พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๗. สมยสูตร ว่าด้วยเทพชุมนุมกัน

 
บ้านธัมมะ
วันที่  28 ส.ค. 2564
หมายเลข  36198
อ่าน  496

[เล่มที่ 24] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 200

๗. สมยสูตร

ว่าด้วยเทพชุมนุมกัน


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 24]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 30 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 200

๗. สมยสูตร

ว่าด้วยเทพชุมนุมกัน

[๑๑๕] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้ :-

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ ป่ามหาวัน กรุงกบิลพัสดุ์ แคว้นสักกะ กับด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ประมาณ ๕๐๐ รูป ล้วนเป็นพระอรหันต์ ก็พวกเทวดามาแต่โลกธาตุสิบแล้ว ประชุมกันมาก เพื่อจะเห็นพระผู้มีพระภาคเจ้าและพระภิกษุสงฆ์.

[๑๑๖] ในครั้งนั้นแล เทวดา ๔ องค์ที่เกิดในหมู่พรหมชั้นสุทธาวาสได้มีความดำริว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นี้แล ประทับอยู่ ณ ป่ามหาวัน กรุงกบิลพัสดุ์ แคว้นสักกะ กับด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ประมาณ ๕๐๐ รูป ล้วนเป็นพระอรหันต์ ก็พวกเทวดามาแต่โลกธาตุสิบประชุมกันมาก เพื่อจะเห็นพระผู้มีพระภาคเจ้าและพระภิกษุสงฆ์ ไฉนหนอ แม้เราทั้งหลายควรเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นเข้าไปเฝ้าแล้ว พึงกล่าวคาถาองค์ละคาถา ในสำนักพระผู้มีพระภาคเจ้า.

[๑๑๗] ในครั้งนั้นแล พวกเทวดาทั้ง ๔ นั้นจึงหายจากหมู่พรหมชั้นสุทธาวาส มาปรากฏอยู่เฉพาะพระพักตร์พระผู้มีพระภาคเจ้า เหมือนบุรุษผู้มีกำลัง เหยียดแขนที่คู้ออกหรือคู้แขนที่เหยียดเข้า ฉะนั้น.

[๑๑๘] เทวดาองค์หนึ่ง ครั้นยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้ว ได้กล่าวคาถานี้ในสำนักพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า

การประชุมใหญ่ในป่าใหญ่ มีพวกเทวดามาประชุมกันแล้ว พวกข้าพเจ้ามาสู่

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 30 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 201

ที่ชุมนุมอันเป็นธรรมนี้ เพื่อจะเยี่ยมหมู่พระผู้ที่ใครๆ ให้แพ้ไม่ได้.

[๑๑๙] ในลำดับนั้นแล เทวดาองค์อื่นอีก ได้กล่าวคาถานี้ในสำนักพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า

ภิกษุทั้งหลายในที่ประชุมนั้นตั้งจิตมั่นแล้ว ได้ทำจิตของตนให้ตรงแล้ว ภิกษุทั้งปวงนั้นเป็นบัณฑิตย่อมรักษาอินทรีย์ทั้งหลาย ดุจดังว่านายสารถีถือบังเหียนฉะนั้น.

[๑๒๐] ในลำดับนั้นแล เทวดาองค์อื่นอีก ได้กล่าวคาถานี้ในสำนักพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า

ภิกษุทั้งหลายนั้นตัดกิเลสดังตะปูเสียแล้ว ตัดกิเลสดังว่าลิ่มสลักเสียแล้ว ถอนกิเลสดังว่าเสาเขื่อนเสียแล้ว มิได้มีความหวั่นไหว เป็นผู้หมดจดปราศจากมลทิน อันพระพุทธเจ้าผู้มีจักษุทรงฝึกดีแล้ว เป็นหมู่นาคหนุ่มประพฤติอยู่.

[๑๒๑] ในลำดับนั้นแล เทวดาองค์อื่นอีก ได้กล่าวคาถานี้ในสำนักพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า

ชนเหล่าใดเหล่าหนึ่งถึงแล้วซึ่งพระพุทธเจ้าเป็นสรณะ ชนเหล่านั้นจักไม่ไปสู่อบายภูมิ ละร่างกายอันเป็นของมนุษย์แล้วจักยังหมู่เทวดาให้บริบูรณ์.

