พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๔. นสันติสูตร ว่าด้วยการกําจัดเบญจขันธ์คือกําจัดทุกข์

 
บ้านธัมมะ
วันที่  28 ส.ค. 2564
หมายเลข  36195
อ่าน  577

[เล่มที่ 24] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 181

๔. นสันติสูตร

ว่าด้วยการกําจัดเบญจขันธ์คือกําจัดทุกข์


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 24]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 30 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 181

๔. นสันติสูตร

ว่าด้วยการกำจัดเบญจขันธ์คือกำจัดทุกข์

[๑๐๒] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี กรุงนครสาวัตถี.

ครั้งนั้นแล เมื่อปฐมยามล่วงไปแล้ว พวกเทวดาสตุลลปกายิกามากด้วยกัน มีวรรณะงาม ยังพระวิหารเชตวันทั้งสิ้นให้สว่าง เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นแล้วจึงถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาคเจ้า แล้วยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง.

[๑๐๓] เทวดาองค์หนึ่ง ครั้นยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้ว ได้กล่าวคาถานี้ในสำนักพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า

กามทั้งหลายในหมู่มนุษย์ที่เป็นของเที่ยงย่อมไม่มี บุรุษผู้เกี่ยวข้องแล้ว ผู้ประมาทแล้วในอารมณ์ที่ตั้งแห่งความใคร่ทั้งหลายอันมีอยู่ในหมู่มนุษย์นี้ ไม่มาถึงนิพพานเป็นที่ไม่กลับมา แต่วัฏฏะเป็นที่ตั้งแห่งมัจจุ เบญจขันธ์เกิดแต่ฉันทะ ทุกข์ก็เกิดแต่ฉันทะ เพราะกำจัดฉันทะเสีย จึงกำจัดเบญจขันธ์ได้ เพราะกำจัดเบญจขันธ์ได้ จึงกำจัดทุกข์ได้ อารมณ์อันงามทั้งหลายในโลกไม่เป็นกาม ความกำหนัดที่พร้อมไปด้วยความดำริเป็นกามของบุรุษ

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 30 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 182

อารมณ์อันงามทั้งหลายย่อมตั้งอยู่ในโลกอย่างนั้นนั่นแหละ บุคคลผู้มีปัญญาทั้งหลายย่อมกำจัดฉันทะในอารมณ์ทั้งหลายนั้นโดยแท้ บุคคลพึงละความโกรธเสีย พึงทิ้งมานะเสีย พึงล่วงสังโยชน์ทั้งปวงเสีย ทุกข์ทั้งหลาย ย่อมไม่ตกถึงบุคคลนั้น ผู้ไม่เกี่ยวข้องในนามรูป ผู้ไม่มีกิเลสเป็นเครื่องกังวล ขีณาสวภิกษุละบัญญัติเสียแล้ว ไม่ติดมานะแล้ว ได้ตัดตัณหาในนามรูปนี้เสียแล้ว พวกเทวดา พวกมนุษย์ ในโลกนี้ก็ดี ในโลกอื่นก็ดี ในสวรรค์ทั้งหลายก็ดี ในสถานเป็นที่อาศัยแห่งสัตว์ทั้งปวงก็ดี เที่ยวค้นหา ก็ไม่พบขีณาสวภิกษุนั้น ผู้มีเครื่องผูกอันตัดเสียแล้ว ไม่มีทุกข์ ไม่มีตัณหา.

[๑๐๔] ท่านพระโมฆราชกล่าวว่า

ก็หากว่า พวกเทวดา พวกมนุษย์ ในโลกนี้ก็ดี ในโลกอื่นก็ดี ไม่ได้เห็นพระขีณาสพนั้น ผู้อุดมกว่านรชน ผู้ประพฤติประโยชน์เพื่อพวกนรชน ผู้พ้นแล้วอย่างนั้น เทวดาและมนุษย์เหล่าใด ย่อมไหว้พระขีณาสพนั้น เทวดาและมนุษย์เหล่านั้น ย่อมเป็นผู้อันบัณฑิตพึงสรรเสริญ.

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 30 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 183

[๑๐๕] พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า

ดูก่อนภิกษุ แม้พวกเทวดาและมนุษย์เหล่านั้น ย่อมเป็นผู้อันบัณฑิตพึงสรรเสริญู พวกเทวดาและมนุษย์เหล่าใดย่อมไหว้ขีณาสวภิกษุนั้น ผู้พ้นแล้วอย่างนั้น ดูก่อนภิกษุ แม้พวกเทวดาและมนุษย์เหล่านั้นรู้ธรรมแล้ว ละวิจิกิจฉาแล้ว ก็ย่อมเป็นผู้ล่วงแล้วซึ่งธรรมเป็นเครื่องข้อง.

