พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๓. อัสสลายนสูตร

 
บ้านธัมมะ
วันที่  28 ส.ค. 2564
หมายเลข  36098
อ่าน  569

[เล่มที่ 21] พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ เล่ม ๒ ภาค ๒ - หน้า 304

๓. อัสสลายนสูตร


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 21]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 13 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ เล่ม ๒ ภาค ๒ - หน้า 304

๓. อัสสลายนสูตร

[๖๑๓] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้:-

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ใกล้พระนครสาวัตถี. ก็สมัยนั้นแล พราหมณ์ผู้มาจากแคว้นต่างๆ ประมาณ ๕๐๐ คน พักอาศัยในพระนครสาวัตถีด้วยกรณียกิจบางอย่าง ครั้งนั้น พราหมณ์เหล่านั้นได้คิดกันว่า พระสมณโคดมนี้ ทรงบัญญัติความบริสุทธิ์เกี่ยวกับวรรณะทั้ง ๔ ใครหนอพอจะสามารถเจรจาโต้ตอบกับพระสมณโคดมในคํานั้นได้ ก็สมัยนั้นแล มาณพชื่อว่าอัสสลายนะอาศัยอยู่ในพระนครสาวัตถี ยังเป็นเด็กโกนศีรษะมีอายุ ๑๖ ปีนับแต่เกิดมา เป็นผู้รู้จบไตรเพท พร้อมทั้งคัมภีร์นิฆัณฑุและคัมภีร์เกฏุภะ พร้อมทั้งประเภทอักษรมีคัมภีร์อิติหาสะเป็นที่ ๕ เป็นผู้เข้าใจตัวบท เข้าใจไวยากรณ์ ชํานาญในคัมภีร์โลกายตะและตําราทํานายมหาปุริสลักษณะ ครั้งนั้น พราหมณ์เหล่านั้นคิดกันว่า อัสสลายนมาณพผู้นี้ อาศัยอยู่ในพระนครสาวัตถี ยังเป็นเด็ก ฯลฯ ชํานาญในคัมภีร์โลกายตะและตําราทํานายมหาปุริสลักษณะ เขาคงสามารถจะเจรจาโต้ตอบกับพระสมณโคดมในคํานั้นได้.

[๖๑๔] ลําดับนั้นแล พราหมณ์เหล่านั้นพากันเข้าไปหาอัสสลายนมาณพถึงที่อยู่ ครั้นแล้วได้กล่าวกะอัสสลายนมาณพว่า พ่ออัสสลายนมาณพผู้เจริญ พระสมณโคดมนี้ ทรงบัญญัติความบริสุทธิ์เกี่ยวกับวรรณะทั้ง ๔ พ่อผู้เจริญจงเข้าไปเจรจาโต้ตอบกับพระสมณโคดมในคํานั้น เมื่อพราหมณ์ทั้งหลายกล่าวแล้วอย่างนี้ อัสสลายนมาณพได้กล่าวกะพราหมณ์เหล่านั้นว่า ท่านผู้เจริญทั้งหลาย ได้ทราบว่า พระสมณโคคมเป็นธรรมวาที ก็อันบุคคลผู้เป็นธรรมวาที

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 13 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ เล่ม ๒ ภาค ๒ - หน้า 305

ย่อมเป็นผู้อันใครๆ จะพึงเจรจาโต้ตอบได้โดยยาก ข้าพเจ้าไม่สามารถจะเจรจาโต้ตอบกับพระสมณโคดมในคํานั้นได้ แม้ครั้งที่ ๒ พราหมณ์เหล่านั้นได้กล่าวกะอัสสลายนมาณพว่า พ่ออัสสลายนะผู้เจริญ พระสมณโคดมนี้ ทรงบัญญัติความบริสุทธิ์เกี่ยวกับวรรณะทั้ง ๔ พ่อผู้เจริญจงเข้าไปเจรจาโต้ตอบกับพระสมณโคคมในคํานั้น แม้ครั้งที่ ๒ อัสสลายนมาณพได้กล่าวกะพราหมณ์เหล่านั้นว่า ท่านผู้เจริญทั้งหลาย ได้ทราบว่า พระสมณโคดมเป็นธรรมวาที ก็อันบุคคลผู้เป็นธรรมวาที ย่อมเป็นผู้อันใครๆ จะพึงเจรจาโต้ตอบได้โดยยาก ข้าพเจ้าไม่สามารถจะเจรจาโต้ตอบกับพระสมณโคดมในคํานั้นได้ แม้ครั้งที่ ๓ พราหมณ์เหล่านั้นก็ได้กล่าวกะอัสสลายนมาณพว่า พ่ออัสสลายนะผู้เจริญ พระสมณโคดมนี้ ทรงบัญญัติความบริสุทธิ์ทั่วไปแก่วรรณะทั้ง ๔ พ่อผู้เจริญจงเข้าไปเจรจาโต้ตอบกับพระสมณโคดมในคํานั้น ก็พ่ออัสสลายนะผู้เจริญ ได้ประพฤติวิธีบรรพชาของปริพาชกมาแล้ว พ่ออัสสลายนะอย่ากลัวแพ้ซึ่งยังไม่ทันรบเลย เมื่อพราหมณ์เหล่านั้นกล่าวอย่างนี้แล้ว อัสสลายนมาณพได้กล่าวกะพราหมณ์เหล่านั้นว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญทั้งหลาย ข้าพเจ้ายอมไม่ได้แน่ ได้ทราบว่าพระสมณโคดมเป็นธรรมวาที ก็อันบุคคลผู้เป็นธรรมวาทีย่อมเป็นผู้อันใครๆ จะพึงเจรจาโต้ตอบได้โดยยาก ข้าพเจ้าไม่สามารถจะเจรจาโต้ตอบกับพระสมณโคดมในคํานั้นได้ ก็แต่ว่า ข้าพเจ้าจักไปตามคําของท่านทั้งหลาย.

[๖๑๕] ลําดับนั้น อัสสลายนมาณพพร้อมด้วยคณะพราหมณ์หมู่ใหญ่ พากันเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าถึงที่ประทับ ได้ปราศรัยกับพระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นผ่านการปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันไปแล้ว จึงนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วอัสสลายนมาณพได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ข้าแต่ท่านพระโคคม พราหมณ์ทั้งหลายกล่าวอย่างนี้ว่า พราหมณ์เท่านั้นเป็นวรรณะประเสริฐ วรรณะอื่นเลว พราหมณ์เท่านั้นเป็นวรรณะขาว วรรณะอื่นดํา

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 13 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ เล่ม ๒ ภาค ๒ - หน้า 306

พราหมณ์เท่านั้นย่อมบริสุทธิ์ คนที่มิใช่พราหมณ์ไม่บริสุทธิ์ พราหมณ์เท่านั้นเป็นบุตรพรหม เป็นโอรสพรหม เกิดแต่ปากของพรหม เกิดแต่พรหม อันพรหมนิรมิต เป็นทายาทของพรหม ในเรื่องนี้ท่านพระโคดมจะตรัสว่าอย่างไร.

