พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๑๐. เทวทูตสูตร

 
บ้านธัมมะ
วันที่  28 ส.ค. 2564
หมายเลข  36136
อ่าน  1,512

[เล่มที่ 23] พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้า 189

๑๐. เทวทูตสูตร


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 23]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 18 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้า 189

๑๐. เทวทูตสูตร

[๕๐๔] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้:-

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ที่พระวิหารเชตวัน อารามของอนาถบิณฑิกเศรษฐี กรุงสาวัตถี สมัยนั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเหล่านั้นทูลรับพระดํารัสแล้ว.

[๕๐๕] พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสดังนี้ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลายเปรียบเหมือนเรือน ๒ หลังมีประตูตรงกัน บุรุษผู้มีตาดียืนอยู่ระหว่างกลางเรือน ๒ หลังนั้น พึงเห็นมนุษย์กําลังเข้าเรือนบ้าง กําลังออกจากเรือนบ้าง กําลังเดินมาบ้างกําลังเดินไปบ้างฉันใด ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ฉันนั้นเหมือนกันแลเราย่อมมองเห็นหมู่สัตว์กําลังจุติกําลังอุบัติ เลว ประณีต มีผิวพรรณดี มีผิวพรรณทราม ได้ดี ตกยาก ด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์ ล่วงจักษุของมนุษย์ย่อมทราบชัดซึ่งหมู่สัตว์ผู้เป็นไปตามกรรมได้ว่า สัตว์ผู้กําลังเป็นอยู่เหล่านั้นประกอบด้วยกายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต ไม่ติเตียนพระอริยะ เป็นสัมมาทิฏฐิ เชื่อมั่นกรรมด้วยอํานาจสัมมาทิฏฐิเมื่อตายไปแล้ว เข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ก็มี สัตว์ผู้กําลังเป็นอยู่เหล่านี้ประกอบด้วยกายสุจริต วจีสุจริตมโนสุจริต ไม่ติเตียนพระอริยะ เป็นสัมมาทิฏฐิ เชื่อมั่น กรรมด้วยอํานาจสัมมาทิฏฐิ เมื่อตายไปแล้ว บังเกิดในหมู่มนุษย์ก็มี สัตว์ผู้กําลังเป็นอยู่เหล่านี้ประกอบด้วยกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต ติเตียนพระอริยะ เป็นมิจฉาทิฏฐิ เชื่อมั่นกรรมด้วยอํานาจมิจฉาทิฏฐิ เมื่อตายไปแล้ว เข้าถึงปิตติวิสัยก็มี สัตว์ผู้กําลังเป็นอยู่เหล่านี้ ประกอบด้วยกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 18 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้า 190

ติเตียนพระอริยะ เป็นมิจฉาทิฏฐิ เชื่อมั่นกรรมด้วยอํานาจมิจฉาทิฏฐิ เมื่อตายไปแล้ว เข้าถึงกําเนิดสัตว์เดียรัจฉานก็มี สัตว์ผู้กําลังเป็นอยู่เหล่านี้ ประกอบด้วยกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต ติเตียนพระอริยะ เป็นมิจฉาทิฏฐิเชื่อมั่นกรรมด้วยอํานาจมิจฉาทิฏฐิ เมื่อตายไปแล้ว เข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาตนรกก็มี.

[๕๐๖] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เหล่านายนิรยบาลจะจับสัตว์นั้นที่ส่วนต่างๆ ของแขนไปแสดงแก่พระยายมว่า ข้าแต่พระองค์ บุรุษนี้ไม่ปฏิบัติชอบในมารดา ไม่ปฏิบัติชอบในสมณะ ไม่ปฏิบัติชอบในพราหมณ์ ไม่อ่อนน้อมต่อผู้ใหญ่ในสกุล ขอพระองค์จงลงอาชญาแก่บุรุษนี้เถิด.

ว่าด้วยเทวทูตที่ ๑

[๕๐๗] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พระยายมจะปลอบโยน เอาอกเอาใจไต่ถามถึงเทวทูตที่ ๑ กะสัตว์นั้นว่า ดูก่อนพ่อมหาจําเริญ ท่านไม่ได้เห็นเทวทูตที่ ๑ ปรากฏในหมู่มนุษย์หรือ.

สัตว์นั้นทูลอย่างนี้ว่า ข้าพเจ้าไม่เห็นเลยเจ้าข้า.

พระยายมถามอย่างนี้ว่า ดูก่อนพ่อมหาจําเริญ ท่านไม่ได้เห็นเด็กแดงๆ ยังอ่อนนอนแบเปื้อนมูตรคูถของตนอยู่ในหมู่มนุษย์หรือ.

สัตว์นั้นทูลอย่างนี้ว่า เห็น เจ้าข้า.

พระยายมถามอย่างนี้ว่า ดูก่อนพ่อมหาจําเริญ ท่านนั้นรู้ความมีสติเป็นผู้ใหญ่แล้ว ได้มีความดําริดังนี้บ้างไหมว่า แม้ตัวเราแล ก็มีความเกิดเป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความเกิดไปได้ ควรที่เราจะทําความดีทางกาย ทางวาจาและทางใจ.

สัตว์นั้นทูลอย่างนี้ว่า ข้าพเจ้าไม่อาจ เจ้าข้า มัวประมาทเสียเจ้าข้า.

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 18 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้า 191

พระยายมกล่าวอย่างนี้ว่า ดูก่อนพ่อมหาจําเริญ ท่านไม่ได้ทําความดีทางกาย ทางวาจา และทางใจไว้ เพราะมัวประมาทเสีย ดังนั้น เหล่านายนิรยบาลจักลงโทษโดยอาการที่ท่านประมาทแล้ว ก็บาปกรรมนั้นแล ไม่ใช่มารดาทําให้ท่าน ไม่ใช่บิดาทําให้ท่าน ไม่ใช่พี่น้องชายทําให้ท่าน ไม่ใช่พี่น้องหญิงทําให้ท่าน ไม่ใช่มิตรอํามาตย์ทําให้ท่าน ไม่ใช่ญาติสาโลหิตทําให้ท่านไม่ใช่สมณะและพราหมณ์ทําให้ท่าน ไม่ใช่เทวดาทําให้ท่าน ตัวท่านเองทําเข้าไว้ ท่านเท่านั้นจักเสวยวิบากของบาปกรรมนี้.

[๕๐๘] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พระยายมครั้นปลอบโยน เอาอกเอาใจไต่ถามถึงเทวทูตที่ ๑ กะสัตว์นั้นแล้ว จึงปลอบโยน เอาอกเอาใจ ไต่ถามเทวทูตที่ ๒ ว่า ดูก่อนพ่อมหาจําเริญ ท่านไม่ได้เห็นเทวทูตที่ ๒ ปรากฏในหมู่มนุษย์หรือ.

สัตว์นั้นทูลอย่างนี้ว่า ข้าพเจ้าไม่เห็นเลย เจ้าข้า.

พระยายมถามอย่างนี้ว่า ดูก่อนพ่อมหาจําเริญ ท่านไม่ได้เห็นหญิงหรือชายมีอายุ ๘๐ ปี ๙๐ ปี หรือ ๑๐๐ ปี นับแต่เกิดมา ผู้แก่ ซี่โครงคด หลังงอ ถือไม้เท้า งกเงิ่น เดินไป กระสับกระส่าย ล่วงวัยหนุ่มสาว ฟันหัก ผมหงอก หนังย่น ศีรษะล้าน เหี่ยว ตัวตกกระ ในหมู่มนุษย์หรือ.

สัตว์นั้นทูลอย่างนี้ว่า เห็น เจ้าข้า.

