พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๙. จูฬสกุลุทายิสูตร สกุลุทายิปริพาชก

 
บ้านธัมมะ
วันที่  28 ส.ค. 2564
หมายเลข  36084
อ่าน  648

[เล่มที่ 20] พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้า 619

๙. จูฬสกุลุทายิสูตร

สกุลุทายิปริพาชก


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 20]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 12 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้า 619

๙. จูฬสกุลุทายิสูตร

สกุลุทายิปริพาชก

[๓๖๗] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้.

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ พระวิหารเวฬุวันกลันทกนิวาปสถาน เขตพระนครราชคฤห์ สมัยนั้น สกุลุทายิปริพาชก อยู่ในปริพาชการามเป็นที่ให้เหยื่อแก่นกยูง พร้อมด้วยปริพาชกบริษัทหมู่ใหญ่. ครั้งนั้นเวลาเช้าพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงนุ่งแล้ว ทรงถือบาตรจีวรเสด็จเข้าไปบิณฑบาตยังกรุงราชคฤห์ ลําดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงดําริว่า การเที่ยวบิณฑบาตในกรุงราชคฤห์ยังเช้านัก อย่ากระนั้นเลย เราพึงเข้าไปหาสกุลุทายิปริพาชก ยังปริพาชการามอันเป็นที่ให้เหยื่อแก่นกยูงเถิด ลําดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จเข้าไปยังปริพาชการาม อันเป็นที่ให้เหยื่อแก่นกยูง.

ติรัจฉานกถา

[๓๖๘] ก็สมัยนั้น สกุลุทายิปริพาชกนั่งอยู่กับปริพาชกบริษัทหมู่ใหญ่ซึ่งกําลังสนทนาติรัจฉานกถาต่างเรื่อง ด้วยเสียงอื้ออึงอึกทึก คือ พูดเรื่องพระราชา ฯลฯ เรื่องความเจริญและความเสื่อมด้วยประการนั้น สกุลุทายิปริพาชกได้เห็นพระผู้มีพระภาคเจ้ากําลังเสด็จมาแต่ไกล ครั้นแล้วจึงห้ามบริษัทของตนให้สงบว่า ขอท่านทั้งหลายจงเบาๆ เสียงหน่อย อย่าส่งเสียงอึงนัก นี่พระสมณโคดมกําลังเสด็จมา พระองค์ท่านทรงโปรดเสียงเบาและสรรเสริญคุณของเสียงเบา บางทีพระองค์ท่านทรงทราบว่า บริษัทมีเสียงเบา พึงทรงสําคัญที่จะเสด็จเข้ามาก็ได้. ลําดับนั้น พวกปริพาชกเหล่านั้นพากันนิ่งอยู่ ครั้ง

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 12 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้า 620

นั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จเข้าไปหาสกุลุทายิปริพาชกจนถึงที่อยู่ สกุลุทายิปริพาชกได้กราบทูลเชิญพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ขอเชิญพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จมาเถิด พระเจ้าข้า พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จมาดีแล้ว นานๆ พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงจะมีโอกาสเสด็จมาถึงนี่ได้ ขอเชิญพระผู้มีพระภาคเจ้าประทับนั่งเถิด นี้อาสนะที่จัดไว้ พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับนั่งบนอาสนะที่จัดไว้ ส่วนสกุลุทายิปริพาชกถือเอาอาสนะต่ําแห่งหนึ่ง นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสถามสกุลุทายีปริพาชกผู้นั่งเรียบร้อยแล้วว่า ดูก่อนอุทายี เมื่อกี้นี้ ท่านทั้งหลายนั่งประชุมสนทนาเรื่องอะไรกัน ก็แหละเรื่องอะไรที่ท่านทั้งหลายหยุดค้างไว้ในระหว่าง.

[๓๖๙] สกุลุทายิปริพาชกกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เรื่องที่ข้าพระองค์ทั้งหลายประชุมสนทนากันเมื่อกี้นี้นั้น ของดไว้ก่อน เรื่องนั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าจักได้ทรงสดับในภายหลังโดยไม่ยาก ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อเวลาข้าพระองค์ไม่ได้เข้าไปหาบริษัทหมู่นี้ บริษัทหมู่นี้ก็นั่งพูดกันถึงติรัจฉานกถาต่างเรื่อง แต่เมื่อเวลาข้าพระองค์เข้าไปหาบริษัทหมู่นี้ บริษัทหมู่นี้ก็นั่งมองดูแต่หน้าข้าพระองค์ด้วยมีความประสงค์ว่า ท่านอุทายี พระสมณโคดมจักภาษิตธรรมใดแก่เราทั้งหลาย เราทั้งหลายจักฟังธรรมนั้น ดังนี้ และเมื่อเวลาพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จเข้าไปหาบริษัทหมู่นี้ ทั้งข้าพระองค์และบริษัทหมู่นี้ก็นั่งมองดูพระพักตร์ของพระผู้มีพระภาคเจ้า ด้วยมีประสงค์ว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าจักทรงภาษิตธรรมใดแก่เราทั้งหลาย เราทั้งหลายจักฟังธรรมนั้น.

พ. ดูก่อนอุทายี ถ้าอย่างนั้น ปัญหาจงปรากฏแก่ท่าน ซึ่งเป็นเหตุที่จะให้ธรรมเทศนาปรากฏแก่เรา.

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 12 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้า 621

[๓๗๐] ส. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ วันก่อนๆ หลายวันมาแล้ว ท่านผู้สัพพัญูสัพพทัสสาวี [ผู้สารพัดรู้สารพัดเห็น] มาปฏิญาณความรู้ความเห็นอันไม่มีส่วนเหลือว่า เมื่อเราเดินไป หยุดอยู่ หลับและตื่น ความรู้ความเห็นปรากฏอยู่เสมอร่ําไป ดังนี้ ท่านผู้นั้นถูกข้าพระองค์ถามปัญหาปรารภขันธ์ส่วนอดีต ก็เอาเรื่องอื่นมาพูดกลบเกลื่อน พูดเฉไปเสียนอกเรื่อง ได้ทําความโกรธ โทสะ และความไม่พอใจให้ปรากฏ ข้าพระองค์เกิดสติปรารภพระผู้มีพระภาคเจ้าเท่านั้นว่า โอ ผู้ฉลาดในธรรมเหล่านี้ จะเป็นผู้ใดเล่า ต้องเป็นพระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นแน่ ต้องเป็นพระสุคตเป็นแน่.

พ. ดูก่อนอุทายี ก็ท่านผู้สารพัดรู้สารพัดเห็นนั้น มาปฏิญาณความรู้ความเห็นอันไม่มีส่วนเหลือ... ได้ทําความโกรธ โทสะ และความไม่พอใจให้ปรากฏ เป็นใครเล่า.

ส. นิครนถ์นาฏบุตร พระเจ้าข้า.

ว่าด้วยขันธ์ส่วนอดีตและอนาคต

[๓๗๑] ดูก่อนอุทายี ผู้ใดพึงระลึกถึงชาติก่อนได้เป็นอันมาก คือ ระลึกได้ชาติหนึ่งบ้าง สองชาติบ้าง ฯลฯ พึงระลึกถึงชาติก่อนได้เป็นอันมาก พร้อมทั้งอาการ พร้อมทั้งอุเทศ ด้วยประการฉะนี้ ผู้นั้นควรถามปัญหาปรารภขันธ์ส่วนอดีตกะเรา หรือเราควรถามปัญหาปรารภขันธ์ส่วนอดีตกะผู้นั้น ผู้นั้นจะพึงยังจิตของเราให้ยินดีได้ ด้วยการพยากรณ์ปัญหาปรารภขันธ์ส่วนอดีต หรือเราจะพึงยังจิตของผู้นั้นให้ยินดีได้ ด้วยการพยากรณ์ปัญหาปรารภขันธ์ส่วนอดีต.

