พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๙. พหุเวทนิยสูตร ว่าด้วยช่างไม้ชื่อปัญจกังคะ

 
บ้านธัมมะ
วันที่  28 ส.ค. 2564
หมายเลข  36064
อ่าน  465

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้า 215

๙. พหุเวทนิยสูตร

ว่าด้วยช่างไม้ชื่อปัญจกังคะ


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 20]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้า 215

๙. พหุเวทนิยสูตร

ว่าด้วยช่างไม้ชื่อปัญจกังคะ

[๙๗] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้.

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ เชตวนาราม ของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี ครั้งนั้น นายช่างไม้ชื่อ ปัญจกังคะ เข้าไปหาท่านพระอุทายี นมัสการแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง.

กถาว่าด้วยเวทนา

[๙๘] นายช่างไม้ชื่อปัญจกังคะ นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง แล้วได้กล่าวกะท่านพระอุทายีว่า ท่านพระอุทายี พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเวทนาไว้เท่าไร ท่านพระอุทายีตอบว่า ดูก่อนคฤหบดี พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเวทนาไว้ ๓ ประการ คือ สุขเวทนา ๑ ทุกขเวทนา ๑ อทุกขมสุขเวทนา ๑ ดูก่อนคฤหบดี พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเวทนาไว้ ๓ ประการนี้แล.

ป. ข้าแต่ท่านพระอุทายี พระผู้มีพระภาคเจ้าไม่ได้ตรัสเวทนาไว้ ๓ ประการ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเวทนาไว้ ๒ ประการ คือ สุขเวทนา ๑ ทุกขเวทนา ๑ เพราะอทุกขมสุขเวทนา พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ในสุขอันสงบ อันประณีตแล้ว.

ท่านพระอุทายีได้กล่าวเป็นครั้งที่ ๒ ว่า ดูก่อนคฤหบดี พระผู้มีพระภาคเจ้าไม่ได้ตรัสเวทนาไว้ ๒ ประการ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเวทนาไว้ ๓ ประการ คือ สุขเวทนา ๑ ทุกขเวทนา ๑ อทุกขมสุขเวทนา ๑ ดูก่อนคฤหบดี พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเวทนาไว้ ๓ ประการนี้แล.

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้า 216

นายช่างไม้ชื่อปัญจกังคะก็ได้กล่าวยืนคําเป็นครั้งที่ ๒ ว่า ข้าแต่ท่านพระอุทายี พระผู้มีพระภาคเจ้าไม่ได้ตรัสเวทนาไว้ ๓ ประการ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเวทนาไว้ ๒ ประการ คือ สุขเวทนา ๑ ทุกขเวทนา ๑ เพราะอทุกขมสุขเวทนา พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ในสุขอันสงบ อันประณีตแล้ว.

ท่านพระอุทายีได้กล่าวเป็นครั้งที่ ๓ ว่า ดูก่อนคฤหบดี พระผู้มีพระภาคเจ้าไม่ได้ตรัสเวทนาไว้ ๒ ประการ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเวทนาไว้ ๓ ประการ คือ สุขเวทนา ๑ ทุกขเวทนา ๑ อทุกขมสุขเวทนา ๑ ดูก่อนคฤหบดี พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสเวทนาไว้ ๓ ประการนี้แล.

นางช่างไม้ชื่อปัญจกังคะได้กล่าวเป็นครั้งที่ ๓ ว่า ท่านพระอุทายี พระผู้มีพระภาคเจ้าไม่ได้ตรัสเวทนาไว้ ๓ ประการ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเวทนาไว้ ๒ ประการ คือ สุขเวทนา ๑ ทุกขเวทนา ๑ เพราะอทุกขมสุขเวทนา พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสไว้ในสุขอันสงบ อันประณีตแล้ว.

ท่านพระอุทายีไม่สามารถจะให้นายช่างไม้ชื่อปัญจกังคะยินยอมได้ นายช่างไม้ชื่อปัญจกังคะก็ไม่สามารถจะให้ท่านพระอุทายียินยอมได้.

