พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๔. โฆฏมุขสูตร

 
บ้านธัมมะ
วันที่  28 ส.ค. 2564
หมายเลข  36099
อ่าน  465

[เล่มที่ 21] พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ เล่ม ๒ ภาค ๒ - หน้า 322

๔. โฆฏมุขสูตร


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 21]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 13 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ เล่ม ๒ ภาค ๒ - หน้า 322

๔. โฆฏมุขสูตร

[๖๓๐] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้ :-

สมัยหนึ่ง ท่านพระอุเทนอยู่ ณ เขมิยอัมพวัน ใกล้เมืองพาราณสี ก็สมัยนั้นแล พราหมณ์ชื่อว่าโฆฏมุขะได้ไปถึงเมืองพาราณสีด้วยกรณียกิจบางอย่าง. ครั้งนั้นแล โฆฏมุขพราหมณ์เดินเที่ยวไปมาเป็นการพักผ่อน ได้เข้าไปยังเขมิยอัมพวัน. ก็สมัยนั้น ท่านพระอุเทนเดินจงกรมอยู่ในที่แจ้ง. โฆฏมุขพราหมณ์เข้าไปหาท่านพระอุเทนถึงที่อยู่ ได้ปราศรัยกับท่านพระอุเทน ครั้นผ่านการปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันไปแล้ว ได้เดินตามท่านพระอุเทนผู้กําลังเดินจงกรมอยู่ ได้กล่าวอย่างนี้ว่า ดูก่อนสมณะผู้เจริญ การบวชอันชอบธรรมย่อมไม่มี ในเรื่องนี้ ข้าพเจ้ามีความเห็นอย่างนี้ เพราะบัณฑิตทั้งหลายเช่นท่านไม่เห็นข้อนั้น หรือไม่เห็นธรรมในเรื่องนี้.

[๖๓๑] เมื่อโฆฏมุขพราหมณ์กล่าวอย่างนี้แล้ว ท่านพระอุเทนลงจากที่จงกรม เข้าไปยังวิหาร แล้วนั่งบนอาสนะที่จัดไว้ แม้โฆฏมุขพราหมณ์ก็ลงจากที่จงกรม เข้าไปยังวิหาร แล้วยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วท่านพระอุเทนได้กล่าวกะโฆฏมุขพราหมณ์ว่า พราหมณ์ อาสนะมีอยู่ ถ้าท่านปรารถนาก็เชิญนั่งเถิด.

โฆ. ก็ข้าพเจ้ารอการเชื้อเชิญของท่านพระอุเทนนี้แล จึงยังไม่นั่ง เพราะว่าคนเช่นข้าพเจ้า อันใครไม่เชื้อเชิญก่อนแล้ว จะพึงสําคัญการที่จะพึงนั่งบนอาสนะอย่างไร.

ลําดับนั้นแล โฆฏมุขพราหมณ์ถือเอาอาสนะต่ําแห่งหนึ่ง แล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้กล่าวกะท่านพระอุเทนว่า สมณะผู้เจริญ การ

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 13 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ เล่ม ๒ ภาค ๒ - หน้า 323

บวชอันชอบธรรมย่อมไม่มี. ในเรื่องนี้ข้าพเจ้ามีความเห็นอย่างนี้ เพราะบัณฑิตทั้งหลายเช่นท่านไม่เห็นข้อนั้น หรือไม่เห็นธรรมในเรื่องนี้ ท่านพระอุเทนกล่าวว่า พราหมณ์ ถ้าท่านพึงยอมคําที่ควรยอม และพึงคัดค้านคําที่ควรคัดค้านของเรา อนึ่ง ท่านไม่พึงรู้เนื้อความแห่งภาษิตใด พึงซักถามเราในภาษิตนั้นให้ยิ่งไปว่า ท่านอุเทน ภาษิตนี้อย่างไร เนื้อความแห่งภาษิตนี้เป็นไฉน เพราะทําได้อย่างนี้ เราทั้งสองพึงมีการเจรจาปราศรัยในเรื่องนี้กันได้.

โฆ. ข้าพเจ้าจักยอมคําที่ควรยอม และจักคัดค้านคําที่ควรคัดค้านของท่านอุเทน. อนึ่ง ข้าพเจ้าจักไม่รู้เนื้อความแห่งภาษิตของท่านอุเทนข้อใด ข้าพเจ้าจักซักถามท่านอุเทนในภาษิตข้อนั้นให้ยิ่งขึ้นไปว่า ท่านอุเทน ภาษิตนี้อย่างไร เนื้อความแห่งภาษิตนี้เป็นไฉน เพราะทําได้อย่างนี้ เราทั้งสองจงเจรจาปราศรัยกันในเรื่องนี้เถิด.

[๖๓๒] อุ. พราหมณ์ บุคคล ๔ จําพวกนี้ มีปรากฏอยู่ในโลก ๔ จําพวกเป็นไฉน พราหมณ์บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้ทําตนให้เดือดร้อน ประกอบความขวนขวายในการทําตนให้เดือดร้อน ๑ บางคนเป็นผู้ทําผู้อื่นให้เดือดร้อน ประกอบความขวนขวายในการทําผู้อื่นให้เดือดร้อน ๑ บางคนเป็นผู้ทําตนให้เดือดร้อน ประกอบความขวนขวายในการทําตนให้เดือดร้อน ทั้งเป็นผู้ทําผู้อื่นให้เดือดร้อน ประกอบความขวนขวายในการทําผู้อื่นให้เดือดร้อน ๑ บางคนไม่เป็นผู้ทําตนให้เดือดร้อน ไม่ประกอบความขวนขวายในการทําตนให้เดือดร้อน ทั้งไม่เป็นผู้ทําผู้อื่นให้เดือดร้อน ไม่ประกอบความขวนขวายในการทําผู้อื่นให้เดือดร้อน บุคคลผู้ไม่ทําตนให้เดือดร้อนและไม่ทําผู้อื่นให้เดือดร้อนนั้น เป็นผู้ไม่มีความหิว ดับสนิท เป็นผู้เย็น เสวยแต่ความสุข มีตนเป็นดังพรหมอยู่ ในปัจจุบัน ๑ พราหมณ์ บรรดาบุคคล ๔ จําพวกนี้ บุคคลไหนย่อมยังจิตของท่านให้ยินดี.