ดูก่อนอุทายี ผู้ใดพึงเห็นหมู่สัตว์ที่กําลังจุติ กําลังอุปบัติ เลว ประณีต มีผิวพรรณดี มีผิวพรรณทราม ได้ดี ตกยาก ด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 12 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้า 622

ล่วงจักษุของมนุษย์ ฯลฯ พึงรู้ชัดซึ่งหมู่สัตว์ผู้เป็นไปตามกรรม ด้วยประการฉะนี้ ผู้นั้นควรถามปัญหาปรารภขันธ์ส่วนอนาคตกะเรา หรือเราควรถามปัญหาปรารภขันธ์ส่วนอนาคตกะผู้นั้น ผู้นั้นพึงยังจิตของเราให้ยินดีได้ ด้วยการพยากรณ์ปัญหาปรารภส่วนอนาคต หรือเราพึงยังจิตของผู้นั้นให้ยินดีได้ ด้วยการพยากรณ์ปัญหาปรารภขันธ์ส่วนอนาคต.

ดูก่อนอุทายี แต่จงงดขันธ์ส่วนอนาคตไว้ก่อน เราจักแสดงธรรมแก่ท่านว่า เมื่อเหตุนี้มี ผลนี้จึงมี เพราะเหตุนี้เกิด ผลนี้จึงเกิด เมื่อเหตุนี้ไม่มี ผลนี้จึงไม่มี เพราะเหตุนี้ดับ ผลนี้จึงดับ.

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ แม้แต่ด้วยอัตภาพของข้าพระองค์ ที่เป็นอยู่บัดนี้ ข้าพระองค์ยังไม่สามารถจะระลึกถึงได้ พร้อมทั้งอาการ พร้อมทั้งอุเทศ ด้วยประการฉะนี้ ก็ไฉนจะระลึกชาติก่อนได้เป็นอันมาก คือ ระลึกได้ชาติหนึ่งบ้าง สองชาติบ้าง สามชาติบ้าง ฯลฯ จักระลึกถึงชาติก่อนได้เป็นอันมาก พร้อมทั้งอาการ พร้อมทั้งอุเทศ ด้วยประการฉะนี้ เหมือนพระผู้มีพระภาคเจ้าได้เล่า.

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ในเดี๋ยวนี้ แม้แต่ปังสุปีศาจ ข้าพระองค์ยังไม่เห็นเลย ไฉนจักเห็นหมู่สัตว์ที่กําลังจุติ กําลังอุปบัติ เลว ประณีต มีผิวพรรณดี มีผิวพรรณทราม ได้ดี ตกยาก ด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์ ล่วงจักษุของมนุษย์ ฯลฯ จักรู้ชัดซึ่งหมู่สัตว์ผู้เป็นไปตามกรรม ด้วยประการฉะนี้ เหมือนพระผู้มีพระภาคเจ้าได้เล่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็คําที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสกะข้าพระองค์อย่างนี้ว่า ดูก่อนอุทายี แต่จงงดขันธ์ส่วนอดีตและขันธ์ส่วนอนาคตไว้ก่อน เราจักแสดงธรรมแก่ท่านว่า เมื่อเหตุนี้มี ผลนี้จึงมี เพราะเหตุนี้เกิด ผลนี้จึงเกิด เมื่อเหตุนี้ไม่มี ผลนี้จึงไม่มี เพราะเหตุนี้ดับ

 
  ข้อความที่ 5  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 12 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้า 623

ผลนี้จึงดับ ดังนี้นั้น จะได้ปรากฏแก่ข้าพระองค์โดยยิ่งกว่าประมาณก็หาไม่ ไฉนข้าพระองค์ จะพึงยังจิตของพระผู้มีพระภาคเจ้าให้ยินดี ด้วยการพยากรณ์ปัญหา ในลัทธิอาจารย์ของตนได้เล่า.

เรื่องวรรณ

[๓๗๒] ดูก่อนอุทายี ก็ในลัทธิอาจารย์ของตนแห่งท่านมีว่าอย่างไร.

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ในลัทธิอาจารย์ของตนแห่งข้าพระองค์ มีอยู่อย่างนี้ว่า นี้เป็นวรรณอย่างยิ่ง นี้เป็นวรรณอย่างยิ่ง.

ดูก่อนอุทายี ในลัทธิอาจารย์ของตนแห่งท่านที่มีอยู่อย่างนี้ว่า นี้เป็นวรรณอย่างยิ่ง นี้เป็นวรรณอย่างยิ่ง ก็วรรณอย่างยิ่งเป็นไฉน.

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ วรรณใดไม่มีวรรณอื่นยิ่งกว่าหรือประณีตกว่า วรรณนั้นเป็นวรรณอย่างยิ่ง.

ดูก่อนอุทายี ก็วรรณไหนเล่าที่ไม่มีวรรณอื่นยิ่งกว่าหรือประณีตกว่า.

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ วรรณใดไม่มีวรรณอื่นยิ่งกว่าหรือประณีตกว่า วรรณนั้นเป็นวรรณอย่างยิ่ง.

[๓๗๓] ดูก่อนอุทายี ท่านกล่าวว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ วรรณ ใดไม่มีวรรณอื่นยิ่งกว่าหรือประณีตกว่า วรรณนั้นเป็นวรรณอย่างยิ่ง ดังนี้ วาจานั้นของท่านพึงขยายออกอย่างยืดยาว แต่ท่านไม่ชี้วรรณนั้นได้.

ดูก่อนอุทายี เปรียบเหมือนบุรุษพึงกล่าวอย่างนี้ว่า เราปรารถนารักใคร่นางชนปทกัลยาณีในชนบทนี้ คนทั้งหลายพึงถามเขาอย่างนี้ว่า พ่อ นางชนปทกัลยาณีที่พ่อปรารถนารักใคร่นั้น พ่อรู้จักหรือว่า เป็นนางกษัตริย์ พราหมณี แพศย์ ศูทร เมื่อเขาถูกถามดังนี้แล้ว เขาพึงตอบว่า หามิได้

 
  ข้อความที่ 6  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 12 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้า 624

คนทั้งหลายพึงถามเขาว่า พ่อ นางชนปทกัลยาณีที่พ่อปรารถนารักใคร่นั้น พ่อรู้จักหรือว่า นางมีวรรณอย่างนี้ มีโคตรอย่างนี้ เมื่อเขาถูกถามดังนี้แล้ว เขาพึงตอบว่า หามิได้ คนทั้งหลายพึงถามเขาว่า พ่อ นางชนปทกัลยาณีที่พ่อปรารถนารักใคร่นั้น พ่อรู้จักหรือว่า สูง ต่ํา หรือพอสันทัด ดํา ขาว หรือมีผิวคล้ํา อยู่ในบ้าน นิคม หรือนครโน้น เมื่อเขาถูกถามดังนี้แล้ว เขาพึงตอบว่า หามิได้ คนทั้งหลายพึงกล่าวกะเขาว่า พ่อปรารถนารักใคร่หญิงที่พ่อไม่รู้จัก ไม่เคยเห็นหรือ เมื่อเขาถูกถามดังนี้แล้ว เขาพึงตอบว่า ถูกแล้ว ดังนี้ ดูก่อนอุทายี ท่านจะสําคัญความข้อนั้นเป็นไฉน เมื่อเป็นเช่นนี้ คํากล่าวของบุรุษนั้น ถึงความเป็นคําใช้ไม่ได้ไม่ใช่หรือ.

แน่นอน พระเจ้าข้า เมื่อเป็นเช่นนั้น คํากล่าวของบุรุษนั้น ถึงความเป็นคําใช้ไม่ได้.

ดูก่อนอุทายี ท่านก็ฉันนั้นเหมือนกัน กล่าวอยู่แต่ว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ วรรณใดไม่มีวรรณอื่นยิ่งกว่าหรือประณีตกว่า วรรณนั้นเป็นวรรณอย่างยิ่ง ดังนี้ แต่ไม่ชี้วรรณนั้น.

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เปรียบเหมือนแก้วไพฑูรย์อันงาม เกิดเองอย่างบริสุทธิ์ ๘ เหลี่ยม นายช่างเจียระไนดีแล้ว เขาวางไว้ที่ผ้ากัมพลแดง ย่อมสว่างไสว ส่องแสงเรืองอยู่ ฉันใด ตัวตนก็มีวรรณ ฉันนั้น เมื่อตายไปย่อมเป็นของไม่มีโรค.

