พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๙. มานกามสูตร

 
บ้านธัมมะ
วันที่  28 ส.ค. 2564
หมายเลข  36170
อ่าน  566

[เล่มที่ 24] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 62

๙. มานกามสูตร


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 24]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 30 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 62

๙. มานกามสูตร

[๑๙] เทวดานั้น ครั้นยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้วแล ได้กล่าวคาถานี้ในสำนักพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า

ทมะย่อมไม่มีแก่บุคคลที่ปรารถนามานะ ความรู้ย่อมไม่มีแก่บุคคลที่มีจิตไม่ตั้งมั่น บุคคลผู้เดียว เมื่ออยู่ในป่า ประมาทแล้ว ไม่พึงข้ามพ้นฝั่งแห่งเตภูมิกวัฏอันเป็นที่ตั้งแห่งมัจจุได้.

[๒๐] พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า

บุคคลละมานะแล้ว มีจิตตั้งมั่นดีแล้ว มีจิตดี พ้นในธรรมทั้งปวงแล้ว เป็นผู้เดียว เมื่ออยู่ในป่า ไม่ประมาทแล้ว บุคคลนั้นพึงข้ามฝั่งแห่งเตภูมิกวัฏเป็นที่ตั้งแห่งมัจจุได้.

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 30 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 63

อรรถกถามานกามสูตร

พึงทราบวินิจฉัยในสูตรที่ ๙ ต่อไป :-

บทว่า มานกามสฺส ได้แก่ บุคคลผู้ใคร่อยู่ คือ ปรารถนาอยู่ซึ่งมานะ.

บทว่า ทโม อธิบายว่า เทวดาย่อมกล่าวว่า ทมะอันเป็นไปในฝ่ายสมาธิ ย่อมไม่มีแก่บุคคลผู้เห็นปานนี้.

ก็ในบทว่า สจฺเจน ทนฺโต ทมสา อุเปโต เวทนฺตคู วิสิตพฺรหฺมจริโย แปลว่า บุคคลผู้ฝึกฝนแล้วด้วยสัจจะ ผู้เข้าถึงแล้วด้วยทมะ ผู้ถึงที่สุดแห่งเวท ผู้อยู่จบพรหมจรรย์ ดังนี้ ท่านเรียก อินทรีย์ ว่า ทมะ.

ในบทว่า ยทิ สจฺจา ทมา จาคา ขนฺตยา ภิยฺโยธ วิชฺชติ แปลว่า ผิว่า จะมีธรรมอื่นยิ่งกว่า สัจจะ ทมะ จาคะ ขันติ ในโลกนี้ ดังนี้ ท่านเรียก ปัญญา ว่า ทมะ.

ในคำนี้ว่า ทาเนน ทเมน สํยเมน สจฺจวาเทน อตฺถิ ปุญฺํ อตฺถิ ปุญฺสฺส อาคโม แปลว่า บุญมีอยู่ การมาถึงแห่งบุญย่อมมี ด้วยทาน ด้วยทมะ ด้วยสังยมะ ด้วยสัจจวาจา ดังนี้ ท่านเรียก อุโบสถกรรม ว่า ทมะ.

ในคำว่า สกฺขิสฺสสิ โข ตฺวํ ปุณฺณ อิมินา ทมูปสเมน สมนฺนาคโต สุนาปรนฺตสฺมิํ ชนปเท วิหริตุํ แปลว่า ดูก่อนปุณณะ เธอเป็นผู้ประกอบด้วยความอดทนด้วยความสงบนี้แล้ว จักอาจเพื่ออยู่ในชนบทสุนาปรันตะ ดังนี้ ท่านเรียก อธิวาสนขันติ ว่า ทมะ.

แต่คำว่า ทมะ ในพระสูตรนี้ เป็นชื่อของธรรมอันเป็นฝ่ายสมาธิ เพราะเหตุนั้น เทวดาจึงกล่าวว่า น โมนมตฺถิ อสมาหิตสฺส แปลว่า ความรู้ย่อมไม่มีแก่ผู้มีจิตไม่ตั้งมั่น.

ในบทเหล่านั้น บทว่า โมนํ ได้แก่

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 30 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 64

ญาณในมรรค ๔.

จริงอยู่ ญาณในมรรค ๔ นั้น ญาณใด ย่อมรู้ เหตุนั้น ญาณนั้น จึงชื่อว่า โมนะ อธิบายว่า ย่อมรู้สัจจธรรม ๔.

บทว่า มจฺจุเธยฺยสฺส ได้แก่ วัฏฏะอันเป็นไปในภูมิ ๓.

จริงอยู่ วัฏฏะอันเป็นไปในภูมิ ๓ นั้นท่านเรียกว่า มัจจุเธยยะ เพราะอรรถว่า เป็นที่ตั้งแห่งความตาย.