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 13 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ เล่ม ๒ ภาค ๒ - หน้า 324

โฆ. ท่านอุเทน บุคคลผู้ทําตนให้เดือดร้อน ประกอบความขวนขวายในการทําตนให้เดือดร้อนนี้ ย่อมไม่ยังจิตของข้าพเจ้าให้ยินดี แม้บุคคลผู้ทําผู้อื่นให้เดือดร้อน ประกอบความขวนขวายในการทําผู้อื่นให้เดือดร้อนนี้ ก็ไม่ยังจิตของข้าพเจ้าให้ยินดี. ถึงบุคคลผู้ทําตนให้เดือดร้อน ประกอบความขวนขวายในการทําตนให้เดือดร้อน ทั้งทําผู้อื่นให้เดือดร้อน ประกอบความขวนขวายในการทําผู้อื่นให้เดือดร้อนนี้ ก็ไม่ยังจิตของข้าพเจ้าให้ยินดี. ส่วนบุคคลผู้ไม่ทําตนให้เดือดร้อน ไม่ประกอบความขวนขวายในการทําตนให้เดือดร้อน ทั้งไม่ทําผู้อื่นให้เดือดร้อน ไม่ประกอบความขวนขวายในการทําผู้อื่นให้เดือดร้อน ผู้ไม่ทําตนให้เดือดร้อนและไม่ทําผู้อื่นให้เดือดร้อนนั้น เป็นผู้ไม่มีความหิว ดับสนิท เป็นผู้เย็น เสวยแต่ความสุข มีตนเป็นดังพรหม อยู่ในปัจจุบันเทียว บุคคลนี้ย่อมยังจิตของข้าพเจ้าให้ยินดี.

อุ. ดูก่อนพราหมณ์ ก็เพราะเหตุไร บุคคล ๓ จําพวกนี้ จึงไม่ยังจิตของท่านให้ยินดี.

โฆ. ท่านอุเทน บุคคลผู้ทําตนให้เดือดร้อน ประกอบความขวนขวายในการทําตนให้เดือดร้อน เขาย่อมทําตนผู้รักสุขเกลียดทุกข์ให้เดือดร้อน ให้เร่าร้อน เพราะเหตุนี้ บุคคลนี้จึงไม่ยังจิตของข้าพเจ้าให้ยินดี แม้บุคคลผู้ทําผู้อื่นให้เดือดร้อน ประกอบความขวนขวายในการทําผู้อื่นให้เดือดร้อน เขาก็ย่อมทําผู้อื่นซึ่งรักสุขเกลียดทุกข์ให้เดือดร้อน ให้เร่าร้อน เพราะเหตุนี้ บุคคลนี้จึงไม่ยังจิตของข้าพเจ้าให้ยินดี. ถึงบุคคลผู้ทําตนให้เดือดร้อน ประกอบความขวนขวายในการทําตนให้เดือดร้อน ทั้งทําผู้อื่นให้เดือดร้อน ประกอบความขวนขวายในการทําผู้อื่นให้เดือดร้อน เขาก็ทําตนและผู้อื่นซึ่งรักสุขเกลียดทุกข์ให้เดือดร้อน ให้เร่าร้อน เพราะเหตุนี้ บุคคลนี้จึงไม่ยังจิตของข้าพเจ้า

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 13 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ เล่ม ๒ ภาค ๒ - หน้า 325

ให้ยินดี. ส่วนบุคคลผู้ไม่ทําตนให้เดือดร้อน ไม่ประกอบความขวนขวายในการทําตนให้เดือดร้อน ทั้งไม่ทําผู้อื่นให้เดือดร้อน ไม่ประกอบความขวนขวายในการทําผู้อื่นให้เดือดร้อน เขาไม่ทําตนให้เดือดร้อน ไม่ทําผู้อื่นให้เดือดร้อน เป็นผู้ไม่มีความหิว ดับสนิท เป็นผู้เย็น เสวยแต่ความสุข มีตนเป็นดังพรหมอยู่ในปัจจุบันเทียว เขาย่อมไม่ทําตนและผู้อื่นซึ่งรักสุขเกลียดทุกข์ให้เดือดร้อน ให้เร่าร้อน เพราะเหตุนี้ บุคคลนี้จึงยังจิตของข้าพเจ้าให้ยินดี.

[๖๓๓] อุ. พราหมณ์ บริษัท ๒ จําพวกนี้ ๒ จําพวกเป็นไฉน คือ บริษัทพวกหนึ่งในโลกนี้ กําหนัดยินดีในแก้วมณีและกุณฑล ย่อมแสวงหาบุตรและภรรยา ทาสีและทาส นาและที่ดิน ทองและเงิน ส่วนบริษัทพวกหนึ่งในโลกนี้ ไม่กําหนัดยินดีในแก้วมณีและกุณฑล ละบุตรและภรรยา ทาสีและทาส นาและที่ดิน ทองและเงิน แล้วออกบวชเป็นบรรพชิต. พราหมณ์ บุคคลผู้ไม่ทําตนให้เดือดร้อน ไม่ประกอบความขวนขวายในการทําตนให้เดือดร้อน ไม่ทําผู้อื่นให้เดือดร้อน ไม่ประกอบความขวนขวายในการทําผู้อื่นให้เดือดร้อน เขาไม่ทําตนให้เดือดร้อน ไม่ทําผู้อื่นให้เดือดร้อน ไม่มีความหิว ดับสนิท เป็นผู้เย็น เสวยแต่ความสุข มีตนเป็นดังพรหมอยู่ในปัจจุบันเทียว ท่านเห็นบุคคลนี้ในบริษัทไหนมาก คือ ในบริษัทผู้กําหนัดยินดีในแก้วมณีและกุณฑล แสวงหาบุตรและภรรยา ทาสีและทาส นาและที่ดิน ทองและเงิน และในบริษัทผู้ไม่กําหนัดยินดีในแก้วมณีและกุณฑล ละบุตรและภรรยา ทาสีและทาส นาและที่ดิน ทองและเงิน แล้วออกบวชเป็นบรรพชิต.

โฆ. ดูก่อนท่านอุเทน บุคคลผู้ไม่ทําตนให้เดือดร้อน ไม่ประกอบความขวนขวายในการทําตนให้เดือดร้อน ไม่ทําผู้อื่นให้เดือดร้อน ไม่ประกอบ

 
  ข้อความที่ 5  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 13 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ เล่ม ๒ ภาค ๒ - หน้า 326

ความขวนขวายในการทําผู้อื่นให้เดือดร้อน เขาไม่ทําตนให้เดือดร้อน ไม่ทําผู้อื่นให้เดือดร้อน ไม่มีความหิว ดับสนิท เป็นผู้เย็น เสวยแต่ความสุข มีตนเป็นดังพรหมอยู่ในปัจจุบันเทียว ข้าพเจ้าเห็นบุคคลนี้ มีมากในบริษัทผู้ไม่กําหนัดยินดีในแก้วมณีและกุณฑล ละบุตรและภรรยา ทาสีและทาส นาและที่ดิน ทองและเงิน แล้วออกบวชเป็นบรรพชิต.

