พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๑. โอฆตรณสูตร ว่าด้วยการข้ามโอฆะ (เริ่มเล่ม 24)

 
บ้านธัมมะ
วันที่  28 ส.ค. 2564
หมายเลข  36162
อ่าน  1,045

[เล่มที่ 24] 24. พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 1

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

เทวตาสังยุต

นฬวรรคที่ ๑

๑. โอฆตรณสูตร

ว่าด้วยการข้ามโอฆะ


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 24]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 30 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 1

พระสุตตันตปิฎก

สังยุตตนิกาย สคาถวรรค

เล่มที่ ๑

เทวตาสังยุต

นฬวรรคที่ ๑

๑. โอฆตรณสูตร

ว่าด้วยการข้ามโอฆะ

[๑] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้ :-

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี กรุงสาวัตถี ครั้งนั้นแล เมื่อปฐมยามล่วงไปแล้ว เทวดาองค์หนึ่ง มีวรรณะงาม ยังพระวิหารเชตวันทั้งสิ้นให้สว่าง เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าถึงที่ประทับ ครั้นแล้วถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้วได้ยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง.

[๒] เทวดานั้น ยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้ว ได้กราบทูลคำนี้กะพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ข้าแต่พระองค์ผู้ไม่มีทุกข์ ข้าพระองค์ขอทูลถาม พระองค์ข้ามโอฆะได้อย่างไร.

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 30 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 2

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสตอบว่า ท่านผู้มีอายุ เราไม่พักอยู่ ไม่เพียรอยู่ ข้ามโอฆะได้แล้ว.

ท. ข้าแต่พระองค์ผู้ไม่มีทุกข์ ก็พระองค์ไม่พักไม่เพียร ข้ามโอฆะได้อย่างไรเล่า.

พ. ท่านผู้มีอายุ เมื่อใด เรายังพักอยู่ เมื่อนั้น เรายังจมอยู่โดยแท้ เมื่อใดเรายังเพียรอยู่ เมื่อนั้น เรายังลอยอยู่โดยแท้ ท่านผู้มีอายุ เราไม่พัก เราไม่เพียร ข้ามโอฆะได้แล้วอย่างนี้แล.

เทวดานั้นกล่าวคาถานี้ว่า

นานหนอ ข้าพเจ้าจึงจะเห็นขีณาสว พราหมณ์ผู้ดับรอบแล้ว ไม่พัก ไม่เพียรอยู่ ข้ามตัณหาเป็นเครื่องเกาะเกี่ยวในโลก.

[๓] เทวดานั้นกล่าวคำนี้แล้ว พระศาสดาทรงอนุโมทนา ครั้งนั้นแล เทวดานั้นดำริว่า พระศาสดาทรงอนุโมทนาคำของเรา จึงถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาคเจ้า ทำประทักษิณแล้วก็หายไป ณ ที่นั้นแล.

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 30 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 3

สารัตถปกาสินี อรรถกถาสังยุตตนิกาย

อรรถกถาสังยุตตนิกายสคาถวรรค

อารัมภกถา

ข้าพเจ้าพระพุทธโฆษาจารย์ ขอน้อมนมัสการด้วยเศียรเกล้า ซึ่งพระสุคตเจ้าผู้หลุดพ้นแล้วจากคติ ผู้มีพระทัยเยือกเย็นสนิทด้วยพระมหากรุณาคุณ ผู้มีความมืด คือ โมหะอันแสงสว่างแห่งปัญญาขจัดแล้ว ผู้เป็นครูของชาวโลกทั้งหลายพร้อมทั้งมนุษย์และเทวดา.

พระพุทธเจ้าทรงทำให้แจ้งพระสัพพัญญุตญาณ ทรงเข้าถึงพระธรรมใด อันมีมลทินไปปราศแล้ว ข้าพเจ้าขอน้อมนมัสการพระธรรมอันเยี่ยมนั้นด้วยเศียรเกล้า.

ข้าพเจ้าขอน้อมนมัสการด้วยเศียรเกล้า ซึ่งพระอริยสงฆ์เจ้าอยู่เป็นหมู่แห่งพระอริยบุคคลแม้ทั้งแปดพวก ผู้เป็นบุตรอันเกิดแต่พระอุระของพระสุคตเจ้า ผู้ย่ำยีเสียได้ซึ่งมารและเสนามาร.

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 30 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 4

บุญใด สำเร็จแล้วด้วยการกราบไหว้พระรัตนตรัยของข้าพเจ้าผู้มีจิตเลื่อมใสแล้ว ด้วยประการฉะนี้ ด้วยอานุภาพแห่งบุญนั้น ข้าพเจ้าเป็นผู้มีอันตรายอันขจัดดีแล้ว อรรถกถาใด อันพระขีณาสพ ๕๐๐ องค์ ผู้ชำนาญแตกฉานในปฏิสัมภิทาช่วยกันร้อยกรอง แล้วตั้งแต่ปฐมสังคายนา ต่อมามีการร้อยกรองอีกสองครั้ง คือ ในทุติย-ตติยสังคายนา เพื่อประกาศเนื้อความของปกรณ์สังยุตตนิกายอันประเสริฐ ซึ่งประดับด้วยวรรคแห่งสังยุตอันจำแนกญาณต่างๆ ที่พระพุทธะและสาวกของพระพุทธะพรรณนาไว้ดีแล้ว ก็อรรถกถานั้นแหละ อันพระมหินทเถระผู้ชำนาญจากประเทศอินเดียนำมายังเกาะสิงหล (ประเทศศรีลังกา) ต่อมาได้ประดิษฐานไว้ด้วยภาษาสิงหล เพื่อประโยชน์แก่หมู่ชนชาวเกาะ ข้าพเจ้านำอรรถกถาภาษาสิงหลออกแปลเป็นภาษามคธซึ่งเป็นภาษาที่น่ารื่นรมย์ ถูกต้องตามระเบียบพระบาลีไม่มีภาษาอื่นปะปน ไม่ขัดแย้งทฤษฎีของพระเถระทั้งหลาย ผู้อยู่ในมหาวิหาร ผู้เป็นดังประทีปของเถระวงศ์ ผู้วินิจฉัยอธิกรณ์ละเอียดรอบคอบ จักตัดข้อความที่ซ้ำๆ ออกแล้ว จักประกาศเนื้อความอรรถกถาสังยุตตนิกายนี้ เพื่อความชื่นชมยินดีของสาธุชนและเพื่อดำรงอยู่สิ้นกาลนานแห่งพระธรรม.

การพรรณนาอันใด ที่กระทำไว้ในพระนครทั้งหลาย อันสืบเนื่องมาจากพระนครสาวัตถี ภายหลังได้ร้อยกรองอีกสองครั้งนั้น ได้ยินว่า เรื่องทั้งหลาย และพุทธพจน์ที่กล่าวไว้ในพระนครนั้นเป็นไปโดยพิสดาร ข้าพเจ้าจักกล่าวอรรถกถานั้นในที่นี้ จักไม่กล่าวให้พิสดารเกินไป ส่วนอรรถกถาแห่งพระสูตรเหล่าใดเว้นจากเรื่องย่อมไม่แจ่มแจ้ง เพื่อความแจ่มแจ้งแห่งพระสูตรนั้น ข้าพเจ้าก็จักแสดงเรื่องเหล่านั้น.

พุทธพจน์เหล่านั้น คือ สีลกถา ธุดงคธรรม พระกรรมฐานทั้งปวง ความพิสดารของฌานและสมาบัติ ทั้งประกอบด้วยจริยะและวิธีการ อภิญญา

 
  ข้อความที่ 5  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 30 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 5

ทั้งหมด คำวินิจฉัยอันผนวกด้วยปัญญา ขันธ์ ธาตุ อายตนะ อินทรีย์ อริยสัจ ๔ ปฏิจจสมุปบาทเทศนา ซึ่งไม่นอกแนวพระบาลีมีนัยอันละเอียดรอบคอบ และวิปัสสนาภาวนา คำที่กล่าวมานี้ทั้งหมดข้าพเจ้ากล่าวไว้ในวิสุทธิมรรคแล้วอย่างบริสุทธิ์ดี เพราะฉะนั้น ในที่นี้ จักไม่วิจารณ์เรื่องทั้งหมดนั้นอีก ก็เพราะคัมภีร์วิสุทธิมรรคที่ข้าพเจ้ารจนาไว้ด้วยประการดังกล่าวมานี้แหละ ดำรงอยู่ท่ามกลางแห่งนิกายทั้ง ๔ จักประกาศข้อความตามที่กล่าวไว้ในนิกายทั้ง ๔ เหล่านั้น ฉะนั้น ขอสาธุชนทั้งหลายจงถือเอาคัมภีร์วิสุทธิมรรคนั้นกับอรรถกถานี้ แล้วจักทราบข้อความตามที่อิงอาศัยคัมภีร์สังยุตตนิกายนั้นได้.

ในพระคัมภีร์เหล่านั้น คัมภีร์ชื่อว่า สังยุตตนิกาย มี ๕ วรรค คือ สคาถวรรค นิทานวรรค ขันธวรรค (บาลีเป็นขันธวารวรรค) สฬายตนวรรค มหาวรรค เมื่อว่าโดยสูตรมี ๗,๗๖๒ สูตร นี้ชื่อว่า สังยุตตสังคหะ. เมื่อว่าโดยภาณวารมี ๑๐๐ ภาณวาร. ในวรรคแห่งสังยุตนั้นมีสคาถวรรคเป็นเบื้องต้น. ในสูตรทั้งหลาย มีโอฆตรณสูตร เป็นเบื้องต้น. คำพระสูตรว่า เอวมฺเม สุตํ เป็นต้น ที่ท่านพระอานนท์เถระกล่าวไว้ในเวลาทำปฐมมหาสังคีตินั้น มีนิทานเป็นเบื้องต้น. ก็ปฐมมหาสังคีตินี้นั้น ท่านพระอรรถกถาจารย์ให้พิสดารไว้ในเบื้องต้นของอรรถกถาทีฆนิกายสุมังคลวิลาสินี เพราะฉะนั้น บัณฑิตพึงทราบปฐมมหาสังคีตินั้นโดยนัยอันพิสดารในที่นั้นเถิด.

จบอารัมภกถา

 
  ข้อความที่ 6  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 30 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 6

เทวตาสังยุตตวรรณนา

นฬวรรคที่ ๑

อรรถกถาโอฆตรณสูตร

พึงทราบวินิจฉัยในโอฆตรณสูตรที่ ๑ แห่งนฬวรรค ดังนี้ :-

บทว่า เอวมฺเม สุตํ เป็นต้นนี้ เป็นนิทาน.

ในบทเหล่านั้น คำว่า เอวํ เป็นศัพท์นิบาต.

บทว่า เม เป็นต้น เป็นบทนาม.

คำว่า วิ ในบทว่า สาวตฺถิยํ วิหรติ นี้เป็นศัพท์อุปสรรค.

บทว่า หรติ เป็นบทอาขยาต พึงทราบการจำแนกบทโดยนัยนี้ก่อน.

ว่าด้วย เอวํ ศัพท์

แต่เมื่อว่าโดยอรรถ เอวํ ศัพท์จำแนกเนื้อความได้หลายอย่างเป็นต้นว่า คำเปรียบเทียบ คำแนะนำ คำยกย่อง คำติเตียน การรับคำ อาการะ คำชี้แจง คำกำหนดแน่นอน จริงอย่างนั้น เอวํ ศัพท์นี้ที่มาในคำอุปมาในประโยคมี เอวํ ศัพท์ เป็นเบื้องต้นว่า เอวํ ชาเตน มจฺเจน กตฺตพฺพํ กุสลํ พหุํ แปลว่า สัตว์ผู้มีอันจะพึงตายเป็นธรรมดา เกิดมาแล้วพึงสร้างกุศลให้มาก ฉันนั้น.

เอวํ ศัพท์ที่มาในคำแนะนำ เช่นในประโยคมีคำเป็นต้นว่า เอวนฺเต อภิกฺกมิตพฺพํ เอวํ ปฏิกฺกมิตพฺพํ แปลว่า เธอพึงก้าวไปอย่างนี้ พึงถอยกลับอย่างนี้.

 
  ข้อความที่ 7  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 30 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 7

เอวํ ศัพท์ที่มาในคำยกย่อง เช่นในประโยคที่มีคำเป็นต้นว่า เอวเมตํ ภควา เอวเมตํ สุคตํ ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า ข้อนี้ อย่างนั้น ข้าแต่พระสุคตเจ้า ข้อนี้ อย่างนั้น.

เอวํ ศัพท์ที่มาในคำติเตียน เช่นในประโยคที่มีคำเป็นต้นว่า เอวเมว ปนายํ วสลี ยสฺมิํ วา ตสฺมิํ วา ตสฺส มุณฺฑกสฺส สมณกสฺส วณฺณํ ภาสติ แปลว่า ก็หญิงถ่อยนี้ย่อมกล่าวสรรเสริญสมณะโล้นนั้น อย่างนี้ อย่างนี้ ไม่ว่าที่ใดที่หนึ่ง.

เอวํ ศัพท์ที่มาในการรับคำ เช่นในประโยคที่มีคำเป็นต้นว่า เอวํ ภนฺเตติ โข เต ภิกฺขู ภควโต ปจฺจสฺโสสุํ แปลว่า ภิกษุเหล่านั้น ได้พากันรับพระดำรัสของพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า อย่างนั้น พระเจ้าข้า.

