พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๖. อุปาลิวาทสูตร ว่าด้วยอุปาลิคฤหบดี

 
บ้านธัมมะ
วันที่  28 ส.ค. 2564
หมายเลข  36061
อ่าน  954

[เล่มที่ 20] พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้า 112

๖. อุปาลิวาทสูตร

ว่าด้วยอุปาลิคฤหบดี


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 20]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้า 112

๖. อุปาลิวาทสูตร

ว่าด้วยอุปาลิคฤหบดี

[๖๒] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้.

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ ปาวาริกัมพวัน ใกล้เมือง นาลันทา สมัยนั้น นิครนถ์นาฏบุตรอาศัยอยู่ ณ เมืองนาลันทาพร้อมด้วยบริษัทนิครนถ์เป็นอันมาก ครั้งนั้นแล นิครนถ์ชื่อว่าทีฆตปัสสี เที่ยวบิณฑบาตไปในเมืองนาลันทา เวลาภายหลังภัต กลับจากบิณฑบาตแล้ว เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าถึงปาวาริกัมพวัน ได้ปราศรัยกับพระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นผ่านการปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันไปแล้ว ได้ยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสพระพุทธพจน์นี้กะทีฆตปัสสีนิครนถ์ว่า ดูก่อนทีฆตปัสสี อาสนะมีอยู่ถ้าท่านประสงค์ก็จงนั่งเถิด เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสอย่างนี้แล้ว ทีฆตปัสสีนิครนถ์ถือเอาอาสนะต่ําแห่งหนึ่งนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง.

กรรม ๓ ของนิครนถ์นาฏบุตร

[๖๓] พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสพระพุทธพจน์นี้กะทีฆตปัสสีนิครนถ์ว่า ดูก่อนทีฆตปัสสี ก็นิครนถ์นาฏบุตรบัญญัติกรรม ในการทําบาปกรรม ในการเป็นไปแห่งบาปกรรม ไว้เท่าไร. ทีฆตปัสสีนิครนถ์ได้ทูลว่า ท่านพระโคดม นิครนถ์นาฏบุตร จะบัญญัติว่ากรรมๆ ดังนี้ เป็นอาจิณหามิได้ ท่านพระโคดม นิครนถ์นาฏบุตรบัญญัติว่า ทัณฑะๆ ดังนี้แล เป็นอาจิณ.

พ. ดูก่อนทีฆตปัสสี ก็นิครนถ์นาฏบุตรย่อมบัญญัติทัณฑะ ในการทําบาปกรรม ในการเป็นไปแห่งบาปกรรมไว้เท่าไร.

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้า 113

ที. ท่านพระโคดม นิครนถ์นาฏบุตรย่อมบัญญัติทัณฑะในการทําบาปกรรม ในการเป็นไปแห่งบาปกรรมไว้ ๓ ประการ คือ กายทัณฑะ ๑ วจีทัณฑะ ๑ มโนทัณฑะ ๑.

ดูก่อนตปัสสี ก็กายทัณฑะอย่างหนึ่ง วจีทัณฑะอย่างหนึ่ง มโนทัณฑะอย่างหนึ่งหรือ.

ท่านพระโคดม กายทัณฑะอย่างหนึ่ง วจีทัณฑะอย่างหนึ่ง มโนทัณฑะอย่างหนึ่ง.

ดูก่อนตปัสสี ก็บรรดาทัณฑะทั้ง ๓ ประการ ที่จําแนกออกแล้วเป็นส่วนละอย่างต่างกันเหล่านี้ ทัณฑะไหน คือ กายทัณฑะ วจีทัณฑะ หรือมโนทัณฑะ ที่นิครนถ์นาฏบุตรบัญญัติว่ามีโทษมากกว่า ในการทําบาปกรรม ในการเป็นไปแห่งบาปกรรม.

ท่านพระโคดม บรรดาทัณฑะทั้ง ๓ ประการ ที่จําแนกออกแล้วเป็นส่วนละอย่างต่างกันเหล่านี้ นิครนถ์นาฏบุตรบัญญัติว่ากายทัณฑะมีโทษมากกว่าในการทําบาปกรรม ในการเป็นไปแห่งบาปกรรม จะบัญญัติวจีทัณฑะ มโนทัณฑะว่ามีโทษมากเหมือนกายทัณฑะหามิได้.

ดูก่อนตปัสสี ท่านกล่าวว่ากายทัณฑะหรือ.

ท่านพระโคดม ข้าพเจ้ากล่าวว่ากายทัณฑะ.

ดูก่อนตปัสสี ท่านกล่าวว่ากายทัณฑะหรือ.

ท่านพระโคดม ข้าพเจ้ากล่าวว่ากายทัณฑะ.

ดูก่อนตปัสสี ท่านกล่าวว่ากายทัณฑะหรือ.

ท่านพระโคดม ข้าพเจ้ากล่าวว่ากายทัณฑะ.

พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงให้ทีฆตปัสสีนิครนถ์ ยืนยันในเรื่องที่พูดนี้ถึง ๓ ครั้ง ด้วยประการฉะนี้.

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้า 114

[๖๔] เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสอย่างนี้แล้ว ทีฆตปัสสีนิครนถ์ได้กราบทูลถามพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ท่านพระโคดม พระองค์เล่าย่อมบัญญัติทัณฑะ ในการเป็นไปแห่งบาปกรรมไว้เท่าไร.

ดูก่อนตปัสสี ตถาคตจะบัญญัติว่า ทัณฑะๆ ดังนี้เป็นอาจิณหามิได้ ดูก่อนตปัสสี ตถาคตบัญญัติว่า กรรมๆ ดังนี้เป็นอาจิณ.

ท่านพระโคดม ก็พระองค์ย่อมบัญญัติกรรม ในการทําบาปกรรม ในการเป็นไปแห่งบาปกรรม ไว้เท่าไร.

ดูก่อนตปัสสี เราย่อมบัญญัติกรรม ในการทําบาปกรรม ในการเป็นไปแห่งบาปกรรมไว้ ๓ ประการ คือ กายกรรม ๑ วจีกรรม ๑ มโนกรรม ๑.

พระโคดม ก็กายกรรมอย่างหนึ่ง วจีกรรมอย่างหนึ่ง มโนกรรมอย่างหนึ่งมิใช่หรือ.

ดูก่อนตปัสสี กายกรรมอย่างหนึ่ง วจีกรรมอย่างหนึ่ง มโนกรรมอย่างหนึ่ง.

ท่านพระโคดม ก็บรรดากรรมทั้ง ๓ ประการ ที่จําแนกออกแล้วเป็นส่วนละอย่างต่างกันเหล่านี้ กรรมไหน คือ กายกรรม วจีกรรม หรือมโนกรรม ที่พระองค์บัญญัติว่ามีโทษมากกว่า ในการทําบาปกรรม ในการเป็นไปแห่งบาปกรรม.

ดูก่อนตปัสสี บรรดากรรมทั้ง ๓ ประการ ที่จําแนกออกแล้วเป็นส่วนละอย่างต่างกันเหล่านี้ เราบัญญัติมโนกรรมว่ามีโทษมากกว่า ในการทําบาปกรรม ในการเป็นไปแห่งบาปกรรม เราจะบัญญัติกายกรรม วจีกรรมว่าว่ามีโทษมากเหมือนมโนกรรมหามิได้.

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้า 115

ท่านพระโคดม พระองค์ตรัสว่ามโนกรรมหรือ.

ดูก่อนตปัสสี เรากล่าวว่ามโนกรรม.

ท่านพระโคดม พระองค์ตรัสว่ามโนกรรมหรือ.

ดูก่อนตปัสสี เรากล่าวว่ามโนกรรม.

ท่านพระโคดม พระองค์ตรัสว่ามโนกรรมหรือ.

ดูก่อนตปัสสี เรากล่าวว่ามโนกรรม.

ทีฆตปัสสีนิครนถ์ให้พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงยืนยันในเรื่องที่ตรัสนี้ถึง ๓ ครั้ง ด้วยประการฉะนี้ แล้วลุกจากอาสนะเข้าไปหานิครนถ์นาฏบุตรถึงที่อยู่.

[๖๕] ก็สมัยนั้น นิครนถ์นาฏบุตรนั่งอยู่พร้อมด้วยคฤหัสถ์บริษัทเป็นอันมากผู้มีความเขลา มีอุบาลีคฤหบดีเป็นประมุข ได้เห็นทีฆตปัสสีนิครนถ์มาแต่ไกล จึงได้กล่าวกะทีฆตปัสสีนิครนถ์ว่า ดูก่อนตปัสสี ดูเถอะ ท่านมาจากไหน แต่ยังวันเทียวหนอ.

ทีฆตปัสสีตอบว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ข้าพเจ้ามาจากสํานักพระสมณโคดมนี้เอง.

นิ. ดูก่อนตปัสสี ก็ท่านได้เจรจาปราศรัยกับพระสมณโคดมเรื่องอะไรบ้างหรือ.

ที. ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ข้าพเจ้าได้เจรจาปราศรัยกับพระสมณโคดมมาบ้าง.

ดูก่อนตปัสสี ก็ท่านได้เจรจาปราศรัยกับพระสมณโคดมมาอย่างไร.

ลําดับนั้น ทีฆตปัสสีนิครนถ์บอกเรื่องการเจรจาปราศรัยกับพระผู้มีพระภาคเจ้าจนหมดสิ้น แก่นิครนถ์นาฏบุตร เมื่อทีฆตปัสสีกล่าวอย่างนี้แล้ว

 
  ข้อความที่ 5  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้า 116

นิครนถ์นาฏบุตรได้กล่าวกะทีฆตปัสสีนิครนถ์ว่า ดูก่อนตปัสสี ดีละๆ ข้อที่ทีฆตปัสสีนิครนถ์พยากรณ์แก่พระสมณโคดม ตรงตามที่สาวกผู้ฟัง ผู้รู้ทั่วถึงคําสอนของศาสดาโดยชอบ มโนทัณฑะอันต่ําทราม จะงามอะไรเล่า เมื่อเทียบกับกายทัณฑะอันยิ่งใหญ่อย่างนี้ โดยที่แท้ กายทัณฑะเท่านั้นมีโทษมากกว่าในการทําบาปกรรม ในการเป็นไปแห่งบาปกรรม วจีทัณฑะ มโนทัณฑะหามีโทษมากเหมือนกายทัณฑะไม่.

[๖๖] เมื่อนิครนถ์นาฏบุตรกล่าวอย่างนี้แล้ว อุบาลีคฤหบดีได้กล่าวกะนิครนถ์นาฏบุตรว่า ท่านผู้เจริญ ท่านทีฆตปัสสีพยากรณ์ดีแล้วๆ ข้อที่ท่านทีฆตปัสสีพยากรณ์แก่พระสมณโคดมตรงตามที่สาวกผู้ฟังผู้รู้ทั่วถึงคําสอนของศาสดาโดยชอบ มโนทัณฑะอันต่ําทรามจะงามอะไรเล่า เมื่อเทียบกับกายทัณฑะอันยิ่งใหญ่อย่างนี้ โดยที่แท้ กายทัณฑะเท่านั้นมีโทษมากกว่า ในการทําบาปกรรม ในการเป็นไปแห่งบาปกรรม วจีทัณฑะ มโนทัณฑะ หามีโทษมากเหมือนกายทัณฑะไม่.

ท่านผู้เจริญ เอาเถอะ ข้าพเจ้าจะไป จักยกวาทะในเรื่องที่พูดนี้แก่พระสมณโคดม ถ้าพระสมณโคดมจักยืนยันแก่ข้าพเจ้าเหมือนอย่างที่ยืนกับท่านตปัสสีไซร้ ข้าพเจ้าจักฉุดกระชากลากไปมาซึ่งวาทะด้วยวาทะกะพระสมณโคดม เหมือนบุรุษมีกําลังพึงจับแกะมีขนยาวที่ขนแล้ว ฉุดกระชากลากไปมา ฉะนั้น ข้าพเจ้าจักฉุดกระชากลากไปมา ซึ่งวาทะด้วยวาทะกะพระสมณโคดมเหมือนบุรุษมีกําลังผู้ทําการงานโรงสุรา พึงทิ้งกระสอบเครื่องประกอบสุราใหญ่ไว้ในห้วงน้ำลึกแล้ว จับที่มุมฉุดกระชากลากไปมา ฉะนั้น ข้าพเจ้าจักขจัด ขยี้ บด ซึ่งวาทะด้วยวาทะกะพระสมณโคดม เหมือนบุรุษที่มีกําลัง เป็นนักเลงสุรา พึงจับถ้วยสุราที่หูถ้วยแล้ว พลิกลง พลิกขึ้น ไสไปฉะนั้น ข้าพเจ้าจักเล่นดังเล่นล้างเปลือกป่าน กะพระสมณโคดมเหมือนช้างแก่

 
  ข้อความที่ 6  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้า 117

อายุ ๖๐ ปี ลงไปยังสระลึกเล่นล้างเปลือกป่านฉะนั้น ข้าแต่ท่านผู้เจริญ เอาเถอะ ข้าพเจ้าจะไป จักยกวาทะในเรื่องที่พูดนี้แก่พระสมณโคดม.

นิ. ดูก่อนคฤหบดี ท่านจงไป จงยกวาทะในเรื่องที่พูดนี้แก่พระสมณโคดม ดูก่อนคฤหบดี เราก็ได้ ทีฆตปัสสีนิครนถ์ก็ได้ ท่านก็ได้ พึงยกวาทะแก่พระสมณโคดม.

[๖๗] เมื่อนิครนถ์นาฏบุตรกล่าวอย่างนี้แล้ว ทีฆตปัสสีนิครนถ์ได้กล่าวกะนิครนถ์นาฏบุตรว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ข้อที่อุบาลีคฤหบดีจะพึงยกวาทะแก่พระสมณโคดมนั้น ข้าพเจ้าไม่ชอบใจเลย ด้วยว่า พระสมณโคดมเป็นคนมีมายา ย่อมรู้มายาเป็นเครื่องกลับใจสาวกของพวกอัญญเดียรถีย์.

นิ. ดูก่อนตปัสสี ข้อที่อุบาลีคฤหบดีจะพึงเข้าถึงความเป็นสาวกของพระสมณโคดม มิใช่ฐานะ มิใช่โอกาส แต่ข้อที่พระสมณโคดมจะพึงเข้าถึงความเป็นสาวกของอุบาลีคฤหบดี เป็นฐานะที่จะมีได้ ดูก่อนคฤหบดี ท่านจงไป จงยกวาทะในเรื่องที่พูดนี้แก่พระสมณโคดม เราก็ได้ ทีฆตปัสสีก็ได้ ท่านก็ได้ พึงยกวาทะแก่พระสมณโคดม.

ทีฆตปัสสีนิครนถ์ได้กล่าวเตือนนิครนถ์นาฏบุตรเป็นครั้งที่ ๒ ว่าข้าแต่ท่านผู้เจริญ ข้อที่อุบาลีคฤหบดีจะพึงยกวาทะแก่พระสมณโคดมนั้น ข้าพเจ้าไม่ชอบใจเลย ด้วยพระสมณโคดมเป็นคนมีมายา ย่อมรู้มายาเป็นเครื่องกลับใจสาวกของพวกอัญญเดียรถีย์.

นิ. ดูก่อนตปัสสี ข้อที่อุบาลีคฤหบดีจะพึงเข้าถึงความเป็นสาวกของพระสมณโคดม มิใช่ฐานะ มิใช่โอกาส แต่ข้อที่พระสมณโคดมจะพึงเข้าถึงความเป็นสาวกของอุบาลีคฤหบดี เป็นฐานะที่จะมีได้ ดูก่อนคฤหบดี ท่านจงไป จงยกวาทะในเรื่องที่พูดนี้แก่พระสมณโคดม เราก็ได้ ทีฆตปัสสีก็ได้ ท่านก็ได้ พึงยกวาทะแก่พระสมณโคดม.

 
  ข้อความที่ 7  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้า 118

ทีฆตปัสสีนิครนถ์ได้กล่าวเตือนนิครนถ์นาฏบุตรเป็นครั้งที่ ๓ ว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ข้อที่อุบาลีคฤหบดีจะพึงยกวาทะแก่พระสมณโคดมนั้น ข้าพเจ้าไม่ชอบใจเลย ด้วยพระสมณโคดมเป็นคนมีมายา ย่อมรู้มายาเป็นเครื่องกลับใจสาวกของพวกอัญญเดียรถีย์.

นิ. ดูก่อนตปัสสี ข้อที่อุบาลีคฤหบดีจะพึงเข้าถึงความเป็นสาวกของพระสมณโคดม มิใช่ฐานะ มิใช่โอกาส แต่ข้อที่พระสมณโคดมจะพึงเข้าถึงความเป็นสาวกของอุบาลีคฤหบดี เป็นฐานะที่จะมีได้ ดูก่อนคฤหบดี ท่านจงไป จงยกวาทะในเรื่องที่พูดนี้แก่พระสมณะโคดม เราก็ได้ ทีฆตปัสสีก็ได้ ท่านก็ได้ พึงยกวาทะแก่พระสมณโคดม.

[๖๘] อุบาลีคฤหบดีรับคํานิครนถ์นาฏบุตรแล้ว ลุกจากอาสนะไหว้นิครนถ์นาฏบุตร ทําประทักษิณแล้ว เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าถึงปาวาริกัมพวัน ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้า แล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ทีฆตปัสสีนิครนถ์ได้มา ณ ที่นี้หรือ.

พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสตอบว่า ดูก่อนคฤหบดี ทีฆตปัสสีนิครนถ์ได้มา ณ ที่นี้.

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็พระองค์ได้เจรจาปราศรัย เรื่องอะไรๆ กับทีฆตปัสสีนิครนถ์บ้างหรือ.

ดูก่อนคฤหบดี เราได้เจรจาปราศรัยกับทีฆตปัสสีนิครนถ์บ้าง.

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็พระองค์ได้เจรจาปราศรัยกับทีฆตปัสสีนิครนถ์อย่างไรบ้าง.

 
  ข้อความที่ 8  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้า 119

ลําดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสบอกเรื่องการเจรจาปราศรัยกับทีฆตปัสสีนิครนถ์จนหมดสิ้นแก่อุบาลีคฤหบดี เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสบอกอย่างนี้แล้ว อุบาลีคฤหบดีได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ทีฆตปัสสีพยากรณ์ดีแล้วๆ ข้อที่ทีฆตปัสสีพยากรณ์แก่พระผู้มีพระภาคเจ้านั้น ตรงตามที่สาวกผู้ฟัง ผู้รู้ทั่วถึงคําสอนของพระศาสดาโดยชอบ มโนทัณฑะอันต่ําทรามนั้นจะงามอะไรเล่าเมื่อเทียบกับกายทัณฑะนี้ อันยิ่งใหญ่อย่างนี้ โดยที่แท้ กายทัณฑะเท่านั้นมีโทษมากกว่า ในการทําบาปกรรม ในการเป็นไปแห่งบาปกรรม วจีทัณฑะ มโนทัณฑะหามีโทษมากเหมือนกายทัณฑะไม่.

ดูก่อนคฤหบดี ถ้าแลท่านจะพึงมั่นอยู่ในคําสัตย์เจรจากัน เราทั้งสองพึงเจรจาปราศรัยกันได้ในเรื่องนี้.

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพเจ้าจักมั่นอยู่ในคําสัตย์เจรจากัน ขอเราทั้งสองจงเจรจาปราศรัยกันในเรื่องนี้เถิด.

พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงย้อนถามปัญหากรรม ๓

[๖๙] ดูก่อนคฤหบดี ท่านจะสําคัญในความข้อนั้นเป็นไฉน นิครนถ์ในโลกนี้เป็นคนอาพาธ มีทุกข์ เป็นไข้หนัก ห้ามน้ำเย็น ดื่มแต่น้ำร้อน เมื่อเขาไม่ได้น้ำเย็นจะต้องตาย ดูก่อนคฤหบดี ก็นิครนถ์นาฏบุตรบัญญัติความเกิดของนิครนถ์ผู้นี้ที่ไหนเล่า.

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เทวดาชื่อว่ามโนสัตว์มีอยู่ นิครนถ์นั้นย่อมเกิดในเทวดาจําพวกนั้น ข้อนั้นเพราะเหตุอะไร ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เพราะนิครนถ์ผู้นั้นเป็นผู้มีใจเกาะเกี่ยวทํากาละ.

 
  ข้อความที่ 9  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้า 120

ดูก่อนคฤหบดี ท่านจงมนสิการ ครั้นแล้ว จงพยากรณ์ คําหลังกับคําก่อนก็ดี คําก่อนกับคําหลังก็ดี ของท่านไม่ต่อกันเลย ดูก่อนคฤหบดี ก็ท่านกล่าวคํานี้ไว้ว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพเจ้าจะมั่นอยู่ในคําสัตย์เจรจาต่อกัน ขอเราทั้งสองจงเจรจาปราศรัยกันในเรื่องนี้เถิด.

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสอย่างนี้ก็จริง ถึงอย่างนั้นกายทัณฑะเท่านั้นมีโทษมากกว่า ในการทําบาปกรรม ในการเป็นไปแห่งบาปกรรม วจีทัณฑะ มโนทัณฑะ หามีโทษมากเหมือนกายทัณฑะไม่.

[๗๐] ดูก่อนคฤหบดี ท่านจะสําคัญความข้อนั้นเป็นไฉน นิครนถ์ในโลกนี้พึงเป็นผู้สํารวมด้วยการสังวรโดยส่วน ๔ คือ ห้ามน้ำทั้งปวง ประกอบด้วยการห้ามบาปทั้งปวง กําจัดบาปด้วยการห้ามบาปทั้งปวง อันการห้ามบาปทั้งปวงถูกต้องแล้วเมื่อเขาก้าวไป ถอยหลัง ย่อมถึงการฆ่าสัตว์ตัวเล็กๆ เป็นอันมาก ดูก่อนคฤหบดี ก็นิครนถ์นาฏบุตรบัญญัติวิบากเช่นไรแก่นิครนถ์ผู้นี้.

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ นิครนถ์นาฏบุตรมิได้บัญญัติกรรม อันเป็นไปโดยไม่จงใจว่ามีโทษมากเลย.

ดูก่อนคฤหบดี ก็ถ้าจงใจเล่า.

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เป็นกรรมมีโทษมาก.

ดูก่อนคฤหบดี ก็นิครนถ์นาฏบุตรบัญญัติเจตนาลงในส่วนไหน.

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ นิครนถ์นาฏบุตรบัญญัติเจตนาลงในส่วนมโนทัณฑะ.

ดูก่อนคฤหบดี ท่านจงมนสิการ ครั้นแล้ว จงพยากรณ์ คําหลังกับคําก่อนก็ดี คําก่อนกับคําหลังก็ดี ของท่านไม่ต่อกันเลย ดูก่อนคฤหบดี ก็ท่านกล่าวคํานี้ไว้ว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพเจ้าจะมั่นอยู่ในคําสัตย์เจรจากัน ขอเราทั้งสองจงเจรจาปราศรัยกันในเรื่องนี้เถิด.

 
  ข้อความที่ 10  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้า 121

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสอย่างนี้ก็จริง ถึงอย่างนั้นกายทัณฑะเท่านั้นมีโทษมากกว่า ในการทําบาปกรรม ในการเป็นไปแห่งบาปกรรม วจีทัณฑะ มโนทัณฑะ หามีโทษมากเหมือนกายทัณฑะไม่.

ดูก่อนคฤหบดี ท่านจะสําคัญความข้อนั้นเป็นไฉน บ้านนาลันทานี้เป็นบ้านมั่งคั่ง เป็นบ้านเจริญ มีชนมาก มีมนุษย์เกลื่อนกล่น.

อย่างนั้น พระเจ้าข้า บ้านนาลันทา เป็นบ้านมั่งคั่ง เป็นบ้านเจริญ มีชนมาก มีมนุษย์เกลื่อนกล่น.

ดูก่อนคฤหบดี ท่านจะสําคัญความข้อนี้เป็นไฉน ในบ้านนาลันทานี้พึงมีบุรุษคนหนึ่งเงื้อดาบมา เขาพึงกล่าวอย่างนี้ว่า เราจักทําสัตว์เท่าที่มีอยู่ในบ้านนาลันทานี้ ให้เป็นลานเนื้ออันเดียวกัน ให้เป็นกองเนื้ออันเดียวกัน โดยขณะหนึ่ง โดยครู่หนึ่ง ดูก่อนคฤหบดี ท่านจะสําคัญความข้อนั้นเป็นไฉน บุรุษนั้นจะสามารถทําสัตว์เท่าที่มีอยู่ในบ้านนาลันทานี้ ให้เป็นลานเนื้อเดียวกัน ให้เป็นกองเนื้อเดียวกัน โดยขณะหนึ่ง โดยครู่หนึ่งได้หรือ.

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ บุรุษ ๑๐ คนก็ดี ๒๐ คนก็ดี ๓๐ คนก็ดี ๔๐ คนก็ดี ๕๐ คนก็ดี ไม่สามารถจะทําสัตว์เท่าที่มีอยู่ในบ้านนาลันทานี้ ให้เป็นลานเนื้ออันเดียวกัน ให้เป็นกองเนื้อเดียวกัน โดยขณะหนึ่ง โดยครู่หนึ่งได้ พระเจ้าข้า บุรุษผู้ต่ําทรามคนเดียว จะงามอะไรเล่า.

ดูก่อนคฤหบดี ท่านจะสําคัญความข้อนั้นเป็นไฉน สมณะหรือพราหมณ์ผู้มีฤทธิ์ ถึงความเป็นผู้ชํานาญในทางจิต พึงมาในบ้านนาลันทานี้ สมณะหรือพราหมณ์นั้น พึงกล่าวอย่างนี้ว่า เราจักทําบ้านนาลันทานี้ให้เป็นเถ้า ด้วยใจคิดประทุษร้ายดวงเดียว ดูก่อนคฤหบดี ท่านจะสําคัญความข้อนั้นเป็นไฉน สมณะหรือพราหมณ์ผู้มีฤทธิ์ ถึงความเป็นผู้ชํานาญในทางจิตนั้น จะสามารถทําบ้านนาลันทานี้ให้เป็นเถ้า ด้วยใจประทุษร้ายดวงหนึ่งได้หรือหนอ.

 
  ข้อความที่ 11  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้า 122

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ บ้านนาลันทา ๑๐ บ้านก็ดี ๒๐ บ้านก็ดี ๓๐ บ้านก็ดี ๔๐ บ้านก็ดี ๕๐ บ้านก็ดี สมณะหรือพราหมณ์ผู้มีฤทธิ์ ถึงความเป็นผู้ชํานาญในทางจิตนั้น สามารถจะทําให้เป็นเถ้าได้ด้วยใจประทุษร้ายดวงหนึ่ง บ้านนาลันทาอันต่ําทรามบ้านเดียวจะงามอะไรเล่า.

ดูก่อนคฤหบดี ท่านจงมนสิการ ครั้นแล้วจงพยากรณ์ คําหลังกับคําก่อนก็ดี คําก่อนกับคําหลังก็ดี ของท่านไม่ต่อกันเลย ดูก่อนคฤหบดี ก็ท่านกล่าวคํานี้ไว้ว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพเจ้าจะมั่นอยู่ในคําสัตย์เจรจากัน ขอเราทั้งสองจงเจรจาปราศรัยกันในเรื่องนี้เถิด.

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสอย่างนี้ก็จริง ถึงอย่างนั้นกายทัณฑะเท่านั้นมีโทษมากกว่า ในการทําบาปกรรม ในการเป็นไปแห่งบาปกรรม วจีทัณฑะ มโนทัณฑะ หามีโทษมากเหมือนกายทัณฑะไม่.