อุ. ดูก่อนพราหมณ์ ก็ในบัดนี้นั่นเองแล เราย่อมรู้คําที่ท่านกล่าวแล้วอย่างนี้ว่า ดูก่อนสมณะผู้เจริญ การบวชอันชอบธรรมย่อมไม่มี ข้าพเจ้ามีความเห็นในเรื่องนี้อย่างนี้ เพราะบัณฑิตทั้งหลายเช่นท่านไม่เห็นข้อนั้น หรือเพราะไม่เห็นธรรมในเรื่องนี้.

โฆ. ดูก่อนท่านอุเทน วาจาที่ท่านกล่าวแก่ข้าพเจ้านั้น เป็นวาจามีเหตุสนับสนุนโดยแท้ การบวชอันชอบธรรมมีจริง ข้าพเจ้ามีความเห็นในเรื่องนี้อย่างนี้ และขอท่านอุเทนโปรดจําข้าพเจ้าไว้อย่างนี้. อนึ่ง บุคคล ๔ จําพวกนี้ ท่านอุเทนกล่าวแล้วโดยย่อไม่จําแนกโดยพิสดาร ขอโอกาสเถิดท่าน ขอท่านอุเทนช่วยอนุเคราะห์จําแนกบุคคล ๔ จําพวกนี้โดยพิสดารแก่ข้าพเจ้าเถิด.

อุ. ดูก่อนพราหมณ์ ถ้าอย่างนั้นท่านจงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว.

โฆฏมุขพราหมณ์รับคําท่านพระอุเทนว่า อย่างนั้น ท่านผู้เจริญ.

[๖๓๔] ท่านพระอุเทนได้กล่าวว่า ดูก่อนพราหมณ์ ก็บุคคลผู้ทําตนให้เดือดร้อน ประกอบความขวนขวายในการทําตนให้เดือดร้อนเป็นไฉน พราหมณ์ บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นคนเปลือย ไร้มารยาท เลียมือ เขาเชิญให้มารับภิกษาก็ไม่มา เขาเชิญให้หยุดก็ไม่หยุด ไม่ยินดีภิกษาที่เขานํามาให้ ไม่ยินดีภิกษาที่เขาทําเฉพาะ ไม่ยินดีรับนิมนต์ ไม่รับภิกษาจากปากหม้อ ไม่รับภิกษาจากปากกระเช้า ไม่รับภิกษาคร่อมธรณีประตู ไม่รับภิกษาคร่อมท่อนไม้ ไม่รับภิกษาคร่อมสาก ไม่รับภิกษาของคนสองคนกําลังบริโภคอยู่

 
  ข้อความที่ 6  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 13 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ เล่ม ๒ ภาค ๒ - หน้า 327

ไม่รับภิกษาของหญิงมีครรภ์ ไม่รับภิกษาของหญิงผู้กําลังให้ลูกดูดนม ไม่รับภิกษาของหญิงผู้คลอเคลียชาย ไม่รับภิกษาที่แนะนําทํากันไว้ ไม่รับภิกษาในที่ที่สุนัขเฝ้าชะแง้ดู ไม่รับภิกษาในที่ที่แมลงวันตอมเป็นกลุ่ม ไม่รับปลา ไม่รับเนื้อ ไม่ดื่มสุรา ไม่ดื่มเมรัย ไม่ดื่มน้ำหมักดอง เขารับภิกษาที่เรือนหลังเดียว บริโภคคําเดียวบ้าง รับภิกษาที่เรือน ๒ หลัง บริโภค ๒ คําบ้าง ฯลฯ รับภิกษาที่เรือน ๗ หลัง บริโภค ๗ คําบ้าง เลี้ยงชีวิตด้วยภิกษาในถาดน้อยใบเดียวบ้าง ๒ บ้าง ฯลฯ ๗ บ้าง กินอาหารที่เก็บค้างไว้วันหนึ่งบ้าง ๒ วันบ้าง ฯลฯ ๗ วันบ้าง เป็นผู้ประกอบความขวนขวายในการบริโภคภัตที่เวียนมาตั้งกึ่งเดือนเช่นนี้ด้วยประการฉะนี้ เป็นผู้มีผักดองเป็นภักษาบ้าง มีข้าวฟ่างเป็นภักษาบ้าง มีลูกเดือยเป็นภักษาบ้าง มีกากข้าวเป็นภักษาบ้าง มีสาหร่ายเป็นภักษาบ้าง มีรําเป็นภักษาบ้าง มีข้าวตังเป็นภักษาบ้าง มีข้าวไหม้เป็นภักษาบ้าง มีหญ้าเป็นภักษาบ้าง มีโคมัยเป็นภักษาบ้าง มีเหง้ามันและผลไม้ในป่าเป็นอาหาร. บริโภคผลไม้หล่นเลี้ยงชีวิตบ้าง เขานุ่งห่มผ้าป่านบ้าง ผ้าแกมกันบ้าง ผ้าห่อศพบ้าง ผ้าบังสุกุลบ้าง ผ้าเปลือกไม้บ้าง หนังเสือบ้าง หนังเสือทั้งเล็บบ้าง ผ้าคากรองบ้าง ผ้าเปลือกไม้กรองบ้าง ผ้าผลไม้กรองบ้าง ผ้ากัมพลทําด้วยผมคนบ้าง ผ้ากัมพลทําด้วยขนสัตว์บ้าง ผ้าทําด้วยขนปีกนกเค้าบ้าง เป็นผู้ถือการถอนผมและหนวด คือ ประกอบความขวนขวายในการถอนผมและหนวดบ้าง เป็นผู้ถือการยืน คือ ห้ามอาสนะบ้าง เป็นผู้ถือกระหย่ง คือ ประกอบความเพียรในการเดินกระหย่งบ้าง เป็นผู้ถือการนอนบนหนาม คือ สําเร็จการนอนบนหนามบ้าง เป็นผู้ถือการอาบน้ำวันละ ๓ ครั้ง คือ ประกอบความขวนขวายในการลงน้ำบ้าง เป็นผู้ขวนขวายในการประกอบเหตุเครื่องทํากายให้เดือดร้อน ให้เร่าร้อน ด้วยวิธีเป็นอันมากเช่นนี้

 
  ข้อความที่ 7  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 13 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ เล่ม ๒ ภาค ๒ - หน้า 328

อยู่ ดูก่อนพราหมณ์ บุคคลนี้เรียกว่า เป็นผู้ทําตนให้เดือดร้อน ประกอบความขวนขวายในการทําตนให้เดือดร้อน.