เอวํ ศัพท์ที่มาในอาการะ เช่นในประโยคที่มีคำเป็นต้นว่า เอวํ พฺยาโข อหํ ภนฺเต ภควตา ธมฺมํ เทสิตํ อาชานามิ แปลว่า ข้าพระพุทธเจ้ากล่าวอย่างนั้นจริง พระเจ้าข้า ข้าพระพุทธเจ้า ย่อมทราบทั่วถึงธรรมที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงไว้แล้ว.

เอวํ ศัพท์ที่มาในคำชี้แจง เช่นในประโยคที่มีคำเป็นต้นว่า เอหิ ตฺวํ มาณวก ฯเปฯ เอวญฺจ วเทหิ สาธุ กิร ภวํ อานนฺโท เยน สุภสฺส มาณวสฺส โตเทยฺยปุตฺตสฺส นิเวสนํ เตนุปสงฺกมตุ อนุกมฺปํ อุปาทาย แปลว่า มานี่แน่ะ พ่อมาณพน้อย เจ้าจงเข้าไปหาพระสมณะชื่อว่า อานนท์ แล้วเรียนถามถึงความมีอาพาธน้อย ความลำบากน้อย ความคล่องแคล่ว ความมีกำลัง ความอยู่สำราญ ด้วยคำของเราว่า ท่านสุภมาณพโตเทยยบุตร เรียน

 
  ข้อความที่ 8  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 30 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 8

ถามท่านพระอานนท์ถึงความมีอาพาธน้อย ความลำบากน้อย ความคล่องแคล่ว ความอยู่สำราญ และจงกล่าวอย่างนี้ว่า ขอประทานโอกาส ขอท่านพระอานนท์จงอนุเคราะห์เข้าไปยังนิเวศน์ของสุภมาณพโตเทยยบุตรเถิด.

เอวํ ศัพท์ที่มาในอวธารณะ คือ คำกำหนดที่แน่นอน เช่นในประโยคที่มีคำเป็นต้นว่า ตํ กิํ มญฺถ กาลามา ฯเปฯ เอวํ โน เอตฺถ โหติ แปลว่า ดูก่อนชาวกาลามะทั้งหลาย ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน ธรรมเหล่านี้ เป็นกุศลหรืออกุศล เป็นอกุศล พระเจ้าข้า มีโทษหรือไม่มีโทษ มีโทษพระเจ้าข้า ผู้รู้ติเตียนหรือสรรเสริญ ผู้รู้ติเตียน พระเจ้าข้า ธรรมนี้บุคคลสมาทานให้บริบูรณ์แล้วย่อมเป็นไปเพื่อความไม่เป็นประโยชน์เกื้อกูล เพื่อทุกข์หรือไม่ หรือใครเห็นเป็นอย่างไรในข้อนี้ ธรรมเหล่านี้ บุคคลสมาทานให้บริบูรณ์แล้วย่อมเป็นไปเพื่อความไม่เกื้อกูล เพื่อทุกข์ในข้อนี้ พวกข้าพระองค์เห็นอย่างนี้ พระเจ้าข้า.

เอวํ ศัพท์นี้นั้น ในที่นี้บัณฑิตพึงเห็นว่าใช้ในอรรถ ๓ อย่าง คือ ในอาการะ นิทัสสนะ อวธารณะ.

บรรดาอรรถ ๓ อย่างนั้น ท่านพระอานนท์ ย่อมแสดงเนื้อความนี้ด้วย เอวํศัพท์อันมีอาการะเป็นอรรถว่า พระดำรัสของพระผู้มีพระภาคเจ้านั้นละเอียดโดยนัยต่างๆ ตั้งขึ้นด้วยอัธยาศัยมิใช่น้อย สมบูรณ์ด้วยอรรถและพยัญชนะ มีปาฏิหาริย์ต่างๆ ลึกซึ้งโดย ธรรม อรรถ เทศนาและปฏิเวธ มาสู่คลองแห่งโสตครั้งแรก ควรแก่การศึกษาโดยภาษาของตนๆ แห่งสัตว์ทั้งหมด ใครเล่าจะสามารถเข้าใจได้โดยประการทั้งปวง แม้จะให้เกิดความประสงค์เพื่อจะสดับด้วยกำลังทั้งปวงว่า ข้าพเจ้าสดับมาอย่างนี้ คือ แม้ข้าพเจ้าสดับมาแล้วโดยอาการอย่างหนึ่ง.

 
  ข้อความที่ 9  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 30 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 9

พระอานนท์ เมื่อจะเปลื้องตนว่า ข้าพเจ้ามิใช่สยัมภู พระสูตรนี้ข้าพเจ้ามิได้กระทำให้แจ้ง จึงแสดงพระสูตรทั้งสิ้นอันสมควรกล่าวในกาลบัดนี้ว่า เอวมฺเม สุตํ คือว่า แม้ข้าพเจ้าก็สดับมาแล้วอย่างนี้ด้วย เอวํ ศัพท์อันมีนิทัสสนะเป็นอรรถ.

พระอานนท์ เมื่อแสดงกำลัง คือ ความทรงจำของตน อันสมควรแก่ภาวะที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสสรรเสริญไว้ อย่างนี้ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อานนท์นี้เป็นเลิศกว่าภิกษุทั้งหลาย ผู้เป็นสาวกของเรา ผู้เป็นพหูสูต มีคติ มีสติ มีความทรงจำ เป็นอุปัฏฐาก และท่านพระธรรมเสนาบดีกล่าวไว้อย่างนี้ว่า ท่านพระอานนท์ฉลาดในอรรถ ฉลาดในธรรม ฉลาดในพยัญชนะ ฉลาดในนิรุตติ ฉลาดในคำเบื้องต้นและเบื้องปลาย ดังนี้ จึงให้ความประสงค์เพื่อจะสดับของสัตว์ทั้งหลายเกิดขึ้น จึงกล่าวว่า เอวมฺเม สุตํ แปลว่า ข้าพเจ้าสดับมาแล้วอย่างนี้ คำนั้นแล ไม่หย่อนไม่ยิ่งโดยอรรถหรือว่าโดยพยัญชนะอย่างนี้เท่านั้น ไม่ควรเห็นเป็นอย่างอื่น ด้วยศัพท์ว่า เอวํ อันมีอวธารณะเป็นอรรถนี้.

ว่าด้วย เม ศัพท์

เม ศัพท์ปรากฏในอรรถ ๓ อย่าง.

จริงอย่างนั้น เม ศัพท์ มีอรรถว่า มยา เช่นในประโยคที่มีคำเป็นต้นว่า คาถาภิคีตมฺเม อโภชฺเนยฺยํ แปลว่า โภชนะที่ได้มาเพราะการขับร้อง เราไม่ควรบริโภค.

เม ศัพท์มีอรรถว่า มยฺหํ เช่นในประโยคที่มีคำเป็นต้นว่า สาธุ เม ภนฺเต ภควา สงฺขิตฺเตน ธมฺมํ เทเสตุ แปลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอประทานพระวโรกาส ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าจงแสดงธรรมโดยย่อแก่ข้าพระองค์เถิด.

เม ศัพท์มีอรรถว่า มม เช่นในประโยคว่า ธมฺมทายาทา เม ภิกฺขเว ภวถ เป็นต้น

 
  ข้อความที่ 10  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 30 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 10

แปลว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจงเป็นธรรมทายาทของเรา แต่ในที่นี้ควรใช้ในอรรถ ๒ อย่าง คือ มยา สุตํ แปลว่า ข้าพเจ้าสดับแล้ว และ มม สุตํ แปลว่า การสดับของข้าพเจ้า.

ว่าด้วย สุต ศัพท์

สุต ศัพท์ในบทว่า สุตํ นี้เป็นทั้งศัพท์มีอุปสรรคและไม่มีอุปสรรค จำแนกอรรถได้มิใช่น้อย เช่นอรรถว่า การไป ว่าปรากฏแล้ว ว่ากำหนัด ว่าสั่งสม ว่าขวนขวาย ว่าสัททารมณ์ ที่รู้ได้ด้วยโสต และรู้ตามแนวแห่งโสตทวารเป็นต้น.

จริงอย่างนั้น สุต ศัพท์นี้มีอรรถว่าไป ในประโยคว่า เสนาย ปสุโต เป็นต้น แปลว่า เสนาเคลื่อนไป.

สุตศัพท์มีอรรถว่ามีธรรมอันปรากฏแล้ว ในประโยคว่า สุตธมฺมสฺส ปสฺสโต เป็นต้น แปลว่า มีธรรมอันสดับแล้ว เห็นอยู่.

สุตศัพท์มีอรรถว่า เปียกชุ่มด้วยราคะและไม่เปียกชุ่มด้วยราคะ เช่นในประโยคว่า อวสฺสุตา อนวสฺสุตสฺส เป็นต้น แปลว่า ภิกษุณีกำหนัดยินดีแล้วต่อบุคคลผู้ไม่กำหนัดยินดีแล้ว.

สุตศัพท์มีอรรถว่าสั่งสม ในประโยคว่า ตุมฺเหหิ ปุญฺํ ปสุตํ อนปฺปกํ เป็นต้น แปลว่า บุญมิใช่น้อย อันท่านทั้งหลายสั่งสมแล้ว.

สุตศัพท์มีอรรถว่า ขวนขวาย คือ การประกอบเนืองๆ ในฌาน เช่นประโยคว่า เย ฌานปสุตา ธีรา เป็นต้น แปลว่า นักปราชญ์ทั้งหลายเหล่าใด ขวนขวายแล้วในฌาน.

สุตศัพท์มีอรรถว่า สัททารมณ์ อันบุคคลพึงรู้ด้วยโสต เช่นในประโยคว่า ทิฏฺํ สุตํ มุตํ เป็นต้น แปลว่า รูปอันเราเห็นแล้ว เสียงอันเราฟังแล้ว หมวดสามแห่งธรรมอันเราทราบแล้ว.

สุต ศัพท์นี้ มีอรรถว่ารู้ตามแนวแห่งโสตทวาร และทรงจำตามที่ตนรู้แล้ว ดังในประโยคว่า สุตธโร สุตสนฺนิจโย เป็นต้น แปลว่า ทรงไว้ซึ่งสุตะ สั่งสมไว้ซึ่งสุตะ แต่ในที่นี้มีอรรถว่าเข้าไปทรงไว้แล้ว หรือว่า การ

 
  ข้อความที่ 11  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 30 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 11

เข้าไปทรงไว้ โดยกระแสแห่งโสตทวาร.

ก็เมื่ออรรถแห่ง เม ศัพท์ ว่า มยา ก็จะประกอบเนื้อความได้ว่า ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้ว เข้าไปทรงไว้แล้วตามแนวแห่งโสตทวาร เมื่อเมศัพท์เท่ากับ มม ก็จะประกอบเนื้อความได้ว่า การสดับ คือ การเข้าไปทรงไว้โดยกระแสแห่งโสตทวารของเรา ดังนี้.

บรรดาบททั้ง ๓ เหล่านี้ ด้วยประการดังกล่าวมานี้ บทว่า เอวํ เป็นบทแสดงกิจ ของวิญญาณ โสตวิญญาณ เป็นต้น.

บทว่า เม เป็นบทแสดงถึงบุคคลผู้มีความพร้อมเพรียง ด้วยวิญญาณอันตนสดับมาแล้ว.

บทว่า สุตํ เป็นบทแสดงถึงการรับไว้โดยไม่หย่อนไม่ยิ่งและไม่วิปริต โดยความเป็นผู้ไม่ปฏิเสธต่อการไม่ได้ฟังมา.

อนึ่ง บทว่า เอวํ เป็นบทประกาศภาวะที่วิถีวิญญาณนั้นเป็นไปโดยกระแสแห่งโสตทวารเป็นธรรมชาติเป็นไปในอารมณ์โดยประการต่างๆ.

บทว่า เม เป็นบทประกาศตน.

บทว่า สุตํ เป็นบทประกาศธรรม.

ก็ในพระบาลีนี้ มีความสังเขปดังนี้ว่า ข้าพเจ้า มิได้กระทำสิ่งอื่น นอกจากสิ่งนี้ คือว่า ข้าพเจ้าสดับธรรมนี้มา ด้วยวิญญาณวิถีอันเป็นไปในอารมณ์มีประการต่างๆ.

อนึ่ง บทว่า เอวํ เป็นบทประกาศธรรมที่ควรชี้แจง.

บทว่า เม เป็นบทประกาศบุคคล.

บทว่า สุตํ เป็นบทประกาศกิจ คือ หน้าที่ของบุคคล.

สุตะ บทนี้ มีอรรถาธิบายว่า ข้าพเจ้าจักแสดงซึ่งสูตรอันใด สูตรอันนั้นข้าพเจ้าสดับมาแล้วอย่างนี้.

อนึ่ง บทว่า เอวํ นี้เป็นบทชี้แจงโดยอาการต่างๆ แห่งจิตตสันดานซึ่งเป็นตัวถือเอาอรรถะ และพยัญชนะต่างๆ โดยลักษณะที่เป็นไปด้วยอาการต่างๆ เพราะเอวํบทนี้เป็นศัพท์แสดงถึงบัญญัติของอาการ.

