ปิโลติกปริพาชก เคยมาสํานักโดยลําดับ จึงกล่าวคําระบุโคตรตระกูลว่า เชิญซิ ท่านวัจฉายนะไปไหนมา. ในบทว่า ปณฺฑิโต มฺติ นี้ มีความอย่างนี้ว่า ท่านวัจฉายนะยังสําคัญพระสมณโคดมว่าเป็นบัณฑิตอยู่หรือไม่เล่า. บทว่า โก จาหํ โภ ความว่า ข้าพเจ้าจะรู้ความมีปัญญาและความฉลาด ของพระสมณโคดม ได้แต่ไหนเล่า. ด้วยคําว่า โก จ สมณสฺส โคตมสฺส ปฺาเวยฺยตฺติยํ ชานิสฺสามิ นี้ ปิโลติกปริพาชกแสดงว่าตนไม่รู้ แม้ทุกประการอย่างนี้ว่า ข้าพเจ้าจักรู้ความมีปัญญาและความฉลาดของพระสมณโคดมได้แต่ที่ไหน จักรู้ด้วยเหตุไร. ด้วยบทว่า โสปิ นูนสฺส ตาทิโส จ นี้ ปิโลติกปริพาชก แสดงว่า ผู้ใดจะพึงรู้ความมีปัญญาและความฉลาดของพระสมณโคดม แม้ผู้นั้น ก็ต้องบําเพ็ญบารมี ๑๐ บรรลุพระสัพพัญุตญาณเป็นพระพุทธเจ้าเช่นนั้น ผู้ต้องการจะวัดภูเขาสิเนรุ ภูเขาหิมวันต์ แผ่นดิน หรืออากาศควรจะได้ไม้หรือเชือกประมาณเท่านั้น แม้ผู้จะรู้พระปัญญาของพระสมณโคดม ก็ควรจะได้พระสัพพัญุตญาณเสมือนพระญาณของพระองค์นั่นเทียว. ท่านกระทําการกล่าวย้ำไว้ในที่นี้ โดยความเอื้อเฟื้อ. บทว่า อุฬาราย แปลว่า สูงสุด ประเสริฐสุด. บทว่า โก จาหํ โภ ความว่า เราจะพึงสรรเสริญพระสมณโคดม ได้แต่ไหน. บทว่า โก จ สมณํ โคตมํ ปสํ สิสฺสามิ ความว่า ข้าพเจ้าจักสรรเสริญด้วยเหตุไร. บทว่าปสฏฺปฺปสฏฺโ ความว่าเป็นผู้ประเสริฐ โดยคุณของตนเหนือคนอื่น โดยคุณทั้งปวงที่ชาวโลกเขาสรรเสริญแล้ว

พระองค์ไม่มีกิจคือสรรเสริญด้วยคุณอย่างอื่น เปรียบเหมือนดอกจำปา ดอกอุบล ดอกปทุม หรือจันทน์แดง ย่อมสดใสและมีกลิ่นหอมโดยสิริแห่งสีและกลิ่นของมัน มันไม่มีกิจที่จะชมเชยโดยสีและกลิ่นที่

 
  ข้อความที่ 18  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 9 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 487

จรมา และเปรียบเหมือนแก้วมณีหรือดวงจันทร์ ย่อมโอภาสโดยแสงสว่างของตนเท่านั้น มันหามีกิจด้วยแสงสว่างด้วยอย่างอื่นไม่ ฉันใด พระสมณโคดม ก็ฉันนั้น เป็นผู้อันบัณฑิตสรรเสริญ ชมเชยโดยคุณของตนที่โลกทั้งปวงเขาสรรเสริญแล้ว คือให้ถึงความประเสริฐสุดแห่งโลกทั้งปวง พระองค์หามีกิจคือการสรรเสริญด้วยการสรรเสริญอย่างอื่นไม่ อีกนัยหนึ่งเป็นผู้ประเสริฐ กว่าผู้ประเสริฐทั้งหลาย แม้เพราะเหตุนั้น จึงชื่อว่า ปสัฏฐัปปสัฏฐะ ผู้ประเสริฐสุดกว่าผู้ประเสริฐสุดทั้งหลาย. ก็คนอื่นๆ เหล่าไรเล่าชื่อว่าเป็นผู้ประเสริฐสุด. พระเจ้าปเสนทิโกศล เป็นผู้ประเสริฐกว่าชาวกาสีและโกศลทั้งหลาย พระเจ้าพิมพิสาร เป็นผู้ประเสริฐกว่าชาวอังคะและชาวมคธ เจ้าลิจฉวี กรุงเวสาลี ประเสริฐกว่าชาวแคว้นวัชชี เจ้ามัลละกรุงปาวา เจ้ามัสละกรุงโกสินารา แม้เจ้านั้นๆ องค์อื่น ประเสริฐกว่าชาวชนบทนั้นๆ พราหมณ์ มีจังกีพราหมณ์เป็นต้น ประเสริฐกว่าหมู่พราหมณ์ทั้งหลาย อุบาสกมีท่านอนาถปิณฑิกเศรษฐีเป็นต้น ประเสริฐกว่าหมู่อุบาสก อุบาสิกา มีนางวิสาขาอุบาสิกาเป็นต้น ประเสริฐกว่าอุบาสิกาหลายร้อย ปริพาชก มีสกุลุทายิเป็นต้น ประเสริฐกว่า ปริพาชกหลายร้อย. มหาสาวิกา มีอุบลวรรณาเถรีเป็นต้น ประเสริฐกว่าภิกษุณีหลายร้อย พระมหาสาวก มีพระสารีบุตรเถระเป็นต้น ประเสริฐกว่าภิกษุหลายร้อย เทพทั้งหลาย มีท้าวสักกะเป็นต้นประเสริฐกว่าเทพทั้งหลาย พรหมทั้งหลาย มีมหาพรหมเป็นต้น ประเสริฐกว่าพรหมหลายพัน ท่านเหล่านั้น ย่อมชมเชย ยกย่อง สรรเสริญ พระทศพล หมดทุกคน เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าท่านจึงเรียกว่า ปสัฏฐัปปสัฏฐะ ประเสริฐกว่าผู้ประเสริฐ. บทว่า อตฺถวสํ แปลว่าอานิสงส์ประโยชน์.

ครั้งนั้น ปริพาชก เมื่อบอกเหตุแห่งความเลื่อมใสของตนแก่ชาณุโสณิพราหมณ์นั้น จึงกล่าวว่า เสยฺยถาปิ โภ กุสโล นาควนิโก

 
  ข้อความที่ 19  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 9 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 488

เป็นต้น. บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า นาควนิโก ได้แก่บุรุษ ผู้เรียนศิลปะชาวนาควัน. ก็บุรุษผู้เรียนศิลปะจากผู้อื่น เรียกว่า นาควนิกะ. บทว่า จตฺตาริ ปทานิ ได้แก่บทคือญาณ คือรอย คือญาณ ๔ อธิบายว่า ฐานที่ญาณเหยียบ. บทว่า ปณฺทิเต ในคําว่า ขตฺติยปณฺทิเต เป็นต้น ได้แก่ผู้ประกอบด้วยความเป็นบัณฑิต. บทว่า นิปุเณ แปลว่า ผู้ละเอียดคือ ผู้รู้อรรถอันละเอียด ได้แก่ผู้สามารถแทงตลอดอรรถอันละเอียดอื่นๆ. บทว่า กตปรปฺปวาเท ได้แก่ รู้ปรัปปวาท และทําการย่ํายีปรัปปวาทะ. บทว่า วาลเวธิรูเป แปลว่า เสมือน นายขมังธนูผู้ยิงขนทราย. บทว่า เต ภินฺทนฺตา มฺเ จรนฺติ ความว่า เที่ยวไปประหนึ่งทําลายทิฏฐิของผู้อื่น แม้อย่างละเอียดด้วยปัญญาของตน เหมือนนายขมังธนูผู้ยิงขนทราย. บทว่า ปฺหํ อภิสงฺขโรนฺติ ได้แก่ ตั้งปัญหา ๒ บทบ้าง ๓ บทบ้าง ๔ บทบ้าง. บทว่า วาทํ อาโรเปสฺสาม ได้แก่ยกโทษขึ้น. บทว่า น เจว สมณํ โคตมํ ปฺหํ ปุจฺฉนฺติความว่า เพราะเหตุไรจึงไม่ถาม.

ได้ยินว่า พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อทรงแสดงธรรมท่ามกลางบริษัท จึงทรงตรวจดูอัธยาศัยของบริษัท แต่นั้นก็ทรงเห็นว่า ขัตติยบัณฑิตเหล่านั้นมาแต่งปัญหาที่ลี้ลับ ชื่อว่า โอวัฏฏิกสาระ ปัญหาวกวน พระองค์มิได้ถูกขัตติยบัณฑิตถามเลย เมื่อตรัสถามปัญหาเหล่านี้ว่า ในการถามปัญหา มีโทษเพียงเท่านี้ ในการตอบปัญหา มีโทษเพียงเท่านี้ ในอรรถ บท อักขระ มีโทษเพียงเท่านี้ พึงตรัสถามอย่างนี้ เมื่อจะทรงตอบ พึงตอบอย่างนี้ เพราะฉะนั้น จึงทรงใส่ไว้ในระหว่างธรรมกถา แล้วทรงกําจัดปัญหาที่ขัตติยบัณฑิตนํามาแต่งเป็นโอวัฏฏิกปัญหาเสียด้วยประการฉะนี้. เหล่าขัตติยบัณฑิตย่อมจะดีใจว่า เป็นการดีสําหรับเราหนอ ที่พวกเราไม่ต้องถามปัญหานี้ ก็ถ้าพึงถามไซร้ พระสมณโคดมพึงทอดทิ้งพวกเราให้หมดที่พึ่ง.

 
  ข้อความที่ 20  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 9 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 489

อีกอย่างหนึ่ง ธรรมดาว่า พระพุทธเจ้าทั้งหลายเมื่อแสดงธรรม ย่อมแผ่เมตตาไปยังบริษัท มหาชนย่อมมีจิตเลื่อมใสในพระทศพล ด้วยการแผ่เมตตา. ก็พระพุทธเจ้าทั้งหลาย มีพระรูปพระโฉมเลอเลิศ น่าชม มีพระสุรเสียงไพเราะ มีพระชิวหาอ่อนนุ่ม มีไรพระทนต์เรียบสนิท ตรัสธรรมเหมือนโสรจสรงหทัยด้วยน้ำอมฤต. ณ ที่นั้น คนเหล่านั้นที่มีจิตเลื่อมใสเพราะทรงแผ่เมตตา ก็มีความคิดอย่างนี้ว่า พวกเราไม่อาจทําตัวเป็นข้าศึกกับพระผู้มีพระภาคเจ้า ผู้ตรัสพระวาจาไม่เป็นสอง พระวาจาไม่เป็นโมฆะ พระวาจาที่นําสัตว์ออกจากทุกข์ เห็นปานฉะนี้ จึงไม่ทูลถาม เพราะตนเลื่อมใสเสียแล้ว. บทว่า อฺทตฺถุํ แปลว่าโดยส่วนเดียว. บทว่า สาวกา สมฺปชฺชนฺติ ได้แก่เป็นสาวกโดยการถึงสรณะ. บทว่า ตทนุตฺตรํ ตัดบทเป็น ตํ อนุตฺตรํ. บทว่า พฺรหฺมจริยปริโยสานํ ได้แก่ พระอรหัตตผลอันเป็นที่สุดแห่งมรรคพรหมจรรย์. จริงอยู่ สมณพราหมณ์เหล่านั้น ย่อมบวชเพื่ออรหัตตผลนั้น. บทว่า มนํ วต โภ อนสฺสาม ความว่า ท่านผู้เจริญ ถ้าเราไม่พึงเข้าไปเฝ้าไซร้เราจะพึงเสียหาย. เพราะเพียงไม่ได้เข้าใกล้เล็กน้อยเท่านี้ แต่พวกเราไม่ได้เสียหายเลย ด้วยเหตุเพียงเข้าเฝ้า. บทที่ ๒ ก็เป็นไวพจน์ของบทต้นนั่นแหละ ในคําว่า อสฺสมณาว สมานา เป็นต้น ความว่า ชื่อว่า ไม่เป็นสมณะ เพราะไม่สงบบาป ชื่อว่า ไม่เป็นพราหมณ์เพราะไม่ลอยบาป และไม่ได้เป็นอรหันต์เพราะไม่กําจัดข้าศึก คือกิเลส. บทว่า อุทานํ อุทาเนสิ ได้แก่ นำขึ้นซึ่งสิ่งควรนำขึ้น. เหมือนอย่างว่า น้ำมันใดไม่สามารถจะจับเครื่องตวงอยู่ได้ ไหลเลยไป น้ำมันนั้นท่านเรียกว่า อวเสกะ ซึมไปเอง และน้ำใดไม่อาจะติดสระอยู่ได้ล้นไปเอง น้ำนั้นเรียกว่า โอฆะน้ำหลาก ฉันใด ถ้อยคําที่เกิดจากปีติอันใด ย่อมไม่สามารถจะยึดหทัยไว้ได้ก็ล้นออกไปข้างนอกไม่อยู่ข้างใน คํานั้นก็เรียกว่า

 
  ข้อความที่ 21  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 9 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 490

อุทาน ฉันนั้น. อธิบายว่า เปล่งคําที่เกิดจากปีติ เห็นปานฉะนี้. บทว่า หตฺถิปโทปโม วิเคราะห์ว่า ร้อยเท้าช้างเป็นอุปมาของธรรมะนั้น เหตุนั้น ธรรมะนั้นชื่อว่า มีรอยเท้าช้างเป็นอุปมา. ท่านแสดงว่า ธรรมนั้นย่อมไม่บริบูรณ์กว้างขวางอย่างนี้. บทว่า นาควนิโก ได้แก่ คนต่อช้างผู้ศึกษาศิลปช้างแล้ว. ถามว่า เมื่อเป็นเช่นนี้ เพราะเหตุไรในที่นี้จึงไม่กล่าวว่า ผู้ฉลาด. ตอบว่า เพราะจะแสดงแบ่งให้รู้ว่า คนใดฉลาดไว้ข้างหน้า. จริงอยู่ ผู้ที่จะเข้าไป ถ้าเป็นผู้ฉลาด เขาจะยังไม่ตกลงใจก่อน เพราะฉะนั้น ในที่นี้ ท่านจึงไม่กล่าวว่า ผู้ฉลาด แต่กล่าวไว้ข้างหน้า.