[๖๑๖] พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสตอบว่า อัสสลายนะ ก็นางพราหมณีของพราหมณ์ทั้งหลาย มีระดูบ้าง มีครรภ์บ้าง คลอดบุตรบ้าง ให้บุตรดื่มน้ำนมบ้าง ปรากฏอยู่ ก็พราหมณ์เหล่านั้นเป็นผู้เกิดจากช่องคลอดเหมือนกัน ยังกล่าวอย่างนี้ว่าพราหมณ์เท่านั้นเป็นวรรณะประเสริฐ วรรณะอื่นเลว... อันพรหมนิรมิตเป็นทายาทของพรหม.

อ. ท่านพระโคดมตรัสอย่างนี้ก็จริง แต่ในเรื่องนี้ พราหมณ์ทั้งหลายก็ยังเข้าใจอยู่อย่างนี้ว่า พราหมณ์เท่านั้นเป็นวรรณะประเสริฐ ฯลฯ เป็นทายาทของพรหม.

[๖๑๗] พ. ดูก่อนอัสสลายนะ ท่านจะสําคัญความข้อนั้นเป็นไฉน ท่านได้ฟังมาแล้วหรือว่า ในแคว้นโยนก แคว้นกัมโพช และในปัจจันตชนบทอื่นๆ มีวรรณะอยู่ ๒ วรรณะเท่านั้น คือ เจ้าและทาส เป็นเจ้าแล้วกลับเป็นทาส เป็นทาสแล้วกลับเป็นเจ้า.

อ. ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ข้าพเจ้าได้ฟังมาแล้วอย่างนั้นว่า ในแคว้นโยนก แคว้นกัมโพช และในปัจจันตชนบทอื่นๆ มีวรรณะอยู่ ๒ วรรณะเท่านั้น คือ เจ้าและทาส เป็นเจ้าแล้วกลับเป็นทาส เป็นทาสแล้วกลับเป็นเจ้า.

พ. ดูก่อนอัสสลายนะ ในเรื่องนี้ อะไรเป็นกําลัง อะไรเป็นความยินดีของพราหมณ์ทั้งหลายผู้กล่าวอย่างนี้ว่า พราหมณ์เท่านั้นเป็นวรรณะประเสริฐ ฯลฯ เป็นทายาทของพรหม.

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 13 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ เล่ม ๒ ภาค ๒ - หน้า 307

อ. ท่านพระโคคมตรัสอย่างนั้นก็จริง แต่ในเรื่องนี้ พราหมณ์ทั้งหลายก็ยังเข้าใจอยู่อย่างนี้ว่า พราหมณ์เท่านั้นเป็นวรรณะประเสริฐ ฯลฯ เป็นทายาทของพรหม.

[๖๑๘] พ. ดูก่อนอัสสลายนะ ท่านจะสําคัญความข้อนั้นเป็นไฉน กษัตริย์เท่านั้นหรือ เป็นผู้มีปรกติฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ประพฤติผิดในกาม พูดเท็จ พูดส่อเสียด พูดคําหยาบ พูดเพ้อเจ้อ โลภมาก มีจิตพยาบาท มีความเห็นผิด เมื่อตายไป พึงเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก พราหมณ์ไม่เป็นอย่างนั้น แพศย์เท่านั้นหรือ... ศูทรเท่านั้นหรือ เป็นผู้มีปรกติฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ประพฤติผิดในกาม พูดเท็จ พูดส่อเสียด พูดคําหยาบ พูดเพ้อเจ้อ โลภมาก มีจิตพยาบาท มีความเห็นผิด เมื่อตายไป พึงเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก พราหมณ์ไม่เป็นอย่างนั้น.

อ. ไม่ใช่เช่นนั้น ท่านพระโคดม ข้าแต่ท่านพระโคดม แม้กษัตริย์ผู้มีปรกติฆ่าสัตว์... มีความเห็นผิด เมื่อตายไป ก็พึงเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก ข้าแต่ท่านพระโคดม แม้พราหมณ์... แม้แพศย์... แม้ศูทร... ข้าแต่พระโคคมผู้เจริญ ความจริงแม้วรรณะ ๔ ผู้มีปรกติฆ่าสัตว์... มีความเห็นผิด เมื่อตายไป ก็พึงเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรกทั้งหมด.

พ. ดูก่อนอัสสลายนะ ในเรื่องนี้ อะไรเป็นกําลัง อะไรเป็นความยินดีของพราหมณ์ทั้งหลาย ผู้กล่าวอย่างนี้ว่า พราหมณ์เท่านั้นเป็นวรรณะประเสริฐ ฯลฯ เป็นทายาทของพรหม.

อ. ท่านพระโคดมตรัสอย่างนั้นก็จริง แต่ในเรื่องนี้ พราหมณ์ทั้งหลายก็ยังเข้าใจอย่างนี้ว่า พราหมณ์เท่านั้นเป็นวรรณะประเสริฐ ฯลฯ เป็นทายาทของพรหม.

 
  ข้อความที่ 5  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 13 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ เล่ม ๒ ภาค ๒ - หน้า 308

[๖๑๙] พ. ดูก่อนอัสสลายนะ ท่านจะสําคัญความข้อนั้นเป็นไฉน พราหมณ์เท่านั้นหรือหนอ ผู้งดเว้นจากการฆ่าสัตว์ จากการลักทรัพย์ จากการประพฤติผิดในกาม จากการพูดเท็จ จากการพูดส่อเสียด จากการพูดคําหยาบ จากการพูดเพ้อเจ้อ ไม่โลภมาก ไม่มีจิตพยาบาท มีความเห็นชอบ เมื่อตายไป พึงเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ กษัตริย์ไม่พึงเป็นเช่นนั้น แพศย์ไม่พึงเป็นเช่นนั้น ศูทรไม่พึงเป็นเช่นนั้น.

อ. ไม่ใช่เช่นนั้น ท่านพระโคคม ข้าแต่ท่านพระโคดม แม้กษัตริย์ผู้งดเว้นจากการฆ่าสัตว์... มีความเห็นชอบ เมื่อตายไป ก็พึงเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ ข้าแต่ท่านพระโคคม แม้พราหมณ์... แม้แพศย์... แม้ศูทร... ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ความจริง แม้วรรณะ ๔ ผู้งดเว้นจากการฆ่าสัตว์... มีความเห็นชอบ เมื่อตายไป ก็พึงเข้าถึงสุคติ โลกสวรรค์ทั้งหมด.