บทว่า เม เป็นบทแสดงถึงผู้กระทำ.

บทว่า สุตํ เป็นบทแสดงถึงอารมณ์.

ก็ด้วยคำเพียงเท่านี้ ย่อมเป็นภาวะที่จิตตสันดานเป็นไปโดยอาการต่างๆ กัน กระทำการสันนิษฐานในการรับอารมณ์ของผู้กระทำความพร้อมเพรียงกันในจิตตสันดานนั้น.

อีกอย่างหนึ่ง บทว่า เอวํ แสดงหน้าที่ของบุคคล.

 
  ข้อความที่ 12  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 30 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 12

บทว่า สุตํ แสดงหน้าที่ของวิญญาณ.

บทว่า เม แสดงถึงบุคคลซึ่งประกอบหน้าที่ทั้งสอง.

ก็ในพระบาลีนี้ มีเนื้อความย่อว่า ข้าพเจ้าผู้เป็นบุคคล พร้อมด้วยวิญญาณอันมีการสดับมาเป็นกิจ (หน้าที่) ได้สดับมาแล้วโดยโวหารว่าสวนกิจ อันได้มาแล้วเนื่องด้วยวิญญาณ ดังนี้.

บรรดาบททั้ง ๓ นั้น บทว่า เอวํ และ เม เป็นอวิชชมานบัญญัติ ด้วยอำนาจแห่งสัจฉิกัตถะ และปรมัตถสัจจะ.

อันที่จริง ในพระบาลีนี้ มีข้อที่ควรจะชี้แจงว่า เอวํ ก็ดี เม ก็ดี ว่าโดยปรมัตถ์ มีอยู่อย่างไร.

บทว่า สุตํ เป็นวิชชมานบัญญัติ เพราะอารมณ์ที่ได้ทางโสตในที่นี้นั้น มีอยู่โดยปรมัตถ์.

อีกอย่างหนึ่ง บทว่า เอวํ และ เม เป็นอุปาทาบัญญัติ เพราะเป็นถ้อยคำอันบุคคลพึงกล่าว อาศัยเอาสิ่งนั้นๆ.

บทว่า สุตํ เป็นอุปนิธานบัญญัติ เพราะเป็นถ้อยคำอันบุคคลพึงกล่าว เทียบเคียงซึ่งอารมณ์ทั้งหลายมีทิฏฐารมณ์ เป็นต้น.

ก็ในพระบาลีนั้น ท่านพระอานนท์ ย่อมแสดงความไม่ลุ่มหลงไว้ด้วยคำว่า เอวํ เพราะผู้หลงแล้วย่อมไม่สามารถแทงตลอดได้โดยประการต่างๆ และย่อมแสดงความไม่ฟั่นเฟือนแห่งถ้อยคำที่ท่านได้สดับมาไว้ด้วยคำว่า สุตํ เพราะว่า ถ้าบุคคลมีถ้อยคำที่ได้สดับฟังมาหลงลืมไปย่อมจะไม่ทราบชัดว่า คำนี้ ข้าพเจ้าได้สดับฟังมาแล้ว โดยระหว่างกาล ด้วยอาการอย่างนี้ พระอานนท์นี้ จึงชื่อว่า มีความสำเร็จทางปัญญาเพราะความไม่ลุ่มหลงและมีความสำเร็จทางสติเพราะความไม่ฟั่นเฟือน.

ในความสำเร็จ ๒ อย่างนั้น ถ้าสติมีปัญญาเป็นประธาน ก็สามารถทำการกำหนดได้แน่นอนในพยัญชนะ ถ้าปัญญามีสติเป็นประธาน ก็สามารถแทงตลอดในอรรถะ ก็เพราะประกอบด้วยความสามารถแห่งธรรมทั้งสองนั้น ท่านพระอานนท์ จึงได้นามว่า ธรรมภัณฑาคาริก (ขุนคลังแห่งพระธรรม) เพราะสามารถที่จะอนุรักษ์คลังพระธรรมให้สมบูรณ์ ด้วยอรรถะ และพยัญชนะ.

 
  ข้อความที่ 13  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 30 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 13

อีกนัยหนึ่ง ท่านพระอานนท์แสดงโยนิโสมนสิการไว้ด้วยคำว่า เอวํ เพราะผู้ไม่มีโยนิโสมนสิการ ย่อมไม่สามารถแทงตลอดได้โดยประการต่างๆ.

ย่อมแสดงความเป็นผู้มีจิตไม่ฟุ้งซ่าน ด้วยคำว่า สุตํ นี้ เพราะจิตที่ฟุ้งซ่าน มีการฟังไม่ได้. จริงอย่างนั้น บุคคลมีจิตฟุ้งซ่านแม้ผู้อื่นพูดให้สมบูรณ์ทุกอย่าง ก็ยังกล่าวว่า ข้าพเจ้าไม่ได้ยิน ขอจงพูดอีก.

ก็บรรดาคุณธรรม ๒ อย่างนั้น เมื่อว่าโดยโยนิโสมนสิการ พระอานนท์ย่อมให้สำเร็จซึ่งอัตตสัมมาปณิธิ และบุพเพกตบุญญตา เพราะบุคคลผู้มิได้ตั้งตนไว้ชอบและมิได้ทำบุญไว้ในกาลก่อนแล้ว จะมีโยนิโสมนสิการไม่ได้. ว่าโดยความไม่ฟุ้งซ่าน ท่านพระอานนท์ย่อมให้สำเร็จซึ่งสัทธัมมัสสวนะและสัปปุริสูปัสสยะ เพราะผู้มีจิตฟุ้งซ่าน ย่อมไม่อาจเพื่อสดับฟัง และผู้ไม่มีอุปนิสัยก็ไม่มีการคบหากับสัตบุรุษ.

อีกนัยหนึ่ง ข้าพเจ้าได้กล่าวไว้แล้วว่า เพราะบทว่า เอวํ ย่อมแสดงไขถึงอาการต่างๆ แห่งจิตตสันดาน ซึ่งเป็นตัวรับเอาอรรถะและพยัญชนะต่างๆ ให้เป็นไปด้วยอาการต่างๆ กัน ก็ลักษณะอาการอันเจริญอย่างนี้นั้นย่อมไม่มีแก่บุคคลผู้ไม่ตั้งตนไว้ชอบ หรือมิได้ทำบุญไว้ในปางก่อน ฉะนั้น ท่านพระอานนท์ จึงแสดงสมบัติ คือ จักร ๒ ข้อ เบื้องปลายของท่าน ด้วยอาการอันเจริญ ด้วยคำว่า เอวํ นี้.

ย่อมแสดงสมบัติ คือ จักร ๒ ข้อเบื้องต้น โดยการประกอบการสดับฟังด้วยคำว่า สุตํ นี้.

จริงอยู่ เมื่อบุคคลอยู่ในถิ่นฐานอันมิใช่ปฏิรูปเทส หรือเว้นจากการคบสัตบุรุษ ย่อมไม่มีการสดับฟัง.

โดยนัยนี้ อาสยสุทธิ (คือความสำเร็จแห่งอัธยาศัย) ย่อมเป็นอันสำเร็จแก่ท่านเพราะความสำเร็จแห่งจักร ๒ ข้อ เบื้องปลาย. ปโยคสุทธิ (คือความสำเร็จแห่งปโยคะ) ย่อมเป็นอันสำเร็จเพราะจักร ๒ ข้อ เบื้องต้น.

ก็ด้วยความบริสุทธิ์แห่งอาสยะนั้น ท่านจึงเป็นผู้เฉลียวฉลาดเฉียบแหลมในการบรรลุมรรคผล.

 
  ข้อความที่ 14  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 30 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 14

เพราะความบริสุทธิ์แห่งปโยคะนั้น ท่านจึงเป็นผู้เฉลียวฉลาดยิ่งในพระปริยัติ.

ด้วยเหตุนี้ ถ้อยคำของท่านพระอานนท์ผู้มีปโยคะและอาสยะบริสุทธิ์แล้ว ผู้สมบูรณ์แล้วด้วยการบรรลุมรรคผล ย่อมสมควรเพื่อเป็นถ้อยคำเบื้องต้นสำหรับรองรับพระดำรัสของพระผู้มีพระภาคเจ้า เปรียบเหมือนการขึ้นไปแห่งอรุณเป็นเบื้องต้นแห่งพระอาทิตย์กำลังอุทัยอยู่ และเปรียบเหมือน โยนิโสมนสิการเป็นเบื้องต้นแห่งกุศลกรรมฉะนั้น เหตุดังนั้น ท่านพระอานนท์ เมื่อจะเริ่มตั้งคำอันเป็นนิทานในฐานะอันควร จึงกล่าว บทว่า เอวมฺเม สุตํ เป็นต้น.

อีกนัยหนึ่ง ท่านพระอานนท์ ย่อมแสดงภาวะสมบัติ คือ อรรถปฏิสัมภิทา และปฏิภาณปฏิสัมภิทาของตนด้วยคำอันแสดงถึงการแทงตลอดได้โดยประการต่างๆ ว่า เอวํ นี้.

ท่านย่อมแสดงภาวะสมบัติ คือ ธรรมปฏิสัมภิทาและนิรุตติปฏิสัมภิทา ด้วยคำอันแสดงถึงการแทงตลอดประเภทแห่งธรรมอันบุคคลพึงสดับฟังว่า สุตํ นี้.

อนึ่ง ท่านพระอานนท์ เมื่อจะกล่าวถ้อยคำอันแสดงถึงโยนิโสมนสิการด้วย เอวํ นี้. จึงแสดงว่า ธรรมเหล่านี้ ข้าพเจ้าเพ่งด้วยใจ ข้าพเจ้าแทงตลอดดีแล้วด้วยทิฏฐิ ดังนี้.

เมื่อกล่าวถ้อยคำอันแสดงถึงการประกอบการฟังด้วย สุตํ นี้ จึงแสดงว่า ธรรมเป็นอันมาก ข้าพเจ้าได้ฟังมาแล้ว ทรงจำไว้แล้วสั่งสมไว้แล้วด้วยปัญญา ดังนี้.

เมื่อท่านจะแสดงอรรถและพยัญชนะให้บริบูรณ์ด้วยคำแม้ทั้ง ๒ นั้น ย่อมให้การเอื้อเฟื้อในการที่จะให้การฟังเกิดขึ้น เพราะว่าเมื่อบุคคลไม่ฟังธรรมอันบริบูรณ์ด้วยอรรถและพยัญชนะโดยเอื้อเฟื้อเคารพ ย่อมเป็นผู้เหินห่างจากประโยชน์เกื้อกูลอันใหญ่ เพราะเหตุนี้ บุคคลพึงให้ความเอื้อเฟื้อเคารพในการฟังธรรมให้เกิดขึ้นเถิด.

อนึ่ง ด้วยคำทั้งสิ้นว่า เอวมฺเม สุตํ นี้ ท่านพระอานนท์ เมื่อไม่ตั้งธรรมอันพระตถาคตประกาศแล้วไว้สำหรับตน จึงชื่อว่า ย่อมก้าวล่วงภูมิของ

 
  ข้อความที่ 15  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 30 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 15

อสัตบุรุษ เมื่อปฏิญาณความเป็นสาวก ชื่อว่า ย่อมก้าวลงสู่ภูมิแห่งสัตบุรุษ. ท่านพระอานนท์ ย่อมยังจิตของท่านให้หลีกออกจากอสัทธรรม และให้จิตของท่านดำรงไว้ในพระสัทธรรม โดยทำนองนั้นเหมือนกัน เมื่อท่านแสดงว่า ก็พระดำรัสนี้ของพระผู้มีพระภาคเจ้า พระองค์นั้นนั่นแหละ ข้าพเจ้าได้ฟังมาอย่างเดียวเท่านั้น ดังนี้ ชื่อว่า ย่อมเปลื้องตนออก ย่อมแสดงอ้างพระศาสดา ย่อมยังพระดำรัสของพระชินเจ้าให้แนบสนิท ย่อมยังธรรมเนติให้ดำรงอยู่.

อีกอย่างหนึ่ง พระอานนท์ เมื่อไม่ปฏิญญา (ไม่รับรอง) ซึ่งความที่พระดำรัสของพระผู้มีพระภาคเจ้าว่าเป็นธรรมอันตนให้เกิดขึ้นได้เอง เปิดเผย การได้ฟังมาตั้งแต่เบื้องต้น ด้วยบทว่า เอวมฺเม สุตํ ดังนี้ ชื่อว่า ย่อมยังความไม่มีศรัทธาให้พินาศ ย่อมยังศรัทธาสมบัติในธรรมนี้ให้เกิดขึ้นแก่เทวดาและมนุษย์ทั้งปวงว่า พระดำรัสนี้ ข้าพเจ้าได้รับมาเฉพาะต่อพระพักตร์ของพระผู้มีพระภาคเจ้า ผู้แกล้วกล้าด้วยเวสารัชญาณ ๔ ผู้ทรงไว้ซึ่งทศพลญาณ ผู้ดำรงอยู่ในอาสภฐาน (ฐานะอันประเสริฐ) ผู้บันลือสีหนาท ผู้สูงสุดกว่าสรรพสัตว์ ผู้เป็นใหญ่ในธรรม ผู้เป็นธรรมราชา ผู้เป็นธรรมาธิบดี ผู้มีธรรมดังประทีป ผู้มีธรรมเป็นสรณะ ผู้ยังจักรอันประเสริฐ คือ พระธรรมให้เป็นไปทั่ว ผู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธะพระองค์นั้น ในพระดำรัสนี้ใครๆ ไม่ควรทำความสงสัย หรือเคลือบแคลงในอรรถในธรรม ในบทหรือในพยัญชนะ ดังนี้.