พระยายมถามอย่างนี้ว่า ดูก่อนพ่อมหาจําเริญ ท่านนั้นรู้ความ มีสติเป็นผู่ใหญ่แล้ว ได้มีความดําริดังนี้บ้างไหมว่า แม้ตัวเราแล ก็มีความแก่เป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความแก่ไปได้ ควรที่เราจะทําความดีทางกาย ทางวาจาและทางใจ.

สัตว์นั้นทูลอย่างนี้ว่า ข้าพเจ้าไม่อาจ เจ้าข้า มัวประมาทเสีย เจ้าข้า.

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 18 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้า 192

พระยายมกล่าวอย่างนี้ว่า ดูก่อนพ่อมหาจําเริญ ท่านไม่ได้ทําดีทางกาย ทางวาจา และทางใจไว้ เพราะมัวประมาทเสีย ดังนั้น เหล่านายนิรยบาลจักลงโทษโดยอาการที่ท่านประมาทแล้ว ก็บาปกรรมนี้นั่นแล ไม่ใช่มารดาทําให้ท่าน ไม่ใช่บิดาทําให้ท่าน ไม่ใช่พี่น้องชายทําให้ท่าน ไม่ใช่พี่น้องหญิงทําให้ท่าน ไม่ใช่มิตรอํามาตย์ทําให้ท่าน ไม่ใช่ญาติสาโลหิตทําให้ท่าน ไม่ใช่สมณะและพราหมณ์ทําให้ท่าน ไม่ใช่เทวดาทําให้ท่าน ตัวท่านเองทําเข้าไว้ ท่านเท่านั้นจักเสวยวิบากของบาปกรรมนี้.

ว่าด้วยเทวทูตที่ ๓

[๕๐๙] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พระยายมครั้นปลอบโยน เอาอกเอาใจไต่ถามถึงเทวทูตที่ ๒ กะสัตว์นั้นแล้ว จึงปลอบโยน เอาอกเอาใจ ไต่ถามถึงเทวทูตที่ ๓ ว่า ดูก่อนพ่อมหาจําเริญ ท่านไม่ได้เห็นเทวทูตที่ ๓ ปรากฏในหมู่มนุษย์หรือ.

สัตว์นั้นทูลอย่างนี้ว่า ข้าพเจ้าไม่เห็นเลย เจ้าข้า.พระยายมถามอย่างนี้ว่า ดูก่อนพ่อมหาจําเริญ ท่านไม่ได้เห็นหญิงหรือชาย ผู้ป่วย ทนทุกข์เป็นไข้หนัก นอนเปื้อนมูตรคูถของตน มีคนอื่นคอยพยุงลุกพยุงเดิน ในหมู่มนุษย์หรือ.

สัตว์นั้นทูลอย่างนี้ว่า เห็น เจ้าข้า.

พระยายมถามอย่างนี้ว่า ดูก่อนพ่อมหาจําเริญ ท่านนั้นรู้ความมีสติเป็นผู้ใหญ่แล้ว ได้มีความดําริดังนี้บ้างไหมว่า แม้ตัวเราแล ก็มีความเจ็บป่วยเป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความเจ็บป่วยไปได้ ควรที่เราจะทําความดีทางกายทางวาจา และทางใจ.

 
  ข้อความที่ 5  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 18 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้า 193

สัตว์นั้น ทูลอย่างนี้ว่า ข้าพเจ้าไม่อาจ เจ้าข้า มัวประมาทเสีย เจ้าข้า.

พระยายมกล่าวอย่างนี้ว่า ดูก่อนพ่อมหาจําเริญ ท่านไม่ได้ทําความดีทางกาย ทางวาจา และทางใจไว้ เพราะมัวประมาทเสีย ดังนั้น เหล่านายนิรยบาลจักลงโทษโดยอาการที่ท่านประมาทแล้ว ก็บาปกรรมนี้นั่นแล ไม่ใช่มารดาทําให้ท่าน ไม่ใช่บิดาทําให้ท่าน ไม่ใช่พี่น้องชายทําให้ท่าน ไม่ใช่พี่น้องหญิงทําให้ท่าน ไม่ใช่มิตรอํามาตย์ทําให้ท่าน ไม่ใช่ญาติสาโลหิตทําให้ท่าน ไม่ใช่สมณะและพราหมณ์ทําให้ท่าน ไม่ใช่เทวดาทําให้ท่าน ตัวท่านเองทําเข้าไว้ ท่านเท่านั้นจักเสวยวิบากของบาปกรรมนี้.

[๕๑๐] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พระยายมครั้นปลอบโยน เอาอกเอาใจไต่ถามถึงเทวทูตที่ ๓ กะสัตว์นั้นแล้ว จึงปลอบโยน เอาอกเอาใจ ไต่ถามถึงเทวทูตที่ ๔ ว่า ดูก่อนพ่อมหาจําเริญ ท่านไม่ได้เห็นเทวทูตที่ ๔ ปรากฏในหมู่มนุษย์หรือ.

สัตว์นั้นทูลอย่างนี้ว่า ข้าพเจ้าไม่เห็นเลย เจ้าข้า.

พระยายมถามอย่างนี้ว่าดูก่อนพ่อมหาจําเริญ ท่านไม่ได้เห็นพระราชาทั้งหลาย ในหมู่มนุษย์จับโจรผู้ประพฤติผิดมาแล้ว สั่งลงกรรมกรณ์ต่างชนิดบ้างหรือ คือ

๑. โบยด้วยแส้

๒. โบยด้วยหวาย

๓. ตีด้วยตะบองสั้น

๔. ตัดมือ

๕. ตัดเท้า

๖. ตัดทั้งมือตัดทั้งเท้า

 
  ข้อความที่ 6  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 18 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้า 194

๗. ตัดหู

๘. ตัดจมูก

๙. ตัดทั้งหูทั้งจมูก

๑๐. หม้อเคี่ยวน้ำส้ม

๑๑. ขอดสังข์

๑๒. ปากราหู

๑๓. มาลัยไฟ

๑๔. คบมือ

๑๕. ริ้วส่าย

๑๖. นุ่งเปลือกไม้

๑๗. ยืนกวาง

๑๘. เกี่ยวเหยื่อเบ็ด

๑๙. เหรียญกษาปณ์

๒๐. แปรงแสบ

๒๑. กางเวียน

๒๒. ตั่งฟาง

๒๓. ราดด้วยน้ำมันเดือดๆ

๒๔. ให้สุนัขทึ้ง

๒๕. ให้นอนหงายบนหลาวทั้งเป็นๆ

๒๖. ตัดศีรษะด้วยดาบ.

สัตว์นั้นทูลอย่างนี้ว่า เห็น เจ้าข้า.

 
  ข้อความที่ 7  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 18 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้า 195

พระยายมถามอย่างนี้ว่า ดูก่อนพ่อมหาจําเจริญ ท่านนั้นรู้ความ มีสติเป็นผู้ใหญ่แล้ว ได้มีความดําริดังนี้บ้างไหมว่า จําเริญละ เป็นอันว่า สัตว์ที่ทํากรรมลามกไว้นั้นๆ ย่อมถูกลงกรรมกรณ์ต่างชนิดเห็นปานนี้ในปัจจุบัน จะป่วยกล่าวไปไยถึงชาติหน้า ควรที่เราจะทําความดีทางกาย ทางวาจา และทางใจ.

สัตว์นั้นทูลอย่างนี้ว่า ข้าพเจ้าไม่อาจ เจ้าข้า มัวประมาทเสีย เจ้าข้า.