[๓๗๔] ดูก่อนอุทายี ท่านจะสําคัญความข้อนั้นเป็นไฉน แก้วไพฑูรย์อันงาม เกิดเองอย่างบริสุทธิ์ ๘ เหลี่ยม นายช่างเจียระไนดีแล้ว เขาวางไว้ที่ผ้ากัมพลแดง ย่อมสว่างไสวส่องแสงเรืองอยู่ ๑ แมลงหิ่งห้อยในเวลาเดือนมืดในราตรี ๑ บรรดาวรรณทั้งสองนี้ วรรณไหนจะงามและประณีตกว่ากัน.

 
  ข้อความที่ 7  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 12 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้า 625

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ บรรดาวรรณทั้งสองนี้ แมลงหิ่งห้อยในเวลาเดือนมืดในราตรีนี้ งามกว่าด้วย ประณีตกว่าด้วย.

[๓๗๕] ดูก่อนอุทายี ท่านจะสําคัญความข้อนั้นเป็นไฉน แมลงหิ่งห้อยในเวลาเดือนมืดในราตรี ๑ ประทีปน้ํามันในเวลาเดือนมืดในราตรี ๑ บรรดาวรรณทั้งสองนี้ วรรณไหนจะงามและประณีตกว่ากัน.

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ บรรดาวรรณทั้งสองนี้ ประทีปน้ํามันในเวลาเดือนมืดในราตรีนี้งามกว่าด้วย ประณีตกว่าด้วย.

[๓๗๖] ดูก่อนอุทายี ท่านจะสําคัญความข้อนั้นเป็นไฉน ประทีปน้ํามันในเวลาเดือนมืดในราตรี ๑ กองไฟใหญ่ในเวลาเดือนมืดในราตรี ๑ บรรดาวรรณทั้งสองนี้ วรรณไหนจะงามและประณีตกว่ากัน.

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ บรรดาวรรณทั้งสองนี้ กองไฟใหญ่ในเวลาเดือนมืดในเวลาราตรีนี้งามกว่าด้วย ประณีตกว่าด้วย.

[๓๗๗] ดูก่อนอุทายี ท่านจะสําคัญความข้อนั้นเป็นไฉน กองไฟในเวลาเดือนมืดในราตรี ๑ ดาวพระศุกร์ในอากาศอันกระจ่างปราศจากเมฆในเวลาใกล้รุ่งแห่งราตรี ๑ บรรดาวรรณทั้งสองนี้ วรรณไหนจะงามและ ประณีตกว่ากัน.

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ บรรดาวรรณทั้งสองนี้ ดาวพระศุกร์ในอากาศอันกระจ่างปราศจากเมฆ ในเวลาใกล้รุ่งแห่งราตรีนี้งามกว่าด้วย ประณีตกว่าด้วย.

[๓๗๘] ดูก่อนอุทายี ท่านจะสําคัญความข้อนั้นเป็นไฉน ดาวพระศุกร์ในอากาศอันกระจ่างปราศจากเมฆ ในเวลาใกล้รุ่งแห่งราตรี ๑ ดวงจันทร์ในเวลาเที่ยงคืนตรงในอากาศอันกระจ่างปราศจากเมฆ ในวันอุโบสถที่ ๑๕ [เพ็ญกลางเดือน] ๑ บรรดาวรรณทั้งสองนี้ วรรณไหนจะงามและประณีตกว่ากัน.

 
  ข้อความที่ 8  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 12 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้า 626

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ บรรดาวรรณทั้งสองนี้ ดวงจันทร์ในเวลาเที่ยงคืนตรง ในอากาศอันกระจ่างปราศจากเมฆ ในวันอุโบสถที่ ๑๕ นี้งามกว่าด้วย ประณีตกว่าด้วย.

[๓๗๙] ดูก่อนอุทายี ท่านจะสําคัญความข้อนั้นเป็นไฉน ดวงจันทร์ในเวลาเที่ยงคืนตรง ในอากาศอันกระจ่างปราศจากเมฆในวันอุโบสถที่ ๑๕ ค่ํา ๑ ดวงอาทิตย์ในเวลาเที่ยงตรง ในอากาศอันกระจ่างปราศจากเมฆ ในสรท สมัยเดือนท้ายฤดูฝน ๑ บรรดาวรรณทั้งสองนี้ วรรณไหนจะงามกว่าและประณีตกว่ากัน.

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ บรรดาวรรณทั้งสองนี้ ดวงอาทิตย์ในเวลาเที่ยงตรง ในอากาศอันกระจ่างปราศจากเมฆ ในสรทสมัยเดือนท้ายฤดูฝนนี้งามกว่าด้วย ประณีตกว่าด้วย.

ดูก่อนอุทายี เทวดาเหล่าใดย่อมสู้แสงพระจันทร์พระอาทิตย์ไม่ได้ เทวดาเหล่านั้นมีมาก มีมากยิ่งกว่าเทวดาพวกที่สู้แสงพระจันทร์และพระอาทิตย์ได้ เรารู้ทั่วถึงเทวดาพวกนั้นอยู่ เราก็ไม่กล่าวว่า วรรณใดไม่มีวรรณอื่นยิ่ง กว่าหรือประณีตกว่า เมื่อเป็นเช่นนี้ ท่านก็ชื่อว่ากล่าวอยู่ว่า วรรณใดที่เลวกว่าและเศร้าหมองกว่าแมลงหิ่งห้อย วรรณนั้นเป็นวรรณอย่างยิ่ง ดังนี้ แต่ท่านไม่ชี้วรรณนั้นเท่านั้น.

พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงค้านเรื่องนี้เสียแล้ว พระสุคตเจ้าทรงค้านเรื่องนี้เสียแล้ว.

ดูก่อนอุทายี ทําไมท่านจึงกล่าวอย่างนี้ว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงค้านเรื่องนี้เสียแล้ว พระสุคตทรงค้านเรื่องนี้เสียแล้วดังนี้เล่า.

 
  ข้อความที่ 9  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 12 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้า 627

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ในลัทธิอาจารย์ของตน ของข้าพระองค์ทั้งหลาย มีอยู่อย่างนี้ว่า วรรณนี้เป็นวรรณอย่างยิ่ง วรรณนี้เป็นวรรณอย่างยิ่ง ดังนี้ ข้าพระองค์เหล่านั้น เมื่อถูกพระผู้มีพระภาคเจ้าสอบสวน ซักไซร้ ไล่เรียงในลัทธิอาจารย์ของตน ก็เป็นคนว่างเปล่าผิดไปหมด.

ปัญหาเรื่องสุข-ทุกข์

[๓๘๐] ดูก่อนอุทายี โลกมีความสุขโดยส่วนเดียว มีอยู่หรือ ปฏิปทาที่มีเหตุ เพื่อทําให้แจ้งซึ่งโลกที่มีสุขโดยส่วนเดียวมีอยู่หรือ.

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ในลัทธิอาจารย์ของตน ของข้าพระองค์ทั้งหลาย มีอยู่อย่างนี้ว่า โลกมีความสุขโดยส่วนเดียวมีอยู่ ปฏิปทาที่มีเหตุเพื่อทําให้แจ้งซึ่งโลกที่มีความสุขโดยส่วนเดียว ก็มีอยู่.

ดูก่อนอุทายี ก็ปฏิปทาที่มีเหตุเพื่อทําให้แจ้งซึ่งโลกที่มีสุขโดยส่วนเดียวนั้นเป็นไฉน.

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ บุคคลบางคนในโลกนี้ ละการฆ่าสัตว์ เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ ละการลักทรัพย์ เว้นขาดจากการลักทรัพย์ ละการประพฤติผิดในกาม เว้นขาดจากการประพฤติผิดในกาม ละการพูดเท็จ เว้นขาดจากการพูดเท็จ สมาทานคุณ คือ ตบะอย่างใดอย่างหนึ่ง ประพฤติอยู่ นี้แลปฏิปทาที่มีเหตุเพื่อทําให้แจ้งซึ่งโลกที่มีสุขโดยส่วนเดียว พระเจ้าข้า.