ดูก่อนคฤหบดี ท่านจะสําคัญความข้อนั้นเป็นไฉน ป่าทัณฑกี ป่ากาลิงคะ ป่าเมชฌะ ป่ามาตังคะ เกิดเป็นป่าไป ท่านได้ฟังมาแล้วหรือ.

อย่างนั้น พระองค์ผู้เจริญ ป่าทัณฑกี ป่ากาลิงคะ ป่าเมชฌะ ป่ามาตังคะ เกิดเป็นป่าไป ข้าพเจ้าได้ฟังมาแล้ว.

ดูก่อนคฤหบดี ท่านจะสําคัญความข้อนั้นเป็นไฉน ป่าทัณฑกี ป่ากาลิงคะ ป่าเมชฌะ ป่ามาตังคะ เกิดเป็นป่าไป ท่านได้ฟังมาว่าอย่างไร เกิดเป็นป่าไป เพราะเหตุไร.

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ได้ฟังมาว่า ป่าทัณฑกี ป่ากาลิงคะ ป่าเมชฌะ ป่ามาตังคะ เกิดเป็นป่าไปนั้น เพราะใจประทุษร้าย อันพวกเทวดาทําเพื่อฤาษี.

 
  ข้อความที่ 12  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้า 123

ดูก่อนคฤหบดี ท่านจงมนสิการ ครั้นแล้วจงพยากรณ์ คําหลังกับคําก่อนก็ดี คําก่อนกับคําหลังก็ดี ของท่านไม่ต่อกันเลย ดูก่อนคฤหบดี ก็ท่านได้กล่าวคํานี้ไว้ว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพเจ้าจะมั่นอยู่ในคําสัตย์เจรากัน ขอเราทั้งสองเจรจาปราศรัยกันในเรื่องนี้เถิด.

อุบาลีคฤหบดีแสดงตนเป็นอุบาสก

[๗๑] ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระพุทธเจ้าชื่นชมยินดีต่อพระผู้มีพระภาคเจ้าด้วยข้ออุปมาข้อแรก แต่ข้าพระพุทธเจ้าปรารถนาจะฟังปฏิภาณการพยากรณ์ปัญหาอันวิจิตรของพระผู้มีพระภาคเจ้านี้ ฉะนี้ ข้าพระพุทธเจ้าจึงยังแกล้งทําเป็นดุจถือตรงกันข้ามอยู่ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก เปรียบเหมือนบุคคลหงายของที่คว่ํา เปิดของที่ปิด บอกทางแก่คนที่หลงทาง หรือตามประทีปในที่มืด ด้วยหวังว่าผู้มีจักษุจักเห็นรูปดังนี้ ฉันใด พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงประกาศพระธรรมโดยอเนกปริยายฉันนั้นเหมือนกัน.

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระพุทธเจ้านี้ขอถึงพระผู้มีพระภาคเจ้า พระธรรม และพระภิกษุสงฆ์ว่าเป็นสรณะ ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าจงทรงจําข้าพระพุทธเจ้าว่าเป็นอุบาสก ผู้ถึงสรณะตลอดชีวิต ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป.

[๗๒] ดูก่อนคฤหบดี ท่านจงใคร่ครวญเสียก่อนแล้วจึงทํา การที่มนุษย์ผู้มีชื่อเสียงเช่นท่าน ใคร่ครวญเสียก่อนแล้วจึงทําเป็นความดี.

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ แม้ด้วยเหตุที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสกะข้าพระพุทธเจ้าอย่างนี้ว่า ดูก่อนคฤหบดี ท่านจงใคร่ครวญเสียก่อนแล้วจึงทํา การที่มนุษย์ผู้มีชื่อเสียงเช่นท่านใคร่ครวญเสียก่อนแล้วจึงทําเป็นความดีนี้ ข้าพระพุทธเจ้ายิ่งชื่นชมยินดีต่อพระผู้มีพระภาคเจ้ามากขึ้น.

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ

 
  ข้อความที่ 13  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้า 124

ด้วยว่าพวกอัญญเดียรถีย์ได้ข้าพระพุทธเจ้าเป็นสาวกแล้ว จะพึงยกธงปฏากเที่ยวไปตลอดบ้านนาลันทาทั้งสิ้นซึ่งเป็นเหตุจะได้รู้กันว่า อุบาลีคฤหบดี ถึงความเป็นสาวกของพวกเราดังนี้ แต่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสกะข้าพระพุทธเจ้าอย่างนี้ว่า ดูก่อนคฤหบดี ท่านจงใคร่ครวญเสียก่อนแล้วจึงทํา ด้วยว่ามนุษย์ผู้มีชื่อเสียงเช่นท่าน ใคร่ครวญเสียก่อนแล้วจึงทําเป็นความดี ดังนี้.

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระพุทธเจ้านี้ขอถึงพระผู้มีพระภาคเจ้า พระธรรมและพระภิกษุสงฆ์ว่าเป็นสรณะเป็นครั้งที่ ๒ ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าจงทรงจําข้าพระพุทธเจ้าว่าเป็นอุบาสก ผู้ถึงสรณะตลอดชีวิต ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป.

[๗๓] ดูก่อนคฤหบดี ตระกูลของท่านเป็นดุจบ่อน้ำของพวกนิครนถ์มานานแล้ว ท่านพึงสําคัญบิณฑบาตอันท่านพึงให้แก่นิครนถ์เหล่านั้นผู้เข้าไปถึง.

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ แม้ด้วยเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสกะข้าพระพุทธเจ้าอย่างนี้ว่า ดูก่อนคฤหบดี ตระกูลของท่านเป็นดุจบ่อน้ำของพวกนิครนถ์มานานแล้ว ท่านพึงสําคัญบิณฑบาตอันท่านพึงให้แก่นิครนถ์เหล่านั้นผู้เข้าไปถึงนี้ ข้าพระพุทธเจ้ายิ่งชื่นชมยินดีต่อพระผู้มีพระภาคเจ้ามากขึ้น ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระพุทธเจ้าได้ฟังคํานี้มาว่า พระสมณโคดมตรัสอย่างนี้ว่าควรให้ทานแก่เราเท่านั้น ไม่ควรให้ทานแก่คนเหล่าอื่น ควรให้ทานแก่สาวกทั้งหลายของเราเท่านั้น ไม่ควรให้ทานแก่สาวกของผู้อื่น ทานที่บุคคลให้แก่เราเท่านั้นมีผลมาก ทานที่บุคคลให้แก่สาวกของผู้อื่นไม่มีผลมาก แต่ความจริงพระผู้มีพระภาคเจ้ายังทรงชักชวนข้าพระพุทธเจ้าในการให้ทาน แม้ในพวกนิครนถ์ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็แต่ว่าข้าพระพุทธเจ้าจักทราบกาลอันควรในการให้ทานนี้.

ข้าพระพุทธเจ้านี้ ขอถึงพระผู้มีพระภาคเจ้า พระธรรมและ

 
  ข้อความที่ 14  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้า 125

พระสงฆ์ว่าเป็นสรณะ เป็นครั้งที่ ๓ ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าจงทรงจําข้าพระพุทธเจ้าว่าเป็นอุบาสกผู้ถึงสรณะตลอดชีวิต ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป.

ทรงแสดงอนุบุพพิกถา

[๗๔] ลําดับนั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสอนุบุพพิกถาแก่อุบาลีคฤหบดี คือ ทรงประกาศทานกถา ศีลกถา สัคคกถา โทษแห่งกามอันต่ําทรามเศร้าหมอง อานิสงส์ในเนกขัมมะ เมื่อใดพระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงทราบอุบาลีคฤหบดีว่ามีจิตควร มีจิตอ่อน มีจิตปราศจากนิวรณ์ มีจิตสูง มีจิตผ่องใส เมื่อนั้น จึงทรงประกาศพระธรรมเทศนา ที่พระพุทธเจ้าทั้งหลายทรงยกขึ้นแสดงด้วยพระองค์เอง คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค เปรียบเหมือนผ้าขาวสะอาดปราศจากดํา ควรได้รับน้ำย้อมด้วยดี ฉันใด ธรรมจักษุอันปราศจากธุลี ปราศจากมลทิน เกิดขึ้นแก่อุบาลีคฤหบดีที่อาสนะนั้นเองว่า สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งมวลล้วนมีความดับไปเป็นธรรมดา ฉันนั้นเหมือนกัน.

ลําดับนั้น อุบาลีคฤหบดีมีธรรมอันเห็นแล้ว มีธรรมอันบรรลุแล้ว มีธรรมอันรู้แจ้งแล้ว มีธรรมอันหยั่งลงมั่นแล้ว ข้ามวิจิกิจฉาแล้ว ปราศจากความเคลือบแคลง ถึงความเป็นผู้แกล้วกล้า ไม่ต้องเชื่อผู้อื่นในคําสอนของพระศาสดา ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระพุทธเจ้าขอทูลลาไป ณ บัดนี้ ข้าพระพุทธเจ้ามีกิจมาก มีธุระที่จะต้องทํามาก.

ดูก่อนคฤหบดี ท่านจงรู้กาลอันสมควร ณ บัดนี้เถิด.

[๗๕] ครั้งนั้นแล อุบาลีคฤหบดีชื่นชมยินดีภาษิตของพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว ลุกจากอาสนะ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้า ทําประทักษิณแล้ว

 
  ข้อความที่ 15  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้า 126

เข้าไปยังนิเวศน์ของตน เรียกนายประตูมาว่า ดูก่อนนายประตูผู้สหาย ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไปเราปิดประตูแก่พวกนิครนถ์ แก่พวกนางนิครนถ์ และเปิดประตูเพื่อพระผู้มีพระภาคเจ้า เพื่อสาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า คือ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ถ้านิครนถ์คนใดคนหนึ่งมา ท่านพึงว่ากะนิครนถ์คนนั้นอย่างนี้ว่า จงหยุดท่านผู้เจริญ อย่าเข้าไปเลย ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป อุบาลีคฤหบดีเข้าถึงความเป็นสาวกของพระสมณโคดมแล้ว ท่านปิดประตูแก่พวกนิครนถ์ แก่พวกนางนิครนถ์ ท่านเปิดประตูเพื่อพระผู้มีพระภาคเจ้า สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า คือ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ท่านผู้เจริญ ถ้าท่านมีความต้องการด้วยอาหาร ท่านจงหยุดอยู่ที่นี่แหละ ชนทั้งหลายจักนํามาเพื่อท่านในที่นี้ นายประตูรับคําอุบาลีคฤหบดีแล้ว.

[๗๖] ทีฆตปัสสีนิครนถ์ได้ฟังข่าวว่า อุบาลีคฤหบดีเข้าถึงความเป็นสาวกของพระสมณโคดมแล้ว ลําดับนั้น จึงเข้าไปหานิครนถ์นาฏบุตรถึงที่อยู่ ได้กล่าวกะนิครนถ์นาฏบุตรว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ข้าพเจ้าได้ฟังข่าวนี้มาว่า อุบาลีคฤหบดีเข้าถึงความเป็นสาวกของพระสมณโคดมแล้ว.

นิ. ดูก่อนตปัสสี ข้อที่อุบาลีคฤหบดีจะพึงเข้าถึงความเป็นสาวกของพระสมณโคดมนั้น มิใช่ฐานะ มิใช่โอกาส แต่ข้อที่พระสมณโคดมจะพึงเข้าถึงความเป็นสาวกของอุบาลีคฤหบดีนั้น เป็นฐานะที่จะมีได้.

ทีฆตปัสสีนิครนถ์ได้กล่าวกะนิครนถ์นาฏบุตรเป็นครั้งที่ ๒ ว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ข้าพเจ้าได้ฟังข่าวนี้มาว่า อุบาลีคฤหบดีเข้าถึงความเป็นสาวกของพระสมณโคดมแล้ว.

นิ. ดูก่อนตปัสสี ข้อที่อุบาลีคฤหบดี จะพึงเข้าถึงความเป็นสาวกของพระสมณโคดมนั้น มิใช่ฐานะ มิใช่โอกาส แต่ข้อที่พระสมณโคดม จะพึงเข้าถึงความเป็นสาวกของอุบาลีคฤหบดีนั้น เป็นฐานะที่จะมีได้.

 
  ข้อความที่ 16  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้า 127

ทีฆตปัสสีนิครนถ์ ได้กล่าวกะนิครนถ์นาฏบุตรเป็นครั้งที่ ๓ ว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ข้าพเจ้าได้ฟังข่าวนี้มาว่า อุบาลีคฤหบดีเข้าถึงความเป็นสาวกของพระสมณโคดมแล้ว.

นิ. ดูก่อนตปัสสี ข้อที่อุบาลีคฤหบดีจะพึงเข้าถึงความเป็นสาวกของพระสมณโคดมนั้น มิใช่ฐานะ มิใช่โอกาส แต่ข้อที่พระสมณโคดมจะพึงเข้าถึงความเป็นสาวกของอุบาลีคฤหบดีนั้น เป็นฐานะที่จะมีได้.

ที. ข้าแต่ท่านผู้เจริญ เอาเถอะ ข้าพเจ้าจะไป เพียงเพื่อจะทราบว่าอุบาลีคฤหบดีเข้าถึงความเป็นสาวกของพระสมณโคดมแล้ว หรือหาไม่.

นิ. ดูก่อนตปัสสี ท่านจงไป จงรู้ว่า อุบาลีคฤหบดีเข้าถึงความเป็นสาวกของพระสมณโคดม หรือหาไม่.

ห้ามพวกเดียรถีย์เข้าบ้าน

[๗๗] ครั้งนั้น ทีฆตปัสสีนิครนถ์ จึงเข้าไปยังนิเวศน์ของอุบาลีคฤหบดี นายประตูได้เห็นทีฆตปัสสีนิครนถ์มาแต่ไกลเทียว ครั้นแล้วจึงกล่าวว่า จงหยุดเถิดท่านผู้เจริญ อย่าเข้ามาเลย ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป อุบาลีคฤหบดีเข้าถึงความเป็นสาวกของพระสมณโคดมแล้ว ท่านปิดประตูแก่พวกนิครนถ์ แก่พวกนางนิครนถ์ เปิดประตูเพื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าและสาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า คือ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ท่านผู้เจริญ ถ้าท่านมีความต้องการอาหาร จงหยุดอยู่ที่นี้แหละ ชนทั้งหลายจักนํามาเพื่อท่าน ณ ที่นี้.

ทีฆตปัสสีกล่าวว่า ผู้มีอายุ เรายังไม่ต้องการอาหารดอก แล้วกลับจากที่นั้น เข้าไปหานิครนถ์นาฏบุตรถึงที่อยู่ แล้วได้กล่าวว่า ข้าแต่ท่านผู้

 
  ข้อความที่ 17  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้า 128

เจริญ ข้อที่อุบาลีคฤหบดีเข้าถึงความเป็นสาวกของพระสมณโคดมนั้น เป็นความจริงทีเดียว ข้าพเจ้าไม่ได้คําที่ข้าพเจ้ากล่าวว่า ข้อที่อุบาลีคฤหบดีจะพึงยกวาทะแก่พระสมณโคดมนั้น ข้าพเจ้าไม่ชอบใจเลย ด้วยว่า พระสมณโคดมเป็นคนมีมายา ย่อมรู้มายาเป็นเครื่องกลับใจสาวกของพวกอัญญเดียรถีย์ ดังนี้จากท่าน ข้าแต่ท่านผู้เจริญ อุบาลีคฤหบดีของท่าน ถูกพระสมณโคดมกลับใจด้วยมายาอันเป็นเครื่องกลับใจเสียแล้ว.

นิ. ดูก่อนตปัสสี ข้อที่อุบาลีคฤหบดีจะเข้าถึงความเป็นสาวกของพระสมณโคดมนั้น มิใช่ฐานะ มิใช่โอกาส แต่ข้อที่พระสมณโคดม จะพึงเข้าถึงความเป็นสาวกของอุบาลีคฤหบดีนั้น เป็นฐานะที่จะมีได้.

ทีฆตปัสสีนิครนถ์ ได้กล่าวเป็นครั้งที่ ๒ ว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ข้อที่อุบาลีคฤหบดีเข้าถึงความเป็นสาวกของพระสมณะโคดมนั้น เป็นความจริงทีเดียว ข้าพเจ้าไม่ได้คําที่ข้าพเจ้ากล่าวว่า ข้อที่อุบาลีคฤหบดีจะพึงยกวาทะแก่พระสมณโคดมนั้น ข้าพเจ้าไม่ชอบใจเลย ด้วยว่าพระสมณโคดมเป็นคนมีมายา ย่อมรู้มายาเป็นเครื่องกลับใจสาวกของพวกอัญญเดียรถีย์ ดังนี้ จากท่าน ข้าแต่ท่านผู้เจริญ อุบาลีคฤหบดีของท่าน ถูกพระสมณโคดมกลับใจ ด้วยมายาอันเป็นเครื่องกลับใจเสียแล้ว.

นิ. ดูก่อนตปัสสี ข้อที่อุบาลีคฤหบดี จะพึงเข้าถึงความเป็นสาวกของพระสมณโคดมนั้น มิใช่ฐานะ มิใช่โอกาส แต่ข้อที่พระสมณโคดมจะพึงเข้าถึงความเป็นสาวกของอุบาลีคฤหบดีนั้น เป็นฐานะที่จะมีได้ แล้วกล่าวต่อไปว่า เอาเถอะ ตปัสสี เราจะไป เพียงเพื่อจะรู้เองทีเดียวว่า อุบาลีคฤหบดีเข้าถึงความเป็นสาวกของพระสมณโคดมจริงหรือไม่.

 
  ข้อความที่ 18  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้า 129

[๗๘] ลําดับนั้น นิครนถ์นาฏบุตร พร้อมด้วยนิครนถ์บริษัทเป็นอันมาก เข้าไปยังนิเวศน์ของอุบาลีคฤหบดี นายประตูได้เห็นนิครนถ์นาฏบุตรมาแต่ไกล ได้กล่าวว่า จงหยุดเถิด ท่านผู้เจริญ อย่าเข้ามา ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป อุบาลีคฤหบดีเข้าถึงความเป็นสาวกของพระสมณโคดมแล้ว ท่านปิดประตูแก่พวกนิครนถ์ แก่พวกนางนิครนถ์แล้ว ท่านเปิดประตูเพื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าและสาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า คือ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ท่านผู้เจริญ ถ้าท่านต้องการอาหาร จงหยุดอยู่ที่นี่แหละ ชนทั้งหลายจักนํามาเพื่อท่าน ณ ที่นี้.

นิ. นายประตูผู้เป็นสหาย ถ้าอย่างนั้น ท่านจงเข้าไปหาอุบาลีคฤหบดีแล้วจงกล่าวอย่างนี้ว่า นิครนถ์นาฏบุตรพร้อมด้วยนิครนถ์บริษัทเป็นอันมากมายืนอยู่ที่ซุ้มประตูข้างนอก เขาอยากจะพบท่าน. นายประตูรับคํานิครนถ์นาฏบุตรแล้ว เข้าไปหาอุบาลีคฤหบดี แล้วได้เรียนว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ นิครนถ์นาฏบุตรพร้อมด้วยนิครนถ์บริษัทเป็นอันมาก มายืนอยู่ที่ซุ้มประตูข้างนอก เขาอยากจะพบท่าน.

อุ. ดูก่อนนายประตูผู้เป็นสหาย ถ้าอย่างนั้น ท่านจงปูลาดอาสนะไว้ที่ศาลาประตูกลาง นายประตูรับคําอุบาลีคฤหบดีแล้ว ปูลาดอาสนะไว้ที่ศาลาประตูกลาง แล้วเข้าไปหาอุบาลีคฤหบดี แล้วได้เรียนว่า ท่านผู้เจริญ ข้าพเจ้าปูอาสนะไว้ที่ศาลาประตูกลางแล้ว ท่านย่อมสําคัญกาลอันควร ณ บัดนี้. ลําดับนั้นอุบาลีคฤหบดี เข้าไปยังประตูกลาง แล้วนั่งบนอาสนะอันเลิศ ประเสริฐอุดม และประณีต อันมีอยู่ ณ ที่นั้นเสียเอง แล้วเรียกนายประตูมาว่า นายประตูผู้เป็นสหาย ถ้าอย่างนั้น ท่านจงเข้าไปหานิครนถ์นาฏบุตร จงกล่าวอย่างนี้ว่า ท่านผู้เจริญ อุบาลีคฤหบดีกล่าวอย่างนี้ว่า เชิญท่านเข้าไปเถิด ถ้าท่าน

 
  ข้อความที่ 19  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้า 130

จํานง. นายประตูรับคําอุบาลีคฤหบดี เข้าไปหานิครนถ์นาฏบุตร แล้วได้กล่าวว่าท่านผู้เจริญ อุบาลีคฤหบดีกล่าวอย่างนี้ว่า ท่านผู้เจริญ เชิญท่านเข้าไปเถิดถ้าท่านจํานง. ลําดับนั้น นิครนถ์นาฏบุตรพร้อมด้วยนิครนถ์บริษัทเป็นอันมากเข้าไปยังศาลาประตูกลาง.

[๗๙] ครั้งนั้นแล ได้ยินว่า แต่ก่อนอุบาลีคฤหบดีเห็นนาฏบุตรมาแต่ไกลเท่าใด แล้วต้อนรับแต่ที่เท่านั้น เอาผ้าห่มกวาดอาสนะที่เลิศ ประเสริฐอุดม และประณีต อันมีอยู่ ณ ที่นั้น แล้วกําหนดให้นั่ง บัดนี้ ท่านอุบาลีคฤหบดีนั่งบนอาสนะที่เลิศ ประเสริฐ อุดม และประณีต อันมีอยู่ ณ ที่นั้นเสียเอง แล้วได้กล่าวกะนิครนถ์นาฏบุตรว่า ท่านผู้เจริญ อาสนะมีอยู่ ถ้าท่านหวังเชิญนั่งเถิด. เมื่ออุบาลีคฤหบดีกล่าวอย่างนี้แล้ว นิครนถ์นาฏบุตรได้กล่าวว่า ท่านเป็นบ้าเสียแล้วหรือ คฤหบดี ท่านเป็นคนเขลาเสียแล้วหรือคฤหบดี ท่านกล่าวว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ข้าพเจ้าจะไป จักยกวาทะแก่พระสมณโคดม ครั้นไปแล้ว กลับถูกวาทะดุจไม้ขื่ออันใหญ่สวมมาแล้วหรือ ดูก่อนคฤหบดี เปรียบเหมือนบุรุษผู้นําอัณฑะไป ถูกควักอัณฑะออก กลับมาฉันใด ดูก่อนคฤหบดี อนึ่ง เปรียบเหมือนบุรุษนําดวงตาไป ถูกควักดวงตากลับมาฉันใด ดูก่อนคฤหบดี ท่านก็ฉันนั้นแล กล่าวว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ข้าพเจ้าจะไป จักยกวาทะแก่พระสมณโคดม ครั้นไปแล้ว กลับถูกวาทะดุจไม้ขื่ออันใหญ่สวมมาแล้ว ท่านถูกพระสมณโคดมกลับใจ ด้วยมายาเป็นเครื่องกลับใจเสียแล้วหรือ.

มายาเรื่องกลับใจ

[๘๐] อุ. ท่านผู้เจริญ มายาอันเป็นเครื่องกลับใจนี้ดี ท่านผู้เจริญ มายาอันเป็นเครื่องกลับใจนี้งาม ท่านผู้เจริญ ญาติสาโลหิตผู้เป็นที่รักของข้าพเจ้า

 
  ข้อความที่ 20  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้า 131

จะพึงกลับใจได้ด้วยมายาเครื่องกลับใจนี้ ข้อนั้นจะพึงเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูลเพื่อความสุขแก่ญาติสาโลหิตผู้เป็นที่รักของข้าพเจ้า สิ้นกาลนาน ท่านผู้เจริญ แม้ถ้ากษัตริย์ทั้งปวงจะพึงกลับใจได้ด้วยมายาเครื่องกลับใจนี้ ข้อนั้นจะพึงเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุขแก่กษัตริย์แม้ทั้งปวง สิ้นกาลนาน ท่านผู้เจริญ แม้ถ้าพราหมณ์ทั้งปวงจะพึงกลับใจได้ด้วยมายาเครื่องกลับใจนี้ ข้อนั้นจะพึงเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุขแก่พราหมณ์แม้ทั้งปวง สิ้นกาลนาน ท่านผู้เจริญ แม้ถ้าแพศย์ทั้งปวงจะพึงกลับใจด้วยมายาเครื่องกลับใจนี้ ข้อนั้นจะพึงเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุขแก่แพศย์แม้ทั้งปวง สิ้นกาลนาน ท่านผู้เจริญ แม้ถ้าศูทรทั้งปวงจะพึงกลับใจได้ด้วยมายาเครื่องกลับใจนี้ ข้อนั้นจะพึงเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุขแก่ศูทรแม้ทั้งปวง สิ้นกาลนาน ท่านผู้เจริญ แม้ถ้าโลกพร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก หมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณะ พราหมณ์ เทวดาและมนุษย์ จะพึงกลับใจได้ด้วยมายาเครื่องกลับใจนี้ ข้อนั้นจะพึงเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุขแก่โลก พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก แก่หมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณะ พราหมณ์ เทวดาและมนุษย์ สิ้นกาลนาน ท่านผู้เจริญ ถ้าอย่างนั้น ข้าพเจ้าจักทําอุปมาแก่ท่าน วิญูชน บางพวกในโลกนี้ ย่อมรู้อรรถแห่งภาษิตได้ แม้ด้วยการเปรียบเทียบ.

[๘๑] ท่านผู้เจริญ เรื่องเคยมีมาแล้ว นางมาณวิกาสาว เป็นภริยาของพราหมณ์แก่ผู้เฒ่าผู้ใหญ่คนหนึ่ง มีครรภ์ใกล้จะคลอด ครั้งนั้น นางมาณวิกานั้นได้กล่าวกะพราหมณ์นั้นว่า ท่านพราหมณ์ ท่านจงไปซื้อลูกวานรจากตลาดมาไว้ จักได้เป็นเพื่อนเล่นของลูกเรา ท่านผู้เจริญ เมื่อนางมาณวิกากล่าวอย่างนี้แล้ว พราหมณ์นั้นได้กล่าวว่า นางผู้เจริญ จงรอจนกว่าเธอจะคลอดเสียก่อนเถิด ถ้าเธอคลอดลูกชาย ฉันจักซื้อลูกวานรตัวผู้จากตลาดมาให้เธอ จัก

 
  ข้อความที่ 21  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้า 132

ได้เป็นเพื่อนเล่นของลูกชายของเธอ แต่ถ้าเธอคลอดลูกเป็นหญิง ฉันจักซื้อลูกวานรตัวเมียจากตลาดมาให้เธอ จักได้เป็นเพื่อนเล่นของลูกหญิงของเธอ.

ท่านผู้เจริญ นางมาณวิกานั้นได้กล่าวเป็นครั้งที่ ๒ ว่า ท่านพราหมณ์ท่านจงไปซื้อลูกวานรจากตลาดมาไว้ จักได้เป็นเพื่อนเล่นของลูกเรา ท่านผู้เจริญ. พราหมณ์ก็ได้กล่าวเป็นครั้งที่ ๒ ว่า นางผู้เจริญ จงรอจนกว่าเธอจะคลอดเสียก่อนเถิด ถ้าเธอคลอดลูกเป็นชาย ฉันจักซื้อลูกวานรตัวผู้จากตลาดมาให้เธอ เพื่อจักได้เป็นเพื่อนเล่นของลูกชายของเธอ แต่ถ้าเธอคลอดลูกเป็นผู้หญิง ฉันจักซื้อลูกวานรตัวเมียจากตลาดมาให้เธอ เพื่อจักได้เป็นเพื่อนเล่นของลูกหญิงของเธอ ท่านผู้เจริญ.