ด้วยเหตุนี้นั้น ท่านพระอรรถกถาจารย์จึงประพันธ์คำอันเป็นคาถาไว้ว่า

วินาสยติ อสฺสทฺธํ สทฺธํ วฑฺเฒติ สาสเน เอวมฺเม สุตมิจฺเจตํ วทํ โคตมสาวโก.

ท่านพระอานนท์ผู้เป็นสาวกของพระสมณโคดม กล่าวอย่างนี้ว่า ข้าพเจ้า

 
  ข้อความที่ 16  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 30 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 16

ได้ฟังมาแล้วอย่างนี้ นี้ชื่อว่า ย่อมยังความเป็นผู้ไม่มีศรัทธาให้พินาศ ย่อมยังศรัทธาสมบัติให้เจริญในพระพุทธศาสนา ดังนี้.

ว่าด้วย เอกํ สมยํ

บทว่า เอกํ แสดงการกำหนดจำนวน.

บทว่า สมยํ แสดงสมัย (คือ เวลา) ที่กำหนดไว้แล้ว.

บทว่า เอกํ สมยํ แสดงสมัยอันกำหนดไว้ไม่แน่นอน.

สมยศัพท์ ในบทว่า สมยํ นี้ ข้าพเจ้าเห็นใช้ในอรรถว่า ความพร้อมเพรียงกัน ในอรรถว่าขณะ ในอรรถว่ากาลเวลา ในอรรถว่าประชุม ในอรรถว่าเหตุและทิฏฐิ ในอรรถว่าได้เฉพาะ ในอรรถว่าละ ในอรรถว่าแทงตลอด.

จริงอย่างนั้น สมยศัพท์นี้ มีอรรถว่าพร้อมเพรียงกัน เช่นในประโยคว่า อปฺเปว นาม เสฺวปิ อุปสงฺกเมยฺยาม กาลญฺจ สมยญฺจ อุปาทาย ดังนี้เป็นต้น แปลว่า หากว่าพวกเราอาศัยกาลเวลา และความพร้อมเพรียงกันได้แล้ว ก็พึงเข้าไปในวันพรุ่งนี้.

สมยศัพท์ มีอรรถว่าขณะ เช่นในประโยคว่า เอโก จ โข ภิกฺขเว ขโณ จ สมโย จ พฺรหฺมจริยวาสาย เป็นต้น แปลว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็ขณะหนึ่ง สมัยหนึ่ง มีอยู่เพื่อการอยู่ประพฤติพรหมจรรย์.

สมยศัพท์ มีอรรถว่า กาลเวลา เช่นในประโยคว่า อุณฺหสมโย ปริฬาหสมโย เป็นต้น แปลว่า เวลาร้อน เวลากระวนกระวาย.

สมยศัพท์ มีอรรถว่าประชุม เช่นในประโยคว่า มหาสมโย ปวนสฺมิํ เป็นต้น แปลว่า ประชุมใหญ่ในป่าใหญ่.

 
  ข้อความที่ 17  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 30 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 17

สมยศัพท์ มีอรรถว่าเหตุ เช่นในประโยคว่า สมโยปิ โข เต... อปฺปฏิวิทฺโธ อโหสิ เป็นต้น แปลว่า ดูก่อนภัททาลิ แม้เหตุนี้แล ได้เป็นสมัยที่เธอยังมิได้แทงตลอดว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับ ณ กรุงสาวัตถี แม้พระผู้มีพระภาคเจ้าจักทรงทราบเราว่า ภิกษุชื่อ ภัททาลิ เป็นผู้ไม่กระทำให้บริบูรณ์ในสิกขาในศาสนาของพระศาสดา ดังนี้ ดูก่อนภัททาลิ เหตุแม้นี้แล ได้เป็นสมัยอันเธอไม่แทงตลอดแล้ว.

สมยศัพท์ มีอรรถว่าทิฏฐิ เช่นในประโยคว่า เตน โข ปน สมเยน... อาราเม ปฏิวสติ เป็นต้น แปลว่า ก็สมัยนั้นแล ปริพาชก ชื่อ อุคคาหมานะ เป็นบุตรนางสมณมุณฑิกา อยู่อาศัยในอารามของนางมัลลิกา อันมีศาลาหลังเดียว มีต้นมะพลับเรียงรายอยู่รอบ เป็นที่สนทนากันถึงเรื่องทิฏฐิ.

สมยศัพท์ มีอรรถว่าได้เฉพาะ เช่นในคำประพันธ์เป็นคาถาว่า

ทิฏฺเ ธมฺเม จ โย อตฺโถ โย จตฺโถ สมฺปรายิโก อตฺถาภิสมยา ธีโร ปณฺฑิโตติ ปวุจฺจติ

ผู้มีปัญญาเป็นเครื่องทรงจำ เรากล่าวว่าเป็นบัณฑิต เพราะการได้เฉพาะซึ่งประโยชน์ในทิฏฐธรรมและประโยชน์ที่เป็นไปในสัมปรายิกภพ.

สมยศัพท์ มีอรรถว่าละ เช่นในประโยคว่า สมฺมา มานาภิสมยา อนฺตมกาสิ ทุกฺขสฺส เป็นต้น แปลว่า ได้กระทำซึ่งที่สุดแห่งทุกข์แล้วเพราะละมานานุสัยได้โดยชอบ.

สมยศัพท์ มีอรรถว่าแทงตลอด เช่นในประโยคว่า ทุกฺขสฺส ปิฬนฏฺโ... อภิสมยฏฺโ เป็นต้น แปลว่า ทุกข์มีอรรถว่าบีบคั้น มีอรรถ

 
  ข้อความที่ 18  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 30 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 18

ว่าถูกปัจจัยปรุงแต่ง มีอรรถว่าเร่าร้อน มีอรรถว่าแปรปรวน มีอรรถว่าพึงแทงตลอด.

แต่ในปกรณ์นี้ สมยศัพท์ มีอรรถว่ากาลเวลา ด้วยเหตุนั้น ท่านพระอานนท์จึงแสดงว่า สมัยหนึ่ง บรรดาสมัยทั้งหลาย อันเป็นประเภทแห่งกาลเวลา มี ปี ฤดู เดือน กึ่งเดือน กลางคืน กลางวัน เช้า เที่ยง เย็น ปฐมยาม มัชฌิมยาม ปัจฉิมยาม และครู่หนึ่ง เป็นต้น.

ในคำว่า สมัยหนึ่ง นั้นในบรรดาสมัยทั้งหลายมีปีเป็นต้นเหล่านี้ พระสูตรใดๆ ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ในปี ในฤดู ในเดือน ในปักษ์ ในเวลาอันเป็นส่วนกลางคืน ในเวลาอันเป็นส่วนกลางวัน ใดๆ พระสูตรนั้นทั้งหมด ท่านพระอานนท์ทราบดีแล้ว กำหนดดีแล้วด้วยปัญญา แม้ก็จริงถึงอย่างนั้น ก็เพราะเมื่อพระเถระจะกล่าวอย่างนี้ว่า ข้าพเจ้าได้ฟังมาแล้วอย่างนี้ ในปีโน้น ในฤดูโน้น ในเดือนโน้น ในปักษ์โน้น ในกาลอันเป็นส่วนแห่งราตรีโน้น หรือว่าในกาลอันเป็นส่วนแห่งทิวาโน้น อย่างนี้ ใครๆ ก็ไม่อาจเพื่อทรงจำไว้ได้หรือแสดงได้ หรือว่าให้ผู้อื่นแสดงได้โดยง่ายเลย ทั้งจะต้องเป็นถ้อยคำที่ท่านต้องกล่าวมาก ฉะนั้น ท่านพระเถระจึงประมวลข้อความดังกล่าวแล้วนั้นไว้เพียงบทเดียวเท่านั้น ว่า สมัยหนึ่ง ดังนี้.

อีกอย่างหนึ่ง ท่านพระอานนท์ ย่อมแสดงถึงสมัยทั้งหลายของพระผู้มีพระภาคเจ้า ซึ่งมีประเภทแห่งกาลไว้มิใช่น้อย ตามที่ปรากฏแจ่มแจ้งในหมู่เทพยดาและมนุษย์ทั้งหลาย มีอาทิอย่างนี้ คือ

สมัยที่พระองค์เสด็จก้าวลงสู่พระครรภ์

สมัยที่พระองค์ประสูติ

สมัยที่พระองค์ทรงสลดพระหฤทัย

สมัยที่พระองค์เสด็จออกผนวช

 
  ข้อความที่ 19  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 30 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 19

สมัยที่พระองค์ทรงชนะพญามาร

สมัยที่พระองค์ตรัสรู้

สมัยที่พระองค์ประทับเป็นสุขในทิฏฐธรรม

สมัยที่พระองค์ตรัสเทศนา (๑)

สมัยที่พระองค์เสด็จดับขันธปรินิพพาน

บรรดาสมัยเหล่านั้น สมัยหนึ่ง กล่าวคือ สมัยที่ตรัสเทศนาไว้.

อนึ่ง บรรดาสมัยแห่งญาณกิจและกรุณากิจ สมัยแห่งพระกรุณากิจนี้ใด ในบรรดาสมัยที่ทรงปฏิบัติเพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่พระองค์และเพื่อแก่บุคคลอื่น สมัยแห่งการปฏิบัติเพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่บุคคลอื่นนี้ใด ในสมัยแห่งพระกรณียกิจทั้งสอง แก่ผู้ประชุม สมัยแห่งการทรงแสดงธรรมีกถานี้ใด ในบรรดาสมัยแห่งเทศนาและปฏิบัติ สมัยแห่งเทศนานี้ใด ท่านพระอานนท์กล่าวว่า "สมัยหนึ่ง" ดังนี้ หมายเอาสมัยใดสมัยหนึ่งในบรรดาสมัยเหล่านั้น.

ถามว่า ก็ในพระสูตรนี้ ท่านทำคำชี้แจงไว้ ด้วยทุติยาวิภัตติ ว่า เอกํ สมยํ ไม่เหมือนในพระอภิธรรมซึ่งทำไว้ ด้วยสัตตมีวิภัตติว่า ยสฺมิํ สมเย กามาวจรํ และบทแห่งสูตรอื่นนอกจากพระอภิธรรมนี้ ก็ทำนิเทศไว้ ด้วยภุมมวจนะว่า ยสฺมิํ สมเย ภิกฺขเว วิวิจฺเจว กาเมหิ แปลว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ในสมัยใด ภิกษุสงัดแล้วจากกามทั้งหลาย ส่วนในพระวินัยท่านทำนิเทศไว้ ด้วยตติยาวิภัตติว่า เตน สมเยน พุทฺโธ ภควา ดังนี้ เพราะเหตุไร.

ตอบว่า เพราะในพระอภิธรรม และพระวินัยมีอรรถเป็นเช่นนั้น แต่พระสูตรนี้มีอรรถเป็นอย่างอื่น.


(๑) บางแห่งแสดง สมัยที่ปลงพระชนมายุสังขารด้วย

 
  ข้อความที่ 20  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 30 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 20

จริงอยู่ ในบรรดา ๓ ปิฎกนั้น ในพระอภิธรรมปิฎก และบทแห่งสูตรอื่นแต่อภิธรรมนี้ สมยศัพท์ย่อมสำเร็จเนื้อความ มีอรรถแห่งอธิกรณะ และมีการกำหนดซึ่งภาวะ (สภาวธรรม) ด้วยภาวะเป็นอรรถ เพราะอธิกรณะมีอรรถเท่ากับสมยศัพท์ ซึ่งมีการเป็นอรรถ มีสมูหะเป็นอรรถ. สภาพแห่งธรรมทั้งหลายมีผัสสะเป็นต้น ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ในพระอภิธรรมและบทแห่งสูตรอื่นแต่อภิธรรมนี้ ท่านกำหนดไว้ด้วยภาวะแห่งสมยะ กล่าวคือ ขณะ สมวายะ (การประชุม) และเหตุ เพราะฉะนั้น เพื่อส่องอรรถนั้น ท่านจึงทำนิเทศไว้ในที่นี้ ด้วยภุมมวจนะ

แต่ในพระวินัย สมยศัพท์ ย่อมให้สำเร็จกิจ มีเหตุเป็นอรรถ และมีกรณะเป็นอรรถ

จริงอยู่ สมัยใด เป็นสมัยพระองค์ทรงบัญญัติสิกขาบท (พระวินัย) สมัยนั้น แม้พระสาวกทั้งหลายมีพระสารีบุตรเป็นต้น ก็พึงรู้ได้โดยยาก เพราะพระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อจะทรงบัญญัติสิกขาบททั้งหลาย โดยสมัยอันเป็นกาละ เป็นเหตุและเป็นกรณะนั้น ทรงพิจารณาอยู่ซึ่งเหตุแห่งการบัญญัติสิกขาบท ได้เสด็จประทับอยู่ในที่นั้นๆ เพราะฉะนั้น เพื่อส่องอรรถะนั้น ท่านจึงทำนิเทศสมยศัพท์ไว้ ด้วยกรณวจนะ ในพระวินัยนั้น.