อรรถกถานสันติสูตร

พึงทราบวินิจฉัยในนสันติสูตรที่ ๔ ต่อไป :-

บทว่า กมนียานิ แปลว่า อารมณ์เป็นที่ตั้งแห่งความใคร่ ได้แก่ อารมณ์ที่น่าปรารถนามีรูปเป็นต้น.

บทว่า อปุนาคมนํ อนาคนฺตฺวา ปุริโส มจฺจุเธยฺยํ ได้แก่ ไม่มาถึงพระนิพพาน กล่าวคือ ที่เป็นที่ไม่กลับมาอีก แต่บ่วงแห่งมัจจุ กล่าวคือ วัฏฏะอันเป็นไปในภูมิ ๓ จริงอยู่ บุคคลผู้บรรลุพระนิพพานแล้ว ย่อมไม่กลับมาอีก ฉะนั้น ท่านจึงเรียกนิพพานนั้นว่า อปุนาคมนะ แปลว่า ที่เป็นที่ไม่กลับมาอีก.

อธิบายว่า บุคคลผู้เกี่ยวข้องแล้ว ผู้ประมาทแล้วในกามทั้งหลาย ชื่อว่า ย่อมไม่มาแล้ว คือ ไม่อาจเพื่อบรรลุพระนิพพานนั้น เพราะเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวอย่างนี้.

บทว่า ฉนฺทชํ แปลว่า เกิดแต่ฉันทะ อธิบายว่า เกิดเพราะตัณหาฉันทะ.

บทว่า อฆํ แปลว่า ทุกข์ คือ เบญจขันธ์ บทที่ ๒ (ทุกข์) เป็นไวพจน์ของเบญจขันธ์นั้นนั่นแหละ.

บทว่า

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 30 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 184

ฉนฺทวินยา อฆวินโย แปลว่า เพราะกำจัดฉันทะเสียจึงกำจัดเบญจขันธ์ได้ อธิบายว่า เพราะกำจัดตัณหาได้ จึงกำจัดเบญจขันธ์ได้.

บทว่า อฆวินยา ทุกฺขวินโย แปลว่า เพราะกำจัดเบญจขันธ์ได้ จึงกำจัดทุกข์ได้ อธิบายว่าเพราะกำจัดเบญจขันธ์ได้ วัฏทุกข์ ย่อมเป็นอันตนกำจัดได้แล้วเหมือนกัน.

บทว่า จิตฺรานิ แปลว่า อารมณ์อันงามทั้งหลาย.

บทว่า สงฺกปฺปราโค แปลว่า ความกำหนัดที่พร้อมด้วยความดำริ ในที่นี้ ท่านปฏิเสธวัตถุทั้งหลาย (วัตถุกาม) แล้วกล่าวว่า ความกำหนัดพร้อมด้วยความดำริอย่างนี้ว่า เป็นกิเลสกาม.

ความข้อนี้ บัณฑิตพึงให้แจ่มแจ้งด้วยปสุรสูตร.

จริงอยู่ เมื่อพระเถระ (พระสารีบุตร) กล่าวว่าความดำริและความกำหนัดเป็นกามของบุรุษ ปสุรปริพาชกก็กล่าวว่า ธรรมเหล่าใดมีอารมณ์งาม ธรรมเหล่านั้น ไม่ใช่กาม ท่านกล่าวว่าความดำริและความกำหนัดในโลก ว่าเป็นกาม เป็นความดำริ ถ้าเช่นนั้น แม้ภิกษุของท่านก็พึงบริโภคกามในอกุศลวิตก ดังนี้.

ลำดับนั้น พระเถระได้กล่าวกะปสุรปริพาชกนั้นว่า หากว่า อารมณ์เหล่าใดงาม อารมณ์เหล่านั้นไม่ใช่กามไซร้ ท่านก็ไม่ต้องกล่าวถึงความดำริและความกำหนัดว่า เป็นกามในโลก เมื่อบุคคลเห็นอยู่ซึ่งรูปทั้งหลายอันเป็นอารมณ์ทางใจ แม้พระศาสดาก็ตรัสว่า กามโภคีพึงมีแก่เขา ดังนี้ เมื่อบุคคลฟังเสียงทั้งหลาย สูดอยู่ซึ่งกลิ่นหอมทั้งหลาย ลิ้มอยู่ซึ่งรสทั้งหลาย ถูกต้องอยู่ซึ่งผัสสะทั้งหลายอันเป็นอารมณ์ทางใจ แม้พระศาสดาก็ตรัสว่า กามโภคี พึงมีแก่เขา ดังนี้.

