๕. ชีวกสูตร ว่าด้วยหมอชีวกโกมารภัจจ์
[เล่มที่ 20] พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้า 99
๕. ชีวกสูตร
ว่าด้วยหมอชีวกโกมารภัจจ์
อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 20]
พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้า 99
๕. ชีวกสูตร
ว่าด้วยหมอชีวกโกมารภัจจ์
[๕๖] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้.
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ อัมพวันของหมอชีวกโกมารภัจจ์ เขตพระนครราชคฤห์ ครั้งนั้นแล หมอชีวกโกมารภัจจ์เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าถึงที่ประทับ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระพุทธเจ้าได้ฟังคํานี้มาว่า ชนทั้งหลายย่อมฆ่าสัตว์เจาะจงพระสมณโคดม พระสมณโคดมทรงทราบข้อนั้นอยู่ ยังเสวยเนื้อที่เขาทําเฉพาะตน อาศัยตนทําดังนี้ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ชนเหล่าใดกล่าวอย่างนี้ว่า ชนทั้งหลายย่อมฆ่าสัตว์เจาะจงพระสมณโคดม พระสมณโคดมทรงทราบข้อนั้นอยู่ ยังเสวยเนื้อที่เขาทําเฉพาะตน อาศัยตนทํา ดังนี้ ชนเหล่านั้นชื่อว่า กล่าวตรงกับที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัส ไม่ชื่อว่ากล่าวตู่พระผู้มีพระภาคเจ้า ด้วยคําอันไม่เป็นจริง ชื่อว่ายืนยันธรรมอันสมควรแก่ธรรม การกล่าวและกล่าวตามที่ชอบธรรมจะไม่ถึงข้อติเตียนละหรือ.
เนื้อที่ไม่ควรบริโภค และควรบริโภค ๓ อย่าง
[๕๗] พ. ดูก่อนชีวก ชนใดกล่าวอย่างนี้ว่า ชนทั้งหลายย่อมฆ่าสัตว์เจาะจงพระสมณโคดม พระสมณโคดมทรงทราบข้อนั้นอยู่ ก็ยังเสวยเนื้อสัตว์ที่เขาทําเฉพาะตน อาศัยตนทํา ดังนี้ ชนเหล่านั้นจะชื่อว่ากล่าวตรงกับที่เรากล่าว หามิได้ ชื่อว่ากล่าวตู่เราด้วยคําอันไม่เป็นจริง ดูก่อนชีวก เรากล่าว
พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้า 100
เนื้อว่าเป็นของไม่ควรบริโภคด้วยเหตุ ๓ ประการ คือ เนื้อที่ตนเห็น ๑ เนื้อที่ตนได้ยิน ๑ เนื้อที่ตนรังเกียจ ๑ ดูก่อนชีวก เรากล่าวเนื้อว่าเป็นของไม่ควรบริโภคด้วยเหตุ ๓ ประการนี้แล. ดูก่อนชีวก เรากล่าวเนื้อว่า เป็นของควรบริโภคด้วยเหตุ ๓ ประการ คือ เนื้อที่ตนไม่ได้เห็น เนื้อที่ตนไม่ได้ยิน เนื้อที่ตนไม่ได้รังเกียจ ดูก่อนชีวก เรากล่าวเนื้อว่า เป็นของควรบริโภคด้วยเหตุ ๓ ประการนี้แล.
การแผ่เมตตา
[๕๘] ดูก่อนชีวก ภิกษุในธรรมวินัยนี้ อาศัยบ้านหรือนิคมแห่งใดแห่งหนึ่งอยู่ เธอมีใจประกอบด้วยเมตตา แผ่ไปตลอดทิศหนึ่งอยู่ ทิศที่ ๒ ทิศที่ ๓ ทิศที่ ๔ ก็เหมือนกัน ตามนัยนี้ ทั้งเบื้องบน เบื้องล่าง เบื้องขวาง แผ่ไปตลอดโลก ทั่วสัตว์ทุกเหล่าโดยความมีตนทั่วไปในที่ทุกสถาน ด้วยใจประกอบด้วยเมตตาอันไพบูลย์ ถึงความเป็นใหญ่ หาประมาณมิได้ ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียนอยู่ คฤหบดีหรือบุตรคฤหบดี เขาไปหาเธอแล้วนิมนต์ด้วยภัต เพื่อให้ฉันในวันรุ่งขึ้น.
ดูก่อนชีวก เมื่อภิกษุหวังอยู่ ก็รับนิมนต์ พอล่วงราตรีนั้นไป เวลาเช้า ภิกษุนั้นนุ่งแล้ว ถือบาตรและจีวรเข้าไปยังนิเวศน์ของคฤหบดีหรือบุตรของคฤหบดี แล้วนั่งลงบนอาสนะที่เขาปูลาดไว้ คฤหบดีหรือบุตรของคฤหบดีนั้น อังคาสเธอด้วยบิณฑบาตอันประณีต ความดําริว่าดีหนอ คฤหบดีหรือบุตรคฤหบดีผู้นี้ อังคาสเราอยู่ด้วยบิณฑบาตอันประณีต ดังนี้ ย่อมไม่มีแก่เธอ.