พระยายมกล่าวอย่างนี้ว่า ดูก่อนพ่อมหาจําเริญ ท่านไม่ได้ทําความดีทางกาย ทางวาจา และทางใจไว้ เพราะมัวประมาทเสีย ดังนั้น เหล่านายนิรยบาลจักลงโทษโดยอาการที่ท่านประมาทแล้ว ก็บาปกรรมนี้นั่นแล ไม่ใช่มารดาทําให้ท่าน ไม่ใช่บิดาทําให้ท่าน ไม่ใช่พี่น้องชายทําให้ท่าน ไม่ใช่พี่น้องหญิงทําให้ท่าน ไม่ใช่มิตรอํามาตย์ทําให้ท่าน ไม่ใช่ญาติสาโลหิตทําให้ท่าน ไม่ใช่สมณะและพราหมณ์ทําให้ท่าน ไม่ใช่เทวดาทําให้ท่าน ตัวท่านเองทําเข้าไว้ ท่านเท่านั้นจักเสวยวิบากของบาปกรรมนี้.

ว่าด้วยเทวทูตที่ ๕

[๕๑๑] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พระยายมครั้นปลอบโยน เอาอกเอาใจไต่ถามถึงเทวทูตที่ ๔ กะสัตว์นั้นแล้ว จึงปลอบโยน เอาอกเอาใจ ไต่ถามถึงเทวทูตที่ ๕ ว่า ดูก่อนพ่อมหาจําเริญ ท่านไม่ได้เห็นเทวทูตที่ ๕ ปรากฏในหมู่มนุษย์หรือ.

สัตว์นั้นทูลอย่างนี้ว่า ข้าพเจ้าไม่เห็นเลย เจ้าข้า.

พระยายมถามอย่างนี้ว่า ดูก่อนพ่อมหาจําเริญ ท่านไม่ได้เห็นหญิงหรือชายที่ตายแล้ววันหนึ่ง หรือสองวัน หรือสามวัน ขึ้นพอง เขียวช้ำ มีน้ำเหลืองเยิ้มในหมู่มนุษย์หรือ.

 
  ข้อความที่ 8  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 18 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้า 196

สัตว์นั้นทูลอย่างนี้ว่า เห็น เจ้าข้า.

พระยายมถามอย่างนี้ว่า ดูก่อนพ่อมหาจําเริญ ท่านนั้นรู้ความ มีสติเป็นผู้ใหญ่แล้ว ได้มีความดําริดังนี้บ้างไหมว่า แม้ตัวเราแล ก็มีความตายเป็นธรรมดาไม่ล่วงพ้นความตายไปได้ ควรที่เราจะทําความดีทางกาย ทางวาจาและทางใจ.

สัตว์นั้นทูลอย่างนี้ว่า ข้าพเจ้าไม่อาจ เจ้าข้า มัวประมาทเสีย เจ้าข้า.

พระยายมกล่าวอย่างนี้ว่า ดูก่อนพ่อมหาจําเริญ ท่านไม่ได้ทําความดีทางกาย ทางวาจา และทางใจไว้ เพราะมัวประมาทเสีย ดังนั้น เหล่านายนิรยบาลจักลงโทษโดยอาการที่ท่านประมาทแล้ว ก็บาปกรรนนี้นั้นแลไม่ใช่มารดาทําให้ท่าน ไม่ใช่บิดาทําให้ท่าน ไม่ใช่พี่น้องชายทําให้ท่าน ไม่ใช่พี่น้องหญิงทําให้ท่าน ไม่ใช่มิตรอํามาตย์ทําให้ท่าน ไม่ใช่ญาติสาโลหิตทําให้ ไม่ใช่สมณะและพราหมณ์ทําให้ท่าน ไม่ใช่เทวดาทําให้ท่าน ตัวท่านเองทําเข้าไว้ท่านเท่านั้นจักเสวยวิบากของบาปกรรมนี้.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พระยายมครั้นปลอบโยน เอาอกเอาใจ ไต่ถามถึงเทวทูตที่ ๕ กะสัตว์นั้นแล้ว ก็ดุษณีอยู่.

[๕๑๒] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เหล่านิรยบาลจะให้สัตว์นั้นกระทําเหตุชื่อการจองจํา ๕ ประการ คือตรึงตะปูเหล็กแดงที่มือข้างที่ ๑ ข้างที่ ๒ ที่เท้าข้างที่ ๑ ข้างที่ ๒ และที่ทรวงอกตรงกลาง สัตว์นั้นจะเสวยเวทนาอันเป็นทุกข์กล้า เจ็บแสบอยู่ในนรกนั้น และยังไม่ตายทราบเท่าบาปกรรมยังไม่สิ้นสุด.

[๕๑๓] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เหล่านิรยบาลจะจับสัตว์นั้นขึงพืดแล้วเอาผึ่งถาก... จะจับสัตว์นั้น เอาเท้าขึ้นข้างบน เอาหัวลงข้างล่างแล้วถากด้วยพร้า... จะเอาสัตว์นั้นเทียมรถแล้วให้วิ่งกลับไปกลับ มาบนแผ่นดินที่มีไฟติดทั่วลุกโพลงโชติช่วง... จะให้สัตว์นั้นปีนขึ้นปีนลงซึ่งภูเขาถ่านเพลิงลูกใหญ่ที่มีไฟ

 
  ข้อความที่ 9  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 18 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้า 197

ติดทั่ว ลูกโพลง โชติช่วง... จะจับสัตว์นั้น เอาเท้าขึ้นข้างบนเอาหัวลงข้างล่างแล้วพุ่งลงไปในหม้อทองแดง ที่มีไฟติดทั่ว ลุกโพลง โชติช่วง สัตว์นั้นจะเดือดพล่านเป็นฟองอยู่ในหม้อทองแดงนั้น เขาเมื่อเดือดเป็นฟองอยู่ จะพล่านขึ้นข้างบนครั้งหนึ่งบ้าง พล่านลงข้างล่างครั้งหนึ่งบ้าง พล่านไปด้านขวางครั้งหนึ่งบ้าง จะเสวยเวทนาอันเป็นทุกข์กล้า เจ็บแสบ อยู่ในหม้อทองแดงนั้นและยังไม่ตายตราบเท่าบาปกรรมยังไม่สิ้นสุด.

ว่าด้วยมหานรก

[๕๑๔] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เหล่านายนิรยบาลจะโยนสัตว์นั้นเข้าไปในมหานรก ก็มหานรกนั้นแล

มีสี่มุม สี่ประตูแบ่งไว้โดยส่วนเท่ากัน มีกําแพงเหล็กล้อมรอบครอบไว้ด้วยแผ่นเหล็ก พื้นของนรกใหญ่นั้นล้วนแล้วด้วยเหล็ก ลุกโพลง แผ่ไปตลอดร้อยโยชน์รอบด้านประดิษฐานอยู่ทุกเมื่อ.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย และมหานรกนั้น มีเปลวไฟพลุ่งจากฝาด้านหน้าจดฝาด้านหลัง พลุ่งจากฝาด้านหลังจดฝาด้านหน้า พลุ่งจากฝาด้านเหนือจดฝาด้านได้ พลุ่งจากฝาด้านได้จดฝาด้านเหนือ พลุ่งขึ้นจากข้างล่างจดข้างบน พลุ่งจากข้างบนจดข้างล่าง สัตว์นั้นจะเสวยเวทนาอันเป็นทุกข์กล้า เจ็บแสบ อยู่ในมหานรกนั้น และยังไม่ตายตราบเท่าบาปกรรมยังไม่สิ้นสุด.