บทว่า อเถตฺถ ธีรา แปลว่า บุคคลผู้มีปัญญาทั้งหลายย่อมกำจัดฉันทะในอารมณ์ทั้งหลายนั้นโดยแท้ อธิบายว่า บัณฑิตทั้งหลาย ย่อมกำจัดฉันทราคะในอารมณ์ทั้งหลายเหล่านั้นโดยแท้.

บทว่า สํโยชนํ สพฺพํ ได้แก่ สังโยชน์แม้ทั้ง ๑๐ อย่าง.

บทว่า อกิญฺจนํ ได้แก่ เว้นจากกิเลสเครื่องกังวลทั้งหลายมีราคะ เป็นต้น.

บทว่า นานุปตนฺติ ทุกฺขา แปลว่า ทุกข์ทั้ง

 
  ข้อความที่ 5  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 30 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 185

หลายย่อมไม่ตกถึงบุคคลนั้น คือว่า วัฏทุกข์ทั้งหลาย ย่อมไม่ตกไปเบื้องบนบุคคลผู้นั้น.

พระเถระชื่อว่า โมฆราชผู้ฉลาดในอนุสนธิ ฟังคาถาว่า ขีณาสวภิกษุละบัญญัติเสียแล้ว ดังนี้ มีสติกำหนดคาถาแม้เหล่านั้นแล้ว จึงคิดว่า เนื้อความแห่งคาถานี้ ไม่ไปตามอนุสนธิ ดังนี้ เมื่อจะสืบต่อแห่งอนุสนธิตามที่เป็นไปอย่างไร จึงกล่าวคำอย่างนี้ว่า

ก็หากว่า พวกเทวดา พวกมนุษย์ในโลกนี้ หรือในโลกอื่นก็ดี ไม่ได้เห็นพระขีณาสพนั้นผู้อุดมกว่านรชน ผู้ประพฤติประโยชน์เพื่อพวกนรชน ผู้พ้นแล้วอย่างนั้น เทวดาและมนุษย์เหล่าใด ย่อมไหว้พระขีณาสพนั้น เทวดาและมนุษย์เหล่านั้นย่อมเป็นผู้อันบัณฑิตพึงสรรเสริญ.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อิธ วา หุรํ วา แปลว่า ในโลกนี้หรือในโลกอื่น.

บทว่า นรุตฺตมํ อตฺถจรํ นรานํ แปลว่า ผู้อุดมกว่านรชนผู้ประพฤติประโยชน์ เพื่อนรชนทั้งหลายนั้น แม้ก็จริง ถึงอย่างนั้น พระเถระก็มิได้หมายเอาพระขีณาสพอื่น หมายเอาพระทศพลเท่านั้น.

บทว่า เยตํ นมสฺสนฺติ ปสํสิยา เต แปลว่า พวกเทวดาและมนุษย์เหล่าใด ย่อมไหว้พระขีณาสพนั้นผู้พ้นแล้วอย่างนั้น อธิบายว่า ย่อมไหว้พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ด้วยกายหรือด้วยวาจาหรือว่า ด้วยการปฏิบัติตามโดยแท้ พวกเทวดาและมนุษย์เหล่านั้น พึงเป็นผู้อันบัณฑิตควรสรรเสริญหรือไม่.

บทว่า ภิกษุ เป็นคำที่พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกพระโมฆราชเถระ.

บทว่า อญฺาย ธมฺมํ

 
  ข้อความที่ 6  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 30 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 186

แปลว่า รู้ธรรมแล้ว คือได้แก่ รู้สัจธรรมทั้ง ๔.

บทว่า สงฺคาตีตา เตปิ ภวนฺติ แปลว่า แม้เทวดาและมนุษย์ทั้งหลายเหล่านั้น... ย่อมเป็นผู้ล่วงธรรมเครื่องข้อง อธิบายว่า เทวดาและมนุษย์เหล่าใด ย่อมไหว้พระผู้มีพระภาคเจ้านั้นด้วยกายหรือด้วยวาจา หรือว่า ด้วยการปฏิบัติตาม เทวดาและมนุษย์เหล่านั้นรู้สัจจธรรม ๔ และละวิจิกิจฉาแล้ว ย่อมเป็นผู้ล่วงพ้นธรรมเป็นเครื่องข้องบ้าง ย่อมเป็นผู้อันบัณฑิต พึงสรรเสริญบ้าง ดังนี้แล.

จบอรรถกถานสันติสูตรที่ ๔