ส่วนในพระสุตตันตะนี้ และในสูตรอื่นที่มีเรื่องเกิดขึ้นอย่างนี้ สมยศัพท์ ย่อมสำเร็จอรรถแห่งอัจจันตสังโยคะ ทุติยาวิภัตติ.

จริงอยู่ พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงแสดงพระสูตรนี้ หรือพระสูตรอื่นตลอดสมัยใด ได้เสด็จประทับอยู่ด้วยธรรมเป็นเครื่องอยู่ คือ พระกรุณาล่วงส่วนตลอดสมัยนั้นทีเดียว เพราะฉะนั้น เพื่อส่องความข้อนั้น ท่านจึงทำนิเทศไว้ ด้วยอุปโยควจนะ ทุติยาวิภัตติ ในพระสูตรนี้ ด้วยเหตุนี้นั้น ท่านจึงประพันธ์คำเป็นคาถาไว้ว่า

 
  ข้อความที่ 21  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 30 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 21

ตนฺตํ อตฺถมเวกฺขิตฺวา ภุมฺเมน กรเณน จ อญฺตฺร สมโย วุตฺโต อุปโยเคน โส อิธ

ท่านพิจารณาเนื้อความนั้นๆ แล้วจึงกล่าวสมยศัพท์ในที่อื่นๆ คือ ในพระอภิธรรมด้วยภุมมวจนะ (สัตตมีวิภัตติ) ในพระวินัยด้วยกรณวจนะ (ตติยาวิภัตติ) แต่ในพระสุตตันตะนี้ ท่านกล่าวสมยศัพท์ด้วยอุปโยควจนะ (ทุติยาวิภัตติ) ดังนี้

ส่วนพระโบราณาจารย์ทั้งหลาย พรรณนาไว้ว่า สมยศัพท์นี้ต่างกันแต่เพียงโวหารว่า ตสฺมิํ สมเย หรือว่า เตน สมเยน หรือว่า ตํ สมยํ เท่านั้น ในปิฎกทั้งสามนั้น สมยศัพท์ มีอรรถเป็นภุมมวจนะอย่างเดียวเท่านั้น เพราะเหตุนี้นั้น แม้จะกล่าวว่า เอกํ สมยํ ก็พึงทราบว่า มีอรรถเท่ากับ เอกสฺมิํ สมเย ดังนี้.

ว่าด้วยบท ภควา

บทว่า ภควา ได้แก่ ครู. เพราะบัณฑิตในโลกเรียกครูว่า ภควา.

จริงอยู่ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเป็นครูของสรรพสัตว์ทั้งหลาย เพราะความที่พระองค์เป็นผู้วิเศษสุดโดยคุณทั้งปวง เพราะฉะนั้น บัณฑิตพึงทราบคำว่า ภควา ดังนี้.

แม้พระโบราณาจารย์ทั้งหลายก็กล่าวว่า

ภควาติ วจนํ เสฏฺํ ภควาติ วจนมุตฺตมํ คุรุคารวยุตฺโต โส ภควา เตน วุจฺจติ

คำว่า ภควา เป็นคำประเสริฐสุด คำว่า ภควา เป็นคำสูงสุด พระผู้มีพระ-

 
  ข้อความที่ 22  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 30 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 22

ภาคเจ้าพระองค์นั้นควรแก่การเคารพโดยฐานครู เพราะเหตุนั้น พระองค์จึงทรงพระนามว่า ภควา ดังนี้.

อีกอย่างหนึ่ง บัณฑิตพึงทราบอรรถแห่งบทนั้นโดยพิสดาร ด้วยอำนาจแห่งคาถานี้ว่า

ภาคฺยวา ภคฺควา ยุตฺโต ภคฺเคหิ จ วิภตฺตวา ภตฺตวา วนฺตคมโน ภเวสุ ภควา ตโต.

พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น ทรงมีโชค ทรงหักกิเลสได้แล้ว ทรงประกอบด้วยภคธรรม ทรงจำแนกธรรม ทรงคบธรรม ทรงคายการไปในภพทั้งหลายแล้ว เหตุนั้น พระองค์ จึงทรงพระนามว่า ภควา ดังนี้.

ก็อรรถแห่งภควานั้น ข้าพเจ้ากล่าวไว้แล้ว ในนิเทศแห่งพุทธานุสสติในปกรณ์วิเศษ ชื่อว่า วิสุทธิมรรคนั่นเทียว.

ก็โดยลำดับแห่งถ้อยคำเพียงเท่านี้ พระอานนท์เมื่อแสดงธรรมตามที่ได้สดับมา ชื่อว่า ย่อมทำธรรมกายของพระผู้มีพระภาคเจ้าให้ประจักษ์ไว้ด้วยคำว่า เอวมฺเม สุตํ ในพระสูตรนี้ ด้วยคำนั้นแหละ ท่านพระอานนท์ชื่อว่าให้ประชาชนผู้กระวนกระวายเพราะไม่ได้เห็นพระบรมศาสดาให้เบาใจว่าปาพจน์ (คือพระธรรมวินัย) นี้มีพระบรมศาสดาล่วงไปแล้วหามิได้ พระธรรมวินัยนี้ เป็นพระบรมศาสดาของท่านทั้งหลายดังนี้.

ด้วยคำว่า เอกํ สมยํ ภควา ท่านพระอานนท์ เมื่อแสดงซึ่งความที่พระผู้มีพระภาคเจ้ามิได้ทรงมีอยู่ในสมัยนั้น ชื่อว่า ย่อมประกาศการปรินิพพานของรูปกาย ด้วยคำนั้นแหละ ท่านพระอานนท์ ชื่อว่า ยังประชาชน

 
  ข้อความที่ 23  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 30 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 23

ผู้มัวเมาในชีวิตให้เกิดการสลดใจ ทั้งให้ความอุตสาหะในพระสัทธรรมเกิดขึ้นแก่ประชาชนว่า แม้พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้นซึ่งมีพระวรกายเสมอด้วยแท่งเพชร ผู้ทรงกำลังสิบ ผู้แสดงอริยธรรมชื่ออย่างนี้ๆ ยังเสด็จดับขันธปรินิพพานได้ คนอื่นใครเล่าจะพึงมีความหวังในชีวิต ดังนี้.

อนึ่ง พระอานนท์ เมื่อกล่าวคำว่า เอวํ ชื่อว่า ย่อมแสดงถึงเทศนาสมบัติ เมื่อกล่าวว่า เม สุตํ ชื่อว่า ย่อมแสดงถึงสาวกสมบัติ เมื่อกล่าวว่า เอกํ สมยํ ชื่อว่า ย่อมแสดงถึงกาลสมบัติ เมื่อกล่าวคำว่า ภควา ชื่อว่าย่อมแสดงเทสกสมบัติ ดังนี้.

บทว่า สาวตฺถิยํ ได้แก่ ในพระนครอันมีชื่ออย่างนี้. ก็คำว่า สาวตฺถิยํ นี้เป็นสัตตมีวิภัตติ ลงในอรรถว่า ใกล้.

บทว่า วิหรติ เป็นคำแสดงถึงความพร้อมเพรียงด้วยวิหารธรรมอย่างใดอย่างหนึ่งในบรรดาอิริยาบถวิหาร ทิพยวิหาร พรหมวิหาร และอริยวิหาร โดยไม่แปลกกัน แต่ในที่นี้ คำว่า วิหรติ นี้เป็นคำแสดงถึงการประกอบด้วยอิริยาบถอย่างใดอย่างหนึ่ง ในบรรดาอิริยาบถทั้งหลาย ชนิดต่างๆ มีการยืน การเดิน การนั่ง และการนอน.

ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า ประทับยืนก็ดี เสด็จดำเนินไปก็ดี ประทับนั่งก็ดี บรรทมก็ดี บัณฑิต พึงทราบว่า ย่อมประทับอยู่นั่นแหละ.

จริงอยู่ พระองค์ทรงบำบัดความลำบากแห่งอิริยาบถอย่างหนึ่ง ด้วยอิริยาบถอย่างหนึ่ง ทรงนำอัตภาพไป คือ ให้เป็นไปมิให้ทรุดโทรม เพราะเหตุนั้น ท่านพระอานนท์จึงกล่าวว่า ย่อมประทับอยู่ ดังนี้.

บทว่า เชตวเน ได้แก่ ในอุทยานของพระราชกุมาร ทรงพระนามว่า เชต.

จริงอยู่ พระราชอุทยานนั้น พระราชกุมารพระองค์นั้นทรงสร้างให้เจริญดีแล้ว ด้วยเหตุนั้น พระราชอุทยานนี้ จึงชื่อว่า เชตวัน ฉะนั้น พระอานนท์ จึงกล่าวว่า ณ พระเชตวันนั้น ดังนี้.

บทว่า อนาถปิณฑิกสฺส อาราเม ความว่า ในพระอารามอันถึงการนับว่า เป็นของอนาถปิณฑิกคหบดี เพราะคหบดี ชื่อว่า อนาถปิณฑิกะมอบถวายแก่พระภิกษุสงฆ์ มีพระพุทธเจ้า

 
  ข้อความที่ 24  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 30 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 24

เป็นประมุข ด้วยการบริจาคเงินมีประมาณ ๕๔ โกฏิ.

ความสังเขปในพระสูตรนี้มีเพียงเท่านี้. ส่วนเนื้อความพิสดาร พระอรรถกถาจารย์พรรณนาไว้ในสัพพาสวสุตตวรรณนาในอรรถกถามัชฌิมนิกาย ชื่อ ปปัญจสูทนี.

ในข้อนี้ หากมีผู้ท้วงขึ้นว่า ถ้าว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ที่เมืองสาวัตถีก่อน พระเถระก็ไม่ควรจะพูดว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ที่พระเชตวัน ถ้าประทับอยู่ที่พระเชตวันก่อน ก็ไม่น่าจะพูดว่า ประทับอยู่ที่พระนครสาวัตถี ดังนี้ เพราะว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าไม่สามารถประทับอยู่ในสถานที่สองแห่งพร้อมๆ กันในเวลาเดียวกัน.

ตอบว่า ข้อนั้น ไม่พึงเห็นอย่างนั้น เพราะข้าพเจ้าได้กล่าวไว้แล้วมิใช่หรือว่า คำว่า สาวตฺถิยํ เป็นสัตตมีวิภัตติ ลงในอรรถว่าใกล้ ฉะนั้น ในที่แม้นี้ พระเชตวันนี้ใด อยู่ใกล้พระนครสาวัตถี พระผู้มีพระภาคเจ้าเมื่อประทับอยู่ในที่นั้น ท่านพระอานนท์ จึงกล่าวว่า สาวตฺถิยํ วิหรติ เชตวเน ซึ่งแปลว่า ประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวันใกล้พระนครสาวัตถี เปรียบเหมือนฝูงโคทั้งหลายเที่ยวไปใกล้แม่น้ำคงคาและแม่น้ำยมุนาเป็นต้น ชาวโลกย่อมเรียกว่า เที่ยวไปใกล้แม่น้ำคงคา เที่ยวไปใกล้แม่น้ำยมุนา ฉันนั้น.

จริงอยู่ คำว่า สาวตฺถี ท่านพระเถระกล่าวไว้เพื่อแสดงถึงโคจรคามของพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น คำที่เหลือ ท่านกล่าวเพื่อแสดงถึงสถานที่อยู่อาศัยอันสมควรแก่บรรพชิต.

บทว่า อญฺตรา เทวตา ได้แก่ เทพยดาองค์หนึ่ง ซึ่งมีชื่อและโคตรมิได้ปรากฏ.

ก็ในคำว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระผู้มีพระภาคเจ้าย่อมทรงทราบยิ่ง ซึ่งการบูชาของข้าพระองค์ พระองค์ได้ตรัสถึงวิมุตติอันเป็นธรรมสิ้นไปแห่งตัณหาแก่ยักษ์ผู้มีศักดาใหญ่ตนหนึ่ง ด้วยธรรมอันสังเขป ดังนี้ แม้ท้าวสักกเทวราช ผู้ปรากฏแล้วท่านก็กล่าวว่า อญฺตโร หมายถึง องค์หนึ่ง.

 
  ข้อความที่ 25  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 30 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 25

อนึ่ง คำว่า เทวตา นี้เป็นคำทั่วไปแก่เทวดาทั้งหลาย แม้แต่เทพธิดาทั้งหลาย แต่ในที่นี้ ท่านประสงค์เอาเทพบุตร. ก็เทพบุตรนั้นแล องค์ใดองค์หนึ่งในบรรดาชั้นรูปาวจรภูมิ.

ว่าด้วยอภิกกันตศัพท์

อภิกกันตศัพท์ ในบทว่า อภิกฺกนฺตาย รตฺติยา นี้ ปรากฏในอรรถว่า ความสิ้นไป ดี งาม ยินดี ยิ่งเป็นต้น.

