๓. จูฬมาลุงกยโอวาทสูตร ทรงโอวาทพระมาลุงกยบุตร
[เล่มที่ 20] พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้า 298
๓. จูฬมาลุงกยโอวาทสูตร
ทรงโอวาทพระมาลุงกยบุตร
อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 20]
พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้า 298
๓. จูฬมาลุงกยโอวาทสูตร
ทรงโอวาทพระมาลุงกยบุตร
[๑๔๗] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้.
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี ครั้งนั้น ท่านพระมาลุงกยบุตรไปในที่ลับ เร้นอยู่ เกิดความดําริแห่งจิตอย่างนี้ว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าไม่ทรงพยากรณ์ ทรงงด ทรงห้ามทิฏฐิเหล่านี้ คือ โลกเที่ยง โลกไม่เที่ยง โลกมีที่สุด โลกไม่มีที่สุด ชีพก็อันนั้น สรีระก็อันนั้น ชีพอย่างหนึ่ง สรีระอย่างหนึ่ง สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายไปมีอยู่ สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายไปไม่มีอยู่ สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายไปมีอยู่ก็มีไม่มีอยู่ก็มี สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายไปมีอยู่ก็มิใช่ไม่มีอยู่ก็มิใช่ ข้อที่พระผู้มีพระภาคเจ้าไม่ทรงพยากรณ์ทิฏฐิเหล่านั้นแก่เรานั้น เราไม่ชอบใจ ไม่ควรแก่เรา เราจักเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า แล้วทูลถามเนื้อความนั้น ถ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าจักทรงพยากรณ์แก่เรา ฯลฯ เราก็จักประพฤติพรหมจรรย์ในพระผู้มีพระภาคเจ้า ถ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าจักไม่ทรงพยากรณ์ ฯลฯ เราก็จักลาสิกขามาเป็นคฤหัสถ์.
พระมาลุงกยบุตรบอกความปริวิตก
[๑๔๘] ครั้งนั้น เวลาเย็น ท่านพระมาลุงกยบุตรออกจากที่เร้น เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าถึงที่ประทับ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอประทานพระวโรกาส เมื่อข้าพระองค์ไปในที่ลับเร้นอยู่
พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้า 299
เกิดความดําริแห่งจิตอย่างนี้ว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าไม่ทรงพยากรณ์ ทรงงดทรงห้ามทิฏฐิเหล่านี้ คือ โลกเที่ยง โลกไม่เที่ยง โลกมีที่สุด โลกไม่มีที่สุด ชีพอันนั้น สรีระก็อันนั้น ชีพอย่างหนึ่ง สรีระอย่างหนึ่ง สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายไปมีอยู่ สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายไปไม่มีอยู่ สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายไปมีอยู่ก็มี ไม่มีอยู่ก็มี สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายไปมีอยู่ก็มิใช่ ไม่มีอยู่ก็มิใช่.
ข้อที่พระผู้มีพระภาคเจ้าไม่ทรงพยากรณ์ทิฏฐิเหล่านั้นแก่เรานั้น เราไม่ชอบใจ ไม่ควรแก่เรา เราจักเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า ทูลถามเนื้อความนั้น.
ถ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าจักทรงพยากรณ์ ฯลฯ เราก็จักประพฤติพรหมจรรย์ในพระผู้มีพระภาคเจ้า ถ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าจักไม่ทรงพยากรณ์ ฯลฯ เราจักลาสิกขามาเป็นคฤหัสถ์.
ถ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทราบว่าโลกเที่ยง ขอจงทรงพยากรณ์แก่ข้าพระองค์เถิดว่าโลกเที่ยง ถ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทราบว่า โลกไม่เที่ยง ขอจงพยากรณ์แก่ข้าพระองค์เถิดว่าโลกไม่เที่ยง ถ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าไม่ทรงทราบว่าโลกเที่ยงหรือโลกไม่เที่ยง เมื่อไม่ทรงรู้ไม่ทรงเห็น ก็ขอจงตรัสบอกตรงๆ เถิดว่า เราไม่รู้ เราไม่เห็น.