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 30 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 202

อรรถกถาสมยสูตร

พึงทราบวินิจฉัยในสมยสูตรที่ ๗ ต่อไป :-

บทว่า สกฺเกสุ แปลว่า ในแคว้นสักกะนี้ ได้แก่ ชนบทแม้หนึ่งที่เป็นที่อยู่ของราชกุมารทั้งหลาย ซึ่งมีชื่ออันได้แล้วว่า สักกะ เพราะอาศัยคำอุทานว่า สกฺยา วต โภ กุมารา แปลว่า กุมารผู้เจริญเหล่านี้อาจหนอ (หรือ สามารถหนอ) ดังนี้ ท่านจึงเรียกชนบทนั้นว่า สักกะ ตามรุฬหิสัททศาสตร์. ในที่นี้ได้แก่ ในชนบทชื่อว่าสักกะนั้น.

บทว่า มหาวเน แปลว่า ในป่าใหญ่ คือได้แก่ ในป่าใหญ่ที่เนื่องเป็นอันเดียวกัน กับหิมวันต์อันเกิดขึ้นเองโดยธรรมชาติมิได้มีใครมาปลูกไว้.

บทว่า สพฺเพเหว อรหนฺเตหิ แปลว่า ล้วนเป็นพระอรหันต์ คือได้แก่ พระอรหันต์ที่บรรลุแล้วในวันที่พระองค์ตรัสสมยสูตรนี้นั่นแหละ.

ในสูตรนั้น มีอนุปุพพิกถา คือ วาจาเป็นเครื่องกล่าวโดยลำดับ ดังต่อไปนี้.

เจ้าศากยะและโกลิยะ วิวาทกันเรื่องไขน้ำเข้านา

ได้ยินว่า เจ้าศากยะและโกลิยะ ได้ให้สร้างทำนบกั้นน้ำอันหนึ่งในแม่น้ำชื่อ โรหิณี ซึ่งมีอยู่ระหว่างนครกบิลพัสดุ์ กับโกลิยนคร แล้วให้ทำข้าวกล้าทั้งหลาย. ในครั้งนั้น เป็นเวลาต้นเดือน ๗ (พฤษภาคม-มิถุนายน บาลีใช้คำว่า เชฏฺมูลมาเส) เมื่อข้าวกล้าทั้งหลาย กำลังเหี่ยวแห้ง กรรมกรทั้งสองพระนครจึงประชุมกัน. ในบรรดากรรมกรทั้งสองนั้น กรรมกรผู้อยู่ในโกลิยนครกล่าวว่า น้ำนี้นำมาใช้เพื่อข้าวกล้าแห่งพวกเราทั้งสองพระนครจักไม่เพียงพอ ก็ข้าวกล้าของพวกเราจักสำเร็จด้วยน้ำที่มาทางเดียวเท่านั้น ขอพวกท่านจงให้น้ำนี้แก่พวกเรา ดังนี้.

กรรมกรผู้อยู่ในพระนครกบิลพัสดุ์

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 30 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 203

กล่าวว่า เมื่อพวกท่านยังข้าวให้เต็มยุ้งแล้วก็ถือเอากหาปณะเงินทองแก้วไพฑูรย์และโลหะทั้งหลายดำรงอยู่ ส่วนพวกเราก็จะมีเพียงกระบุง กระสอบ เป็นต้น อยู่ในมือ จักไม่อาจเที่ยวไปใกล้ประตูบ้านของพวกท่าน ข้าวกล้าแม้ของพวกเราก็จักสำเร็จด้วยน้ำที่มาทางเดียวนั่นแหละ ขอพวกท่านจงให้น้ำนี้แก่พวกเราดังนี้.

กรรมกรผู้อยู่ในโกลิยนครกล่าวว่า พวกเราจักไม่ให้ กรรมกรผู้อยู่ในนครกบิลพัสดุ์ก็กล่าวว่าแม้พวกเราก็จักไม่ให้ จึงเกิดการโต้เถียงกัน คนหนึ่งลุกขึ้นไปประหารคนหนึ่ง แม้คนนั้นก็ประหารคนอื่นๆ ครั้นประหารซึ่งกันและกันอย่างนี้แล้ว ก็สืบต่อไปถึงชาติ ถึงราชตระกูลยังความทะเลาะวิวาทกันให้เจริญแล้วด้วยประการฉะนี้.