[๕๑๕] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ย่อมมีสมัยที่ในบางครั้งบางคราว โดยล่วงระยะกาลนาน ประตูด้านหน้าของมหานรกเปิด. สัตว์นั้น จะรีบวิ่งไปยังประตูนั้น โดยเร็ว ย่อมถูกไฟไหม้ผิว ไหม้หนัง ไหม้เนื้อ ไหม้เอ็น แม้

 
  ข้อความที่ 10  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 18 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้า 198

กระดูกทั้งหลายก็เป็นควันตลบ แต่อวัยวะที่สัตว์นั้นยกขึ้นแล้ว จะกลับคงรูปเดิมทันที และในขณะที่สัตว์นั้น ใกล้จะถึงประตู ประตูนั้นจะปิด สัตว์นั้นย่อมเสวยเวทนาอันเป็นทุกข์กล้า เจ็บแสบ อยู่ในมหานรกนั้น และยังไม่ตายตราบเท่าบาปกรรมนั้นยังไม่สิ้นสุด.

[๕๑๖] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ย่อมมีสมัยที่ในบางครั้งบางคราว โดยล่วงระยะกาลนาน ประตูด้านหลังของมหานรกนั้นเปิด ฯลฯ ประตูด้านเหนือเปิด ฯลฯ ประตูด้านใต้เปิด สัตว์นั้นจะรีบวิ่งไปยังประตูนั้นโดยเร็ว ย่อมถูกไฟไหม้ผิว ไหม้หนัง ไหม้เนื้อ ไหม้เอ็น แม้กระดูกทั้งหลายก็เป็นควันตลบแต่อวัยวะที่สัตว์นั้นยกขึ้นแล้วจะกลับคงรูปเดิมทันที และในขณะที่สัตว์นั้นใกล้จะถึงประตู ประตูนั้นจะปิด สัตว์นั้นย่อมเสวยเวทนาอันเป็นทุกข์กล้า เจ็บแสบ อยู่ในมหานรกนั้น และยังไม่ตายตราบเท่าบาปกรรมนั้นยังไม่สิ้นสุด.

[๕๑๗] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ย่อมมีสมัยที่ในบางครั้งบางคราว โดยล่วงระยะกาลนาน ประตูด้านหน้าของมหานรกนั้นเปิด สัตว์นั้นจะรีบวิ่งไปยังประตูนั้น โดยเร็ว ย่อมถูกไฟไหม้ผิว ไหม้หนัง ไหม้เนื้อ ไหม้เอ็น แม้กระดูกทั้งหลายก็เป็นควันตลบ แต่อวัยวะที่สัตว์นั้นยกขึ้นแล้ว จะกลับคงรูปเดิมทันที สัตว์นั้นจะออกทางประตูนั้นได้ แต่ว่ามหานรกนั้นแล มีนรกเต็มด้วยคูถใหญ่ประกอบอยู่รอบด้าน สัตว์นั้นจะตกลงในนรกคูถนั้น และในนรกคูถนั้นแล มีหมู่สัตว์ปากดังเข็มคอยเฉือดเฉือนผิว แล้วเฉือดเฉือนหนัง แล้วเฉือดเฉือนเนื้อ แล้วเฉือดเฉือนเอ็น แล้วเฉือดเฉือนกระดูก แล้วกินเยื่อในกระดูก สัตว์นั้น ย่อมเสวยเวทนาอันเป็นทุกข์กล้า เจ็บแสบ อยู่ในนรกคูถนั้นและยังไม่ตายตราบเท่าบาปกรรมนั้นยังไม่สิ้นสุด.

 
  ข้อความที่ 11  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 18 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้า 199

ว่าด้วยกุกกุลนรก

[๕๑๘] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย และนรกคูถนั้น มีนรกเต็มด้วยเถ้ารึง (๑) ใหญ่ประกอบอยู่รอบด้าน สัตว์นั้นจะตกลงไปในนรกเถ้ารึงนั้น สัตว์นั้นย่อมเสวยเวทนาอันเป็นทุกข์กล้า เจ็บแสบ อยู่ในนรกเถ้ารึงนั้น และยังไม่ตายตราบเท่าบาปกรรมนั้นยังไม่สิ้นสุด.

[๕๑๙] ดูก่อนภิกษุทั้งหลายและนรกเถ้ารึงนั้น มีป่างิ้วใหญ่ประกอบอยู่รอบด้าน ต้นสูงชลูดขึ้นไปโยชน์หนึ่ง มีหนามยาว ๑๖ องคุลี มีไฟติดทั่วลุกโพลง โชติช่วง เหล่านายนิรยบาลจะบังคับให้สัตว์นั้นขึ้นๆ ลงๆ ที่ต้นงิ้วนั้น สัตว์นั้นย่อมเสวยเวทนาอันเป็นทุกข์กล้า เจ็บแสบ อยู่ที่ต้นงิ้วนั้น และยังไม่ตายตราบเท่าบาปกรรมนั้น ยังไม่สิ้นสุด.

[๕๒๐] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย และป่างิ้วนั้น มีป่าต้นไม้ใบเป็นดาบใหญ่ประกอบอยู่รอบด้าน สัตว์นั้นจะเข้าไปในป่านั้น จะถูกใบไม้ที่ลมพัดตัดมือบ้าง ตัดเท้าบ้าง ตัดทั้งมือและเท้าบ้าง และตัดใบหูบ้าง ตัดจมูกบ้างตัดทั้งใบหูและจมูกบ้าง สัตว์นั้นย่อมเสวยเวทนาอันเป็นทุกข์กล้า เจ็บแสบอยู่ที่ป่าต้นไม้มีใบเป็นดาบนั้น และยังไม่ตายทราบเท่าบาปกรรมนั้นยังไม่สิ้นสุด.

[๕๒๑] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย และป่าต้นไม้มีใบเป็นดาบนั้น มีแม่น้ำใหญ่น้ำเป็นด่าง ประกอบอยู่รอบด้าน สัตว์นั้นจะตกลงไปในแม่น้ำนั้น จะลอยอยู่ในแม่น้ำนั้น ตามกระแสบ้าง ทวนกระแสบ้าง ทั้งตามและทวนกระแสบ้าง สัตว์นั้นย่อมเสวยเวทนาอันเป็นทุกข์กล้า เจ็บแสบ อยู่ในแม่น้ำนั้น และยังไม่ตายตราบเท่าบาปกรรมนั้นยังไม่สิ้นสุด.

[๕๒๒] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เหล่านายนิรยบาลพากันเอาเบ็ดเกี่ยวสัตว์นั้น ขึ้นวางบนบก แล้วกล่าวอย่างนี้ว่า ดูก่อนพ่อมหาจําเริญ เจ้าต้องการ


(๑) เถ้ารึง คือ ถ่านที่ติดไฟดุมีขี้เถ้าปิดข้างนอกอยู่รอบด้าน

 
  ข้อความที่ 12  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 18 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้า 200

อะไร สัตว์นั้นบอกอย่างนี้ว่า ข้าพเจ้าหิว เจ้าข้า เหล่านายนิรยบาลจึงเอาขอเหล็กร้อนมีไฟติดทั่ว ลุกโพลง โชติช่วง เปิดปากออก แล้วใส่ก้อนโลหะร้อนมีไฟติดทั่ว ลุกโพลง โชติช่วง เข้าในปาก ก้อนโลหะนั้นจะไหม้ริมฝีปากบ้าง ปากบ้าง คอบ้าง ท้องบ้าง ของสัตว์นั้น พาเอาไส้ใหญ่บ้าง ไส้น้อยบ้างออกมาทางส่วนเบื้องล่าง สัตว์นั้นย่อมเสวยเวทนาอันเป็นทุกข์กล้า เจ็บแสบอยู่ ณ ที่นั้น และยังไม่ตายตราบเท่าบาปกรรมนั้นยังไม่สิ้นสุด.