[๓๘๑] ดูก่อนอุทายี ท่านจะสําคัญความข้อนั้นเป็นไฉน ในสมัยที่บุคคลละการฆ่าสัตว์ เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์นั้น ตนมีสุขโดยส่วนเดียว หรือมีสุขบ้างทุกข์บ้าง.

มีสุขบ้างทุกข์บ้าง พระเจ้าข้า.

 
  ข้อความที่ 10  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 12 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้า 628

ดูก่อนอุทายี ท่านจะสําคัญความข้อนั้นเป็นไฉน ในสมัยที่ตนละการลักทรัพย์ เว้นขาดจากการลักทรัพย์นั้น ตนมีสุขโดยส่วนเดียว หรือมีสุขบ้างทุกข์บ้าง.

มีสุขบ้างทุกข์บ้าง พระเจ้าข้า.

ดูก่อนอุทายี ท่านจะสําคัญความข้อนั้นเป็นไฉน ในสมัยที่ตนละการประพฤติผิดในกาม เว้นขาดจากการประพฤติผิดในกามนั้น ตนมีสุขโดยส่วนเดียวหรือมีสุขบ้างทุกข์บ้าง.

มีสุขบ้างทุกข์บ้าง พระเจ้าข้า.

ดูก่อนอุทายี ท่านจะสําคัญความข้อนั้นเป็นไฉน ในสมัยที่ตนละการพูดเท็จ เว้นขาดจากการพูดเท็จนั้น ตนมีสุขโดยส่วนเดียว หรือมีสุขบ้างทุกข์บ้าง.

มีสุขบ้างทุกข์บ้าง พระเจ้าข้า.

ดูก่อนอุทายี ท่านจะสําคัญความข้อนั้นเป็นไฉน ในสมัยที่ตนสมาทานคุณ คือ ตบะอย่างใดอย่างหนึ่ง ประพฤติอยู่นั้น ตนมีสุขโดยส่วนเดียว หรือมีสุขบ้างทุกข์บ้าง.

มีสุขบ้างทุกข์บ้าง พระเจ้าข้า.

ดูก่อนอุทายี ท่านจะสําคัญความข้อนั้นเป็นไฉน การจะอาศัยปฏิปทาอันมีทั้งสุขและทุกข์เกลื่อนกล่น แล้วทําให้แจ้งซึ่งโลกที่มีสุขโดยส่วนเดียว มีอยู่บ้างหรือหนอ.

พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงคัดค้านเรื่องนี้เสียแล้ว พระสุคตทรงคัดค้านเรื่องนี้เสียแล้ว.

ดูก่อนอุทายี ทําไมท่านจึงกล่าวอย่างนี้ว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงคัดค้านเรื่องนี้เสียแล้ว พระสุคตทรงคัดค้านเรื่องนี้เสียแล้ว ดังนี้เล่า.

 
  ข้อความที่ 11  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 12 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้า 629

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ในลัทธิอาจารย์ของตนของข้าพระองค์ทั้งหลาย มีอยู่อย่างนี้ว่า โลกมีสุขโดยส่วนเดียวมีอยู่ ปฏิปทาที่มีเหตุเพื่อทําให้แจ้งซึ่งโลกที่มีสุขโดยส่วนเดียวก็มีอยู่ ดังนี้ ข้าพระองค์เหล่านั้น เมื่อถูกพระผู้มีพระภาคเจ้าสอบสวน ซักไซร้ ไล่เรียง ในลัทธิอาจารย์ของตน ก็เป็นคนว่างเปล่า ผิดไปหมด ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็โลกซึ่งมีความสุขโดยส่วนเดียว มีอยู่หรือ ปฏิปทาที่มีเหตุเพื่อทําให้แจ้งซึ่งโลกที่มีสุขโดยส่วนเดียวมีอยู่หรือ.

ดูก่อนอุทายี โลกมีสุขโดยส่วนเดียวมีอยู่ ปฏิปทาที่มีเหตุเพื่อทําให้แจ้งซึ่งโลกที่มีสุขโดยส่วนเดียวให้แจ้งชัดก็มีอยู่.

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็ปฏิปทาที่มีเหตุเพื่อทําให้แจ้งซึ่งโลกที่มีสุขโดยส่วนเดียวนั้นเป็นไฉน.

ฌาน ๔

[๓๘๒] ดูก่อนอุทายี ภิกษุในธรรมวินัยนี้ สงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรม บรรลุปฐมฌาน มีวิตก มีวิจาร มีปีติและสุขเกิดแต่วิเวกอยู่ ๑ บรรลุทุติยฌาน มีความผ่องใสแห่งจิตในภายใน เป็นธรรมเอกผุดขึ้น ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร เพราะวิตกวิจารสงบไป มีปีติและสุขเกิดแต่สมาธิอยู่ ๑ มีอุเบกขา มีสติสัมปชัญญะและเสวยสุขด้วยนามกาย เพราะปีติสิ้นไป บรรลุตติยฌานที่พระอริยะทั้งหลาย สรรเสริญว่า ผู้ได้ฌานนี้ เป็นผู้มีอุเบกขา มีสติ อยู่เป็นสุข ๑ นี้แลปฏิปทาที่มีเหตุเพื่อให้แจ้งซึ่งโลกที่มีสุขโดยส่วนเดียว.

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ทําไมหนอ ปฏิปทานั้นจึงเป็นปฏิปทาที่มีเหตุเพื่อทําให้แจ้งซึ่งโลก ที่มีสุขโดยส่วนเดียวได้ เพราะโลกมีความสุขโดยส่วนเดียว เป็นอันภิกษุนั้นทําให้แจ้งชัดด้วยปฏิปทามีประมาณเท่านี้.

 
  ข้อความที่ 12  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 12 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้า 630

ดูก่อนอุทายี โลกมีความสุขส่วนเดียว จะเป็นอันภิกษุนั้นทําให้แจ้งชัดด้วยปฏิปทามีประมาณเท่านี้หามิได้แล แต่ปฏิปทานั้นมีเหตุทีเดียว เพื่อทําให้แจ้งซึ่งโลกที่มีความสุขโดยส่วนเดียวได้.

[๓๘๓] เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสอย่างนี้แล้ว บริษัทของสกุลุทายิปริพาชกได้บันลือเสียงสูงเสียงใหญ่กันเอ็ดอึงว่า เราทั้งหลายพร้อมทั้งอาจารย์ จะได้ยินดีในเหตุนี้หามิได้ เราทั้งหลายพร้อมทั้งอาจารย์ จะได้ยินดีในเหตุนี้หามิได้ เราทั้งหลายยังไม่รู้ชัดซึ่งปฏิปทาที่ยิ่งไปกว่านี้ ลําดับนั้น สกุลุทายิปริพาชก ห้ามปริพาชกเหล่านั้นให้สงบเสียงแล้ว ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็ด้วยข้อปฏิบัติเพียงเท่าไร จึงเป็นอันภิกษุนั้นทําให้แจ้งซึ่งโลกที่มีความสุขโดยส่วนเดียวได้เล่า.

[๓๘๔] ดูก่อนอุทายี ภิกษุในธรรมวินัยนี้บรรลุจตุตถฌาน ไม่มีทุกข์ไม่มีสุข เพราะละสุขละทุกข์และดับโสมนัสโทมนัสก่อนๆ ได้ มีอุเบกขาเป็นเหตุให้สติบริสุทธิ์อยู่ ยืนด้วยกัน เจรจากัน กับเทวดาทั้งหลายผู้เข้าถึงโลกที่มีสุขโดยส่วนเดียวเหล่านั้นได้ ดูก่อนอุทายี ด้วยข้อปฏิบัติเพียงเท่านี้แล เป็นอันภิกษุนั้นทําให้แจ้งซึ่งโลกที่มีความสุขโดยส่วนเดียวได้.

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภิกษุทั้งหลายย่อมประพฤติพรหมจรรย์ในพระผู้มีพระภาคเจ้า เพราะเหตุจะทําให้แจ้งซึ่งโลกที่มีสุขโดยส่วนเดียวนี้ โดยแท้หรือ.