ถ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทราบว่าโลกมีที่สุด ขอจงทรงพยากรณ์แก่ข้าพระองค์เถิดว่า โลกมีที่สุด ถ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทราบว่า โลกไม่มีที่สุด ขอจงทรงพยากรณ์แก่ข้าพระองค์เถิดว่าโลกไม่มีที่สุด ถ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าไม่ทรงทราบว่าโลกมีที่สุดหรือโลกไม่มีที่สุด เมื่อไม่ทรงรู้ ไม่ทรงเห็น ก็ขอตรัสบอกตรงๆ เถิดว่า เราไม่รู้ เราไม่เห็น.
ถ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทราบว่า ชีพก็อันนั้น สรีระก็อันนั้น ขอจงทรงพยากรณ์แก่ข้าพระองค์เถิดว่า ชีพก็อันนั้น สรีระก็อันนั้น ถ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทราบว่า ชีพอย่างหนึ่ง สรีระอย่างหนึ่ง ขอจงทรงพยากรณ์แก่ข้าพระองค์เถิดว่า ชีพอย่างหนึ่ง สรีระอย่างหนึ่ง ถ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าไม่
พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้า 300
ทรงทราบว่า ชีพก็อันนั้น สรีระก็อันนั้น หรือว่า ชีพอย่างหนึ่ง สรีระอย่างหนึ่ง เมื่อไม่ทรงรู้ ไม่ทรงเห็น ก็ขอจงตรัสบอกตรงๆ เถิดว่า เราไม่รู้ ไม่เห็น.
ถ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทราบว่า สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายไปมีอยู่ ขอจงทรงพยากรณ์แก่ข้าพระองค์เถิดว่า สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายไปมีอยู่ ถ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทราบว่า สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายไปไม่มีอยู่ ขอจงทรงพยากรณ์แก่ข้าพระองค์เถิดว่า สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายไปไม่มีอยู่ ถ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าไม่ทรงทราบว่า สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายไปมีอยู่ หรือว่าสัตว์เบื้องหน้าแต่ตายไปไม่มีอยู่ เมื่อไม่ทรงรู้ ไม่ทรงเห็น ก็ขอจงตรัสบอกตรงๆ เถิดว่า เราไม่รู้ เราไม่เห็น.
ถ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทราบว่า สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายไปมีอยู่ก็มี ไม่มีอยู่ก็มี ขอจงทรงพยากรณ์แก่ข้าพระองค์เถิดว่า สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายไปมีอยู่ก็มี ไม่มีอยู่ก็มี ถ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทราบว่า สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายไปมีอยู่ก็มิใช่ ไม่มีอยู่ก็มิใช่ ขอจงทรงพยากรณ์แก่ข้าพระองค์เถิดว่า สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายไปมีอยู่ก็มิใช่ ไม่มีอยู่ก็มิใช่ ถ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าไม่ทรงทราบว่า สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายไปมีอยู่ก็มี ไม่มีอยู่ก็มี หรือว่าสัตว์เบื้องหน้าแต่ตายไปมีอยู่ก็มิใช่ ไม่มีอยู่ก็มิใช่ เมื่อไม่ทรงรู้ ไม่ทรงเห็น ก็ขอจงตรัสบอกตรงๆ เถิดว่า เราไม่รู้ เราไม่เห็น.
[๑๔๙] พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ดูก่อนมาลุงกยบุตร เราได้พูดไว้อย่างนี้กะเธอหรือว่า เธอจงมาประพฤติพรหมจรรย์ในเราเถิด เราจักพยากรณ์ทิฏฐิ ๑๐ แก่เธอ ฯลฯ
ไม่ใช่อย่างนั้น พระเจ้าข้า.
ก็หรือว่า ท่านได้พูดไว้กะเราอย่างนี้ว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์จักประพฤติพรหมจรรย์ในพระผู้มีพระภาคเจ้า ถ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าจักทรงพยากรณ์แก่ข้าพระองค์ ฯลฯ
พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้า 301
ไม่ใช่อย่างนั้น พระเจ้าข้า.
ดูก่อนมาลุงกยบุตร ได้ยินว่า เรามิได้พูดไว้กะเธอดังนี้ว่า เธอจงมาประพฤติพรหมจรรย์ในเราเถิด เราจักพยากรณ์แก่เธอ ฯลฯ ได้ยินว่า แม้เธอก็มิได้พูดไว้ว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์จักประพฤติพรหมจรรย์ในพระผู้มีพระภาคเจ้า ถ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า จักทรงพยากรณ์แก่ข้าพระองค์ ฯลฯ ดูก่อนโมฆบุรุษ เมื่อเป็นเช่นนั้น เธอเป็นอะไร (๑) จะมาทวงกะใครเล่า.