[๕๒๓] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เหล่านายนิรยบาลกล่าวกะสัตว์นั้น อย่างนี้ว่า ดูก่อนพ่อมหาจําเริญ เจ้าต้องการอะไร สัตว์นั้นบอกอย่างนี้ว่า ข้าพเจ้ากระหาย เจ้าข้า เหล่านายนิรยบาลจึงเอาขอเหล็กร้อนมีไฟติดทั่ว ลุกโพลงโชติช่วง เปิดปากออกแล้วเอาน้ำทองแดงร้อนมีไฟติดทั่ว ลุกโพลง โชติช่วงกรอกเข้าไปในปาก น้ำทองแดงนั้นจะไหม้ริมฝีปากบ้าง ปากบ้าง คอบ้างท้องบ้าง ของสัตว์นั้น พาเอาไส้ใหญ่บ้าง ไส้น้อยบ้าง ออกมาทางส่วนเบื้องล่าง สัตว์นั้นย่อมเสวยเวทนาอันเป็นทุกข์กล้า เจ็บแสบอยู่ ณ ที่นั้นและยังไม่ตายตราบเท่าบาปกรรมนั้นยังไม่สิ้นสุด ดูก่อนภิกษุทั้งหลายเหล่านายนิรยบาลจะโยนสัตว์นั้นเข้าไปในมหานรกอีก.

ว่าด้วยเรื่องเคยมีมาแล้ว

[๕๒๔] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เรื่องเคยมีมาแล้ว พระยายมได้มีความดําริอย่างนี้ว่า พ่อเจ้าประคุณเอย เป็นอันว่าเหล่าสัตว์ที่กรรมลามกไว้ในโลกย่อมถูกนายนิรยบาลลงกรรมกรณ์ ต่างชนิดเห็นปานนี้ โอหนอ ขอเราพึงได้ความเป็นมนุษย์ ขอพระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพึงเสด็จอุบัติในโลกขอเราพึงได้นั่งใกล้พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้นพึงทรงแสดงธรรมแก่เรา และขอเราพึงรู้ทั่วถึงธรรมของพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้นเถิด.

 
  ข้อความที่ 13  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 18 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้า 201

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็เรื่องนั้น เรามิได้ฟังต่อสมณะหรือพราหมณ์อื่นๆ แล้วจึงบอก ก็แล เราบอกเรื่องที่รู้เอง เห็นเอง ปรากฏเองทั้งนั้น.

นิคมคาถา

[๕๒๕] พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสไวยากรณภาษิตดังนี้ ครั้นแล้วพระสุคตผู้ศาสดา ก็ได้ตรัสคาถาประพันธ์ต่อไปอีกดังนี้ว่า

นรชนเหล่าใดยังเป็นมาณพ อันเทวทูตตักเตือนแล้ว ประมาทอยู่ นรชนเหล่านั้นจะเข้าถึงหมู่สัตว์เลว เศร้าโศกสิ้นกาลนาน ส่วนนรชนเหล่าใด เป็นสัตบุรุษผู้สงบระบับในโลกนี้ อันเทวทูตตักเตือนแล้ว ย่อมไม่ประมาทในธรรมของพระอริยะในกาลไหนๆ เห็นภัยในความถือมั่นอันเป็นเหตุ แห่งชาติและมรณะแล้ว ไม่ถือมั่น หลุดพ้นในธรรมเป็นที่สิ้นชาติและมรณะได้ นรชนเหล่านั้นเป็นผู้ถึงความเกษม มีสุข ดับสนิทในปัจจุบันล่วงเวรและภัยทั้งปวงและเข้าไปล่วงทุกข์ทั้งปวงได้.

จบเทวทูตสูตร ที่ ๑๐

จบสุญญตวรรค ที่ ๓

 
  ข้อความที่ 14  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 18 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้า 202

อรรถกถาเทวทูตสูตร

เทวทูตสูตร มีบทเริ่มต้นว่า ข้าพเจ้าได้สดับ มาอย่างนี้:-

ในบทเหล่านั้น คําเป็นต้นว่า เทฺว อคารา (เรือน ๒ หลัง) ให้พิสดารไว้แล้วในอัสสบุรสูตร. บทว่า นิรยํ อุปปนฺนา (เข้าถึง... นรก) ความว่า ในบางครั้งพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงยังเทศนาตั้งแต่นรกให้จบลงด้วยเทวโลก. บางครั้งตั้งแต่เทวโลกทรงให้จบลงด้วยนรก. ถ้าประสงค์จะตรัสสวรรค์สมบัติให้พิสดาร ตรัสถึงทุกข์ในนรกโดยเอกเทศ (ย่อ) ทุกข์ในกําเนิดสัตว์ดิรัจฉาน ทุกข์ในปิตติวิสัย ตรัสถึงสมบัติในมนุษยโลก โดยเอกเทศ. ถ้าว่าประสงค์จะตรัสทุกข์ในนรกให้พิสดาร ย่อมตรัสถึงสมบัติในเทวโลกมนุษยโลก และทุกข์ในกําเนิดสัตว์ดิรัจฉานและปิตติวิสัยโดยเอกเทศ ชื่อว่า ยังทุกข์ในนรกให้พิสดาร ในพระสูตรนี้ พระองค์ประสงค์จะทรงยังทุกข์ในนรกให้พิสดาร เพราะฉะนั้น ทรงยังเทศนาตั้งแต่เทวโลกให้จบลงด้วยนรก เพื่อจะตรัสถึงสมบัติในเทวโลกมนุษยโลก และทุกข์ในกําเนิดสัตว์ดิรัจฉานและในปิตติวิสัย โดยเอกเทศ แล้วตรัสถึงทุกข์ในนรกโดยพิสดาร จึงตรัสคําเป็นต้นว่า ตเมนํ ภิกฺขเว นิรยปาลา (ภิกษุทั้งหลาย เหล่านิรบาลจะจับสัตว์นรกนั้น) . ในบทนั้นพระเถระบางพวกกล่าวว่า ชื่อว่า นายนิรยบาล ไม่มี กรรมเท่านั้นย่อมก่อเหตุเหมือนหุ่นยนต์. กรรมนั้นถูกปฏิเสธไว้ในอภิธรรม โดยนัยเป็นต้นว่า เออนายนิรยบาลในนรกมีและผู้ก่อเหตุก็มี. เหมือนอย่างว่า ในมนุษย์โลกนี้ผู้ลงโทษด้วยกรรมกรณ์ ฉันใด นายนิรยบาลก็มีอยู่ในนรก ฉันนั้น.

บทว่า ยมสฺส รฺโ (แก่พญายม) ได้แก่พระราชาเวมานิกเปรต ชื่อว่า พญายมในเวลาหนึ่งเสวยต้นกัลปพฤษทิพย์อุทยานทิพย์นักฟ้อนรําทิพย์ สมบัติทิพย์ในวิมานทิพย์ ในเวลาหนึ่งเป็นพระราชาผู้ทรงธรรมเสวยผลกรรม แต่ไม่ใช่

 
  ข้อความที่ 15  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 18 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้า 203