[๙๙] ท่านพระอานนท์ได้สดับถ้อยคําเจรจาของท่านพระอุทายีกับนายช่างไม้ชื่อปัญจกังคะ จึงเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าถึงที่ประทับ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ได้กราบทูลถ้อยคําเจรจาของท่านพระอุทายีกับนายช่างไม้ชื่อปัญจกังคะทั้งหมดแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อท่านพระอานนท์กราบทูลอย่างนี้แล้ว พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสว่า ดูก่อนอานนท์ นายช่างไม้ชื่อปัญจกังคะไม่ยอมตามบรรยายอันมีอยู่ของพระอุทายี และพระอุทายีก็ไม่ยอมตามบรรยายอันมีอยู่ของนายช่างไม้ชื่อปัญจกังคะ ดูก่อน

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้า 217

อานนท์ แม้เวทนา ๒ เราได้กล่าวแล้วโดยปริยาย ถึงเวทนา ๓ เวทนา ๔ เวทนา ๕ เวทนา ๖ เวทนา ๑๘ เวทนา ๓๖ เวทนา ๑๐๘ เราก็กล่าวแล้วโดยปริยาย.

ดูก่อนอานนท์ ธรรมอันเราแสดงแล้วโดยปริยายอย่างนี้แล ผู้ใดไม่รู้ตามด้วยดี ไม่สําคัญตามด้วยดี ไม่ยินดีตามด้วยดี ซึ่งคําที่กล่าวดี พูดดี ของกันและกัน ในธรรมที่เราแสดงโดยปริยายอย่างนี้แล้ว ผู้นั้นจะได้ผลอันนี้ คือ จักบาดหมาง ทะเลาะวิวาท ทิ่มแทงกันและกันด้วยหอก คือ ปากอยู่.

ดูก่อนอานนท์ ธรรมอันเราแสดงแล้วโดยปริยายอย่างนี้ ผู้ใดรู้ตามด้วยดี สําคัญตามด้วยดี ยินดีตามด้วยดี ซึ่งคําที่กล่าวดี พูดดี ของกันแลกัน ในธรรมที่เราแสดงโดยปริยายอย่างนี้แล้ว ผู้นั้นจะได้ผลอันนี้ คือ จักพร้อมเพรียง บันเทิง ไม่วิวาทกัน เป็นเหมือนน้ำนมระคนกับน้ำ แลดูกันด้วยสายตาเป็นที่รักอยู่.

กามคุณ ๕

[๑๐๐] ดูก่อนอานนท์ กามคุณ ๕ นี้เป็นไฉน คือ รูปอันจะพึงรู้ด้วยจักษุ อันสัตว์ปรารถนา ใคร่ พอใจ เป็นที่รัก ประกอบด้วยกามเป็นที่ตั้งแห่งความกําหนัด เสียงอันจะพึงรู้โดยโสตะ... กลิ่นอันจะพึงรู้ด้วยฆานะ... รสอันจะพึงรู้ด้วยชิวหา... โผฏฐัพพะอันจะพึงรู้ด้วยกาย อันสัตว์ปรารถนา ใคร่พอใจ เป็นที่รัก ประกอบด้วยกามเป็นที่ตั้งแห่งความกําหนัด ดูก่อนอานนท์ นี้แลกามคุณ ๕ สุขโสมนัสอันใดย่อมเกิดขึ้นเพราะอาศัยกามคุณ ๕ นี้ สุขและโสมนัสนี้ เรากล่าวว่ากามสุข.

สุขในรูปฌานและอรูปฌาน

[๑๐๑] ดูก่อนอานนท์ เราไม่ยอมรับรู้ถ้อยคําของผู้ที่กล่าวอย่างนี้ว่า สัตว์ทั้งหลายย่อมเสวยสุขโสมนัส มีกามสุขนี้เป็นอย่างยิ่ง ข้อนี้เพราะเหตุไร เพราะสุขอื่นที่ดียิ่งกว่า และประณีตกว่าสุขนี้ยังมีอยู่.

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้า 218

ดูก่อนอานนท์ สุขอื่นที่ดียิ่งกว่าและประณีตกว่าสุขนี้เป็นไฉน ดูก่อนอานนท์ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ สงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรม บรรลุปฐมฌาน มีวิตก มีวิจาร มีปีติและสุขเกิดแต่วิเวกอยู่ นี้แล อานนท์ สุขอื่นที่ดียิ่งกว่าและประณีตกว่าสุขนี้ เราไม่ยอมรับรู้ถ้อยคําของผู้ที่กล่าวอย่างนี้ว่า สัตว์ทั้งหลายย่อมเสวยสุขโสมนัส มีกามสุขนี้เป็นอย่างยิ่ง ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะสุขอื่นที่ดียิ่งกว่า และประณีตกว่าสุขนี้ยังมีอยู่.