[๖๓๕] ดูก่อนพราหมณ์ ก็บุคคลผู้ทําผู้อื่นให้เดือดร้อน ประกอบความขวนขวายในการทําผู้อื่นให้เดือดร้อน เป็นไฉน ดูก่อนพราหมณ์ บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นคนฆ่าหมูขายเลี้ยงชีพ เป็นคนฆ่านกขายเลี้ยงชีพ เป็นคนฆ่าเนื้อขายเลี้ยงชีพ เป็นพราน เป็นคนฆ่าปลา เป็นโจร เป็นคนรับจ้างฆ่าโจร เป็นใหญ่ในเรือนจํา หรือแม้ใครๆ อื่นผู้มีการงานอันหยาบช้า ดูก่อนพราหมณ์ บุคคลนี้เรียกว่า เป็นคนทําผู้อื่นให้เดือดร้อน ประกอบความขวนขวายในการทําผู้อื่นให้เดือดร้อน.

[๖๓๖] พราหมณ์ ก็บุคคลผู้ทําตนให้เดือดร้อน ประกอบความขวนขวายในการทําตนให้เดือดร้อน ทั้งทําผู้อื่นให้เดือดร้อน ประกอบความขวนขวายในการทําผู้อื่นให้เดือดร้อน เป็นไฉน ดูก่อนพราหมณ์ บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นพระราชามหากษัตริย์ ได้รับมูรธาภิเษกแล้ว หรือเป็นพราหมณ์มหาศาล เขาสั่งให้สร้างห้องประชุมใหม่ไว้ด้านตะวันออกแห่งนคร แล้วปลงผมและหนวด นุ่งหนังเสือทั้งเล็บ เอาน้ำมันเจือเนยใสทากาย เกาหลังด้วยเขาสัตว์ เข้าไปยังห้องประชุมพร้อมด้วยมเหสีและพราหมณ์ปุโรหิต เขานอนบนพื้นดินอันไม่มีเครื่องลาด ซึ่งไล้ทาด้วยของเขียวสด พระราชาเลี้ยงพระองค์ด้วยน้ำนมในเต้าที่หนึ่ง พระมเหสีเลี้ยงพระองค์ด้วยน้ำนมในเต้าที่ ๒ พราหมณ์ปุโรหิตเลี้ยงตัวด้วยน้ำนมในเต้าที่ ๓ บูชาไฟด้วยน้ำนมในเต้าที่ ๔ ลูกโคเลี้ยงชีวิตด้วยน้ำนมที่เหลือแห่งแม่โคลูกอ่อนตัวเดียว เขาสั่งอย่างนี้ว่า จงฆ่าโคผู้เท่านี้ ลูกโคผู้เท่านี้ ลูกโคเมียเท่านี้ แพะเท่านี้ แกะเท่านี้ เพื่อประโยชน์แก่การบูชายัญ จงตัดต้นไม้เท่านี้ เพื่อประโยชน์แก่การทําโรงบูชายัญ จงถอนหญ้าเท่านี้เพื่อลาดพื้น ชนเหล่าใดเป็นทาสก็ดี เป็นคนใช้ก็ดี เป็นกรรมกรก็ดี

 
  ข้อความที่ 8  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 13 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ เล่ม ๒ ภาค ๒ - หน้า 329

ของพระราชาหรือพราหมณ์มหาศาลนั้น ชนเหล่านั้นถูกอาชญาคุกคาม ถูกภัยคุกคาม ร้องไห้น้ำตานองหน้า ทําการงานตามกําหนดสั่ง ดูก่อนพราหมณ์ บุคคลนี้เรียกว่า เป็นผู้ทําตนให้เดือดร้อน ประกอบความขวนขวายในการทําตนให้เดือดร้อน ทั้งทําผู้อื่นให้เดือดร้อน ประกอบความขวนขวายในการทําผู้อื่นให้เดือดร้อน.

[๖๓๗] ดูก่อนพราหมณ์ ก็บุคคลผู้ไม่ทําตนให้เดือดร้อน ไม่ประกอบความขวนขวายในการทําตนให้เดือดร้อน ทั้งไม่ทําผู้อื่นให้เดือดร้อน ไม่ประกอบความขวนขวายในการทําให้ผู้อื่นเดือดร้อน เขาไม่ทําตนให้เดือดร้อน ไม่ทําผู้อื่นให้เดือดร้อน เป็นผู้ไม่มีความหิว ดับสนิท เป็นผู้เย็น เสวยแต่ความสุข มีตนเป็นดังพรหมอยู่ในปัจจุบันเทียว เป็นไฉน ดูก่อนพราหมณ์ พระตถาคตเจ้าเสด็จอุบัติขึ้นในโลกนี้ เป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้เองโดยชอบ... เป็นผู้เบิกบานแล้ว เป็นผู้จําแนกธรรม พระองค์ทรงทําโลกนี้ พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ให้แจ้งชัดด้วยพระปัญญาอันยิ่งของพระองค์เองแล้ว ทรงสอนหมู่สัตว์ พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดาและมนุษย์ให้รู้ตาม ทรงแสดงธรรมอันงามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด ทรงประกาศพรหมจรรย์ พร้อมทั้งอรรถทั้งพยัญชนะ บริสุทธิ์บริบูรณ์สิ้นเชิง คฤหบดีก็ดี บุตรคฤหบดีก็ดี หรือบุคคลผู้เกิดภายหลังในตระกูลใดตระกูลหนึ่ง ได้ฟังธรรมนั้น ครั้นได้ฟังธรรมนั้นแล้ว ย่อมได้ศรัทธาในพระตถาคตเจ้า เขาประกอบด้วยศรัทธานั้น ย่อมเห็นตระหนักชัดว่า ฆราวาสคับแคบ เป็นทางมาแห่งธุลี (คือกิเลส) บรรพชาเป็นทางปลอดโปร่ง การที่บุคคลผู้อยู่ครองเรือนจะประพฤติพรหมจรรย์ให้บริบูรณ์บริสุทธิ์โดยส่วนเดียวดุจสังข์ที่ขัดแล้วไม่ใช่ทําได้ง่าย ถ้ากระไร เราพึงปลงผมและหนวด นุ่งห่มผ้าย้อมน้ำฝาด ออกบวชเป็นบรรพชิตเถิด สมัย

 
  ข้อความที่ 9  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 13 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ เล่ม ๒ ภาค ๒ - หน้า 330

ต่อมา เขาละกองโภคสมบัติน้อยใหญ่ และเครือญาติน้อยใหญ่ ปลงผมและหนวด นุ่งห่มผ้าย้อมน้ำฝาด ออกบวชเป็นบรรพชิต.