แม้ความดําริว่า โอหนอ คฤหบดีหรือบุตรคฤหบดีผู้นี้พึงอังคาสเราด้วยบิณฑบาตอันประณีตเช่นนี้ แม้ต่อไป ดังนี้ ก็ไม่มีแก่เธอ เธอไม่กําหนด ไม่สยบ ไม่รีบกลืนบิณฑบาตนั้น มีปรกติเห็นโทษ มีปัญญา
พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้า 101
เครื่องถอนตน บริโภคอยู่.
ดูก่อนชีวก ท่านจะสําคัญความข้อนั้นเป็นไฉนว่า ในสมัยนั้น ภิกษุนั้นย่อมคิดเพื่อเบียดเบียนตน เพื่อเบียดเบียนผู้อื่น หรือเพื่อเบียดเบียนทั้งสองฝ่าย บ้างหรือ.
ไม่เป็นเช่นนั้น พระพุทธเจ้าข้า.
ดูก่อนชีวก สมัยนั้น ภิกษุนั้นชื่อว่าฉันอาหารอันไม่มีโทษมิใช่หรือ.
อย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระพุทธเจ้าได้สดับมาว่า พรหมมีปรกติอยู่ด้วยเมตตา คํานั้นเป็นแต่ข้าพระพุทธเจ้าได้สดับมา คํานี้พระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นองค์พยานปรากฏแล้ว ด้วยว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงมีปรกติอยู่ด้วยเมตตา.
ดูก่อนชีวก บุคคลพึงมีความพยาบาท เพราะราคะ โทสะ โมหะใด ราคะ โทสะ โมหะนั้น ตถาคตละแล้ว มีมูลอันขาดแล้ว เป็นดุจตาลยอดด้วน ถึงความไม่มี มีอันไม่เกิดต่อไปเป็นธรรมดา ดูก่อนชีวก ถ้าแลท่านกล่าวหมายเอาการละราคะ โทสะ โมหะ เป็นต้นนี้ เราอนุญาตการกล่าวเช่นนั้นแก่ท่าน.
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระพุทธเจ้ากล่าวหมายเอาการละราคะโทสะและโมหะ เป็นต้นนี้.
การแผ่กรุณา มุทิตา อุเบกขา
[๕๙] ดูก่อนชีวก ภิกษุในธรรมวินัยนี้ อาศัยบ้านหรือนิคมแห่งใดแห่งหนึ่งอยู่ เธอมีใจประกอบด้วยกรุณา... มีใจประกอบด้วยมุทิตา... มีใจประกอบด้วยอุเบกขา แผ่ไปตลอดทิศหนึ่งอยู่ ทิศที่ ๒ ทิศที่ ๓ ทิศที่ ๔ ก็เหมือนกัน ตามวินัยนี้ ทั้งเบื้องบน เบื้องล่าง เบื้องขวาง แผ่ไปตลอดโลก
พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้า 102
ทั่วสัตว์ทุกเหล่าโดยความมีตนทั่วไปในที่ทุกสถาน ด้วยใจประกอบด้วยอุเบกขาอันไพบูลย์ ถึงความเป็นใหญ่ หาประมาณมิได้ ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียน คฤหบดีหรือบุตรคฤหบดีเข้าไปหาเธอ แล้วนิมนต์ด้วยภัต เพื่อให้ฉันในวันรุ่งขึ้น ดูก่อนชีวก เมื่อภิกษุหวังอยู่ ย่อมรับนิมนต์. พอล่วงราตรีนั้นไป เวลาเช้า ภิกษุนั้นนุ่งแล้ว ถือบาตรและจีวรเข้าไปยังนิเวศน์ของคฤหบดีหรือบุตรคฤหบดี แล้วนั่งลงบนอาสนะที่เขาปูลาดไว้.
คฤหบดีหรือบุตรคฤหบดีนั้น อังคาสเธอด้วยบิณฑบาตอันประณีต ความดําริว่า ดีหนอ คฤหบดีหรือบุตรคฤหบดีผู้นี้ อังคาสเราอยู่ด้วยบิณฑบาตอันประณีตดังนี้ ย่อมไม่มีแก่เธอ แม้ความดําริว่า โอหนอ คฤหบดีหรือบุตรคฤหบดีผู้นี้พึงอังคาสเราด้วยบิณฑบาตอันประณีตนี้ แม้ต่อไป ดังนี้ ก็ไม่มีแก่เธอ เธอไม่กําหนด ไม่สยบ ไม่รีบกลืนบิณฑบาตนั้น มีปรกติเห็นโทษ มีปัญญาเครื่องถอนตน บริโภคอยู่ ดูก่อนชีวก ท่านจะสําคัญความข้อนั้นเป็นไฉนว่า ในสมัยนั้นภิกษุย่อมคิดเพื่อเบียดเบียนตน เพื่อเบียดเบียนผู้อื่น หรือเพื่อเบียดเบียนทั้งสองฝ่าย บ้างหรือ.