ดูก่อนอุทายี ภิกษุทั้งหลายจะประพฤติพรหมจรรย์ในเรา เพราะเหตุจะทําให้แจ้งซึ่งโลกที่มีสุขโดยส่วนเดียวนี้ หามิได้ ดูก่อนอุทายี ธรรมเหล่าอื่นที่ยิ่งกว่าและประณีตกว่า ที่ภิกษุทั้งหลายประพฤติพรหมจรรย์ในเรา เพราะเหตุที่จะทําให้แจ้งชัดนั้น ยังมีอยู่.

 
  ข้อความที่ 13  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 12 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้า 631

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็ธรรมทั้งหลายที่ยิ่งกว่าและประณีตกว่าที่ภิกษุทั้งหลายประพฤติพรหมจรรย์ในพระผู้มีพระภาคเจ้า เพราะเหตุจะทําให้แจ้งชัดนั้นเป็นไฉน.

[๓๘๕] ดูก่อนอุทายี พระตถาคตเสด็จอุบัติขึ้นในโลกนี้ เป็นพระอรหันต์ตรัสรู้เองโดยชอบ ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ เสด็จไปดี ทรงรู้แจ้งโลก เป็นสารถีฝึกบุรุษ ไม่มีผู้อื่นยิ่งกว่า เป็นศาสดาของพวกเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นผู้เบิกบานแล้ว เป็นผู้จําแนกพระธรรม พระตถาคตพระองค์นั้น ทรงทําโลกนี้พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ให้แจ้งชัดด้วยพระปัญญาอันยิ่งของพระองค์เองแล้ว ทรงสอนหมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดาและมนุษย์ให้รู้ตาม ทรงแสดงธรรมมีคุณอันงามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด ทรงประกาศพรหมจรรย์ พร้อมทั้งอรรถ พร้อมทั้งพยัญชนะ บริสุทธิ์บริบูรณ์สิ้นเชิง คฤหบดี หรือผู้เกิดเฉพาะในตระกูลใดตระกูลหนึ่งย่อมฟังธรรมนั้น แล้วได้ศรัทธาในพระตถาคต เขาประกอบด้วยศรัทธานั้น ย่อมเห็นตระหนักชัดว่า ฆราวาสคับแคบ เป็นทางมาแห่งธุลี บรรพชาเป็นทางปลอดโปร่ง การที่บุคคลผู้ครองเรือนจะประพฤติพรหมจรรย์ให้บริบูรณ์ให้บริสุทธิ์โดยส่วนเดียวดุจสังข์ขัด ไม่ใช่ทําได้ง่าย ถ้ากระไรเราพึงปลงผมและหนวด นุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ออกบวชเป็นบรรพชิต สมัยต่อมา เขาละกองโภคสมบัติน้อยใหญ่ ละเครือญาติน้อยใหญ่ ปลงผมและหนวด นุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ออกบวชเป็นบรรพชิต เมื่อบวชแล้ว สํารวมระวังในพระปาติโมกข์อยู่ ถึงพร้อมด้วยมรรยาทและโคจร มีปรกติเห็นในโทษเพียงเล็กน้อยว่าเป็นภัย สมาทานศึกษาอยู่ในสิกขาบททั้งหลาย ประกอบด้วยกายกรรม วจีกรรม ที่เป็นกุศล มีอาชีพบริสุทธิ์ ถึงพร้อมด้วยศีล คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย

 
  ข้อความที่ 14  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 12 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้า 632

ประกอบด้วยสติสัมปชัญญะเป็นผู้สันโดษ ฯลฯ ภิกษุนั้นละนิวรณ์ ๕ ประการเหล่านี้ อันเป็นเครื่องเศร้าหมองใจ เป็นเครื่องทําปัญญาให้ทุรพลได้แล้ว เธอสงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรมทั้งหลาย บรรลุปฐมฌาน มีวิตก มีวิจาร มีปีติและสุขเกิดแต่วิเวกอยู่ ดูก่อนอุทายี ธรรมแม้นี้แลเป็นธรรมที่ยิ่งกว่าและประณีตกว่า ที่ภิกษุทั้งหลายประพฤติพรหมจรรย์ในเรา เพราะเหตุที่จะทําให้แจ้งชัด.

ดูก่อนอุทายี อีกประการหนึ่ง ภิกษุบรรลุทุติยฌาน มีความผ่องใสแห่งจิตในภายใน เป็นธรรมเอกผุดขึ้น ไม่มีวิตกวิจาร เพราะวิตกวิจารสงบไป มีปีติและสุขเกิดแต่สมาธิอยู่ ดูก่อนอุทายี ธรรมแม้นี้แล เป็นธรรมที่ยิ่งกว่าและประณีตกว่า ที่ภิกษุทั้งหลายประพฤติพรหมจรรย์ในเรา เพราะเหตุที่จะทําให้แจ้งชัด.

ดูก่อนอุทายี อีกประการหนึ่ง ภิกษุมีอุเบกขา มีสติสัมปชัญญะและเสวยสุขด้วยนามกาย เพราะปีติสิ้นไป บรรลุตติยฌานที่พระอริยะทั้งหลาย สรรเสริญว่า ผู้ได้ฌานนี้เป็นผู้มีอุเบกขา มีสติอยู่เป็นสุข ดูก่อนอุทายี ธรรมแม้นี้แล เป็นธรรมที่ยิ่งกว่าและประณีตกว่า ที่ภิกษุทั้งหลายประพฤติพรหมจรรย์ในเรา เพราะเหตุที่จะทําให้แจ้งชัด.

ดูก่อนอุทายี อีกประการหนึ่ง ภิกษุบรรลุจตุตถฌาน ไม่มีทุกข์ไม่มีสุข เพราะละสุขละทุกข์และดับโสมนัสโทมนัสก่อนๆ ได้ มีอุเบกขาเป็นเหตุ ให้สติบริสุทธิ์อยู่ ดูก่อนอุทายี ธรรมแม้นี้แล เป็นธรรมที่ยิ่งกว่าและประณีตกว่า ที่ภิกษุทั้งหลายประพฤติพรหมจรรย์ในเรา เพราะเหตุที่จะทําให้แจ้งชัด.

 
  ข้อความที่ 15  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 12 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้า 633

ญาณ ๓

[๓๘๖] ภิกษุนั้น เมื่อจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ผ่องแผ้ว ไม่มีกิเลส อ่อน ควรแก่การงาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวอย่างนี้ ย่อมโน้มน้อมจิตไปเพื่อปุพเพนิวาสานุสสติญาณ เธอย่อมระลึกถึงชาติก่อนได้เป็นอันมาก คือ ระลึกได้ชาติหนึ่งบ้าง สองชาติบ้าง ฯลฯ เธอย่อมระลึกถึงชาติก่อนได้เป็นอันมาก พร้อมทั้งอาการ พร้อมทั้งอุเทศ ด้วยประการฉะนี้ ดูก่อนอุทายี ธรรมแม้นี้แลเป็นธรรมที่ยิ่งกว่าและประณีตกว่า ที่ภิกษุทั้งหลายประพฤติพรหมจรรย์ในเราเพราะเหตุที่จะทําให้แจ้งชัด.

ภิกษุนั้น เมื่อจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ผ่องแผ้ว ไม่มีกิเลส ปราศจากอุปกิเลส อ่อน ควรแก่การงาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวอย่างนี้ ย่อมโน้มน้อมจิตไป เพื่อรู้จุติและอุปบัติของสัตว์ทั้งหลาย เธอเห็นหมู่สัตว์ที่กําลังอุปบัติ เลว ประณีต มีผิวพรรณดี มีผิวพรรณทราม ได้ดี ตกยาก ด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์ ล่วงจักษุของมนุษย์ ฯลฯ เธอย่อมรู้ชัดซึ่งหมู่สัตว์ผู้เป็นไปตามกรรม ด้วยประการฉะนี้ ดูก่อนอุทายี ธรรมแม้นี้ เป็นธรรมที่ยิ่งกว่าและประณีตกว่า ที่ภิกษุทั้งหลายประพฤติพรหมจรรย์ในเรา เพราะเหตุที่จะทําให้แจ้งชัด.