กรรมกรของชาวโกลิยนครกล่าวว่า พวกท่านอยู่ในกบิลพัสดุ์ จับพวกเด็กๆ ไปคุกคาม ชนพวกใดอยู่ร่วมกับพี่น้องหญิงของตน ชนพวกนั้น เหมือนสุนัขจิ้งจอก ช้างทั้งหลาย ม้าทั้งหลาย โล่อาวุธทั้งหลายของชนพวกนั้น จักทำอะไรพวกเราได้ ดังนี้.

กรรมกรของเจ้าศากยะเหล่านั้นกล่าวว่า พวกท่านเป็นโรคเรื้อน จับพวกเด็กๆ ไปขู่เข็ญ ชนพวกใดอาศัยอยู่ที่ต้นกระเบา เหมือนคนอนาถาไม่มีที่ไป เป็นดังสัตว์ดิรัจฉาน ช้างทั้งหลาย ม้าทั้งหลาย โล่และอาวุธทั้งหลายของชนพวกนั้น จักทำอะไรพวกเราได้ ดังนี้.

กรรมกรเหล่านั้น ต่างก็ไปบอกแก่อำมาตย์ผู้ประกอบในการงานนั้น. พวกอำมาตย์ก็กราบทูลแก่ราชตระกูล. ลำดับนั้น เจ้าศากยะทั้งหลายกล่าวว่าพวกเราจักแสดงกำลังและพลของพวกเราที่อยู่ร่วมกันกับพี่น้องหญิงทั้งหลายดังนี้ เตรียมรบแล้วก็เสด็จออกไป. แม้เจ้าโกลิยะทั้งหลายก็กล่าวว่า พวกเราจักแสดงกำลังและพลของพวกเราผู้อยู่ที่โกลพฤกษ์ (ต้นกระเบา) ดังนี้ เตรียมการรบแล้วก็เสด็จออกไป.

 
  ข้อความที่ 5  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 30 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 204

พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จออกจากพระมหากรุณาสมาบัติในเวลาใกล้รุ่งแห่งราตรีแล้ว ตรวจดูสัตว์โลกอยู่ได้ทรงเห็นชนเหล่านั้นตระเตรียมรบอย่างนี้ ออกไปแล้ว ครั้นทรงเห็นแล้วจึงใคร่ครวญว่า เมื่อเราไปแล้ว ความทะเลาะนี้จักสงบหรือไม่หนอ ดังนี้ ได้ตกลงพระทัยว่า เราจักไปในที่นั้นแล้วจักกล่าวชาดก ๓ ชาดก เพื่ออันเข้าไปสงบระงับความทะเลาะวิวาทกัน กาลนั้นความทะเลาะวิวาทก็จักสงบลง ต่อจากนั้นเราจักแสดงชาดก ๒ ชาดก เพื่อแสดงความสามัคคีแล้วจักแสดง อัตตทัณฑสูตร แม้ชาวพระนครทั้งสองฟังเทศนาแล้วก็จะถวายพระกุมารตระกูลละ ๒๕๐ เราจักยังกุมารเหล่านั้นให้บรรพชา สมาคมใหญ่จักมี ดังนี้.

เพราะฉะนั้น เมื่อชาวพระนครทั้งสองนี้ เตรียมรบแล้วออกไป พระผู้มีพระภาคเจ้ามิได้ทรงบอกใครๆ ทรงถือเอาบาตรและจีวรด้วยพระองค์เองนั่นแหละ เสด็จไปประทับนั่งขัดสมาธิในอากาศในระหว่างเสนามาตย์ทั้งสองพระนครทรงเปล่งฉัพพัณณรังสีแล้ว.

พวกชาวพระนครกบิลพัสดุ์เห็นพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้วคิดว่า พระศาสดาผู้ประเสริฐ เป็นพระญาติของพวกเราเสด็จมาแล้ว ความบาดหมางกันของพวกเราพระองค์ทรงทราบแล้วหนอ ดังนี้ จึงคิดว่าก็เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จมาแล้ว พวกเราไม่อาจเพื่อจะใช้ศาสตรายังสรีระของผู้อื่นให้ตกไป พวกชาวโกลิยนคร จงฆ่าพวกเรา หรือว่า จงเผาพวกเราก็ตาม ดังนี้ จึงพากันทิ้งอาวุธทั้งหลายแล้วนั่งลงถวายบังคมพระบรมศาสดา. แม้ชาวโกลิยนครก็คิดเหมือนอย่างนั้นนั่นแหละ พากันทิ้งอาวุธแล้วจึงนั่งถวายบังคมพระบรมศาสดาเหมือนกัน.