บทว่า วามนิกา ได้แก่ ช้างพังท้องใหญ่ สั้น ไม่ยาว ว่าโดยส่วนยาว. บทว่า อุจฺจา จ นิเสวิตํ ได้แก่ ที่ที่ช้างสีในที่ลําต้นไทรเป็นต้น ซึ่งสูง ๗ - ๘ ศอก. บทว่า อุจฺจา กฬาริกา ได้แก่ มีเท้าสูงเหมือนไม้เท้า และที่ชื่อว่า กฬาริกา เพราะมีขนายดําแดง. เขาว่า ช้างพังเหล่านั้นมีขนายอันหนึ่งงอนขึ้นอันหนึ่งงอนลง และทั้งสองห่างกัน ไม่ใกล้กัน. บทว่า อุจฺจา จ ทนฺเตหิ อารฺชิตานิความว่า ที่ที่กรามตัดขาดเหมือนกับเอาขวานฟัน ในที่ลําต้นไทรเป็นต้น ซึ่งสูง ๗ - ๘ ศอก. บทว่า อุจฺจา กเรณุกา นาม ได้แก่ มีเท้ายาวเหมือนไม้เท้า และที่ชื่อว่า กเรณุกา เพราะมีขนายตูม. ได้ยินว่า ช้างพังเหล่านั้น มีงาตูม เพราะฉะนั้นท่านจึงเรียกว่า กเรณุกา. บทว่า โส ทิฏฺํ คจฺฉติ ความว่า คนต่อช้างนั้นยังไม่ตกลงใจว่า เรามาตามรอยเท้าช้างใด ช้างนั้น คือตัวนี้แหละ ไม่ใช่ตัวอื่น เราเห็นรอยเท้าแรกใด ยังไม่ตกลงใจว่าจักเป็นรอยเท้าของพังค่อม เราไปเห็นรอยเท้าใดในที่ต่ําก็ยังไม่ตกลงใจว่า จักเป็นรอยเท้าของช้างพังกฬาริกา หรือของช้างพังกเรณุกา ครั้นเห็นช้างใหญ่เท่านั้นก็ตกลงใจว่า รอยเท้านั้นทั้งหมด เป็นรอยเท้าของช้างใหญ่ตัวนี้นี่เอง. ในคําว่า เอวเมว โข นี้ เทียบข้ออุปมาดังนี้.

 
  ข้อความที่ 22  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 9 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 491

พึงทราบพระธรรมเทศนาตั้งแต่เบื้องต้นจนถึงละนิวรณ์ว่า เหมือนดงช้าง. โยคาวจรเหมือนคนต่อช้างผู้ฉลาด พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเหมือนพญาช้าง ฌานและอภิญญาเหมือนรอยเท้าช้างใหญ่ ข้อที่พระโยคาวจรไม่ตกลงใจว่าธรรมดาว่า ฌานและอภิญญาเหล่านี้ย่อมมีแม้แก่ปริพาชกนอกพระศาสนาเหมือนข้อที่คนต่อช้าง แม้เห็นรอยเท้าในที่นั้นๆ ก็ไม่ตกลงใจว่า จักเป็นรอยเท้าของช้างพังวามนิกา ของช้างพังกฬาริกา หรือของช้างพังกเรณุกา ข้อที่พระอริยสาวกบรรลุพระอรหัตต์แล้วตกลงใจ ก็เหมือนคนต่อช้าง เห็นช้างใหญ่แล้วก็ตกลงใจว่า รอยเท้าที่เราเห็นในที่นั้นๆ ต้องเป็นรอยเท้าของช้างใหญ่เชือกนี้เท่านั้น ไม่ใช่เชือกอื่น ก็แลจะทําการเทียบเคียงข้ออุปมานี้จนจบก็ควร. แม้ในที่นี้ก็ควรเหมือนกัน. แต่ต้องยึดบทบาลีที่มาตามลําดับกระทําในที่นี้อย่างเดียว.

ศัพท์ว่า อิธ ในคํานั้นเป็นนิบาต ใช้ในอรรถอ้างเทศะที่อยู่. อิธศัพท์นี้นั้น บางแห่งท่านกล่าวอ้างถึงโลก เหมือนอย่างที่ท่านกล่าวไว้ว่า พระตถาคตย่อมอุบัติในโลกนี้. บางแห่งท่านกล่าวอ้างถึงศาสนาเหมือนอย่างที่ท่านกล่าวไว้ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลายในศาสนานี้เท่านั้น มีสมณที่ ๑ สมณที่ ๒. บางแห่งท่านกล่าวอ้างโอกาส เหมือนอย่างที่ท่านกล่าวไว้ว่า

เมื่อเราเป็นเทพอยู่ในโอกาสนี้นั่นแล เราก็ได้อายุมาอีก ผู้นิรทุกข์ท่านจงรู้อย่างนี้.

บางแห่ง ท่านกล่าวอ้างถึงเพียงทําบทให้เต็มเท่านั้น เหมือนอย่างที่ตรัสไว้ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราฉันแล้วพึงห้ามภัตเสีย. แต่ในที่นี้พึงทราบว่า ท่านกล่าวหมายเอาโลก. ท่านอธิบายไว้ว่าดูก่อนพราหมณ์ ตถาคตอุบัติในโลกนี้เป็นพระอรหันต์ ฯลฯ เป็นผู้ตื่นแล้ว เป็นผู้จําแนกธรรม. ในศัพท์เหล่านั้น ศัพท์ว่าตถาคต ท่านกล่าวไว้พิสดารแล้วในมูลปริยายสูตร ศัพท์ว่าอรหันต์

 
  ข้อความที่ 23  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 9 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 492

เป็นต้น ท่านกล่าวไว้พิสดารแล้วในวิสุทธิมรรค. ก็ในคําว่า โลเก อุปฺปชฺชติ นี้ บทว่า โลก มี ๓ คือ โอกาสโลก สัตวโลก สังขารโลก. แต่ในที่นี้ท่านประสงค์เอาสัตวโลก.

พระตถาคตแม้เมื่อเกิดในสัตวโลกย่อมไม่เกิดในเทวโลก ไม่เกิดในพรหมโลก ย่อมเกิดแต่ในมนุษย์โลกเท่านั้น แม้ในมนุษย์โลก ก็ไม่เกิดในจักรวาลอื่น เกิดในจักรวาลนี้เท่านั้น. แม้ในจักรวาลนั้น ก็ไม่เกิดในที่ทุกแห่ง ย่อมเกิดในมัชฌิมประเทศ ซึ่งยาว ๓๐๐ โยชน์ กว้าง ๒๕๐ โยชน์ โดยรอบ ๙๐๐ โยชน์ ท่านกําหนดไว้อย่างนี้คือ ทิศบูรพา มีนิคมชื่อว่า กชังคละต่อแต่นั้นเป็นมหาสาละ ต่อแต่นั้นเป็นปัจจันตชนบท ร่วมในเป็นมัชฌิมชนบท ทิศอาคเนย์มีแม่น้ำ ชื่อว่า สัลลวดี ต่อแต่นั้นเป็นปัจจันตชนบท ร่วมในเป็นมัชฌิมชนบท ในทิศทักษิณมีนิคม ชื่อว่า เสตกัณณิกะ ต่อนั้นเป็นปัจจันตชนบท ร่วมในเป็นมัชฌิมชนบท ในทิศปัจฉิม มีบ้านพราหมณ์ชื่อว่า ถูนะ ต่อนั้นเป็นปัจจันตชนบท ร่วมในเป็นมัชฌิมชนบท ในทิศอุดรมีภูเขา ชื่อว่า อุสีรธชะ. ต่อนั้นเป็นปัจจันตชนบท ร่วมในเป็นมัชฌิมชนบท. ไม่ใช่แต่พระตถาคตอย่างเดียวเท่านั้น พระปัจเจกพุทธเจ้า พระอัครสาวก พระอสีติมหาเถระ พระพุทธมารดา พระพุทธบิดา พระเจ้าจักรพรรดิและพราหมณ์มหาศาล คหบดีมหาศาลเหล่าอื่น ย่อมเกิดในมัชฌิมประเทศนี้ทั้งนั้น. ในมัชฌิมประเทศนั้น พระตถาคต ชื่อว่า อุบัติ นับตั้งแต่เสวยข้าวมธุปายาสที่นางสุชาดาถวายจนถึงพระอรหัตตมรรค ชื่อว่า ผู้อุบัติ ในอรหัตตผล ชื่อว่า ย่อมอุบัติตั้งแต่ออกมหาอภิเนษกรมณ์ จนถึงพระอรหัตต์ ตั้งแต่ดุสิตภพ จนถึงอรหัตตมรรค หรือตั้งแต่บาทมูลแห่งพระพุทธเจ้าทรงพระนามว่าทีปังกรจนถึงพระอรหัตตมรรค ชื่อว่า ผู้อุบัติในอรหัตตผล ในที่นี้ท่านหมายเอาภาวะที่พระตถาคตอุบัติก่อนกว่าเขาทั้งหมด จึงกล่าวว่า อุปฺปชฺชติ. จริงอยู่

 
  ข้อความที่ 24  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 9 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 493

ในที่นี้ได้ความว่า ตถาคโต โลเก อุปฺปนฺโน โหติ พระตถาคต ย่อมอุบัติในโลก.

บทว่า โส อิมํ โลกํ ความว่า พระผู้มีพระภาคเจ้านั้นทรงแสดงโลกนี้ว่า ควรกล่าว ณ บัดนี้. บทว่า สเทวกํ แปลว่า พร้อมด้วยเทพชื่อว่า สเทวกะ. พร้อมด้วยมารชื่อว่า สมารกะ พร้อมด้วยพรหมชื่อว่า สพรหมกะ พร้อมด้วยสมณและพราหมณ์ ชื่อว่า สัสสมณพราหมณี ชี่อว่า ปชา เพราะเกิดทั่วไป พร้อมด้วยเทพและมนุษย์ ชื่อว่า สเทวมนุสสะ. ในคําเหล่านั้น พึงทราบ ศัพท์ว่ากามาวจรเทพ ๕ ด้วยคําว่า สเทวกะ. ศัพท์ว่า กามาวจรเทวที่ ๖ ด้วยคําว่า สมารกะ ศัพท์ว่า พรหมกายิกะ เป็นต้น ด้วยคําว่า สพรหมกะ ศัพท์ว่า สมณและพราหมณ์ ผู้เป็นข้าศึกศัตรูของพระศาสนา และผู้สงบบาป ผู้ลอยบาป ด้วยคําว่า สัสสมณพราหมณี ศัพท์ว่า สัตตโลก ด้วยคําว่า ปชา ศัพท์ว่า เทพโดยสัมมุติเทพและมนุษย์ที่เหลือด้วยคําว่า สเทวมนุสสะ. สัตว์โลก กับโอกาสโลก พึงทราบว่าท่านถือเอาด้วย ๓ บท สัตว์โลกอย่างเดียวพึงทราบว่าท่านถือเอาด้วยอํานาจปชา ด้วยบททั้ง ๒ ในคํานี้ด้วยประการฉะนี้.