ไม่เป็นเช่นนั้น พระพุทธเจ้าข้า.
ดูก่อนชีวก สมัยนั้น ภิกษุนั้นชื่อว่าฉันอาหารอันไม่มีโทษมิใช่หรือ.
อย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระพุทธเจ้าได้สดับมาว่า พรหมมีปรกติอยู่ด้วยอุเบกขา คํานั้นเป็นแต่ข้าพระพุทธเจ้าได้สดับมา คํานี้พระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นองค์พยานปรากฏแล้ว ด้วยว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงมีปรกติอยู่ด้วยอุเบกขา.
ดูก่อนชีวก บุคคลพึงมีความเบียดเบียน มีความไม่ยินดี มีความกระทบกระทั่งเพราะราคะ โทสะ โมหะใด ราคะ โทสะ โมหะนั้น ตถาคตละ
พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้า 103
แล้วมีมูลอันขาดแล้ว เป็นดุจตาลยอดด้วน ถึงความไม่มี มีอันไม่เกิดต่อไปเป็นธรรมดา ดูก่อนชีวก ถ้าแลท่านกล่าวหมายเอาการละราคะ โทสะ โมหะ เป็นต้นนี้ เราอนุญาตการกล่าวเช่นนั้นแก่ท่าน.
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระพุทธเจ้ากล่าวหมายเอาการละราคะ โทสะ โมหะ เป็นต้นนี้.
ฆ่าสัตว์ทําบุญได้บาปด้วยเหตุ ๕ ประการ
[๖๐] ดูก่อนชีวก ผู้ใดฆ่าสัตว์เจาะจงตถาคต หรือสาวกตถาคต ผู้นั้นย่อมประสบบาปมิใช่บุญเป็นอันมาก ด้วยเหตุ ๕ ประการ คือ ผู้นั้นกล่าวอย่างนี้ว่า ท่านทั้งหลายจงไปนําสัตว์ชื่อโน้นมา ดังนี้ชื่อว่าย่อมประสบบาปมิใช่บุญเป็นอันมาก ด้วยเหตุประการที่ ๑ นี้.
สัตว์นั้นเมื่อถูกเขาผูกคอนํามา ได้เสวยทุกข์โทมนัส ชื่อว่า ย่อมประสบบาปมิใช่บุญเป็นอันมาก ด้วยเหตุประการที่ ๒ นี้.
ผู้นั้นพูดอย่างนี้ว่า ท่านทั้งหลายจงไปฆ่าสัตว์นี้ ชื่อว่าย่อมประสบบาปมิใช่บุญเป็นอันมาก ด้วยเหตุประการที่ ๓ นี้.
สัตว์นั้นเมื่อเขากําลังฆ่าย่อมเสวยทุกข์โทมนัส ชื่อว่าย่อมประสบบาปมิใช่บุญเป็นอันมาก ด้วยเหตุประการที่ ๔ นี้.
ผู้นั้นย่อมยังตถาคตและสาวกตถาคต ให้ยินดีด้วยเนื้อเป็นอกัปปิยะ ชื่อว่าย่อมประสบบาปมิใช่บุญเป็นอันมาก ด้วยเหตุประการที่ ๕ นี้.
ดูก่อนชีวก ผู้ใดฆ่าสัตว์เจาะจงตถาคตหรือสาวกตถาคต ผู้นั้นย่อมประสบบาปมิใช่บุญเป็นอันมากด้วยเหตุ ๕ ประการนี้.
[๖๑] เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสอย่างนี้แล้ว หมอชีวกโกมารภัจจ์ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ น่าอัศจรรย์ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ไม่เคยมี ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภิกษุทั้งหลายย่อมฉันอาหารอัน
พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้า 104
ไม่มีโทษหนอ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก เปรียบเหมือนบุคคลหงายของที่คว่ํา เปิดของที่ปิด บอกทางแก่คนหลงทาง หรือส่องประทีบในที่มืด ด้วยคิดว่า ผู้มีจักษุ จักเห็นรูปฉันใด พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงประกาศธรรมโดยอเนกปริยายฉันนั้นเหมือนกัน ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์นี้ ขอถึงพระผู้มีพระภาคเจ้า พระธรรม และภิกษุสงฆ์ว่า เป็นสรณะ ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าจงทรงจําข้าพระองค์ว่า เป็นอุบาสก ผู้ถึงสรณะตลอดชีวิต ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ดังนี้แล.