[๖๓๘] เมื่อเขาบวชแล้วอย่างนี้ เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยสิกขาและอาชีพ เสมอด้วยภิกษุทั้งหมด เป็นผู้ละการฆ่าสัตว์ เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ วางท่อนไม้ วางศาสตรา มีความละอาย มีความเอ็นดู มีความกรุณา หวังประโยชน์เกื้อกูลแก่สัตว์ทั้งปวงอยู่. ละการลักทรัพย์ เว้นขาดจากการลักทรัพย์ รับแต่ของที่เขาให้ ต้องการแต่ของที่เขาให้ ไม่ประพฤติตนเป็นขโมย มีตนสะอาดอยู่. ละกรรมอันเป็นข้าศึกแก่พรหมจรรย์ ประพฤติพรหมจรรย์ ประพฤติห่างไกลเว้นจากเมถุนอันเป็นกิจของชาวบ้าน. ละการกล่าวเท็จ เว้นขาดจากการกล่าวเท็จ พูดแต่คําจริง ดํารงคําสัตย์ พูดเป็นหลักฐานควรเชื่อได้ ไม่พูดลวงโลก. ละคําส่อเสียด เว้นขาดจากคําส่อเสียด ฟังจากข้างนี้แล้วไม่ไปบอกข้างโน้น เพื่อให้คนหมู่นี้แตกร้าวกัน หรือฟังจากข้างโน้นแล้วไม่มาบอกข้างนี้ เพื่อให้คนหมู่โน้นแตกร้าวกัน สมานคนที่แตกร้าวกันบ้าง ส่งเสริมคนที่พร้อมเพรียงกันบ้าง ชอบคนผู้พร้อมเพรียงกัน ยินดีในคนผู้พร้อมเพรียงกัน เพลิดเพลินในคนผู้พร้อมเพรียงกัน กล่าวแต่คําที่ทําให้พร้อมเพรียงกัน. ละคําหยาบ เว้นขาดจากคําหยาบ กล่าวแต่คําไม่มีโทษ เพราะหูชวนให้รัก จับใจ เป็นคําของชาวเมือง คนส่วนมากรักใคร่พอใจ. ละคําเพ้อเจ้อ เว้นขาดจากคําเพ้อเจ้อ พูดถูกกาล พูดคําจริง พูดอิงอรรถ พูดอิงธรรม พูดอิงวินัย พูดแต่คํามีหลักฐาน มีที่อ้าง มีที่กําหนด ประกอบด้วยประโยชน์ โดยกาลอันควร. เธอเป็นผู้เว้นขาดจากการพรากพืชคามและภูตคาม เป็นผู้ฉันหนเดียว เว้นการฉันในราตรี งดการฉันในเวลาวิกาล เป็นผู้เว้นขาดจากการฟ้อนรํา ขับร้อง การประโคมดนตรี และดูการเล่นอันเป็นข้าศึกแก่กุศล เป็นผู้เว้นขาดจากการทัดทรง ประดับและตกแต่งร่างกายด้วยดอกไม้ของหอม และเครื่องประเทืองผิว

 
  ข้อความที่ 10  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 13 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ เล่ม ๒ ภาค ๒ - หน้า 331

อันเป็นฐานะแห่งการแต่งตัว เว้นขาดจากการนั่งนอนบนที่นั่งที่นอนอันสูงใหญ่ เว้นขาดจากการรับทองและเงิน เว้นขาดจากการรับธัญชาติดิบ เว้นขาดจากการรับเนื้อดิบ เว้นขาดจากการรับหญิงและเด็กหญิง เว้นขาดจากการรับทาสีและทาส เว้นขาดจากการรับแพะและแกะ เว้นขาดจากการรับไก่และสุกร เว้นขาดจากการรับช้าง โค ม้าและลา เว้นขาดจากการรับนาและที่ดิน เว้นขาดจากการประกอบทูตกรรมและการรับใช้ เว้นขาดจากการซื้อและการขาย เว้นจากการฉ้อโกงด้วยตราชั่ง การโกงด้วยของปลอมและการโกงด้วยเครื่องตวงวัด เว้นขาดจากการรับสินบน การล่อลวงและการตลบตะแลง เว้นขาดจากการตัด การฆ่า การจองจํา ตีชิง การปล้นและกรรโชก เธอเป็นผู้สันโดษด้วยจีวรเป็นเครื่องบริหารกาย ด้วยบิณฑบาตเป็นเครื่องบริหารท้อง จะไปทางทิศาภาคใดๆ ก็ถือเอาไปได้เอง เปรียบเหมือนนก จะบินไปทางทิศาภาคใดๆ ก็มีแต่ปีกของตัวเป็นภาระบินไป ฉะนั้น เธอประกอบด้วยศีลขันธ์อันเป็นของพระอริยะนี้ ย่อมได้เสวยสุขอันไม่มีโทษเฉพาะตน. เธอเห็นรูปด้วยจักษุแล้วไม่เป็นผู้ยึดถือนิมิต ไม่ยึดถืออนุพยัญชนะ ย่อมปฏิบัติเพื่อสํารวมจักขุนทรีย์ ที่เมื่อไม่สํารวมแล้ว พึงเป็นเหตุให้อกุศลธรรมอันลามก คือ อภิชฌา และโทมนัสครอบงํานั้น ชื่อว่ารักษาจักขุนทรีย์ ถึงความสํารวมในจักขุนทรีย์ ฟังเสียงด้วยหู... สูดกลิ่นด้วยจมูก... ลิ้มรสด้วยลิ้น... ถูกต้องโผฏฐัพพะด้วยกาย รู้ธรรมารมณ์ด้วยใจแล้ว ไม่เป็นผู้ยึดถือนิมิต ไม่ยึดถืออนุพยัญชนะ ย่อมปฏิบัติเพื่อสํารวมมนินทรีย์ ที่เมื่อไม่สํารวมแล้ว พึงเป็นเหตุให้อกุศลธรรมอันลามกคือ อภิชฌาและโทมนัสครอบงํานั้น ชื่อว่ารักษามนินทรีย์ ถึงความสํารวมในมนินทรีย์ เธอประกอบด้วยอินทรีย์สังวรอันเป็นของพระอริยะนี้ ย่อมได้เสวยสุขอันบริสุทธิ์เฉพาะตน. เธอเป็นผู้กระทําความรู้สึกตัวในการก้าวไป ในการถอยกลับ ย่อมทําความรู้สึกตัวในการแล ในการเหลียว ย่อมทําความรู้สึก

 
  ข้อความที่ 11  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 13 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ เล่ม ๒ ภาค ๒ - หน้า 332

ในการคู้เข้า ในการเหยียดออก ย่อมทําความรู้สึกตัวในการทรงผ้าสังฆาฏิ บาตรและจีวร ย่อมทําความรู้สึกตัวในการฉัน ในการดื่ม ในการเคี้ยว ในการลิ้ม ย่อมทําความรู้สึกตัวในการถ่ายอุจาระปัสสาวะ ย่อมทําความรู้สึกตัวในการเดิน ในการยืน ในการนั่ง ในการหลับ ในการตื่น ในการพูด.