อีกนัยหนึ่ง. อรูปาวจรโลก ท่านถือเอาด้วยศัพท์ว่า สเทวกะ ฉกามาวจรเทวโลก ด้วยศัพท์สมารกะ รูปีพรหมโลก ด้วยศัพท์สพรหมกะ มนุษยโลกหรือสัตว์โลกที่เหลือกับเทวดาโดยสมมติ ท่านถือเอาด้วยอํานาจบริษัท ๔ ด้วยศัพท์ว่า สัสสมณพราหมณ์เป็นต้น.

อีกอย่างหนึ่ง ในที่นี้ท่านกล่าวความที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทําให้แจ้งโลกทั้งมวล โดยกําหนดอย่างสูง ด้วยคําว่า สเทวกะ. ลําดับนั้น เมื่อจะทรงกําจัดความสงสัยของเหล่าชนผู้มีความคิดอย่างนี้ว่า วสวัตตีมารผู้มีอานุภาพมากผู้เป็นใหญ่ในฉกามาวจรเทพแม้นั้น พระองค์ทรงกระทําให้แจ้งแล้วหรือ ดังนี้จึงตรัสว่า สมารกํ. อนึ่ง เมื่อจะทรงกําจัดความสงสัยของเหล่าชนผู้มีความคิดว่า

 
  ข้อความที่ 25  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 9 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 494

พรหมผู้มีอานุภาพมากใช้องคุลีหนึ่ง แผ่รัศมีไปใน ๑,๐๐๐ จักรวาล แผ่รัศมีไปใน ๑๐,๐๐๐ จักรวาลด้วย ๒ องคุลี ฯลฯ ๑๐ องคุลี และเสวยสุขอันเกิดแต่ฌานสมาบัติอันยอดเยี่ยม พรหมแม้นั้นพระองค์ทรงกระทําให้แจ้งแล้วหรือดังนี้ จึงตรัสว่า สพฺรหฺมกํ. แต่นั้นเมื่อจะทรงกําจัดความสงสัยของเหล่าชนผู้มีความคิดว่า สมณพราหมณ์เป็นอันมากเป็นข้าศึกต่อพระศาสนา แม้เหล่านั้นพระองค์ทรงกระทําให้แจ้งแล้วหรือดังนี้ จึงตรัสว่า สสฺสมณฺพฺรหฺมณิํ ปชํ. ก็แลครั้นพระองค์ทรงประกาศความที่พระองค์ทรงทําให้แจ้งมารและสมณพราหมณ์เหล่านั้นอย่างสูงสุดอย่างนี้แล้ว ลําดับนั้นเมื่อจะทรงประกาศความที่พระองค์ทรงทําให้แจ้งสัตว์โลกที่เหลือ โดยกําหนดอย่างสูง หมายถึงสมมติเทพและมนุษย์ที่เหลือ จึงตรัสว่า สเทวมนุสฺสํ. ในคํานี้มีลําดับ ความแจ่มแจ้งดังนี้. ก็พระโบราณาจารย์กล่าวว่า บทว่า สเทวกํ ได้แก่ โลกที่เหลือกับเหล่าเทวดา. บทว่า สมารกํ ได้แก่โลกที่เหลือกับมาร. บทว่า สพฺรหฺมกํ ได้แก่ โลกที่เหลือกับเหล่าพรหม. ท่านใส่เหล่าสัตว์ที่เข้าถึงไตรภพแม้ทั้งหมดลงในบททั้งสามด้วยอาการสาม ด้วยประการฉะนี้ เมื่อจะกําหนดถือเอาด้วยบทต้นทั้งสองอีก จึงกล่าวว่า สสฺสมณพฺรหฺมณิํ ปชํ สเทวมนุสฺสํ ดังนี้เป็นอันว่า ท่านกําหนดถือเอาไตรธาตุเท่านั้น ด้วยอาการนั้นๆ ด้วยบททั้งห้าด้วยประการฉะนี้.

ในคําว่า สยํ อภิญญา สจฺฉิกตฺวา ปเวเทติ บทว่า สยํ แปลว่า เอง. บทว่า อภิญญา แปลว่า รู้ อธิบายว่า รู้ด้วยญาณอันยิ่ง. บทว่า สจฺฉิกตฺวา ได้แก่ ทําให้ประจักษ์. เป็นอันท่านปฏิเสธการคาดคะเนเป็นต้นด้วยข้อนี้. บทว่า ปเวเทติ ได้แก่ ทําให้ตื่น ให้รู้ให้แจ้งประกาศ. บทว่า โส ธมฺมํ เทเสติ อาทิมชฺฌปริโยสานกลฺยาณํ ความว่า พระผู้มีพระภาคเจ้านั้นทรงอาศัยความกรุณาในสัตว์ทั้งหลาย ทรงแสดงธรรมมีสุขอันเกิดแต่วิเวก

 
  ข้อความที่ 26  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 9 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 495

อันยอดเยี่ยม เมื่อทรงแสดงธรรมนั้นไม่ว่าน้อยหรือมาก ก็ทรงแสดงประการมีความงามในเบื้องต้นเป็นต้น. อธิบายว่า ทรงแสดงความงามความเจริญไม่มีโทษในเบื้องต้น ทรงแสดงความงามความเจริญไม่มีโทษทั้งในเบื้องกลาง ทั้งในเบื้องปลาย.

พึงทราบวินิจฉัยในคําว่า โส ธมฺมํ เทเสติ เป็นต้นนั้น ดังต่อไปนี้ เทศนาก็มีเบื้องต้น เบื้องกลาง เบื้องปลาย ศาสนาก็มีเหมือนกัน. ก่อนอื่น คาถาแม้ ๔ บาท บาทแรกชื่อว่าเบื้องต้นของเทศนา ต่อจากนั้น ๒ บาท ชื่อว่าเบื้องกลาง บาทสุดท้ายชื่อว่าเบื้องปลาย. พระสูตรที่มีอนุสนธิเดียว คํานิทานเป็นเบื้องต้น คําว่า อิทมโวจ เป็นเบื้องปลาย ระหว่างคําทั้งสอง ชื่อว่าเบื้องกลาง. พระสูตรที่มากอนุสนธิ อนุสนธิแรกเป็นเบื้องต้น อนุสนธิท้ายเป็นเบื้องปลาย ตรงกลางอนุสนธิเดียว สองอนุสนธิ หรือมากอนุสนธิเป็นเบื้องกลาง. ส่วนศาสนา ศีลสมาธิวิปัสสนา ชื่อว่าเป็นเบื้องต้น. สมจริงดังคําที่ท่านกล่าวไว้ว่า อะไรเป็นเบื้องต้นของกุศลธรรม ศีลที่บริสุทธิ์ดีและทิฏฐิที่ตรง. อริยมรรคที่ท่านกล่าวไว้อย่างนี้ว่า ภิกษุทั้งหลาย มีมัชฌิมาปฏิปทาที่ตถาคตตรัสรู้เองยิ่งแล้ว ชื่อว่าเบื้องกลาง ผลและนิพพานชื่อว่าเบื้องปลาย. จริงอยู่ผลท่านเรียกว่าเบื้องปลายในคํานี้ว่า ดูก่อนพราหมณ์ พรหมจรรย์นี้มีประโยชน์อย่างนี้ มีสาระอย่างนี้ มีเบื้องปลายอย่างนี้. นิพพานท่านเรียกว่าเบื้องปลาย ในคํานี้ว่า ท่านวิสาขะ อยู่ประพฤติพรหมจรรย์ที่หยั่งในพระนิพพาน มีนิพพานเป็นเบื้องหน้า มีนิพพานเป็นเบื้องปลาย. ในที่นี้ท่านประสงค์เอาเบื้องต้น เบื้องกลาง และเบื้องปลายของเทศนา. จริงอยู่ พระผู้มีพระภาคเจ้าเมื่อทรงเแสดงธรรม ทรงแสดงศีลเป็นเบื้องต้น แสดงมรรคเป็นเบื้องกลาง แสดงนิพพานเป็นเบื้องปลาย. ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า โส ธมฺมํ เทเสติ อาทิกลฺยาณํ มชฺเฌกลฺยาณํ ปริโยสานกลฺยาณํ ดังนี้. เพราะฉะนั้น พระธรรมกถึกแม้อื่นเมื่อกล่าวธรรม

 
  ข้อความที่ 27  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 9 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 496

พึงแสดงศีลเป็นเบื้องต้น แสดงมรรคเป็นเบื้องกลาง แสดงนิพพานเป็นเบื้องปลาย นี้เป็นจุดยืน (หลัก) ของพระธรรมกถึก.

บทว่า สาตฺถ สพฺยฺชนํ ความว่า เทศนาของพระธรรมกถึกใด อาศัยพรรณนาเรื่องข้าวต้ม ข้าวสวย ผู้หญิง ผู้ชายเป็นต้น พระธรรมกถึกนั้นชื่อว่า ไม่แสดงธรรมเป็นสาตถะมีประโยชน์ ส่วนพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงละเทศนาเช่นนั้น ทรงแสดงเทศนาอาศัยสติปัฏฐาน ๔ เป็นต้น เพราะฉะนั้น ท่านจึงกล่าวว่า ทรงแสดงธรรมเป็นสาตถะมีประโยชน์. อนึ่ง เทศนาของภิกษุใด ประกอบด้วยพยัญชนะเดี่ยวเป็นต้น หรือมีพยัญชนะบอดทั้งหมด หรือมีพยัญชนะเปิดทั้งหมดกดทั้งหมด เทศนาของภิกษุนั้น ชื่อว่า อพยัญชนะ เพราะไม่มีความบริบูรณ์ด้วยพยัญชนะ เหมือนภาษาของคนมิลักขะเช่น เผ่าทมิฬ เผ่าคนป่า และคนเหลวไหลเป็นต้น. ส่วนพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงละเทศนาเช่นนั้น ทรงไม่แตะต้องพยัญชนะ ๑๐ อย่าง ที่กล่าวไว้อย่างนี้ว่า

๑. ลิถิล ๒. ธนิต ๓. ทีฆะ ๔. รัสสะ ๕. ลหุ ๖. ครุ ๗. นิคคหิต ๘. สัมพันธะ ๙. ววัตถิตะ ๑๐. วิมุตตะ ซึ่งเป็นหลักการ ขยายตัวพยัญชนะ ๑๐ ประเภท

ทรงแสดงธรรมมีพยัญชนะบริบูรณ์ เพราะฉะนั้น ท่านจึงเรียกว่า ทรงแสดงธรรมเป็นสพยัญชนะพร้อมพยัญชนะ. คําว่า เกวลํ ในคําว่า เกวลปริปุณฺณํ นี้ แปลว่า สิ้นเชิง. บทว่า ปริปุณฺณํ แปลว่า ไม่ขาดไม่เกิน. ท่านอธิบายไว้ดังนี้ว่า ทรงแสดงธรรมุบริบูรณ์สิ้นเชิงทีเดียว แม้เทศนาสักอย่างหนึ่งที่ไม่บริบูรณ์ไม่มี. บทว่า ปริสุทฺธํ แปลว่า ปราศจากความหม่นหมอง. จริงอยู่ พระธรรมกถึกใดอาศัยธรรมเทศนานี้ แสดงธรรมด้วยมุ่งจักได้ลาภหรือ

 
  ข้อความที่ 28  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 9 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 497

สักการะ เทศนาของพระธรรมกถึกนั้นไม่บริสุทธิ์. ส่วนพระผู้มีพระภาคเจ้าไม่ทรงมุ่งโลกามิสแสดงธรรม มีพระหทัยอ่อนโยนด้วยเมตตาภาวนา ด้วยการแผ่ประโยชน์เกื้อกูล ทรงแสดงด้วยจิตที่ตั้งอยู่ในสภาพที่จะยกให้สูงขึ้น เพราะฉะนั้นท่านจึงเรียกว่า ทรงแสดงธรรมบริสุทธิ์. สกลศาสนาที่สงเคราะห์สิกขา ๓ ท่านเรียกว่า พรหมจรรย์ ในคํานี้ว่า พฺรหฺมจริยํ ปกาเสติ ดังนี้ เพราะฉะนั้นท่านจึงเรียกว่า ทรงประกาศพรหมจรรย์. ในคําว่า โส ธมฺมํ เทเสติ อาทิกลฺยาณํ ฯเปฯ บริสุทฺธํ นี้ พึงเห็นเนื้อความอย่างนี้ว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าเมื่อทรงแสดงอย่างนี้ ชื่อว่าทรงประกาศพรหมจรรย์ คือสกลศาสนาที่สงเคราะห์ด้วยสิกขา ๓. ท่านอธิบายว่า ความประพฤติอย่างประเสริฐ หรือความประพฤติของพระอริยเจ้าทั้งหลายมีพระพุทธเจ้าเป็นต้นผู้ประเสริฐ เพราะอรรถว่าประเสริฐสุด ชื่อว่า พรหมจรรย์. บทว่า ตํ ธมฺมํ ได้แก่ธรรมที่ถึงพร้อมด้วยประการดังกล่าวแล้วนั้น.