นางมาณวิกาได้กล่าวเป็นครั้งที่ ๓ ว่า ท่านพราหมณ์ ท่านจงไปซื้อลูกวานรจากตลาดมาไว้ จักได้เป็นเพื่อนเล่นของลูกเรา ท่านผู้เจริญ. ลําดับนั้น พราหมณ์ผู้นั้นกําหนัดมาก มีจิตปฏิพัทธ์ในนางมาณวิกานั้น จึงซื้อลูกวานรมาจากตลาด แล้วได้กล่าวว่า นางผู้เจริญ ฉันซื้อลูกวานรจากตลาดมาให้เธอแล้ว จักเป็นเพื่อนเล่นของลูกเธอ เมื่อพราหมณ์กล่าวอย่างนี้แล้ว นางมาณวิกานั้นได้กล่าวว่า ท่านพราหมณ์ ท่านจงไป จงอุ้มลูกวานรตัวนี้เข้าไปหาบุตรช่างย้อมผู้ชํานาญการย้อม แล้วจงกล่าวอย่างนี้ว่า แน่ะเพื่อนผู้ชํานาญการย้อม ฉันอยากจะให้ท่านย้อมลูกวานรตัวนี้ให้เป็นสีน้ำย้อม ให้น้ำย้อมจับดี ทุบแล้วทุบอีกให้เกลี้ยงดีทั้งสองข้าง.

ลําดับนั้น พราหมณ์นั้นกําหนัดมาก มีจิตปฏิพัทธ์ในนางมาณวิกานั้น จึงอุ้มลูกวานรเข้าไปหาบุตรช่างย้อม ผู้ชํานาญการย้อม แล้วได้กล่าวว่า แน่ะเพื่อนผู้ชํานาญการย้อม ฉันอยากจะให้ท่านย้อมลูกวานรนี้ให้เป็นสีน้ำย้อม ให้น้ำย้อมจับดี ทุบแล้วทุบอีกให้เกลี้ยงดีทั้งสองข้าง เมื่อพราหมณ์กล่าวอย่างนี้ บุตรช่างย้อมผู้ชํานาญการย้อมได้กล่าวว่า ท่านผู้เจริญ ลูกวานรของท่านตัวนี้ ควรแต่จะย้อมเท่านั้น แต่ไม่ควรจะทุบ ไม่ควรจะขัดสีฉันใด ท่านผู้เจริญ วาทะของนิครนถ์ผู้เขลา ก็ฉันนั้น ควรเป็นที่ยินดีของคน

 
  ข้อความที่ 22  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้า 133

เขลาเท่านั้น ไม่ควรเป็นที่ยินดี ไม่ควรซักไซร้ ไม่ควรพิจารณาของบัณฑิตทั้งหลาย.

ท่านผู้เจริญ ครั้นสมัยต่อมา พราหมณ์นั้นถือคู่ผ้าใหม่เข้าไปหาบุตรช่างย้อมผู้ชํานาญการย้อม แล้วได้กล่าวว่า แน่ะเพื่อนผู้ชํานาญการย้อม ฉันอยากจะให้ท่านย้อมคู่ผ้าใหม่นี้ให้เป็นสีน้ำย้อม ให้น้ำย้อมจับดี ทุบแล้วทุบอีกให้เกลี้ยงดีทั้งสองข้าง เมื่อพราหมณ์กล่าวอย่างนี้แล้ว บุตรช่างย้อมผู้ชํานาญการย้อมได้กล่าวว่า ท่านผู้เจริญ คู่ผ้าใหม่ของท่านนี้ ควรจะย้อม ควรจะทุบ ควรจะขัดสีฉันใด ท่านผู้เจริญ วาทะของพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ควรเป็นที่ยินดีของบัณฑิตทั้งหลายฉันนั้น แต่ไม่ควรซักไซร้ และไม่ควรพิจารณาของคนเขลาทั้งหลาย.

นิ. ดูก่อนคฤหบดี บริษัทพร้อมทั้งพระราชา รู้จักท่านอย่างนี้ว่า อุบาลีคฤหบดีเป็นสาวกของนิครนถ์นาฏบุตร ดังนี้ เราทั้งหลายจะทรงจําท่านว่าเป็นสาวกของใครเล่า.

อุบาลีคฤหบดีประกาศตนเป็นสาวก

[๘๒] เมื่อนิครนถ์นาฏบุตรกล่าวอย่างนี้แล้ว อุบาลีคฤหบดี ลุกจากอาสนะ ทําผ้าห่มเฉวียงบ่าข้างหนึ่ง ประนมอัญชลีไปทางที่พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับแล้วได้กล่าวกะนิครนถ์นาฏบุตรว่า ท่านผู้เจริญ ถ้าอย่างนั้น ท่านจงฟังพระคุณของพระผู้มีพระภาคเจ้า.

ข้าพเจ้าเป็นสาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า ผู้เป็นนักปราชญ์ ปราศจากโมหะ ทรงทําลายกิเลสเครื่องตรึงใจได้ ทรงชํานะมาร ไม่มีทุกข์ มีจิตเสมอด้วยดี มีมารยาทอันเจริญ มีพระปัญญาดี ทรงข้ามกิเลสอันปราศจากความเสมอได้ ปราศจากมลทิน.

 
  ข้อความที่ 23  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้า 134

ข้าพเจ้าเป็นสาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า ผู้ไม่มีความสงสัย มีพระทัยดี ทรงคายโลกามิสได้แล้ว ทรงบันเทิง ทรงมีสมณธรรมอันทําสําเร็จแล้ว ทรงเกิดเป็นมนุษย์ มีพระสรีระเป็นที่สุด เป็นนระไม่มีผู้เปรียบได้ ปราศจากธุลี.

ข้าพเจ้าเป็นสาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า ผู้ไม่มีความสงสัย ทรงเฉียบแหลม ทรงแนะนําสัตว์ เป็นสารถีอันประเสริฐ ไม่มีผู้อื่นยิ่งไปกว่า มีธรรมอันงาม หมดความเคลือบแคลง ทรงนําแสงสว่าง ทรงตัดมานะเสียได้ ทรงมีพระวิริยะ.

ข้าพเจ้าเป็นสาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า ผู้องอาจ ไม่มีใครประมาณได้ มีพระคุณลึกซึ้ง บรรลุถึงญาณ ทรงทําความเกษม ทรงมีพระญาณ ทรงตั้งอยู่ในธรรม ทรงสํารวมพระองค์ดี ทรงล่วงกิเลสเป็นเครื่องข้อง ผู้พ้นแล้ว.

ข้าพเจ้าเป็นสาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า ผู้ประเสริฐ ทรงมีเสนาสนะอันสงัด มีสังโยชน์สิ้นแล้ว ผู้พ้นแล้ว ทรงมีพระปัญญาเครื่องคิดอ่าน ทรงมีพระญาณเครื่องรู้ ผู้ลดธงคือมานะเสียได้ ปราศจากราคะ ผู้ฝึกแล้ว ผู้ไม่มีธรรมเครื่องหน่วง.

ข้าพเจ้าเป็นสาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า ผู้เป็นพระฤาษีที่ ๗ ผู้ไม่ลวงโลก ทรงไตรวิชชา เป็นสัตว์ประเสริฐ ทรงล้างกิเลสแล้ว ทรงฉลาด ประสมอักษรให้เป็นบทคาถา ทรงระงับแล้ว มีพระญาณอันรู้แล้ว ทรงให้ธรรมทานก่อนทั้งหมด ทรงสามารถ.

ข้าพเจ้าเป็นสาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า ผู้เป็นพระอริยะ มีพระองค์อบรมแล้ว ทรงบรรลุคุณที่ควรบรรลุ ทรงแสดงอรรถให้พิสดาร ทรงมีสติ ทรงเห็นแจ้ง ไม่ทรงยุบลง ไม่ทรงฟูขึ้น ไม่ทรงหวั่นไหว ทรงบรรลุความเป็นผู้ชํานาญ.

 
  ข้อความที่ 24  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้า 135

ข้าพเจ้าเป็นสาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า ผู้เสด็จไปดี ทรงมีฌาน ไม่ทรงปล่อยจิตไปตาม ทรงบริสุทธิ์ ไม่ทรงสะดุ้ง ปราศจากความกลัว สงัดทั่ว ทรงบรรลุธรรมอันเลิศ ทรงข้ามได้เอง ทรงยังสัตว์อื่นให้ข้ามได้.

ข้าพเจ้าเป็นสาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า ผู้สงบแล้ว มีพระปัญญากว้างใหญ่เสมอด้วยแผ่นดิน มีพระปัญญาใหญ่หลวง ปราศจากโลภะ ทรงดําเนินปฏิปทาเหมือนพระพุทธเจ้าในปางก่อน เสด็จไปดีแล้ว ไม่มีบุคคลเปรียบ ไม่มีผู้เสมอเหมือน ทรงแกล้วกล้า ผู้ละเอียดสุขุม.

ข้าพเจ้าเป็นสาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า ผู้ตัดตัณหาได้ขาด ทรงตื่นอยู่ ปราศจากควัน ผู้อันตัณหาและทิฏฐิไม่ฉาบทาได้ ผู้ควรรับการบูชา ทรงได้พระนามว่ายักขะ เป็นอุดมบุคคล มีพระคุณไม่มีใครชั่งได้ เป็นผู้ใหญ่ ทรงถึงยศอย่างอุดมยอดเยี่ยม.

[๘๓] นิ. ดูก่อนคฤหบดี ท่านประมวลถ้อยคําสําหรับพรรณนาคุณของพระสมณโคดมไว้แต่เมื่อไร.

อุ. ดูก่อนท่านผู้เจริญ เปรียบเหมือนช่างดอกไม้ หรือลูกมือช่างดอกไม้คนขยัน พึงร้อยกรองดอกไม้ต่างๆ กองใหญ่ ให้เป็นพวงมาลาอันวิจิตรได้ฉันใด พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้นก็ฉันนั้น ทรงมีพระคุณควรพรรณนาเป็นอเนก ทรงมีพระคุณควรพรรณนาตั้งหลายร้อย ก็ใครจักไม่ทําการพรรณนาพระคุณของพระองค์ผู้ควรพรรณนาพระคุณได้เล่า.

ครั้งนั้น เมื่อนิครนถ์นาฏบุตรทนดูสักการะของพระผู้มีพระภาคเจ้าไม่ได้ โลหิตอันร้อนได้พลุ่งออกจากปากในที่นั้นเอง ดังนี้แล.

จบอุปาลิวาทสูตรที่ ๖

 
  ข้อความที่ 25  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้า 136

๖. อรรถกถาอุปาลิวาทสูตร (๑)

อุปาลิวาทสูตร มีบทเริ่มต้นว่า เอวมฺเม สุตํ ข้าพเจ้าได้ฟังมาแล้วอย่างนี้.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า นาลนฺทายํ ความว่า ณ นครมีชื่ออย่างนี้ว่า นาลันทา เพราะกระทํานครนั้น ให้เป็นโคจรคาม บ้านสําหรับโคจร.

คําว่า ปาวาริกมฺพวเน แปลว่า สวนมะม่วงของทุสสปาวาริกเศรษฐี.

ได้ยินว่า สวนมะม่วงนั้นเป็นสวนของปาวาริกเศรษฐีนั้น. เศรษฐีนั้นฟังพระธรรมของพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้วเลื่อมใส สร้างวิหารอันประดับด้วยกุฏิ ที่เร้นและมณฑปเป็นต้นในสวนนั้น แล้วมอบถวายแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า.

วิหารนั้นจึงได้ชื่อว่า ปาวาริกัมพวัน เหมือนวิหาร ชื่อว่า ชีวกัมพวันฉะนั้น.

อธิบายว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ ปาวาริกัมพวันนั้น.

เดียรถีย์ที่ได้ชื่ออย่างนี้ว่า ทีฆตปัสสี เพราะเป็นผู้บําเพ็ญตบะมานาน.

คําว่า ปิณฺฑปาตปฏิกฺกนฺโต แปลว่า กลับจากบิณฑบาต.

แท้จริงโวหารว่า บิณฑบาต ไม่มีในลัทธิภายนอกเหมือนในพระพุทธศาสนา.

คําว่า ปฺเปติ แปลว่า แสดงตั้งไว้.

ทีฆตปัสสีเดียรถีย์ถามตามลัทธินิครนถ์จึงกล่าวคํานี้ว่า ทณฺฑานิ ปฺเปติ.

ในคํานี้ว่า กายทณฺฑํ วจีทณฺฑํ มโนทณฺฑํ พวกนิครนถ์บัญญัติ ๒ ทัณฑะเบื้องต้นว่า เล็กน้อย ว่าไม่มีจิต.

เขาว่า เมื่อลมพัด กิ่งไม้ก็ไหว น้ำก็กระเพื่อม เพราะกิ่งไม้และน้ำนั้นไม่มีจิตฉันใด แม้กายทัณฑะก็ไม่มีจิตฉันนั้น.

อนึ่ง เมื่อลมพัดกิ่งไม้มีใบตาลเป็นต้น จึงมีเสียง น้ำจึงมีเสียง เพราะกิ่งไม้และน้ำนั้นไม่มีจิต ฉันใด แม้


(๑) อรรถกถาเป็นอุปาลิสูตร

 
  ข้อความที่ 26  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้า 137

วจีทัณฑะก็ไม่มีจิตฉันนั้น.

พวกนิครนถ์บัญญัติทัณฑะทั้งสองนี้ว่า ไม่มีจิตดังกล่าวมาฉะนี้. บัญญัติว่า แต่จิตเป็นมโนทัณฑะ.

ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้ามีพระพุทธประสงค์จะให้ทีฆตปัสสีนิครนถ์ยืนยันถ้อยคํานั้นไว้ จึงตรัสถามว่า กิํ ปน ตปสฺสี เป็นต้น ในพระบาลีนั้นถ้อยคํานั่นแลชื่อว่า กถาวัตถุ ในคําที่ว่า กถาวตฺถุสฺมิํ อธิบายว่า ทรงให้เขาตั้งอยู่ในถ้อยคํา.

ถามว่า ก็เพราะเหตุไร พระผู้มีพระภาคเจ้า จึงทรงกระทําอย่างนี้.

ตอบว่า เพราะพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเห็นว่า ทีฆตปัสสีนิครนถ์ นี้จักเอาถ้อยคํานี้ไปบอกนิครนถ์ใหญ่ผู้เป็นศาสดาของตนและอุบาลีคฤหบดีนั่งอยู่ในบริษัทของนิครนถ์นั้น เขาฟังคํานี้แล้ว ก็จักมายกวาทะของเราขึ้นได้ เราจักแสดงธรรมแก่เขา เขาจักถึงสรณะ ๓ ครั้ง แต่นั้นเราก็จักประกาศสัจจะ ๔ ด้วยอํานาจการประกาศสัจจะ เขาก็จักดํารงอยู่ในโสดาปัตติผล. แท้จริง เราบําเพ็ญบารมีทั้งหลายก็เพื่อสงเคราะห์บุคคลอื่นๆ เท่านั้น

พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเห็นประโยชน์ข้อนี้ จึงได้ทรงกระทําอย่างนี้.

นิครนถ์ถามตามลัทธิของพระพุทธเจ้าจึงกล่าวคํานี้ว่า กมฺมานิ ปฺเปสิ.

ในคํานี้ว่า กายกมฺมํ วจีกมฺมํ มโนกมฺมํ ได้แก่ เจตนา ๒๐ คือ เจตนาฝ่ายกามาวจรกุศล ๘ เจตนาฝ่ายอกุศล ๑๒ ที่ถึงการยึดถือ การรับ การปล่อย และการเคลื่อนไหวในกายทวาร ชื่อว่า กายกรรม.

เจตนา ๒๐ นั้นแล ที่ไม่ถึงการยึดถือเป็นต้นในกายทวาร ที่ให้ถึงการเปล่งวาจาเกิดขึ้นในวจีทวาร ชื่อว่า วจีกรรม.

เจตนาฝ่ายกุศลและอกุศล ๒๙ ที่ไม่ถึงความไหวในทวารทั้งสองที่เกิดขึ้นในมโนทวารชื่อว่า มโนกรรม.

อีกอย่างหนึ่ง เมื่อว่าโดยสังเขป กายทุจริต ๓ ชื่อว่า กายกรรม, วจีทุจริต ๔ ชื่อว่า วจีกรรม, มโนทุจริต ๓ ชื่อว่า มโนกรรม.

แต่ในพระสูตรนี้

 
  ข้อความที่ 27  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้า 138

กรรม ชื่อว่า ธุระ.

เจตนา แม้ที่จะถึงในพระสูตรลําดับต่อไป อย่างนี้ว่าบุญกรรม ๔ เหล่านี้ เรากระทําให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่งเองประกาศแล้ว ชื่อว่า ธุระ.

เจตนาที่เป็นไปในกรรมอย่างใดอย่างหนึ่งก็ได้ มีประเภทเช่น กรรมดํามีวิบากดํา เป็นต้น.

แม้ในนิทเทสวารแห่งกรรมนั้น ท่านก็กล่าวเจตนานั้นไว้โดยนัยว่า ย่อมปรุงแต่งกายสังขาร พร้อมทั้งความเบียดเบียน ดังนี้เป็นต้น.

ส่วนเจตนาที่เป็นไปในกายทวาร ท่านหมายเอาว่ากายกรรมในสูตรนี้. เจตนาที่เป็นไปในวจีทวาร เป็นวจีกรรม. เจตนาที่เป็นไปในมโนทวารเป็นมโนกรรม.

เพราะเหตุนั้น จึงกล่าวว่า กรรม ในพระสูตรนี้ชื่อว่า ธุระ, เจตนาในพระสูตรลําดับต่อไป ก็ชื่อว่า ธุระ.

แท้จริง พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงบัญญัติกรรมว่ากรรม เหมือนอย่าง แม้เจตนาในพระสูตรนี้นี่แล ก็ชื่อว่า กรรมเหมือนกัน.

สมดังพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวเจตนาว่ากรรม เพราะคนคิดแล้วจึงทํากรรม.

ถามว่า ก็เพราะเหตุไร จึงตรัสเรียก เจตนาว่ากรรม.

ตอบว่า เพราะกรรมมีเจตนาเป็นมูล.

ก็ในอกุศลและกุศลทั้งสองนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อตรัสกายกรรม วจีกรรม ที่ถึงอกุศลว่าเป็นใหญ่ ดังนี้ ย่อมไม่ลําบาก ตรัสมโนกรรมฝ่ายกุศลว่า เป็นใหญ่ ดังนี้ ก็ไม่ลําบาก.

จริงอย่างนั้น บุคคลพยายามด้วยกายอย่างเดียวกระทํากรรม ๔ (อนันตริยกรรม) มีมาตุฆาตเป็นต้น ก็ด้วยกายเท่านั้น บุคคลกระทํากรรมคือ สังฆเภท (ทําลายสงฆ์ให้แตกกัน) อันจะยังผลให้บุคคลตั้งอยู่ในนรกถึงกัปหนึ่ง ก็ด้วยวจีทวาร ดังนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสกายกรรม วจีกรรม ฝ่ายอกุศลว่าเป็นใหญ่ จึงชื่อว่า ไม่ลําบาก.

ส่วนเจตนาในฌานอย่างเดียวย่อมนําสวรรค์สมบัติมาให้ถึง ๘๔,๐๐๐ กัป เจตนาในมรรคอย่างเดียวเพิกถอนอกุศลทุกอย่างย่อมถือเอาพระอรหัตได้ ดังนั้น พระผู้มีพระ-

 
  ข้อความที่ 28  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้า 139

ภาคเจ้าเมื่อตรัสมโนกรรมฝ่ายกุศลว่าใหญ่ จึงชื่อว่าไม่ลําบาก.

แต่ในที่นี้ พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อตรัสมโนกรรมฝ่ายอกุศลว่า มีโทษมากจึงตรัสหมายถึงนิยตมิจฉาทิฏฐิ.

ด้วยเหตุนั้นนั่นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เรามองไม่เห็นธรรมอย่างหนึ่ง อันอื่นที่มีโทษมาก เหมือนอย่างมิจฉาทิฏฐิเลย กระบวนโทษทั้งหลาย มิจฉาทิฏฐิมีโทษอย่างยิ่ง.

บัดนี้ แม้นิครนถ์ เมื่อจะเดินทางที่พระตถาคตเจ้าทรงดําเนินแล้ว ถึงมองไม่เห็นความสําเร็จประโยชน์อะไร ก็ทูลถามว่า กิํ ปนาวุโส โคตม ดังนี้เป็นต้น.

คําว่า พาลกิมิยา ความว่า บ้านชื่อว่าพาลกคามของอุบาลีคฤหบดีมีอยู่.

คนทั้งหลาย ยึดถือนิครนถ์ผู้ใดมาแต่บ้านนั้น นิครนถ์ผู้นั้นถูกบริษัทนั้นห้อมล้อมด้วยคิดว่า พวกเราจักเยี่ยมเยียนนิครนถ์ใหญ่ผู้เป็นศาสดาของพวกเราในหมู่นั้นก็ไปที่พาลกคามนั้น ท่านหมายถึงพาลกคามนั้น จึงกล่าวว่า พาลกิมิยา ปริสาย. อธิบายว่า อันบริษัทผู้อาศัยอยู่ในพาลกคาม.

คําว่า อุปาลิปฺปมุขาย แปลว่า มีอุบาลีคฤหบดีเป็นหัวหน้า.

อีกนัยหนึ่งคําว่า พาลกิมิยา แปลว่า ผู้โง่เขลา อธิบายว่าหนาแน่น.

คําว่า อุปาลิปฺปมุขาย ความว่า ในบริษัทนั้น อุบาลีคฤหบดีเท่านั้นเป็นคนมีปัญญาอยู่หน่อย อุบายลีคฤหบดีนั้นเป็นประมุข คือ หัวหน้าของคนเหล่านั้น แม้เพราะเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า อุปาลิปฺปมุขาย.

ศัพท์ว่า หนฺท เป็นนิบาต ลงในอรรถว่า กล่าวเชิญ.

ศัพท์ว่า ฉโว แปลว่า ทราม.

ศัพท์ว่า โอฬาริกสฺส แปลว่า ใหญ่.

ศัพท์ว่า อุปนิธาย แปลว่า ยกขึ้นมา.

ท่านอธิบายไว้ว่า นิครนถ์แสดงว่า กายทัณฑะที่ยกขึ้นมามองเห็นได้อย่างนี้ว่า กายทัณฑะนี้หนอใหญ่

 
  ข้อความที่ 29  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้า 140

กายทัณฑะเป็นใหญ่ มโนทัณฑะต่ํา จะงามอะไร จักงามแต่ไหน ไม่งามเลย แม้เพียงแต่ยกขึ้นมาก็ไม่เพียงพอ.

คําว่า สาธุ สาธุ ภนฺเต ตปสฺสี ความว่า อุบาลีคฤหบดีเมื่อให้สาธุการแก่ตปัสสีนิครนถ์ ก็เรียกศาสดานาฏบุตรว่า ภนฺเต.

บทว่า น โข เมตํ ภนฺเต รุจฺจติ ความว่า ทีฆตปัสสีนิครนถ์ คัดค้านว่า ท่านเจ้าข้า ข้อนี้จะให้อุบาลีคฤหบดีไปโต้วาทะกับพระสมณโคดมนั้น ไม่ชอบใจข้าพเจ้าเสียเลย.

ศัพท์ว่า มายาวี แปลว่า ผู้ทํากลลวง (นักเล่นกล).

ศัพท์ว่า อาวฏฺฏนิมายํ แปลว่า มายาคือการกลับใจ.

ศัพท์ว่า อาวฏฺเฏติ แปลว่า ลวง ล้อมจับไว้.

คําว่า คจฺฉ ตฺวํ คหปติ ความว่า เหตุไรนิครนถ์ใหญ่จะส่งอุบาลีคฤหบดีไปถึง ๓ ครั้ง ส่วนทีฆตปัสสีนิครนถ์ก็คัดค้านทุกครั้ง ก็เพราะว่า นิครนถ์ใหญ่ถึงจะอาศัยอยู่นครเดียวกับพระผู้มีพระภาคเจ้า ก็ไม่เคยเห็นพระผู้มีพระภาคเจ้า.

ด้วยว่า ผู้ใดย่อมปฏิญาณตนด้วยวาทะว่า เป็นศาสดา ผู้นั้นยังไม่ละปฏิญาณนั้น ก็ไม่สมควรเห็นพระพุทธเจ้า เพราะฉะนั้น นิครนถ์นาฏบุตรนั้น ไม่รู้ถึงสมบัติ คือ การเห็นและภาวะคือกถาที่แสดงนิยยานิกธรรมของพระทศพลเจ้า เพราะไม่เคยได้เห็นพระพุทธเจ้า จึงยืนยันจะส่งอุบาลีคฤหบดีไปถึง ๓ ครั้ง.

ส่วนทีฆตปัสสีนิครนถ์ บางครั้งบางคราว เข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า ยืนบ้าง นั่งบ้าง ถามปัญหาบ้าง เขารู้ถึงสมบัติ คือ การเห็นบ้าง ภาวะ คือ กถาแสดงนิยยานิกธรรมบ้าง ของพระตถาคตเจ้า.

ครั้งนั้น เขาจึงวิตกว่าอุบาลีนี้ เป็นคฤหบดีผู้บัณฑิต ไปสํานักพระสมณโคดมแล้วก็จะพึงเลื่อมใสเพราะเห็นบ้าง เลื่อมใสเพราะฟังกถาแสดงนิยยานิกธรรมบ้าง ดังนั้น อุบาลีก็จะไม่พึงกลับมาสํานักของพวกเราอีกเลย. เพราะฉะนั้น เขาจึงคัดค้านถึง ๓

 
  ข้อความที่ 30  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้า 141

ครั้ง เหมือนกัน.

ศัพท์ว่า อภิวาเทตฺวา แปลว่า ไหว้.

ความจริง คนทั้งหลาย เห็นพระตถาคตเจ้าแล้ว ทั้งผู้ที่เลื่อมใส ทั้งผู้ที่ไม่เลื่อมใส ส่วนมากไหว้กันทั้งนั้น ผู้ไม่ไหว้มีเป็นส่วนน้อย เพราะเหตุอะไร คนที่เกิดในตระกูลอันสูงยิ่ง แม้ครองเรือนก็ไหว้กันทั้งนั้น. ส่วนคฤหบดีผู้นี้ ไหว้เพราะเป็นคนเลื่อมใส เขาว่าพอเห็นเข้าเท่านั้น ก็เลื่อมใสเสียแล้ว.

คําว่า อาคมา นุขฺวิธ แยกสนธิเป็น อาคมา นุ โข อิธ.

คําว่า สาธุ สาธุ ภนฺเต ตปสฺสี ความว่า อุบาลีคฤหบดี เมื่อจะให้สาธุการแก่ทีฆตปัสสีนิครนถ์ ก็เรียกพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ภนฺเต.

คําว่า สจฺเจ ปติฏฺาย ความว่า ตั้งอยู่ในวจีสัตย์ไม่สั่นคลอนเหมือนหลักที่ปักลงในกองแกลบ.

คําว่า สิยา โน แปลว่า พึงมีแก่พวกเรา.

ศัพท์ว่า อิธ แปลว่า ในโลกนี้.

ศัพท์ว่า อสฺส แปลว่า พึงมี.

คําว่า สีโตทกํ ปฏิกฺขิตฺโต ความว่า นิครนถ์ห้ามน้ำเย็นด้วยเข้าใจว่า มีตัวสัตว์. คํานี้ท่านกล่าวหมายถึงน้ำที่มีตัวสัตว์.