ดูก่อนอานนท์ สุขอื่นที่ดียิ่งกว่าและประณีตกว่าสุขนี้เป็นไฉน ดูก่อนอานนท์ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ บรรลุทุติยฌาน มีความผ่องใสแห่งจิตในภายใน เป็นธรรมเอกผุดขึ้น ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร เพราะวิตกวิจารสงบไป มีปีติและสุขเกิดแต่สมาธิอยู่ นี้แล อานนท์ สุขอื่นที่ดียิ่งกว่าและประณีตกว่าสุขนี้ เราไม่ยอมรับรู้ถ้อยคําของผู้ที่กล่าวอย่างนี้ว่า สัตว์ทั้งหลายย่อมเสวยสุขโสมนัส มีกามสุขนี้เป็นอย่างยิ่ง ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะสุขอื่นที่ดียิ่งกว่าและประณีตกว่าสุขนี้ยังมีอยู่.

ดูก่อนอานนท์ สุขอื่นที่ดียิ่งกว่าและประณีตกว่าสุขนี้เป็นไฉน ดูก่อนอานนท์ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ มีอุเบกขา มีสติสัมปชัญญะและเสวยสุขด้วยนามกายเพราะปีติสิ้นไป บรรลุตติยฌานที่พระอริยะทั้งหลายสรรเสริญว่า ผู้ได้ฌานนี้เป็นผู้มีอุเบกขา มีสติอยู่เป็นสุข นี้แล อานนท์ สุขอื่นที่ดียิ่งกว่าและประณีตกว่าสุขนี้ เราไม่ยอมรับรู้ถ้อยคําของผู้ที่กล่าวอย่างนี้ว่า สัตว์ทั้งหลายย่อมเสวยสุขโสมนัสมีกามสุขนี้เป็นอย่างยิ่ง ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะสุขอื่นที่ดียิ่งกว่าและประณีตกว่าสุขนี้ ยังมีอยู่.

ดูก่อนอานนท์ สุขอื่นที่ดียิ่งกว่าและประณีตกว่าสุขนี้เป็นไฉน ดูก่อนอานนท์ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ บรรลุจตุตถฌาน ไม่มีทุกข์ไม่มีสุข เพราะละสุข

 
  ข้อความที่ 5  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้า 219

ละทุกข์และดับโสมนัสโทมนัสก่อนๆ ได้ มีอุเบกขาเป็นเหตุให้สติบริสุทธิ์อยู่ นี้แลอานนท์ สุขอื่นที่ดียิ่งกว่าและประณีตกว่าสุขนี้ เราไม่ยอมรับรู้ถ้อยคําของผู้ที่กล่าวอย่างนี้ว่า สัตว์ทั้งหลายย่อมเสวยสุขโสมนัส มีกามสุขนี้เป็นอย่างยิ่ง ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะสุขอื่นที่ดียิ่งกว่าและประณีตกว่าสุขนี้ยังมีอยู่.

ดูก่อนอานนท์ สุขอื่นที่ดียิ่งกว่าและประณีตกว่าสุขนี้เป็นไฉน ดูก่อนอานนท์ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ บรรลุอากาสานัญจายตนฌานด้วยมนสิการว่าอากาศไม่มีที่สุด เพราะล่วงรูปสัญญาได้โดยประการทั้งปวง เพราะดับปฏิฆสัญญาได้ เพราะไม่มนสิการนานัตตสัญญาอยู่ นี้แล อานนท์ สุขอื่นที่ดียิ่งกว่าและประณีตกว่าสุขนี้.

ดูก่อนอานนท์ สุขอื่นที่ดียิ่งกว่าและประณีตกว่าสุขนี้เป็นไฉน ดูก่อนอานนท์ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ บรรลุวิญญาณัญจายตนฌานด้วยมนสิการว่า วิญญาณไม่มีที่สุด เพราะล่วงอากาสานัญจายตนะได้โดยประการทั้งปวงอยู่ นี้แลอานนท์ สุขอื่นที่ดียิ่งกว่าและประณีตกว่าสุขนี้.