ภิกษุนั้น เมื่อจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ผ่องแผ้ว ไม่มีกิเลส ปราศจากอุปกิเลส อ่อน ควรแก่การงาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวอย่างนี้ ย่อมโน้มน้อมจิตไปเพื่ออาสวักขยญาณ ย่อมรู้ชัดตามความเป็นจริงว่า นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย นี้ทุกขนิโรธ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา นี้อาสวะ นี้อาสวสมุทัย นี้อาสวนิโรธ นี้อาสวนิโรธคามินีปฏิปทา เมื่อเธอรู้เห็นอย่างนี้ จิตย่อมหลุดพ้นแม้จากกามาสวะ แม้จากภวาสวะ แม้จากอวิชชาสวะ เมื่อจิตหลุดพ้นแล้ว ก็มีญาณหยั่งรู้ว่าหลุดพ้นแล้ว รู้ชัดว่าชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทํา

 
  ข้อความที่ 16  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 12 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้า 634

เสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี ดูก่อนอุทายี ธรรมแม้นี้แล เป็นธรรมที่ยิ่งกว่าและประณีตกว่า ที่ภิกษุทั้งหลายประพฤติพรหมจรรย์ในเรา เพราะเหตุที่จะทําให้แจ้งชัด.

สกุลุทายีขอบวช

[๓๘๗] เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสอย่างนี้แล้ว สกุลุทายิปริพาชกกราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก เปรียบเหมือนบุคคลหงายของที่คว่ํา เปิดของที่ปิด บอกทางแก่คนหลงทาง หรือตามประทีปในที่มืด ด้วยหวังว่า ผู้มีจักษุจักเห็นรูปดังนี้ฉันใด พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงประกาศธรรมโดยอเนกปริยายฉันนั้นเหมือนกัน ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์นี้ขอถึงพระผู้มีพระภาคเจ้า พระธรรม และพระภิกษุสงฆ์ว่าเป็นสรณะ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอข้าพระองค์พึงได้บรรพชาอุปสมบทในสํานักของพระผู้มีพระภาคเจ้าเถิด.

[๓๘๘] เมื่อสกุลุทายิปริพาชกกราบทูลอย่างนี้แล้ว บริษัทของสกุลุทายิปริพาชกได้กล่าวห้ามสกุลุทายิปริพาชกว่า ท่านอุทายี ท่านอย่าประพฤติพรหมจรรย์ในพระสมณโคดมเลย ท่านอุทายี ท่านเป็นอาจารย์ อย่าอยู่เป็นอันเตวาสิกเลย เปรียบเหมือนหม้อน้ําแล้วจะพึงเป็นจอกน้อยลอยในน้ํา ฉันใด ข้ออุปไมยนี้ ก็จักมีแก่ท่านอุทายี ฉันนั้น ท่านอุทายี ท่านอย่าประพฤติพรหมจรรย์ในพระสมณโคดมเลย ท่านอุทายีเป็นอาจารย์ อย่าอยู่เป็นอันเตวาสิกเลย.

 
  ข้อความที่ 17  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 12 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้า 635

ก็เรื่องนี้ เป็นอันยุติว่า บริษัทของสกุลุทายิปริพาชก ได้ทําสกุลุทายิปริพาชกให้เป็นอันตรายในพรหมจรรย์ ในพระผู้มีพระภาคเจ้าด้วยประการฉะนี้แล.

จบจูฬสกุลุทายิสูตรที่ ๙

อรรถกถาจูฬสกุลุทายิสูตร

จูฬสกุลุทายิสูตร มีบทเริ่มต้นว่า เอวมฺเม สุตํ ข้าพเจ้าได้สดับมา อย่างนี้.

ในบรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ยทา ปน ภนฺเต ภควา คือ ปริพาชกประสงค์จะฟังธรรมกถานี้ เมื่อจะแสดงความมีอาลัยในพระธรรมเทศนา จึงกล่าวแล้ว.

บทว่า ตํเยเวตฺถ ปฏิภาตุ ปัญหาจงปรากฏแก่ท่าน ความว่า หากท่านประสงค์จะฟังธรรม ปัญหาข้อหนึ่ง เหตุอย่างหนึ่ง จงปรากฏแก่ท่าน.

บทว่า ยถา มํ ปฏิภาเสยฺย คือ เป็นเหตุที่จะให้ธรรมเทศนาปรากฏแก่เรา. ท่านแสดงว่าเมื่อกถาตั้งขึ้นด้วยเหตุนั้น เพื่อจะฟังธรรมได้สบาย.

บทว่า ตสฺส มยฺหํ ภนฺเต ข้าพระองค์เกิดสติปรารภพระผู้มีพระภาคเจ้า ความว่า นัยว่าสกุลุทายิปริพาชกนั้น เห็นพระผู้มีพระภาคเจ้านั้นคิดว่า หากพระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ ที่นี้ ความแห่งภาษิตนี้จักปรากฏ จึงระลึกถึงพระทศพลว่า พระทศพลจักทรงทําเนื้อความให้ปรากฏ ดุจให้ประทีปพันดวงช่วงโชติฉะนั้น. เพราะฉะนั้น สกุลุทายิปริพาชก จึงได้กล่าวคํามีอาทิว่า ตสฺส มยฺหํ ภนฺเต ดังนี้.

ในบทเหล่านั้นบทว่า อโห นูน ทั้งสองบทเป็นนิบาตลงในความว่าเป็นที่ระลึกถึง.

ด้วยเหตุนั้นเมื่อสกุลุทายิปริพาชกระลึกถึงพระผู้มีพระภาคเจ้า

 
  ข้อความที่ 18  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 12 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้า 636

จึงได้มีความระลึกถึงว่า อโห นูน ภควา อโห นูน สุคโต โอ ผู้ฉลาดในธรรมเหล่านี้ ต้องเป็นพระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นแน่ ต้องเป็นพระสุคตเป็นแน่.

บทว่า โย อิเมสํ ความว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์ใดเป็นผู้ฉลาดดี ฉลาดด้วยดี ชํานาญ เฉียบแหลมในธรรมเหล่านี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น พึงทรงกล่าวเป็นแน่. พระสุคตพระองค์นั้น พึงทรงกล่าวเป็นแน่. เพราะกิเลสเครื่องถึงภพใหญ่น้อยอย่างเดียวแสนโกฏิไม่น้อย ปรากฏแก่ปุพเพนิวาสญาณของพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น นี้เป็นอธิบายในบทนี้ด้วยประการฉะนี้.

บทว่า ตสฺส วาหํ ปุพฺพนฺตํ อารพฺภ หรือเราพึงปรารภส่วนอดีต ความว่า จริงอยู่ ผู้ใด เป็นผู้มีลาภ ผู้นั้นเมื่อเขากล่าวว่า เมื่อก่อนท่านได้เป็นกษัตริย์ ได้เป็นพราหมณ์ เมื่อได้อยู่ จักฟังโดยเคารพ. ส่วนผู้ไม่มีลาภ จักเป็นอย่างนี้ จักเป็นอย่างนี้ ดังนี้บ้าง เขาย่อมแสดงเพียงกรรมเท่านั้น. เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า จึงตรัสอย่างนี้ว่า เราจะพึงยังจิตของผู้นั้น ให้ยินดีได้ด้วยการพยากรณ์ ปัญหาปรารภขันธ์ส่วนอดีต ดังนี้.

บทว่า โส วา มํ อปรนฺตํ ผู้นั้นพึงถามปัญหาปรารภขันธ์ส่วนอนาคตกะเรา คือ เพราะอนาคตังสญาณ ย่อมสําเร็จ แก่ผู้ได้ทิพยจักษุ. เพราะฉะนั้น พระองค์จึงตรัสอย่างนี้.

บทนอกนี้มีนัยดังได้กล่าวแล้วในตอนก่อน.