ถามว่า เพราะเหตุไร พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงทรงชี้เอาคหบดีก่อนว่า สุณาติ คหปติ. ตอบว่า เพราะคหบดีขจัดมานะเสียได้และมีจํานวนมาก. จริงอยู่ โดยมากคนที่บวชจากขัตติยตระกูลย่อมอาศัยชาติกระทํามานะ ที่บวชจากตระกูลพราหมณ์อาศัยมนต์กระทํามานะ ที่บวชจากตระกูลที่มีชาติต่ําก็ตั้งอยู่ไม่ได้เพราะตนมีชาติต่างออกไป. ส่วนเด็กๆ ตระกูลคหบดีมีเหงื่อไหลไคลย้อยหลังขึ้นส่าเกลือไถดิน กําจัดมานะและความกระด้างได้ เด็กเหล่านั้นบวชแล้วก็ไม่มีมานะหรือกระด้าง เรียนพระพุทธวจนะตามกําลัง กระทํากิจในวิปัสสนาย่อมสามารถดํารงอยู่ในพระอรหัตต์ได้ ก็คนที่ชื่อว่าออกบวชจากตระกูล นอกจากนี้ มีไม่มาก พวกคหบดีเท่านั้น มีมาก ดังนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงทรงชี้คหบดีก่อน เพราะกําจัดมานะได้ และมีมาก. บทว่า อฺตรสฺมิํ วา ได้แก่ หรือในตระกูลนอกนี้ ตระกูลใดตระกูลหนึ่ง. บทว่า ปจฺฉา ชาโต แปลว่า เกิดภายหลัง. บทว่า ตถาคเต สทฺธํ ปฏิลภติ ความว่า ฟังธรรม

 
  ข้อความที่ 29  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 9 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 498

ที่บริสุทธิ์แล้ว กลับได้ศรัทธาในพระตถาคตผู้เป็นเจ้าของธรรมว่า พระผู้มีพระภาคเจ้า เป็นสัมมาสัมพุทธะหนอ. บทว่า อิติปฏิสฺจิกฺขติ ได้แก่พิจารณาเห็นอย่างนี้. บทว่า สมฺพาโธ ฆราวาโส ความว่า แม้ถ้าว่า สองสามีภรรยาอยู่ในเรือนห่าง ๖๐ ศอก หรือระหว่างร้อยโยชน์ แม้เช่นนั้น ฆราวาสก็ชื่อว่า คับแคบ เพราะอรรถว่าสองสามีภรรยานั้นมีความกังวล มีความห่วงใยกัน. คําว่า รชาปโถ ท่านกล่าวไว้ในมหาอรรถว่า ได้แก่ฐานที่ตั้งขึ้นแห่งธุลีคือราคะเป็นต้น. แม้จะกล่าวว่า ทางมา ก็ควร. บรรพชาเป็นประหนึ่งกลางแจ้ง เพราะอรรถว่า ไม่ข้อง ฉะนั้น จึงชื่อว่า อัพโภกาส. จริงอยู่ ผู้บวชแล้ว แม้อยู่ในเรือนยอดปราสาทแก้วและเทพวิมานเป็นต้น ที่มีประตูหน้าต่างปิด ที่เขาปกปิดไว้ก็ไม่ข้อง ไม่ขัด ไม่ติด. ด้วยเหตุนั้น จึงตรัสว่า บรรพชาว่างอย่างยิ่ง. อีกอย่างหนึ่ง ฆราวาสชื่อว่า คับแคบ เพราะไม่มีโอกาสทําบุญ. ชื่อว่า รชาปถะ เพราะเป็นที่รวมแห่งธุลี คือกิเลส ดุจสถานที่กองขยะที่เขาไม่ระวัง บรรพชา ชื่อว่า อัพโภกาส เพราะมีโอกาสทําบุญได้ตามสะดวก.

ในคําว่า นยิทํ สุกรํ ฯเปฯ ปพฺพเชยฺยํ นี้ จะกล่าวอย่างสังเขปดังนี้ พรหมจรรย์ คือสิกขา ๓ นี้ใด ชื่อว่า บริบูรณ์โดยส่วนเดียว เพราะทําไม่ขาดแม้วันเดียวพึงให้ถึงจริมกจิต และชื่อว่าบริสุทธิ์โดยส่วนเดียว เพราะไม่หม่นหมองด้วยมลทินคือกิเลสแม้แต่วันเดียวให้ถึงจริมกจิต. บทว่า สงฺขลิขิตํ ได้แก่ พึงประพฤติเช่นเดียวกับสังข์ขัด คือเทียบด้วยสังข์ที่ขัดแล้ว. ผู้อยู่ครองเรือน คือผู้อยู่ท่ามกลางเรือนประพฤติพรหมจรรย์ที่บริสุทธิ์บริบูรณ์โดยส่วนเดียวดังสังข์นี้ กระทําไม่ได้ง่าย. ถ้ากระไร เราพึงปลงผมและหนวดครองคือนุ่งห่มผ้าที่ชื่อกาสายะ เพราะย้อมด้วยน้ำฝาดที่เหมาะสําหรับผู้ประพฤติพรหมจรรย์ ออกจากเรือนบวชไม่มีเรือน. ก็เพราะเหตุที่การงานมีไถนาและค้าขายเป็นต้น เกื้อกูลแก่เรือน เรียกว่า อคาริยะ และอคาริยกิจนั้นไม่มีใน

 
  ข้อความที่ 30  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 9 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 499

บรรพชา ฉะนั้น บรรพชาพึงทราบว่า อนคาริยะ ในคํานี้. ไม่มีกิจของผู้ครองเรือนนั้น. บทว่า ปพฺพเชยฺยํ แปลว่า พึงปฏิบัติ. บทว่า อปฺปํ วา ความว่า โภคะต่ํากว่าพันลงมา ชื่อว่าน้อย สูงกว่าพันขึ้นไป ชื่อว่ามาก. เครือคือญาติ ชื่อว่า เครือญาติ เพราะอรรถว่า เกี่ยวพัน เครือญาตินั้นต่ํากว่า ๒๐ ลงมา ชื่อว่าน้อย สูงกว่า ๒๐ ขึ้นไป ชื่อว่า มาก. บทว่า ภิกฺขุนํ สิกฺขาสาชีวสมาปนฺโน ความว่า ภิกษุผู้ชื่อว่า สมาปันนะ เพราะศึกษาในสิกขา กล่าวคืออธิศีล และสาชีพกล่าวคือสิกขาบทที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงบัญญัติแล้วสําหรับภิกษุทั้งหลายผู้อยู่ร่วมกัน มีชีวิตเป็นอันเดียวกัน มีความประพฤติเสมอกัน ฉะนั้น ภิกษุนั้นจึงชื่อว่า สิกขาสาชีวสมาปันนะ สําหรับภิกษุทั้งหลาย. ความว่า ทําสิกขาบทให้บริบูรณ์ และไม่ล่วงละเมิดสาชีพ เข้าถึงสิกขาและสาชีพทั้งสองนั้น. กถาว่าด้วยปาณาติบาตเป็นต้น ในคําว่า ปาณาติปาตํ ปหาย เป็นต้น ท่านกล่าวไว้พิสดารแล้วในหนหลัง. บทว่า ปหาย ได้แก่ ละความทุศีลกล่าวคือเจตนาฆ่าสัตว์นี้. บทว่า ปฏิวิรโต โหติ ความว่า งดเว้นจากความทุศีลนั้น ตั้งแต่เวลาที่ละได้แล้ว. บทว่า นิหิตทณฺโฑ นิหิตสตฺโถ ความว่า ชื่อว่า ทิ้งไม้ ทิ้งมีดเพราะไม่ถือไปเพื่อจะฆ่าเขา. ก็ในที่นี้เครื่องมือที่เหลือแม้ทั้งหมดเว้นไม้เสีย พึงทราบว่า มีด เพราะเป็นเครื่องเบียดเบียนสัตว์ทั้งหลาย. ภิกษุทั้งหลายถือไม้เท้าหรือมีดเหลาไม้สีฟันหรือมีดพับไม่ใช่เพื่อจะฆ่าเขา ฉะนั้นจึงนับว่า ทิ้งไม้ทิ้งมีด. บทว่า ลชฺชี ได้แก่ผู้ประกอบด้วยความละอาย มีความเกลียดบาปเป็นลักษณะ. บทว่า ทยาปนฺโน ได้แก่ถึงความเอ็นดู คือความเป็นผู้มีจิตเมตตา. บทว่า สพฺพปาณภูตหิตานุกมฺปิ ได้แก่เป็นผู้อนุเคราะห์สรรพสัตว์ด้วยประโยชน์เกื้อกูล อธิบายว่า ชื่อว่า เป็นผู้มีจิตเกื้อกูลแก่สรรพสัตว์เพราะเป็นผู้มีความเอ็นดูนั้น. บทว่า วิหรติ

 
  ข้อความที่ 31  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 9 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 500

ได้แก่ย่อมยังอัตภาพให้เป็นไปคือเลี้ยงอัตภาพ. บุคคลผู้ชื่อว่า ทินฺนาทายี เพราะถือเอาสิ่งของที่เขาให้แล้วเท่านั้น. ชื่อว่า ทินฺนปาฏิกงฺขี เพราะหวังเฉพาะแต่สิ่งที่เขาให้ด้วยจิตเหล่านั้น. บุคคลใดย่อมลัก บุคคลนั้นชื่อว่า ขโมย. ด้วยขโมยหามิได้ ชื่อว่า อถเนน มิใช่ด้วยขโมย ชื่อว่าเป็นผู้สะอาดเพราะเป็นผู้ไม่ขโมยนั่นเอง. บทว่า อตฺตนา แปลว่า ด้วยทั้งอัตภาพ ท่านอธิบายไว้ว่า เมื่อเป็นเช่นนี้เขาย่อมทําอัตภาพให้สะอาดอยู่. บทว่า อพฺรหฺมจริยํ แปลว่า ประพฤติไม่ประเสริฐ. ชื่อว่า พฺรหฺมจารี เพราะประพฤติอาจาระอันประเสริฐ คือประเสริฐสุด. บทว่า อาราจารี ได้แก่ผู้ประพฤติห่างไกลจากอพรหมจรรย์. บทว่า เมถุนา ได้แก่อสัทธรรม ที่นับว่าเมถุนเพราะส้องเสพ โดยได้โวหารว่า เมถุนกะ เพราะเป็นเสมือนถูกราคะกลุ้มรุม. บทว่า คามธมฺมา แปลว่า ธรรมของชาวบ้าน. ชื่อว่า สัจจวาที เพราะพูดคําจริง. ชื่อว่า สจฺจสนฺโธ เพราะเอาสัจจะ กับสัจจะเชื่อมต่อกัน อธิบายว่าไม่พูดปนเท็จ. ความจริงบุรุษใดบางครั้งพูดเท็จ บางครั้งพูดจริง ไม่เอาสัจจะกับสัจจะเชื่อมต่อกัน เพราะสัจจะกับมุสาวาทไม่อยู่ในภายใน เพราะเหตุนั้นบุรุษนั้นไม่ชื่อว่าเอาสัจจะกับสัจจะเชื่อมต่อกัน แต่ผู้นี้หาเป็นเช่นนั้นไม่. ผู้ไม่กล่าวมุสาวาท แม้เพราะเหตุแห่งชีวิต แต่เอาสัจจะกับสัจจะเชื่อมต่อกันพูดจริงตลอดเรื่อง เพราะเหตุนั้น ผู้นั้นชื่อว่า สัจจสันธะ. บทว่า เถโต แปลว่ามั่นคง อธิบายว่าผู้พูดมั่นคง. จริงอยู่ บุคคลผู้หนึ่งเป็นผู้มีถ้อยคําไม่มั่นคงเหมือนย้อมด้วยขมิ้น เหมือนปักหลักไว้ที่กองแกลบและเหมือนฟักที่เขาวางไว้บนหลังม้าฉะนั้น. ผู้หนึ่ง มีถ้อยคํามั่นคง เหมือนรอยจารึกในหินและเหมือนเสาเขื่อน แม้เมื่อเขาเอาดาบฟันศีรษะ ก็ไม่กล่าวถ้อยคําให้เป็น ๒ ผู้นี้ชื่อว่า เถตะ ผู้มีถ้อยคํามั่นคง. บทว่า ปจฺจยิโก แปลว่า บุคคลผู้ที่ควรเชื่อได้ อธิบายว่า ผู้น่าเชื่อ. ความจริง บุคคลบางคน เป็นผู้ไม่ควรเชื่อ เมื่อเขาถามว่าคํานี้ใครกล่าว คนโน้นหรือกล่าว ย่อมถูกเขาต่อว่า ว่าอย่าชื่อคําของ

 
  ข้อความที่ 32  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 9 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 501

ผู้นั้น. คนหนึ่งเป็นคนที่ควรเชื่อได้ เมื่อเขาถามว่า คํานี้ใครกล่าว คนโน้นหรือกล่าว ย่อมถูกต่อว่า ว่าถ้าเขาพูดไซร้ คํานี้เท่านั้นเป็นประมาณ บัดนี้ไม่มีคําที่ต้องสอบสวน คํานี้ต้องเป็นอย่างนั้นเอง ผู้นี้ท่านเรียกว่าผู้ที่ควรเชื่อได้.