เวลาเดียวกัน. ส่วนที่ประตูทั้ง ๔ มีคนอยู่ ๔ คน. บทว่า นาทฺทสํ (ข้าพเจ้าไม่ได้เห็นเลย) ความว่าท่านหมายเอาเทวทูตคนใดคนหนึ่งที่ถูกเขาส่งไปไว้ในสํานักของตน จึงกล่าวอย่างนี้ ครั้งนั้นพญายมรู้ว่า ผู้นี้ไม่กําหนดเนื้อความแห่งภาษิต ประสงค์จะให้เขากําหนด จึงกล่าวคําว่า อมฺโภ. (พ่อมหาจำเริญ) บทว่า ชาติธมฺโม (มีความเกิดเป็นธรรมดา) คือมีความเกิดเป็นสภาพ ไม่พ้นจากความเกิดไปได้ชื่อว่า ชาติ ย่อมเป็นไปในภายในของเรา.แม้ในบทเป็นต้นว่า ปรโต ชราธมฺโม (มีความแก่เป็นธรรมดา) ก็มีนัยนี้เหมือนกัน. ในบทว่า ปมํ เทวทูตํ สมนุยุฺชิตฺวา (ครั้นไต่สวน... ถึงเทวทูตที่ ๑) ความว่า กุมารหนุ่ม ย่อมกล่าวอย่างนี้ โดยเนื้อความว่า ผู้เจริญจงดูเรา แม้เราก็มีมือและเท้าเหมือนพวกท่าน แต่เราเกลือกกลั้วอยู่ในมูตรคูถของตน ไม่อาจเพื่อจะลุกขึ้นอาบน้ำตามธรรมดาของคนได้ เราเป็นผู้มีกายสกปรกแล้วไม่อาจเพื่อจะบอกว่าอาบน้ำให้เรา เราชื่อว่าเป็นเช่นนี้ เพราะไม่พ้นจากความเกิด แต่ก็ไม่ใช่เราเท่านั้น แม้ท่านทั้งหลายก็ไม่พ้นจากความเกิด ความเกิดจักมาถึงแม้แก่ท่านทั้งหลายเหมือนเรา ท่านจงทําความดีไว้ ตั้งแต่ก่อนเกิดนั้น ด้วยประการฉะนี้ เพราะเหตุนั้นแลกุมารหนุ่มนั้น ชื่อว่า เทวทูต. แต่เนื้อความแห่งถ้อยคําท่านกล่าวไว้ในมาฆเทวสูตร

แม้ในบทว่า ทุตยํ เทวทูตํ (เทวทูตที่ ๒) ความว่า สัตว์แก่เฒ่า ชื่อว่า ย่อมกล่าวอย่างนี้โดยเนื้อความว่า ผู้เจริญ พวกท่านจงดู แม้เราก็เคยเป็นหนุ่มสมบูรณ์ด้วยกําลังขา กําลังแขนและว่องไวเหมือนท่าน ความถึงพร้อมด้วยกําลังและความว่องไวเหล่านั้นของเรานั้น หมดไปเสียแล้ว แม้มือและเท้าของเรามีอยู่ทํากิจด้วยมือและเท้าไม่ได้ เราชื่อว่า เป็นเช่นนี้ เพราะไม่พ้นจากชรา ไม่ใช่แต่เราเท่านั้น แม้ท่านทั้งหลาย ก็ไม่พ้นไปจากชรา ความชราจักมาถึงแม้แก่ท่านทั้งหลายเหมือนเรา ท่านทั้งหลายจงทําความดีไว้ก่อน แต่ชรานั้นจะมาถึงก่อน ด้วยประการฉะนี้. เพราะเหตุนั้นแล สัตว์แก่เฒ่านั้น ชื่อว่า เทวทูต.

 
  ข้อความที่ 16  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 18 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้า 204

แม้ในบทว่า ตติยํ เทวทูตํ (เทวทูตที่ ๓) นี้ ความว่า สัตว์ผู้เจ็บไข้ ชื่อว่า ย่อมกล่าวอย่างนี้ โดยเนื้อความว่า ผู้เจริญพวกท่านจงดู แม้เราก็เป็นผู้ไม่มีโรคเหมือนท่าน เรานั้นบัดนี้ ถูกพยาธิครอบงําเกลือกอยู่ในมูตรและคูถของตนไม่อาจแม้เพื่อจะลุกขึ้น แม้มือและเท้าของเรามีอยู่ ทํากิจด้วยมือและเท้าไม่ได้เราเป็นเช่นนี้ เพราะไม่พ้นจากพยาธิ ไม่ใช่แต่เราเท่านั้น แม้ท่านทั้งหลายก็ไม่พ้นจากพยาธิ พยาธิจักมาถึงแม้แก่ท่านทั้งหลายเหมือนเรา ท่านจงทําความดีไว้ก่อน แต่พยาธิจะมาถึง ด้วยประการฉะนี้. เพราะเหตุนั้น สัตว์ผู้เจ็บไข้นั้น ชื่อว่า เทวทูต.

ก็ในบทว่า จตุตฺถํ เทวทูตํ (เทวทูตที่ ๔) นี้ กรรมกรณ์หรือผู้ลงโทษว่า เทวทูต.ในสองบทนั้น ในฝ่ายกรรมกรณ์ กรรมกรณ์ ๓๒ ก่อน ย่อมกล่าวอย่างนี้โดยอรรถว่า พวกเราเมื่อบังเกิด ย่อมไม่บังเกิดที่ต้นไม้หรือแผ่นหิน ย่อมบังเกิดในสรีระของคนเช่นท่าน ด้วยประการฉะนี้ ท่านจงทําความดีไว้ก่อนเราเกิด เพราะเหตุนั้น กรรมกรณ์เหล่านั้น จึงชื่อว่า เทวทูต. แม้ผู้ลงโทษย่อมกล่าวอย่างนี้ โดยอรรถว่า พวกเราเมื่อจะลงกรรมกรณ์๓๒ อย่าง ไม่ได้ลงที่ต้นไม้เป็นต้น ย่อมลงในสัตว์อย่างพวกท่านนั่นแหละ. ด้วยประการฉะนี้พวกท่านจงทําความดีก่อนที่เราจะลงโทษ. เพราะเหตุนั้น แม้ผู้ลงโทษเหล่านั้นชื่อว่า เทวทูต.

ในบทว่า ปฺจมํ เทวทูตํ (เทวทูติที่ ๕) นี้ ความว่า สัตว์ผู้ตายแล้วย่อมกล่าวอย่างนี้โดยอรรถว่า ผู้เจริญพวกท่านจงดูเราที่เขาทิ้งไว้ในป่าช้าผีดิบถึงความเป็นผู้ขึ้นอืดเป็นต้น เราก็เป็นเช่นนี้ เพราะไม่พ้นจากความตาย แต่ไม่ใช่เราเท่านั้น แม้พวกท่านก็ไม่พ้นจากความตายเหมือนกัน ความตายจักมาถึงแก่ท่านทั้งหลายเหมือนเรา พวกท่านจงทําความดีก่อนความตายนั้นจะมาถึงเพราะฉะนั้น สัตว์ผู้ตายนั้น ชื่อว่า เทวทูต.

 
  ข้อความที่ 17  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 18 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้า 205