บทว่า ธมฺมํ โว เทสิสฺสามิ เราจักแสดงธรรมแก่เธอทั้งหลาย ความว่า ได้ยินว่า สกุลุทายิปริพาชกนี้ แม้เมื่อแสดงถึงขันธ์ในอดีตก็จักไม่รู้ แม้เมื่อแสดงถึงขันธ์ในอนาคตก็จักไม่รู้. เมื่อเป็นดังนี้พระผู้มีพระภาคเจ้ามีพระประสงค์จะทรงแสดงถึงปัจจยาการอันละเอียดอ่อน จึงตรัสอย่างนั้น. ก็สกุลุทายีนั้นจักรู้ขันธ์นั้นได้หรือ จักยังไม่รู้ขันธ์นั้นในทันทีทันใด แต่จักเป็นปัจจัยแห่งวาสนาของเขาในอนาคต พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเห็นดังนี้จึงตรัส

 
  ข้อความที่ 19  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 12 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้า 637

อย่างนั้น.

บทว่า ปํสุปีสาจกํ ปีศาจฝุ่น คือ ปีศาจที่เกิดในที่ไม่สะอาด. ด้วยว่าปีศาจนั้น ถือเอารากไม้รากหนึ่งแล้วไม่ปรากฏกาย.

มีเรื่องเล่าว่า ยักษิณีตนหนึ่งให้ทารก ๒ คนนั่งที่ประตูถูปารามแล้วเข้าไปในเมืองเพื่อแสวงหาอาหาร. พวกเด็กเห็นพระเถระกําลังออกบิณฑบาตรูปหนึ่ง จึงกล่าวว่า พระคุณเจ้าขอรับ มารดาของพวกเรา เข้าไปภายในพระนคร พระคุณเจ้าเห็นช่วยบอกแก่มารดานั้น เจ้าได้สิ่งใดจงถือเอาสิ่งที่ได้แล้วรีบกลับไปเสีย. พวกเด็กเหล่านั้นไม่อาจจะรออยู่ได้ เพราะความหิว. พระเถระถามว่าเราจะเห็นมารดาของเจ้านั้นได้อย่างไรเล่า. พวกเด็กจึงกล่าวว่า พระคุณเจ้า จงถือเอารากไม้นี้เถิด แล้วได้ถวายรากไม้ชิ้นหนึ่ง. ยักษ์หลายพันได้ปรากฏแก่พระเถระ พระเถระได้เห็นยักษิณีนั้นด้วยสัญญาณที่พวกเด็กให้ไว้. พระเถระเห็นยักษิณีมีรูปร่างน่าเกลียด น่ากลัว หวังแต่จะหาของสกปรกที่ถนนกันแต่อย่างเดียว จึงกล่าวความนี้ เมื่อยักษิณีถามว่า ท่านเห็นฉันได้อย่างไร พระเถระจึงแสดงชิ้นรากไม้ให้ดู. ยักษิณีคว้ารากไม้ถือเอาไป. ปีศาจฝุ่นทั้งหลาย ถือรากไม้รากหนึ่งแล้วไม่ปรากฏกายด้วยประการฉะนี้.

สกุลุทายิปริพาชกนั้นกล่าวว่า แม้ปีศาจฝุ่น ข้าพระองค์ยังไม่เห็นเลยหมายถึงยักษิณีนั้น.

บทว่า น ปกฺขายติ คือ ไม่เห็นไม่ปรากฏ.

บทว่า ทีฆาปิ โข เต เอสา ความว่า ดูก่อนอุทายี วาจาของท่านนั้นพึงขยายออกอย่างยืดยาว. อธิบายว่า เมื่อกล่าวอย่างนั้น พึงเป็นไปร้อยปีบ้าง พันปีบ้าง และวาจานั้นก็ไม่พึงแสดงเพื่อความได้ประโยชน์เลย.

บทว่า อปฺปาฏิหิรีกตํ เป็นคําใช้ไม่ได้ ความว่า คํานั้นถึงความเป็นคําไม่นําสัตว์ออกไป ไม่มีค่า ไม่มีประโยชน์.

บัดนี้ เมื่อสกุลุทายิปริพาชกจะแสดงถึงวรรณนั้น จึงกล่าวคํามีอาทิว่า เสยฺยถาปิ ภนฺเต ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เปรียบแก้วไพฑูรย์.

ในบทเหล่านั้นบทว่า ปณฺฑุกมฺพเล นิกฺขิตฺโต แก้วไพฑูรย์ เขาวางไว้ที่ผ้ากัมพลสีแดง คือ วางไว้ที่ผ้ากัมพลสีแดง

 
  ข้อความที่ 20  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 12 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้า 638

อันมีสีไม่เสมอกัน.

บทว่า เอวํวณฺโณ อตฺตา โหติ ตนก็มีวรรณฉันนั้น สกุลุทายีกล่าวคํานี้ว่า ตัวตนนั้นในเวลาเราตายย่อมรุ่งเรืองดุจขันธ์ในสุภกิณหเทวโลก หมายถึง ขันธ์ที่เกิดในสุภกิณหเทวโลก.

บทว่า อยํ อิเมสํ อุภินฺนํ บรรดาวรรณทั้งสองเหล่านี้ หิ่งห้อยในเวลาเดือนมืดในราตรีนี้งามกว่า ประณีตกว่า ความว่า นัยว่ารัศมีของแก้วมณีไม่ซ่านออกภายนอก แสงของหิ่งห้อยตัวเล็กแผ่ออกไปเพียง ๑ นิ้ว ๒ นิ้ว และ ๔ นิ้ว ส่วนแสงของหิ่งห้อยตัวใหญ่ แผ่ออกไปแม้ประมาณเท่าบริเวณของลานนวดข้าว เพราะฉะนั้น สกุลุทายีจึงกล่าวอย่างนั้น.

บทว่า วิทฺเธ คือ กระจ่าง อธิบายว่าอยู่ไกลโดยปราศจากเมฆ.

บทว่า วิคตวลาหเก คือ ปราศจากเมฆ.

บทว่า เทเว คือ ฝน.

บทว่า โอสธิตารกา คือ ดาวพระศุกร์. จริงอยู่ เพราะอาจารย์บางคนบอกกล่าวว่า ชนทั้งหลายย่อมถือเอาโอสถ โดยสัญญาณนั้นตั้งแต่ดาวพระศุกร์ขึ้น ฉะนั้นดาวนั้นท่านจึงเรียกว่า โอสธิตารกา.

บทว่า อภิโท อฑฺฆรตฺตสมยํ คือ ดวงจันทร์ในเวลาเที่ยงคืนตรง. ด้วยบทนี้ท่านแสดงถึงดวงจันทร์ที่ตั้งอยู่ในสมัย คือ ในท่ามกลางท้องฟ้า.

แม้ในบทว่า อภิโท มชฺฌนฺติเก ดวงอาทิตย์ในเวลาเที่ยงตรง ก็มีนัยที่เหมือนกัน.

บทว่า ตโต โข คือ เทวดาเหล่านั้นมีมากกว่า กว่านั้น. อธิบายว่า มีมากและมีมากกว่า.

บทว่า อาภา นานุโภนฺติ คือ สู้แสงพระจันทร์พระอาทิตย์ ไม่ได้. แสงพระจันทร์และพระอาทิตย์ย่อมส่องแสงสว่างไปด้วยแสงสว่างในตัวของตนเอง.

บัดนี้ เพราะสกุลุทายีคิดว่าเราจักถามถึงโลกมีความสุขโดยส่วนเดียว จึงนั่งนิ่งลืมคําถาม. ฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าเมื่อจะทรงให้สกุลุทายีระลึกถึงคําถามได้ จึงตรัสพระดํารัสมีอาทิว่า กิํ ปน อุทายิ เอกนฺตสุโข โลโก ดูก่อนอุทายี โลกมีความสุขโดยส่วนเดียวมีอยู่หรือ.

ในบทเหล่านั้น บทว่า

 
  ข้อความที่ 21  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 12 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้า 639

อาการวตี คือ มีเหตุ.

บทว่า อฺตรํ วา ปน ตโปคุณํ คุณ คือ ตบะอย่างใดอย่างหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสหมายถึงลัทธิของอเจลกะ คือ เว้นการดื่มสุรา.

เพราะเหตุไร สกุลุทายีจึงถามว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ โลกมีความสุขโดยส่วนเดียวมีอยู่หรือ.

นัยว่า สกุลุทายีนั้นได้คิดว่า แม้เราก็กล่าวว่า ตนมีความสุขโดยส่วนเดียว.