จบชีวกสูตรที่ ๕
๕. อรรถกถาชีวกสูตร
ชีวกสูตร มีบทเริ่มต้นว่า เอวมฺเม สุตํ ข้าพเจ้าได้ฟังมาแล้วอย่างนี้.
บรรดาบทเหล่านั้น พระบาลีนี้ว่า ตสฺส ชีวกสฺส โกมารภจฺจสฺส อมฺพวเน ที่ชื่อว่า ชีวก เพราะยังเป็นอยู่ (มีชีวิตอยู่).
ที่ชื่อว่า โกมารภัจจ์ เพราะอันพระราชกุมารชุบเลี้ยงไว้ ดังที่ท่านกล่าวไว้ว่า พระกุมาร (หมายถึงอภัยราชกุมาร) ตรัสถามว่า นั่นอะไร พนาย ฝูงกาจึงเกลื่อนกลาด. พวกราชบุรุษทูลว่า ทารก พระเจ้าค่ะ. ตรัสถามว่า ยังเป็นอยู่หรือ พนาย. ทูลตอบว่า ยังเป็นอยู่พระเจ้าค่ะ. จึงตรัสสั่งให้นําทารกเข้าวัง มอบให้แม่นมเลี้ยงดู. คนทั้งหลายจึงตั้งชื่อทารกนั้นว่า ชีวก เพราะยังเป็นอยู่และตั้งสร้อย
พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้า 105
ชื่อว่า โกมารภัจจ์ เพราะพระราชกุมารให้ชุบเลี้ยงไว้.
ในพระสูตรนี้มีความสังเขปดังกล่าวมานี้ ส่วนเรื่องโดยพิสดารมาในชีวกวัตถุขันธกวินัย แม้คําวินิจฉัยเรื่องหมอชีวกโกมารภัจจ์นั้นท่านก็กล่าวไว้แล้ว ในอรรถกถาพระวินัย ชื่อสมันตปาสาทิกา.
หมอชีวกโกมารภัจจ์ผู้นี้ ถวายพระโอสถระบายอ่อนๆ ระบายพระกายที่มากไปด้วยโทษของพระผู้มีพระภาคเจ้า แล้วตั้งอยู่ในโสดาปัตติผล เวลาจบอนุโมทนา ถวายผ้าคู่ที่ได้มาจากแคว้นสีพี.
ดําริว่า เราต้องไปเฝ้าอุปัฏฐากพระพุทธองค์ วันละ ๒ - ๓ ครั้ง พระเวฬุวันนี้ ก็อยู่ไกลเกินไป สวนมะม่วงของเรายังใกล้กว่า อย่าเลย เราจะสร้างวิหารถวายพระผู้มีพระภาคเจ้า ในสวนมะม่วงของเรานี้แหละ ดังนั้น จึงให้สร้างที่เร้น กุฎี และมณฑปเป็นต้น สําหรับพักกลางคืน และพักกลางวัน สร้างพระคันธกุฎี ที่เหมาะแก่ที่พระผู้มีพระภาคเจ้า ในสวนอัมพวันนั้น สร้างกําแพงสีใบไม้แดงสูง ๑๘ ศอก ล้อมสวนอัมพวันไว้ อังคาสเลี้ยงภิกษุสงฆ์ มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุขด้วยภัตตาหารพร้อมจีวรแล้วหลั่งทักษิโณทก มอบถวายวิหาร ท่านหมายเอาสวนอัมพวันนั้น จึงกล่าวว่า ชีวกสฺส โกมารภจฺจสฺส อมฺพวเน ดังนี้.
คําว่า อารภนฺติ แปลว่า ฆ่า.
คําว่า อุทฺทิสฺส กตํ แปลว่า กระทําเจาะจง.
คําว่า ปฏิจฺจ กมฺมํ แปลว่า กระทําเจาะจงตน.
อีกอย่างหนึ่ง คําว่า ปฏิจฺจ กมฺมํ นี้เป็นชื่อของนิมิตตกรรม. กรรมที่อาศัยตนเป็นเหตุกระทํามีอยู่ในเนื้อนั้น เพราะเหตุนั้น ท่านจึงอธิบายว่า กรรมมีอยู่เพราะอาศัยเนื้อ.
ลัทธิ (ความเชื่อถือ) ของคนเหล่านั้นมีอยู่ว่า ผู้ใดบริโภคเนื้อเช่นนั้น (อุทิศมังสะ) ผู้นั้นก็ต้องเป็นผู้รับผลของกรรมนั้นด้วย ปาณฆาตกรรม จึงมีแม้แก่คนนั้นเหมือนกับฆ่าเอง.