[๖๓๙] ภิกษุนั้นประกอบด้วยศีลขันธ์อันเป็นของพระอริยะ ด้วยอินทรีย์สังวรอันเป็นของพระอริยะ และด้วยสติสัมปชัญญะอันเป็นของพระอริยะเช่นนี้ ย่อมเสพเสนาสนะอันสงัด คือ ป่า โคนไม้ ภูเขา ซอกเขา ถ้ำ ป่าช้า ป่าชัฏ ที่แจ้ง ลอมฟาง เธอกลับจากบิณฑบาตในเวลาภายหลังภัต นั่งคู้บัลลังก์ ตั้งกายตรง ดํารงสติไว้เฉพาะหน้า เธอละอภิชฌาในโลก มีใจปราศจากอภิชฌาอยู่. ย่อมชําระจิตให้บริสุทธิ์จากอภิชฌา. ละความประทุษร้ายคือพยาบาท ไม่คิดพยาบาท มีความกรุณาหวังประโยชน์เกื้อกูลแก่สัตว์ทั้งปวงอยู่. ย่อมชําระจิตให้บริสุทธิ์จากความประทุษร้ายคือพยาบาท ละถีนมิทธะ ปราศจากถีนมิทธะ มีความกําหนดหมายอยู่ที่แสงสว่าง มีสติสัมปชัญญะอยู่ ย่อมชําระจิตให้บริสุทธิ์จากถีนมิทธะ. ละอุทธัจจกุกกุจจะ เป็นผู้ไม่ฟุ้งซ่าน มีจิตสงบ ณ ภายในอยู่ ย่อมชําระจิตให้บริสุทธิ์จากอุทธัจจกุกกุจจะ. ละวิจิกิจฉา ข้ามพ้นวิจิกิจฉา ไม่มีความสงสัยในกุศลธรรมทั้งหลายอยู่ ย่อมชําระจิตให้บริสุทธิ์จากวิจิกิจฉา.

[๖๔๐] ภิกษุนั้น ละนิวรณ์ ๕ ประการ อันเป็นเครื่องเศร้าหมองใจ ทําปัญญาให้ทุรพล เหล่านี้แล้ว สงัดจากอกุศลธรรม บรรลุปฐมฌานอันมีวิตก มีวิจาร มีปีติและสุขเกิดแต่วิเวกอยู่ บรรลุทุติยฌานอันมีความผ่องใสแห่งจิตในภายใน เป็นธรรมเอกผุดขึ้น ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร เพราะวิตกวิจารสงบไป มีปีติและสุขเกิดแต่สมาธิอยู่ เป็นผู้มีอุเบกขา มีสติสัมปชัญญะและเสวยสุขด้วยนามกาย เพราะปีติสิ้นไป บรรลุตติยฌาน ที่พระอริยเจ้าทั้งหลายสรรเสริญว่า ผู้ได้ฌานนี้เป็นผู้มีอุเบกขา มีสติ อยู่เป็นสุข บรรลุจตุตถฌาน

 
  ข้อความที่ 12  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 13 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ เล่ม ๒ ภาค ๒ - หน้า 333

อันไม่มีทุกข์ ไม่มีสุข เพราะละสุขละทุกข์ และดับโสมนัสโทมนัสก่อนๆ ได้ มีอุเบกขาเป็นเหตุให้สติบริสุทธิ์อยู่.

[๖๔๑] ภิกษุนั้น เมื่อจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ ผ่องแผ้ว ไม่มีกิเลส ปราศจากอุปกิเลส เป็นจิตอ่อน ควรแก่การงาน ตั้งมั่น ถึงความไม่หวั่นไหวแล้วอย่างนี้ ย่อมโน้มน้อมจิตไปเพื่อปุพเพนิวาสานุสติญาณ เธอย่อมระลึกถึงชาติก่อนได้เป็นอันมากคือ ระลึกได้ชาติหนึ่งบ้าง สองชาติบ้าง สามชาติบ้าง สี่ชาติบ้าง ห้าชาติบ้าง สิบชาติบ้าง ยี่สิบชาติบ้าง สามสิบชาติบ้าง สี่สิบชาติบ้าง ห้าสิบชาติบ้าง ร้อยชาติบ้าง พันชาติบ้าง แสนชาติบ้าง ตลอดสังวัฏกัปเป็นอันมากบ้าง ตลอดวิวัฏกัปเป็นอันมากบ้าง ว่าในภพโน้น เราได้มีชื่ออย่างนั้น มีโคตรอย่างนั้น มีผิวพรรณอย่างนั้น มีอาหารอย่างนั้น เสวยสุขเสวยทุกข์อย่างนั้นๆ มีกําหนดอายุเพียงเท่านั้น ครั้นจุติจากภพนั้นแล้วได้ไปเกิดในภพโน้น แม้ในภพนั้น เราก็ได้มีชื่ออย่างนั้น มีโคตรอย่างนั้น มีผิวพรรณอย่างนั้น มีอาหารอย่างนั้น เสวยสุขเสวยทุกข์อย่างนั้นๆ มีกําหนดอายุเพียงเท่านั้น ครั้นจุติจากภพนั้นแล้ว ได้มาเกิดในภพนี้ เธอย่อมระลึกถึงชาติก่อนได้เป็นอันมาก พร้อมทั้งอาการ พร้อมทั้งอุเทศ ด้วยประการฉะนี้.

[๖๔๒] ภิกษุนั้น เมื่อจิตเป็นสมาธิ... ถึงความไม่หวั่นไหวแล้วอย่างนี้ ย่อมโน้มน้อมจิตไปเพื่อรู้จุติและอุปบัติของสัตว์ทั้งหลาย เธอย่อมเห็นหมู่สัตว์กําลังจุติ กําลังอุปบัติ เลว ประณีต มีผิวพรรณดี มีผิวพรรณทราม ได้ดี ตกยาก ด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์ ล่วงจักษุของมนุษย์ ย่อมรู้ชัดซึ่งหมู่สัตว์เป็นไปตามกรรมว่า สัตว์เหล่านี้ประกอบด้วยกายทุจริต ฯลฯ ติเตียนพระอริยเจ้า เป็นมิจฉาทิฐิ ถือมั่นการกระทําด้วยอํานาจมิจฉาทิฐิ เมื่อตายไป จึงต้องเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก ส่วนสัตว์เหล่านี้ประกอบด้วยกายสุจริต ฯลฯ ไม่ติเตียนพระอริยเจ้า เป็นสัมมาทิฐิ ถือมั่นการกระทําด้วยอํานาจสัมมา-

 
  ข้อความที่ 13  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 13 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ เล่ม ๒ ภาค ๒ - หน้า 334

ทิฐิ เมื่อตายไป ได้เข้าถึงสุคติโลกสวรรค์. เธอย่อมเห็นหมู่สัตว์กําลังจุติ กําลังอุปบัติ เลว ประณีต มีผิวพรรณดี มีผิวพรรณทราม ได้ดี ตกยาก ด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์ ล่วงจักษุของมนุษย์ ย่อมรู้ชัดซึ่งหมู่สัตว์ผู้เป็นไปตามกรรม ด้วยประการฉะนี้.