ในบรรดาคำเหล่านั้น อภิกกันตศัพท์ ปรากฏในอรรถว่า สิ้นไป เช่นในประโยคมีอาทิอย่างนี้ว่า อภิกฺกนฺตา ภนฺเต รตฺติ นิกฺขนฺโต ปโม ยาโม จิรํ นิสินฺโน ภิกฺขุสํโฆ อุทฺทิสตุ ภนฺเต ภควา ภิกฺขูนํ ปาฏิโมกฺขํ แปลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ราตรีสิ้นไปแล้ว ปฐมยามล่วงไปแล้ว พระภิกษุสงฆ์นั่งแล้วสิ้นกาลนาน ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าจงแสดงปาฏิโมกข์แก่ภิกษุทั้งหลายเถิด.

อภิกกันตศัพท์ ในอรรถว่า ดี เช่นในประโยคที่มีอาทิอย่างนี้ว่า อยํ อิเมสํ จตุนฺนํ ปุคฺคลานํ อภิกฺกนฺตตโร ปณีตตโร จ แปลว่า บุคคลนี้ดีกว่า ประณีตกว่าบุคคลทั้ง ๔ เหล่านี้.

โก เม วนฺทติ ปาทานิ อิทฺธิยา ยสฺสา ชลํ อภิกฺกนฺเตน วณฺเณน สพฺพา โอภาสยํ ทิสา

ใครหนอ รุ่งเรืองด้วยฤทธิ์ด้วยยศ มีวรรณงดงาม ยังทิศทั้งปวงให้สว่างไสวอยู่ มาไหว้เท้าของเรา.

 
  ข้อความที่ 26  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 30 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 26

อภิกกันตศัพท์ ในอรรถว่า ยินดียิ่ง เช่นในประโยคมีอาทิอย่างนี้ว่า อภิกฺกนฺตํ โภ โคตมํ อภิกฺกนฺตํ โภ โคตมํ แปลว่า ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ น่ายินดียิ่ง ข้าแด่พระโคดมผู้เจริญ น่ายินดียิ่ง.

แต่ในที่นี้ อภิกกันตศัพท์ ใช้ในอรรถว่า สิ้นไป ด้วยคำนั้น ท่านจึงกล่าวว่า เมื่อราตรีสิ้นไปแล้ว สิ้นไปรอบแล้ว. ในข้อนั้น พึงทราบว่าเทวบุตรนี้มาแล้วในเวลาใกล้ที่สุดแห่งมัชฌิมยามทีเดียว.

ได้ยินว่า เทวดาทั้งหลาย เมื่อมาสู่ที่บำรุงของพระพุทธเจ้า หรือสาวกของพระพุทธเจ้า ย่อมมาในเวลามัชฌิมยามเท่านั้น นี้เป็นนิยามของเทวดาทั้งหลาย.

อภิกกันตศัพท์ ในคำว่า อภิกฺกนฺตวณฺณา นี้ ใช้ในอรรถว่า วรรณะงาม.

ว่าด้วยวัณณศัพท์

ก็วัณณศัพท์ ปรากฏในอรรถได้หลายอย่าง เช่น ในอรรถว่า ผิว คุณความดี กุลวัคคะ (ชาติ) เหตุ ทรวดทรง ขนาด รูปายตนะ เป็นต้น.

ในบรรดาอรรถเหล่านั้น วัณณศัพท์ ใช้ในอรรถว่า ผิว เช่นในประโยคมีอาทิอย่างนี้ว่า สุวณฺณวณฺโณ ภควา แปลว่า พระผู้มีพระภาคเจ้า มีผิวเพียงดังวรรณะแห่งทองคำ.

วัณณศัพท์ ในอรรถว่า คุณความดี (ถุติ) เช่นในประโยคมีอาทิอย่างนี้ว่า กทา สพฺยุณฺหา ปน เต คหปติ สมณสฺส โคตมสฺส วณฺณา แปลว่า ดูก่อนคหบดี ท่านประมวลคุณความดีของพระสมณโคดมมาไว้แต่เมื่อไร.

 
  ข้อความที่ 27  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 30 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 27

วัณณศัพท์ ในอรรถว่า ชาติ (กุลวคฺค) เช่นในประโยคที่มีอาทิอย่างนี้ว่า จตฺตาโร เม โภ โคตโม วณฺณา แปลว่า ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ชาติ ตระกูล สี่เหล่านี้.

วัณณศัพท์ ในอรรถว่า เหตุ (การณ) เช่นในประโยคมีอาทิอย่างนี้ว่า ในสังยุตตนิกายวนสังยุตว่า

อถ เกน นุ วณฺเณน คนฺธตฺเถโนติ วุจฺตติ แปลว่า เมื่อเป็นเช่นนี้ เหตุไรเล่า ท่านจึงกล่าวว่า ขโมยกลิ่น.

วัณณศัพท์ ในอรรถว่า ทรวดทรง (สณฺฐาน) เช่นในประโยคมีอาทิอย่างนี้ว่า มหนฺตํ หตฺถิราชวณฺณํ อภินิมฺมินิตฺวา แปลว่า นฤมิตทรวดทรงเป็นพระยาช้างใหญ่.

วัณณศัพท์ ในอรรถว่า ขนาด (ปมาณ) เช่นในประโยคมีอาทิอย่างนี้ว่า ตโยปตฺตลฺส วณฺณา แปลว่า ขนาดแห่งบาตร ๓ อย่าง.

วัณณศัพท์ ในอรรถว่า รูปายตนะ เช่นในประโยคมีอาทิอย่างนี้ว่า วณฺโณ คนฺโธ รโส โอชา แปลว่า สี กลิ่น รส โอชะ.

ในที่นี้ วัณณศัพท์นั้น ท่านใช้ในอรรถว่า ผิว ด้วยคำนั้นแหละ ท่านอธิบายว่า มีวรรณะงาม คือ ผิวงาม มีวรรณะน่าใคร่ มีวรรณะที่ชอบใจ.

จริงอยู่ เทวดาทั้งหลาย เมื่อมาสู่มนุษยโลก ละวรรณะที่มีอยู่ตามปกติและฤทธิ์ตามปกติแล้วทำอัตภาพให้หยาบ ทำวรรณะได้มากอย่าง ทั้งทำฤทธิ์ก็ได้หลายอย่าง เมื่อจะไปสู่สถานที่ทั้งหลาย มีสถานที่เป็นที่แสดงมหรสพ เป็นต้น ย่อมมาด้วยกายอันตนตกแต่งแล้ว. เทวดาทั้งหลายชั้นกามาวจร แม้มีกายอันตนมิได้ตกแต่งแล้ว ก็สามารถเพื่อจะมาในที่นั้นได้ ส่วนเทวดาชั้นรูปาวจร ไม่สามารถ. อัตภาพของเทวดาเหล่านั้นแม้ทั้งหมดเป็นกายละเอียดยิ่ง การ

 
  ข้อความที่ 28  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 30 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 28

สำเร็จกิจด้วยอิริยาบถโดยอัตภาพนั้นมีอยู่ ด้วยเหตุดังนั้น เทวบุตรนี้ จึงมาด้วยกายอันตนตกแต่งแล้วทีเดียว. เพราะฉะนั้น ท่านจึงกล่าวไว้ว่า อภิกฺกนฺตวณฺณา มีวรรณะงาม.

ว่าด้วยเกวลศัพท์

เกวลศัพท์ ในคำว่า เกวลกปฺปํ นี้ มีอรรถเป็นอเนก เช่นในอรรถว่า โดยไม่มีส่วนเหลือ โดยมาก ทั้งหมด ความมีไม่มาก มั่นคง การแยกออกจากกัน เป็นต้น.

จริงอย่างนั้น เกวลศัพท์ มีความหมายถึง ความไม่มีส่วนเหลือ เช่นในประโยคมีคำว่า เกวลปริปุณฺณํ ปริสุทฺธํ พฺรหฺมจริยํ เป็นต้น จงประกาศพรหมจรรย์ให้บริสุทธิ์บริบูรณ์โดยสิ้นเชิง.

เกวลศัพท์ มีความหมายว่า โดยมาก เช่นในประโยคมีคำว่า เกวลา องฺคมคธา ปหูตํ ขาทนียํ โภชนียํ อาทาย อุปสงฺกมิสฺสนฺติ เป็นต้น แปลว่า ถือเอาขาทนียะ และโภชนียะจากแคว้นอังคะและมคธโดยมาก เพียงพอแล้วจักเข้าไป.

เกวลศัพท์ มีความหมายถึงทั้งหมด เช่นในประโยคที่มีคำว่า เกวลสฺส ทุกฺขกฺขนฺธสฺส สมุทโย โหติ เป็นต้น แปลว่า สมุทัย ย่อมมีแก่กองทุกข์ทั้งมวล.

เกวลศัพท์ มีความหมายถึง ความมีไม่มาก เช่นในประโยคที่มีคำว่า เกวลํ สทฺธามตฺตกํ นนุ อยมายสฺมา เป็นต้น แปลว่า ท่านผู้มีอายุ ให้ธรรมสักว่า ศรัทธามีประมาณไม่มากเป็นไปมิใช่หรือ.

เกวลศัพท์ มีความหมายถึง ความต้องการอย่างมั่นคง เช่นในประโยคที่มีคำว่า อายสฺมโต อนุรุทฺธสฺส พาหิโก นาม สทฺธิวิหาริโก เกวลํ

 
  ข้อความที่ 29  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 30 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 29

สํฆเภทาย ิโต เป็นต้น แปลว่า ท่านพระอนุรุทธะ มีสัทธิวิหาริก ชื่อว่า พาหิกะ ตั้งอยู่มั่นคงในการทำลายสงฆ์.

เกวลศัพท์ มีความหมายถึง การแยกจากหมู่ เช่นในประโยคที่มีคำว่า เกวลี วุสิตฺวา อุตฺตมปุริโส วุจฺจติ แปลว่า อยู่แยกกัน ท่านกล่าวว่า เป็นอุตตมบุรุษ. แต่ในที่นี้ ท่านประสงค์เอาเกวลศัพท์ที่ใช้ในความหมายถึงความไม่มีส่วนเหลือ.

ว่าด้วยกัปปศัพท์

ก็กัปปศัพท์นี้ มีอรรถเป็นอเนก เช่นในอรรถว่า เชื่อมั่น หรือวางใจได้ ในอรรถว่าโวหาร ในอรรถว่ากาล ในอรรถว่าบัญญัติ ในอรรถว่าการตัดหรือโกน ในอรรถว่า วิกัปปะ (ประมาณหรือควร) ในอรรถว่า เลส (เลสนัย หรือข้ออ้างเล็กๆ น้อยๆ) ในอรรถว่าโดยรอบ เป็นต้น.

จริงอย่างนั้น กัปปศัพท์ที่ใช้ในอรรถว่า เชื่อมั่น เช่นในประโยคที่มีอาทิอย่างนี้ว่า โอกปฺปนียเมตํ โภโต โคตมสฺส ยถาตํ อรหโต สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส แปลว่า ข้อนั้นควรวางใจได้ว่า ท่านพระโคดมผู้เจริญเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า.

กัปปศัพท์ ที่ใช้ในอรรถว่า โวหาร (คำชี้แจง) เช่นในประโยคที่มีอาทิอย่างนี้ว่า อนุชานามิ ภิกฺขเว ปญฺจหิ สมณกปฺเปหิ ผลํ ปริภุญฺชิตุํ แปลว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตเพื่อการบริโภคผลโดยทำกัปปะของสมณะ ๕ อย่าง. (๑)


(๑) กัปปะ ๕ ในพระวินัยเรียกว่าทำกัปปิยะ คือ อคฺคิปริจิตํ ผลที่ลนไฟ ๒ สตฺถปริจิตํ ผลที่เจาะด้วยศาสตรา ๓ นขปริจิตํ ผลที่เจาะด้วยเล็บ ๔ อพีชํ ผลที่ไม่เป็นพืช ๕ นิพฺพฏฺพีชํ ผลที่เอาเม็ดออกแล้ว

 
  ข้อความที่ 30  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 30 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 30

กัปปศัพท์ ที่ใช้ในอรรถว่า กาล เช่นในประโยคที่มีอาทิอย่างนี้ว่า เยน สุทํ นิจฺจกปฺปํ วิหรามิ แปลว่า ทราบว่า เราจะอยู่ตลอดกาลเป็นนิตย์.

กัปปศัพท์ ที่ใช้ในอรรถว่า บัญญัติ (๑) เช่นในประโยคที่มีอาทิอย่างนี้ว่า อิจฺจายสฺมา กปฺโป แปลว่า ด้วยเหตุนี้ ท่านผู้มีอายุ จึงมีชื่อว่า กัปปะ.

กัปปศัพท์ ที่ใช้ในอรรถว่า โกนตัด เช่นในประโยคมีอาทิอย่างนี้ว่า อลงฺกตา กปฺปิตเกสมสฺสุ แปลว่า โกนผมและหนวดเสร็จแล้ว.

กัปปศัพท์ ที่ใช้ในอรรถว่า วิกัปปะ (ประมาณและควร) เช่นในประโยคมีอาทิอย่างนี้ว่า กปฺปติ ทฺวงฺคุลกปฺโป แปลว่า ประมาณพระอาทิตย์คล้อย ๒ องคุลี ก็ควร.

กัปปศัพท์ ที่ใช้ในอรรถว่า เลส (เหตุเล็กน้อย) เช่นในประโยคที่มีอาทิอย่างนี้ว่า อตฺถิ กปฺโป นิปชฺชิตุํ แปลว่า เหตุเล็กน้อย เพื่อจะเอนกายมีอยู่.