บทว่า ปารํ ได้แก่ ฝั่ง (นิพพาน) คือ ที่ดับแห่งเตภูมิกวัฏนั้นแล.

บทว่า ตเรยฺย ได้แก่ พึงแทงตลอด หรือพึงถึง.

คำนี้ ท่านกล่าวไว้ว่าบุคคลผู้เดียวเมื่ออยู่ในป่า ประมาทแล้ว ไม่พึงข้ามพ้น ไม่พึงแทงตลอด ไม่พึงถึงฝั่งแห่งเตภูมิกวัฏอันเป็นที่ตั้งแห่งมัจจุได้.

ในบทว่า มานํ ปหาย ได้แก่ ละมานะ ๙ อย่าง ด้วยพระอรหัตตมรรค.

บทว่า สุสมาหิตตฺโต ได้แก่ มีจิตตั้งมั่นดีแล้วด้วยอุปจารสมาธิ และอัปปนาสมาธิ.

บทว่า สุเจตโส ได้แก่ จิตที่ดีสัมปยุตแล้วด้วยญาณ อธิบายว่า จริงอยู่ ท่านไม่เรียกว่า ผู้มีจิตดีโดยปราศจากญาณ เพราะฉะนั้น ผู้นั้น จึงชื่อว่า มีจิตดี เพราะประกอบด้วยญาณ.

บทว่า สพฺพธิ วิปฺปมุตฺโต ความว่า พ้นไปแล้วในธรรมทั้งปวง มีขันธ์ และอายตนะ เป็นต้น.

ในคำว่า ตเรยฺย นี้ ท่านกล่าวว่า เมื่อก้าวล่วงเตภูมิกวัฏ แทงตลอดถึงพระนิพพานข้ามไป ดังนี้ จึงชื่อว่า การข้ามพ้นด้วยการแทงตลอด.

เพราะเหตุนี้ สิกขา ๓ เป็นอันท่านกล่าวแล้วด้วยคาถานี้.

อย่างไร คือ ขึ้นชื่อว่ามานะ นี้ เป็นเครื่องทำลายศีล เพราะฉะนั้น ท่านจึงกล่าวถึงอธิศีลสิกขาด้วยคำว่า มานํ ปหาย แปลว่า ละมานะแล้ว.

ท่านกล่าวอธิจิตตสิกขาด้วยคำว่า สุสมาหิตตฺโต แปลว่า มีจิตตั้งมั่นดีแล้ว.

ท่านแสดงปัญญาไว้ด้วยจิตตศัพท์ ในคำว่า สุเจตโส นี้ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า แสดงอธิปัญญาสิกขา ด้วยคำว่า สุเจตโส นี้.

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 30 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 65

เมื่อศีลมี ก็ชื่อว่ามีอธิศีล เมื่อจิตมีก็ชื่อว่ามีอธิจิต เมื่อปัญญามีก็ชื่อว่ามีอธิปัญญา เพราะฉะนั้น ศีล ๕ ก็ดี ศีล ๑๐ ก็ดี จึงชื่อว่าศีล ในที่นี้. ปาฏิโมกขสังวร พึงทราบว่าชื่อว่า อธิศีล. สมาบัติ ๘ ชื่อว่า จิต. ฌานอันเป็นบาทแห่งวิปัสสนา ชื่อว่า อธิจิต. กัมมัสสกตญาณ ชื่อว่า ปัญญา. วิปัสสนาชื่อว่า อธิปัญญา.

จริงอยู่ ศีลที่เป็นไปในกาลที่พระพุทธเจ้ายังไม่เกิด ฉะนั้น ศีล ๕ ศีล ๑๐ ชื่อว่า ศีลเท่านั้น. ปาฏิโมกขสังวรศีลย่อมเป็นไปในกาลที่พุทธเจ้าทรงอุบัติขึ้น ฉะนั้น จึงชื่อว่า อธิศีล. แม้ในจิตและปัญญา ก็นัยนี้เหมือนกัน.

อีกอย่างหนึ่ง แม้ศีล ๕ ศีล ๑๐ อันผู้ปรารถนาพระนิพพาน สมาทานแล้วก็ชื่อว่า อธิศีลเหมือนกัน. แม้สมาบัติ ๘ ที่เข้าถึงแล้ว ก็ชื่อว่า อธิจิตเหมือนกัน.

หรือว่า โลกียศีลทั้งหมด ชื่อว่า ศีล เหมือนกัน โลกุตรศีลชื่อว่า อธิศีล. แม้ในจิตและปัญญา ก็นัยนี้เหมือนกัน.

ท่านประมวลสิกขา ๓ มากล่าวศาสนธรรมทั้งสิ้นไว้ ด้วยพระคาถานี้ ด้วยประการฉะนี้แล.

จบอรรถกถามานกามสูตรที่ ๙