พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๙. กุฏิกาสูตร ว่าด้วยมารดาเหมือนกระท่อมเป็นต้น

 
บ้านธัมมะ
วันที่  28 ส.ค. 2564
หมายเลข  36180
อ่าน  484

[เล่มที่ 24] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 97

๙. กุฏิกาสูตร

ว่าด้วยมารดาเหมือนกระท่อมเป็นต้น


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 24]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 30 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 97

๙. กุฏิกาสูตร

ว่าด้วยมารดาเหมือนกระท่อมเป็นต้น

[๔๐] เทวดากล่าวว่า

กระท่อมของท่านไม่มีหรือ รังของท่านไม่มีหรือ เครื่องสืบต่อของท่านไม่มีหรือ ท่านเป็นผู้พ้นแล้วจากเครื่องผูกหรือ.

[๔๑] พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า

แน่ละ กระท่อมของเราไม่มี แน่ละ รังของเราไม่มี แน่ละ เครื่องสืบต่อของเราไม่มี แน่ละ เราเป็นผู้พ้นแล้วจากเครื่องผูก.

[๔๒] เทวดากล่าวว่า

ข้าพเจ้ากล่าวแก่ท่านว่า อะไรเป็นกระท่อม ข้าพเจ้ากล่าวแก่ท่านว่าอะไรเป็นรัง ข้าพเจ้ากล่าวแก่ท่านว่าอะไรเป็นเครื่องสืบต่อ ข้าพเจ้ากล่าวแก่ท่านว่าอะไรเป็นเครื่องผูก.

[๔๓] พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า

ท่านกล่าวมารดาว่าเป็นกระท่อม ท่านกล่าวภรรยาว่าเป็นรัง ท่านกล่าวบุตรว่าเป็นเครื่องสืบต่อ ท่านกล่าวตัณหาว่าเป็นเครื่องผูกแก่เรา.

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 30 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 98

เทวดาฟังพระดำรัสแล้วชื่นชม อนุโมทนาว่า

ดีจริง กระท่อมของท่านไม่มี ดีจริง รังของท่านไม่มี ดีจริง เครื่องสืบต่อของท่านไม่มี ดีจริง ท่านเป็นผู้พ้นแล้วจากเครื่องผูก.

อรรถกถากุฏิกาสูตร

วินิจฉัยในกุฏิกาสูตรที่ ๙ ต่อไป :-

บทว่า กจฺจิ เต กุฏิกา เป็นต้น อธิบายว่า เทวดานี้ประมวลปัญหาเหล่านี้มาผูกเป็นคาถาโดยกระทำมารดาให้เป็นดังกระท่อม เพราะหมายเอาการอยู่ในท้อง ๑๐ เดือน กระทำภรรยาให้เป็นดังรัง (รังนก) ด้วยอำนาจแห่งความอาลัย เหมือนพวกนกเที่ยวหาอาหารตลอดวันแล้วก็มาเกาะอยู่ในรังในเวลาราตรี ฉันใด สัตว์ทั้งหลาย ก็ฉันนั้นเหมือนกัน แม้จะไปในที่นั้นๆ แล้วก็ย่อมมาสู่สำนักแห่งมาตุคาม กระทำบุตรทั้งหลายให้เป็นดังเครื่องสืบต่อ เพราะหมายเอาการสืบต่อตระกูลและประเพณี แล้วจึงทูลถามกะพระผู้มีพระภาคเจ้า.

แม้พระผู้มีพระภาคเจ้าเมื่อจะทรงวิสัชนาปัญหาแก่เทวดานั้น จึงตรัสคำว่า ตคฺฆ เป็นต้น แปลว่า แน่ละ กระท่อมของเราไม่มี แน่ละ รังของเราไม่มี แน่ละ เครื่องสืบต่อของเราไม่มี แน่ละ เราเป็นผู้พ้นแล้วจากเครื่องผูก.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ตคฺฆ เป็นนิบาต ในคำโดยส่วนเดียว.

บทว่า นตฺถิ ได้แก่ ละได้แล้ว เพราะความที่เราเป็นบรรพชิต อีกอย่างหนึ่งชื่อว่า ไม่มี เพราะไม่มีการอยู่ในท้องของมารดาในวัฏฏะอีก ไม่มีการเลี้ยงดู

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 30 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 99

ภรรยา ไม่มีการเกิดขึ้นแห่งบุตร.

เทวดาดำริว่า ปัญหาอันไม่เปิดเผยที่เราผูกดุจมัดไว้แล้วทูลถาม และสมณะนี้ก็วิสัชนาปัญหาสักว่าอันเราถามแล้วทีเดียว พระองค์จะทรงทราบอยู่ซึ่งอัธยาศัยของเราหรือไม่หนอ จึงตรัสแก้แล้ว หรือว่าพระองค์ไม่ทรงทราบคำอย่างใดอย่างหนึ่ง ตรัสแล้วเพียงคล่องปาก ดังนี้ จึงกล่าวคำว่า กินฺตาหํ เป็นต้นอีก.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า กินฺตาหํ แก้เป็น กิํ เต อหํ แปลว่า ข้าพเจ้ากล่าวกะท่านว่าอะไร.

ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อจะตรัสบอกแก่เทวดานั้น จึงตรัสคำว่า มาตรํ เป็นต้น แปลว่า ท่านกล่าวมารดาว่าเป็นกระท่อม ท่านกล่าวภรรยาว่าเป็นรัง ท่านกล่าวบุตรว่าเป็นเครื่องสืบต่อ ท่านกล่าวตัณหาว่าเป็นเครื่องผูกแก่เรา.

เทวดาฟังพระดำรัสนั้นแล้วยินดีชื่นชมอนุโมทนาด้วยคาถาว่า สาหุ เต เป็นต้น แปลว่า ดีจริง กระท่อมของท่านไม่มี ดีจริง รังของท่านไม่มี ดีจริง เครื่องสืบต่อของท่านไม่มี ดีจริง ท่านเป็นผู้พ้นแล้วจากเครื่องผูก ดังนี้ร่าเริงยินดีแล้วบูชาพระผู้มีพระภาคเจ้าด้วยของหอมและดอกไม้ทั้งหลายแล้วไปสู่เทวสถาน ดังนี้แล.

จบอรรถกถากุฏิกาสูตรที่ ๙