ดูก่อนอานนท์ สุขอื่นที่ดียิ่งกว่าและประณีตกว่าสุขนี้เป็นไฉน ดูก่อนอานนท์ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ บรรลุอากิญจัญญายตนฌานด้วยมนสิการว่าอะไรๆ ก็ไม่มีเพราะล่วงวิญญาณัญจายตนะได้โดยประการทั้งปวงอยู่ นี้แล อานนท์ สุขอื่นอันดียิ่งกว่าและประณีตกว่าสุขนี้.

ดูก่อนอานนท์ สุขอื่นที่ดียิ่งกว่าและประณีตกว่าสุขนี้เป็นไฉน ดูก่อนอานนท์ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ บรรลุเนวสัญญานาสัญญายตนฌาน เพราะล่วงอากิญจัญญายตนะได้โดยประการทั้งปวงอยู่ นี้แล อานนท์ สุขอื่นที่ดียิ่งกว่าและประณีตกว่าสุขนี้.

 
  ข้อความที่ 6  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้า 220

[๑๐๒] ดูก่อนอานนท์ เราไม่ยอมรับรู้ถ้อยคําของผู้กล่าวอย่างนี้ว่า สัตว์ทั้งหลายย่อมเสวยสุขโสมนัส มีกามสุขนี้เป็นอย่างยิ่ง ข้อนั้นเพราะเหตุไร ดูก่อนอานนท์ เพราะสุขอื่นที่ดียิ่งกว่าและประณีตกว่าสุขนี้ ยังมีอยู่.

ดูก่อนอานนท์ สุขอื่นที่ดียิ่งกว่าและประณีตกว่าสุขนี้เป็นไฉน ดูก่อนอานนท์ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ บรรลุสัญญาเวทยิตนิโรธ เพราะล่วงเนวสัญญานาสัญญายตนะได้โดยประการทั้งปวงอยู่ นี้แล อานนท์ สุขอื่นที่ดียิ่งกว่าและประณีตกว่าสุขนี้.

ดูก่อนอานนท์ ข้อที่อัญญเดียรถีย์ปริพาชกจะพึงกล่าวอย่างนี้ว่า พระสมณโคดมตรัสสัญญาเวทยิตนิโรธไว้แล้ว แต่บัญญัติลงในสุข ข้อนี้นั้นจะเป็นไฉนเล่า ข้อนี้นั้นเป็นอย่างไรเล่า ดังนี้ เป็นฐานะที่จะมีได้ ดูก่อนอานนท์ อัญญเดียรถีย์ปริพาชกผู้มีวาทะอย่างนี้ ท่านควรจะกล่าวตอบว่า ดูก่อนอาวุโส พระผู้มีพระภาคเจ้าจะทรงหมายสุขเวทนาอย่างเดียว แล้วบัญญัติไว้ในสุขหามิได้ แต่บุคคลได้สุขในที่ใดๆ พระตถาคตย่อมบัญญัติที่นั้นๆ ไว้ในสุข.

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสพระพุทธพจน์นี้แล้ว ท่านพระอานนท์ชื่นชมยินดีพระภาษิตของพระผู้มีพระภาคเจ้า ดังนี้แล.

จบพหุเวทนิยสูตรที่ ๙

 
  ข้อความที่ 7  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้า 221

๙. อรรถกถาพหุเวทนิยสูตร

พหุเวทนิยสูตร มีบทเริ่มต้นว่า เอวมฺเม สุตํ ข้าพเจ้าได้ฟังมาแล้วอย่างนี้.

ในบรรดาบทเหล่านั้น คําว่า ปัญจกังคะ ในคําว่า ปฺจกงฺโคถปติ เป็นชื่อของนายช่างไม้นั้น. เขารู้กันทั่วไปว่า ปัญจกังคะ ก็เพราะเป็นผู้ประกอบด้วยเครื่องมือ ๕ อย่าง กล่าวคือ มีด ขวาน สิ่ว ค้อน และสายบรรทัด.

คําว่า นายช่างไม้ คือ เป็นหัวหน้าช่างไม้.

คําว่า อุทายี คือ ท่านพระอุทายีเถระผู้เป็นบัณฑิต.

คําว่า ปริยายํ แปลว่า เหตุ.