คําว่า มโนสตฺตา นาม เทวา ความว่า เทพทั้งหลาย ผู้ติด ผู้ข้อง ผู้เกี่ยวข้องแล้วในใจ.

คําว่า มโนปฏิพนฺโธ ความว่า อุบาลีคฤหบดีแสดงว่าบุคคลผู้ติดพันอยู่ในใจย่อมกระทํากาละ (ตาย) เพราะเหตุนั้น เขาจึงเกิดในเทพเหล่ามโนสัตว์.

แท้จริง โรคที่เกิดแต่จิตจักมีแก่เขา เพราะเหตุนั้น การดื่มน้ำร้อน หรือนําน้ำร้อนเข้าไป เพื่อประโยชน์แก่การล้างมือและเท้าเป็นต้น หรือเพื่อประโยชน์แก่การรดอาบตนเองและคนอื่น จึงไม่ควรแก่เขา โรคจะกําเริบ. น้ำเย็นจึงควร ระงับโรคได้.

ก็นิครนถ์นี้เสพแต่น้ำร้อนเท่านั้น เมื่อไม่ได้น้ำร้อนก็เสพแต่น้ำข้าวและน้ำผักดองแทน เขาต้องการดื่ม และต้องการบริโภคน้ำเย็นนั้นแม้ด้วยจิต เพราะเหตุนั้น มโนทัณฑะของเขาจึงแตก เพราะไม่ได้ดื่ม และบริโภคน้ำเย็นนั้น เขาไม่อาจจะกล่าวว่า ข้าพเจ้าจะรักษากายทัณฑะและวจีทัณฑะ

 
  ข้อความที่ 31  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้า 142

เพราะเหตุนั้น ข้าพเจ้าต้องการดื่ม หรือต้องการบริโภคน้ำเย็น ขอท่านโปรดให้แต่น้ำเย็นเท่านั้นเถิด.

กายทัณฑะและวจีทัณฑะของเขาแม้รักษาไว้อย่างนี้ ก็ไม่สามารถจะชักจุติและปฏิสนธิได้. ส่วนมโนทัณฑะ แม้แตกไปแล้วก็ยังชักจุติและปฏิสนธิได้อยู่นั่นเอง.

ดังนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสกะเขาว่า กายทัณฑะและวจีทัณฑะ ต่ํา ทราม มีกําลังอ่อน มโนทัณฑะ มีกําลังใหญ่ แม้อุบาสกนั้นก็วิตกว่าเขากําหนดด้วยอํานาจ.

คําถามว่า ก็อัสสาสะและปัสสาสะของอสัญญีสัตว์ย่อมเป็นไปไม่ได้ แม้ทั้ง ๗ วัน แต่อสัญญีสัตว์เหล่านั้นเขาไม่เรียกว่าตายเพราะเพียงมีแต่ความเป็นไปแห่งสันตติของจิตเท่านั้น เมื่อใดจิตของอสัญญีสัตว์เหล่านั้นไม่เป็นไป เมื่อนั้นจึงตาย. จะถึงความเป็นผู้ที่เขาควรกล่าวว่าจงนําสัตว์เหล่านั้นไปเผาเสีย.

กายทัณฑะ ปราศจากการไป ไม่ขวนขวาย วจีทัณฑะก็เหมือนกัน แต่สัตว์เหล่านั้นยังจุติบ้าง ปฏิสนธิบ้าง ก็ด้วยจิตอย่างเดียว แม้เพราะเหตุนี้ มโนทัณฑะจึงใหญ่ มโนทัณฑะเท่านั้นชื่อว่าใหญ่ ก็เพราะจิตแม้แตกไปแล้ว ก็ยังชักจุติและปฏิสนธิได้.

ส่วนถ้อยคําของนิครนถ์ใหญ่ศาสดาของเรา เป็นถ้อยคําที่ไม่นําสัตว์ออกจากทุกข์ได้จริง.

แต่อุบาลีคฤหบดีนั้นต้องการจะฟังปัญหาปฏิภาณอันวิจิตร ของพระผู้มีพระภาคเจ้าจึงไม่คล้อยตามเสียก่อน.

คําว่า น โข เตสนฺธิยติ แปลว่า คําของท่านไม่เชื่อมกัน.

คําว่า ปุริเมน วา ปจฺฉิมํ ความว่า คํานี้ว่า มโนทัณฑะใหญ่ ณ บัดนี้ กับคําก่อนที่ว่า กายทัณฑะใหญ่ไม่เชื่อมกัน.

คําว่า ปจฺฉิเมน วา ปุริมํ ความว่า คําก่อนโน้นกับคําหลังไม่เชื่อมกัน.

บัดนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงนําเหตุแม้อย่างอื่นๆ มาแก่อุบาลีคฤหบดีนั้น จึงตรัสถามว่า ตํ กิํ มฺสิ เป็นต้น.

ในคําเหล่านั้นคําว่า จตุยามสํวรสํวุโต ความว่า ผู้สํารวมแล้วด้วยความสํารวม ๔ ส่วน คือไม่ฆ่าสัตว์เอง ไม่

 
  ข้อความที่ 32  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้า 143

ใช้ให้เขาฆ่าสัตว์ ไม่ชอบใจต่อผู้ฆ่าสัตว์ส่วนหนึ่ง ไม่ลักทรัพย์เอง ไม่ใช้ให้เขาลักทรัพย์ ไม่ชอบใจต่อผู้ลักทรัพย์ส่วนหนึ่ง ไม่พูดเท็จเอง ไม่ใช้ให้เขาพูดเท็จ ไม่ชอบใจต่อผู้พูดเท็จส่วนหนึ่ง ไม่หวังกามคุณเอง ไม่ใช้ให้เขาหวังในกามคุณ ไม่ชอบใจต่อผู้หวังกามคุณส่วนหนึ่ง.

ในคําเหล่านั้น คําว่า ภาวิตํ เขาหมายความว่า กามคุณ ๕.

คําว่า สพฺพวาริวาริโต แปลว่า ห้ามน้ำทั้งหมด อธิบายว่าน้ำเย็นทั้งหมด เขาห้าม.

เป็นความจริง นิครนถ์นั้นสําคัญว่ามีตัวสัตว์ในน้ำเย็น เพราะฉะนั้นเขาจึงไม่ใช้น้ำเย็น.

อีกนัยหนึ่ง คําว่า สพฺพวาริวาริโต หมายความว่า ห้ามบาป ด้วยการเว้นบาปทั้งหมด.

คําว่า สพฺพวาริยุตฺโต หมายความว่า ประกอบด้วยการห้ามบาปทั้งหมด.

คําว่า สพฺพวาริธุโต หมายความว่า กําจัดบาปด้วยการเว้นบาปนั้นหมด.

คําว่า สพฺพวาริผุโฏ (๑) หมายความว่า ถูกต้องด้วยการห้ามบาปทั้งหมด.

คําว่า ขุทฺทเก ปาเณ สํฆาตํ อาปาเทติ ความว่า ทําสัตว์เล็กๆ ให้ถึงฆาต.

เขาว่า นิครนถ์นั้น บัญญัติสัตว์มีอินทรีย์เดียวว่า ปาณะ (สัตว์มีชีวิต) บัญญัติสัตว์มี ๒ อินทรีย์ว่า ปาณะ บัญญัติแม้ใบไม้แห้ง ใบไม้เก่าๆ ก้อนกรวด กระเบื้องแตกว่า ปาณะ ทั้งนั้น.

ในปาณะเหล่านั้น เขาสําคัญว่าหยาดน้ำน้อยๆ ก็ใหญ่ ก้อนหินเล็กๆ ก็ใหญ่.

คํานั้น ท่านกล่าวหมายถึงข้อนั้น.

คําว่า กสฺมิํ ปฺเปติ ความว่า บัญญัติไว้ที่ส่วนนั้น คือ ส่วนไหน.

มโนทณฺฑสฺมิํ คือ ในส่วนที่เป็นมโนทัณฑะ.

อุบาสกนี้เมื่อกล่าวว่า ภนฺเต ก็กําหนดรู้ด้วยตนเองว่า นิครนถ์ใหญ่ของเราบัญญัติกรรมที่ไม่จงใจทําว่ามีโทษน้อย กรรมที่จงใจว่ามีโทษมาก แล้วบัญญัติเจตนาว่า มโนฑัณฑะ ถ้อยคําของเขา ไม่นําสัตว์ออกจากทุกข์จริง ส่วนถ้อยคําของพระผู้มีพระ-


(๑) บาลีว่า ผุฏฺโ.

 
  ข้อความที่ 33  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้า 144

ภาคเจ้า นําสัตว์ออกจากทุกข์ได้จริง.

คําว่า อิทฺธา แปลว่า มั่งคั่ง.

คําว่า ผีตา แปลว่า มั่งคั่งเหลือเกิน เหมือนดอกไม้บานสะพรั่งทั้งต้น.

บทว่า อากิณฺณมนุสฺสา แปลว่า เกลื่อนกล่นด้วยผู้คน.

บทว่า ปาณา ได้แก่ สัตว์ดิรัจฉานมีช้าง ม้า เป็นต้น และมนุษย์มีหญิง ชายและทารกเป็นต้น.

บทว่า เอกมํสขลํ ได้แก่ กองเนื้อกองเดียว.

บทว่า ปุฺชํ เป็นไวพจน์ของคําว่า เอกมํสขลํ นั่นเอง.

บทว่า อิทฺธิมา คือ ผู้ถึงพร้อมด้วยอานุภาพ.

บทว่า เจโตวสิปฺปตฺโต คือ ผู้ถึงความชํานาญในจิต.

บทว่า ภสฺมํ กริสฺสามิ แปลว่า จักกระทําให้เป็นเถ้า.

บทว่า กิฺหิ โสภติ เอกา ฉวา นาลนฺทา ความว่า คฤหบดีนั้น แม้เมื่อกล่าวคํานี้ก็กําหนดได้ว่า ด้วยกายประโยค แม้มนุษย์ ๕๐ คน ก็ไม่อาจทําเมืองนาลันทาเมืองเดียวให้เป็นลานเนื้ออันเดียวกันได้ ส่วนผู้มีฤทธิ์คนเดียวก็สามารถทําเมืองนาลันทาให้เป็นเถ้าได้ด้วยความประทุษร้ายทางใจอย่างเดียวเท่านั้น.

ถ้อยคําของนิครนถ์ใหญ่ของเราไม่นําสัตว์ออกจากทุกข์ ถ้อยคําของพระผู้มีพระภาคเจ้าเท่านั้นนําสัตว์ออกจากทุกข์ได้จริง.

คําว่า อรฺํ อรฺภูตํ ความว่า มิให้เป็นบ้าน คือ เป็นป่านั่นเอง ชื่อว่า เกิดเป็นป่า.

คําว่า อิสีนํ มโนปโทเสน ความว่า ด้วยการประทุษร้ายทางใจของฤาษีทั้งหลายทําให้พินาศแล้ว. รัฐทั้งหลายเหล่านั้น อันเทวดาผู้ไม่อดกลั้นความประทุษร้ายทางใจนั้นทําให้พินาศแล้ว ก็ชาวโลกสําคัญว่าผู้มีใจประทุษร้ายทําให้พินาศแล้ว เพื่อประโยชน์แก่ฤาษีทั้งหลาย เพราะฉะนั้น พึงทราบว่า เขาตั้งอยู่ในวาทะของโลกอันนี้ จึงยกวาทะนี้ขึ้นกระทําแล้ว.

ในข้อนั้นพึงทราบว่า ป่าทัณฑกีเป็นต้น กลายเป็นป่าดังต่อไปนี้.

เรื่องป่าทัณฑกี

เมื่อบริษัทของพระสรภังคดาบสโพธิสัตว์แผ่ขยายไพบูลย์แล้ว ดาบสชื่อ กีสวัจฉะ ศิษย์ของพระโพธิสัตว์ ประสงค์จะอยู่อย่างสงัด จึงละหมู่ไปอาศัยนครชื่อ กุมภปุระ ของพระเจ้าทัณฑกี แคว้นกาลิงคะ ต่อจาก

 
  ข้อความที่ 34  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้า 145

ฝังแม่น้ำโคธาวารี เจริญความสงัดอยู่ในพระราชอุทยาน เสนาบดีของพระเจ้าทัณฑกีนั้นเป็นอุปัฏฐาก.

ครั้งนั้น นางคณิกาคนหนึ่ง ขึ้นรถมีหญิง ๕๐๐ เป็นบริวาร ทํานครให้งดงามเที่ยวไป. มหาชนมองเห็น ก็ห้อมล้อมนางเที่ยวตามไป จนถนนในพระนครไม่พอ. พระราชาเผยพระแกลประทับยืนเห็นนาง จึงตรัสถามพวกราชบุรุษว่า หญิงผู้นั้นเป็นใคร. พวกราชบุรุษทูลว่า ขอเดชะ หญิงนครโสภิณีของพระองค์ พระพุทธเจ้าข้า. ท้าวเธอเกิดริษยา ทรงพระดําริว่า นครที่หญิงผู้นี้ทําให้งาม จักงามได้อย่างไร แล้วตรัสสั่งให้ตัดฐานันดรนั้นเสีย. ตั้งแต่นั้นมา นางคณิกานั้นก็ทําการชมเชยกับคนนั้นๆ เสาะหาฐานันดรเรื่อยไป.

วันหนึ่ง เข้าไปยังพระราชอุทยานพบดาบสนั่งบนแผ่นหิน พิงแผ่นหินที่ย้อยลงมา ใกล้ปลายที่จงกรม จึงคิดว่าดาบสผู้นี้สกปรกจริงหนอ นั่งไม่ไหวติง เขี้ยวงอกออกมาปิดปาก หนวดเคราปิดอก รักแร้สองข้างขนรุงรัง ครั้งนั้น นางเกิดความเสียใจว่า เราเที่ยวไปด้วยกิจอย่างหนึ่ง ก็มาพบกับคนกาลกัณณี (กาลกิณี) นี้เข้า ท่านทั้งหลายนําน้ำมา เราจักล้างลูกตา ให้เขาเอาน้ำและไม้สีฟันมาแล้ว ก็เคี้ยวไม้สีฟัน ถ่มน้ำลายเป็นก้อนๆ ลงไปบนเนื้อตัวของดาบสนั้น แล้วโยนไม้สีฟันลงบนกลางเซิงผม บ้วนปากตัวเองแล้ว เอาน้ำราดบนศีรษะของดาบส คิดว่า เราล้างลูกตาที่เห็นคนกาลกัณณีแล้ว กลีโทษเราก็ลอยเสียแล้ว ก็ออกไปจากพระราชอุทยาน.

ในวันนั้นเอง พระราชาทรงนึกขึ้นได้ก็ตรัสถามว่า พ่อมหาจําเริญ หญิงนครโสภิณีอยู่ไหน. พวกราชบุรุษตอบว่า อยู่ในพระนครนี้เอง พระเจ้าข้า. ตรัสสั่งว่า พวกเจ้าจงให้ฐานันดรเป็นปกติแก่นางอย่างเดิม แล้วทรงสั่งให้คืนฐานันดร. นางอาศัยกรรมที่ทําดีมาก่อน จึงได้ฐานันดร แต่นางเข้าใจไปเสียว่า ได้เพราะถ่มน้ำลายลงที่เนื้อตัวของดาบส. ต่อจากวันนั้นไปเล็กน้อย พระ-

 
  ข้อความที่ 35  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้า 146

ราชาทรงถอดฐานันดรของพราหมณ์ปุโรหิต เขาจึงไปยังสํานักหญิงนครโสภินีสอบถามว่า น้องหญิง เธอทําอะไรจึงกลับได้ฐานันดร.

นางก็กล่าวว่า ท่านพราหมณ์ จะอะไรเสียอีกเล่า ชฎิลขี้โกงคนหนึ่ง เป็นตัวกาลกัณณีที่ไม่ไหวติงอยู่ในพระราชอุทยาน ท่านจงถ่มน้ำลายลงที่ตัวของดาบสนั้น ก็จักได้ฐานันดรอย่างนี้.

ปุโรหิตนั้น ก็กล่าวว่า ข้าจักทําอย่างนั้นนะน้องหญิง แล้วก็ไปที่พระราชอุทยานนั้น กระทําอย่างที่นางบอกทุกประการแล้วก็ออกจากพระราชอุทยานไป. ในวันนั้นนั่นเอง พระราชาทรงนึกขึ้นได้ก็ตรัสถามว่า พ่อมหาจําเริญ พราหมณ์อยู่ไหน ได้รับคําทูลตอบว่า อยู่ในพระนครนี้เอง พระเจ้าข้า. พระราชาทรงมีพระดํารัสว่า เราไม่ใคร่ครวญเสียก่อนแล้วทํา พวกเจ้าจงคืนฐานันดรให้เขา แล้วตรัสสั่งให้คืนฐานันดรแก่พรหมณ์นั้น. ถึงพราหมณ์นั้นได้ฐานันดร เพราะกําลังบุญแต่ก่อน ก็เข้าใจไปเสียว่าได้ฐานันดรเพราะถ่มน้ำลายลงที่ตัวของดาบส.

ต่อจากวันนั้นไปเล็กน้อย ชนบทชายแดนของพระราชาเกิดกบฏ. พระราชาตรัสว่า เราจักไปปราบกบฏชายแดน จึงเสด็จไปพร้อมด้วยกองทัพ ๔ เหล่า พราหมณ์ปุโรหิตจึงไปยืนอยู่เบื้องพระพักตร์ของพระราชา ถวายพระพรว่า ชยตุ มหาราชา จงได้ชัยชนะเถิด พระมหาราชเจ้า แล้วทูลถามว่า พระองค์จะเสด็จไปเพื่อชัยชนะ หรือพระมหาราชเจ้า. ตรัสตอบว่าอย่างนั้นซิ พราหมณ์.

ทูลว่า เมื่อเป็นเช่นนั้น ชฎิลขี้โกงผู้หนึ่งเป็นคนกาลกัณณี ผู้ไม่ไหวติง พํานักอยู่ในพระราชอุทยาน โปรดทรงถ่มเขฬะลงที่ตัวของชฎิลผู้นั้นเถิด พระเจ้าข้า.

พระราชาทรงรับคําของพราหมณ์ปุโรหิตนั้น สั่งให้กระทําเหมือนอย่างที่หญิงคณิกาและพราหมณ์ปุโรหิตนั้นทําทุกอย่าง แล้วตรัสสั่งให้เจ้านายฝ่ายในถ่มเขฬะลงที่ตัวของชลิฎขี้โกงนั้น ต่อจากนั้น ทั้งฝ่ายใน ทั้งเจ้าหน้าที่ผู้คุ้มครองฝ่ายในก็กระทําตามอย่างนั้นเหมือนกัน.

 
  ข้อความที่ 36  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้า 147

ครั้งนั้น พระราชาทรงสั่งให้ตั้งกองรักษาการณ์ไว้ใกล้ประตูพระราชอุทยาน แล้วสั่งว่า ผู้ตามเสด็จไม่ถ่มน้ำลายลงที่ตัวดาบสให้ทั่วแล้วออกไปไม่ได้. คราวนั้น นายพันนายกองทั้งหมดก็นําน้ำลาย ไม้สีฟัน และน้ำบ้วนปากเอาไปไว้บนตัวดาบสโดยทำนองนั้นนั่นแล. น้ำลายและไม้สีฟันก็ท่วมทั่วตัว.

เสนาบดี (ผู้อุปัฏฐาก) รู้เรื่องภายหลังเขาหมด ก็ครุ่นคิดว่า เขาว่า คนทั้งหลาย ทําร้ายพระผู้มีพระภาคเจ้าศาสดาของเรา ซึ่งเป็นเนื้อนาบุญ เป็นบันไดสวรรค์อย่างนี้ หัวใจก็ร้อนระอุ ต้องหายใจทางปาก จึงรุดไปยังพระราชอุทยาน เห็นฤษีประสบความย่อยยับอย่างนั้น ก็นุ่งหยักรั้ง เอามือทั้งสองกวาดไม้สีฟัน ยกขึ้นให้นั่งให้นําน้ำมาอาบ ชะโลมด้วยยาทุกชนิด และของหอม ๔ ชนิด เช็ดด้วยผ้าละเอียด ยืนประนมมืออยู่ข้างหน้า พูดอย่างนี้ว่า ท่านผู้เจริญ พวกมนุษย์ทําไม่สมควร อะไรจักมีแก่พวกเขา.

ดาบสกล่าวว่า ท่านเสนาบดี เทวดาแบ่งกันเป็น ๓ พวก พวกหนึ่งกล่าวว่า จักทําพระราชาพระองค์เดียวให้พินาศ, พวกหนึ่งกล่าวว่า จักทําพระราชาพร้อมด้วยบริษัทให้พินาศ, พวกหนึ่งกล่าวว่า จักทําแว่นแคว้นทั้งหมดของพระราชาให้พินาศ.

ก็แลครั้นกล่าวดังนี้แล้ว ดาบสมิได้แสดงอาการโกรธแม้แต่น้อย เมื่อจะบอกอุบายสันติแห่งโลก กล่าวว่า ความผิดมีอยู่ แต่เมื่อรู้แสดงความผ่อนโทษเสีย เหตุการณ์ก็จะเป็นปกติอย่างเดิม.

เสนาบดีได้นัยแล้ว ก็เข้าไปเฝ้าพระราชา ถวายบังคมแล้วกราบทูลว่า ข้าแต่พระมหาราชเจ้า พระองค์ทรงประพฤติผิดในท่านดาบสผู้ไม่ผิด ผู้มีฤทธิ์มาก ทรงกระทํากรรมอย่างหนัก ท่านว่า เทวดาแบ่งเป็น ๓ พวก กล่าวกันอย่างนี้ ทูลเรื่องทั้งหมดแล้วกราบทูลว่า ท่านว่าเมื่อพระองค์ทรงขอขมาเสียแล้ว แว่นแคว้นก็จะเป็นปกติ ขอพระองค์อย่าทรงทําให้แว่นแคว้นพินาศเสียเลย ขอพระมหาราชเจ้า โปรดขอขมาท่านดาบสเสียเถิด พระเจ้าข้า. เสนาบดี

 
  ข้อความที่ 37  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้า 148

กราบทูลถึง ๓ ครั้ง พระราชาก็ไม่ทรงปรารถนาจะขอขมา จึงกราบทูลว่า ข้าแต่พระมหาราชเจ้า ข้าพเจ้าทราบกําลังของดาบส ดาบสนั้นมิใช่พูดไม่จริง ทั้งก็ไม่โกรธด้วย แต่ท่านพูดอย่างนี้ ก็ด้วยความเอ็นดู อนุเคราะห์สัตว์ ขอได้โปรดขอขมาท่านดาบสนั้นเสียเถิด พระเจ้าข้า.

พระราชาก็ทรงยืนกรานว่า เราไม่ขอขมา. เสนาบดีจึงกราบทูลว่า ถ้าอย่างนั้น ขอได้โปรดพระราชทานตําแหน่งเสนาบดีแก่คนอื่นเถิด ข้าพเจ้าจักไม่อยู่ในพระราชอาณาเขตของพระองค์ต่อไปละ. พระราชาตรัสว่า ท่านจะไปก็ตามที เราจักได้เสนาบดีของเราใหม่.

แต่นั้น เสนาบดีก็ไปสํานักดาบส ไหว้แล้วก็กล่าวว่า ข้าพเจ้าปฏิบัติตามคําของท่านแล้ว ท่านเจ้าข้า. ดาบสกล่าวว่า ท่านเสนาบดี คนที่เชื่อฟังจงพาทุกสิ่งทุกอย่าง ทั้งเครื่องใช้ ทั้งทรัพย์ ทั้งสัตว์ ๒ เท้า ๔ เท้า ออกไปเสียนอกพระราชอาณาเขตภายใน ๗ วัน เทวดาพิโรธหนัก จักเบียดเบียนแว่นแคว้นแน่นอน. เสนาบดีก็กระทําตาม.

พระราชาก็ทรงมัวเมาอย่างเดียว ทรงปราบข้าศึก ทําชนบทชายแดนให้สงบแล้ว ก็เสด็จมาพัก ณ ค่ายฉลองชัย ทรงจัดการพระนครนั้นๆ แล้ว เสด็จเข้าสู่พระราชนิเวศน์. ครั้งแรกทีเดียวเหล่าเทวดาบันดาลฝนน้ำให้ตกลงมา. มหาชนก็ดีใจว่า ตั้งแต่ทําผิดในชฎิลขี้โกงมา พระราชาของเราก็เจริญอย่างเดียว ทรงปราบข้าศึกได้ ในวันเสด็จกลับฝนก็ตกลงมา.

ต่อมา เหล่าเทวดาก็บันดาลฝนดอกมะลิตกลงมา มหาชนก็ดีใจยิ่งขึ้นไปอีก ต่อมาเหล่าเทวดาก็บันดาลฝนมาสก ฝนกหาปณะให้ตกลงมา เข้าใจว่าคนทั้งหลายจะออกมาเก็บ จึงบันดาลฝนเครื่องประดับมือ ประดับเท้า ประดับเอว เป็นต้น ให้ตกลงมา มหาชนก็ลงมายังปราสาท ๗ ชั้นทางข้างหลัง ต่างประดับอาภรณ์ ดีใจว่า การถ่มน้ำลายรดชฎิลขี้โกง สมควรแท้หนอ ตั้งแต่ถ่มน้ำลายลงบนชฎิลขี้โกงนั้น พระราชาของเราก็เจริญ ทรง

 
  ข้อความที่ 38  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้า 149

ปราบข้าศึกสําเร็จ วันเสด็จกลับฝนยังตกลงมา ต่อนั้น ฝน ๔ อย่างคือ ฝนดอกมะลิ ฝนมาสก ฝนกหาปณะ ฝนเครื่องประดับเอว ก็เกิด เปล่งวาจาดีใจอย่างนี้แล้ว ก็อิ่มเอิบในกรรมที่พระราชาทรงทําผิด.

สมัยนั้น เหล่าเทวดาก็บันดาลอาวุธต่างๆ ที่มีคมข้างเดียว สองข้าง เป็นต้น ให้ตกลงมาปานเชือดเนื้อมหาชนบนแผ่นเขียง ต่อจากนั้น ก็บันดาลถ่านเพลิงมีสีดังดอกทองกวาวปราศจากเถ้าและควัน บันดาลก้อนหินขนาดเรือนยอด บันดาลทรายละเอียดที่กอบกําไม่อยู่ให้ตกลงมา ถมพื้นที่สูงขึ้นถึง ๘๐ ศอก.

ในแว่นแคว้นของพระราชา มนุษย์ ๓ คน คือ ท่านกีสวัจฉดาบส ท่านเสนาบดี และคนที่ยินดีเลี้ยงดูมารดา เป็นผู้ไม่มีโรค.

ในแหล่งน้ำดื่ม ก็ไม่มีน้ำดื่ม ในแหล่งหญ้าก็ไม่มีหญ้า สําหรับสัตว์ดิรัจฉานที่เหลือ ผู้ไม่ได้ร่วมในกรรมนั้น. สัตว์ดิรัจฉานเหล่านั้น ก็ไปยังแหล่งที่มีน้ำดื่ม มีหญ้า ไม่ทันถึง ๗ วัน ก็พากันไปนอกราชอาณาจักร.

เพราะเหตุนั้น สรภังคโพธิสัตว์ จึงกล่าวว่า

กีสฺหิ วจฺฉํ อวกฺรีย ทณฺฑกี อุจฺฉินฺนมูโล สชโน สรฏฺโ กุกฺกุลนาเม นิรยมฺหิ ปจฺจตี ตสฺส ผุลฺลิตานิ ปตนฺติ กาเย.