พ. อัสสลายนะ ในเรื่องนี้ อะไรเป็นกําลัง อะไรเป็นความยินดีของพราหมณ์ผู้กล่าวอย่างนี้ว่า พราหมณ์เท่านั้นเป็นวรรณะประเสริฐ ฯลฯ เป็นทายาทของพรหม.

อ. ท่านพระโคดมตรัสอย่างนี้ก็จริง แต่ในเรื่องนี้ พราหมณ์ก็ยังเข้าใจอย่างนี้ว่า พราหมณ์เท่านั้นเป็นวรรณะประเสริฐ ฯลฯ เป็นทายาทของพรหม.

[๖๒๐] พ. ดูก่อนอัสสลายนะ ท่านจะสําคัญความข้อนั้นเป็นไฉน ในประเทศนั้น พราหมณ์เท่านั้นหรือหนอ ย่อมสามารถเจริญเมตตาจิตอันไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียน [ส่วน] กษัตริย์ไม่สามารถ แพศย์ไม่สามารถ ศูทรไม่สามารถ.

 
  ข้อความที่ 6  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 13 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ เล่ม ๒ ภาค ๒ - หน้า 309

อ. ไม่ใช่เช่นนั้น ท่านพระโคดม ข้าแต่ท่านพระโคดม ในประเทศนั้น แม้กษัตริย์ก็สามารถเจริญเมตตาจิตอันไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียน ข้าแต่ท่านพระโคดม แม้พราหมณ์... แม้แพศย์... แม้ศูทร... ข้าแต่ท่านพระโคดมผู้เจริญ ความจริงในประเทศนั้น แม้วรรณะ ๔ ก็สามารถเจริญเมตตาจิตอันไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียนได้ทั้งหมด.

พ. ดูก่อนอัสสลายนะ ในเรื่องนี้ อะไรเป็นกําลัง อะไรเป็นความยินดีของพราหมณ์ทั้งหลาย ผู้กล่าวอย่างนี้ว่า พราหมณ์เท่านั้นเป็นวรรณะอันประเสริฐ ฯลฯ เป็นทายาทของพรหม.

อ. ท่านพระโคดมตรัสอย่างนั้นก็จริง แต่ในเรื่องนี้ พราหมณ์ทั้งหลายก็ยังเข้าใจอย่างนี้ พราหมณ์เท่านั้นเป็นวรรณะประเสริฐ ฯลฯ เป็นทายาทของพรหม.

[๖๒๑] พ. ดูก่อนอัสสลายนะ ท่านจะสําคัญความข้อนั้นเป็นไฉน พราหมณ์เท่านั้นหรือหนอ ย่อมสามารถถือเอาเครื่องสีตัวสําหรับอาบน้ำ แล้วลอยละอองและธุลีได้ กษัตริย์ไม่สามารถ แพศย์ไม่สามารถ ศูทรไม่สามารถ.

อ. ไม่ใช่เช่นนั้น ท่านพระโคดม ข้าแต่ท่านพระโคดม แม้กษัตริย์ก็ย่อมสามารถถือเอาเครื่องสีตัวสําหรับอาบน้ำ แล้วลอยละอองและธุลีได้ ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ แม้พราหมณ์... แม้แพศย์... แม้ศูทร... ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ความจริง แม้วรรณะ ๔ ก็ย่อมสามารถถือเอาเครื่องสีตัวสําหรับอาบน้ำ แล้วลอยละอองและธุลีได้ทั้งหมด.

พ. ดูก่อนอัสสลายนะ ในเรื่องนี้ อะไรเป็นกําลัง อะไรเป็นความยินดีของพราหมณ์ทั้งหลาย ผู้กล่าวอย่างนี้ว่า พราหมณ์เท่านั้นเป็นวรรณะประเสริฐ ฯลฯ เป็นทายาทของพรหม.

 
  ข้อความที่ 7  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 13 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ เล่ม ๒ ภาค ๒ - หน้า 310

อ. ท่านพระโคดมตรัสอย่างนั้นก็จริง แต่ในเรื่องนี้ พราหมณ์ทั้งหลายก็ยังเข้าใจอย่างนี้ว่า พราหมณ์เท่านั้นเป็นวรรณะประเสริฐ ฯลฯ เป็นทายาทของพรหม.

[๖๒๒] พ. ดูก่อนอัสสลายนะ ท่านจะสําคัญความข้อนั้นเป็นไฉน พระราชาในโลกนี้ เป็นกษัตริย์ผู้ได้รับมูรธาภิเษกแล้ว จะพึงทรงเกณฑ์บุรุษผู้มีชาติต่างๆ กัน ๑๐๐ คนให้มาประชุมกัน แล้วตรัสว่า มาเถิดท่านทั้งหลาย ในจํานวนบุรุษเหล่านั้น บุรุษเหล่าใดเกิดแต่สกุลกษัตริย์ แต่สกุลพราหมณ์ แต่สกุลเจ้า บุรุษเหล่านั้นจงถือไม้สัก ไม้สาละ ไม้สน ไม้จันทร์ หรือไม้ทับทิม เอามาทําเป็นไม้สีไฟ แล้วจงสีให้ไฟลุกโพลง อนึ่ง มาเถิดท่านทั้งหลาย ในจํานวนบุรุษเหล่านั้น บุรุษเหล่าใดเกิดแต่สกุลจัณฑาล แต่สกุลพราน แต่สกุลจักสาน แต่สกุลช่างรถ แต่สกุลคนเก็บขยะ บุรุษเหล่านั้นจงถือเอาไม้รางสุนัข ไม้รางสุกร ไม้รางย้อมผ้า หรือไม้ละหุ่ง เอามาทําเป็นไม้สีไฟ แล้วจงสีให้ไฟลุกโพลง ดูก่อนอัสสลายนะ ท่านจะสําคัญความข้อนั้นเป็นไฉน ไฟที่บุรุษทั้งหลายผู้เกิดแต่สกุลกษัตริย์ แต่สกุลพราหมณ์ แต่สกุลเจ้า ถือเอาไม้สัก ไม้สาละ ไม้สน ไม้จันทน์ หรือไม้ทับทิม เอามาทําเป็นไม้สีไฟ แล้วสีให้ไฟลุกโพลงขึ้นเท่านั้นหรือหนอ พึงเป็นไฟมีเปลว มีสี มีแสงสว่าง และอาจทํากิจที่ต้องทําด้วยไฟนั้นได้ ส่วนไฟที่บุรุษทั้งหลายผู้เกิดแต่สกุลจัณฑาล แต่สกุลพราน แต่สกุลจักสาน แต่สกุลช่างรถ แต่สกุลคนกวาดถนน ถือเอาไม้รางสุนัข ไม้รางสุกร ไม้รางย้อมผ้า หรือไม้ละหุ่ง เอามาทําเป็นไม้สีไฟแล้วสีไฟให้ลุกโพลงขึ้นนั้น พึงเป็นไฟไม่มีเปลว ไม่มีสี ไม่มีแสงสว่าง และไม่อาจทํากิจที่ต้องทําด้วยไฟนั้น.