เปรียบคนที่ถูกลูกศร
[๑๕๐] ดูก่อนมาลุงกยบุตร บุคคลใดแลจะพึงกล่าวอย่างนี้ว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าจักไม่ทรงพยากรณ์แก่เรา ฯลฯ เพียงใด เราจักไม่ประพฤติพรหมจรรย์ในพระผู้มีพระภาคเจ้าเพียงนั้น ตถาคตไม่พึงพยากรณ์ข้อนั้นเลย และบุคคลนั้นพึงทํากาละไปโดยแท้.
ดูก่อนมาลุงกยบุตร เปรียบเหมือนบุรุษต้องศรอันอาบยาพิษที่ฉาบทาไว้หนา มิตร อมาตย์ ญาติสาโลหิตของบุรุษนั้นพึงไปหานายแพทย์ผู้ชํานาญในการผ่าตัดมาผ่า บุรุษผู้ต้องศรนั้นพึงกล่าวอย่างนี้ว่า เรายังไม่รู้จักบุรุษผู้ยิงเรานั้นว่า เป็นกษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ หรือศูทร... มีชื่อว่าอย่างนี้ มีโคตรอย่างนี้... สูงต่ําหรือปานกลาง... ดําขาวหรือผิวสองสี... อยู่บ้าน นิคม หรือนครโน้น เพียงใด เราจักไม่นําลูกศรนี้ออกเพียงนั้น บุรุษผู้ต้องศรนั้นพึงกล่าวอย่างนี้ว่า เรายังไม่รู้จักธนูที่ใช้ยิงเรานั้นว่าเป็นชนิดมีแล่งหรือเกาทัณฑ์... สายที่ยิงเรานั้นเป็นสายทําด้วยปอ ผิวไม้ไผ่ เอ็น ป่านหรือเยื่อไม้ ลูกธนูที่ยิงเรานั้น ทําด้วยไม้ที่เกิดเองหรือไม้ปลูก หางเกาทัณฑ์ที่ยิงเรานั้น เขาเสียบด้วยขนปีกนกแร้ง นกตะกรุม เหยี่ยว
(๑) ไม่ใช่ผู้ขอร้อง หรือผู้ถูกขอร้อง.
พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้า 302
นกยูง หรือนกชื่อว่า สิถิลหนุ [คางหย่อน]... เกาทัณฑ์นั้นเขาพันด้วยเอ็นวัว ควาย ค่างหรือลิง... ลูกธนที่ยิงเรานั้น เป็นชนิดอะไร ดังนี้ เพียงใด เราจักไม่นําลูกศรนี้ออกเพียงนั้น.
ดูก่อนมาลุงกยบุตร บุรุษนั้นพึงรู้ข้อนั้นไม่ได้เลย โดยที่แท้ บุรุษนั้นพึงทํากาละไป ฉันใด ดูก่อนมาลุงกยบุตร บุคคลใดพึงกล่าวอย่างนี้ว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าจักไม่ทรงพยากรณ์ทิฏฐิ ๑๐ นั้น ฯลฯ แก่เราเพียงใด เราจักไม่ประพฤติพรหมจรรย์ในพระผู้มีพระภาคเจ้าเพียงนั้น ข้อนั้นตถาคตไม่พยากรณ์เลย โดยที่แท้ บุคคลนั้นพึงทํากาละไปฉันนั้น.
[๑๕๑] ดูก่อนมาลุงกยบุตร เมื่อมีทิฏฐิว่า โลกเที่ยง ดังนี้ จักได้มีการอยู่ประพฤติพรหมจรรย์หรือ ก็ไม่ใช่อย่างนั้น.
ดูก่อนมาลุงกยบุตร เมื่อมีทิฏฐิว่า โลกไม่เที่ยง ดังนี้ จักไม่มีการอยู่ประพฤติพรหมจรรย์หรือ แม้อย่างนั้นก็ไม่ใช่.
ดูก่อนมาลุงกยบุตร เมื่อยังมีทิฏฐิว่า โลกเที่ยง หรือว่า โลกไม่เที่ยงอยู่ ชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาส ก็คงมีอยู่ทีเดียว เราจึงบัญญัติความเพิกถอนชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาสในปัจจุบัน ดูก่อนมาลุงกยบุตร เมื่อมีทิฏฐิว่า โลกมีที่สุด ดังนี้ จักได้มีการอยู่ประพฤติพรหมจรรย์หรือ ก็ไม่ใช่อย่างนั้น.