 
  ข้อความที่ 6  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 30 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 205

พระผู้มีพระภาคเจ้า ทั้งที่ทรงทราบอยู่นั่นแหละ ก็ตรัสถามว่า ดูก่อนมหาบพิตร พระองค์เสด็จมา เพราะเหตุอะไร ดังนี้.

พระราชาทูลว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า พวกข้าพระองค์มิได้มาในที่นี้ เพื่อเล่นกีฬาที่ท่าน้ำ ที่ภูเขา ที่แม่น้ำ หรือชมทิวทัศน์ภูเขา แต่พวกข้าพระองค์ยังสงครามให้เกิดขึ้นแล้วจึงมา ดังนี้.

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสถามว่า มหาบพิตร พระองค์ทรงอาศัยอะไรจึงทรงวิวาทกัน.

พระราชาทูลว่า น้ำ พระเจ้าข้า.

พระผู้มีพระภาคเจ้า. มหาบพิตร น้ำมีค่ามากหรือ.

พระราชา. มีค่าน้อยพระเจ้าข้า.

พระผู้มีพระภาคเจ้า. ชื่อว่า แผ่นดิน มีค่าหรือมหาบพิตร.

พระราชา. หาค่ามิได้ พระเจ้าข้า.

พระผู้มีพระภาคเจ้า. กษัตริย์ทั้งหลาย มีค่าหรือ.

พระราชา. ธรรมดาว่า กษัตริย์ทั้งหลายหาค่ามิได้.

พระผู้มีพระภาคเจ้า. ดูก่อนมหาบพิตร พระองค์อาศัยน้ำอันมีค่าเพียงเล็กน้อยแล้วยังกษัตริย์ทั้งหลายอันหาค่ามิได้ให้พินาศไป เพื่อประโยชน์อะไร ธรรมดาว่า ความพอพระทัยในความบาดหมางกัน ย่อมไม่มี ดูก่อนมหาบพิตร ความอาฆาตอันรุกขเทวดาองค์หนึ่งกับหมีผูกพันกันแล้ว เพราะทำเวรในสิ่งที่ไม่ควร ด้วยอำนาจแห่งความทะเลาะกัน ความอาฆาตนั้นจักเป็นไปตลอดกัปนี้แม้ทั้งสิ้น ดังนี้ แล้วตรัสผันทนชาดก.

ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า มหาบพิตร พระองค์ไม่พึงเป็นผู้ชื่อว่า มีบุคคลอื่นเป็นปัจจัย เพราะว่าบุคคลมีผู้อื่นเป็นปัจจัยแล้ว หมู่สัตว์จตุบาททั้งหลายในหิมวันต์อันแผ่ไปตั้งสามพันโยชน์ จึงได้พากันแล่นไป

 
  ข้อความที่ 7  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 30 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 206

แล้วยังมหาสมุทร ด้วยถ้อยคำของกระต่ายตัวหนึ่ง เพราะฉะนั้นแหละ พระองค์จึงไม่ควรมีผู้อื่นเป็นปัจจัย ดังนี้ แล้วตรัสปฐวีอุทริยนชาดก.

ลำดับนั้นแหละตรัสว่า ดูก่อนมหาบพิตร ในกาลไหนๆ สัตว์ที่มีกำลังทรามเห็นอยู่ซึ่งโทษ เห็นโอกาสที่ประทุษร้ายสัตว์ที่มีกำลังมาก ดูก่อนมหาบพิตร หรือว่าในกาลไหนๆ สัตว์ที่มีกำลังมาก เห็นโทษเห็นโอกาสที่จะประทุษร้ายสัตว์ที่มีกำลังทราม มีอยู่ เพราะว่า แม้นางนกมูลไถ (คล้ายนกกระจาบฝนแต่ใหญ่กว่าเล็กน้อย) ก็ยังช้างใหญ่ให้ตายได้ ดังนี้ แล้วตรัสลฏกิกชาดก

ครั้นตรัสชาดกทั้ง ๓ เพื่อต้องการความสงบระงับแห่งความวิวาทอย่างนี้แล้ว เพื่อต้องการแสดงความสามัคคี จึงตรัสชาดกอีก ๒ ชาดก.