อ. ไม่ใช่เช่นนั้น ท่านพระโคคม ข้าแต่พระโคคมผู้เจริญ แม้ไฟที่บุรุษทั้งหลายผู้เกิดแต่สกุลกษัตริย์... แล้วสีให้ไฟลุกโพลงขึ้น ก็พึงเป็นไฟ

 
  ข้อความที่ 8  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 13 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ เล่ม ๒ ภาค ๒ - หน้า 311

มีเปลว มีสี มีแสงสว่าง และอาจทํากิจที่ต้องทําด้วยไฟนั้นได้ แม้ไฟที่บุรุษทั้งหลายผู้เกิดแต่สกุลจัณฑาล... แล้วสีให้ไฟลุกโพลงขึ้น ก็พึงเป็นไฟมีเปลว มีสี มีแสงสว่าง และอาจทํากิจที่ต้องทําด้วยไฟนั้นได้ ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ความจริง แม้ไฟทุกอย่างก็พึงเป็นไฟมีเปลว มีสี มีแสงสว่าง และอาจทํากิจที่ต้องทําด้วยไฟนั้นได้หมด.

พ. ดูก่อนอัสสลายนะ ในเรื่องนี้ อะไรเป็นกําลัง อะไรเป็นความยินดีของพราหมณ์ทั้งหลาย ผู้กล่าวอย่างนี้ว่า พราหมณ์เท่านั้นเป็นวรรณะประเสริฐ... เป็นทายาทของพรหม.

อ. ท่านพระโคดมตรัสอย่างนั้นก็จริง แต่ในเรื่องนี้ พราหมณ์ทั้งหลายก็ยังเข้าใจอยู่อย่างนี้ว่า พราหมณ์เท่านั้นเป็นวรรณะประเสริฐ ฯลฯ เป็นทายาทของพรหม.

[๖๒๓] พ. ดูก่อนอัสสลายนะ ท่านจะสําคัญความข้อนั้นเป็นไฉน ขัตติยกุมารในโลกนี้ พึงสําเร็จการอยู่ร่วมกับนางพราหมณี เพราะอาศัยการอยู่ร่วมของคนทั้งสองนั้น พึงเกิดบุตรแต่นางพราหมณีกับขัตติยกุมารนั้น เหมือนมารดาก็ดี เหมือนบิดาก็ดี ก็ควรกล่าวได้ว่าเป็นกษัตริย์บ้าง เป็นพราหมณ์บ้างหรือ.

อ. ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ บุตรผู้เกิดแต่นางพราหมณีกับขัตติยกุมารนั้น เหมือนมารดาก็ดี เหมือนบิดาก็ดี ก็ควรกล่าวได้ว่า เป็นกษัตริย์บ้าง เป็นพราหมณ์บ้าง.

[๖๒๔] พ. ดูก่อนอัสสลายนะ ท่านจะสําคัญความข้อนั้นเป็นไฉน พราหมณ์กุมารในโลกนี้ พึงสําเร็จการอยู่ร่วมกับนางกษัตริย์ เพราะอาศัยการอยู่ร่วมของคนทั้งสองนั้น พึงเกิดบุตร บุตรผู้เกิดแต่นางกษัตริย์กับพราหมณ์

 
  ข้อความที่ 9  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 13 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ เล่ม ๒ ภาค ๒ - หน้า 312

กุมารนั้นเหมือนมารดาก็ดี เหมือนบิดาก็ดี ก็ควรกล่าวได้ว่า เป็นกษัตริย์บ้าง เป็นพราหมณ์บ้างหรือ.

ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ บุตรผู้เกิดแต่นางกษัตริย์กับพราหมณ์กุมารนี้ ก็ควรกล่าวได้ว่า เป็นกษัตริย์บ้าง เป็นพราหมณ์บ้าง.

[๖๒๕] พ. ดูก่อนอัสสลายนะ ท่านจะสําคัญความข้อนั้นเป็นไฉน ในโลกนี้ เขาพึงผสมแม่ม้ากับพ่อลา เพราะอาศัยการผสมแม่ม้ากับพ่อลานั้นพึงเกิดลูกม้า แม้ลูกม้าที่เกิดแต่แม่ม้ากับพ่อลานั้น เหมือนแม่ก็ดี เหมือนพ่อก็ดี ก็ควรกล่าวได้ว่า เป็นม้าบ้าง เป็นลาบ้างหรือ.

อ. ข้าแต่พระโคคมผู้เจริญ แม้ลูกผสมนั้นก็ย่อมเป็นม้าอัสดร ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ เรื่องของสัตว์นี้ ข้าพเจ้าเห็นว่าต่างกัน แต่ในนัยต้น ในเรื่องของมนุษย์เหล่าโน้น ข้าพเจ้าเห็นว่าไม่ต่างอะไรกัน.

[๖๒๖] พ. ดูก่อนอัสสลายนะ ท่านจะสําคัญความข้อนั้นเป็นไฉน ในโลกนี้ พึงมีมาณพสองคน เป็นพี่น้องร่วมท้องเดียวกัน คนหนึ่งเป็นคนศึกษาเล่าเรียน อันอาจารย์แนะนํา คนหนึ่งไม่ได้ศึกษาเล่าเรียน อันอาจารย์ไม่ได้แนะนํา ในสองคนนี้ พราหมณ์ทั้งหลายพึงเชื้อเชิญคนไหนให้บริโภคก่อน ในการเลี้ยงของผู้มีศรัทธาก็ดี ในการเลี้ยงเพื่อเป็นบรรณาการก็ดี ในการเลี้ยงเพื่อบูชายัญก็ดี ในการเลี้ยงเพื่อต้อนรับแขกก็ดี.

อ. ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ในสองคนนี้ พราหมณ์ทั้งหลายพึงเชื้อเชิญมาณพผู้ศึกษาเล่าเรียน ผู้ที่อาจารย์แนะนํา ให้บริโภคก่อน ในการเลี้ยงของผู้มีศรัทธาก็ดี ในการเลี้ยงเพื่อเป็นบรรณาการก็ดี ให้การเลี้ยงเพื่อบูชายัญก็ดี ในการเลี้ยงเพื่อต้อนรับแขกก็ดี ข้าแต่พระโคคมผู้เจริญ ของที่ให้ในบุคคลผู้ไม่ได้ศึกษาเล่าเรียน ผู้ที่อาจารย์มิได้แนะนํา จักมีผลมากได้อย่างไรเล่า.