คําว่า ธมฺมสฺส จ อนุธมฺมํ พฺยากโรนฺติ ความว่า ย่อมกล่าวเหตุตามเหตุที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ในคํานั้น การบริโภคเนื้อ
พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้า 106
โดยส่วน ๓ ชื่อว่า เหตุ การพยากรณ์อย่างนั้นของมหาชนชื่อว่า ตามเหตุ.
แต่พระผู้มีพระภาคเจ้า ไม่เสวยเนื้อที่เขาทําเจาะจง (อุทิศมังสะ). เพราะฉะนั้นข้อนั้นไม่ชื่อว่าเหตุ. การกระทําอย่างนั้นของพวกเดียรถีย์ก็ไม่ชื่อว่า ตามเหตุ.
คําว่า สหธมฺมิโก วาทานุวาโท ความว่า การกล่าวหรือการกล่าวตามของพวกท่านมีเหตุ โดยเหตุที่คนอื่นๆ กล่าวแล้ว เป็นเหตุที่ผู้รู้ทั้งหลายพึงติเตียนวาทะอะไรๆ เล็กน้อย จะมาถึงหรือหนอ.
ท่านอธิบายว่า เหตุที่จะพึงติเตียนในวาทะของพวกท่านย่อมไม่มีโดยอาการทั้งหมดหรือ.
คําว่า อพฺภาจิกฺขนฺติ แปลว่า กล่าวข่ม (ตู่).
คําว่า าเนหิ คือ โดยเหตุทั้งหลาย.
บรรดาส่วนทั้ง ๓ มีส่วนที่เห็นแล้วเป็นต้น เห็นเขาฆ่าเนื้อและปลาแล้วเอามา (ทําอาหาร) ถวายภิกษุทั้งหลาย ชื่อว่า ส่วนที่เห็นแล้ว. ได้ยินมาว่า ชื่อว่า ส่วนที่สงสัยมี ๓ อย่าง คือ ส่วนที่สงสัยว่า ได้เห็นมา ส่วนที่สงสัยว่า ได้ยินมา ส่วนที่สงสัยอันนอกไปจากทั้งสองอย่างนั้น. ในส่วนที่สงสัยทั้ง ๓ นั้น มีวินิจฉัยรวบรัด ดังนี้.
ภิกษุทั้งหลายในพระศาสนานี้ เห็นคนทั้งหลายถือตาข่าย และแหเป็นต้น กําลังออกไปจากบ้านหรือกําลังเที่ยวอยู่ในป่า แต่วันรุ่งขึ้น เมื่อภิกษุเหล่านั้น เข้าไปบิณฑบาตยังบ้านนั้น คนเหล่านั้นก็นําบิณฑบาต (อาหาร) ที่มีเนื้อปลาถวาย ภิกษุเหล่านั้น ก็สงสัยโดยการเห็นนั้นว่า เนื้อปลาเขาทํามาเพื่อประโยชน์แก่ภิกษุทั้งหลายหรือหนอ.
นี้ชื่อว่าสงสัยโดยเห็น รับอาหารที่สงสัยโดยการเห็นนั้น ไม่ควร. อาหารใด ภิกษุไม่ได้สงสัยอย่างนั้น รับอาหารนั้นก็ควร.
ก็ถ้าคนเหล่านั้นถามว่า ท่านเจ้าข้า เหตุไรพระคุณเจ้าจึงไม่รับ ฟังคําตอบของพวกภิกษุแล้ว ก็กล่าวว่า อาหารนี้ พวกเรามิได้ทําเพื่อประโยชน์แก่ภิกษุทั้งหลายดอก แต่พวกเราทําเพื่อประโยชน์ของตนเองหรือเพื่อประโยชน์แก่ข้าราชการเป็นต้นต่างหาก รับอาหารนั้นก็ควร.
พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้า 107
ภิกษุทั้งหลายไม่เห็นอย่างนั้นเลย แต่ได้ยินมาว่า เขาว่าคนทั้งหลายถือตาข่ายและแหเป็นต้น ออกจากบ้านไป หรือเที่ยวไปในป่า รุ่งขึ้น เมื่อภิกษุเหล่านั้นเข้าไปบิณฑบาตยังบ้านนั้น คนเหล่านั้น ก็นําบิณฑบาตที่มีเนื้อปลามาถวายภิกษุเหล่านั้น ก็สงสัยโดยการได้ยินนั้นว่า เขาทําเพื่อประโยชน์ แก่ภิกษุทั้งหลายหรือหนอ.
นี้ชื่อว่า สงสัยโดยได้ยินมา. รับอาหารนั้น ไม่ควร. อาหารใด มิได้สงสัยอย่างนั้น รับอาหารนั้นก็ควร.