กัปปศัพท์ ที่ใช้ในอรรถว่า โดยรอบ เช่นในประโยคที่มีอาทิอย่างนี้ว่า เกวลกปฺปํ เวฬุวนํ โอภาเสตฺวา แปลว่า ยังพระเชตวันโดยรอบทั้งสิ้นให้สว่างไสวแล้ว.

แต่กัปปศัพท์ ในที่นี้ท่านประสงค์เอาในอรรถว่า โดยรอบ เพราะฉะนั้น ในคำว่า เกวลกปฺปํ เชตวนํ นี้ บัณฑิตพึงเห็นอย่างนี้ว่า ยังพระวิหารเชตวันโดยรอบทั้งสิ้น ดังนี้.

บทว่า โอภาเสตฺวา ได้แก่ แผ่ไปซึ่งรัศมีอันเกิดขึ้นจากผ้า เครื่องประดับและสรีระ กระทำให้มีรัศมีเดียวกัน ให้มีโอภาสเดียวกัน ดุจพระจันทร์และพระอาทิตย์.


(๑) หมายถึงนามบัญญัติ คือ การตั้งชื่อ

 
  ข้อความที่ 31  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 30 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 31

บทว่า เยน ในข้อว่า เยน ภควา เตนุปสงฺกมิ นี้ เป็นตติยาวิภัตติลงในอรรถแห่งสัตตมีวิภัตติ ฉะนั้น พึงทราบเนื้อความในที่นี้ว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ ที่ใด เทวบุตรนั้นก็เข้าไปเฝ้า ณ ที่นั้น ดังนี้.

อีกอย่างหนึ่ง พึงเห็นเนื้อความในที่นี้ อย่างนี้ว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าอันเทวดาและมนุษย์ทั้งหลายพึงเข้าไปเฝ้า ด้วยเหตุใด เทวบุตรนั้น ก็เข้าไปเฝ้าแล้ว ด้วยเหตุนั้น ดังนี้.

ถามว่า เพราะเหตุไร พระผู้มีพระภาคเจ้าอันเทวดาและมนุษย์ทั้งหลายพึงเข้าไปเฝ้า.

ตอบว่า เพราะท่านเหล่านั้นมีความประสงค์เพื่อจะบรรลุคุณวิเศษมีประการต่างๆ เปรียบเหมือนต้นไม้ใหญ่ที่ผลิตผลตลอดฤดูกาล อันฝูงนกทั้งหลายพากันไปยังต้นไม้นั้น ด้วยประสงค์จะจิกกินซึ่งผลมีรสอร่อยฉะนั้น.

อนึ่ง บทว่า อุปสงฺกมิ มีคำอธิบายว่า ไปแล้ว.

บทว่า อุปสงฺกมิตฺวา นี้เป็นบทแสดงถึงเวลาสิ้นสุดลงของเวลาเข้าเฝ้า.

อีกอย่างหนึ่ง ข้อนี้มีคำอธิบายว่า เทวบุตรนั้นไปแล้วอย่างนี้ คือ ไปสู่สถานที่ซึ่งใกล้กว่านั้น กล่าวคือ ที่ใกล้พระผู้มีพระภาคเจ้า ดังนี้ก็มี.

บัดนี้ เทวบุตรนั้น มาสู่ที่บำรุงแห่งบุคคลผู้เลิศในโลก ด้วยประโยชน์อันใด เป็นผู้ใคร่เพื่อทูลถามถึงประโยชน์อันนั้น จึงทำอัญชลีกรรมอันรุ่งเรืองแล้วด้วยอันประชุมแห่งเล็บทั้งสิบ นมัสการประดิษฐานไว้เหนือศีรษะแล้วได้ยืนอยู่ ณ ที่สมควรส่วนข้างหนึ่ง.

ศัพท์ว่า เอกมนฺตํ เป็นศัพท์แสดงภาวนปุงสกลิงค์ ดุจในคำทั้งหลาย มีคำว่า พระจันทร์และพระอาทิตย์หมุนเวียนไป มิได้สม่ำเสมอกัน เป็นต้น. เพราะฉะนั้น บัณฑิตพึงทราบเนื้อความในที่นี้ว่า เทวบุตรนั้น ได้ยืนอยู่แล้วโดยกิริยาที่ยืนอยู่แล้วนั้น ชื่อว่า ยืนอยู่แล้ว

 
  ข้อความที่ 32  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 30 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 32

ณ ที่สมควรส่วนข้างหนึ่ง.

อีกนัยหนึ่ง คำว่า เอกมนฺตํ นี้ เป็นทุติยาวิภัตติใช้ในอรรถแห่งสัตตมีวิภัตติ.

บทว่า อฏฺาสิ ได้แก่ ย่อมสำเร็จซึ่งอิริยาบถยืน.

จริงอยู่ เทวดาและมนุษย์ทั้งหลายผู้เป็นบัณฑิต เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าผู้ควรเคารพในฐานครู ย่อมยืนอยู่ ณ ที่สมควรส่วนข้างหนึ่ง เพราะความที่ตนเป็นผู้ฉลาดในการนั่ง. ก็เทวดานี้เป็นองค์ใดองค์หนึ่ง ในบรรดาผู้เป็นบัณฑิตเหล่านั้น เพราะฉะนั้น จึงได้ยืนอยู่ ณ ที่สมควรส่วนข้างหนึ่ง ดังนี้.

ถามว่า ก็ยืนอยู่อย่างไร จึงชื่อว่า ยืนอยู่ ณ ที่สมควรส่วนข้างหนึ่ง.

ตอบว่า เว้นโทษของการยืน ๖ อย่าง คือ

ยืนไกลเกินไป

ยืนใกล้เกินไป

ยืนเหนือลม

ยืนในที่สูง

ยืนตรงหน้าเกินไป

ยืนข้างหลังเกินไป

จริงอยู่ บุคคลผู้ยืนไกลเกินไปถ้าประสงค์จะพูด ก็จะต้องพูดเสียงดัง ถ้ายืนใกล้เกินไปย่อมจะเบียดเสียดกัน ถ้ายืนเหนือลมย่อมเดือดร้อนด้วยกลิ่นตัว ถ้ายืนในที่สูงย่อมประกาศถึงความไม่เคารพ ยืนตรงหน้าเกินไปถ้าประสงค์จะมองก็จะต้องจ้องตากัน ยืนข้างหลังเกินไป ถ้าใคร่จะเห็นหน้าก็จะต้องชะเง้อคอดู เพราะฉะนั้น แม้เทวบุตรนี้ ก็ยืนเว้นโทษ ๖ เหล่านี้ ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวไว้ว่า เอกมนฺตํ อฏฺาสิ แปลว่า ได้ยืนอยู่แล้ว ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง.

บทว่า เอตทโวจ แยกบทเป็น เอตํ อโวจ แปลว่า ได้กราบทูลคำนี้.

บทว่า กถํ นุ เป็นการณปุจฉา.

 
  ข้อความที่ 33  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 30 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 33

จริงอยู่ ความที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงข้ามโอฆะได้แล้วปรากฏแก่หมื่นโลกธาตุ ด้วยเหตุนั้น ความสงสัยของเทวดานี้ ในที่นี้ว่า ก็พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงข้ามโอฆะได้แล้วด้วยเหตุนี้ จะไม่ทรงทราบอะไรๆ ย่อมไม่มี ด้วยเหตุนั้น เทวดานั้น เมื่อจะทูลถามถึงเหตุที่ทรงข้ามโอฆะนั้น จึงกราบทูลอย่างนี้.

บทว่า มาริส นี้เป็นคำร้องเรียกด้วยถ้อยคำอันไพเราะ. อธิบายว่า ผู้ไม่มีทุกข์ ดังนี้ ผิว่าครั้นเมื่อความเป็นอย่างนั้นมีอยู่ เมื่อใด บุคคลถูกเสียบแทงหัวใจด้วยหลาว หรือเมื่อเราไหม้อยู่ในนรกสักพันปี ดังนี้ คำว่า มาริสะ นี้ย่อมคลาดเคลื่อนไป เพราะว่าสัตว์นรกที่ชื่อว่า ผู้ไม่มีทุกข์หามีไม่ สัตว์นรกเป็นผู้ไม่ปราศจากทุกข์ แม้ก็จริง ถึงอย่างนั้น ท่านก็เรียกว่า มาริส (ท่านผู้ไม่มีทุกข์) ด้วยเสียงของผู้เจริญแล้ว.

ได้ยินว่า ในกาลก่อนโวหารว่า มาริส นี้เป็นของมนุษย์ต้นกัลป์ ผู้ไม่มีทุกข์ ผู้สมบูรณ์ด้วยความสุข ต่อมาภายหลัง ความทุกข์จะมีหรือไม่ก็ตาม ท่านก็ยังเรียกคำนี้ด้วยเสียงของผู้เจริญแล้วนั่นแหละ เหมือนสระบัวทั้งหลาย ที่ไม่มีดอกบัวก็ดี ไม่มีน้ำก็ดี ท่านก็เรียกว่า สระบัวฉะนั้น.

โอฆะ ๔ ในพระบาลีว่า โอฆมตริ นี้คือ กาโมฆะ ภโวฆะ ทิฏโฐฆะ และอวิชโชฆะ. ในโอฆะเหล่านั้น ความยินดีพอใจ ในกามคุณ ๕ ชื่อว่ากาโมฆะ. ความยินดีพอใจในรูปารูปภพและความใคร่ในฌาน ชื่อว่า ภโวฆะ. ทิฏฐิ ๖๒ ชื่อว่า ทิฏโฐฆะ. ความไม่รู้ในสัจจะ ๔ ชื่อว่า อวิชโชฆะ.

ในบรรดาโอฆะ ๔ เหล่านั้น กาโมฆะ ย่อมเกิดขึ้นในจิตตุปบาทอันสหรคต ด้วยโลภะ ๘ ดวง. ภโวฆะ ย่อมเกิดขึ้นในจิตตุปบาทอันสหรคตด้วย

 
  ข้อความที่ 34  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 30 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 34

โลภทิฏฐิคตวิปปยุต ๔ ดวง. ทิฏโฐฆะ ย่อมเกิดขึ้นในจิตตุปบาทอันสัมปยุตด้วยทิฏฐิคตะ ๔ ดวง. อวิชโชฆะ ย่อมเกิดขึ้นในอกุศลทั้งปวง.

ก็ธรรมทั้งหมดนี้ ชื่อว่า โอฆะ เพราะอรรถว่าเป็นเหตุนำสัตว์ไปและเพราะอรรถว่าเป็นหมู่ใหญ่.

คำว่า เพราะอรรถว่าเป็นเหตุนำสัตว์ไป อธิบายว่า เป็นเหตุให้ตกไปในเบื้องต่ำ.

จริงอยู่ โอฆะนี้ย่อมยังสัตว์ทั้งหลายที่อยู่ในอำนาจของตนให้ตกไปในเบื้องต่ำ คือ ให้เกิดในทุคติต่างๆ มีนรกเป็นต้น อีกอย่างหนึ่ง เมื่อไม่ให้ไปในเบื้องบน คือ พระนิพพาน ย่อมให้ไปในเบื้องต่ำ คือ ในภพ ๓ กำเนิด ๔ คติ ๕ วิญญาณฐิติ ๗ และสัตตาวาส ๙ ดังนี้บ้าง.

คำว่า เพราะอรรถว่าเป็นหมู่ใหญ่ อธิบายว่า เพราะหมู่แห่งกิเลสนี้ใหญ่แผ่กระจายอำนาจไปตั้งแต่อเวจีมหานรกจนถึงภวัคคภูมิ หมู่แห่งกิเลสคือโอฆะนี้ใด ชื่อว่า มีความยินดีพอใจในกามคุณ ๕ แม้ในโอฆะที่เหลือก็นัยนี้แหละ. บัณฑิตพึงทราบกิเลสชื่อว่า โอฆะ เพราะอรรถว่าเป็นหมู่ใหญ่ด้วยประการฉะนี้.

บทว่า อตริ อธิบายว่า เทวบุตรนั้น ทูลถามว่า ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ พระองค์ข้ามโอฆะแม้ทั้ง ๔ นี้ด้วย อย่างไรหนอ ดังนี้.

ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อจะทรงวิสัชนาปัญหาของเทวดานั้น จึงตรัสคำ เป็นต้น ว่า อปฺปติฏฺํ ขฺวาหํ แปลว่า เราไม่พักอยู่เป็นต้น.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อปฺปติฏฺํ แก้เป็น อปฺปติฏฺหนฺโต แปลว่า ไม่พักอยู่.

บทว่า อนายูหํ แก้เป็น อนายูหนฺโต แปลว่า ไม่เพียรอยู่ คือ ไม่พยายามอยู่.

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสปัญหากระทำให้เป็นคำอันลี้ลับปิดบังแล้ว ด้วยประการฉะนี้.

แม้เทวดาก็ฟังคำอันเป็นภายนอกก่อน ธรรมดาว่า บุคคลผู้ข้ามโอฆะต้องยืนอยู่ในที่อันตนควรยืน ต้องพยายามในที่อันตนพึงข้ามจึงข้ามไปได้ แต่พระองค์ตรัสว่า เราไม่พักอยู่ ไม่เพียรอยู่ ข้ามได้แล้วซึ่งกองกิเลส คือ กิเลส

 
  ข้อความที่ 35  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 30 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 35

เพียงดังโอฆะ (ห้วงน้ำวน) อันแผ่ควบคุมไปตั้งแต่อเวจีนรกจนถึงภวัคคภูมิ ดังนี้ จิตของเขาก็จะแล่นไปสู่ความสงสัยว่า นั่นอะไรหนอ จึงชื่อว่า ไม่ทราบซึ่งอรรถแห่งปัญหา.