ดูก่อนมาลุงกยบุตร เมื่อมีทิฏฐิว่า โลกไม่มีที่สุด ดังนี้ จักได้มีการอยู่ประพฤติพรหมจรรย์หรือ แม้อย่างนั้นก็ไม่ใช่.
ดูก่อนมาลุงกยบุตร เมื่อยังมีทิฏฐิว่า โลกมีที่สุด หรือว่า โลกไม่มีที่สุดอยู่ ชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาส ก็คงมีอยู่ทีเดียว เราจึงบัญญัติความเพิกถอนชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ
พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้า 303
ทุกข์ โทมนัส และอุปายาสในปัจจุบัน ดูก่อนมาลุงกยบุตร เมื่อมีทิฏฐิว่า ชีพก็อันนั้น สรีระก็อันนั้น ดังนี้ จักได้มีการอยู่ประพฤติพรหมจรรย์หรือ ก็ไม่ใช่อย่างนั้น.
ดูก่อนมาลุงกยบุตร เมื่อมีทิฏฐิว่า ชีพก็อย่างหนึ่ง สรีระก็อย่างหนึ่ง ดังนี้ จักได้มีการประพฤติพรหมจรรย์หรือ แม้อย่างนั้นก็ไม่ใช่.
ดูก่อนมาลุงกยบุตร เมื่อยังมีทิฏฐิว่า ชีพก็อันนั้น สรีระก็อันนั้น หรือว่าชีพอย่างหนึ่ง สรีระอย่างหนึ่งอยู่ ชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์โทมนัส และอุปายาส ก็คงมีอยู่ทีเดียว เราจึงบัญญัติความเพิกถอนชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาส ในปัจจุบัน ดูก่อนมาลุงกยบุตร เมื่อทิฏฐิว่า สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายไปมีอยู่ ดังนี้ จักได้มีการอยู่ประพฤติพรหมจรรย์หรือ ก็มิใช่อย่างนั้น.
ดูก่อนมาลุงกยบุตร เมื่อมีทิฏฐิว่า สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายไปไม่มีอยู่ ดังนี้ จักได้มีการอยู่ประพฤติพรหมจรรย์หรือ แม้อย่างนั้นก็ไม่ใช่.
ดูก่อนมาลุงกยบุตร เมื่อยังมีทิฏฐิว่า สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายไปมีอยู่ หรือว่าสัตว์เบื้องหน้าแต่ตายไปไม่มีอยู่ ชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาส ก็คงมีอยู่ทีเดียว เราจึงบัญญัติความเพิกถอนชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาสในปัจจุบัน ดูก่อนมาลุงกยบุตร เมื่อมีทิฏฐิว่า สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายไปมีอยู่ก็มี ไม่มีอยู่ก็มี ดังนี้ จักได้มีการอยู่ประพฤติพรหมจรรย์หรือ ก็ไม่ใช่อย่างนั้น.
ดูก่อนมาลุงกยบุตร เมื่อมีทิฏฐิว่า สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายไปมีอยู่ ก็มิใช่ไม่มีอยู่ก็มิใช่ ดังนี้ จักได้มีการอยู่ประพฤติพรหมจรรย์หรือ แม้อย่างนั้นก็ไม่ใช่.
พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้า 304
ดูก่อนมาลุงกยบุตร เมื่อยังมีทิฏฐิว่า สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายไปมีอยู่ก็มีไม่มีอยู่ก็มี หรือว่า สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายไปมีอยู่ก็มิใช่ ไม่มีอยู่ก็มิใช่ ดังนี้ ชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาส ก็คงมีอยู่ทีเดียว เราจึงบัญญัติความเพิกถอน ชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาสในปัจจุบัน.
ปัญหาที่พระพุทธเจ้าทรงพยากรณ์และไม่ทรงพยากรณ์
[๑๕๒] ดูก่อนมาลุงกยบุตร เพราะเหตุนั้นแล เธอทั้งหลาย จงทรงจําปัญหาที่เราไม่พยากรณ์ โดยความเป็นปัญหาที่เราไม่พยากรณ์ และจงทรงจําปัญหาที่เราพยากรณ์ โดยความเป็นปัญหาที่เราพยากรณ์เถิด.