[๖๔๓] ภิกษุนั้น เมื่อจิตเป็นสมาธิ... ถึงความไม่หวั่นไหวแล้วอย่างนี้ ย่อมโน้มน้อมจิตไปเพื่อญาณ เป็นเหตุสิ้นอาสวะ เธอย่อมรู้ชัดตามความเป็นจริงว่า นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา เหล่านี้อาสวะ นี้เหตุเกิดอาสวะ นี้ความดับอาสวะ นี้ข้อปฏิบัติเครื่องให้ถึงความดับอาสวะ เมื่อเธอรู้อย่างนี้ เห็นอย่างนี้ จิตย่อมหลุดพ้นแม้จากกามาสวะ แม้จากภวาสวะ แม้จากอวิชชาสวะ เมื่อจิตหลุดพ้นแล้ว ย่อมมีญาณหยั่งรู้ว่า หลุดพ้นแล้ว ย่อมรู้ชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทํา ทําเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้อีกมิได้มี. ดูก่อนพราหมณ์ บุคคลนี้เรียกว่า ผู้ไม่ทําตนให้เดือดร้อน ไม่ประกอบความขวนขวายในการทําตนให้เดือดร้อน ทั้งไม่ทําผู้อื่นให้เดือดร้อน ไม่ประกอบความขวนขวายในการทําผู้อื่นให้เดือดร้อน เขาไม่ทําตนให้เดือดร้อน ไม่ทําผู้อื่นให้เดือดร้อน ไม่มีความหิว ดับสนิท เป็นผู้เย็น เสวยแต่ความสุข มีตนเป็นดังพรหมอยู่ในปัจจุบันเทียว.

[๖๔๔] เมื่อท่านพระอุเทนกล่าวอย่างนี้แล้ว โฆฏมุขพราหมณ์ได้กล่าวกะท่านพระอุเทนว่า ข้าแต่ท่านอุเทน ภาษิตของท่านแจ่มแจ้งนัก ข้าแต่ท่านอุเทน ภาษิตของท่านแจ่มแจ้งนัก ท่านอุเทนประกาศธรรมโดยอเนกปริยาย เปรียบเหมือนหงายของที่คว่ํา เปิดของที่ปิด บอกทางแก่คนหลงทาง หรือตามประทีปไว้ในที่มืด ด้วยหวังว่า ผู้มีจักษุจักเห็นรูปได้ ฉะนั้น ข้าพเจ้านี้ขอถึงท่านอุเทนกับทั้งพระธรรมและภิกษุสงฆ์ว่าเป็นสรณะ ขอท่านอุเทนทรงจําข้าพเจ้าว่าเป็นอุบาสกผู้ถึงสรณะตลอดชีวิต ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป.

 
  ข้อความที่ 14  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 13 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ เล่ม ๒ ภาค ๒ - หน้า 335

อุ. ดูก่อนพราหมณ์ ท่านอย่าได้ถึงอาตมาเป็นสรณะเลย เชิญท่านถึงพระผู้มีพระภาคเจ้า ที่อาตมาถึง เป็นสรณะเถิด.

โฆ. ข้าแต่ท่านอุเทน เดี๋ยวนี้ ท่านพระโคดมอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ประทับอยู่ที่ไหน.

อุ. ดูก่อนพราหมณ์ เดี๋ยวนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น เสด็จปรินิพพานเสียแล้ว.

โฆ. ข้าแต่ท่านอุเทน ถ้าแหละข้าพเจ้าพึงได้ฟังว่า ท่านพระโคดมพระองค์นั้น ประทับอยู่ในหนทางแม้ ๑๐ โยชน์ ข้าพเจ้าก็พึงไปเฝ้าท่านพระโคดมอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น แม้สิ้นหนทาง ๑๐ โยชน์ ถ้าแหละข้าพเจ้าพึงได้ฟังว่า ท่านพระโคดมพระองค์นั้น ประทับอยู่ในหนทาง ๒๐ โยชน์ ๓๐ โยชน์ ๔๐ โยชน์ ๕๐ โยชน์ แม้ ๑๐๐ โยชน์ ข้าพเจ้าก็พึงไปเฝ้าท่านพระโคดมอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น แม้สิ้นหนทาง ๑๐๐ โยชน์ แต่ว่าท่านพระโคดมพระองค์นั้น เสด็จปรินิพพานเสียแล้ว ข้าพเจ้าขอถึงท่านพระโคดมพระองค์นั้น แม้เสด็จปรินิพพานแล้ว กับทั้งพระธรรมและพระภิกษุสงฆ์ เป็นสรณะ ขอท่านอุเทนทรงจําข้าพเจ้าว่าเป็นอุบาสกผู้ถึงสรณะตลอดชีวิต ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป อนึ่ง มีเบี้ยเลี้ยงประจําที่พระเจ้าอังคราชโปรดพระราชทานแก่ข้าพเจ้าทุกวัน ข้าพเจ้าขอถวายส่วนหนึ่งจากเบี้ยเลี้ยงประจํานั้นแก่ท่านอุเทน.

[๖๔๕] อุ. ดูก่อนพราหมณ์ ก็พระเจ้าอังคราชโปรดพระราชทานอะไรเป็นเบี้ยเลี้ยงประจําทุกวันแก่ท่าน.

โฆ. ข้าแต่ท่านอุเทน พระเจ้าอังคราชโปรดพระราชทานกหาปณะ ๕๐๐ เป็นเบี้ยเลี้ยงประจําแก่ข้าพเจ้า.

 
  ข้อความที่ 15  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 13 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ เล่ม ๒ ภาค ๒ - หน้า 336

อุ. ดูก่อนพราหมณ์ การรับทองและเงิน ไม่สมควรแก่อาตมาทั้งหลาย.

โฆ. ข้าแต่ท่านอุเทน ถ้าทองและเงินนั้นไม่สมควร ข้าพเจ้าจะให้สร้างวิหารถวายท่านอุเทน.

อุ. ดูก่อนพราหมณ์ ถ้าแลท่านปรารถนาจะให้สร้างวิหารถวายอาตมา ก็ขอให้สร้างโรงเลี้ยงถวายแก่สงฆ์ในเมืองปาตลีบุตรเถิด.

โฆ. ด้วยข้อที่ท่านอุเทนชักชวนข้าพเจ้าในสังฆทานนี้ ข้าพเจ้ามีใจชื่นชมยินดีเหลือประมาณ ข้าแต่ท่านอุเทน ข้าพเจ้าจะให้สร้างโรงเลี้ยงถวายแก่สงฆ์ในเมืองปาตลีบุตร ด้วยเบี้ยเลี้ยงประจําส่วนนี้ด้วย ด้วยเบี้ยเลี้ยงประจําส่วนอื่นด้วย.