แต่ถ้าคนเหล่านั้นถามว่าท่านเจ้าข้า เหตุไร พระคุณเจ้า จึงไม่รับ ฟังคําตอบของภิกษุเหล่านั้นแล้วก็กล่าวว่า ท่านเจ้าข้า อาหารนี้ พวกเรามิได้ทําเพื่อประโยชน์แก่ภิกษุทั้งหลายดอก แต่พวกเราทําเพื่อประโยชน์แก่ตนเอง หรือเพื่อประโยชน์แก่พวกข้าราชการเป็นต้นต่างหาก รับอาหารนั้นก็ควร.
อนึ่ง ภิกษุไม่เห็น ไม่ได้ยินมา เมื่อภิกษุเหล่านั้นเข้าไปบิณฑบาตยังบ้านนั้นคนทั้งหลายรับบาตรเอาไปตกแต่งบิณฑบาตที่มีเนื้อปลา นําไปถวายภิกษุเหล่านั้น ก็สงสัยว่า เขาทําเพื่อประโยชน์แก่ภิกษุทั้งหลายหรือ.
นี้ชื่อว่าสงสัยนอกไปจากทั้งสองอย่างนั้น. รับอาหารแม้นั้นก็ไม่ควร อาหารใดมิได้สงสัยอย่างนั้นรับอาหารนั้นก็ควร.
แล้วถ้าคนเหล่านั้น ถามว่า ท่านเจ้าข้า เหตุไรพระคุณเจ้าจึงไม่รับ ฟังคําตอบของพวกภิกษุแล้ว ก็กล่าวว่า ท่านเจ้าข้า อาหารนี้ พวกเรามิได้ทําเพื่อประโยชน์แก่ภิกษุทั้งหลายดอก เราทําเพื่อประโยชน์แก่ตนเอง หรือเพื่อประโยชน์แก่ข้าราชการเป็นต้นต่างหาก.
หรือว่า พวกเราได้ปวัตตมังสะ (เนื้อที่เขามีอยู่แล้ว) เป็นของกัปปิยะ (ควร) ทั้งนั้น จึงตกแต่งเพื่อประโยชน์แก่ภิกษุทั้งหลาย รับอาหารนั้นก็ควร.
ในอาหารที่เขาทําเพื่อประโยชน์เป็นเปตกิจ (อุทิศ) สําหรับคนที่ตายไปแล้ว หรือเพื่อประโยชน์แก่การมงคลเป็นต้นก็นัยนี้เหมือนกัน.
แท้จริงอาหารใดๆ เขามิได้กระทําเพื่อ
พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้า 108
ประโยชน์แก่ภิกษุทั้งหลาย และภิกษุทั้งหลายก็มิได้เคลือบแคลง สงสัยในอาหารอันใด รับอาหารนั้นทุกอย่างก็ควร.
แต่ถ้าอาหารเขาทําอุทิศภิกษุทั้งหลายในวัดหนึ่ง ภิกษุเหล่านั้น ไม่รู้ว่าเขาทําเพื่อประโยชน์แก่ตน ภิกษุเหล่าอื่นรู้ ภิกษุเหล่าใดรู้ อาหารนั้นก็ไม่ควรแก่ภิกษุเหล่านั้น ควรแก่ภิกษุนอกจากนี้.
ภิกษุเหล่าอื่นไม่รู้ ภิกษุเหล่านั้นเท่านั้นที่รู้ อาหารนั้นก็ไม่ควรแก่ภิกษุเหล่านั้น ควรแก่ภิกษุเหล่าอื่น.
แม้ภิกษุเหล่านั้นรู้ว่า เขาทําเพื่อประโยชน์แก่พวกเรา แม้ภิกษุเหล่าอื่นก็รู้ว่าเขาทําเพื่อประโยชน์แก่ภิกษุเหล่านั้น อาหารนั้นก็ไม่ควรแก่ภิกษุทั้งหมด.
ภิกษุทั้งหมดไม่รู้ ก็ควรแก่ภิกษุทั้งหมดนั่นแหละ.
บรรดาสหธรรมิก ๕ รูป อาหารที่เขาทําอุทิศแก่ภิกษุรูปใดรูปหนึ่งย่อมไม่สมควรแก่สหธรรมิกหมดทุกรูป ก็ถ้าบางคนฆ่าสัตว์เจาะจงภิกษุรูปหนึ่งแล้วบรรจุบาตรเต็มด้วยเนื้อสัตว์นั้นถวาย แม้ภิกษุนั้นก็รู้อยู่ว่า เขาทําเพื่อประโยชน์แก่ตน ครั้นรับแล้ว ก็ถวายแก่ภิกษุรูปอื่น ภิกษุนั้นก็ฉันด้วยความเชื่อถือภิกษุนั้น.
ถามว่า ใครเป็นอาบัติ.
ตอบว่า ไม่เป็นอาบัติทั้งสองรูป เพราะว่า อาหารใด เขาทําเจาะจงแก่เธอ เธอก็ไม่เป็นอาบัติเพราะเธอไม่ฉันอาหารนั้น อีกรูปหนึ่ง (ฉัน) ก็ไม่เป็นอาบัติเพราะไม่รู้ ในการรับกัปปิยมังสะ (เนื้อที่สมควรแก่สมณะ) ไม่เป็นอาบัติ.