บทว่า อวิสํวาทโก โลกสฺส ความว่า ย่อมไม่กล่าวคําเป็นพิษกะชาวโลก เพราะมีปกติกล่าวแต่คําสัตย์นั้น. บทว่า อิเมสํ เภทาย ความว่า เพื่อทําลายเหล่าชนที่ได้ยินในสํานักของคนที่พูดว่าได้ฟังมาจากข้างนี้. บทว่า ภินฺนานํ วา สนฺธาตา ความว่า เมื่อคน ๒ ฝ่ายเป็นมิตรกัน หรือเป็นผู้ที่เกี่ยวข้องกันมีร่วมอุปัชฌายะเดียวกันเป็นต้น แตกกันด้วยกิจบางอย่างแล้ว ผู้ที่ควรเชื่อได้เข้าไปหาที่ละฝ่ายแล้ว พูดทําความสมานเป็นต้นว่า การอย่างนี้หาสมควรแก่พวกท่านผู้เกิดในตระกูลเช่นนี้ผู้เป็นพหูสูตอย่างนี้ไม่ ดังนี้. บทว่า อนุปฺปทาตา ได้แก่ผู้สนับสนุนบุคคลที่ปรองดองแล้ว อธิบายว่าผู้ที่ควรเชื่อได้เห็นคนทั้งสองผู้สามัคคีกันอยู่แล้ว พูดทําให้มั่นเข้าว่า การอย่างนี้ เป็นการสมควรแก่พวกท่าน ผู้เกิดในตระกูลเห็นปานนั้น ผู้ประกอบด้วยคุณเห็นปานนี้ ดังนี้เป็นต้น. ชื่อว่า สมคฺคาราโม เพราะมีคนมีสามัคคีเป็นที่มายินดีอธิบายว่า คนผู้สามัคคีกัน ไม่มีในที่ใด ย่อมไม่ปรารถนา จะอยู่ในที่นั้น. บาลีว่า สมคฺคราโม ดังนี้ก็มี. ความก็อย่างนี้เหมือนกัน. บทว่า สมคฺครโต ได้แก่ ผู้ยินดีในเหล่าคนผู้พร้อมเพรียงกัน อธิบายว่า ย่อมไม่ปรารถนาละคนผู้สามัคคีกันเหล่านั้นไปในที่อื่น. ชื่อว่า ผู้ชื่นชมในคนผู้สามัคคีกัน เพราะผู้ที่ควรเชื่อได้นั้น เห็นก็ดี ได้ยินก็ดี ซึ่งเหล่าคนผู้สามัคคีกัน ย่อมยินดี. บทว่า สมคฺคกรณิํ วาจํ ภาสิตา ความว่า บุคคลผู้ที่ควรเชื่อได้นั้น ย่อมกล่าววาจาที่ทําคนให้สามัคคีกัน ซึ่งเป็นวาจาแสดงคุณของสามัคคีอย่างเดียว หากล่าววาจาตรงกันข้ามจากนี้ไม่. โทษท่านเรียกว่า เอล ในบทว่า เนลา ดังนี้ วาจา ชื่อว่า หาโทษมิได้ เพราะโทษของวาจานั้นไม่มี อธิบายว่า

 
  ข้อความที่ 33  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 9 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 502

วาจาไม่มีโทษ บทว่า เนลา นั้นเหมือน เนละศัพท์ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ในคาถานี้ว่า เนลงฺโค เสตปจฺฉาโท ดังนี้เป็นต้น. บทว่า กณฺณสุขา ได้แก่วาจาสบายหู คือไม่เกิดความเสียดแทงหูเหมือนถูกเข็มแทง เพราะเป็นวาจาไพเราะโดยพยัญชนะ ชื่อว่า วาจา เป็นที่ตั้งแห่งความรัก เพราะวาจานั้นไม่ทําให้เกิดความโกรธ ทำความรักให้เกิดทั่วสรีระ เพราะเป็นวาจาไพเราะโดยอรรถ. ชื่อว่า เป็นวาจาจับใจ เพราะวาจานั้นย่อมถึงใจ คือไม่กระทบกระทั่ง เข้าไปถึงจิตโดยสะดวก. ชื่อว่าเป็นวาจาชาวเมือง เพราะวาจานั้นมีอยู่ในเมือง เหตุเป็นวาจาที่บริบูรณ์ด้วยคุณ. ชื่อว่า โปรี เพราะวาจานั้นเป็นวาจาอ่อนโยนประหนึ่งว่า หญิงผู้เจริญในบุรี ดังนี้ก็มี. ชื่อว่า โปรี เพราะวาจานั้นเป็นวาจาของชาวเมืองดังนี้ก็มี อธิบายว่า เป็นถ้อยคําของชาวเมือง. ด้วยว่า ชาวเมืองย่อมเป็นผู้มีถ้อยคําสมควร คือเรียกคนปูนพ่อว่าพ่อ คนผู้ปูนแม่ว่าแม่ ปูนพี่ว่าพี่. ชื่อว่าผู้มีวาจาอันคนเป็นอันมากรักใคร่ เพราะถ้อยคําเห็นปานนั้น ย่อมเป็นวาจาอันคนเป็นอันมากชอบใจ. ชื่อว่า เป็นวาจาเป็นที่พอใจของชนเป็นอันมาก เพราะวาจานั้น เป็นที่พอใจ คือทําความเจริญใจแก่ชนเป็นอันมาก เพราะเป็นวาจาที่คนทั้งหลายรักใคร่นั่นเอง. บุคคลผู้ชื่อว่า กาลวาทีเพราะกล่าวโดยกาล อธิบายว่าบุคคลนั้นย่อมกําหนดกาลอันควรกล่าวแล้วกล่าว. ชื่อว่าผู้มีปกติกล่าวคําจริง เพราะย่อมกล่าวคําที่จริง คือคําแท้ ได้แก่คําเป็นจริงอย่างเดียว. ชื่อว่าผู้มีปกติกล่าวอาศัยประโยชน์ เพราะบุคคลนั่นกล่าวกระทําให้เป็นคําอาศัยอรรถอันเป็นประโยชน์ในภพนี้และภพหน้าอย่างเดียว. ชื่อว่าผู้มีปกติกล่าวอาศัยธรรม เพราะบุคคลนั้นย่อมกล่าวทําให้เป็นคําอาศัยโลกุตตรธรรม ๙. ชื่อว่า ผู้มีปกติกล่าวอาศัยวินัย เพราะกล่าวกระทําให้เป็นคําอาศัยสังวรวินัย และปหานวินัย โอกาสที่ตั้ง ท่านเรียกว่าหลักฐาน หลักฐานของวาจานั้นมีอยู่ เหตุนั้น วาจานั้น ชื่อว่า มีหลักฐาน อธิบายว่า บุคคล

 
  ข้อความที่ 34  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 9 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 503

ผู้ที่ควรเชื่อได้นั้น ย่อมเป็นผู้กล่าววาจาอันสมควรที่จะพึงเก็บไว้ในหทัย. บทว่า กาเลน ความว่า ก็บุคคลผู้ควรเชื่อได้นั้นแม้เมื่อกล่าวคําเห็นปานนั้น ย่อมไม่กล่าวโดยกาลอันไม่สมควรด้วยถือว่า จักกล่าวคํามีหลักฐานดังนี้ แต่พิจารณากาลอันสมควรแล้ว จึงกล่าว. บทว่า ลาปเทสํ ความว่า มีอุปมา มีเหตุ. บทว่า ปริยนฺตวติํ มีความว่า ที่สุดของวาจานั้น จะปรากฏด้วยประการใด บุคคลผู้เชื่อได้นั้นกล่าวแสดงที่สุด โดยประการนั้น. บทว่า อตฺถสฺหิตํ ความว่า ชื่อว่าถึงพร้อมด้วยประโยชน์ เพราะวาจานั้นอันบุคคลผู้จําแนกอยู่โดยนัยแม้เป็นอันมากไม่อาจจะให้ถือเอาที่สุดได้ อีกอย่างหนึ่ง มีความว่า บุคคลผู้ควรเชื่อนั้น ย่อมกล่าววาจาอันชื่อว่าประกอบด้วยประโยชน์ เพราะวาจานั้นเป็นวาจาประกอบด้วยประโยชน์ที่เขากล่าว ท่านกล่าวอธิบายไว้ว่า บุคคลผู้ควรเชื่อนั้น หายกคําอย่างหนึ่งแล้ว ไพล่ไปกล่าวเสียอีกอย่างหนึ่งไม่.

บทว่า วีชคามภูตคามสารมฺภา ความว่า เว้นจากการพรากพืชคาม ๕ อย่างคือพืชเกิดแต่ราก พืชเกิดแต่ลําต้น พืชเกิดแต่ข้อ พืชเกิดแต่ยอด พืชเกิดแต่เมล็ด และภูตคามมีของเขียวหญ้าและต้นไม้เป็นต้นชนิดใดชนิดหนึ่ง คือทําลายโดยตัดและเผาเป็นต้น. บทว่า เอกภตฺติโก ความว่า ภัตร ๒ อย่างคือ ภัตรที่จะพึงบริโภคในเวลาเช้า ภัตรที่จะพึงบริโภคในเวลาเย็น ในสองอย่างนั้น ภัตรที่จะพึงบริโภคในเวลาเช้า กําหนดภายในเที่ยงวันภัตรที่จะพึงบริโภคในเวลาเย็น กําหนดตั้งแต่เที่ยงวันถึงภายในอรุณ เพราะฉะนั้น แม้จะบริโภคภายในเที่ยงวันตั้งแต่ ๑๐ ครั้ง ก็ชื่อว่า เป็นผู้มีภัตรหนเดียว ท่านหมายเอาความเป็นผู้มีภัตรหนเดียวนั้นกล่าวว่า เอกภตฺติโก ดังนี้. ชื่อว่า รตฺตูปรโต เพราะเว้นจากการบริโภคในเวลากลางคืนนั้น. การบริโภคในเวลาเลยเที่ยงไปแล้วจนถึงพระอาทิตย์ตก ชื่อว่าบริโภคในเวลาวิกาล.

 
  ข้อความที่ 35  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 9 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 504

เพราะเว้นจากวิกาลโภชน์นั้น จึงชื่อว่าเว้นจากบริโภคอาหารในเวลาวิกาล. ชื่อว่า วิสูกทสฺนํ เพราะเป็นการดูที่เป็นข้าศึกศัตรูเพราะไม่อนุโลมตามพระศาสนา. ชื่อว่า นจฺจคีตวาทิตวิสูกทสฺสนา เพราะการฟ้อน การขับ การประโคมด้วยการอํานาจฟ้อนเองและให้ผู้อื่นฟ้อนเป็นต้น และการดูที่เป็นข้าศึกซึ่งการฟ้อนเป็นต้นที่เป็นไปแม้อย่างต่ํามีนกยูงรําแพนเป็นต้น. การประกอบเองก็ดี การให้ผู้อื่นประกอบก็ดี ซึ่งการฟ้อนเป็นต้น หรือการดูการฟ้อนเป็นต้นที่ผู้อื่นประกอบย่อมไม่ควรแก่ภิกษุและภิกษุณีทั้งนั้น. บทว่า มาลา ในคําว่า มาลา เป็นต้น ได้แก่ดอกไม้ชนิดใดชนิดหนึ่ง. บทว่า คนฺธํ ได้แก่ของหอมชนิดใดชนิดหนึ่ง. บทว่า วิเลปนํ ได้แก่ เครื่องประเทืองผิว. ผู้ประดับในเครื่องประดับเหล่านั้น ชื่อว่าทัดทรง. ผู้ทําที่พร่องให้เต็ม ชื่อว่า ประดับ. ผู้ยินดีด้วยของหอมและเครื่องประเทืองผิว ชื่อว่า ตกแต่ง. เหตุท่านเรียกว่าฐานะ. อธิบายว่า เพราะฉะนั้น มหาชนทําการทัดทรงดอกไม้เป็นต้นเหล่านั้นด้วยเจตนาเครื่องทุศีลใด เป็นผู้งดเว้นจากเจตนาเครื่องทุศีลนั้น. ที่นอนอันเกินประมาณ ท่านเรียก อุจจาสยนะ. เครื่องลาดที่ไม่สมควร ชื่อว่า มหาสยนะ. อธิบายว่า งดเว้นจากที่นอนสูงและที่นอนใหญ่นั้น. บทว่า ชาตรูปํ ได้แก่ทอง. บทว่า รชฏํ ความว่าวัตถุเหล่าใดถึงการบัญญัติว่า กหาปณะ มาสกโลหะ มาสกยาง มาสกไม้ งดเว้นจากการรับวัตถุทั้งสองนั้น. อธิบายว่า ไม่รับเอง ไม่ให้คนอื่นรับวัตถุทั้งสองนั้น ไม่ยินดีวัตถุทั้งสองที่คนอื่นเก็บไว้.