พระเจ้าทัณฑกี ทรงให้ร้ายกีสวัจฉดาบส ทรงขาดคุณธรรมเบื้องต้น พร้อมทั้งมหาชน พร้อมทั้งแว่นแคว้น ก็ตกนรกขุมกุกกุละ ถ่านไฟคุโชนก็ตกไปที่พระกายของท้าวเธอ ดังนี้.

พึงทราบว่า ป่าทัณฑกี เป็นป่าไปดังกล่าวมาฉะนี้.

 
  ข้อความที่ 39  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้า 150

เรื่องป่ากลิงคะ (๑)

ดังได้สดับมา ครั้งพระเจ้านาฬิกีระทรงราชย์ ณ แคว้นกลิงคะ ดาบส ๕๐๐ รูป ณ ป่าหิมพานต์ ผู้ไม่เคยได้กลิ่นสตรี ทรงหนังเสือเหลืองชฎาและผ้าเปลือกไม้ มีรากไม้ผลไม้ป่าเป็นอาหารอยู่มานาน ประสงค์จะเสพอาหารมีรสเปรี้ยว เค็ม ก็พากันมายังถิ่นมนุษย์ ถึงนครของพระเจ้านาฬิกีระ แคว้นกลิงคะตามลําดับ ดาบสเหล่านั้นทรงชฎาหนังเสือเหลืองและผ้าเปลือกไม้ แสดงกิริยาอันสงบสมควรแก่เพศนักบวช เข้าไปขออาหารยังนคร.

ครั้งพระพุทธเจ้ายังไม่เกิด คนทั้งหลายเห็นดาบสนักบวชก็เลื่อมใส จัดแจงที่นั่งและที่ยืน มีมือถือภาชนะใส่อาหาร นิมนต์ให้นั่งแล้ว จัดอาหารถวาย. เหล่าดาบสบริโภคอาหารเสร็จแล้วก็อนุโมทนา คนทั้งหลายได้ฟังแล้ว ก็มีจิตเลื่อมใส ถามว่า พระผู้เจริญทั้งหลายจะไปไหน. ดาบสตอบว่า จะไปตามที่ที่มีความผาสุก. คนเหล่านั้นก็พูดเชิงนิมนต์ว่า พระคุณเจ้าไม่ควรไปที่อื่น อยู่เสียที่พระราชอุทยานเถิด พวกเรากินอาหารเช้าแล้ว จักมาฟังธรรมกถา. เหล่าดาบสก็รับ ไปยังพระราชอุทยาน. ชาวเมืองกินอาหารแล้ว ก็นุ่งผ้าสะอาด ห่มผ้าสะอาด หมายจะฟังธรรมกถาเดินกันไปเป็นหมู่ๆ มุ่งหน้าไปยังพระราชอุทยาน.

พระราชาประทับยืนบนปราสาท ทอดพระเนตรเห็นคนเหล่านั้น กําลังเดินไป จึงตรัสถามเจ้าหน้าที่ผู้รับใช้ว่า พนาย ทําไม ชาวเมืองเหล่านั้น จึงนุ่งห่มผ้าสะอาด เดินมุ่งหน้าไปยังสวน ที่สวนนั้น เขามีการชุมนุมหรือฟ้อนรํากันหรือ. เจ้าหน้าที่กราบทูลว่า ไม่มีดอกพระเจ้าข้า พวกเขาต้องการจะไปฟังธรรมกถาในสํานักเหล่าดาบส. ตรัสว่า ถ้าอย่างนั้น เราจะไปด้วย บอกให้พวกเขาไปกับเรา. เจ้าหน้าที่ก็ไปบอกแก่คนเหล่านั้นว่า พระราชาก็มีพระราชประสงค์จะเสด็จไป พวกท่านจงแวดล้อมพระราชากันเถิด. โดยปกติ พวกชาวเมืองดีใจกันอยู่แล้ว ครั้นฟังคํานั้น ก็


(๑) บาลีเป็นกาลิงคะ

 
  ข้อความที่ 40  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้า 151

ดีใจยิ่งขึ้นไปว่า พระราชาของเราไม่มีศรัทธา ไม่เลื่อมใส ทุศีล เหล่าดาบสมีธรรม อาศัยดาบสเหล่านั้น พระราชาจักตั้งอยู่ในธรรมก็ได้. พระราชาเสด็จออก มีชาวเมืองแวดล้อม เสด็จไปยังพระราชอุทยานทรงปฏิสันถารกับเหล่าดาบส แล้วประทับนั่ง ณ ที่สมควรส่วนหนึ่ง.

เหล่าดาบสเห็นพระราชาก็มอบหมายให้ดาบสรูปหนึ่งผู้ฉลาด กล่าวธรรมกถาถวายพระราชา ด้วยถ้อยคําละเมียดละไม ดาบสมองดูหมู่คน เมื่อจะกล่าวโทษในเวรทั้ง ๕ และอานิสงส์ในศีล ๕ จึงกล่าวโทษในเวรทั้ง ๕ ว่า ไม่ควรฆ่าสัตว์ ไม่ควรลักทรัพย์ ไม่ควรประพฤติผิดในกาม ไม่ควรพูดเท็จ ไม่ควรดื่มน้ำเมา ขึ้นชื่อว่าปาณาติบาต ย่อมส่งผลให้เกิดในนรก ในกําเนิดสัตว์ดิรัจฉาน ในเปรตวิสัย อทินนาทานเป็นต้นก็เหมือนกัน เมื่อหมกไหม้ในนรกแล้ว มาสู่มนุษยโลก ปาณาติบาตก็ส่งผลให้เป็นผู้มีอายุสั้น ด้วยเศษแห่งวิบาก อทินนาทานก็ส่งผลให้เป็นผู้มีโภคทรัพย์น้อย มิจฉาจารก็ส่งผลให้เป็นผู้มีศัตรูมาก มุสาวาทก็ส่งผลให้เป็นผู้ถูกกล่าวตู่ (ใส่ความ) มัชชปานะ (ดื่มน้ำเมา) ก็ส่งผลให้เป็นคนบ้า.

แม้โดยปกติ พระราชาก็เป็นผู้ไม่มีความเชื่อ ไม่เลื่อมใสเป็นผู้ทุศีล ธรรมดาว่าสีลกถา เป็นทุกถา (คําเลว) สําหรับคนทุศีล จึงเป็นเสมือนหอกทิ่มหู เพราะฉะนั้น ท้าวเธอจึงทรงดําริว่า เรามาหมายจะยกย่องดาบสเหล่านี้ แต่ดาบสเหล่านี้กลับพูดกระทบกระเทือนทิ่มแทงเราผู้เดียว ท่ามกลางบริษัท ตั้งแต่เรามา เราจักกระทําให้สาสมแก่ดาบสเหล่านั้น. เมื่อจบธรรมกถา ท้าวเธอก็นิมนต์ว่า ท่านอาจารย์ทั้งหลาย พรุ่งนี้ขอได้โปรดรับอาหารที่บ้านโยม แล้วเสด็จกลับ.

วันรุ่งขึ้นท้าวเธอให้นําไหขนาดใหญ่ๆ มาแล้วบรรจุคูถ (อุจจาระ) จนเต็มแล้ว เอาใบกล้วยมาผูกปากไหเหล่านั้นไว้ ให้เอาไปตั้งไว้ ณ ที่นั้นๆ ใส่น้ำผึ้ง น้ำมันยาง ต้นกากะทิง และหนามงิ้วหนาๆ เป็นต้น จนเต็มหม้อ

 
  ข้อความที่ 41  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้า 152

วางไว้หัวบันได ทั้งให้พวกนักมวยร่างใหญ่ผูกสายรัดเอว ถือค้อนคอยทีในที่นั้นแหละ ประทับยืนกล่าวว่า พวกดาบสขี้โกงเบียดเบียนเรายิ่งนัก ตั้งแต่ดาบสเหล่านั้นลงจากปราสาท พวกเจ้าจงเอาหม้อสาดหนามงิ้วไปที่หัวบันได เอาค้อนตีศีรษะ จับคอเหวี่ยงไปที่บันได. ที่เชิงบันไดก็ให้ผูกสุนัขดุๆ เอาไว้.

ฝ่ายเหล่าดาบสก็คิดว่า พวกเราจักบริโภคอาหารในเรือนหลวง วันพรุ่งนี้ก็สอนซึ่งกันและกันว่า ขึ้นชื่อว่าเรือนหลวง น่าสงสัย น่ามีภัย ธรรมดาบรรพชิตพึงสํารวมในทวารทั้ง ๖ ไม่ควรถือนิมิตในอารมณ์ที่เห็นแล้วๆ พึงตั้งเฉพาะความสํารวมในจักษุทวาร วันรุ่งขึ้น เหล่าดาบสก็กําหนดรู้เวลาทําอาหาร จึงนุ่งผ้าเปลือกไม้ ห่มหนังเสือเหลืองเฉวียงบ่าข้างหนึ่ง มุ่นชฎา ถือภาชนะใส่อาหาร ขึ้นสู่พระราชนิเวศน์ตามลําดับ.

พระราชาทรงทราบว่า ดาบสขึ้นมาแล้ว ก็ให้นําเอาใบกล้วยออกจากปากไหคูถ กลิ่นเหม็นก็กระทบโพรงจมูกของดาบสถึงอาการประหนึ่งเยื่อสมองตกล่วงไป. ดาบสผู้ใหญ่ก็จ้องมองพระราชา.

พระราชาตรัสว่า มาซิ ท่านผู้เจริญ จงฉัน จงนําไปตามความต้องการ นั่นเป็นของเหมาะแก่พวกท่าน เมื่อวานเรามาหมายจะยกย่องพวกท่าน แต่พวกท่านกลับพูดกระทบเสียดแทงเราผู้เดียว ท่ามกลางบริษัท พวกท่านจงฉันของที่เหมาะแก่พวกท่าน แล้วสั่งให้เอากระบวย ตักคูถไปถวายดาบสผู้ใหญ่ ดาบสก็ได้แต่พูดว่า ชิชิ แล้วก็กลับไป.

พระราชาตรัสว่า พวกท่านต้องไปทางนี้ทางเดียว แล้วให้สัญญาณแก่คนทั้งหลาย ให้เอาหม้อ สาดหนามงิ้วที่บันได. พวกนักมวยก็เอาค้อนตีศีรษะ จับคอเหวี่ยงไปทําบันได ดาบสแม้รูปเดียว ก็ไม่อาจยืนได้ที่บันได. ดาบสทั้งหลายก็กลิ้งลงมาถึงเชิงบันได เมื่อถึงเชิงบันไดแล้ว ฝูงสุนัขดุคิดว่าแผ่นผ้าๆ ก็รุมกันกัดกิน บรรดาดาบสเหล่านั้น แม้รูปใดลุกขึ้นหนีไปได้ รูปนั้นก็ต้องตกลงไปในหลุม ฝูงสุนัขก็ตามไปกัดกิน

 
  ข้อความที่ 42  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้า 153

ดาบสนั้นในหลุมนั้นนั่นแหละ ดังนั้น ร่างกระดูกของดาบสเหล่านั้น จึงไม่หลงเหลืออยู่เลย.

พระราชา ทรงปลงชีวิตดาบส ๕๐๐ รูป ผู้สมบูรณ์ด้วยตบะลงด้วยเวลาวันเดียวเท่านั้น ด้วยประการฉะนี้.

ครั้งนั้น เหล่าเทวดาบันดาลฝน ๙ ชนิด ให้ตกลงมาอีกในแว่นแคว้นของพระราชาพระองค์นั้นโดยนัยก่อนนั่นแล แคว้นของพระราชาพระองค์นั้น ถูกกลบด้วยกองทรายสูงถึง ๖๐ โยชน์.

เพราะเหตุนั้น สรภังคโพธิสัตว์ จึงกล่าวว่า

โย สฺเต ปพฺพชิโต อวฺจยิ (๑) ธมฺมํ ภณนฺเต สมเณ อทูสเก ตนฺนาฬิกีรํ สฺนขา ปรตฺถ สงฺคมฺม ขาทนฺติ วิผนฺทมานํ.

พระเจ้านาฬิกีระพระองค์ใด ทรงลวงเหล่านักบวชผู้สํารวม ผู้กล่าวธรรม ผู้สงบ ไม่เบียดเบียนใคร ฝูงสุนัขย่อมรุมกันกัดกินพระเจ้านาฬิกีระพระองค์นั้น ผู้ซึ่งกลัวตัวสั่นอยู่ในโลกอื่น.

พึงทราบว่า ป่ากาลิงคะ เป็นป่าไปด้วยประการฉะนี้.

เรื่องป่ามาตังคะ

ในอดีตกาล ณ นครพาราณสี เศรษฐีผู้มีทรัพย์สมบัติ ๔๐ โกฏิ มีธิดาคนหนึ่งชื่อ ทิฏฐมังคลิกา สะสวยน่ารักน่าชม นางเป็นที่ปรารถนาของคนเป็นอันมาก เพราะนางเพียบพร้อม ด้วยรูปสมบัติ โภคสมบัติ และกุล


(๑) บาลีสรภังคชาดกว่า อเหยิ.

 
  ข้อความที่ 43  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้า 154

สมบัติ ชายใดส่งคนไปสู่ขอนาง นางเห็นชายนั้นแล้ว ก็จะยกเรื่องชาติ มิฉะนั้น ก็เรื่องมือ เท้า เป็นต้น อย่างใดอย่างหนึ่งขึ้นเป็นข้อตําหนิ กล่าวว่าผู้นั้นเป็นใคร เกิดไม่ดี ทรวดทรงไม่ดี ดังนี้เป็นต้นแล้ว ก็สั่งให้เชิญเขากลับไปเสีย แล้วพูดสั่งว่า ถ้าข้าได้เห็นคนเช่นนี้ พวกเจ้าจงเอาน้ำมา ข้าจักล้างตา แล้วก็ล้างตา. เพราะเหตุที่นางมีอาการผิดปกติที่เขาเห็นๆ กัน สั่งให้เชิญชายไปเสีย ฉะนั้น จึงเกิดเรียกชื่อนางว่า ทิฏฐมังคลิกา ชื่อเดิมหายไป.

วันหนึ่ง นางตั้งใจจะลงเล่นน้ำในแม่น้ำคงคา จึงสั่งให้จัดตกแต่งท่าน้ำ บรรทุกของเคี้ยวของกินเป็นอันมากเต็มเล่มเกวียน เอาของหอมและดอกไม้เป็นต้นไปขึ้นยานปิดมิดชิด มีหมู่ญาติแวดล้อมออกจากคฤหาสน์ไป.

สมัยนั้น พระมหาบุรุษเกิดในกําเนิดคนจัณฑาล อาศัยอยู่ในเรือนที่มุงหนังนอกพระนคร เขาชื่อว่า มาตังคะ เขาอายุ ๑๖ ปี ต้องการจะเข้าไปในพระนคร ด้วยกิจบางอย่าง จึงนุ่งผ้าเก่า สีเขียวผืนหนึ่ง ผูกข้อมือผืนหนึ่ง มือข้างหนึ่งถือกระเช้า ข้างหนึ่งถือกระดิ่ง ห้ามคนนั้นๆ เพื่อให้เขารู้ว่า นายเจ้าข้า โปรดระลึกไว้ว่า ข้าเป็นจัณฑาล เจียมเนื้อเจียมตัว นบนอบคนทั้งหลายที่เขาพบ เข้าไปยังพระนครเดินถนนใหญ่.

นางทิฏฐมังคลิกา ได้ยินเสียงกระดิ่ง ก็มองทางช่องม่าน เห็นนายมาตังคะเดินมาแต่ไกล ถามว่านั่นอะไร. คนของนางตอบว่า นายมาตังคะจ้ะนาย. นางพูดว่า ข้าทําอะไรไม่ดีไว้หนอ นี้เป็นผลของกรรมอะไร ความย่อยยับจึงปรากฏแก่ข้าหนอ ข้ากําลังไปด้วยกิจที่เป็นมงคล กลับได้พบคนจัณฑาล รังเกียจจนตัวสั่น ถ่มน้ำลายแล้วบอกพี่เลี้ยง ให้รีบนําน้ำมา ข้าจักล้างลูกตาที่เห็นคนจัณฑาล บ้วนปากที่เอ่ยชื่อ แล้วก็ล้างตาและปาก ให้กลับรถส่งสิ่งของที่เตรียมไว้ไปยังคฤหาสน์ ตัวเองก็ขึ้นไปสู่ปราสาท.

พวกนักเลงสุรา

 
  ข้อความที่ 44  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้า 155

เป็นต้น และเหล่าคนที่บํารุงนางถามกันว่า นางทิฏฐมังคลิกาไปไหน จึงไม่มาในเวลานี้ ฟังเรื่องราวแล้วก็เคียดแค้นว่า อาศัยเจ้าจัณฑาล พวกเราจึงไม่ได้รับรางวัลใหญ่ เช่นสุรา เนื้อ ของหอม ดอกไม้เป็นต้น จงจับเจ้าจัณฑาลกันเถอะ แล้วเสาะหาจนพบสถานที่ไปตะคอกขู่มาตังคะบัณฑิตผู้ไม่ผิดว่า เฮ้ยเจ้ามาตังคะ เพราะอาศัยเจ้า พวกข้าจึงไม่ได้รางวัลอันนี้ๆ ว่าแล้ว ก็จับผมกระชากล้มลงที่พื้น กระแทกด้วยข้อศอก และก้อนหินเป็นต้น สําคัญว่าตาย จึงพากันจับลากไปทิ้งไว้ที่กองขยะ.

ฝ่ายมหาบุรุษรู้สึกตัว คลํามือเท้าดูคิดว่า ทุกข์อันนี้ อาศัยใครหนอจึงเกิดขึ้นได้ ไม่ใช่อาศัยใครอื่น ต้องอาศัยนางทิฏฐมังคลิกาแน่จึงเกิดขึ้น เราเป็นลูกผู้ชายจักต้องให้นางซบลงแทบเท้าให้ได้ โกรธตัวสั่นอยู่ ไปยังประตูบ้านตระกูลของนางทิฏฐมังคลิกา นอนที่ลานบ้านด้วยตั้งใจว่า เราได้นางทิฏฐมังคลิกาจึงจะลุก เมื่อไม่ได้ก็จะตายเสียที่นี้นี่แหละ.

สมัยนั้น ชมพูทวีป มีประเพณีว่า คนจัณฑาลโกรธนอนตายใกล้ประตูห้องของผู้ใด คนที่อยู่ในห้องของผู้นั้นทั้งหมดต้องตกเป็นจัณฑาล เมื่อคนจัณฑาลตายกลางเรือน คนที่อยู่ในเรือนทั้งหมดต้องเป็นจัณฑาล เมื่อเขาตายที่ประตูเรือน คนที่อยู่ในเรือนระหว่างสองข้าง ต้องเป็นจัณฑาล เมื่อเขาตายที่ลานบ้าน คนที่อยู่ในเรือนทั้ง ๑๔ หลัง ข้างโน้น ๗ ข้างนี้ ๗ ทั้งหมดต้องตกเป็นจัณฑาล แต่พระโพธิสัตว์นอนที่ลานบ้าน คนทั้งหลายจึงบอกแก่เศรษฐีว่า นายขอรับ นายมาตังคะนอนที่ลานบ้านของนาย.

เศรษฐีพูดว่า ไปซีพนาย เพราะเหตุอะไรกัน พวกเจ้าจงให้ทรัพย์มันมาสกหนึ่ง ให้มันลุกไป. คนเหล่านั้นออกไปบอกว่า ลุกขึ้นรับมาสกนี้ ลุกขึ้นไปเสีย. นายมาตังคะบอกว่า ข้าไม่ได้นอนเพื่อต้องการมาสก แต่ข้านอนเพื่อต้องการนางทิฏฐมังคลิกา. คนทั้งหลายถามว่า นางทิฏฐมังคลิกา

 
  ข้อความที่ 45  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้า 156

มีโทษอะไรหรือ. เขาตอบว่า พวกท่านมองไม่เห็นโทษอะไรๆ ของนางดอก ข้าไม่มีความผิด พวกคนของนางทําข้าย่อยยับ ข้าได้นางจึงจะลุก เมื่อไม่ได้ก็ไม่ลุก.

คนเหล่านั้น จึงพากันไปบอกเศรษฐี เศรษฐีรู้โทษของธิดา จึงส่งคนไปพร้อมกับบอกว่า พวกเจ้าจงไปให้มันกหาปณะหนึ่ง. นายมาตังคะนั้นก็บอกว่า ข้าไม่ปรารถนากหาปณะ แต่ปรารถนานางคนเดียว.

เศรษฐีและภริยาได้ฟังก็ได้แต่สังเวชว่า ธิดาที่เป็นที่รักของเรามีคนเดียว ก็มาทําลายประเพณีเสีย แม้เด็กอื่นก็ไม่มี จึงบอกคนทั้งหลายว่า ไปซี พ่อคุณ เดี๋ยวใครๆ จะปลิดชีวิตมันเสียหรอก เมื่อมันตาย เราทุกคนก็จะฉิบหายกัน พวกเจ้าจงอารักขามันไว้แล้วก็ห้อมล้อมจัดแจงอารักขา ส่งข้าวต้มข้าวสวยทรัพย์ไปให้ ถึงอย่างนั้นนายมาตังกะนั้นก็ปฏิเสธทุกอย่าง.

เวลาก็ล่วงไปวันหนึ่ง สอง - สาม - สี่ - ห้าวัน คนที่อยู่เรือนแห่งละ ๗ ต่อจากเรือนนั้นๆ ก็ลุกขึ้นพูดว่า พวกเราไม่อาจจะกลายเป็นจัณฑาล เพราะพวกท่านได้ พวกท่านอย่าทําให้เราฉิบหายกันเลย จงให้ทิฏฐมังคลิกา แล้วให้นายมาตังคะลุกขึ้น.

เศรษฐีและภริยานั้นก็ส่งทรัพย์ไปให้เขาร้อยหนึ่งบ้าง พันหนึ่งบ้าง แสนหนึ่งบ้าง นายมาตังคะนั้นก็ปฏิเสธอย่างเดียว หกวันก็ล่วงไปอย่างนี้ ถึงวันที่เจ็ด คนที่อยู่ในเรือนทั้ง ๑๔ สองข้างก็ประชุมกันอีกว่า เราไม่อาจกลายเป็นจัณฑาลทั้งที่พวกท่านก็ไม่ต้องการ เราจักให้ทิฏฐมังคลิกาแก่นายมาตังคะนั้นละ. มารดาบิดาของนางเพียบด้วยความโศกศัลย์ ถึงกับแน่นิ่งล้มลงบนที่นอน.

คนที่อยู่ในเรือนทั้ง ๑๔ หลัง สองข้าง ก็พากันขึ้นปราสาท เปลื้องเครื่องประดับทุกอย่างของนาง ประหนึ่งเก็บกิ่งทองกวาวที่ดอกบานแล้ว เอาเล็บทําแสกแล้วผูกผมไว้ ให้นุ่งผ้าเขียวเก่าๆ ผูกชิ้นผ้าเขียวเก่าๆ ไว้ที่มือ ให้ประดับตุ้มหูดีบุกไว้ที่หูสองข้าง มอบกระเช้าใบตาล ให้ลงจากปราสาท จับ

 
  ข้อความที่ 46  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้า 157

แขนทั้งสองข้างไว้ ไปมอบให้มหาบุรุษพร้อมกับกล่าวว่า จงพาสามีของเจ้าไป.

ทิฏฐมังคลิกาเป็นเด็กหญิงสุขุมาลชาติ ไม่เคยยกของหนักที่ว่าแม้แต่ดอกบัวขาบก็หนักเสียเหลือเกิน ก็พูดว่า ลุกขึ้นซินาย ไปกันเถอะ.

พระโพธิสัตว์ก็นอนเฉยพูดว่าเราไม่ลุก. นางย้อนถามว่า จะให้พูดว่าอะไรเล่า.

นายมาตังคะก็สอนว่าเจ้าจงพูดกะเราว่า ท่านมาตังคะจงลุกขึ้นซิ เจ้านาย. นางก็พูดอย่างนั้น. นายมาตังคะบอกว่า พวกคนของเจ้าใช่ไหม ทําให้เราไม่สามารถลุกขึ้น เจ้าจับแขนเราฉุดให้ลุกขึ้นซิ. นางก็กระทําตาม พระโพธิสัตว์ทําทีว่าลุก แต่ก็กลิ้งล้มลงไปที่พื้น ร้องลั่นว่า แม่มหาจําเริญทิฏฐมังคลิกา ใช้ผู้คนทุบจนยับเยินก่อนแล้ว บัดนี้ตัวเองยังจะทุบอีก. นางพูดว่า ข้าจะทําอย่างไรเล่าเจ้านาย. จงจับสองมือฉุดให้ลุกขึ้น. นางฉุดให้ลุกขึ้นได้แล้ว พูดว่าเราไปกันเถอะนาย.

พระโพธิสัตว์กล่าวว่า ธรรมดาว่า สัตว์ดิรัจฉานมีอยู่ในป่า นี่เราเป็นมนุษย์ ข้าถูกคนของเจ้าทุบบอบช้ำ ไม่สามารถเดินไปด้วยเท้าได้ เจ้าจงเอาหลังแบกข้าไป. นางก็น้อมตัวลงก้มหลังให้ พระโพธิสัตว์ก็ขึ้นหลัง นางพาไปยังประตูเมืองด้านตะวันออก แล้วถามว่า ที่อยู่ของนายอยู่ที่นี้หรือ. เขาตอบว่า ที่ประตูเมืองด้านตะวันออก พวกลูกจัณฑาลอยู่ไม่ได้ดอก. เขาไม่บอกที่อยู่ของตน ให้นางแบกไปยังทุกประตู.

ถามว่า เพราะเหตุไร.

ตอบว่า เขาคิดว่า เราจะทํามานะนางที่ขึ้นถึงยอดภพให้ลดลงให้จงได้.

มหาชนกระทําการแซ่ซ้องกึกก้องว่า นอกจากคนเช่นท่าน ไม่มีคนอื่นที่จะทําลายมานะของนางได้. ถึงประตูเมืองด้านตะวันตก นางถามว่า ที่อยู่ของนายอยู่ที่นี้หรือนาย. เขากลับย้อนถามว่า นั่นที่ไหน. นางตอบว่า ประตูเมืองด้านตะวันตกนาย. เขาบอกว่า ออกทางประตูเมืองด้านตะวันตกแล้ว มองเห็นเรือนมุงหนัง ก็ไปเถอะ. นางเดินไปถึงแล้วก็ถามว่า เรือนมุงหนังหลังนี้เป็นที่อยู่ของนายหรือ. เขาตอบว่า จ้ะ แล้วก็ลงจากหลังนางเดินเข้าไปยังเรือนมุงหนัง.

พระโพธิสัตว์

 
  ข้อความที่ 47  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้า 158

ผู้เป็นปราชญ์แสวงหาพระสัพพัญุตญาณอยู่ในเรือนหลังนั้น ๗ - ๘ วัน มิได้ทําการระคนด้วยชาติ (สมสู่) ในวันเหล่านั้น. เขาคิดแล้วคิดอีกว่าถ้าธิดาของสกุลใหญ่อาศัยเราจะไม่ประสบยศ (เกียรติ, อิสริยะ บริวาร) ยิ่งใหญ่ เราอยู่ในสํานักพระพุทธเจ้าถึง ๒๔ พระองค์ ก็ยังไม่สามารถทํากิจ คือ อภิเษกพระราชาทั้งหลายในสกลชมพูทวีป ด้วยน้ำชําระเท้าของนางได้ ต่อแต่นั้นก็ดําริว่า เราอยู่ท่ามกลางเรือน (เป็นคฤหัสถ์) คงไม่สามารถ แต่บวชแล้วจึงจักสามารถ แล้วก็เรียกนางสั่งว่า เจ้าทิฏฐมังคลิกา แต่ก่อน ข้าอยู่คนเดียว ทํางานบ้างก็พอเลี้ยงชีวิตอยู่ได้ แต่เดี๋ยวนี้ข้ามีภริยา ไม่ทํางาน ไม่อาจจะมีชีวิตอยู่ได้ เจ้าอย่ากระสันไปเลยจนกว่าข้าจะกลับมา.