ถามว่า ใคร จะได้ประโยชน์ของเทวทูตนี้ ใครไม่ได้. ตอบว่าผู้ใดทํากรรมมาก ผู้นั้นไปเกิดในนรก. ผู้ใดทําบาปกรรมนิดหนึ่ง ผู้นั้นย่อมได้.ชนทั้งหลายจับโจรพร้อมด้วยภัณฑะย่อมกระทําสิ่งที่ควรทํา ไม่วินิจฉัย แต่นําโจรที่ถูกสอบสวนจับไว้ไปสู่โรงศาล เขาได้การตัดสินฉันใด ข้อเปรียบเทียบก็ฉันนั้น ก็ผู้มีบาปกรรมนิดหนึ่ง ย่อมระลึกได้ตามธรรมดาของตน แม้ถูกเขาให้ระลึกได้. ในข้อนั้น มีทมิฬชื่อ ฑีฆทันตะ ระลึกได้ตามธรรมดาของคน. ได้ยินว่า ทมิฬนั้นเอาผ้าสีแดงบูชาอากาศเจดีย์ในสุมนคีริวิหาร.ครั้งนั้น เขาเกิดใกล้อุสสุทนรก ได้ยินเสียงเปลวไฟ ระลึกถึงผ้าที่คนบูชาไว้.เขาจึงไปเกิดบนสวรรค์. อีกคนหนึ่ง ถวายผ้าสาฏกเนื้อหยาบแก่ภิกษุหนุ่มเป็นบุตรวางไว้ใกล้เท้า. ในเวลาใกล้ตายเขาถือนิมิตในเสียงว่า ปฏะ ปฏะ แม้เขาเกิดใกล้อุสสุทนรกก็ระลึกถึงผ้านั้น เพราะเสียงเปลวไฟจึงไปเกิดบนสวรรค์.เขาระลึกถึงกุศลกรรมตามธรรมดาของคนก่อนอย่างนี้ จึงบังเกิดบนสวรรค์.สู่เมื่อระลึกตามธรรมดาของคนไม่ได้ จึงถามเทวทูตทั้ง ๕. ในเทวทูต ทั้ง ๕นั้น บางคนระลึกได้ด้วยเทวทูตที่หนึ่ง. บางคน ระลึกได้ด้วยเทวทูตที่สองเป็นต้น. ส่วนผู้ใด ย่อมระลึกไม่ได้ด้วยเทวทูตทั้ง ๕ พญายมให้ผู้นั้น ระลึกได้เอง. ได้ยินว่า อํามาตย์คนหนึ่ง บูชาหาเจดีย์ด้วยหม้อดอกมะลิ ได้ให้ส่วนบุญแก่พญายม. นายนิรยบาล นําอํามาตย์นั้นผู้เกิดในนรกเพราะอกุศลกรรมไปหาพญายม. เมื่ออํามาตย์นั้น ระลึกไม่ได้ ด้วยเทวทูตทั้ง ๕ พญายมตรวจดูเองเห็นแล้วให้ระลึกว่าท่านบูชามหาเจดีย์ด้วยหม้อดอกมะลิแล้ว แผ่ส่วนบุญไห้เรามิใช่หรือ. เขาระลึกได้ในเวลานั้นแล้ว ไปสู่เทวโลก ก็แต่ว่า พญายมแม้ตรวจดูเองก็ไม่เห็น ดําริว่า สัตว์ผู้นี้จักเสวยทุกข์ให้ จึงนิ่งเสีย.

บทว่า มหานิรเย (ในมหานรก) ได้แก่ อเวจีมหานรก ถามว่า อเวจีมหานรกนั้นประมาณภายในเท่าไร. ตอบว่าแผ่นดินโลหะหลังคาโลหะโดยยาวและโดยกว้าง

 
  ข้อความที่ 18  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 18 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้า 206

ประมาณ ๙๐๐ โยชน์ ฝาข้างหนึ่งๆ ประมาณ ๘๑ โยชน์. เปลวไฟนั้นตั้งขึ้นในทิศบูรพาจดฝาทิศประฉิมทะลุฝานั้นไปข้างหน้า ๑๐๐ โยชน์. แม้ในทิศที่เหลือ ก็มีนัยนี้แล. ด้วยประการฉะนี้ โดยส่วนยาวและส่วนกว้าง ด้วยที่สุดของเปลวไฟ มีประมาณ ๓๑๘ โยชน์. แต่โดยรอบๆ มีประมาณ ๙๕๔ โยชน์.ส่วนโดยรอบกับอุสสุทประมาณหมื่นโยชน์. ในบทว่า อุพฺภตํ ตาทิสเมว โหติ (อวัยวะที่ถูกไฟไหม้แล้ว จะกลับคงรูปเดิมทันที) นี้ ความว่า ไม่สามารถจะยกเท้าที่เหยียบจนถึงกระดูกให้มั่นคงได้. ก็ในบทนี้มีอธิบายดังนี้ ถูกเผาไหม้ทั้งข้างล่างข้างบน. ด้วยประการฉะนี้ ในเวลาเหยียบปรากฏถูกเปลวไฟเผาไหม้ ในเวลายกขึ้น ก็เป็นเช่นนั้น. เพราะฉะนั้น ท่านจึงกล่าวอย่างนี้. บทว่า พหุสมฺปตฺโต (ใกล้จะถึวประตู) คือถึงหลายแสนปี

ถามว่า เพราะเหตุไร นรกนี้จึงชื่อว่า อเวจี. ตอบว่า ท่านเรียกระหว่างว่าคลื่น. ในนรกนั้น ไม่มีระหว่างของเปลวไฟของสัตว์หรือของทุกข์เพราะฉะนั้น นรกนั้น จึงชื่อว่าอเวจี. เปลวไฟตั้งขึ้นแค่ฝาด้านทิศบูรพาของนรกนั้น พลุ่งไป ๑๐๐ โยชน์ ทะลุฝาไปข้างหน้า ๑๐๐ โยชน์. แม้ในทิศที่เหลือก็มีนัยนี้แล. เทวทัตเกิดในท่ามกลางแห่งเปลวไฟทั้ง ๖ เหล่านี้. เทวทัตมีอัตภาพประมาณ ๑๐๐ โยชน์. เท้าทั้งสองเข้าไปสู่โลหะแผ่นดินถึงข้อเท้า มือทั้งสองเข้าไปสู่ฝาโลหะถึงข้อมือ. ศีรษะจดหลังคาโลหะถึงกระดูกคิ้ว. หลาวโลหะอันหนึ่งเข้าไปโดยส่วนล่างทะลุกายไปจดหลังคา. หลาวออกจากฝาด้านทิศปราจีนทะลุหัวใจ เข้าไปฝาด้านทิศประฉิม หลาวออกจากฝาด้านทิศอุดรทะลุซี่โครงไปจดฝาด้านทิศทักษิณ เทวทัต เป็นเช่นนี้ เพราะผลกรรมที่ว่าเทวทัตหมกไหม้อยู่เพราะผิดในพระตถาคตผู้ไม่หวั่นไหว. ด้วยประการฉะนี้ นรกชื่อว่าอเวจี เพราะเปลวไฟไม่หยุดยั้ง. ในภายในนรกนั้น ในที่ประมาณ๑๐๐ โยชน์. สัตว์ยัดเหยียดกันเหมือนแป้งที่เขายัดใส่ไว้ในทะนาน ไม่ควรกล่าวว่า ในที่นี้ มีสัตว์ในที่นี้ไม่มี. สัตว์เดิน ยืน นั่ง และนอนไม่มีที่สุด.

 
  ข้อความที่ 19  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 18 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้า 207

สัตว์ทั้งหลายเมื่อเดิน ยืน นั่ง หรือนอน ย่อมไม่เบียดเบียนซึ่งกันและกันชื่อว่า อเวจี เพราะสัตว์ทั้งหลายยัดเหยียดกันอย่างนี้. ส่วนในกายทวาร จิตสหรคตด้วยอุเบกขา ๖ ดวง ย่อมเกิดขึ้น ดวงหนึ่งสหรคตด้วยทุกข์. แม้เมื่อเป็นอย่างนี้ เมื่อบุคคลวางหยดน้ำหวาน ๖ หยดไว้ที่ปลายลิ้น หยดหนึ่งวางไว้ที่ตัมพโลหะ เพราะถูกเผาผลาญกําลังหยดน้ำนั้นย่อมปรากฏ นอกนี้เป็นอัพโพหาริก ฉันใด ทุกข์ในนรกนี้ ไม่มีระหว่าง เพราะมีเผาไหม้เป็นกําลัง ทุกข์นอกนี้เป็นอัพโพหาริก ฉันนั้น. ชื่อว่า อเวจี เพราะเต็มไปด้วยทุกข์อย่างนี้แล