บทว่า อามกธฺปฏิคฺคหณา ได้แก่จากการรับ ธัญญชาติดิบ ๗ อย่างคือ ข้าวสาลี ข้าวเปลือก ข้าวเหนียว ข้าวละมาน ข้าวฟ่าง ลูกเดือย หญ้ากับแก้. มิใช่ห้ามการรับธัญญชาติเหล่านั้นอย่างเดียวเท่านั้น แม้การถูกต้องก็ไม่ควรแก่ภิกษุทั้งหลาย. ในบทว่า อามกมํสปฏิคฺคหณา นี้ความว่า การรับเนื้อและปลาดิบ ย่อมไม่ควรแก่ภิกษุทั้งหลาย การถูกต้องก็ไม่

 
  ข้อความที่ 36  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 9 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 505

ควร นอกจากที่ทรงอนุญาตไว้โดยเฉพาะ. คําว่า อิตฺถี ในคําว่า อิตฺถี กุมาริกปฏิคฺคหณา นี้ได้แก่หญิงที่กําลังอยู่กับผู้ชาย นอกนั้นจัดเป็นหญิงสาว. การรับก็ดี การจับต้องก็ดี ซึ่งหญิงเหล่านั้น. ในบทว่า ทาสีทาส ปฏิคฺคหณา นี้ ความว่า ไม่ควรรับชนเหล่านั้น ไว้โดยเป็นทาสหญิงทาสชายเลย แต่เมื่อเขาพูดว่าฉันถวายเป็นกัปปิยะการก ฉันถวายเป็นคนวัด ก็ควรได้รับ. ในแพะและแกะเป็นต้น มีนาและสวนเป็นที่สุดพึงใคร่ครวญนัยที่สมควรและไม่สมควร ตามวินัย. ในบรรดานาและสวนนั้น ชื่อว่า นาคือที่ปลูกปุพพัณณชาติ ชื่อว่า ที่สวน คือที่ปลูกอปรัณณชาติ. อีกอย่างหนึ่ง ที่ที่ปุพพัณณชาติและอปรัณณชาติทั้งสองงอกขึ้นนั้น ชื่อว่า นา ภูมิภาคที่มิได้ทําไว้เพื่อประโยชน์นั้น ชื่อว่า สวน. ก็ในที่นี้ท่านรวมแม้บึงและหนองเป็นต้น โดยมีนาและสวนเป็นสําคัญ. งานทูตคือการถือหนังสือหรือข่าวสารของคฤหัสถ์ไปในที่นั้นๆ เรียกว่า ทูเตยะ (การส่งข่าวสาร). การไปด้วยกิจเล็กๆ น้อยๆ ของผู้ที่เขาส่งไปจากเรือน (นี้) สู่เรือนโน้น ท่านเรียกว่าการรับใช้. การกระทําทั้งสองอย่างนั้น ชื่อว่าอนุโยคเพราะฉะนั้นพึงเห็นความในข้อนี้ว่า การประกอบเนืองๆ ซึ่งการส่งข่าวสารและการรับใช้. บทว่า กยวิกฺกยา ได้แก่การซื้อและการขาย. บทว่า กูฏํ ในคําว่า ตุลากูฏเป็นต้น ได้แก่การโกง. ก่อนอื่นในการโกงเหล่านั้น การโกงด้วยตาชั่งมี ๔ อย่างคือ โกงโดยรูป โกงโดยอวัยวะ โกงโดยรับ โกงโดยปกปิด. ในการโกงอย่างนั้น ชื่อว่าการโกงโดยรูป คือการทําตาชั่ง ๒ อัน ให้รูปเท่ากัน เมื่อรับก็รับด้วยตาชั่งอันใหญ่ เมื่อให้ก็ให้ด้วยตาชั่งอันเล็ก. ชื่อว่าโกงโดยอวัยวะคือ เมื่อรับก็เอามือกดตาชั่งข้างหลังไว้ เมื่อให้ก็เอามือกดตาชั่งข้างหน้าไว้. ชื่อว่าการโกงโดยรับคือเมื่อรับก็จับเชือกที่ต้น เมื่อให้ก็จับเชือกที่ปลาย. ชื่อว่าโกงโดยปกปิด คือ

 
  ข้อความที่ 37  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 9 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 506

กระทําตาชั่งกลวงแล้วใส่ผงเหล็กไว้ข้างใน เมื่อรับก็กระทําตาชั่งนั้นไว้ทางหลัง เมื่อให้ก็กระทําตาชั่งไว้ทางปลาย.

ถาดทองคําเรียกว่าสําริด. การโกงด้วยถาดทองนั้น ชื่อว่าโกงด้วยสําริด. อย่างไร. คือกระทําถาดทองขึ้นใบหนึ่ง แล้วกระทําถาดโลหะอย่างอื่น ๒ - ๓ ใบให้มีสีเหมือนทอง แต่นั้น ไปยังชนบทเข้าไปหาตระกูลที่มั่งคั่งตระกูลใดตระกูลหนึ่ง กล่าวว่า ท่านจงซื้อภาชนะทอง เมื่อเขาถามราคาเป็นผู้ประสงค์จะให้สิ่งที่มีราคามากกว่า. แต่นั้น เมื่อคนเหล่านั้นพูดว่า บอกทีเถิดข้าพเจ้าจะทราบว่าถาดเหล่านี้เป็นทองคําได้อย่างไร จึงบอกว่า ท่านจงทดลองเอาเถอะแล้วเอาถาดทองครูดที่หิน แล้วมอบถาดทั้งหมดให้ไป.

ชื่อการโกงด้วยเครื่องตวงวัดมี ๓ อย่างคือ หทยเภทสิขาเภทรัชชุเภท ๑. ใน ๓ อย่างนั้น หทยเภทะ ใช้ในเวลาตวงเนยใสและน้ำมันเป็นต้น. คือเมื่อจะซื้อเนยใสและน้ำมันเป็นต้นเหล่านั้น ก็บอกว่าจงค่อยๆ ริน แล้วให้เนยใสและน้ำมันเป็นอันมากไหลลงในภายในภาชนะด้วยเครื่องตวงที่มีช่องอยู่ภายในรับเอา เมื่อจะขายก็ปิดช่องเสียทําให้เต็มเร็วๆ ให้ไป. สิขาเภทะ ใช้ในเวลาตวงงาและข้าวสารเป็นต้น. คือเมื่อจะตวงซื้องาและข้าวสารเป็นต้นเหล่านั้นก็ค่อยๆ ยอดพูนสูงขึ้นถือเอา เมื่อตวงขายก็รีบตวงให้เต็มแล้วปาดขายไป. รัชชุเภทะ ใช้ในเวลาวัดที่นาและที่สวน. คือเมื่อไม่ได้สินจ้างก็วัดทํานาที่แม้ในใหญ่ก็ให้ใหญ่ได้.

พึงทราบวินิจฉัยในคําว่า อักโกฏนะ เป็นต้น. บทว่า อุกฺโกฏนํ หมายเอาการโกง เพื่อทําคนผู้เป็นเจ้าของไม่ให้เป็นเจ้าของ. บทว่า วฺจนํ ได้แก่การลวงคนอื่น ด้วยอุบายนั้นๆ. ในข้อนั้นมีเรื่องหนึ่งเป็นอุทาหรณ์ดังต่อไปนี้ เล่ากันมาว่า นายพรานคนหนึ่ง จับเนื้อและลูกเนื้อมา. นักเลงคนหนึ่ง พูดกะเขาว่าผู้เจริญเนื้อราคาเท่าไร ลูกเนื้อราคาเท่าไร. เมื่อเขาตอบว่าเนื้อ ๒ กหาปณะ

 
  ข้อความที่ 38  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 9 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 507

ลูกเนื้อ ๑ กหาปณะ จึงให้ ๑ กหาปณะแล้ว พาเอาลูกเนื้อไปได้หน่อยหนึ่งก็กลับมาพูดว่าฉันไม่ต้องการลูกเนื้อละ ท่านจงให้เนื้อแก่ฉัน. ถ้าเช่นนั้นท่านจงให้ ๒ กหาปณะ. นักเลงนั้นพูดว่า ผู้เจริญ เราให้ ๑ กหาปณะ แก่ท่านก่อนแล้วมิใช่หรือ. รับว่า เออให้แล้ว. จึงกล่าวว่า ท่านจงเอาลูกเนื้อแม้นี้ไป เมื่อเป็นเช่นนั้น กหาปณะนั้น และลูกเนื้อซึ่งได้ราคา ๑ กหาปณะ นี้ จึงรวมเป็น ๒ กหาปณะ นี้ จึงรวมเป็น ๒ กหาปณะ. นายพรานกําหนดว่า เขากล่าวมีเหตุผลจึงรับเอาลูกเนื้อไว้แล้วให้เนื้อไป. บทว่า นิกติ ได้แก่การลวงด้วยวิธีปลอม โดยทําสิ่งซึ่งไม่ใช่สังวาลว่าเป็นสังวาล ที่ไม่ใช่แก้วมณีว่าเป็นแก้วมณี ที่มีใช่ทองว่าเป็นทอง ด้วยการตลบตะแลง หรือด้วยกลลวง. บทว่า สาวิโยโค แปลว่า การตลบตะแลงด้วยการโกง. คําว่าสาวิโยโคนี้ เป็นชื่อของการคดโกงเป็นต้นเหล่านั้นนั่นเอง. เพราะฉะนั้น พึงเห็นความในคําว่า สาวิโยโคนี้ว่า ตลบตะแลงด้วยการคดโกง ตลบตะแลงด้วยหลอกลวง. อาจารย์บางพวกกล่าวว่า การแสดงสิ่งหนึ่งแล้ว เปลี่ยนเป็นอีกสิ่งหนึ่ง ชื่อว่า สาวิโยคะ ตลบตะแลง. แต่คํานั้น ท่านก็รวมเข้าด้วยการหลอกลวงเหมือนกัน. พึงทราบวินิจฉัยในข้อว่า เฉทนะเป็นต้น คําว่า เฉทนํ ได้แก่การตัดมือเป็นต้น. บทว่า วโธ ได้แก่การทําให้ตาย. บทว่า พนฺโธ ได้แก่ การจองจําด้วยเครื่องจําคือเชือกเป็นต้น. บทว่า วิปราโมโส ได้แก่การบังมี ๒ อย่างคือ บังด้วยหิมะ และบังด้วยพุ่มไม้. ใน ๒ อย่างนั้น บังด้วยหิมะ ในเวลาหิมะตกแล้วพูดเท็จกะชนผู้เดินไป นี้ เรียกว่า หิมวิปราโมส หิมะบังด้วยหิมะ. บังด้วยพุ่มไม้เป็นต้นแล้วพูดเท็จนี้ เรียกว่า คุมพวิปราโมสะ บังด้วยพุ่มไม้. การปล้นสะดมชาวบ้านและชาวนิคมเป็นต้น ท่านเรียกว่า อาโลโป การปล้น. บทว่า สหสากาโร ได้แก่การกระทําอย่างฉับพลันคือเข้าไปสู่เรือนแล้ว จี้อกของตนทั้งหลายแล้ว ฉวยสิ่งของตามปรารถนาไป เป็นผู้เว้นขาดจากอาการตัด ฆ่า จองจํา บัง ปล้นจี้นั้น ด้วยประการฉะนี้.

 
  ข้อความที่ 39  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 9 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 508

บทว่า โส สนฺตุฏฺโ โหติ ความว่า ภิกษุนั้นประกอบด้วยอิตริตรปัจจัยสันโดษ ๑๒ อย่าง ในปัจจัย ๔ ดังกล่าวแล้วในหนหลัง. อนึ่ง บริขาร ๘ คือ ไตรจีวร บาตร มีดน้อยสําหรับเหลาไม้สีฟัน เข็มเล่มหนึ่ง ประคตเอว ผ้ากรองน้ำ ย่อมควรแก่ภิกษุผู้ประกอบด้วยสันโดษในปัจจัยตามมีตามได้ ๑๒ อย่างนี้. สมจริงดังพระโปราณาจารย์ กล่าวไว้ว่า

บริขารเหล่านี้ คือ ไตรจีวร บาตร มีดน้อย เข็ม และประคตเอว เป็น ๘ ทั้งผ้ากรองน้ำ ย่อมควรแก่ภิกษุผู้ประกอบความเพียรด้วย.