อนึ่ง เรากล่าวการปฏิบัติเป็นสุขบางเวลา เป็นทุกข์บางเวลา. แม้ปฏิปทาของตน ผู้มีความสุขโดยส่วนเดียวก็พึงมีความสุขโดยส่วนเดียว.

กถาของพวกเราเป็นกถาไม่นําสัตว์ออกไป. ส่วนกถาของพระศาสดา เป็นกถานําสัตว์ออกไป เพราะเหตุนั้น บัดนี้เราจะถามพระศาสดาแล้ว จึงจะรู้ เพราะฉะนั้นพระเถระจึงถาม.

บทว่า เอตฺถ มยํ อนสฺสาม คือ พวกเราไม่ยินดีในเหตุนี้.

เพราะเหตุไร บริษัทของสกุลุทายิปริพาชกจึงได้กล่าวอย่างนั้น.

นัยว่าบริษัทของสกุลุทายิปริพาชกเหล่านั้นรู้ว่า เมื่อก่อนพวกตนตั้งอยู่ในธรรม ๕ ประการ กระทํากสิณบริกรรมยังตติยฌานให้เกิด ครั้นฌานยังไม่เสื่อม ทํากาละแล้วเกิดในชั้นสุภกิณหะ แต่เมื่อกาลผ่านไปๆ แม้กสิณบริกรรมก็ไม่รู้. แม้ตติยฌานก็ไม่สามารถให้เกิดได้.

อนึ่ง พวกเขาเรียนธรรมอันเป็นส่วนเบื้องต้น ๕ ว่า ปฏิปทามีเหตุ. แล้วเรียนตติยฌานว่าโลกมีสุขโดยส่วนเดียว. เพราะฉะนั้น พวกเขาจึงกล่าวอย่างนั้น.

บทว่า อุตฺตริตรํ คือ สิ่งที่ยิ่งกว่าธรรม ๕ นี้. ท่านอธิบายว่า พวกเราไม่รู้ปฏิปทาหรือโลกอันเป็นสุขโดยส่วนเดียวยิ่งกว่าตติยฌาน.

บทว่า อปฺปสทฺเท กตฺวา คือ ห้ามปริพาชกเหล่านั้นซึ่งเริ่มจะทําเสียงดังไม่ให้มีเสียง โดยเตือนครั้งเดียวเท่านั้น.

ในบทว่า สฺจฉิกิริยาเหตุ เพราะเหตุทําให้แจ้งนี้.

สัจฉิกิริยา มี ๒ อย่าง คือ ปฏิลาภสัจฉิกิริยา (การทําให้แจ้งการได้) ๑ ปัจจักขสัจฉิกิริยา (การทําให้แจ้งประจักษ์) ๑.

ในสัจฉิกิริยา ๒ อย่างนั้น ผู้ยัง

 
  ข้อความที่ 22  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 12 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้า 640

ตติยฌานให้เกิดแล้ว ตติยฌานยังไม่เสื่อม ทํากาละเกิดเป็นผู้มีอายุและวรรณเสมอเทวดาเหล่านั้น ในสุภกิณหโลก นี้ชื่อว่า ปฏิลาภสัจฉิกิริยา.

ผู้ยังจตุตถฌานให้เกิดแล้วไปสู่สุภกิณหโลกด้วยการแสดงฤทธิ์ แล้วดํารงอยู่สนทนาปราศรัยกับเทวดาเหล่านั้น นี้ชื่อว่า ปัจจักขสัจฉิกิริยา.

ตติยฌานของสัจฉิกิริยาแม้ทั้งสองนั้นชื่อว่าอาการวดีปฏิปทา ปฏิปทามีเหตุ ไม่ยังตติยฌานให้เกิดก็ไม่สามารถเกิดในสุภกิณหโลกได้ (และ) ไม่สามารถยังจตุตถฌานให้เกิดได้.

สกุลุทายีหมายถึงสัจฉิกิริยาทั้งสองแม้นี้ จึงทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เพราะเหตุทําให้แจ้งโลกมีสุขโดยส่วนเดียวนั้นแน่นอน.

บทว่า อุทกมณิโก คือ หม้อน้ํา.

บทว่า อนฺตรายมกาสิ บริษัทของสกุลุทายีได้ทําอันตราย คือ ได้ทําอันตรายโดยที่สกุลุทายิปริพาชกไม่ได้บรรพชา เพราะอุปนิสัยวิบัติ.

ได้ยินว่า สกุลุทายิปริพาชกนี้ได้บวชในศาสนาของพระกัสสปพุทธเจ้า ได้บําเพ็ญสมณธรรม.

ครั้งนั้น ภิกษุสหายของเขาคนหนึ่งกล่าวว่า อาวุโส เขาเบื่อในศาสนาจักสึกละ. ภิกษุนั้นเกิดความโลภในบาตรและจีวรของภิกษุผู้เป็นสหายนั้น จึงได้กล่าวถึงคุณของความเป็นคฤหัสถ์. ภิกษุสหายจึงให้บาตรและจีวรแก่ภิกษุนั้นแล้วก็สึก.

ด้วยกรรมของภิกษุนั้น บัดนี้จึงเกิดอันตรายต่อการบรรพชาเฉพาะพระพักตร์ของพระผู้มีพระภาคเจ้า. สูตรก่อนของพระผู้มีพระภาคเจ้านั้นเป็นเพียงภาณวารที่เกิน. สูตรนี้เป็นภาณวารหลัก ด้วยประการฉะนี้.

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสธรรมโดยแบบแผนเพียงเท่านี้. การบรรลุมรรคผลไม่เกิดแม้ด้วยเทศนาครั้งเดียว. แต่จักเป็นปัจจัยแก่ภิกษุนั้นในอนาคต เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงทรงแสดงธรรม.

พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเห็นความที่ธรรมนั้นจะเป็นปัจจัยในอนาคตเมื่อยังมีพระชนม์อยู่ จึงไม่ทรงแต่งตั้งภิกษุแม้รูปหนึ่งไว้ในเอตทัคคะในเมตตาวิหารี (มีธรรมเป็นเครื่องอยู่ คือ เมตตา).

พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเห็นว่า ในอนาคตภิกษุนี้จักบวชในศาสนาของเราแล้วจักเป็นผู้เลิศกว่าภิกษุผู้เป็นเมตตาวิหารี.

ภิกษุนั้นเมื่อพระผู้มีพระ-

 
  ข้อความที่ 23  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 12 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้า 641

ภาคเจ้าปรินิพพานแล้ว บังเกิดในกรุงปาตลีบุตร ในสมัยของพระเจ้าธรรมาโศกราช บวชแล้ว ครั้นบวชแล้วได้บรรลุพระอรหัต มีชื่อว่าพระอัสสคุตตเถระ ได้เป็นผู้เลิศแห่งภิกษุผู้เป็นเมตตาวิหารี. ด้วยอานุภาพแห่งเมตตาของพระเถระ แม้สัตว์เดียรัจฉานทั้งหลายก็ได้รับเมตตาจิต. พระเถระเป็นอาจารย์สั่งสอนภิกษุสงฆ์ในสกลชมพูทวีป อาศัยอยู่ที่วัตตนิเสนาสนะ. ดงประมาณ ๓๐ โยชน์ ได้เป็นเรือนสําหรับทําความเพียรอย่างเดียว. พระเถระลาดแผ่นหนังไว้บนอากาศแล้วนั่งบนแผ่นหนังนั้นบอกกรรมฐาน. เมื่อกาลผ่านไปพระเถระไม่ไปบิณฑบาต นั่งบอกกรรมฐานอยู่ในวิหาร. มนุษย์ทั้งหลายไปยังวิหารได้ถวายทาน. พระเจ้าธรรมาโศกราชได้สดับคุณของพระเถระ มีพระประสงค์จะทรงเห็น ได้ทรงส่งคนไปนิมนต์ถึง ๓ ครั้ง. พระเถระดําริว่า เราจะให้โอวาทแก่ภิกษุสงฆ์ ดังนี้แล้วจึงมิได้ไปแม้แต่ครั้งเดียวด้วยประการฉะนี้.

จบอรรถกถาจูฬสกุลุทายิสูตรที่ ๙