ดูก่อนมาลุงกยบุตร อะไรเล่าที่ไม่พยากรณ์ ดูก่อนมาลุงกยบุตร ทิฏฐิว่า โลกเที่ยง โลกไม่เที่ยง โลกมีที่สุด โลกไม่มีที่สุด ชีพก็อันนั้น สรีระก็อันนั้น ชีพอย่างหนึ่ง สรีระอย่างหนึ่ง สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายไปมีอยู่ สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายไปไม่มีอยู่ สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายไปมีอยู่ก็มี ไม่มีอยู่ก็มี สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายไปมีอยู่ก็หามิได้ ไม่มีอยู่ก็หามิได้ดังนี้ เราไม่พยากรณ์.
ดูก่อนมาลุงกยบุตร ก็เพราะเหตุไร ข้อนั้นเราจึงไม่พยากรณ์ เพราะข้อนั้นไม่ประกอบด้วยประโยชน์ ไม่เป็นเบื้องต้นแห่งพรหมจรรย์ ไม่เป็นไปเพื่อความหน่าย เพื่อความคลายกําหนัด เพื่อความดับ เพื่อความสงบ เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้ เพื่อนิพพาน เหตุนั้นเราจึงไม่พยากรณ์ข้อนั้น.
ดูก่อนมาลุงกยบุตร อะไรเล่าที่เราพยากรณ์ ดูก่อนมาลุงกยบุตร ความเห็นว่า นี้ทุกข์ นี้เหตุให้เกิดทุกข์ นี้ความดับทุกข์ นี้ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ ดังนี้ เราพยากรณ์ ก็เพราะเหตุไร เราจึงพยากรณ์ข้อนั้น เพราะข้อนั้น ประกอบด้วยประโยชน์ เป็น
พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้า 305
เบื้องต้นแห่งพรหมจรรย์ เป็นไปเพื่อความหน่าย เพื่อความคลายกําหนัด เพื่อความดับ เพื่อความสงบ เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้ เพื่อนิพพาน เหตุนั้นเราจึงพยากรณ์ข้อนั้น เพราะเหตุนั้นแหละ เธอทั้งหลายจงทรงจําปัญหาที่เราไม่พยากรณ์ โดยความเป็นปัญหาที่เราไม่พยากรณ์ และจงทรงจําปัญหาที่เราพยากรณ์ โดยความเป็นปัญหาที่เราพยากรณ์เถิด.
พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสพระสูตรนี้แล้ว ท่านพระมาลุงกยบุตร ยินดีชื่นชมพระภาษิตของพระผู้มีพระภาคเจ้า ดังนี้แล.
จบจูฬมาลุงกยโอวาทสูตรที่ ๓
๓. อรรถกถาจูฬมาลุงกยโอวาทสูตร (๑)
จูฬมาลุงกยโอวาทสูตร มีบทเริ่มต้นว่า เอวมฺเม สุตํ ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้.
ในบทเหล่านั้นบทว่า มาลุงฺกฺยปุตฺตสฺส พระเถระมีชื่ออย่างนี้.
บทว่า ปิตานิ ปฏิกฺขิตฺตานิ ทรงงดทรงห้ามคือพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงงดทรงห้ามอย่างนี้ว่าทิฏฐิทั้งหลายไม่ควรพยากรณ์.
บทว่า ตถาคโต คือ สัตว์.
บทว่า ตมฺเม น รุจฺจติ คือ การไม่พยากรณ์นั้นไม่ชอบใจแก่เรา.
บทว่า สิกฺขํ ปจฺจกฺขาย เราจะลาสิกขา.
บทว่า โก สนฺโต กํ ปจฺจาจิกฺขสิ เธอเป็นอะไร จะมาทวงกะใครเล่า ความว่า ผู้ขอพึงทวงกะผู้ยืม หรือผู้ยืมควรทวงกะผู้ขอ ท่านมิใช่ผู้ขอ มิใช่ผู้ยืม บัดนี้ท่านเป็นอะไร จะมาทวงกะใครเล่า.
บทว่า วิทฺโธ อสฺส บุรุษถูกแทงด้วยศร คือถูกข้าศึกแทงเอา.
บทว่า คาฬฺหเลปเนน
(๑) อรรถกถาเรียก มาลุงกยสูตร.
พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้า 306
คือ ด้วยศรอันอาบยาพิษที่ฉาบทาไว้หนา.