บริขารเหล่านั้น แม้ทั้งหมด เป็นเครื่องบริหารกายก็ได้ บริหารท้องก็ได้ อย่างไร ก่อนอื่น ไตรจีวร ย่อมบริหาร คือเลี้ยงกาย ในคราวที่นุ่งและห่ม เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่าเป็นเครื่องบริหารกาย ย่อมบริหารคือเลี้ยงท้อง ในคราวที่กรองน้ำด้วยมุมจีวรแล้วดื่ม และในคราวที่ห่อผลไม้ใหญ่น้อย ที่ควรเคี้ยวกินได้ด้วยชายจีวรนั้น เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า เป็นเครื่องบริหารท้อง. แม้บาตรก็เป็นเครื่องบริหารกาย ในคราวที่ตักน้ำด้วยบาตรนั้นอาบ และในคราวตักน้ำด้วยบาตรนั้นประพรมกุฏี. เป็นเครื่องบริหารท้อง ในคราวรับอาหารด้วยบาตรนั้นฉัน. แม้มีดน้อย ย่อมเป็นเครื่องบริหารกาย ในคราวที่เหลาไม้สีฟันและในคราวที่ทําขาเตียงตั่งและคันกลด เป็นเครื่องบริหารท้อง ในคราวที่ตัดอ้อยและปอกมะพร้าวเป็นต้น. แม้เข็มย่อมเป็นเครื่องบริหารกาย ในคราวที่เย็บจีวร เป็นเครื่องบริหารท้อง ในคราวจิ้มขนมหรือผลไม้ฉัน. แม้ประคดเอว ย่อมเป็นเครื่องบริหารกายในคราวคาดเที่ยวไป เป็นเครื่องบริหารท้อง ในคราวมัดอ้อยเป็นต้นถือเอาไป. แม้ผ้ากรองน้ำ ย่อมเป็นเครื่องบริหารกาย ในคราวที่กรองน้ำด้วยผ้านั้นอาบ และในคราวที่กรองน้ำด้วยผ้า

 
  ข้อความที่ 40  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 9 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 509

นั้นแล้วทําการประพรมเสนาสนะ เป็นเครื่องบริหารท้อง ในคราวที่กรองน้ำดื่ม และในคราวที่ห่องาข้าวสารและข้าวเม่าเป็นต้นด้วยผ้านั้นแล้วฉัน. นี้เป็นประมาณบริขารของภิกษุผู้มีบริขาร ๘ เท่านั้น.

ส่วนภิกษุผู้มีบริขาร ๙ เข้าไปสู่ที่นอนจะมีเครื่องลาดสําหรับเสนาสนะนั้น หรือลูกกุญแจก็ควร. ภิกษุผู้มีบริขาร ๑๐ จะมีผ้านิสีทนะ หรือ แผ่นหนังก็ควร. ภิกษุผู้มีบริขาร ๑๑ จะมีไม้เท้าคนแก่ หรือทะนานน้ำมันก็ควร. ภิกษุผู้มีบริขาร ๑๒ จะมีร่มหรือรองเท้าก็ควร. ก็ในภิกษุเหล่านั้น ภิกษุผู้มีบริขาร ๘ เท่านั้น ชื่อว่าผู้สันโดษ นอกนั้นใครๆ ก็ไม่ควรกล่าวว่า ไม่สันโดษ เป็นผู้มักมาก เป็นผู้อยากใหญ่ ภิกษุเหล่านั้นทั้งหมด เป็นผู้มักน้อย สันโดษเลี้ยงง่าย และมีความประพฤติเบาทีเดียว. ก็พระผู้มีพระภาคเจ้า มิได้ทรงแสดงพระสูตรนี้ด้วยสามารถแห่งภิกษุเหล่านั้น ทรงแสดงด้วยอํานาจแห่งภิกษุผู้มีบริขาร ๘. จริงอยู่ ภิกษุผู้มีบริขาร ๘ นั้น ห่อมีดน้อยและเข็มไว้ในผ้ากรองน้ำเก็บไว้ในบาตรแล้วคล้องบาตรไว้ที่จะงอยบ่านุ่งห่มไตรจีวร คาดประคดเอวแล้วหลีกไป สบายตามประสงค์. เธอไม่ต้องกลับมาเอาอะไรอีก.

ดังนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าเมื่อทรงแสดงความประพฤติเบาพร้อมของภิกษุนี้ จึงตรัสว่า สนฺตุฏฺโ โหติ กายบริหาริเยน จีวเรน ดังนี้เป็นต้น.บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า กายบริหาริเยน คือเพียงเป็นเครื่องบริหารกาย. บทว่า กุจฺฉิปริหาริเยน ได้แก่ เพียงเป็นเครื่องบริหารท้อง. บทว่า สมาทาเยว ปกฺกมติ ความว่า เธอถือเอาเพียงเครื่องบริขาร ๘ ทั้งหมดนั้นติดตัวไป ย่อมไม่ข้องหรือติดอยู่ว่า วิหาร บริเวณ อุปัฏฐากของเรา ภิกษุผู้มีบริขาร ๘ นั้น ใช้สอยเสนาสนะ ที่ตนปรารถนาแล้วๆ คือไพรสณฑ์ โคนไม้ ชายป่า อยู่คนเดียว นั่งคนเดียวไม่มีเพื่อนในอิริยาบถทั้งปวง ดุจลูกศรที่พ้นจากแหล่ง

 
  ข้อความที่ 41  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 9 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 510

และดุจช้างตกมัน ปลีกไปจากโขลงฉะนั้น ย่อมถึงความเป็นผู้เหมือนนอแรดที่ท่านพรรณนาไว้อย่างนี้ว่า

จาตุทฺทิโส อปฺปฏิโฆ จ โหติ สนฺตุสฺสมาโน อิตรีตเรน ปริสฺสยานํ สหิตา อจฺฉมฺภี เอโก จเร ขคฺควิสาณกปฺโป

ภิกษุผู้สันโดษ ย่อมเป็นผู้อยู่เป็นสุขในทิศทั้ง ๔ และเป็นผู้ไม่หงุดหงิด สันโดษด้วยปัจจัยตามมีตามได้ ครอบงําอันตรายทั้งหลาย ไม่หวาดเสียว เที่ยวไปคนเดียวดังนอแรด.

บัดนี้ เมื่อทรงสาธกความข้อนั้น ด้วยอุปมาจึงตรัสว่า เสยฺยถาปิ เป็นต้น. บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ปกฺขี สกุโณ ได้แก่นกมีปีก. บทว่า เฑติ แปลว่า บิน. ก็ความสังเขปในข้อนี้มีดังนี้. ธรรมดาว่านกทั้งหลายรู้ว่าต้นไม้ในถิ่นโน้นมีผลสุก จึงพากันมาจากทิศต่างๆ เจาะจิก กินผลของต้นไม้นั้น ด้วยเล็บ ปีกและจะงอยปากเป็นต้น. นกเหล่านั้นไม่มีความคิดว่า นี้สําหรับวันนี้ๆ สําหรับวันพรุ่งนี้ แต่เมื่อผลไม้หมด มันก็ไม่ต้องรักษาต้นไม้ไว้ ไม่ต้องเอาปีก เล็บ หรือจะงอยปากเก็บไว้ที่ต้นไม้นั้น โดยที่แท้ ไม่มีความอาลัยในต้นนั้น ตัวใด ปรารถนาทิศภาคใด ตัวนั้นมีภาระคือปีกของตนเท่านั้นบินไปทางทิศนั้น ฉันใด ภิกษุนี้ก็ฉันนั้นเหมือนกัน ไม่มีความคิดปราศจากความอาลัยหลีกไป มุ่งมั่นแต่จะหลีกไปอย่างเดียว. บทว่า อริเยน แปลว่า ไม่มีโทษ. บทว่า อชฺฌตฺตํ แปลว่า ในอัตภาพของตน. บทว่า อนวชฺชสุขํ แปลว่า สุข ที่ไม่มีโทษ. บทว่า โส จกฺขุนา รูปํ ทิสฺวา ความว่า ภิกษุนั้น คือผู้ประกอบด้วยสีลขันธ์อันเป็นอริยะนี้ เห็นรูปด้วยวิญญาณจักษุ. คําที่

 
  ข้อความที่ 42  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 9 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 511

จะพึงกล่าวในบทที่เหลือทั้งหมดกล่าวไว้แล้วในวิสุทธิมรรค. บทว่า อพฺยาเสกสุขํ ได้แก่สุขที่ไม่ระคนด้วยกิเลส. ท่านกล่าวว่า สุขที่ไม่คาบเกี่ยวด้วยกิเลสก็มี. จริงอยู่ สุขในอินทรียสังวรชื่อว่า ไม่คาบเกี่ยว เพราะเป็นไปด้วยอํานาจเพียงรูปที่เห็นแล้วในอารมณ์มีรูปที่เห็นแล้วเป็นต้น. บทว่า โส อภิกฺกนฺเต ปฏิกฺกนฺเต ความว่า ภิกษุนั้น คือผู้ประกอบ ด้วยการสํารวมอินทรีย์ มีใจเป็นที่ ๖ เป็นผู้มีปกติกระทําด้วยความรู้ตัว ด้วยสติและสัมปชัญญะ ในฐานะทั้ง ๗ นี้ มีการก้าวไปและการถอยกลับเป็นต้น. คําที่จะพึงกล่าวในข้อนั้นได้กล่าวไว้แล้วในสติปัฏฐานสูตรนั้นแล.

ด้วยคําว่า โส อิมินา จ เป็นต้น ท่านแสดงไว้อย่างไร. ท่านแสดงถึงปัจจัยสมบัติแห่งการอยู่ป่า. จริงอยู่ การอยู่ป่าของผู้ที่ไม่มีปัจจัยเหล่านี้ย่อมไม่สําเร็จ จะถูกค่อนว่าเหมือนกับสัตว์ดิรัจฉาน หรือพรานไพร. เหล่าเทวดาผู้สิงอยู่ในป่า ช่วยกันประกาศก้องด้วยเสียงที่น่ากลัว ว่าภิกษุชั่วเห็นปานนี้ อยู่ป่าไปทําไม เอามือตีศีรษะ กระทําอาการให้หนีไป. ความไม่มีเกียรติยศก็แพร่ไปว่า ภิกษุโน้นเข้าไปป่า กระทํากรรมชั่วเช่นนี้. แต่การอยู่ป่าของภิกษุผู้ที่มีปัจจัย ๔ เหล่านั้น ย่อมสําเร็จ. แท้จริงเธอเมื่อพิจารณาถึงศีลของตนอยู่ ไม่เห็นความต่างพร้อยไรๆ ก็ทําให้เกิดปีติพิจารณาเห็นสิ่งนั้นโดยความสิ้นไป ย่อมก้าวลงสู่อริยภูมิ. เหล่าเทวดาผู้สิงอยู่ในป่าดีใจ ก็สรรเสริญ. เกียรติยศของภิกษุนั้น ย่อมแผ่ออกไป เหมือนหยาดน้ำมันงาที่ใส่ลงในน้ำฉะนั้น ด้วยประการฉะนี้.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า วิวิตฺตํ แปลว่า ว่าง อธิบายว่าไม่มีเสียงคือไร้เสียง. ก็ท่านหมายเอาคํานี้เอง จึงกล่าวไว้ในวิภังค์ว่า บทว่า วิวิตฺตํ ความว่า แม้หากว่า เสนาสนะมีในที่ใกล้ไซร้ และเสนาสนะนั้น ไม่เกลื่อนด้วยคฤหัสถ์ แลบรรพชิต เพราะฉะนั้น เสนาสนะนั้น ชื่อว่า วิวิตตะ. ชื่อว่า

 
  ข้อความที่ 43  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 9 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 512

เสนาสนะ เพราะเป็นที่นอนและเป็นที่นั่ง คํานั่น เป็นชื่อของเตียงและตั่งเป็นต้น. ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า บทว่า เสนาสนะ ได้แก่เสนาสนะคือที่นอน ที่นั่ง ตั่ง ฟูก หมอน วิหาร เพิง ปราสาท เรือนแถว ถ้ำ ป้อม ศาลา ที่เร้น พุ่มไผ่ โคนไม้ มณฑป อันเป็นที่ที่ภิกษุต้องอาศัยทั้งหมดนั่น จัดเป็นเสนาสนะ. อนึ่ง วิหาร เพิง ปราสาท เรือนแถว ถ้ำ นี้ชื่อว่า วิหารเสนาสนะ เสนาสนะ คือที่อยู่. เตียง ตั่ง ฟูก หมอน นี้ชื่อว่ามัญจปีฐเสนาสนะ แผงจาก ท่อนหนัง เครื่องลาดทําด้วยหญ้า เครื่องลาดทําด้วยใบไม้ นี้ชื่อว่า สันถัตเสนาสนะ เสนาสนะคือสันถัด อันเป็นที่ๆ ภิกษุอาศัย นี้ชื่อว่า โอกาสเสนาสนะ เสนาสนะคือที่ว่าง รวมทั้ง ๔ ดังว่ามานี้ จัดเป็นเสนาสนะ. เสนาสนะนั้นทั้งหมด ท่านรวมความไว้ด้วยศัพท์ว่าเสนาสนะเหมือนกัน.