บทว่า มหนฺโต (ใหญ่) คือประมาณ ๑๐๐ โยชน์. บทว่า โส ตตฺถ ปตติ (เขาจะตกลงในนรกคูถนั้น) ความว่า เท้าข้างหนึ่งอยู่ในมหานรก. ข้างหนึ่ง ตกไปในคูถนรก บทว่าสุจิมุขา (ปากดังเข็ม) คือมีปากคล้ายเข็ม สัตว์เหล่านั้นมีคอเท่าช้าง และเท่าเรือโกลนลําหนึ่ง. บทว่า กุกฺกุลนิรโย (นรกเต็มไปด้วยเถ้ารึง) ความว่า นรกเถ้าถ่านร้อนเต็มไปด้วยเถ้าปราศจากไฟขนาดภายในเรือนยอด ประมาณ ๑๐๐ โยชน์. สัตว์ที่ตกไปในนรกถึงพื้นล่างเหมือนเมล็ดผักกาด ในกองผักกาดที่เขาเหวี่ยงไปในหลุมถ่านเพลิง.บทว่า อาโรเปนฺติ (จับบังคับให้... ขึ้น) ความว่า เอาท่อนเหล็กโบยยกขึ้น. ในเวลายกท่อนเหล็กเหล่านั้นขึ้น หนามเหล็กอยู่ข้างล่าง เวลายกลงหนามเหล็กอยู่ข้างบน. บทว่า วาเตริตานิ (ที่ลมพัด) ได้แก่ เที่ยวไปด้วยกรรม. บทว่า หตฺถํปิ ฉินฺทนฺติ (ตัดมือบ้าง) ความว่าได้แก่ ทุบเฉือนเหมือนเฉือนเนื้อบนเขียง. ถ้าลุกขึ้นหนีไปได้ กําแพงเหล็กโผล่ขึ้นมาล้อมไว้ คมมีดโกนก็ตั้งขึ้นข้างล่าง. บทว่า ขาโรทกา นที (แม่น้ำใหญ่ น้ำเป็นด่าง) ได้แก่ แม่น้ำทองแดงชื่อว่า เวตตรณี ในบทนั้น ทรายหยาบสําเร็จด้วยเหล็กใบบัวข้างล่างมีคมมีดโกนที่ฝังสองข้างมีเถาหวายและหญ้าคา. บทว่า โส ตตฺถ ทุกฺขา ติปฺปา ขรา (เขาย่อมเสวยเวทนาอันเป็นทุกข์ กล้าเจ็บแสบอยู่ในแม่น้ำนั้น) ความว่า สัตว์นรกนั้นลอยขึ้นข้างบนและลงไปข้างล่างในนรกขาดในใบบัว. ถูกหนามทรายหยาบมีสัณฐานเป็นกากบาดถูกผ่าด้วยมีดโกนคม ย่อมขีดด้วยหญ้าคาที่ฝังทั้งสองข้าง. คร่ามาด้วยเถาหวาย. ถูกผ่าด้วยศัสตราอันคม. บทว่า ตตฺเตน อโยสงฺกุนา (ขอเหล็กร้อน) ความว่า เมื่อสัตว์นรก

 
  ข้อความที่ 20  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 18 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้า 208

กล่าวว่า เราหิว นายนิรยบาลเหล่านั้น เอางบโลหะบรรจุกระเช้าโลหะใหญ่เอาเข้าไปให้เขา. เขารู้ว่าเป็นงบโลหะแตะที่ฟัน ครั้งนั้น นายนิรยบาลเอาขอเหล็กร้อนงัดปากของเขา. เอาน้ำทองแดงใส่เข้าไปในหม้อทองแดงใหญ่แล้วกระทําอย่างนั้นแหละ. บทว่า ปุน มหานิรเย (ในมหานรกอีก) ความว่า นายนิรยบาลให้ลงโทษตั้งแต่เครื่องจองจํา ๕ ประการ ตลอดถึงดื่มน้ำทองแดงอย่างนี้ ตั้งแต่ดื่มน้ำทองแดงให้ลงเครื่องจองจํา ๕ ประการเป็นต้นอีก โยนลงไปในมหานรก.ในมหานรกนั้น บางตนพ้นเครื่องจองจํา ๕ ประการ บางตนพ้นครั้งที่สอง บางตนพ้นครั้งที่สาม บางตนพ้นด้วยการดื่มน้ำทองแดง. ก็เมื่อยังไม่สิ้นกรรม นายนิรยบาลก็โยนลงไปในมหานรกอีก. ก็ภิกษุหนุ่มรูปหนึ่ง เมื่อเรียนพระสูตรนี้ กล่าวว่า ท่านผู้เจริญ เมื่อสัตว์นรกเสวยทุกข์เท่านี้แล้ว นายนิรยบาลยังโยนเขาไปในมหานรกอีกหรือ ภิกษุกล่าวว่าท่านผู้เจริญ อุทเทสจงยกไว้ท่านจงบอกกัมมัฏฐานแก่กระผม ให้พระเถระบอกกัมมัฏฐานแล้ว เป็นพระโสดาบันอาศัยเรียนอุทเทส. ชนแม้เหล่าอื่นเว้นอุทเทสประเทศนี้บรรลุอรหัตไม่มีจํานวน. ก็พระสูตรนี้ พระพุทธเจ้าทุกพระองค์ไม่ทรงเว้นเลย. บทว่า หีนกายูปคา (จะเข้าถึงหมู่ที่เลว) ได้แก่เป็นผู้เข้าถึงพวกเลว. บทว่า อุปาทาเน (ในความถือมั่น) คือ ยึดถือด้วยตัณหาและทิฏฐิ. บทว่า ชาติมรณสมฺภเว (อันเป็นเหตุแห่งชาติและมรณะ) ได้แก่เป็นเหตุแห่งความเกิดและความตาย. บทว่า อนุปาทา (ไม่ถือมั่น) ได้แก่ไม่ยึดถือด้วยอุปาทาน ๔. บทว่า ชาติมาณสํ ขเย (ในธรรมเป็นที่สิ้นชาติและมรณะ) คือ ย่อมพ้นในเพราะนิพพานกล่าวคือเป็นที่สิ้นชาติและมรณะ.บทว่า ทิฏธมฺมาภินิพฺพุตา (ดับสนิทในปัจจุบัน) ความว่า ดับแล้วด้วยความดับกิเลสทั้งปวงในทิฏฐธรรมคือในอัตภาพนี้เอง. บทว่า สพฺพทุกฺขํ อุปจฺจคู (ข้ามพ้นทุกข์ทั้งปวง) คือ ชื่อว่าล่วงทุกข์ทั้งปวงได้.

จบอรรถกถาเทวทูตสูตร ที่ ๑๐

จบวรรค ที่ ๓

 
  ข้อความที่ 21  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 8 พ.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้า 209

รวมพระสูตรใน สุญญตวรรค

๑. จูฬสุญญตสูตร พร้อมทั้งอรรถกถา

๒. มหาสุญญตสูตร พร้อมทั้งอรรถกถา

๓. อัจฉริยัพภูตธรรมสูตร พร้อมทั้งอรรถกถา

๔. พักกุลัตเถรัจฉริยัพภูตสูตร พร้อมทั้งอรรถกถา

๕. ทันตภูมิสูตร พร้อมทั้งอรรถกถา

๖. ภูมิชสูตร พร้อมทั้งอรรถกถา

๗. อนุรุทธสูตร พร้อมทั้งอรรถกถา

๘. อุปักกิเลสสูตร พร้อมทั้งอรรถกถา

๙. พาลบัณฑิตสูตร พร้อมทั้งอรรถกถา

๑๐. เทวทูตสูตร พร้อมทั้งอรรถกถา