ภิกษุไม่รู้ว่าเป็นอุทิศมังสะ มารู้ภายหลังที่ฉันแล้ว ก็ไม่มีกิจ คือ การแสดงอาบัติ.
ส่วนภิกษุไม่รู้ว่า เป็นอกัปปิยมังสะ มารู้ภายหลังฉันแล้ว ต้องแสดงอาบัติ.
ภิกษุรู้ว่า เป็นอุทิศมังสะแล้วฉันเป็นอาบัติ แม้ภิกษุไม่รู้ว่าเป็นอกัปปิยมังสะ แล้วฉัน ก็เป็นอาบัติทั้งนั้น.
เพราะฉะนั้น ภิกษุผู้กลัวอาบัติ แม้กําหนดรูปเป็นอารมณ์อยู่ ถามแล้ว ค่อยรับมังสะ หรือเธอรับด้วยคิดว่าจักถามแล้วฉัน ในเวลาฉันถามแล้วค่อยฉัน.
ถามว่า เพราะอะไร.
ตอบว่า เพราะเป็นของที่ได้ยาก จริงอยู่ เนื้อหมีก็เหมือนๆ กับเนื้อ
พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้า 109
หมู แม้เนื้อเสือเหลืองเป็นต้น ก็คล้ายกับเนื้อมฤค.
เพราะฉะนั้น พระอาจารย์ทั้งหลาย จึงกล่าวว่า ถามแล้วค่อยรับจึงควร.
คําว่า ไม่เห็น คือ ไม่เห็นเนื้อที่เขาฆ่าแล้วเอามาเพื่อประโยชน์แก่ภิกษุทั้งหลาย.
คําว่า ไม่ได้ยิน คือ ไม่ได้ยินว่า เขาฆ่าแล้ว เอามาเพื่อประโยชน์แก่ภิกษุทั้งหลาย.
คําว่า ไม่สงสัย คือไม่สงสัย ด้วยอํานาจสงสัยว่าเห็นมาเป็นต้น.
คําว่า ปริโภคนฺติ วทามิ ความว่า มังสะที่บริสุทธิ์ด้วยเหตุ ๓ ประการนี้ ชื่อว่าบริสุทธิ์โดยส่วน ๓.
จริงอยู่ การฉันมังสะที่บริสุทธิ์โดยส่วน ๓ นั้น ก็เช่นเดียวกับฉันกับข้าวและผักดองที่เกิดเองในป่า ภิกษุผู้อยู่ด้วยเมตตา ฉันมังสะเช่นนั้นย่อมไม่มีโทษ เพราะฉะนั้น เราจึงกล่าวว่า ก็มังสะนั้นควรฉันได้.
บัดนี้ เพื่อจะทรงแสดงความที่ภิกษุผู้อยู่ด้วยเมตตา ไม่มีโทษในการฉันมังสะเช่นนั้น จึงตรัสว่า อิธ ชีวก ภิกฺขุ ดังนี้เป็นต้น.
ในคํานั้น ถึงพระผู้มีพระภาคเจ้ามิได้ทรงกําหนดแล้วตรัสว่า ภิกฺขุ ก็จริง ที่แท้พึงทราบว่า ทรงหมายถึง พระองค์นั่นแลจึงตรัสอย่างนี้.
จริงอยู่ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงหมายถึงพระองค์เท่านั้นใน ๓ อาคตสถาน คือ ในมหาวัจฉโคตตสูตร ในจังกีสูตร และในสูตรนี้.
ในอนังคณสูตร หนหลังที่ว่า ปณีเตน ปิณฺฑปาเตน ท่านหมายเอาว่า บิณฑบาตที่มีค่ามากทุกชนิด ชื่อว่าบิณฑบาตอันประณีต แต่ในสูตรนี้ หมายเอามังสะที่สุก.
คําว่า อคธิโต คือ ไม่ตะกรามด้วยความอยาก.
คําว่า อมุจฺฉิโต คือ ไม่หมกมุ่นด้วยการหมกมุ่นด้วยความอยาก.
คําว่า อนชฺฌาปนฺโน คือ ไม่ถูกความอยากครอบงํา อธิบายว่าไม่เป็นดังกาที่ต้องการขม้ำทั้งหมดกลืนลงคอ ด้วยการจิกทีเดียวเท่านั้น.
คําว่า อาทีนวทสฺสาวี คือ เห็นโทษโดยนัยเป็นต้นว่า อาหารนี้กักอุ่นอยู่ที่พื้นท้องคืนหนึ่ง แล้วก็ออกไปทางปากแผล (ทวาร) ทั้ง ๙.