ก็พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อทรงแสดงเสนาสนะอันสมควรแก่ภิกษุผู้จาริกไปในทิศทั้ง ๔ ซึ่งเสมือนนกนี้ จึงตรัสคําว่า อรฺํ รุกฺขมูลํ ดังนี้เป็นต้น. บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อรฺํ ได้แก่ที่ทั้งหมดนอกเสาเขื่อนออกไปนั่น ชื่อว่าป่า. ข้อนี้ มาโดยเรื่องสองเหล่าภิกษุณี. เสนาสนะชั่ว ๕๐๐ ลูกธนูเป็นที่สุด ชื่อว่า เสนาสนะป่า ก็เสนาสนะป่านี้ สมควรแก่ภิกษุนี้. ลักษณะของเสนาสนะนั่น กล่าวไว้แล้วในธุดงคนิเทศ ในวิสุทธิมรรค. บทว่า รุกฺขมูลํ ได้แก่โคนต้นไม้อันสงัดมีร่มเงาเย็นแห่งใดแห่งหนึ่ง. บทว่า ปพฺพตํ แปลว่า ภูเขาสิลา. จริงอยู่ เมื่อภิกษุใช้น้ำที่แอ่งน้ำที่ภูเขาศิลานั้น นั่ง ณ ร่มเงาของต้นไม้อันเย็น ต้องลมเย็นที่โชยมาในทิศต่างๆ ที่ปรากฏอยู่ จิตก็มีอารมณ์เป็นอันเดียว. น้ำท่านเรียกว่า กํ ในคําว่า กนฺทรํ ที่อันน้ำกัด ที่อันน้ำเซาะ ได้แก่ประเทศแห่งภูเขา ที่อาจารย์บางพวกเรียกว่า นทีตุมพะ บ้าง นทีกุฏฏะบ้าง. แท้จริงในประเทศแห่งภูเขานั้น มีทรายเสมือนแผ่นเงิน น้ำเสมือนแท่งแก้วมณี ย่อมไหลผ่านชัฏแห่งป่าเหมือนเพดานแก้วมณีบนยอด ภิกษุลงสู่ห้วย

 
  ข้อความที่ 44  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 9 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 513

ละหานเห็นปานนั้น ดื่มน้ำ ลูบตัวให้เย็น ยกทรายขึ้น ปูผ้าบังสุกุลจีวรนั่งทําสมณธรรม จิตก็มีอารมณ์เดียว. บทว่า คิริคุหํ ได้แก่ มีช่องใหญ่เช่นกับอุโมงค์ระหว่างภูเขา ๒ ลูก หรือ ภูเขาลูกเดียวกัน. ลักษณะสุสานกล่าวไว้แล้วในวิสุทธิมรรค. บทว่า วนปตฺถํ ได้แก่สถานที่ใกล้เคียงที่พวกมนุษย์ไม่ไถไม่หว่าน. ด้วยเหตุนั้นนั่นแหละ ท่านจึงกล่าวว่า วนปตฺถํ เป็นชื่อของเสนาสนะที่ห่างไกล. บทว่า อพฺโภกกาสํ ได้แก่ ที่ไม่มุ่งบัง. แต่ภิกษุประสงค์ก็กั้นกลดอยู่ในที่นั้นได้. บทว่า ปลาลปุชํ ได้แก่ ลอมฟาง จริงอยู่ เหล่าภิกษุชักฟางจากลอมฟางใหญ่ ทําที่อยู่เสมือนเงื้อมภูเขาและที่เร้นวางฟางไว้ข้างพุ่มไม้เป็นต้น แล้วนั่งทําสมณธรรมภายใต้ ท่านหมายเอาลอมฟางนั้นจึงกล่าวคํานี้. บทว่า ปจฺฉาภฺตตํ คือ ภายหลังภัต. บทว่า ปิณฺฑปาตปฏิกฺกนฺโต แปลว่ากลับจากบิณฑบาต. บทว่า ปลฺลงฺกํ ได้แก่นั่งพับขาโดยรอบ. บทว่า อาภุชิตฺวา แปลว่า ติดกัน. บทว่า อุชุํ กายํ ปณิธาย ได้แก่ ตั้งกายข้างบนให้ตรงเอาปลายกับปลายกระดูกสันหลัง ๑๘ ชิ้น ให้จดกัน. จริงอยู่ ภิกษุนั่งอย่างนี้หนังเนื้อเอ็นไม่ขัดกัน เมื่อเป็นอย่างนั้น เวทนาทั้งหลายที่พึงเกิดทุกขณะ เพราะความขัดกันแห่งหนังเนื้อเอ็นเหล่านั้นเป็นปัจจัย ก็ไม่เกิดแก่ภิกษุนั้น เมื่อเวทนาเหล่านั้นไม่เกิดขึ้น จิตก็มีอารมณ์เดียว. กัมมัฏฐานก็ไม่ตกไป ก็เข้าถึงความเจริญงอกงาม. บทว่า ปริมุขํ สติ อุปฏฺเปตฺวา ความว่า ตั้งสติมุ่งตรงต่อพระกัมมัฏฐานหรือกระทําไว้ใกล้หน้า. ด้วยเหตุนั้นแล ท่านจึงกล่าวไว้ในวิภังค์ว่า สตินี้ย่อมตั้งมั่น ตั้งมั่นด้วยดีที่ปลายจมูกหรือเงาหน้า ด้วยเหตุนั้นท่านจึงกล่าวว่า ตั้งสติไว้รอบหน้า. อีกอย่างหนึ่ง ศัพท์ว่า ปริ มีอรรถว่าถือเอาโดยรอบ ศัพท์ว่า มุขํ มีอรรถว่า นําออก ศัพท์ว่า สติ มีอรรถว่าปรากฏ ด้วยเหตุนั้นท่านจึงกล่าวว่า ปริมุขํ สติํ พึงเห็นความในคํานี้โดยนัยที่กล่าวมาแล้ว ในปฏิสัมภิทามรรคด้วยประการฉะนี้. ในคํานั้นมีความสังเขป

 
  ข้อความที่ 45  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 9 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 514

ดังนี้ว่า ปริคฺคหิตนิยฺยานํ สติํ กตฺวา ทําสติเครื่องนําออกจากทุกข์ที่กําหนดไว้เป็นอารมณ์.

อุปาทานขันธ์ ๕ ชื่อว่าโลก ในคําว่า อภิชฺฌํ โลเก นี้ เพราะอรรถว่าชํารุดทรุดโทรม เพราะฉะนั้น ในคํานี้มีเนื้อความดังนี้ว่า ละราคะ ในอุปาทานขันธ์ ๕ ข่มกามฉันทะ. บทว่า วิคตาภิชฺเฌน ความว่า ชื่อว่าปราศจากอภิชฌา เพราะละด้วยวิกขัมภนปหานะ ไม่ใช่เสมือน จักขุวิญญาณ. บทว่า อภิชฺฌาย จิตตํ ปริโสเธติ ความว่า ย่อมเปลื้องจิตจากอภิชฌา คือกระทําโดยประการที่อภิชฌานั้นปล่อยและครั้นปล่อยแล้วก็ไม่จับจิตนั้นอีก. แม้ในคําว่า พฺยาปาทปโทสมฺปหาย ดังนี้เป็นต้น ก็นัยนี้เหมือนกัน. ชื่อว่า พยาปาทะเพราะเป็นเครื่องเบียดเบียน คือจิตละปกติเดิมเหมือนขนมกุมมาสบูดเป็นต้น. ชื่อว่า ปโทสะ เพราะประทุษร้ายด้วยถาวรให้ถึงวิการหรือประทุษร้ายผู้อื่นให้พินาศ. คําทั้ง ๒ นี้เป็นชื่อของโกรธเหมือนกัน. ถีนะ เป็นความป่วยทางจิต มิทธะเป็นความป่วยทางเจตสิก. ทั้งถีนะทั้งมิทธะ ชื่อว่าถีนมิทธะ. บทว่า อาโลกสฺี ได้แก่ ผู้ประกอบด้วยปัญญาอันบริสุทธิ์ ปราศจากนิวรณ์ เพราะสามารถจําแสงสว่างที่ตนเห็นทั้งกลางคืนและกลางวันได้. บทว่า สโต สมฺปชาโน ได้แก่ ประกอบด้วยสติและญาณ (ปัญญา). ทั้ง ๒ นี้ท่านกล่าวไว้ เพราะเป็นธรรมอุปการะแต่อาโลกสัญญา. ทั้งอุทธัจจะ ทั้งกุกกุจจะ ชื่อว่า อุทธัจจกุกกุจจะ. บทว่า ติณฺณวิจิกิจฺโฉ แปลว่า ข้ามพ้นความสงสัยได้แล้ว. ชื่อว่า อกถํกถี ผู้ไม่มีความสงสัยเป็นเหตุกล่าวว่าอย่างไร เพราะไม่เป็นไปอย่างนี้ว่า นี้เป็นอย่างไร. บทว่า กุสเลสุ ธมฺเมสุได้แก่ธรรมไม่มีโทษ. อธิบายว่า ไม่สงสัยไม่เคลือบแคลงอย่างนี้ว่า ธรรมเหล่านี้เป็นกุศล หรือธรรมเหล่านั้นจัดเป็นกุศลได้อย่างไร. ในข้อนี้มีความสังเขปดังนี้. แต่เมื่อว่าโดยแยกตามอรรถและลักษณะแห่งคําเป็นต้น ในนิวรณ์

 
  ข้อความที่ 46  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 9 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 515

เหล่านี้ คําที่ควรกล่าวทั้งหมดก็กล่าวไว้แล้วในวิสุทธิมรรค. บทว่า ปฺายทุพฺพลีกรเณ ความว่า นิวรณ์ ๕ เหล่านี้. เมื่อเกิด ย่อมไม่ให้เกิดปัญญา ทั้งที่เป็นโลกิยะ และโลกุทตระ ที่ยังไม่เกิด แม้ที่เกิดแล้วก็ตัดสมาบัติ ๘ อภิญญา ๕ ให้ขาดตกไป เพราะฉะนั้น ท่านจึงกล่าวว่า ปฺาย ทุพพลีกรณา กระทําปัญญาให้อ่อนกําลัง. บทว่า ตถาคตปทํ อิติปิ ความว่า ทางคือ ญาณ ร่องรอยคือญาณ ของพระตถาคตแม้นี้ ท่านเรียกว่าฐาน อันญาณเหยียบแล้ว. บทว่า ตถาคตนิเสวิตํ ได้แก่ฐาน อันสีข้างคือญาณของพระตถาคตสีแล้ว. บทว่า ตถาคตารฺชิตํ ได้แก่ ฐานอันพระเขี้ยวแก้วคือญาณของพระตถาคตกระทบแล้ว. บทว่า ยถาภูตํ ปชานาติ ได้แก่ย่อมรู้ตามสภาวะความเป็นจริง. บทว่า น เตฺวว ตาว อริยสาวโก นิฏฺํ คโต โหติ ความว่าฌานและอภิญญาเหล่านี้ย่อมทั่วไปแม้กับคนภายนอกพระศาสนา เพราะฉะนั้นพระอริยสาวกจึงไม่สําเร็จก่อน ที่ชื่อว่ายังไม่สําเร็จก่อนก็เพราะยังไม่สําเร็จแม้ในขณะแห่งมรรคจิต. บทว่า อปิจ โข นิฏฺํ คจฺฉติ ความว่า ก็อีกอย่างหนึ่งแล ในขณะแห่งมรรคจิต ย่อมถึงความสําเร็จในรัตนะ ๓ โดยอาการนี้ว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นพระสัมมาสัมพุทธะหนอ เหมือนคนต่อช้าง เห็นช้างใหญ่ฉะนั้น. บทว่า นิฏฺํ คโต โหติ ความว่า เมื่อถึงความสําเร็จในขณะแห่งมรรคจิตอย่างนี้ ย่อมถึงความสําเร็จในรัตนะ ๓ โดยอาการทั้งปวง เพราะมีกิจทั้งหมดเสร็จแล้วในขณะแห่งอรหัตตผลจิต. คําที่เหลือในที่ทุกแห่งมีความง่ายทั้งนั้น.

จบ อรรถกถาจุลลหัตถิปโทปมสูตรที่ ๗