บทว่า ภิสกฺกํ คือ แพทย์ผู้ชํานาญ.
บทว่า สลฺลกตฺตํ คือ ทําการผ่าตัดเย็บบาดแผล.
บทว่า อกฺกสฺส แปลว่า ปอ คือ เอาปอทําสายธนู. ด้วยเหตุนั้นท่านจึงกล่าวว่า อกฺกสฺส ทําด้วยปอ.
บทว่า สณฺสฺส คือ ผิวไม้ไผ่. ชนทั้งหลายทําป่านและเยื่อไม้ด้วยปอนั่นเอง.
ด้วยเหตุนั้นท่านจึงกล่าวว่า ยทิ วา มรุวาย ยทิ วา ขิรปณฺณิโน ด้วยป่านหรือเยื่อไม้ดังนี้.
บทว่า คจฺฉํ ไม้ที่เกิดเอง คือ เกิดที่หลืบภูเขาหรือสายน้ำ.
บทว่า โรปิมํ ไม้ปลูก คือ ไม้ปลูกที่งอกงามทําเป็นศร.
บทว่า สิถิลหนุโน เป็นชื่อของนกที่มีชื่อว่า สิถิลหนุ.
บทว่า โรรุวรสฺส ได้แก่ ค่าง.
บทว่า เสมฺหารสฺส ได้แก่ ลิง.
บทว่า เอวํ โน ไม่ใช่อย่างนั้น ความว่า เมื่อทิฏฐิมีอยู่อย่างนั้นก็ไม่ใช่.
บทว่า อตฺเถว ชาติ ชาติยังมีอยู่ คือ เมื่อมีทิฏฐิอย่างนั้นการอยู่พรหมจรรย์ย่อมไม่มี. แต่ชาติยังมีอยู่. อนึ่ง ท่านแสดงถึงชราและมรณะเป็นต้นด้วย.
บทว่า เยสาหํ ตัดบทเป็น เยสํ อหํ.
บทว่า นิฆาตํ ความเพิกถอน คือ เข้าไปกําจัดให้พินาศ. อธิบายว่า เพราะสาวกทั้งหลายของเราเบื่อหน่ายในชราและมรณะเป็นต้นเหล่านั้น จึงบรรลุนิพพานในศาสนานี้แหละ.
บทว่า ตสฺมาติห ความว่า เพราะฉะนั้นแหละ ข้อนั้นเราไม่พยากรณ์เลย เราพยากรณ์อริยสัจ ๔ เท่านั้น.
บทว่า นเหตํ มาลุงฺกฺยปุตฺต อตฺถสฺหิตํ ดูก่อนมาลุงกยบุตร ข้อนั้นไม่ประกอบด้วยประโยชน์เลย คือ ทิฏฐินี้ก็ดี พยากรณ์นี้ก็ดี มิได้อาศัยเหตุเลย.
บทว่า น อาทิพฺรหฺมจริยกํ ไม่เป็นเบื้องต้นแห่งพรหมจรรย์ คือ แม้เพียงเบื้องต้นแห่งพรหมจรรย์ก็ไม่มี แม้เพียงศีลในส่วนเบื้องต้นก็ไม่มี.
ในบทว่า น นิพฺพิทาย ไม่เป็นไปเพื่อความหน่ายเป็นต้นมีความดังต่อไปนี้ ไม่เป็นไปเพื่อความหน่ายในวัฏฏะ เพื่อความคลายกําหนัด เพื่อดับวัฏฏะ เพื่อสงบราคะ
พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้า 307
เป็นต้น เพื่อรู้ยิ่งซึ่งธรรมที่ควรรู้ยิ่ง เพื่อตรัสรู้มรรค ๔ หรือเพื่อทําให้แจ้งนิพพานอันเป็นอสังขตธรรม.
บทว่า เอตฺหิ คือ การพยากรณ์อริยสัจ ๔ นี้.
บทว่า อาทิพฺรหฺมจริยกํ คือ เป็นเบื้องต้นเป็นพื้นฐานของพรหมจรรย์.
บทที่เหลือพึงทราบโดยนัยตรงกันข้ามกับที่กล่าวแล้ว.
พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงจบพระธรรมเทศนาแม้นี้ด้วยสามารถบุคคลที่ควรแนะนําได้.
จบอรรถกถาจูฬมาลุงกยโอวาทสูตรที่ ๓