พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๙. จตุจักกสูตร

 
บ้านธัมมะ
วันที่  28 ส.ค. 2564
หมายเลข  36190
อ่าน  580

[เล่มที่ 24] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 145

๙. จตุจักกสูตร


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 24]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 31 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 145

๙. จตุจักกสูตร

[๗๔] เทวดากล่าวว่า

ข้าแต่พระองค์ผู้มีความเพียรมาก สรีระมีจักร ๔ มีทวาร ๙ เต็มด้วยของไม่สะอาด ประกอบด้วยโลภะ ย่อมเป็นดังว่าเปือกตม ความออกไป (จากทุกข์) จักมีได้อย่างไร.

[๗๕] พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า

ตัดความผูกโกรธด้วย กิเลสเป็นเครื่องร้อยรัดด้วย ความปรารถนาและความโลภอันลามกด้วย ถอนตัณหาอันมีอวิชชาเป็นมูลเสียแล้วอย่างนี้ ความออกไป (จากทุกข์) จึงจักมีได้.

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 31 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 146

อรรถกถาจตุจักกสูตร

พึงทราบวินิจฉัยในจตุจักกสูตรที่ ๙ ต่อไป :-

บทว่า จตุจกฺกํ แปลว่า มีจักร ๔ ได้แก่ อิริยาบถ ๔ เพราะในที่นี้อิริยาบถท่านเรียกว่าจักร.

บทว่า นวทฺวารํ แปลว่า ทวาร ๙ ได้แก่ ทวาร ๙ ซึ่งมีปากแผล ๙ แห่ง.

บทว่า ปุณฺณํ แปลว่า มีอสุจิเต็มแล้ว คือ เต็มไปด้วยของไม่สะอาด.

บทว่า โลเภน สํยุตฺตํ แปลว่า ประกอบด้วยโลภะ คือว่าสัมปยุตด้วยตัณหา.

บทว่า กถํ ยาตฺรา ภวิสฺสติ นี้เทวดาย่อมทูลถามว่า การออกไป (จากทุกข์) แห่งสรีระนี้ เห็นปานนี้ จักมีได้อย่างไร คือว่า ความพ้น ความพ้นรอบ ความก้าวล่วง อย่างดี จักมีได้อย่างไร ดังนี้.

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสตอบว่า

เฉตฺวา นทฺธิํ วรตฺตญฺจ อิจฺฉาโลภญฺจ ปาปกํ สมูลํ ตณฺหํ อพฺพุยฺห เอวํ ยาตฺรา ภวิสฺสติ

ตัดความผูกโกรธด้วย กิเลสเป็นเครื่องร้อยรัดด้วย ความปรารถนาและความโลภอันลามกด้วย ถอนตัณหาอันมีอวิชชาเป็นมูลเสียแล้วอย่างนี้ ความออกไป (จากทุกข์) จึงมีได้.

บทว่า นทฺธิํ แปลว่า ความผูกโกรธ อธิบายว่า ความโกรธมีก่อนภายหลัง ความโกรธมีกำลังเป็นไปแล้วอย่างนี้ จึงชื่อว่า ความผูกโกรธ.

บทว่า วรตฺตํ แปลว่า กิเลสเป็นเครื่องร้อยรัด ได้แก่ ตัดความผูกโกรธ และเครื่องร้อยรัด.

ชื่อความเกี่ยวข้องกันแห่งตัณหาและทิฏฐิ ท่านกล่าวไว้ใน

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 31 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 147

คาถาว่า สนฺธานํ สหนุกฺกมํ แต่ในที่นี้ ยกเว้นกิเลสที่ท่านอธิบายไว้ในพระบาลีแล้ว กิเลสที่เหลือ พึงทราบว่า เป็นเครื่องร้อยรัด เพราะฉะนั้นจึงตรัสว่า ตัดกิเลสเป็นเครื่องร้อยรัด ดังนี้.

บทว่า อิจฺฉาโลภํ นี้พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า ธรรมอันหนึ่งนี้แหละ ชื่อว่าโลภะ เพราะอรรถว่าปรารถนา เพราะอรรถว่าความอยากและความต้องการ.

อีกอย่างหนึ่ง ความอยากมีกำลังทรามเกิดขึ้นครั้งแรก ความโลภมีกำลังเกิดขึ้นในเวลาต่อๆ มา.

อีกอย่างหนึ่ง ความปรารถนาในวัตถุอันตนยังไม่ได้ ชื่อว่า ความอยาก ความยินดีในวัตถุอันตนได้แล้ว ชื่อว่า ความโลภ.

บทว่า สมูลํ ตณฺหํ ได้แก่ตัณหาอันมีมูล โดยมีอวิชชาเป็นมูล.

บทว่า อพฺภุยฺห ได้แก่ อันมรรคถอนขึ้นแล้ว.

คำที่เหลือง่ายทั้งนั้นแล.

จบจตุจักกสูตรที่ ๙