พระโพธิสัตว์เข้าไปป่า เก็บเอาผ้าเปื้อนๆ ที่ป่าช้าเป็นต้น มาทําผ้านุ่งผ้าห่ม บวชเป็นสมณะเที่ยวไปคนเดียว ได้ความสงัดกาย บริกรรมกสิณ ทําสมาบัติ ๘ และอภิญญา ๕ ให้เกิดแล้วดําริว่า บัดนี้ เราอาจเป็นที่พึ่งอาศัยของนางทิฏฐมังคลิกาได้ จึงเดินมุ่งหน้าไปยังกรุงพาราณสี ห่มจีวรเที่ยวภิกขาจาร เดินตรงไปยังเรือนของนางทิฏฐมังคลิกา.

นางเห็นพระโพธิสัตว์ยืนอยู่ใกล้ประตู จําไม่ได้ก็บอกว่า โปรดไปข้างหน้าเถิดเจ้าข้า นี้ที่อยู่ของพวกคนจัณฑาล พระโพธิสัตว์ก็ยืนอยู่ในที่นั้นนั่นแหละ นางดูแล้วดูอีกก็จําได้ เอามือทุบอก ร้องลั่นล้มลงใกล้ๆ เท้า กล่าวว่า นาย ถ้านายยังมีจิตใจอยู่เช่นนี้ เหตุไรนายจึงทําข้าให้เสื่อมจากยศใหญ่ ทําข้าให้ขาดที่พึ่ง แล้วก็คร่ําครวญไปต่างๆ เช็ดตาสองข้างลุกขึ้น รับภาชนะอาหารนิมนต์ให้เข้าไปนั่งภายในเรือนถวายอาหาร.

พระมหาบุรุษฉันแล้วก็กล่าวว่า ทิฏฐมังคลิกาเจ้าอย่าโศกเศร้า อย่าคร่ําครวญไปเลย เราสามารถทําให้กิจ คือ การอภิเษกพระราชาทั้งหลายในสกลชมพูทวีป ด้วยน้ำชําระเท้าของเจ้า แต่เจ้าต้องทําตามคําของเราอย่างหนึ่ง เจ้าจงเข้าไปยังพระนคร ป่าวประกาศไปให้ทั่วพระนครว่า

 
  ข้อความที่ 48  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้า 159

สามีของข้าไม่ใช่จัณฑาล แต่เป็นท้าวมหาพรหม.

เมื่อพระโพธิสัตว์กล่าวอย่างนั้นแล้วนางทิฏฐมังคลิกาก็พูดว่า นาย แม้โดยปกติ ข้าก็ถึงความย่อยยับ เพราะโทษแห่งปากจึงไม่อาจจะพูดได้. พระโพธิสัตว์กล่าวว่า ก็เมื่อเรายังอยู่ในเรือน เจ้าเคยได้ยินคําพูดเหลวไหลหรือ เราไม่พูดเหลวไหลแม้ในครั้งนั้น บัดนี้เราบวชแล้ว จะพูดเหลวไหลได้อย่างไร เราชื่อว่าเป็นบุรุษ พูดแต่คําจริง แล้วกล่าวต่อไปว่า วันนี้เป็นวัน ๘ ค่ําแห่งปักษ์ เจ้าจงป่าวประกาศว่า ในวันอุโบสถล่วงไป ๗ วัน นับแต่วันนี้ ท้าวมหาพรหมสามีของข้า จักทําลายวงพระจันทร์ แล้วมายังสํานักของข้า ครั้นกล่าวแล้วก็หลีกไป.

นางเชื่อ ร่าเริงยินดี กล้าหาญ เข้าไปยังพระนคร ในเวลาเช้าเย็นป่าวประกาศอย่างนั้น คนทั้งหลายก็ปรบมือ หัวเราะ เย้ยหยันว่า ดูเอาเถิด นางทิฏฐมังคลิกาของพวกเรา ทําลูกจัณฑาลให้เป็นท้าวมหาพรหม. แม้วันรุ่งขึ้น นางก็เข้าไปเช้าเย็น ป่าวประกาศอย่างนั้นนั่นแหละว่า บัดนี้ ล่วงไป ๑ วัน ๒ วัน ๓ วัน ๔ วัน ๕ วัน ๖ วัน บัดนี้ ท้าวมหาพรหมสามีของข้า จักทําลายวงพระจันทร์ มายังสํานักของข้า.

พราหมณ์ทั้งหลายคิดกันว่า นางทิฏฐมังคลิกานี้กล้าหาญเกินตัวพูดออกไป บางคราวน่าจะมีจะเป็นอย่างนั้นก็ได้ มาเถิดเราจักจัดแจงที่อยู่ของนางทิฏฐมังคลิกา แล้วช่วยกันแผ้วถางไปรอบๆ ภายนอกเรือนมุงหนัง โรยทรายไว้ แม้นางก็เข้าไปยังพระนครแต่เช้าในวันอุโบสถ ป่าวประกาศว่า ได้ยินว่าวันนี้ สามีของข้าจักมา.

พราหมณ์ทั้งหลายก็คิดกันว่า นางทิฏฐมังคลิกาผู้นี้อ้างไม่ไกลเลย ได้ยินว่าวันนี้ท้าวมหาพรหมจักมา พวกเราช่วยจัดแจงที่อยู่กันเถอะ แล้วก็ปัดกวาดเรือนมุงหนังให้สะอาด ทําพื้นที่ให้เขียวชะอุ่ม แวดล้อมด้วยผ้าใหม่ๆ ลาดบัลลังก์ที่สมควรขนาดใหญ่ ระบายเพดานผ้าไว้ข้างบน ห้อยของหอมและพวงดอกไม้ เมื่อพราหมณ์เหล่านั้นกําลังจัดแจงอยู่ ดวงอาทิตย์ก็ตก.

 
  ข้อความที่ 49  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้า 160

พอดวงจันทร์ขึ้นพระมหาบุรุษก็เข้าปาทกฌานและอภิญญา ออกจากอภิญญาแล้วก็บริกรรม ด้วยจิตฝ่ายกามาวจร เนรมิตอัตภาพพรหมประมาณ ๑๒ โยชน์ ด้วยจิตที่ประกอบด้วยฤทธิ์ เหาะขึ้นสู่เวหาส เข้าไปภายในจันทรวิมาน ทําลายวงพระจันทร์ ซึ่งกําลังลอยขึ้นจากชายป่า ละจันทรวิมานแล้ว ก็อยู่ข้างหน้า อธิษฐานว่า ขอมหาชนจงเห็นเรา มหาชนเห็นแล้วก็กล่าวว่า ผู้เจริญทั้งหลาย คําของนางทิฏฐมังคลิกาเป็นจริง ท้าวมหาพรหมเสด็จมา พวกเราจักบูชาท่าน แล้วถือเอาของหอมและพวงดอกไม้ยืนล้อมเรือนของนางทิฏฐมังคลิกาไว้.

พระมหาบุรุษเหาะเวียนไปรอบๆ กรุงพาราณสี ๗ ครั้งเหนือศีรษะ รู้ว่ามหาชนเห็นแล้วละอัตภาพประมาณ ๑๒ โยชน์เสีย แล้วเนรมิตอัตภาพเท่าคนธรรมดา เมื่อมหาชนกําลังดูอยู่ ก็เข้ายังเรือนมุงหนัง. มหาชนเห็นแล้วก็พูดว่า ท้าวมหาพรหมของพวกเราเสด็จมาแล้ว พวกเจ้าจงนําม่านมา วงนิเวศน์ไว้ด้วยม่านขนาดใหญ่ยืนล้อมไว้ แม้พระมหาบุรุษก็นั่งกลางที่นอนอันมีสิริ นางทิฏฐมังคลิกาก็ยืนอยู่ใกล้ๆ.

ครั้งนั้น พระมหาบุรุษก็ถามนางว่า ดูก่อน ทิฏฐมังคลิกา เจ้ามีระดูหรือ. นางตอบว่า จ้ะนาย. พระมหาบุรุษกล่าวว่า เจ้าจงรับบุตรที่เราให้ไว้ แล้วเอาปลายนิ้วมือแตะบริเวณท้อง. ด้วยการแตะท้องเท่านั้น นางก็ตั้งครรภ์.

พระมหาบุรุษกล่าวว่า ดูก่อนทิฏฐมังคลิกา ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ น้ำชําระเท้าของเจ้า จักเป็นน้ำอภิเษกพระราชาทั้งหลายในสกลชมพูทวีป เจ้าจงยืนขึ้น ดังนี้แล้วเนรมิตอัตภาพพรหม เมื่อมหาชนกําลังดูอยู่ก็ออกจากเรือนเหาะขึ้นสู่เวหาส เข้าไปยังวงพระจันทร์นั่นแล.

ตั้งแต่ก่อนที่ นางได้ชื่อว่า พรหมปชาบดี ชื่อว่าผู้ที่จะได้น้ำสําหรับล้างเท้าไม่มี. พวกพราหมณ์ปรึกษากันว่าพวกเราจักเชิญพรหมปชาบดีให้เข้าไปอยู่ภายในพระนคร หามไปด้วยวอทอง ไม่ให้คนที่มีชาติ

 
  ข้อความที่ 50  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้า 161

ไม่บริสุทธิ์ ๗ ชั่วคนหามวอ. พราหมณ์ผู้มีชาติและมนต์ ๑๖ คน หามไป. คนที่เหลือบูชาด้วยของหอม และดอกไม้เป็นต้น เข้าไปสู่พระนคร ปรึกษากันว่า ผู้เจริญทั้งหลาย พรหมปชาบดี ไม่อาจอยู่ในเรือนที่ตนเคยอยู่มาได้แล้ว พวกเราจักหาที่ดินสร้างเรือนแก่นาง นางจงอยู่ที่มณฑป ที่พวกเรากําลังสร้างอยู่ ดังนี้ แล้วจัดให้นางอยู่ที่มณฑป.

ตั้งแต่นั้นมา คนทั้งหลายได้แต่ยืนอยู่พอเห็นนาง ผู้ต้องการไหว้ก็ต้องให้กหาปณะหนึ่งจึงจะไหว้ได้, ผู้ต้องการไหว้ในที่รอบๆ พอได้ยินเสียง ต้องให้ร้อยกหาปณะ จึงไหว้ได้, ผู้ต้องการไหว้ในที่ใกล้ ซึ่งเป็นที่ได้ยินเสียงพูดตามปกติ ต้องให้ห้าร้อยกหาปณะ จึงไหว้ได้, ผู้ต้องการวางศีรษะที่เท้าแล้วไหว้ ต้องให้หนึ่งพันกหาปณะ, ผู้ปรารถนาน้ำชําระเท้า ต้องให้หมื่นกหาปณะ จึงได้. นางมาแต่ภายนอกพระนครจนถึงมณฑปภายในพระนคร ได้ทรัพย์ประมาณร้อยโกฏิ. สกลชมพูทวีปก็เลื่องลือกัน.

พระราชาทั้งปวงคิดว่า เราจักทําการอภิเษกด้วยน้ำชําระเท้าของพรหมปชาบดี ทรงส่งทรัพย์ไปแสนกหาปณะจึงได้น้ำมา. นางกําลังอยู่ในมณฑปนั้นแล ก็คลอดบุตรออกมา กุมารที่อาศัยพระมหาบุรุษได้มาก็ผ่องใส ถึงพร้อมด้วยลักษณะ. สกลชมพูทวีป ก็โกลาหลเป็นอันเดียวกันว่า บุตรของท้าวมหาพรหมเกิดแล้ว ทรัพย์ที่ได้มาแต่คนนั้นๆ ก็ประมาณพันโกฏิ ด้วยประสงค์ว่าจะเป็นค่า ขีรมณี (คือค่าน้ำนม) ของกุมาร แม้นิเวศน์ (ที่อยู่) ก็สําเร็จด้วยทรัพย์มีประมาณเพียงเท่านั้น. คนทั้งหลายปรึกษากันว่า พวกเราจักขนานนามของกุมาร แล้วตกแต่งนิเวศน์ให้กุมารสรงสนานด้วยน้ำหอม ประดับประดาแล้ว ก็ขนานนามว่า มัณฑพยะ เพราะเกิดในมณฑป.

กุมารจําเริญมาด้วยความสุข ก็ถึงวัยเล่าเรียนศิลปะ ปราชญ์ผู้รู้ศิลปในสกลชมพูทวีปก็มายังสํานักของกุมาร ให้กุมารศึกษาศิลป กุมารเฉลียว

 
  ข้อความที่ 51  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้า 162

ฉลาดมีปัญญา ก็เล่าเรียนศิลปะที่สดับๆ มาแล้วได้เหมือนร้อยแก้วมุกดาฉะนั้น ศิลปะที่เล่าเรียนๆ ไว้แล้ว ก็ทรงจําไว้ประหนึ่งน้ำมันที่ใส่ในหม้อทองฉะนั้น ตราบจนปริยัติคล่องปาก เพราะเหตุนั้น ปริยัติที่ชื่อว่าไม่เล่าเรียนไม่มี. พราหมณ์ทั้งหลายก็ห้อมล้อมกุมารนั้น เที่ยวไป แม้กุมารนั้นก็เป็นผู้ที่พราหมณ์เลี้ยงดูแล้ว. พราหมณ์แปดหมื่นคน รับนิตยภัตในเรือน แม้เรือนของกุมารนั้นก็ใหญ่โต มีซุ้มประตูถึง ๗ ซุ้ม. ทรัพย์ที่ชาวชมพูทวีปส่งให้ในวันมงคลในเรือนก็ตกประมาณแสนโกฏิ.

ฝ่ายพระโพธิสัตว์ก็ระบุว่ากุมารประมาทหรือไม่ประมาทหนอ ก็ทราบเรื่องราวของกุมารนั้นตลอด ดําริว่า กุมารที่เกิดแล้ว พราหมณ์เลี้ยงไว้ ทานที่ให้ในเขตใดมีผลมาก เขายังไม่รู้ถึงเขตนั้น เราจะไปทรมานเขา แล้วก็ห่มจีวรถือภาชนะใส่อาหาร คิดว่าซุ้มประตูทั้งหลายคับแคบนัก เราไม่อาจเข้าไปทางซุ้มประตูได้ จึงมาทางอากาศ ลง ณ น่านอากาศ ในที่ๆ พวกพราหมณ์ ๘๐,๐๐๐ คน บริโภคอาหาร แม้มัณฑพยกุมารก็ให้คนจับทัพพีทองอังคาสตนโดยสั่งว่าพวกเจ้าจงให้กับข้าวตรงนี้ ให้ข้าวตรงนี้ ครั้นเห็นพระโพธิสัตว์ก็โกรธประหนึ่งงูพิษถูกตีด้วยท่อนไม้ จึงกล่าวคาถานี้ว่า.

กุโต นุ อาคจฺฉสิ ทุมฺมวาสี โอคลฺลโก ปํสุปิสาจโกว สงฺการโจลํ ปฏิมุฺจ กณฺเ โก เร ตุวํ โหสิ อทกฺขิเณยฺโย.

เจ้านุ่งห่มผ้าเก่าๆ เข็ญใจ รูปร่างดังปีศาจคลุกฝุ่น คล้องผ้าที่ได้มาในกองขยะไว้ที่คอ เฮ้ย... เจ้าเป็นใคร เจ้าไม่ใช่ทักขิไณยบุคคลนี่.

 
  ข้อความที่ 52  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้า 163

พระโพธิสัตว์ไม่โกรธ จึงกล่าวสอนเขาว่า

อนฺนํ ตวยิทํ ปกตํ ยสสฺสิ ตํ ขชฺชเร ภุฺชเร ปิยฺยเร จ ชานาสิ มํ ตฺวํ ปรทตฺตูปชีวิํ อุตฺติฏฺปิณฺฑํ ลภตํ สปาโก.

ข้าวที่ท่านจัดไว้สําหรับพวกมียศ พวกมียศย่อมเคี้ยวย่อมกินข้าวนั้นและดื่มน้ำนั้น. ท่านย่อมรู้จักเรา ผู้ซึ่งเลี้ยงชีวิตด้วยทานที่คนอื่นให้ คนจัณฑาล ควรจะได้อาหารที่คนลุกขึ้นยืนยื่นให้.

มัณฑพยกุมารนั้น เมื่อแสดงว่า ข้าวนี้ไม่ได้จัดไว้ สําหรับคนเช่นท่าน จึงกล่าวว่า

อนฺนํ มมยิทํ ปกตํ พฺราหฺมณานํ อตฺตตฺถิยา สทฺทหโต มมยิทํ อเปหิ เอตฺโต กิมิธฏฺิโตสิ น มาทิสา ตุยฺห ททนฺติ ชมฺม.

ข้าวนี้เราจัดไว้สําหรับพราหมณ์ทั้งหลาย ข้าวนี้เราผู้มีศรัทธา จัดไว้ เพื่อประโยชน์ของตนเอง จงออกไปเสียจากที่นี้ ยังคงยืนอยู่ในที่นี้ทําไมเล่า คนอย่างเราไม่ให้ทานแก่เจ้าดอก คนถ่อย.

 
  ข้อความที่ 53  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้า 164

ครั้งนั้น พระโพธิสัตว์ เพื่อแสดงว่า ธรรมดาว่าทานควรให้แก่ผู้ใดผู้หนึ่ง ทั้งที่มีคุณธรรมทั้งที่ไม่มีคุณธรรม เหมือนอย่างว่า พืชที่เขาปลูกลงในที่ลุ่มก็ดี ที่ดอนก็ดี อาศัยรสดินและรสน้ำ ย่อมงอกออกผล ฉันใด ทานที่ชื่อว่าไร้ผลย่อมไม่มีฉันนั้น ทานที่ให้แก่ผู้มีคุณธรรม ย่อมมีผลมากเหมือนพืชที่หว่านลงในเนื้อที่นาดีฉะนั้น จึงกล่าวคาถานี้ว่า

ถเล จ นินฺเน จ วปนฺติ พีชํ อนูปเขตฺเต ผลมาสมานา เอตาย สทฺธาย ททาหิ ทานํ อปฺเปว อาราธเย ทกฺขิเณยฺเย.

คนทั้งหลายผู้หวังผล ย่อมหว่านพืชลงในเนื้อที่นาดอน นาลุ่ม และนาไม่ลุ่มไม่ดอนฉันใด ท่านจงให้ทานด้วยศรัทธานั้น ฉันนั้น ทําไฉน จะพึงได้ผู้ที่ควรรับทาน.

ครั้งนั้น กุมารโกรธจัด ตะคอกคนรักษาประตูเป็นต้นว่า ใครให้เจ้าคนหัวโล้นนี้เข้ามา แล้วกล่าวคาถาว่า

เขตฺตานิ มยฺหํ วิทิตานิ โลเก เยสฺวาหํ พีชานิ ปติฏฺเปมิ เย พฺราหฺมณา ชาติมนฺตูปปนฺนา ตานีธ เขตฺตานิ สุเปสลานิ.

 
  ข้อความที่ 54  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้า 165

เนื้อนาที่จะปลูกพืชในโลก เรารู้แล้ว พราหมณ์เหล่าใดสมบูรณ์ด้วยชาติและมนต์ พราหมณ์เหล่านั้นคือเนื้อนาในที่นี้ มีศีล เป็นที่รักทั้งนั้น ดังนี้.

แล้วสั่งว่า พวกเจ้าจงโบยเจ้าคนถ่อยผู้นี้ด้วยไม้ ลากเขาที่คอให้ออกไปข้างนอกให้พ้นซุ้มประตู ทั้ง ๗ ซุ้ม.

ครั้งนั้น พระมหาบุรุษจึงกล่าวกะมัณฑพยกุมารนั้นว่า

คิริํ นเขน ขนสิ อโย ทนฺเตภิ ขาทสิ ชาตเวทํ ปทหสิ โย อิสิํ ปริภาสสิ.

เจ้าผู้ใดบริภาษฤษี เจ้าผู้นั้นก็เหมือนขุดขุนเขาด้วยเล็บ เคี้ยวเหล็กด้วยฟัน กลืนไฟลงไปในลําคอฉะนั้น.

ครั้นกล่าวดังนั้นแล้ว ดําริว่า ถ้ากุมารนี้จะพึงให้เราจับที่มือที่เท้า ก็จะทําทุกข์ให้เกิดขึ้น จะพึงประสบสิ่งที่มิใช่บุญเป็นอันมาก แล้วก็เหาะขึ้นสู่เวหาส เพราะความเอ็นดูสัตว์ ไปลงที่ระหว่างถนน.

พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงบรรลุพระสัพพัญุตญาณ เมื่อจะทรงประกาศความข้อนั้นจึงตรัสคาถานี้ว่า

อิทํ วตฺวาน มาตงฺโค อิสิํ สจฺจปรกฺกโม อนฺตลิกฺขสฺมิํ ปกฺกามิ พฺราหฺมณานํ อุทิกฺขตํ.

มาตังคฤษี ผู้มีสัจจะเป็นเบื้องหน้า ครั้นกล่าวคํานี้แล้ว ก็หลีกไปในอากาศ ต่อหน้าพราหมณ์ผู้มองดูอยู่ ดังนี้.

 
  ข้อความที่ 55  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้า 166

ทันใดนั้นนั่นเอง ท้าวเทวราชผู้เป็นหัวหน้าแห่งเหล่าเทวดาผู้รักษาพระนคร ก็บิดคอมัณฑพยกุมาร. หน้าของเขาก็หันไปอยู่ข้างหลัง ตาก็กลับ น้ำลายไหลยืดทางปากตัวก็แข็ง ดังถูกหลาวเสียบฉะนั้น เหล่ายักษ์ที่เป็นข้าจํานวน ๘๐,๐๐๐ คน ก็กระทําแก่พราหมณ์ ๘๐,๐๐๐ คนอย่างนั้นเหมือนกัน คนทั้งหลาย ก็รีบไปบอกแก่พรหมปชาบดี นางรีบรุดมาเห็นอาการอันแปลกนั้นแล้ว ก็กล่าวอย่างนี้ว่า

อาเวิตํ ปิฏฺิโต อุตฺตมงฺคํ พาหํ ปสาเรติ อกมฺมเนยฺยํ เสตานิ อกฺขีนิ ยถา มตสฺส โก เม อิมํ ปุตฺตมกาสิ เอวํ.

หัวถูกบิดไปอยู่ข้างหลัง เหยียดแขนไปทําอะไรก็ไม่ได้ ลูกตาก็ขาวเหมือนคนตาย ใครทําแก่บุตรนี้ของเราอย่างนี้.

คนทั้งหลายก็บอกแก่นางว่า

อิธาคมา สมโณ ทุมฺมวาสี โอคลฺลโก ปํสุปิสาจโกว สงฺการโจลํ ปริมุฺจ กณฺเ โส เต อิมํ ปุตฺตมกาสิ เอวํ.

สมณะนุ่งผ้าเก่าเข็ญใจ รูปร่างดังปีศาจคลุกฝุ่น คล้องผ้าที่เก็บมาแต่กองขยะไว้ที่คอ มาที่นี้ สมณะนั้น ทําแก่บุตรของท่านอย่างนี้.

 
  ข้อความที่ 56  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้า 167

นางได้ฟังแล้วก็รู้ชัดว่า เจ้านายผู้ให้ยศแก่เรารู้ว่า บุตรประมาท คงจักมาเพื่ออนุเคราะห์ต่อบุตรนั้น จึงถามคนบํารุงเลี้ยงว่า

กตมํ ทิสํ อคมา ภูริปฺโ อกฺขาถ เม มาณวา เอตมตฺถํ คนฺตฺวาน ตํ ปฏิกเรมุ อจฺจยํ อปฺเปว นํ ปุตฺต ลเภมุ ชีวีตํ.

ผู้มีปัญญาดังแผ่นดิน ไปทางทิศไหน มาณพทั้งหลาย พวกเจ้าจงบอกความนี้แก่เรา เราจะไปขอขมาโทษท่าน ทําไฉนบุตรของเราจะพึงได้ชีวิต.

คนเหล่านั้น ก็บอกว่า

เวหาสยํ อคมา ภูริปฺโ ปถทฺธุโน ปณฺณรเสว จนฺโท อถาปิ โส ปุริมํ ทิสํ อคฺฉิ สจฺจปปฏิฺโ อิสิ สาธุรูโป.

ท่านผู้มีปัญญาดังแผ่นดิน เหาะไปในเวหาส ไปได้ตลอด เหมือนดวงจันทร์วันเพ็ญ ทั้งท่านก็ไปทางทิศตะวันออก ท่านเป็นฤษี ปฏิญญาในสัจจะ เป็นคนดี.

แม้พระมหาบุรุษก็อธิษฐานว่า ตั้งแต่สถานที่ลงระหว่างถนน รอยเท้าของเราอย่าหายไปด้วยอํานาจของช้างม้าเป็นต้นเลย ทิฏฐมังคลิกาคนเดียวจงเห็นเรา คนอื่นอย่าเห็น แล้วออกเที่ยวขออาหาร รับข้าวสุกคลุกพอประทัง

 
  ข้อความที่ 57  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้า 168

ชีวิต นั่งบริโภคที่ศาลาพักคนเดินทาง วางอาหารที่เหลือบริโภคหน่อยหนึ่งไว้ในภาชนะใส่อาหารนั่นแล.

แม้นางทิฏฐมังคลิกา ลงจากปราสาทเดินไปตามระหว่างถนน พบรอยเท้าก็รู้ว่า นี้รอยเท้าของเจ้านาย ที่ให้ยศเรา ก็เดินไปตามรอยเท้า (พบแล้ว) ไหว้แล้วกล่าวว่า ท่านเจ้าขา ขอท่านโปรดยกโทษผิด ที่ทาสของเจ้านายทําไว้ให้ข้าด้วยเถิด ก็ท่านชื่อว่า ไม่อยู่ในอํานาจของความโกรธ โปรดให้ชีวิตแก่บุตรของข้าด้วยเถิด แล้วก็กล่าวเป็นคาถาว่า

อาเวิตํ ปิฏฺิโต อุตฺตมงฺคํ พาหํ ปสาเรติ อกมฺมเนยฺยํ เสตานิ อกฺขีนิ ยถา มตสฺส โก เม อิมํ ปุตฺตมกาสิ เอวํ.

หัวก็ถูกบิดไปอยู่ข้างหลัง เหยียดแขนไปทําอะไรก็ไม่ได้ ลูกตาทั้งสองก็ขาวเหมือนคนตาย ใครทําแก่บุตรนี้ของข้าอย่างนี้.

พระมหาบุรุษกล่าวว่า เราไม่ทําอย่างนั้นดอก แต่เมื่อเหล่าภูตยักษ์และเทวดาผู้เคารพในนักบวช เห็นผู้เบียดเบียนนักบวช จักทําก็ได้กระมัง. นางกล่าวว่า ท่านเจ้าขา ท่านคงไม่มีใจคิดประทุษร้ายสิ้นเชิง คงเป็นพวกเทวดาทําแน่ พวกเทวดาขอขมาง่ายไหม ข้าจะปฏิบัติอย่างไรเล่า ท่านเจ้าขา.