 
  ข้อความที่ 10  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 13 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ เล่ม ๒ ภาค ๒ - หน้า 313

[๖๒๗] พ. ดูก่อนอัสสลายนะ ท่านจะสําคัญความข้อนั้นเป็นไฉน ในโลกนี้ พึงมีมาณพสองคน เป็นพี่น้องร่วมท้องเดียวกัน คนหนึ่งเป็นคนศึกษาเล่าเรียน อันอาจารย์แนะนํา แต่เป็นคนทุศีล มีธรรมอันลามก คนหนึ่งไม่ได้ศึกษาเล่าเรียน อันอาจารย์มิได้แนะนํา แต่เป็นคนมีศีล มีกัลยาณธรรม ในสองคนนี้ พราหมณ์ทั้งหลายพึงเชื้อเชิญคนไหนให้บริโภคก่อน ในการเลี้ยงของผู้มีศรัทธาก็ดี... ในการเลี้ยงเพื่อต้อนรับแขกก็ดี.

อ. ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ในสองคนนี้ พราหมณ์ทั้งหลายพึงเชื้อเชิญมาณพผู้ไม่ได้ศึกษาเล่าเรียน ผู้ที่อาจารย์ไม่ได้แนะนํา แต่เป็นคนมีศีล มีกัลยาณธรรม ให้บริโภคก่อน ในการเลี้ยงของผู้มีศรัทธาก็ดี... ในการเลี้ยงเพื่อต้อนรับแขกก็ดี ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ของที่ให้ในบุคคลผู้ทุศีล มีธรรมอันลามก จักมีผลมากอะไรเล่า.

พ. ดูก่อนอัสสลายนะ เมื่อก่อนท่านได้ไปยังชาติ ครั้นไปยังชาติแล้วได้ไปในมนต์ ครั้นไปในมนต์แล้ว กลับเว้นมนต์นั้นเสีย แล้วกลับมายังความบริสุทธิ์เกี่ยวกับวรรณะทั้ง ๔ ที่เราบัญญัติไว้.

เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสอย่างนี้แล้ว อัสสลายนมาณพนิ่งเฉย เก้อเขิน คอตก ก้มหน้า ซบเซา หมดปฏิภาณ.

[๖๒๘] ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทราบว่า อัสสลายนมาณพนิ่งเฉย เก้อเขิน คอตก ก้มหน้า ซบเซา หมดปฏิภาณ จึงได้ตรัสกะอัสสลายนมาณพว่า ดูก่อนอัสสลายนะ เรื่องเคยมีมาแล้ว พราหมณ์ฤาษี ๗ ตน มาประชุมกันที่กระท่อมอันมุงบังด้วยใบไม้ในราวป่า เกิดมีทิฐิอันลามกเห็นปานนี้ว่า พราหมณ์เท่านั้นเป็นวรรณะประเสริฐ ฯลฯ เป็นทายาทของพรหม ดูก่อนอัสสลายนะ อสิตเทวละฤาษีได้สดับข่าวว่า พราหมณ์ฤาษี ๗ ตน มาประชุมกันที่กระท่อมอันมุงบังด้วยใบไม้ เกิดทิฐิอันลามกเห็นปานนี้ว่า

 
  ข้อความที่ 11  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 13 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ เล่ม ๒ ภาค ๒ - หน้า 314

พราหมณ์เท่านั้นเป็นวรรณะประเสริฐ ฯลฯ เป็นทายาทของพรหม ดังนี้ ลําดับนั้นแล อสิตเทวละฤาษีปลงผมและหนวด นุ่งผ้าสีแดงอ่อน สวมรองเท้าสองชั้น ถือไม้เท้าเลี่ยมทอง ไปปรากฏในบริเวณบรรณศาลาของพราหมณ์ฤาษี ๗ ตน ดูก่อนอัสสลายนะ ครั้งนั้นแล อสิตเทวละฤาษีเดินไปมาอยู่ในบริเวณของพราหมณ์ฤาษี ๗ ตน กล่าวอย่างนี้ว่า เออท่านพราหมณ์ฤาษีเหล่านี้ไปไหนกันหมดหนอ เออท่านพราหมณ์ฤาษีเหล่านี้ไปไหนกันหมดหนอ ดูก่อนอัสสลายนะ ลําดับนั้นแล พราหมณ์ฤาษี ๗ ตน ได้กล่าวกะอสิตเทวละฤาษีว่า ใครหนอนี่เหมือนเด็กชาวบ้านเดินไปมาอยู่ที่บริเวณบรรณศาลาของพราหมณ์ฤาษี ๗ ตน กล่าวอย่างนี้ว่า เออท่านพราหมณ์ฤาษีเหล่านี้ไปไหนกันหมด เออท่านพราหมณ์เหล่านี้ไปไหนกันหมด เอาละเราทั้งหลายจักสาปแช่งมัน ดูก่อนอัลสลายนะ ลําดับนั้น พราหมณ์ฤาษี ๗ ตน พากันสาปแช่งอสิตเทวละฤาษีว่า มันจงเป็นเถ้าเป็นจุณไป จงเป็นเถ้าเป็นจุณไป จงเป็นเถ้าเป็นจุณไป ดูก่อนอัสสลายนะ พราหมณ์ฤาษี ๗ ตน พากันสาปแช่งอสิตเทวละฤาษีด้วยประการใดๆ อสิตเทวละฤาษีกลับเป็นผู้มีรูปงามกว่า เป็นผู้น่าดูกว่า และเป็นผู้น่าเลื่อมใสกว่า ด้วยประการนั้นๆ ดูก่อนอัสสลายนะ ครั้งนั้นแล พราหมณ์ฤาษี ๗ ตน ได้มีความคิดกันว่า ตบะของเราทั้งหลายเป็นโมฆะหนอ พรหมจรรย์ของเราทั้งหลายไม่มีผล ด้วยว่า เมื่อก่อนเราทั้งหลายสาปแช่งผู้ใดว่า เจ้าจงเป็นเถ้าเป็นจุณไป ผู้นั้นบางคนก็เป็นเถ้าไป แต่ผู้นี้ เราทั้งหลายสาปแช่งด้วยประการใดๆ เขากลับเป็นผู้มีรูปงามกว่า เป็นผู้น่าดูกว่า และเป็นผู้น่าเลื่อมใสกว่า ด้วยประการนั้นๆ อสิตเทวละฤาษีกล่าวว่า ตบะของท่านผู้เจริญทั้งหลายเป็นโมฆะก็หามิได้ และพรหมจรรย์ของท่านผู้เจริญทั้งหลายไม่มีผลก็หามิได้ เชิญท่านผู้เจริญทั้งหลายจงละความคิดประทุษร้ายในเราเสียเถิด.