ครั้งนั้นแล โฆฏมุขพราหมณ์ให้จัดสร้างโรงเลี้ยงถวายแก่สงฆ์ในเมืองปาตลีบุตร ด้วยเบี้ยเลี้ยงประจําส่วนนี้และส่วนอื่น โรงเลี้ยงนั้น เดี๋ยวนี้เรียกว่า โฆฏมุขี ฉะนี้แล.

จบโฆฏมุขสูตรที่ ๔

 
  ข้อความที่ 16  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 13 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ เล่ม ๒ ภาค ๒ - หน้า 337

อรรถกถาโฆฏมุขสูตร

โฆฏมุขสูตร มีคําเริ่มต้นว่า ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้ :-

ในพระสูตรนั้น บทว่า เขมิยัมพวัน ได้แก่ สวนมะม่วงอันมีชื่ออย่างนั้น. (๑)

คําว่า การบวชประกอบด้วยธรรม ได้แก่ การงดเว้นอันประกอบด้วยธรรม.

บทว่า เพราะไม่เห็น ความว่า เพราะไม่เห็นบัณฑิตเช่นกับท่าน.

คําว่า ก็หรือว่าในเหตุนี้ มีธรรมใดเป็นสภาพ ความว่า ก็หรือว่าธรรมคือสภาวะนั้นเอง อันใดในที่นี้ เพราะไม่เห็นสภาวะอันนั้น. ด้วยบทนี้ ท่านแสดงว่า ถ้อยคําของเราไม่เป็นประมาณ ธรรมอย่างเดียวเป็นประมาณ.

แต่นั้น พระเถระคิดว่า ในที่นี้พึงมีการงานมากเหมือนในเรือนอุโบสถใหม่ จึงหลีกออกจากที่จงกรม เข้าไปนั่ง ณ บรรณศาลานั่งแล้ว. เพื่อจะแสดงเรื่องนั้น ท่านจึงกล่าวว่า เมื่อกล่าวแล้วอย่างนี้ ดังนี้เป็นต้น.

คําว่า พราหมณ์ ๔ คนเหล่านี้ ความว่า ได้ยินว่า พระเถระได้มีความคิดอย่างนี้ว่า พราหมณ์นี้กล่าวว่า ผู้เข้าถึงบรรพชาอันประกอบด้วยธรรมเป็นสมณะ หรือเป็นพราหมณ์ หามีไม่.

พระเถระครั้นแสดงบุคคล ๔ และบริษัท ๒ แก่พราหมณ์นี้แล้ว จึงเริ่มเทศนานี้ว่า เราจักถามบุคคลที่ ๔ ว่า ท่านเห็นมีมากในบริษัทไหน พราหมณ์เมื่อรู้อยู่กล่าวว่า ในบริษัทของผู้ไม่ครองเรือน เราจักให้พราหมณ์นั้นกล่าวด้วยปากของตนนั่นเทียวว่า การงดเว้นที่ประกอบด้วยธรรมมีอยู่ ด้วยประการฉะนี้.


(๑) ส่วนนี้พระราชเทวีพระนามว่า เขมิยา ปลูกไว้.

 
  ข้อความที่ 17  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 13 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ เล่ม ๒ ภาค ๒ - หน้า 338

ในบทเหล่านั้น บทว่า ผู้ยินดีแล้ว ยินดีแล้ว คือ กําหนัดนักแล้ว เพราะราคะอันหนาแน่น.

บทว่า กล่าวน่าเชื่อถือ คือ กล่าวมีเหตุ. สมดังคําที่ข้าพเจ้ากล่าวไว้ว่า ถ้อยคําของเราไม่เป็นประมาณ ธรรมอย่างเดียวเป็นประมาณ.

ด้วยคําว่า ประโยชน์อะไรแก่ท่านเล่า ท่านถามเพื่อจะเปลื้องเสียว่า ธรรมดาคฤหัสถ์พูดควรบ้าง ไม่ควรบ้าง.

บทว่า ให้ทําแล้ว ได้แก่ สร้างแล้ว ก็แล ครั้นให้สร้างแล้ว กระทํากาละแล้วไปบังเกิดในสวรรค์ ได้ยินว่า ศิลปะที่ควรรู้ของเขานั้น ฆ่าทั้งมารดา ฆ่าทั้งบิดาแล้ว ในบทว่า ตนพึงถูกศิลปะที่ควรรู้ฆ่า. ขึ้นชื่อว่าบุคคลรู้ศิลปะอย่างหนึ่ง สอนคนอื่นให้รู้ศิลปะนั้นแล้ว ไปเกิดในสวรรค์ ไม่มี.

ก็เทพบุตรนี้อาศัยพระเถระกระทําบุญจึงไปบังเกิดในสวรรค์นั้น ก็แลครั้นบังเกิดแล้ว จึงคิดว่า เรามาบังเกิดในที่นี้ด้วยกรรมอะไร ครั้นรู้ความจริงแล้ว เมื่อพระสงฆ์ประชุมกันปฏิสังขรณ์โรงฉันที่เก่าแล้วในวันหนึ่ง จึงแปลงเพศเป็นมนุษย์มาถามว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ พระสงฆ์ประชุมกันเพื่ออะไร.

ภิกษุ. เพื่อปฏิสังขรณ์โรงฉัน.

เทพ. ใครให้สร้างศาลานี้ไว้.

ภิกษุ. นายโฆฏมุขะ.

เทพ. บัดนี้เขาไปไหน.

ภิกษุ. เขาตายเสียแล้ว.

เทพ. ก็ญาติไรๆ ของเขามีบ้างไหม.

ภิกษุ. มีน้องหญิงคนหนึ่ง.

เทพ. จงให้เรียกเธอมา.

 
  ข้อความที่ 18  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 13 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ เล่ม ๒ ภาค ๒ - หน้า 339

ภิกษุทั้งหลายให้เรียกเธอมาแล้ว. เขาก็เข้าไปหาหญิงนั้น กล่าวว่า เราเป็นพี่ชายของเจ้า ชื่อโฆฏมุขะ ให้สร้างศาลานี้ไว้แล้วไปเกิดในสวรรค์ ฉันฝังทรัพย์ไว้ตรงโน้นแห่งหนึ่ง ตรงโน้นแห่งหนึ่ง เจ้าจงไปเอาทรัพย์นั้นมา ให้สร้างโรงฉันนี้ด้วย เลี้ยงดูเด็กๆ ด้วย แล้วไหว้พระภิกษุสงฆ์ ลอยขึ้นยังเวหาสไปสู่เทวโลกตามเดิม.

คําที่เหลือในที่ทั้งปวง ง่ายทั้งนั้นแล.

จบอรรถกถาโฆฏมุขสูตรที่ ๔