คําว่า เทฺวปานนฺท แยกสนธิว่า เทฺวปิ อานนฺท.

คําว่า ปริยาเยน คือ ด้วยเหตุ.

ก็บรรดาเวทนาเหล่านั้น พึงทราบว่า เวทนามี ๒ คือ เวทนาที่เป็นไปทางกาย และเป็นไปทางใจ. มี ๓ มีสุขเวทนาเป็นต้น. ว่าโดยอินทรีย์มี ๕ มีสุขินทรีย์เป็นต้น. ว่าโดยทวารมี ๖ มีจักขุสัมผัสสชาเวทนาเป็นต้น, ว่าโดยอุปวิจารมี ๑๘ เป็นต้นว่า เห็นรูปด้วยจักษุแล้วก็ตามพิจารณารูป ที่เป็นที่ตั้งแห่งโสมนัส ดังนี้. มี ๓๖ อย่างนี้คือ โสมนัสที่อาศัยเรือน ๖ โสมนัสที่อาศัยเนกขัมมะ ๖ โทมนัสที่อาศัยเนกขัมมะ ๖ โทมนัสที่อาศัยเรือน ๖ อุเบกขาที่อาศัยเรือน ๖ อุเบกขาที่อาศัยเนกขัมมะ ๖. พึงทราบว่าเวทนาเหล่านั้น คือ อดีต ๓๖ อนาคต ๓๖ ปัจจุบัน ๓๖ รวมเป็น ๑๐๘.

พระวาจาว่า ปฺจ โข อิเม อานนฺท กามคุณา นี้เป็นอนุสนธิแยกคนละส่วน แท้จริง พระผู้มีพระภาคเจ้า มิใช่ทรงบัญญัติเวทนาตั้งต้นเพียง ๒ เท่านั้น ยังตรัสเวทนาแม้เพียง ๑ ไว้โดยปริยายก็มี เมื่อจะทรงแสดงเวทนานั้น

 
  ข้อความที่ 8  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้า 222

จึงทรงเริ่มเทศนานี้ เพื่อสนับสนุนวาทะของนายช่างไม้ที่ชื่อปัญจกังคะ.

คําว่า อภิกฺกนฺตตรํ แปลว่า ดีกว่า.

คําว่า ปณีตตรํ แปลว่า สมควรกว่า.

ในเวทนาเหล่านั้นนั่นแลตรัสเรียกว่า อทุกขมสุขเวทนา ตั้งแต่จตุตถฌาน. อทุกขมสุขเวทนาแม้นั้น ตรัสเรียกว่า สุข เพราะอรรถว่า สงบ และเพราะอรรถว่า ประณีต. โสมนัสที่อาศัยเรือน ๖ ตรัสเรียกว่า สุข. นิโรธ ชื่อว่า สุข โดยเป็นสุขที่ไม่มีผู้เสวย. แท้จริง สุขที่เกิดด้วยอํานาจกามคุณ ๕ และด้วยอํานาจสมาบัติ ๘ ชื่อว่า สุขที่มีผู้เสวย. นิโรธ จึงชื่อว่า สุขที่ไม่มีผู้เสวย. ดังนั้น ไม่ว่าสุขที่มีผู้เสวยก็ตาม สุขที่ไม่มีผู้เสวยก็ตาม ก็จัดว่าสุขอย่างหนึ่งนั่นเอง เพราะอรรถว่าเป็นสุข กล่าวคือ ภาวะที่ไม่มีทุกข์.

คําว่า ยตฺถ ยตฺถ แปลว่า ในที่ใดๆ.

คําว่า สุขํ อุปลพฺภติ ความว่า ย่อมเกิดสุขที่มีผู้เสวยบ้าง สุขที่ไม่มีผู้เสวยบ้าง.

คําว่า ตถาคตย่อมบัญญัติสุขนั้นๆ ไว้ในสุข คือ ตถาคตย่อมบัญญัติภาวะที่ไม่มีทุกข์ทั้งหมดนั้นไว้ในสุขอย่างเดียว.

ในพระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทํานิโรธสมาบัติให้เป็นประธาน แล้วจบเทศนาลงด้วยยอดธรรม คือ พระอรหัต ด้วยอํานาจเวไนยบุคคล ดังนี้.

จบอรรถกถาพหุเวทนิยสูตรที่ ๙