พระมหาบุรุษกล่าวว่า ถ้าอย่างนั้นเราจะบอกยาแก่เจ้า อาหารที่เหลือเรากินยังมีอยู่ในภาชนะใส่อาหารของเรา เจ้าจงเทน้ำหน่อยหนึ่งลงในภาชนะนั้น แล้วถือเอาหน่อยหนึ่งใส่ปากบุตรของเจ้า ส่วนที่เหลือเอาลงคนในภาชนะน้ำแล้วเอาใส่ปากพวกพราหมณ์แปดหมื่นคน. นางก็รับคําว่า จะทําตาม ถืออาหารไหว้

 
  ข้อความที่ 58  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้า 169

พระมหาบุรุษแล้ว ก็ไปทําตามที่สั่ง พออาหารถูกใส่ลงในปาก ท้าวเทวราชผู้เป็นหัวหน้ารู้ว่า เมื่อเจ้านายทํายาเสียเอง พวกเราก็ไม่อาจทําอะไรได้ แล้วก็ปล่อยกุมาร กุมารนั้นกลืนอาหารแล้ว ก็มีอาการเป็นปกติเสมือนไม่เคยทุกข์อะไรๆ เลย.

ครั้งนั้น มารดาก็กล่าวกะกุมารนั้นว่า พ่อเอย เจ้าจงดูอาการอันแปลกของพวกพราหมณ์ประจําตระกูลของเจ้า ที่ปราศจากหิริโอตตัปปะนี่สิ เป็นสมณะไม่น่าจะเป็นอย่างนี้เลย เจ้าให้พวกสมณะฉันเสียสิ พ่อ. ต่อนั้นนางก็ให้คนอาหารส่วนที่เหลือลงในภาชนะน้ำให้ใส่ลงในปากพราหมณ์ทั้งหลาย เหล่ายักษ์ก็ปล่อยทันที แล้วหนีไป.

พวกพราหมณ์กลืนอาหารแล้ว ก็ลุกขึ้นถามว่า เอาอะไรใส่ปากพวกเรา. นางตอบว่า อาหารเดนของมาตังคฤษี. พราหมณ์เหล่านั้น ไม่แสดงความเสมอภาคว่า พวกเราถูกบังคับให้กินอาหารเดนของคนจัณฑาล ไม่เป็นพราหมณ์แล้ว บัดนี้ พราหมณ์เหล่านี้ ไม่ใช่พราหมณ์บริสุทธิ์ แต่นั้น จึงพากันหนีออกจากที่นั้น ไปยังแคว้นเมชฌะ รําพึงว่า พวกเราชื่อว่า พราหมณ์ผู้ต้องหวาดสะดุ้ง (หลังหวะ) ในนครของพระเจ้าเมชฌะ. ดังนี้แล้ว ก็บริโภคอยู่แต่ในกรุงราชคฤห์.

สมัยนั้น พระโพธิสัตว์ เที่ยวกระทําการข่มคนชั่ว ทรมานคนถือมานะอยู่. ครั้งนั้นดาบสรูปหนึ่งชื่อ ชาติมันตะ เข้าใจตนเองว่า ไม่มีใครเสมอเรา ไม่ยอมแม้แต่จะเข้าใจคนอื่นๆ พระโพธิสัตว์พบดาบสนั้น อาศัยอยู่ริมฝังแม่น้ำคงคา ก็เดินไปในที่นั้น ด้วยหมายจะข่มมานะของดาบสนั้น. ชาติมันตดาบสจึงถามว่า พ่อมหาจําเริญ เป็นชาติอะไร. พระโพธิสัตว์ตอบว่า ข้าเป็นชาติจัณฑาล ท่านอาจารย์. ดาบสก็ตะเพิดว่า ไป ไป เจ้าจัณฑาล จงอยู่เสียทางใต้แม่น้ำคงคา อย่าทําน้ำทางเหนือแม่น้ำคงคาให้เป็นเดนเลย.

 
  ข้อความที่ 59  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้า 170

พระโพธิสัตว์ก็ตอบรับว่า ดีละ ท่านอาจารย์ ข้าจักอยู่ในที่ท่านบอก แล้วก็ไปอยู่ทางใต้แม่น้ำคงคา อธิษฐานว่า น้ำของแม่น้ำคงคาจงไหลทวนกระแส.

เช้าตรู่ ชาติมันตดาบสก็ลงไปยังแม่น้ำคงคา บ้วนปากล้างหน้า ชําระชฎา (ผมที่มวยไว้) พระโพธิสัตว์นั้นเคี้ยวไม้สีฟัน ถ่มเขฬะเป็นก้อนๆ ลงในแม่น้ำ ไม้สีฟันและเขฬะที่ถ่มก็ลอยไปที่ดาบสนั้น พระโพธิสัตว์อธิษฐานว่า ไม้สีฟันและเขฬะนั้น อย่าติดในที่อื่น ให้ติดอยู่ที่ชฎาของดาบสนั้นผู้เดียว ทั้งเขฬะทั้งไม้สีฟันก็ติดอยู่ที่ชฎาของดาบสนั้นเท่านั้น.

ดาบสก็เดือดร้อนรําคาญใจว่าการกระทํานี่ ต้องเป็นของเจ้าจัณฑาลแน่ จึงเดินไปถามว่า พ่อมหาจําเริญจัณฑาล น้ำของแม่น้ำคงคานี้ เจ้าทําให้มันไหลทวนกระแสหรือ. ขอรับท่านอาจารย์. ถ้าอย่างนั้น เจ้าอย่าอยู่ทางใต้แม่คงคาเลย จงอยู่เสียทางเหนือแม่น้ำคงคาเถอะ.

พระโพธิสัตว์ก็รับคําว่า ขอรับ ท่านอาจารย์ ข้าจักอยู่ในที่ตามที่ท่านบอก แล้วก็อยู่ ณ ที่นั้น คลายฤทธิ์เสีย น้ำก็ไหลตามปกติ ดาบสก็ประสบความย่อยยับนั้นอีก จึงไปถามพระโพธิสัตว์ว่า พ่อมหาจําเริญจัณฑาล น้ำของแม่คงคานี้ เจ้าทําให้มันไหลทวนกระแส บางครั้งก็ทําให้มันไหลตามกระแสหรือ. ขอรับ ท่านอาจารย์.

ดาบสจึงสาปว่า เจ้าไม่ให้นักบวชผู้อยู่เป็นปกติสุข อยู่โดยสะดวกเลย ศีรษะของเจ้าจักแตกออก ๗ เสี่ยง ในวันที่ครบ ๗ นับแต่วันนี้ไป.

ดีละ ท่านอาจารย์ ส่วนข้าก็ไม่ให้ดวงอาทิตย์ขึ้น. ครั้งนั้นมหาสัตว์คิดว่า คําสาปแช่ง จักตกลงเบื้องบนของดาบสนั้นเท่านั้น เราจําต้องรักษาดาบสนั้นไว้. วันรุ่งขึ้น ก็ไม่ให้ดวงอาทิตย์ขึ้นด้วยฤทธิ์ เพราะเอ็นดูสัตว์ ธรรมดาอิทธิวิสัยของผู้มีฤทธิ์เป็นอจินไตย (ไม่ควรคิด) ตั้งแต่นั้นมา ก็ไม่ปรากฏว่า ดวงอาทิตย์ขึ้น ก็กําหนดกลางคืนกลางวันกันไม่ได้ ไม่มีผู้ประกอบการงาน เช่น ทํานา ค้าขายเป็นต้น คนทั้งหลายก็ประสบอันตราย ด้วยไม่

 
  ข้อความที่ 60  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้า 171

รู้ว่า นี้ยักษ์บันดาล หรือภูตผี เทวดา นาค ครุฑ บันดาล คิดกันว่า จะควรทําอย่างไรกันหนอ ปรึกษากันว่า ธรรมดาว่า ราชสกุลมีปัญญามาก จะไม่อาจคิดถึงประโยชน์ของโลกหรือ มาพวกเราไปราชสกุลกันเถิด แล้วก็พากันไปยังราชสกุลร้องทุกข์.

พระราชา สดับแล้วแม้จะทรงกลัว ก็ทําเป็นไม่กลัว ตรัสว่า อย่ากลัวกันไปเลย พ่อเอย ดาบสชื่อชาติมันตะอยู่ริมฝังแม่คงคา คงจักรู้เหตุอันนั้น เราจักไปถามท่านให้หายสงสัย พอ ๒ - ๓ วัน ก็เสด็จพร้อมด้วยพวกคนผู้บําเพ็ญประโยชน์เข้าไปหาดาบส ได้รับปฏิสันถารแล้ว ก็ตรัสถามเรื่องนั้น.

ดาบสก็ทูลว่า ถวายพระพร มหาบพิตร มีจัณฑาลอยู่คนหนึ่ง เขาทําน้ำของแม่น้ำคงคานี้บางครั้งก็ให้ไหลตามกระแส บางครั้งก็ให้ไหลทวนกระแส คําอะไรๆ ที่อาตมากล่าวเพื่อประโยชน์นั้น ก็มีอยู่ ขอได้โปรดตรัสถามจัณฑาลคนนั้น เขาคงจะรู้.

พระราชาเสด็จไปยังสํานักของมาตังคฤษี ตรัสถามว่า ท่านผู้เจริญ ท่านไม่ให้ดวงอาทิตย์ขึ้นหรือ. ถวายพระพร มหาบพิตร. เพราะเหตุไรเล่า เจ้าข้า. เพราะชาติมันตดาบสสาปแช่งอาตมาภาพผู้ไม่ผิด อาตมาภาพจักให้ดวงอาทิตย์ขึ้น ก็ต่อเมื่อชาติมันตดาบสนั้น มาไหว้อาตมาภาพขอขมาแล้ว ถวายพระพร.

พระราชาก็เสด็จไปตรัสชวนว่า มาเถิดท่านอาจารย์ขอขมาดาบสเสีย. ทูลว่า มหาบพิตร อาตมาไม่ไหว้จัณฑาลดอก. ตรัสว่าอย่าทําอย่างนี้ซิ ท่านอาจารย์ โปรดเห็นแก่หน้าชาวแคว้นเถิด. ชาติมันตดาบสนั้น ก็ปฏิเสธอย่างนั้นอีก. พระราชาก็เสด็จเข้าไปหาพระโพธิสัตว์ตรัสว่า ท่านอาจารย์ ท่านชาติมันตดาบสไม่ปรารถนาขอขมานี่. พระโพธิสัตว์ทูลว่า เมื่อชาติมันตดาบสไม่ขอขมา อาตมาภาพก็ไม่ปล่อยดวงอาทิตย์.

พระราชาทรงดําริว่า ชาติมันตดาบสผู้นี้ไม่ยอมขอขมามาตังคฤษีนี้ เมื่อชาติมันตดาบสไม่

 
  ข้อความที่ 61  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้า 172

ขอขมาก็ไม่ยอมปล่อยดวงอาทิตย์ ประโยชน์อะไรแก่พวกเรา ด้วยดาบสนั้น เราจักเห็นแก่ชาวโลก แล้วตรัสสั่งคนทั้งหลายว่า ท่านผู้เจริญ พวกท่านจงไปจับมือเท้าชาติมันตดาบสนั้น มายังสํานักของดาบส (มาตังคฤษี) ให้นําชาติมันตดาบสนั้นมาแล้ว ให้หมอบแทบเท้าของมาตังคฤษี ตรัสว่า โปรดเอ็นดูชาวแว่นแคว้นขอขมามาตังคฤษีนั้นเสีย.

พระโพธิสัตว์ทูลว่า อาตมาภาพงดโทษกะผู้ขอขมา ก็แต่ว่าคําสาปของชาติมันตดาบสนั้น ก็จักตกบนศีรษะของชาติมันตดาบสนั้นนั่นเอง เมื่ออาตมาปล่อยดวงอาทิตย์แล้ว แสงของดวงอาทิตย์จักตกบนศีรษะของชาติมันตดาบสนั้น เมื่อเป็นเช่นนั้น ศีรษะของดาบสนั้นจักแตกออก ๗ เสี่ยง ขอดาบสนั้นอย่าประสบความย่อยยับนั้นเลย มาเถิดท่านจงลงน้ำประมาณเพียงคอ จงวางก้อนดินเหนียวขนาดใหญ่ไว้บนศีรษะ เราจักปล่อยดวงอาทิตย์ แสงของดวงอาทิตย์ตกต้องที่ก้อนดินเหนียว จักทําลายก้อนดินเหนียวนั้นแตกเป็น ๗ เสี่ยง. เมื่อดาบสนั้นทิ้งก้อนดินเหนียวเสีย แล้วดําน้ำไปโผล่ขึ้นทางท่าอื่น ท่านทั้งหลายจงบอกดาบสนั้นดังนี้ ดาบสนั้นจักมีความสวัสดีปลอดภัย.

คนทั้งหลายก็รับคําว่า จักทําอย่างนั้น แล้วก็ทําตามสั่งทุกประการ. ความสวัสดีก็มีแก่ดาบสนั้นนั่นเอง เหมือนอย่างนั้น.

ตั้งแต่นั้นมา ชาติมันตดาบสนั้นก็ได้คิดว่า ขึ้นชื่อว่าชาติไม่เป็นเหตุ คุณภายในของเหล่านักบวชต่างหากเป็นเหตุ ก็ละมานะความถือชาติและโคตร ไม่มัวเมาอีกเลย. ดังนั้น เมื่อชาติมันตดาบสถูกทรมานแล้ว มหาชนก็ได้รู้ถึงเรี่ยวแรงของพระโพธิสัตว์ เกิดโกลาหลเอิกเกริกเป็นการใหญ่ พระราชาตรัสวอนขอให้พระโพธิสัตว์ไปยังพระนครของพระองค์. พระโพธิสัตว์ก็ถวายปฏิญญารับคําขอ ดําริว่า จักทรมานพราหมณ์แปดหมื่นคนนั้น และจักเปลื้องปฏิญญา แล้วไปยังพระนครของพระเจ้าเมชฌะ.

 
  ข้อความที่ 62  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้า 173

พราหมณ์ทั้งหลาย เห็นพระโพธิสัตว์เท่านั้น ก็ปรึกษากันว่า ท่านผู้เจริญ นี้มหาโจรผู้นั้นแหละมาแล้ว บัดนี้จักทําพวกเราให้ปรากฏ (เปิดโปง) ว่า พวกเราทั้งหมดนี้กินเดนไม่เป็นพราหมณ์แล้ว เมื่อเป็นเช่นนี้ พวกเราก็จักอยู่แม้ในที่นี้ไม่ได้ จักฆ่ามันก่อนละ แล้วพากันไปเฝ้าพระราชาทูลว่า ขอถวายพระพร ขอมหาบพิตรโปรดอย่าทรงสําคัญนักบวชจัณฑาลผู้นี้ว่าเป็นคนดีเลย นักบวชจัณฑาลผู้นี้รู้มนต์หนัก จับแผ่นดินทําให้เป็นอากาศก็ได้ จับอากาศทําให้เป็นแผ่นดินก็ได้ จับที่ไกลทําให้ใกล้ก็ได้ จับที่ใกล้ทําให้ไกลก็ได้ กลับแม่คงคาทําให้ไหลขึ้นก็ได้ เมื่อปรารถนาอาจพลิกแผ่นดินก็ได้ ทําอันตรายพระชนม์ชีพก็ได้ หรือว่าขึ้นชื่อว่า จิตของคนอื่นไม่อาจยึดไว้ได้ทุกเวลา นักบวชจัณฑาลผู้นี้ เมื่อได้ที่พึ่งในนครนี้ ก็จะพึงทําแม้ราชสมบัติของมหาบพิตรให้พินาศก็ได้ ทําอันตรายพระชนมชีพก็ได้ ตัดขาดพระราชวงศ์ก็ได้ ขอมหาบพิตรโปรดเชื่อคําของพวกอาตมาเถิด จะฆ่าเขาเสียได้ในวันนี้ก็ควร ขอถวายพระพร.

ขึ้นชื่อว่าพระราชาทั้งหลาย ย่อมมีปรปักษ์ ดังนั้น ท้าวเธอจึงตกลงพระทัย ด้วยอํานาจถ้อยคําของพราหมณ์เหล่านั้น.

ฝ่ายพระโพธิสัตว์เที่ยวขออาหารไปในพระนคร เดินไปยังพระราชอุทยาน ปราศจากความสงสัยเพราะเป็นผู้ไม่มีความผิด นั่งบนแผ่นศิลาอันเป็นมงคล. สติระลึกไม่ได้เลยในเวลาเพียงครู่เดียว เพราะญาณที่สามารถระลึกได้ ๘๐ กัป คือ อดีต ๔๐ กัป อนาคต ๔๐ กัป ระลึกไม่ได้.

พระราชาไม่ให้คนอื่นล่วงรู้เสด็จไปด้วยพระองค์เอง ทรงเอาพระแสงดาบฟันพระมหาบุรุษ ซึ่งนั่งเผลอตัว เพราะระลึกไม่ได้ ขาด ๒ ท่อน. ฝนคือพืชโลหะที่ ๘ ฝนคือโคลนตมที่ ๙ ก็ตกลงในแว่นแคว้นของพระราชาพระองค์นั้น ฝน ๙ ชนิดตกลงในแว่นแคว้นของพระราชาแม้พระองค์นี้ด้วยประการฉะนี้. พระราชาพระองค์นั้นพร้อมทั้งบริษัท ก็บังเกิดในมหานรก.

 
  ข้อความที่ 63  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้า 174

ด้วยเหตุนั้น สังกิจจบัณฑิต จึงกล่าวว่า

อุปหจฺจ มนํ เมชฺโฌ มาตงฺคสฺมิํ ยสฺสสิเน สปาริสชฺโช อุจฺฉินฺโน เมชฺฌารฺํ ตทา อหุ.

พระเจ้าเมชฌะพร้อมทั้งบริษัททรงขาดคุณธรรม ทรงกระทบพระทัย ในเพราะมาตังคะฤษีผู้มีเกียรติยศ ป่าชื่อว่าเมชณะจึงได้มีมาแต่ครั้งนั้น.

พึงทราบว่าป่าเมชฌะกลายเป็นป่าไปด้วยประการฉะนี้. แต่ป่าเมชฌะนั้น ท่านเรียกว่า ป่ามาตังคะ เพราะอํานาจของฤษีชื่อมาตังคะ.

บทว่า ปฺหาปฏิภาณานิ คือปัญหาพยากรณ์.

บทว่า ปจฺจนีกาตพฺพํ ความว่า สําคัญว่า ควรทําให้เป็นข้าศึก คือเป็นเสมือนว่าถือว่าเป็นฝ่ายตรงข้าม.

บทว่า อนุวิจฺจการํ ท่านอธิบายว่า จงกระทําให้เป็นข้อที่พึงพิจารณา คือใคร่ครวญแล้วจึงทํา.

คําว่า สาธุ โหติ แปลว่า เป็นการดี.

พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงว่า ก็เมื่อคนเช่นท่านพบเรา ถึงเราว่าเป็นสรณะ ครั้นพบนิครนถ์แล้วก็ถึงนิครนถ์เป็นสรณะ คําครหาก็ย่อมจะเกิดขึ้นได้ว่า อุบาลีผู้นี้ถึงทุกคนที่ตนพบเห็นนั่นแลเป็นสรณะหรือ เพราะฉะนั้น การใคร่ครวญเสียก่อนแล้วทําจึงเป็นการดีสําหรับคนเช่นท่าน.

คําว่า ปฏากํ ปริหเรยฺยุํ ความว่า เขาว่าพวกนิครนถ์เหล่านั้น ได้สาวกเห็นปานนั้นแล้ว ก็ยกธง (โอ้อวด) เที่ยวป่าวประกาศว่า พระราชา อํามาตย์ของพระราชา หรือ เศรษฐีชื่อโน้นๆ เป็นสาวก ถึงเราเป็นสรณะ.

ถามว่า เพราะเหตุไร.

 
  ข้อความที่ 64  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้า 175

ตอบว่า เพราะว่า ความที่พวกเราเป็นใหญ่ จักปรากฏชัดแจ้ง ด้วยวิธีการอย่างนี้ และเพราะว่า ถ้าเขาจะพึงเกิดวิปปฏิสารเดือดร้อนสําคัญว่า เราถึงสรณะด้วยเหตุอะไร หรือเขาก็จะบรรเทาความเดือดร้อนรําคาญแม้อันนั้นว่าคนเหล่านั้นทั้งหมดส่วนมาก รู้ถึงความที่ตนมีการถึงสรณะแล้ว มาบัดนี้ ไม่กลับเป็นทุกข์ ในการที่จะถอนตนกลับไป. เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า ปฏากํ ปริหเรยยฺยุํ ดังนี้.

คําว่า โอปานภูตํ แปลว่า ตั้งอยู่เหนือบ่อน้ำที่จัดไว้.

คําว่า กุลํ คือ นิเวศน์ของท่าน.

คําว่า ทาตพฺพํ มฺเยฺยาสิ ความว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงโอวาทว่า เห็นคน ๑๐ คนบ้าง ๒๐ คนบ้าง ๖๐ คนบ้าง ผู้มาแล้ว อย่าพูดว่าไม่มี ให้เถิด อย่าตัดไทยธรรมสําหรับนิครนถ์เหล่านี้ ด้วยเพียงเหตุที่ถึงเราเป็นสรณะ ณ บัดนี้ แท้จริง ควรให้แก่พวกเขาที่มาถึงแล้ว โดยแท้.

คําว่า สุตเมตํ ภนฺเต ความว่า อุบาลีคฤหบดีทูลถามว่า ทรงได้ยินมาจากไหนพระเจ้าข้า. ตรัสตอบว่า จากสํานักของนิครนถ์ทั้งหลาย เขาว่านิครนถ์เหล่านั้นนั้น ประกาศในเรือนของสกุลทั้งหลายอย่างนี้ว่า พวกเรากล่าวว่า ควรให้แก่คนใดคนหนึ่งที่มาถึงแล้ว ส่วนพระสมณโคดมกล่าวว่า ควรให้ทานแก่เราเท่านั้น ฯลฯ ทานที่ให้แก่สาวกพวกอื่นไม่มีผลมากเลย พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงหมายเอาคํานั้น จึงตรัสว่า อยํ คหปติ สุตเมตํ ดังนี้.

คําว่า อนุปุพฺพิกถํ คือกถาที่กล่าวตามลําดับอย่างนี้ คือ ศีลลําดับจากทาน สวรรค์ลําดับจากศีล โทษของกามทั้งหลายลําดับจากสวรรค์.

ในอนุบุพพิกถานั้น คําว่า ทานกถํ คือ กถาที่ประกอบด้วยคุณ คือ ทาน เป็นต้นอย่างนี้ว่า ธรรมดาว่า ชื่อว่าทานนี้ เป็นเหตุแห่งสุขทั้งหลาย, เป็นมูลรากของสมบัติทั้งหลาย เป็นที่ตั้งแห่งโภคสมบัติทั้งหลาย, เป็นที่ป้องกัน ที่เร้น ที่ไป ที่ไปเบื้องหน้าของ

 
  ข้อความที่ 65  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้า 176

คนที่เดินทางไม่เรียบ ที่พึ่งพา ที่ตั้ง ที่หน่วงเหนี่ยว ที่ป้องกัน ที่เร้น ที่ไป ที่ไปเบื้องหน้า เช่นกับทาน ไม่มีในโลกนี้และโลกอื่น. ด้วยว่า ทานนี้เป็นเช่นกับสิงหาสน์ (ที่นั่งรูปสิงห์) ทําด้วยรัตนะ เพราะอรรถว่า เป็นที่พึ่งพา. เป็นเช่นกับแผ่นดินผืนใหญ่ เพราะอรรถว่าเป็นที่ตั้ง. เป็นเช่นเดียวกับเชือกโยง เพราะอรรถว่า เป็นที่หน่วงเหนี่ยว. แท้จริง ทานนี้ เป็นประดุจนาวา เพราะอรรถว่า ข้ามทุกข์ได้. เป็นประดุจผู้องอาจในสงคราม เพราะอรรถว่า โล่งใจ เป็นประดุจพระนครที่ปรับปรุงดีแล้ว เพราะอรรถว่า ป้องกันภัยได้. เป็นประดุจปทุม เพราะอรรถว่า อันมลทินคือความตระหนี่เป็นต้นไม่ซึมเข้าไป. เป็นประดุจอัคคี เพราะอรรถว่า เผามลทินเหล่านั้น. เป็นประดุจงูพิษ เพราะอรรถว่า ต้องนั่งไกลๆ. เป็นประดุจราชสีห์ เพราะอรรถว่า ไม่หวาดกลัว. เป็นประดุจช้าง เพราะอรรถว่ามีกําลัง. เป็นประดุจพญาโคเผือก เพราะอรรถว่าสมมติกันว่าเป็นมิ่งมงคลยิ่ง. เป็นประดุจพญาม้าที่ชื่อวลาหก เพราะอรรถว่าให้ไปถึงแผ่นดินอันเกษม (ปลอดภัย).

ธรรมดาว่า ทานนั้นเป็นทางที่เราดําเนินแล้ว เป็นวงศ์ของเราเท่านั้น เป็นมหายัญของเวลามพราหมณ์ เป็นมหายัญของมหาโควินทศาสดา เป็นมหายัญของพระเจ้ามหาสุทัศนจอมจักรพรรดิ เป็นมหายัญของพระเวสสันดร เป็นมหายัญเป็นอเนก ที่เราผู้บําเพ็ญบารมี ๑๐ ทัศ บําเพ็ญมาพรั่งพร้อมแล้ว เป็นทานที่เรา สมัยที่เป็นกระต่าย ยอมทอดตัวลงในกองเพลิงที่ลุกโชน ยึดจิตใจของพวกยาจกที่มาถึงแล้วได้ แท้จริง ทานย่อมให้สัคคสมบัติในโลก ให้มารสมบัติ ให้พรหมสมบัติ ให้จักรพรรดิสมบัติ ให้สาวกบารมีญาณ ปัจเจกโพธิญาณ อภิสัมโพธิญาณ ก็บุคคลเมื่อให้ทาน ย่อมอาจสมาทานศีลได้ เพราะเหตุนั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสศีลกถาไว้ในลําดับจากทานนั้น.

คําว่า สีลกถํ คือ กถาที่ประกอบด้วยคุณคือศีล เป็นต้น อย่าง

 
  ข้อความที่ 66  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้า 177

นี้ว่า ธรรมดาว่าศีลนี้ เป็นที่พึ่งพา ที่ตั้ง ที่หน่วงเหนี่ยว ที่ป้องกัน ที่เร้น ที่ไป ที่ไปเบื้องหน้า ธรรมดาว่า ศีลนี้เป็นวงศ์ของเรา เราบําเพ็ญศีลบริบูรณ์ในอัตภาพทั้งหลายไม่มีที่สุด คือ ครั้งเป็นพญานาคชื่อ สังขปาละ ครั้งเป็นพญานาคชื่อ ภูริทัตตะ ครั้งเป็นพญานาคชื่อ จัมเปยยะ ครั้งเป็นพญานาคชื่อ สีลวะ ครั้งเป็นพญาช้างผู้เลี้ยงมารดา ครั้งเป็นพญาช้างชื่อ ฉัททันตะ แท้จริงที่พึ่งอาศัยแห่งสมบัติทั้งหลายในโลกนี้และโลกอื่น เช่นกับศีล ที่ตั้ง ที่หน่วงเหนี่ยว ที่ป้องกัน ที่เร้น ที่ไป ที่ไปเบื้องหน้าเช่นกับศีลไม่มี เครื่องประดับเช่นกับเครื่องประดับคือศีลไม่มี ดอกไม้เช่นกับดอกไม้คือศีลไม่มี กลิ่นเช่นกับกลิ่นคือศีลไม่มี โลกแม้ทั้งเทวโลกมองดูผู้ประดับด้วยเครื่องประดับคือศีล ผู้มีดอกไม้คือศีลเป็นเครื่องประดับ ผู้อันกลิ่นคือศีลซึมซาบแล้ว ย่อมไม่รู้สึกอิ่ม เพื่อจะทรงแสดงว่า ก็บุคคลอาศัยศีลนี้ ย่อมได้สวรรค์นี้ดังนี้ จึงตรัสสัคคกถาลําดับจากศีลนั้น.