 
  ข้อความที่ 12  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 13 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ เล่ม ๒ ภาค ๒ - หน้า 315

ฤา. เราทั้งหลายย่อมละความคิดประทุษร้าย ท่านเป็นใครหนอ.

เท. ท่านผู้เจริญทั้งหลายได้ยินชื่ออสิตเทวละฤาษีหรือไม่.

ฤา. ท่านผู้เจริญ เราทั้งหลายได้ยินชื่ออย่างนั้น.

เท. ดูก่อนท่านผู้เจริญทั้งหลาย เรานี่แหละอสิตเทวละฤาษีนั้น.

ดูก่อนอัสสลายนะ ลําดับนั้นแล พราหมณ์ฤาษี ๗ ตน พากันเข้าไปหาอสิตเทวละฤาษีเพื่อจะไหว้ อสิตเทวละฤาษีได้กล่าวกะพราหมณ์ฤาษี ๗ ตนว่า ดูก่อนท่านผู้เจริญทั้งหลาย ข้าพเจ้าได้สดับข่าวนี้มาว่า พราหมณ์ฤาษี ๗ ตน มาประชุมในกระท่อมอันมุงบังด้วยใบไม้ในราวป่า เกิดทิฐิอันลามกเห็นปานนี้ว่า พราหมณ์เท่านั้นเป็นวรรณะประเสริฐ วรรณะอื่นเลว พราหมณ์เท่านั้นเป็นวรรณะขาว วรรณอื่นดํา พราหมณ์เท่านั้นบริสุทธิ์ ผู้มิใช่พราหมณ์ไม่บริสุทธิ์ พราหมณ์เท่านั้นเป็นบุตรของพรหม เป็นโอรสของพรหม เกิดแต่ปากพรหม เกิดแต่พรหม อันพรหมนิรมิต เป็นทายาทของพรหม ดังนี้จริงหรือ พราหมณ์ฤาษี ๗ ตน ตอบว่า จริงอย่างนั้นท่านผู้เจริญ.

เท. ก็ท่านผู้เจริญทั้งหลายรู้หรือว่า มารดาบังเกิดเกล้าได้แต่งงานกับพราหมณ์เท่านั้น ไม่ได้แต่งงานกะชายผู้มิใช่พราหมณ์เลย.

ฤา. ข้อนี้ไม่ทราบเลย ท่านผู้เจริญ.

เท. ก็ท่านผู้เจริญทั้งหลายรู้หรือว่า มารดาของมารดาบังเกิดเกล้าตลอด ๗ ชั่วย่ายายของมารดา ได้แต่งงานกับพราหมณ์เท่านั้น ไม่ได้แต่งงานกะชายผู้มิใช่พราหมณ์เลย.

ฤา. ข้อนี้ไม่ทราบเลย ท่านผู้เจริญ.

เท. ก็ท่านผู้เจริญทั้งหลายรู้หรือว่า บิดาบังเกิดเกล้าได้แต่งงานกับนางพราหมณีเท่านั้น ไม่ได้แต่งงานกะหญิงผู้มิใช่นางพราหมณีเลย.

ฤา. ข้อนี้ไม่ทราบเลย ท่านผู้เจริญ.

 
  ข้อความที่ 13  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 13 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ เล่ม ๒ ภาค ๒ - หน้า 316

เท. ก็ท่านผู้เจริญทั้งหลายรู้หรือว่า บิดาของบิดาบังเกิดเกล้า ตลอด ๗ ชั่วปู่ตาของบิดา ได้แต่งงานกะนางพราหมณีเท่านั้น ไม่ได้แต่งงานกะหญิงผู้มิใช่นางพราหมณีเลย.

ฤา. ข้อนี้ไม่ทราบเลย ท่านผู้เจริญ.

เท. ก็ท่านผู้เจริญทั้งหลายรู้หรือว่า การตั้งครรภ์จะมีได้ด้วยอาการอย่างไร

ฤา. ดูก่อนท่านผู้เจริญ ข้าพเจ้าทั้งหลายรู้ว่า การตั้งครรภ์จะมีได้ด้วยอาการอย่างไร คือ ในโลกนี้ มารดาและบิดาอยู่ร่วมกัน ๑ มารดามีระดู ๑ สัตว์ผู้จะเกิดในครรภ์ปรากฏ ๑ การตั้งครรภ์ย่อมมีได้เพราะความประชุมพร้อมแห่งเหตุ ๓ ประการอย่างนี้.

เท. ก็ท่านผู้เจริญทั้งหลายอ้อนวอนได้หรือว่า ได้โปรดเถิด ขอสัตว์ที่เกิดในครรภ์จงเป็นกษัตริย์ จงเป็นพราหมณ์ จงเป็นแพศย์ หรือว่าจงเป็นศูทร.

ฤา. ดูก่อนท่านผู้เจริญ ข้าพเจ้าทั้งหลายอ้อนวอนอย่างนั้นไม่ได้เลย.

เท. เมื่อเป็นอย่างนั้น ท่านผู้เจริญทั้งหลายจะรู้ได้หรือว่า ท่านทั้งหลายเป็นพวกไหน.

ฤา. ดูก่อนท่านผู้เจริญ เมื่อเป็นอย่างนั้นข้าพเจ้าทั้งหลายไม่รู้เลยว่า ข้าพเจ้าทั้งหลายเป็นพวกไหน.

ดูก่อนอัสสลายนะ ก็พราหมณ์ฤาษี ๗ ตนนั้น อันอสิตเทวละฤาษีซักไซ้ไล่เลียง ไต่ถามในวาทะปรารภชาติของตนย่อมตอบไม่ได้ ก็บัดนี้ ท่านอันเราซักไซ้ไล่เลียง ไต่ถามในวาทะปรารภชาติของตน จะตอบได้อย่างไร ท่านเป็นศิษย์มีอาจารย์ ยังรู้ไม่จบ เป็นแต่ถือทัพพี.

 
  ข้อความที่ 14  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 13 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ เล่ม ๒ ภาค ๒ - หน้า 317

[๖๒๙] เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสอย่างนี้แล้ว อัสสลายนมาณพได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก ฯลฯ ขอท่านพระโคดมโปรดทรงจําข้าพระองค์ว่าเป็นอุบาสก ผู้ถึงสรณะตลอดชีวิตจําเดิมแต่วันนี้เป็นต้นไป.