คําว่า นิสฺสรณปฺโ
พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้า 110
ปริภฺุชติ คือ กําหนดด้วยปัญญาว่า การบริโภคอาหารก็เพื่อประโยชน์อันนี้แล้วบริโภค.
คําว่า อตฺตพฺยาพาธาย วา เจเตติ คือ คิดเพื่อทําทุกข์แก่ตน.
คําว่า สุตํ เม ตํ คือ เรื่องนั้นเราได้ยินมา พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงว่า แต่ก่อน เรื่องนั้น เราเพียงแต่ได้ยินมาเท่านั้น.
คําว่า สเจ โข เต ชีวก อิทํ สนฺธาย ภาสิตํ ความว่า ดูก่อนชีวก ท้าวมหาพรหมละพยาบาทเป็นต้น ด้วยวิกขัมภนปหาน ละด้วยอํานาจการข่มไว้.
ด้วยเหตุนั้น ท้าวมหาพรหมนั้น จึงชื่อว่า อยู่ด้วยเมตตา ถ้าท่านกล่าวหมายถึงข้อนี้ด้วยสมุจเฉทปหาน ละอย่างเด็ดขาดของเรา เมื่อเป็นเช่นนี้ เราก็อนุมัติคํานี้ของท่าน หมอชีวกก็รับ.
ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อทรงพรรณนาเทศนาให้ยิ่งขึ้นไป แม้ด้วยอํานาจพรหมวิหารที่เหลือแก่หมอชีวกนั้น จึงตรัสว่า อิธ ชีวก ภิกฺขุ ดังนี้เป็นต้น
คํานอกนั้นมีเนื้อความตื้นทั้งนั้น.
อรรถว่า โย โข ชีวก นี้เป็นอนุสนธิที่แยกแสดงต่างหาก.
จริงอยู่ ในฐานะนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงปิดประตู ทรงแสดงความเอ็นดูสัตว์ ก็ถ้าคนทั้งหลายถวายบิณฑบาตมีรสอย่างยิ่ง แก่ภิกษุไรๆ นั้น อย่างนี้แล้วกลับได้สวรรค์ถึงแสนกัปไซร้ เขาก็จะพึงทํากรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง แม้ทําผู้อื่นให้ตายแล้ว ถวายบิณฑบาตมีรสได้ เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าเมื่อจะทรงปฏิเสธความข้อนั้น จึงตรัสว่า โย โข ชีวก ตถาคตํ ดังนี้เป็นต้น.
ในคํานั้น คําว่า อิมินา ปเมน าเนน ได้แก่ ด้วยเหตุที่หนึ่ง ซึ่งเป็นเพียงคําสั่งเท่านั้น อันนี้ก่อน.
คําว่า คลปฺปเวเกน ได้แก่ สัตว์ที่ถูกเชือกผูกคอลากมาหรือสัตว์ที่มีคอถูกผูกลากมา.
คําว่า อารภิยมาโน ได้แก่ ถูกเขาทําให้ตาย.
คําว่า อกปฺปิเยน อสฺสาเทติ ความว่า คนที่ให้ภิกษุฉันเนื้อหมีด้วยสําคัญว่า เนื้อหมู ฉันเนื้อเสือเหลืองด้วยสําคัญว่าเนื้อมฤค ก็พูด
พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้า 111
เสียดสีว่า ท่านยังชื่อว่าสมณะหรือ ท่านฉันอกัปปิยมังสะ.
ส่วนคนเหล่าใดรู้ว่า เนื้อหมีเหมือนเนื้อหมู เนื้อเสือเหลืองเหมือนเนื้อมฤค ในยามอาหารหายาก หรือใช้เยียวยาความเจ็บไข้ได้ก็พูดว่า นี้เนื้อหมู นี้เนื้อมฤค ให้ภิกษุฉันด้วยอัธยาศัยเกื้อกูล พระผู้มีพระภาคเจ้ามิได้ทรงหมายถึงคนเหล่านั้น.
ตรัสคํานี้ เพราะคนเหล่านั้นย่อมได้บุญเป็นอันมาก บุคคลผู้นี้กล่าวว่า พระเจ้าข้า ข้าพระบาทนี้ขอถึงพระผู้มีพระภาคเจ้า ทั้งพระธรรม ทั้งพระภิกษุสงฆ์ว่าเป็นสรณะ ชื่อว่าเป็นอริยสาวกผู้ประสบผล ผู้รู้คําสั่งสอน เป็นผู้เห็นสัจจะแล้ว.
ส่วนหมอชีวกหยั่งซึ้งพระธรรมเทศนานี้ เกิดความเลื่อมใส กระทําการชมเชย (สดุดี) ธรรมกถา จึงกล่าวอย่างนี้.
คํานอกนี้ในที่ทุกแห่งตื้นทั้งนั้น.
จบอรรถกถาชีวกสูตรที่ ๕