พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๕. กติฉินทิสูตร

 
บ้านธัมมะ
วันที่  28 ส.ค. 2564
หมายเลข  36166
อ่าน  496

[เล่มที่ 24] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 52

๕. กติฉินทิสูตร


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 24]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 30 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 52

๕. กติฉินทิสูตร

[๑๑] เทวดานั้น ครั้นยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้วแล ได้กราบทูลถามพระผู้มีพระภาคเจ้าด้วยคาถานี้ว่า

บุคคลควรตัดเท่าไร ควรละเท่าไร ควรบำเพ็ญคุณอันยิ่งเท่าไร ภิกษุล่วงธรรมเครื่องข้องเท่าไร พระองค์จึงตรัสว่าเป็นผู้ข้ามโอฆะแล้ว.

[๑๒] พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า

บุคคลควรตัดสังโยชน์เป็นส่วนเบื้องต่ำ ๕ อย่าง ควรละสังโยชน์เป็นส่วนเบื้องบน ๕ อย่าง ควรบำเพ็ญอินทรีย์อันยิ่ง ๕ อย่าง ภิกษุล่วงธรรมเป็นเครื่องข้อง ๕ อย่าง เรากล่าวว่าเป็นผู้ข้ามโอฆะแล้ว.

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 30 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 53

อรรถกถากติฉินทิสูตร

พึงทราบวินิจฉัยในสูตรที่ ๕ ต่อไป :-

บทว่า กติ ฉินฺเท ได้แก่ บุคคลเมื่อตัดควรตัดเท่าไร.

แม้ในบทที่เหลือก็นัยนี้.

ก็ในบทว่า ฉินฺเท ชเห นี้ว่าโดยอรรถเป็นอย่างเดียวกัน. เทวดานี้เมื่อเว้นถ้อยคำที่ซ้ำๆ ก็เพื่อเป็นประโยชน์แก่การประพันธ์คาถา จึงได้กล่าวแล้วอย่างนี้.

บทว่า กติ สงฺคาติโต แปลว่า ภิกษุก้าวล่วงธรรมอันเป็นเครื่องข้องเท่าไร.

พระบาลีว่า สงฺคาติโก บ้าง. มีเนื้อความอย่างนี้เหมือนกัน.

บทว่า ปญฺจ ฉินฺเท ได้แก่ เมื่อตัดควรตัดโอรัมภาคิยสังโยชน์ ๕ อย่าง.

บทว่า ปญฺจ ชเห ได้แก่ เมื่อละควรละอุทธัมภาคิยสังโยชน์ ๕ อย่าง การตัดและการละแม้ในที่นี้ เมื่อว่าโดยอรรถก็เป็นอย่างเดียวกัน แต่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสอย่างนี้ก็เพราะให้เหมาะสมกับถ้อยคำอันเทวดาอ้างมา.

อีกอย่างหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าย่อมตรัสว่า โอรัมภาคิยสังโยชน์ ๕ เป็นเครื่องฉุดคร่า ให้ตกไปในเบื้องต่ำ เหมือนกับก้อนหินที่เขาผูกเท้าไว้จะพึงตัดสังโยชน์นั้นได้ด้วยพระอนาคามิมรรค ดังนี้ และตรัสว่า อุทธัมภาคิยสังโยชน์ ๕ ซึ่งฉุดคร่าไว้เบื้องบน เหมือนกับกิ่งไม้ที่บุคคลใช้มือจับไว้จะพึงละสังโยชน์นั้นได้ด้วยพระอรหัตตมรรค ดังนี้.

บทว่า ปญฺจ วุตฺตริภาวเย ความว่า เมื่อเจริญคุณวิเศษให้ยิ่ง คือ ให้มากกว่า เพื่อต้องการตัดและเพื่อต้องการละสังโยชน์เหล่านั้น ควรเจริญอินทรีย์ทั้งหลาย มีศรัทธาเป็นที่ ๕.

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 30 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 54

บทว่า ปญฺจสงฺคาติโต ความว่า ก้าวล่วงแล้วซึ่งธรรมเป็นเครื่องข้อง ๕ เหล่านี้ คือ เครื่องข้องคือราคะ เครื่องข้องคือโทสะ เครื่องข้องคือโมหะ เครื่องข้องคือมานะ เครื่องข้องคือทิฏฐิ.

บทว่า โอฆติณฺโณติ วุจฺจติ เขากล่าวว่า ข้ามโอฆะทั้ง ๕ ได้แล้ว แต่ในพระคาถานี้ กล่าวถึงอินทรีย์ ๕ ซึ่งเป็นทั้งโลกิยะ และโลกุตตระ ดังนี้แล.

จบอรรถกถากติฉินทิสูตรที่ ๕