จบอัสสลายนสูตรที่ ๓

 
  ข้อความที่ 15  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 13 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ เล่ม ๒ ภาค ๒ - หน้า 318

อรรถกถาอัสสลายนสูตร

อัสสลายนสูตร มีคําเริ่มต้นว่า ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้ :-

ในพระสูตรนั้น คําว่า นานาเวรชฺชกานํ ได้แก่ ผู้ที่มาจากแคว้นต่างๆ มีอังคะและมคธ เป็นต้น โดยประการต่างๆ กัน อีกอย่างหนึ่ง ความว่า ผู้เกิดแล้วเจริญแล้ว ในแคว้นเหล่านั้นก็มี.

บทว่า เกนจิเทว คือ ด้วยกิจที่มิได้กําหนด มีการบูชายัญเป็นต้น.

บทว่า จาตุวณฺณิํ คือ ทั่วไปแก่วรรณะ 4. ก็เราทั้งหลายกล่าวว่า พราหมณ์ทั้งหลายย่อมสาธยายมนต์เพื่อชําระล้างให้บริสุทธิ์บ้าง เพื่อความบริสุทธิ์แห่งภาวนาบ้าง จึงสําคัญว่า พระสมณโคดมกระทําแม้สิ่งที่ไม่สมควร จึงคิดกันอย่างนั้น.

บทว่า วุตฺตสิโร คือ ปลงผม.

บทว่า ธมฺมวาที ความว่า พูดตามภาวะของตน.

บทว่า ทุปฺปภิมนฺติยา ความว่า อันผู้กล่าวไม่เป็นธรรมเช่นเราจะพึงโต้ตอบได้โดยยาก. ท่านแสดงว่า ไม่อาจทําให้ผู้กล่าวเป็นธรรมแพ้ได้.

บทว่า ปริพฺพาชกํ ได้แก่ วิธีบรรพชา. พราหมณ์เหล่านั้น สําคัญอยู่ว่า ผู้ที่เรียนพระเวทสามแล้วบวชในภายหลังคนอื่นทั้งหมด ย่อมบวชด้วยมนต์ใด ครั้นบวชแล้ว ย่อมบริหารมนต์เหล่าใด ย่อมประพฤติอาจาระใด สิ่งนั้นทั้งหมดเป็นอันท่านผู้เจริญเรียนแล้วศึกษาแล้ว เพราะเหตุนั้นแหละ ท่านจะไม่แพ้ ท่านจักมีแต่ชนะอย่างเดียวดังนี้ จึงกล่าวอย่างนั้น.

คําว่า ทิสฺสนฺเต โข ปน ดังนี้เป็นต้น ท่านกล่าวเพื่อทําลายลัทธิของพราหมณ์เหล่านั้น.

ในบทเหล่านั้น บทว่า พฺราหฺมณิโย ได้แก่ ใครๆ ก็เห็นนางพราหมณีที่นํามาจากตระกูลเพื่อให้บุตรของพราหมณ์ (แต่งงาน) ด้วยการอาวาหะ และวิวาหมงคล แต่นางนั้นโดยสมัยอื่นมีระดู หมายความว่า เกิด

 
  ข้อความที่ 16  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 13 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ เล่ม ๒ ภาค ๒ - หน้า 319

ประจําเดือน.

บทว่า คพฺภินิโย ได้แก่ เกิดท้องขึ้น.

บทว่า วิชายมานา ได้แก่ คลอดลูกชายหญิง.

บทว่า ปายมานา คือ ให้เด็กดื่มน้ำนม.

คําว่า โยนิชาวสมานา ความว่า เกิดทางช่องคลอดของนางพราหมณี.

คําว่า เอวมาหํสุ แปลว่า กล่าวอยู่อย่างนี้.

ถามว่า กล่าวอย่างไร.

ตอบว่า กล่าวว่า พฺราหฺมโณว เสฏโ วณฺโณ ฯเปฯ พฺรหฺมทายาทา ดังนี้.

ก็ถ้าว่าคําของคนเหล่านั้นพึงเป็นคําจริง ท้องนางพราหมณีก็พึงเป็นอกของมหาพรหม. ช่องคลอดของนางพราหมณีก็พึงเป็นปากของมหาพรหม ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ เราทั้งหลายอย่าได้กล่าวว่า อยู่ในอกของมหาพรหม ออกจากของพรหม ฉะนั้น จึงกล่าวคําตัดเรื่องชาติออกได้เต็มปาก.

คําว่า เป็นเจ้าแล้วกลับเป็นทาส เป็นทาสแล้วกลับเป็นเจ้า ความว่า พราหมณ์กับภริยาประกอบการค้าขายไปยังแคว้นโยนก หรือแคว้นกัมโพช กระทํากาละ เมื่อบุตรผู้เจริญวัยในเรือนเขาไม่มี นางพราหมณีก็สําเร็จสังวาสกับทาสหรือกรรมกร เกิดเด็กคนหนึ่ง บุรุษนั้นเป็นทาส. เด็กที่เกิดของบุรุษนั้น ก็เป็นเจ้าของมรดก ชื่อว่าบริสุทธิ์ฝ่ายมารดา ไม่บริสุทธิ์ฝ่ายบิดา. บุรุษนั้นประกอบการค้าขายอยู่ ไปยังมัชฌิมประเทศพาลูกสาวของพราหมณ์ไป ได้ลูกชายในท้องของนางนั้น. ถึงลูกชายนั้นก็ย่อมบริสุทธิ์ฝ่ายมารดาตามเดิม ไม่บริสุทธิ์ฝ่ายบิดา ด้วยอาการอย่างนี้ ความปนคละโดยชาติ ย่อมมีในลัทธิของพราหมณ์นั้นแหละ เพื่อแสดงความดังกล่าวมานี้ จึงกล่าวคํานั้นไว้.

คําว่า กิํ พลํ โก อสฺสาโส ท่านแสดงว่า ในที่ใดพวกท่านเป็นทาส ทุกคนก็เป็นทาส ถ้าเป็นเจ้าทุกคนก็เป็นเจ้า ในที่นี้อะไรเป็นกําลัง อะไรเป็นความยินดีของท่านทั้งหลายผู้กล่าวอย่างนี้ว่า พราหมณ์เท่านั้นเป็นวรรณะประเสริฐ.

คําว่า ขตฺติโย จ นุโข เป็นต้น เป็นคําตัดฝ่ายขาวทิ้งเสีย.

 
  ข้อความที่ 17  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 13 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ เล่ม ๒ ภาค ๒ - หน้า 320

บัดนี้ เมื่อจะแสดงความบริสุทธิ์อันมีวรรณะ ๔ จึงกล่าวคําว่า อิธ ราชา ดังนี้เป็นต้น.

บทว่า สาปานโทณิยา ได้แก่ รางน้ำข้าวแม้แห่งสุนัข.