ถามว่า ก็พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงบำเพ็ญพระบารมีทั้งหลายแล้วแทงตลอดสัพพัญญุตญาณ เพื่อต้องการจะตรัสสิ่งที่สัตว์ยังมิได้รู้มิใช่หรือ.

ตอบว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าแทงตลอดสัพพัญญุตญาณ เพื่อทรงพระประสงค์จะตรัสคำเพียงเท่านี้หามิได้.

ก็เทศนาของพระผู้มีพระภาคเจ้ามี ๒ อย่าง คือ แสดงโดยนิคคหมุขะ และอนุคคหมุขะ.

ในบรรดา ๒ อย่างนั้น บุคคลเหล่าใดมีความถือตัวว่าเป็นบัณฑิต ย่อมสำคัญในสิ่งที่ตนยังไม่รู้ว่ารู้แล้ว ดุจพราหมณ์ ๕๐๐ ที่บวชเป็นบรรพชิต เพื่อข่มมานะของพราหมณ์และบรรพชิตเหล่านั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงทรงแสดงธรรมเช่นกับพระสูตรทั้งหลายมีมูลปริยายสูตรเป็นต้น นี้ชื่อว่า นิคคหมุขเทศนา.

พระดำรัสนี้ สมดังที่ตรัสไว้ว่า ดูก่อนอานนท์ เราจักกล่าวข่มบุคคลผู้ควรข่ม เราจักยกย่องบุคคลผู้ควรยกย่อง ภิกษุใดมีธรรมเป็นสาระ ภิกษุนั้นจักดำรงอยู่ดังนี้.

ส่วนชนเหล่าใด เป็นผู้ตรง ใคร่ต่อการศึกษา พระผู้มีพระภาคเจ้าย่อมแสดงธรรมแก่ชนเหล่านั้น กระทำให้เป็นผู้รู้ได้ง่าย เช่นในสูตรทั้งหลายมีอากังเขยยสูตรเป็นต้น ทั้งยังชนเหล่านั้นให้ปลอดโปร่งใจ เช่นในคำว่า ดูก่อนติสสะผู้ยินดียิ่ง ดูก่อนติสสะผู้ยินดียิ่ง... ด้วยโอวาทอันเรากล่าวแล้ว ด้วยการศึกษาอันเรากล่าวแล้ว ด้วยอนุสาสนีอันเรากล่าวแล้ว ดังนี้ นี้ชื่อว่า อนุคคหมุขเทศนา.

ก็เทวบุตรนี้มีมานะกระด้าง (มีความกระด้างด้วยการถือตัว) สำคัญตนว่าเป็นบัณฑิต. ได้ยินว่า เทวบุตรนั้นได้มีความคิดอย่างนี้ว่า เราย่อมรู้โอฆะ ย่อมรู้ซึ่งความที่พระตถาคตเจ้า ทรงข้ามโอฆะได้แล้ว แต่ว่าเรายังไม่รู้

 
  ข้อความที่ 36  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 30 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 36

เหตุเพียงเท่านี้ว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงข้ามโอฆะ ด้วยเหตุนี้ได้อย่างไร ดังนี้ เราจักรู้อรรถอันพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทราบนั่นแหละ คำใดน้อยหรือมากที่เรายังไม่รู้ เราจักรู้คำนั้นอันพระผู้มีพระภาคตรัสบอกแล้วทีเดียว เพราะว่าคำที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสอย่างไรนั้นเรายังไม่ทราบ ดังนี้.

ลำดับนั้น พระบรมศาสดา จึงตรัสปัญหาทำให้เป็นปัญหาซ่อนเร้น (คือเข้าใจยาก) ด้วยพระดำริว่า เทวบุตรนี้ยังไม่ละมานะนี้ ก็ไม่ควรเพื่อจะรับธรรมเทศนา เปรียบเหมือนผ้าที่ยังเศร้าหมอง (ยังไม่ซักให้สะอาด) ไม่ควรจะย้อมสี เราจักข่มมานะของเทวบุตรนี้ก่อน แล้วจักประกาศเนื้อความนั้นอีกแก่เธอโดยไม่มีจิตต่ำเช่นนี้ถามอยู่ ดังนี้.

แม้เทวบุตรนั้นก็ได้เป็นผู้มีมานะอันพระองค์นำออกแล้ว และเทศนานั้นพึงทราบโดยคำถามปัญหาให้ยิ่งขึ้นไป เพราะความที่เธอเป็นผู้มีมานะอันพระองค์นำออกแล้วนั่นแหละ ทั้งเนื้อความนี้ก็ได้เป็นประโยชน์แก่บุคคลผู้ถามปัญหา

เทวบุตรทูลถามว่า ข้าแด่พระองค์ผู้นิรทุกข์ ก็พระองค์ไม่พักไม่เพียรข้ามโอฆะได้อย่างไรเล่า ข้าพระองค์จะทราบได้โดยประการใด ขอพระองค์จงตรัสบอกแก่ข้าพระองค์โดยประการนั้นเถิด ดังนี้.

ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อจะตรัสตอบปัญหาแก่เทวบุตรนั้นจึงตรัสว่า ยทา สฺวาหํ เป็นต้น.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ยทา สฺวาหํ แก้เป็น ยสฺมิํ กาเล อหํ (แปลว่าในกาลใดเรา). สุอักษร เป็นเพียงนิบาต. ก็สุอักษรในที่นี้ฉันใด ในบททั้งปวงก็ฉันนั้น.

บทว่า สํสีทามิ ความว่า เมื่อเราไม่ข้ามก็จมอยู่ในที่นั้นนั่นแหละ.

บทว่า นิพฺพุยฺหามิ ความว่า เมื่อเราไม่อาจเพื่อดำรงอยู่ ก็ย่อมเป็นไปล่วงปัญหาแม้พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสแล้ว อย่างนี้ว่า เราไม่พักไม่เพียรข้ามโอฆะได้แล้ว ดังนี้ แม้จะเป็นปัญหาอันเทวดาทราบแล้วแต่ก็ไม่แจ่มแจ้ง เพราะเห็นโทษ คือ ความไม่เข้าใจในเพราะการหยุดอยู่และใน

 
  ข้อความที่ 37  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 30 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 37

ความพยายามเพื่อกระทำอรรถนั้นให้ปรากฏ ท่านจึงแสดงธรรมอันเป็นหมวดทุกะ ๗ หมวด.

จริงอยู่ ว่าด้วยอำนาจกิเลส เมื่อบุคคลพักอยู่ ชื่อว่า ย่อมจม.

ว่าด้วยอำนาจอภิสังขาร เมื่อบุคคลเพียร ชื่อว่า ย่อมลอย.

อีกอย่างหนึ่ง ว่าด้วยตัณหาและทิฏฐิ เมื่อบุคคลพักอยู่ ชื่อว่า ย่อมจม.

ว่าด้วยอำนาจแห่งกิเลสที่เหลือและอภิสังขารทั้งหลาย เมื่อบุคคลเพียร ชื่อว่า ย่อมลอย.

อีกอย่างหนึ่ง ว่าด้วยอำนาจแห่งตัณหา เมื่อบุคคลพักอยู่ ชื่อว่า ย่อมจม.

ว่าด้วยอำนาจแห่งทิฏฐิ เมื่อบุคคลเพียร ชื่อว่า ย่อมลอย.

อีกอย่างหนึ่ง ว่าด้วยสัสสตทิฏฐิ เมื่อบุคคลพักอยู่ ชื่อว่า ย่อมจม.

ว่าด้วยอุจเฉททิฏฐิ เมื่อบุคคลเพียรชื่อว่า ย่อมลอย เพราะว่าภวทิฏฐิ ยึดมั่นในมานะอันเฉื่อยชา แต่วิภวทิฏฐิยึดมั่นในการแล่นเลยไป.

อีกอย่างหนึ่ง ว่าด้วยอำนาจการติด (ลินะ) เมื่อพักอยู่ ชื่อว่า ย่อมจม.

ว่าด้วยอำนาจอุทธัจจะ เมื่อเพียร ชื่อว่า ย่อมลอย.

อนึ่ง ว่าด้วยกามสุขัลลิกานุโยค เมื่อบุคคลพักอยู่ ชื่อว่า ย่อมจม.

ว่าด้วยอัตตกิลมถานุโยค เมื่อเพียรชื่อว่า ย่อมลอย.

ว่าด้วยอำนาจแห่งอกุสลาภิสังขารทั้งหมด เมื่อบุคคลพักอยู่ ชื่อว่า ย่อมจม.

ว่าด้วยอำนาจแห่งกุสลาภิสังขารอันเป็นโลกีย์ทั้งหมด เมื่อบุคคลเพียร ชื่อว่า ย่อมลอย.

ข้อนี้สมจริงดังที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า

เสยฺยถาปิ จุนฺท เยเกจิ อกุสลา ธมฺมา สพฺเพ เต อโธ ภาคํ คมนียา เยเกจิ กุสลา ธมฺมา สพฺเพ เต อุปริ ภาคํ คมนียา ดังนี้ แปลว่า ดูก่อนจุนทะ อกุศลธรรมเหล่าใดเหล่าหนึ่งมีอยู่ อกุศลธรรมทั้งหมด

 
  ข้อความที่ 38  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 30 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 38

เหล่านั้น พึงส่งไปในเบื้องต่ำ กุศลธรรมเหล่าใดเหล่าหนึ่งมีอยู่ กุศลธรรมทั้งหมดเหล่านั้น พึงส่งไปในเบื้องบน.

เทวดาฟังวิสัชนาปัญหานี้แล้วดำรงอยู่ในโสดาปัตติผล เป็นผู้ยินดีแล้ว เลื่อมใสแล้ว ประกาศอยู่ซึ่งความยินดีและความเสื่อมใสของตนแล้ว จึงกล่าวคำเป็นคาถาว่า จิรสฺสํ วต เป็นต้น แปลว่า นานหนอ ข้าพเจ้าจึงจะเห็นขีณาสวพราหมณ์ ผู้ดับรอบแล้ว ไม่พักไม่เพียรอยู่ ข้ามตัณหาเป็นเครื่องเกาะเกี่ยวในโลก.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า จิรสฺสํ ความว่า โดยกาลอันล่วงไปแห่งกาลนาน.

ได้ยินว่า เทวดานี้เห็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่า กัสสปะ จำเดิมแต่พระองค์ปรินิพพานแล้ว ยังไม่เคยเห็นพระพุทธเจ้าพระองค์อื่นในระหว่างกาลอันยาวนานนี้ เพราะฉะนั้น ครั้นเห็นพระผู้มีพระภาคเจ้าในวันนี้จึงได้กราบทูลอย่างนี้.

ถามว่า ก็ในกาลก่อนแต่กาลนี้ เทวดาองค์นี้ ไม่เคยเห็นพระบรมศาสดา หรือ.

ตอบว่า เห็นหรือไม่เห็น จงยกไว้ เพราะอาศัยทัสสนะ (คือบรรลุโสดาปัตติมรรค) ก็สมควรจะกล่าวอย่างนี้.

บทว่า พฺราหฺมณํ ได้แก่ ขีณาสวพราหมณ์ ผู้มีบาปอันปิดกั้นแล้ว.

บทว่า ปรินิพฺพุตํ ได้แก่ ผู้ดับรอบแล้ว ด้วยการดับซึ่งกิเลส.

บทว่า โลเก ได้แก่ ในสัตว์โลก.

ในบทว่า วิสตฺติกํ นี้ ตัณหา ท่านเรียกว่าเครื่องเกาะเกี่ยว เพราะเหตุที่มีการพัวพันและความอยากในอารมณ์ทั้งหลาย มีรูปารมณ์เป็นต้น อธิบายว่าเทวดากราบทูลว่า นานหนอ ข้าพระองค์จึงจะเห็นขีณาสวพราหมณ์ ผู้ไม่พักไม่เพียรอยู่ ผู้ข้ามได้แล้ว ผ่านพ้นไปแล้ว คือ รื้อถอนออกแล้วซึ่งตัณหาอันเป็นเครื่องเกาะเกี่ยวนั้น ดังนี้.

บทว่า สมนุญฺ-

 
  ข้อความที่ 39  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 30 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 39

โ สตฺถา อโหสิ ความว่า พระศาสดาทรงชื่นชมถ้อยคำของเทวดาผู้มีอัชฌาศัยอันแน่วแน่ ด้วยพระทัยเท่านั้น.

บทว่า อนฺตรธายิ ความว่า เทวดานั้นละกายอันตนตกแต่งแล้วดำรงอยู่ในกาย อันเป็นอุปาทินนกะตามปกติของตนเพราะมีความหวังอันสำเร็จแล้ว มีที่พึ่งอันได้แล้ว ได้บูชาพระทศพล ด้วยของหอมทั้งหลาย และพวงดอกไม้ทั้งหลาย แล้วกลับไปสู่พิภพของตน ดังนี้แล.

จบอรรถกถาโอฆตรณสูตรที่ ๑