คําว่า สคฺคกถํ ได้แก่ กถาที่ประกอบด้วยคุณคือสวรรค์เป็นต้น อย่างนี้ว่า ธรรมดาว่า สวรรค์นี้ น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ ในสวรรค์นั้น มีการเล่นเป็นนิตย์ ได้สมบัติทั้งหลายเป็นนิตย์ เทวดาชั้นจาตุมหาราชเสวยทิพยสุขทิพยสมบัติ ๙ โกฏิปี ชั้นดาวดึงส์ ๓ โกฏิปี และ ๖ โกฏิปี. พระโอษฐ์ของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ผู้กําลังตรัสถึงสวรรค์สมบัติก็ไม่มีเพียงพอ สมจริงดังคําที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้เป็นต้นว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราจะพึงกล่าวสัคคกถาด้วยปริยายเป็นอเนก ดังนี้.

พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อทรงประเล้าประโลมด้วยสัคคกถาอย่างนี้แล้ว เป็นประดุจทรงประดับช้างแล้ว ตัดงวงของช้างนั้นเสียอีก ทรงแสดงว่าสวรรค์แม้นี้ ไม่เที่ยง ไม่ยั่งยืน ไม่ควรทําความกําหนัดด้วยอํานาจความพอใจในสวรรค์นั้น จึงตรัสโทษ ความเลวทราม ความเศร้าหมอง ของกามทั้งหลายโดยนัยเป็นต้นว่า

 
  ข้อความที่ 67  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้า 178

กามทั้งหลาย มีรสอร่อยน้อย มีทุกข์มาก มีความคับแค้นมาก โทษในกามเหล่านั้นมียิ่งขึ้น.

ในคําเหล่านั้น คําว่า อาทีนโว แปลว่า โทษ.

คําว่า โอกาโร แปลว่า ต่ํา ทราม.

คําว่า สงฺกิเลโส คือ ความเศร้าหมองในสังสารวัฏฏ์ของสัตว์ทั้งหลาย เพราะกามเหล่านั้น เหมือนที่ตรัสว่า ผู้เจริญ สัตว์ทั้งหลายย่อมเศร้าหมองหนอ.

พระผู้มีพระภาคเจ้าครั้นทรงขู่ด้วยโทษของกามอย่างนี้แล้ว จึงทรงประกาศอานิสงส์ในเนกขัมมะ การหลีกออกจากกาม.

คําว่า กลฺลจิตฺตํ คือ จิตไม่เสีย.

คําว่า สามุกฺกํสิกา คือ ที่ทรงยกขึ้นเอง คือที่ทรงยกขึ้น ถือเอาด้วยพระองค์เอง อธิบายว่า ที่ทรงเห็นด้วยพระสยัมภูญาณไม่ทั่วไปแก่ผู้อื่น.

ถามว่า นั่นคืออะไร.

ตอบว่า คือ อริยสัจเทศนา. ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค.

คําว่า วิรชํ วีตมลํ ความว่า ที่ชื่อว่า ปราศจากธุลี เพราะไม่มีธุลีคือราคะเป็นต้น ที่ชื่อว่าปราศจากมลทิน เพราะปราศจากมลทินคือราคะเป็นต้น.

คําว่า ธมฺมจกฺขุํ นี้เป็นชื่อของมรรค ๓ ในพรหมายุสูตร ข้างหน้าและอาสวักขยญาณในจุลลราหุโลวาทสูตร. ส่วนในที่นี้ ทรงประสงค์เอาโสดาปัตติมรรค.

เพื่อทรงแสดงอาการเกิดขึ้นของธรรมจักษุนั้น จึงตรัสว่า สิ่งใดสิ่งหนึ่ง มีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งหมดก็มีความดับไปเป็นธรรมดา. ก็ธรรมจักษุนั้น ทํานิโรธ ให้เป็นอารมณ์แล้ว แทงตลอดสังขตธรรมทั้งปวง ด้วยอํานาจกิจนั่นแลเกิดขึ้น. อริยสัจธรรมอันผู้นั้นเห็นแล้ว เหตุนั้นผู้นั้นชื่อว่า มีธรรมอันเห็นแล้ว.

แม้ในบทที่เหลือก็นัยนี้เหมือนกัน. ความสงสัยอันผู้นั้นข้ามเสียแล้ว เหตุนั้น ผู้นั้นชื่อว่า มีความสงสัยอันข้ามเสียแล้ว. คํากล่าวว่า อย่างไร ของผู้นั้น ไปปราศแล้ว เหตุนั้น ผู้นั้น ชื่อว่ามีคํากล่าวว่าอย่างไรไปปราศแล้ว. ผู้นั้นถึงแล้วซึ่งความแกล้วกล้า เหตุนั้นผู้นั้นชื่อว่าถึงความแกล้วกล้า. ผู้นั้นไม่มีผู้อื่นเป็น

 
  ข้อความที่ 68  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้า 179

ปัจจัยในคําสอนของพระศาสดา คือ ไม่เป็นไปในคําสอนของพระศาสดานั้นด้วยการเชื่อผู้อื่น เหตุนั้น ผู้นั้นชื่อว่า ผู้ไม่มีผู้อื่นเป็นปัจจัย.

อุบาลีคฤหบดีรับเอาด้วยจิต เพลิดเพลินแล้ว สรรเสริญด้วยวาจา บันเทิงใจแล้ว.

คําว่า อาวรามิ แปลว่า กั้น ปิด. คําว่า อนาวฏํ ได้แก่ ไม่ห้าม คือ เปิดประตูแล้ว.

คําว่า อสฺโสสิ โข ทีฆตปสฺสี ความว่า ได้ยินว่า ทีฆตปัสสีนิครนถ์นั้น ตั้งแต่อุบาลีคฤหบดีนั้นไปแล้ว ก็เที่ยวเงี่ยหูฟังว่า คฤหบดีผู้บัณฑิต กับพระสมณโคดมผู้ถึงพร้อมด้วยทัศนะมีถ้อยคํานําสัตว์ออกจากทุกข์จักเลื่อมใส แม้เพราะเหตุอุบาลีบัณฑิตนั้น จักเลื่อมใสเพราะธรรมกถา ครั้นเลื่อมใสได้แล้ว จักถึงสรณะเพราะเหตุนั้น หรือ ไม่ถึงสมณะเพราะเหตุนั้นก่อนหนอ. เพราะฉะนั้น ทีฆตปัสสีนิครนถ์ได้ฟังเป็นครั้งแรกทีเดียว.

คําว่า เตนหิ สมฺม ความว่า ทีฆตปัสสีนิครนถ์ ถูกความเศร้าใจอย่างแรงครอบงํา แม้ได้ยินคําว่า จงหยุดอยู่ในที่นั้นนั่นแล แต่กําหนดใจความไม่ได้ จึงเจรจากับคนเฝ้าประตูอยู่นั่นแหละ.

คําว่า มชฺฌิมายํ ทฺวารสาลายํ ความว่า เรือนหลังใดมี ๗ ซุ้มประตู ซุ้มประตูที่ ๔ ของเรือนหลังนั้น นับแต่ซุ้มประตูในทั้งหมด ชื่อว่า ศาลาใกล้ประตูกลาง เรือนหลังใดมี ๕ ซุ้มประตู ซุ้มประตูที่ ๓ ของเรือนหลังนั้น ชื่อว่าศาลาใกล้ประตูกลาง เรือนหลังใดมี ๓ ซุ้มประตู ซุ้มประตูที่ ๒ ของเรือนหลังนั้น ชื่อว่า ศาลาใกล้ประตูกลาง ส่วนเรือนที่มีซุ้มประตูเดียว ซุ้มที่อาศัยเสามงคลตรงกลาง ชื่อว่า ศาลาใกล้ประตูกลาง แต่เรือนของอุบาลีคฤหบดีนั้น มีซุ้มประตู ๗ ซุ้ม. ท่านกล่าวว่า ๕ ซุ้มก็มี.

คําทั้งหมด มีคําว่า อคฺคํ เป็นต้น เป็นไวพจน์ของกันและกัน.

ในคําว่า ยํ สุทํ นี้ คําว่า ยํ หมายถึงนาฏบุตรใด. คําว่า สุทํ เป็นเพียง

 
  ข้อความที่ 69  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้า 180

นิบาต.

คําว่า ปริคฺคเหตฺวา ความว่า เอาผ้าห่มผืนนั้นนั่นแหละคลุมท้องไว้.

คําว่า นิสีทาเปติ ความว่า เชิญให้นั่งว่า ค่อยๆ อาจารย์ ค่อยๆ อาจารย์. ประหนึ่งวางหม้อน้ำมันขนาดใหญ่ ฉะนั้น.

คําว่า ทตฺโตสิ ความว่า ท่านเกิดโง่ไปแล้วหรือ.

คําว่า ปฏิมุกฺโก ความว่า ใส่ที่ศีรษะไว้ (สวม).

คําว่า อณฺฑหารโก เป็นต้น แม้เป็นคําหยาบ ทีฆตปัสสีนิครนถ์ก็กําหนดไม่ได้ว่า พูดคํานี้หยาบ ก็พูดออกไป เพราะเกิดความเศร้าใจอย่างแรงเพราะเหตุอุบาลีกลายเป็นอื่น.

คําว่า ภทฺทิกา ภนฺเต อาวฏฺฏนี ความว่า นิครนถ์พูดหมายถึงมายานั่นแล อุบาลีบรรลุโสดาปัตติมรรค แทงตลอดด้วยตนเอง.

คําว่า เตนหิ นี้เป็นเพียงศัพท์นิบาต ความว่า ท่านผู้เจริญ ข้าพเจ้าจักทําคําเปรียบเทียบแก่ท่าน. อีกอย่างหนึ่ง เป็นคําบอกเหตุ. ท่านอธิบายว่าคําสั่งสอนของพวกท่าน มิใช่ธรรมนําสัตว์ออกจากทุกข์ ด้วยเหตุอันใดข้าพเจ้าจักทําคําเปรียบเทียบแก่ท่าน ด้วยเหตุนั้น.

คําว่า อุปวิชฺา แปลว่า ใกล้เวลาคลอด.

คําว่า มกฺกฏจฺฉาปกํ แปลว่า ลูกลิง.

คําว่า วิกิณิตฺวา อาเนหิ ความว่า จงให้มูลค่านํามา (ซื้อมา). แท้จริง ในท้องตลาด พ่อค้าแม่ค้า ย่อมขายของเล่นสําหรับลิง ทั้งที่มีวิญญาณ ทั้งที่ไม่มีวิญญาณ ภริยาสาวของพราหมณ์แก่นั้น พูดหมายถึงของเล่นนั้น.

คําว่า รชิตํ ความว่า เราต้องการของนี้ที่เขาเอาสีย้อม ย้อมไล้ด้วยสีเหลืองหนาๆ ให้.

คําว่า อาโกฏฺฏิตปจฺจาโกฏฺฏิตํ ความว่า ที่เขาทุบกลับไปกลับมาบ่อยๆ.

คําว่า อุภโต ภาควิมฏฺฐํ ความว่า ที่มีผิวอันเขาขัดเกลี้ยงเกลาดีทั้งสองข้างแล้วด้วยไม้ไผ่, มณีและหิน.

คําว่า รงฺคกฺขโม หิ โข ความว่า ของเล่นทั้งที่มีวิญญาณ ทั้งที่ไม่มีวิญญาณ ย่อมดูดสีย้อม เพราะฉะนั้นจึงกล่าวอย่างนี้.

คําว่า โน อาโกฏฺฏนกฺขโม ความว่า เมื่อของเล่นมีวิญญาณ เขาเอาวางลงที่แผ่นกระดานสําหรับทุบ ทุบ

 
  ข้อความที่ 70  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้า 181

ที่ท้องก่อน ท้องก็แตก ขี้ก็ไหลออก ทุบที่หัว หัวก็แตก มันสมองก็ไหลออก ของเล่นที่ไม่มีวิญญาณ ก็แตกเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย เพราะฉะนั้น จึงกล่าวอย่างนี้.

คําว่า วิมชฺชนกฺขโม ความว่า ของเล่นที่มีวิญญาณ ที่เขาขัดด้วยมณีและหิน ก็ไร้ขนไร้ผิว ของเล่นที่ไม่มีวิญญาณ ก็แตกละเอียดจึงกล่าวอย่างนี้.

คําว่า รงฺคกฺขโม หิ โข พาลานํ ความว่า ผู้ควรแก่การย้อม ย่อมให้เกิดเพียงราคะ เป็นที่รักของเหล่าคนเขลา มีความรู้ทราม ส่วนวาทะของนิครนถ์ก็ดี กถามรรคอื่นๆ ที่ไร้ประโยชน์เช่นเรื่องภารตยุทธและรามายนะเป็นต้นก็ดี ไม่เป็นที่รักของเหล่าบัณฑิตเลย.

คําว่า โน อนุโยคกฺขโม โน วิมชฺชนกฺขโม ความว่า ไม่ทนการประกอบตาม หรือการพิจารณาย่อมว่างเปล่า เหมือนฝัดแกลบหาข้าวสาร และเหมือนหาแก่นไม้ในต้นกล้วย.

คําว่า รงฺคกฺขโม เจว ปณฺฑิตานํ ความว่า แท้จริง กถาที่ว่าด้วยอริยสัจ ๔ ย่อมเป็นที่รักของเหล่าบัณฑิต ฟังอยู่ถึงร้อยปี ก็ไม่รู้สึกอิ่ม. เพราะฉะนั้น จึงกล่าวอย่างนี้.

ก็พุทธวจนะ ย่อมลึกซึ้งอย่างเดียวเหมือนมหาสมุทร โดยประการที่หยั่งลงได้ เพราะเหตุนั้นอุบาลีคฤหบดีจึงกล่าวว่า อนุโยคกฺขโม จ วิมชฺชนกฺขโม จ.

คําว่า สุณาหิ ความว่า อุบาลีคฤหบดีเริ่มกล่าวพระคุณของพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ข้าพเจ้าเป็นสาวกของพระศาสดาพระองค์ใด โปรดจงฟังพระคุณทั้งหลาย ของพระศาสดาพระองค์นั้น.

บัณฑิตเรียกว่า ธีระ ในบทว่า ธีรสฺส. พึงทราบความสัมพันธ์ในบททั้งปวงอย่างนี้ว่า ปัญญา ความรอบรู้ ฯลฯ ความเห็นชอบอันใด ข้าพเจ้าเป็นสาวกของพระพุทธเจ้าผู้ทรงประกอบด้วยปัญญาอันนั้น ผู้ทรงเป็นบัณฑิต ฉลาดในธาตุอายตนะ ปฏิจจสมุปบาท ฐานะและอฐานะ พระพุทธเจ้าพระองค์นั้น ทรงเป็นพระศาสดาของข้าพเจ้า.

คําว่า ปภินฺนขีลสฺส แปลว่า ผู้มี

 
  ข้อความที่ 71  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้า 182

กิเลสดุจตะปูตรึงใจอันทําลายได้แล้ว. สภาวะเหล่าใด ชนะแล้ว ชนะอยู่ จักชนะซึ่งปุถุชนทั้งปวง เหตุนั้น สภาวะเหล่านั้น ชื่อว่าผู้ชนะ.

ถามว่า สภาวะเหล่านั้นคืออะไร.

ตอบว่า คือ มัจจุมาร กิเลสมาร และเทวปุตตมาร มารผู้ชนะเหล่านั้น อันพระพุทธเจ้าพระองค์นั้นทรงชนะแล้ว เพราะเหตุนั้น พระพุทธเจ้าพระองค์นั้น จึงชื่อว่า ผู้มีมารอันทรงชนะแล้ว คือพระผู้มีพระภาคเจ้าผู้มีมารผู้ชนะอันทรงชนะแล้วพระองค์นั้น.

คําว่า อนีฆสฺส แปลว่า ผู้ไม่มีทุกข์ ทั้งทุกข์ที่เกิดจากกิเลส ทั้งทุกข์ที่เป็นวิบาก.

คําว่า สุสมจิตฺตสฺส คือ ผู้มีจิตสม่ําเสมอด้วยดีในพระเทวทัต ช้างชื่อ ธนปาลกะ พระองคุลิมาล และพระราหุลเถระเป็นต้น.

คําว่า พุทฺธสีลสฺส แปลว่า ผู้มีอาจาระ ความประพฤติอันเจริญแล้ว.

คําว่า สาธุปฺสฺส แปลว่า ผู้มีปัญญาดี.

คําว่า วิสมนฺตรสฺส แปลว่า ผู้ข้ามที่อันไม่สม่ําเสมอมีราคะเป็นต้น ยืนหยัดอยู่แล้ว.

คําว่า วิมลสฺส แปลว่า ผู้มีมลทิน มีราคะเป็นต้น ไปปราศจากแล้ว.

คําว่า ตุสิตสฺส แปลว่า ผู้มีจิตยินดีแล้ว.

คําว่า วนฺตโลกามิสสฺส คือ ผู้มีกามคุณอันคายเสียแล้ว.

คําว่า มุทิตสฺส คือ ผู้พลอยยินดีแล้ว ด้วยอํานาจวิหารธรรม คือ มุทิตา. อีกอย่างหนึ่ง คํานี้ อุบาลีคฤหบดี กล่าวซ้ำนั่นเอง. เป็นความจริง อุบาลีคฤหบดีกล่าวพระคุณแม้อย่างเดียวอยู่บ่อยๆ โดยความเสื่อมใสนั่นแล.

คําว่า กตสมณสฺส แปลว่า ผู้มีคุณเครื่องเป็นสมณะอันทรงกระทําแล้ว อธิบายว่า ทรงบรรลุที่สุดของสมณธรรม.

คําว่า มนฺชสฺส แปลว่า ผู้เป็นสัตว์ผู้หนึ่ง ด้วยอํานาจโวหารโลก. อุบาลีคฤหบดีกล่าวซ้ำอีกว่า ผู้เป็นนระ (คน) เมื่อเขากล่าวโดยประการอื่น พระคุณ ๑๐ ประการ กล่าวด้วยคาถาหนึ่งๆ ย่อมไม่พอ.

คําว่า เวนยิกสฺส แปลว่า ผู้นําของสัตว์ทั้งหลาย.

คําว่า รุจิรธมฺมสฺส แปลว่า ผู้มีธรรมสะอาด.

คําว่า

 
  ข้อความที่ 72  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้า 183

ปภาสกสฺส แปลว่า ผู้กระทําแสงสว่าง.

คําว่า วีรสฺส คือ ถึงพร้อมด้วยความเพียร.

คําว่า นิสภสฺส คือ บรรดาโค ชั้นอุสภะ ชั้นวสภะเป็นโคชั้นนิสภะ ด้วยอรรถว่า ไม่มีผู้เทียบได้ในที่ทั้งปวง.

คําว่า คมฺภีรสฺส แปลว่า ทรงมีพระคุณลึกซึ้ง หรือผู้ทรงลึกซึ้งด้วยพระคุณทั้งหลาย.

คําว่า โมนปตฺตสฺส คือ ผู้บรรลุญาณ.

ญาณํ ความรู้ ชื่อว่า เวท ในคําว่า เวทสฺส. ผู้ทรงเพียบพร้อมด้วยความรู้ที่เรียกว่าเวทนั้น.

คําว่า ธมฺมฏฺสฺส แปลว่า ผู้ตั้งอยู่ในธรรม.

คําว่า สํวุตตฺสฺส ผู้มีตนสํารวมแล้ว คือ ผู้มีตนอันปิดแล้ว.

คําว่า นาคสฺส แปลว่า ผู้ประเสริฐ ด้วยเหตุ ๔ ประการ.

คําว่า ปนฺตเสนสฺส แปลว่า ผู้มีที่นอนและที่นั่งอันสงัด.

คําว่า ปฏิมนฺตกสฺส แปลว่ ผู้เพียบพร้อมด้วยปัญญา ตอบโต้พระเวท.

ความรู้เรียกว่า โมนะ ในคําว่า โมนสฺส ทรงเพียบพร้อมด้วยความรู้นั้น หรือผู้มีกิเลสอันขจัดได้แล้ว.

คําว่า ทนฺตสฺส คือ ผู้หมดพยศ.

คําว่า อิสิสตฺตมสฺส คือ ทรงเป็นฤษีองค์ที่ ๗ นับต่อจากฤษี ๖ พระองค์ มีวิปัสสีฤษีเป็นต้น.

คําว่า พฺรหฺมสตฺตสฺส แปลว่า ผู้เป็นสัตว์ประเสริฐ.

คําว่า นหาตกสฺส แปลว่า ผู้มีกิเลสอันล้างแล้ว.

คําว่า ปทกรณสฺส (๑) คือ ผู้ฉลาดในการรวบรวมอักษรทั้งหลายแล้วเอามาทําบทคาถา (ร้อยกรอง).

คําว่า วิทิตเวทสฺส แปลว่า ผู้มีญาณอันรู้แจ้ง.

คําว่า ปุรินฺททสฺส แปลว่า ผู้ประทานธรรมทานก่อนผู้อื่นทั้งหมด.

คําว่า สกฺกสฺส แปลว่า ผู้สามารถ.

คําว่า ปตฺติปตฺตสฺส แปลว่า ผู้บรรลุคุณที่ควรบรรลุ.

คําว่า เวยฺยากรณสฺส แปลว่า ผู้แสดงเนื้อความได้กว้างขวาง.

ความจริง บทว่า พฺยากตนฺนาเมตํ ไม่มี. ความของบททั้งปวงพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้แล้ว.

คําว่า วิปสฺสิสฺส แปลว่า ผู้ทรงเห็นแจ้ง.

คําว่า อนภิณตสฺส แปลว่า มิใช่ผู้สาธยายมนต์.

คําว่า


(๑) บาลี อุปาลิวาทสูตร เป็น ปทกสฺส.

 
  ข้อความที่ 73  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้า 184

โน อปณตสฺส หมายถึง ผู้ไม่ยืนตาม ไม่เดินตาม คือ มีจิตไม่ไปตามกิเลสทั้งหลาย.

คําว่า อสตฺตสฺส คือ ไม่ข้อง.

แผ่นดินเรียกว่า ภูริ ในคําว่า ภูริปฺสฺส อธิบายว่า ผู้เพียบพร้อมด้วยปัญญาอันไพบูลย์ ใหญ่ กว้าง เสมอแผ่นดินนั้น.

คําว่า มหาปฺสฺส คือ เพียบพร้อมด้วยปัญญาอันใหญ่.

คําว่า อนูปลิตฺตสฺส คือ ผู้อันเครื่องฉาบทา คือ ตัณหาและทิฏฐิ ไม่ฉาบทาแล้ว.

คําว่า อาหุเนยฺยสฺส คือ ผู้ควรรับของบูชา.

พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงพระนามว่า ยักขะ ในคําว่า ยกฺขสฺส ก็เพราะอรรถว่า ทรงแสดงอานุภาพได้ หรือเพราะอรรถว่า อันใครๆ มองไม่เห็น (ไม่ปรากฏพระองค์) เพราะเหตุนั้นอุบาลีคฤหบดีจึงกล่าวว่า ยกฺขสฺส.

คําว่า มหโต แปลว่า ใหญ่.

คําว่า ตสฺส สาวโกมฺหมสฺมิ ความว่า ข้าพเจ้าเป็นสาวกของพระศาสดา ผู้มีพระคุณมีประการดังนั้น พระองค์นั้น ปฏิสัมภิทา ปัญญาแตกฉานของอุบาสกมาถึงด้วยโสดาปัตติมรรคนั่นแล.

ดังนั้น อุบาลีคฤหบดี ดํารงอยู่ในวิสัยแห่งปัญญาแตกฉานแล้ว เมื่อจะกล่าวพระคุณของพระทศพลในการละกิเลสร้อยบท จึงวิสัชนาความของปัญหาที่ว่า ท่านคฤหบดี พวกเรา (พวกนิครนถ์นาฏบุตร) จะทรงจําตัวท่านว่าเป็นสาวกของใคร.

คําว่า กทา สฺุฬฺหา แปลว่า รวบรวมไว้เมื่อไร. ได้ยินว่า นิครนถ์นาฏบุตรนั้น คิดอย่างนี้ว่า อุบาลีคฤหบดีนี้ไปสํานักพระสมณโคดมมาเดี๋ยวนี้นี่เอง เขารวบรวมคุณเหล่านั้นไว้ตั้งแต่เมื่อไรกัน เพราะฉะนั้น นิครนถ์นาฏบุตรจึงกล่าวอย่างนี้.

คําว่า วิจิตฺตมาลํ คนฺเถยฺย ความว่า นายช่างทําดอกไม้ หรือลูกมือนายช่างทําดอกไม้ พึงร้อยระเบียบดอกไม้อันวิจิตร ต่างโดยเป็นระเบียบดอกไม้ มีขั้วเดียวกันเป็นต้น ด้วยความเป็นคนขยันเองบ้าง ด้วยความที่ดอกไม้ทั้งหลายมีสีต่างๆ กันบ้าง.

ในคําว่า เอวเมว โย ภนฺเต

 
  ข้อความที่ 74  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้า 185

นี้ พึงเห็นการรวบรวมการพรรณนาพระคุณมีประการต่างๆ ของพระผู้มีพระภาคเจ้าเท่าขุนเขาสิเนรุ เหมือนกองดอกไม้กองใหญ่ ในบรรดาดอกไม้ทั้งหลายนานาชนิด. อุบาลีคฤหบดีเปรียบเหมือนนายช่างทําดอกไม้ผู้ฉลาด การร้อยกรองพระคุณอันวิจิตรของพระตถาคตเจ้าของคฤหบดี เปรียบเหมือนการร้อยกรองระเบียบดอกไม้อันวิจิตรของนายช่างทําดอกไม้.

คําว่า อุณฺหํ โลหิตํ มุขโต อุคฺคฺฉิ ความว่า นิครนถ์นาฏบุตรนั้น ทนดูสักการะของพระผู้มีพระภาคเจ้าไม่ได้ ก็คิดมากว่า ตั้งแต่พรุ่งนี้ เราก็พาคณะ ๕๐ - ๖๐ คน เข้าไปบ้านเขา บริโภคอาหารไม่ได้ หม้อข้าวของเราแตกเสียแล้ว. ครั้งนั้น นิครนถ์นาฏบุตรนั้น ก็เกิดความโศกอย่างแรง เพราะการแปรเปลี่ยนของผู้ทํานุบํารุง. ความจริงสัตว์เหล่านี้ คิดเพื่อตนอย่างเดียว.

เมื่อความโศกนั้น เกิดแก่นิครนถ์นาฏบุตรนั้นแล้ว ความร้อนภายในก็มี โลหิตก็ละลาย. โลหิตนั้นถูกกองลมใหญ่พัดดันขึ้นก็พลุ่งออกจากปาก ประมาณบาตรหนึ่ง เหมือนน้ำย้อมที่ใส่ลงในหม้อ. ก็สัตว์จํานวนน้อย สํารอกโลหิตที่คั่งออกแล้ว ยังอาจมีชีวิตอยู่ได้. นิครนถ์คุกเข่า (เข่าอ่อน) ล้มลงในที่นั้นนั่นเอง.

พนักงานคานหาม ก็นํานิครนถ์นาฏบุตรนั้นออกนอกพระนครพาไปด้วยคันหาม ๕ คน พลันมาถึงนครปาวา. ต่อมาไม่นานนัก นิครนถ์นาฏบุตรก็ทํากาละ (ตาย) ณ นครปาวา.

พระธรรมเทศนาในพระสูตรนี้ ก็สําเร็จลงด้วยอํานาจบุคคลผู้เป็นอุคฆฏิตัญูแล.

จบอรรถกถาอุปาลิวาทสูตรที่ ๖