บทว่า อคฺคิกรณียํ ได้แก่ หน้าที่ของไฟเป็นต้นว่า บรรเทาความหนาว ขจัดความมืด หุงต้มข้าว. ชื่อว่าผู้ทํากิจด้วยไฟในกิจทุกอย่างนี้ ชื่อว่า อัสสลายนะ ในบทนี้.

บัดนี้ ในข้อที่พราหมณ์กล่าวว่า ความบริสุทธิ์เกี่ยวกับวรรณะ ๔ ความบริสุทธิ์เกี่ยวกับวรรณะ ๔ นี้ ไม่มีความชี้ชัดลงไปว่าวรรณะ ๔ เพราะยังมีวรรณะผสมเป็นที่ ๕ ฉะนั้น เพื่อจะแสดงความผิดพลาดในคําของพราหมณ์เหล่านั้นโดยย่อ พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า ขัตติยกุมารในโลกนี้ดังนี้เป็นต้น.

บรรดาคําเหล่านั้น คําว่า อมุตฺร จ ปน สานํ ความว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ก็แลเราไม่เห็นการกระทําอันต่างกันอะไรๆ ของมาณพเหล่านี้ ในนัยก่อนโน้น. แต่แม้พราหมณ์เหล่านั้นยังมีการกระทําต่างกันเทียว. ก็ผู้ที่เกิดจากนางพราหมณีกับขัตติยกุมาร ก็ชื่อว่า ลูกผสมกษัตริย์. นอกนี้ชื่อว่าลูกผสมพราหมณ์. เหล่านี้เป็นมาณพผู้มีชาติต่ํา.

พระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นทรงแสดงโทษในวาทะของพราหมณ์เหล่านี้ว่า ความบริสุทธิ์เกี่ยวกับวรรณะ ๔ เพราะยังมีวรรณะที่ ๕ อยู่อย่างนี้แล้ว บัดนี้ เมื่อจะหยั่งลงในความบริสุทธิ์เกี่ยวกับวรรณะ ๔ อีก จึงตรัสคําว่า ตํ กิํ มฺสิ เป็นต้น.

ในบทเหล่านั้น บทว่า สทฺเธ ได้แก่ ภัตรเพื่อผู้ตาย.

บทว่า ถาลิปาเก ได้แก่ ภัตรเพื่อบรรณาการ.

บทว่า ยฺเ ได้แก่ ภัตรเพื่อบูชายัญ.

บทว่า ปาหุเน ได้แก่ ภัตรที่เขาทําเพื่อแขก.

บทว่า กิํ หิ คือ ย่อมแสดงว่าอันไหนจะมีผลมากหรือจะไม่มีผลมาก.

บทว่า ภูตปุพฺพํ ความว่า อัสสลายนะ ในกาลก่อนเราต่ํากว่าโดยชาติ ท่านแม้ประเสริฐกว่าก็ไม่อาจแก้ปัญหาในวาทะปรารภชาติที่เราถามแล้วได้ บัดนี้ท่านเป็นผู้ต่ํากว่าเรา ถามปัญหาวาทะปรารภชาติของตนแห่งพระพุทธเจ้าทั้งหลาย จะแก้ได้หรือ การคิดในปัญหานั้น ก็พึงกระทําไม่ได้

 
  ข้อความที่ 18  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 13 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ เล่ม ๒ ภาค ๒ - หน้า 321

เมื่อจะค้ำชูมาณพนั้น จึงปรารภการเทศนานี้ด้วยประการฉะนี้.

ในบทเหล่านั้น บทว่า อสิโต แปลว่า ดํา.

คําว่า เทวโล เป็นชื่อของดาบสนั้น. โดยสมัยนั้นก็คือพระผู้มีพระภาคเจ้านี้แหละ.

บทว่า อาคลิโย ได้แก่ รองเท้าสองชั้น.

บทว่า ปตฺติณฺฑิเล ได้แก่ บริเวณบรรณศาลา.

คําว่า โก นุ โข ได้แก่ ณ ที่ไหนหนอแล.

คําว่า คามณฺฑรูโป วิย ได้แก่ เหมือนเด็กชายชาวบ้าน.

คําว่า โส ขฺวาหํ โภ โหมิ ความว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า เราเป็นอสิตเทวละ.

ได้ยินว่า ในกาลนั้นพระมหาสัตว์เป็นผู้ฝึกม้าที่ยังมิได้ฝึกเที่ยวไป.

คําว่า อภิวาเทตุํ อุปกฺกมิํสุ คือ กระทําความพยายามจะไหว้. และต่อแต่นั้น แม้ดาบสผู้มีอายุ ๑๐๐ ปี ก็ไม่ไหว้ พราหมณ์กุมารผู้เกิดในวันนั้น เป็นผู้ฝึกแล้ว ฝึกดีแล้ว.

คําว่า ชนิมาตา ความว่า หญิงใดให้ท่านเกิดมา หญิงนั้นก็เป็นแม่ผู้เกิดเกล้าของท่าน.

บทว่า ชนิมาตุ คือ แห่งมารดาบังเกิดเกล้า.

บทว่า ชนิปิตา คือ ผู้ใดเป็นบิดาบังเกิดเกล้า. ปาฐะว่า โย ชนิปิตา ดังนี้ก็มี.

บทว่า อสิเตน ความว่า ฤาษีอสิตเทวละผู้ได้อภิญญา ๕ ถามปัญหาปรารภคนธรรพ์นี้ แล้วแก้ไม่ได้.

บทว่า เยสํ ได้แก่ ฤาษี ๗ ตน เหล่าใด.

คําว่า ปุณฺโณ ทพฺพิคาโห ความว่า มาณพคนหนึ่งชื่อ ปุณณะ จับทัพพีคั่วใบไม้ให้ฤาษี ๗ ตนเหล่านั้น. ปุณณะนั้นรู้ศิลปะในการจับทัพพี แต่ปุณณะไม่ได้เป็นอาจารย์ของฤาษีเหล่านั้น ท่านไม่รู้แม้เพียงศิลปะ คือการจับทัพพีที่ปุณณะนั้นรู้แล้ว.

คําที่เหลือในที่ทั้งปวงง่ายทั้งนั้นแล.

ก็อัสสลายนพราหมณ์นี้ เป็นผู้มีศรัทธา มีความเลื่อมใส ได้สร้างเจดีย์ไว้ในนิเวศน์ของตน. ผู้ที่เกิดในวงศ์ของอัสสลายนพราหมณ์ สร้างนิเวศน์แล้ว ก็สร้างเจดีย์ไว้ในภายในนิเวศน์จนตราบเท่าถึงวันนี้.

จบอรรถกถาอัสสลายนสูตรที่ ๓