พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๑. สัตติสูตร ผู้ปฏิบัติควรทําตัวเหมือนถูกหอก

 
บ้านธัมมะ
วันที่  28 ส.ค. 2564
หมายเลข  36182
อ่าน  645

[เล่มที่ 24] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 123

สัตติวรรคที่ ๓

๑. สัตติสูตร

ผู้ปฏิบัติควรทําตัวเหมือนถูกหอก


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 24]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 30 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 123

สัตติวรรคที่ ๓

๑. สัตติสูตร

ผู้ปฏิบัติควรทำตัวเหมือนถูกหอก

[๕๖] เทวดานั้น ครั้นยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้ว ได้กล่าวคาถานี้ ในสำนักพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า

ภิกษุพึงมีสติ เว้นรอบเพื่อการละกามราคะ เหมือนบุรุษที่ถูกประหารด้วยหอกมุ่งถอนเสีย และเหมือนบุรุษที่ถูกไฟไหม้บนศีรษะ มุ่งดับไฟ ฉะนั้น.

[๕๗] พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสพระคาถาว่า

ภิกษุพึงมีสติ เว้นรอบเพื่ออันละสักกายทิฏฐิ เหมือนบุรุษถูกประหารด้วยหอก และเหมือนบุรุษที่ถูกไฟไหม้บนศีรษะ.

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 30 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 124

อรรถกถาสัตติสูตร

พึงทราบวินิจฉัยในสัตติสูตรที่ ๑ แห่งสัตติวรรคที่ ๓ ต่อไป :-

บทว่า สตฺติยา นี้เป็นหัวข้อแห่งเทศนา. อธิบายว่า ด้วยศัสตรามีคมข้างเดียวเป็นต้น.

บทว่า โอมฏฺโ แปลว่า ถูกประหารแล้ว.

จริงอยู่เครื่องประหารนี้มี ๔ อย่าง คือชื่อว่า โอมัฏฐะ อุมัฏฐะ มัฏฐะ และวิมัฏฐะ ในบรรดาเครื่องประหาร ๔ เหล่านั้น เครื่องประหารที่เขาวางไว้ข้างบนให้มีหน้าลงเบื้องต่ำ ชื่อว่า โอมัฏฐะ. เครื่องประหารที่เขาวางไว้เบื้องต่ำให้มีหน้าขึ้นข้างบน ชื่อว่า อุมัฏฐะ. เครื่องประหารที่เขาใช้แทงทะลุไปราวกะว่าลิ่มกลอนประตู ชื่อว่า มัฏฐะ. เครื่องประหารแม้ทั้งหมดที่เหลือชื่อว่า วิมัฏฐะ.

ก็ในที่นี้ ท่านมุ่งเอาเครื่องประหารที่ชื่อว่า โอมัฏฐะ เพราะเครื่องประหารชนิดนี้ทารุณกว่าเครื่องประหารทั้งหมด ดุจถูกหอกที่มีคมไม่ดีแทงแล้ว เยียวยาลำบาก มีโทษภายใน คือ มีน้ำเหลืองและเลือดคั่งอยู่ที่ปากแผล ไม่มีน้ำเหลืองและเลือดไหลออกจึงทำให้สั่งสมอยู่ภายใน. ผู้ต้องการจะนำปุพโพโลหิตออกต้องผูกผู้ป่วยไว้กับเตียงแล้วทำให้ศรีษะห้อยลง. เขาย่อมถึงการตาย หรือทุกข์ปางตาย.

คำว่า ปริพฺพชฺเช แก้เป็น วิหเรยฺย แปลว่า พึงอยู่.

ถามว่าในคาถานี้ เทวดากล่าวอย่างไร.

ตอบว่า เทวดากล่าวว่า บุรุษถูกแทงด้วยหอกรีบพยายามทำความเพียรมุ่งมั่นเพื่อจะรักษาแผลโดยการดึงหอกออก และบุรุษที่ถูกไฟไหม้ที่ศีรษะ รีบพยายามทำความเพียรมุ่งเพื่อดับไฟ ฉันใด ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า ภิกษุก็ฉันนั้นนั่นแหละ พึงมีสติไม่ประมาทอยู่เพื่อละกามราคะ ดังนี้.

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 30 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 125

ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงดำริว่า คาถาที่เทวดานี้นำมาตั้งไว้ทำอุปมาไว้มั่นคง แต่ถือเอาประโยชน์ได้นิดหน่อย แม้จะกล่าวซ้ำซาก เพราะเขากล่าวถึงการละโดยการข่มกามราคะอย่างเดียว ก็กามราคะอันมรรคยังไม่ถอนขึ้น ตราบใด ตราบนั้น ก็ยังมีการตามผูกพันเรื่อยไป เพราะฉะนั้นเมื่อจะทรงถือเอาคำอุปมานั้นนั่นแหละแล้วทรงเปลี่ยนแสดงด้วยสามารถแห่งมรรค จึงตรัสพระคาถาที่ ๒ (ข้อที่ ๕๗).

เนื้อความแห่งคาถานั้น พึงทราบโดยทำนองที่กล่าวแล้วนั่นแหละ.

จบอรรถกถาสัตติสูตรที่ ๑