ถามว่าพระองค์ตรัสอย่างไร.

ตอบว่า ตรัสว่า ดูก่อนมหาบพิตร จริงอยู่ ใครๆ ชื่อว่าย่อมสามารถเห็นช่องทางแห่งความเป็นผู้พร้อมเพรียงกัน ดังนี้ แล้วก็ตรัสรุกขธัมมชาดก.

จากนั้น ก็ตรัสอีกว่า ดูก่อนมหาบพิตร ใครๆ ไม่สามารถเพื่อเห็นช่องทางแห่งผู้พร้อมเพรียงกันได้ ก็ในกาลใด ชนทั้งหลายทำความบาดหมางซึ่งกันและกัน ในกาลนั้น บุตรของนายพรานจึงพาชนเหล่านั้นไปฆ่าเสีย เพราะเหตุนั้น ขึ้นชื่อว่า ความชอบใจในความวิวาทกันจึงไม่มี ดังนี้ แล้วตรัสวัฏฏกชาดก.

ครั้นตรัสชาดกทั้ง ๕ เหล่านี้ อย่างนี้แล้ว ในที่สุดก็ตรัสอัตตทัณฑสูตร.

พระราชาผู้อยู่ในพระนครทั้งสองทรงเลื่อมใสแล้ว ตรัสว่า ถ้าพระศาสดาไม่เสด็จมาแล้วไซร้ พวกเราทั้งหลายผู้มีอาวุธในมือจักฆ่าซึ่งกันและกัน จักยังแม่น้ำ คือ โลหิตให้ไหลไป พวกเราทั้งหลายก็จักไม่เห็นบุตรและพี่ชายน้องชายของพวกเรา จักไม่เห็นแม้ประตูบ้าน การนำข่าวสาส์นและการตอบข่าวสาส์นของพวกเราก็จักไม่ได้มีแล้ว ชีวิตของพวกเราได้แล้ว เพราะอาศัย

 
  ข้อความที่ 8  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 30 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 207

พระศาสดา ก็ถ้าว่าพระศาสดาได้อยู่ครอบครองราชสมบัติไซร้ บริวารสองพันทวีปก็จักอยู่ในพระหัตถ์ (ในอำนาจ) ของพระองค์ ซึ่งเสวยราชสมบัติในทวีปทั้ง ๔ ทั้งบุตรของพระองค์ก็พึงมีเกินพันแน่ คราวนั้นแหละ พระองค์ก็จักมีกษัตริย์เป็นบริวารเที่ยวเสด็จไป ก็แต่ว่า พระองค์ทรงสละราชสมบัตินั้นแล้วแลเสด็จออกมหาภิเนษกรมณ์ บรรลุสัมโพธิญาณแล้ว แม้ในบัดนี้ก็ขอให้พระองค์มีกษัตริย์เป็นบริวารเสด็จเที่ยวไปเถิด ดังนี้ แล้วถวายพระกุมารตระกูลละ ๒๕๐ องค์.

พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงยังพระกุมารเหล่านั้นให้บวชแล้วเสด็จไปสู่มหาวัน (ป่าใหญ่) ครั้งนั้น ความไม่ยินดียิ่งเกิดขึ้นแล้วแก่ภิกษุเหล่านั้น ผู้บวชด้วยความเคารพตามความพอใจของตน. แม้ภรรยาเก่าของท่านเหล่านั้นก็คิดว่า การครองเรือนอยู่ลำบาก ขอพระลูกเจ้าจงสึกเถิด เป็นต้น แล้วส่งข่าวนั้นไป. ภิกษุเหล่านั้นมีความกระวนกระวายใจเป็นอันมาก.

พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงใคร่ครวญอยู่ทรงทราบแล้วซึ่งความที่ภิกษุเหล่านั้นไม่มีความยินดี ทรงพระดำริว่า พวกภิกษุเหล่านี้อยู่ร่วมกับพระพุทธเจ้าผู้เช่นกับด้วยเรายังกระสันอยู่ (อยากสึก) เอาเถอะ เราจักพรรณนาถึงทะเลสาบแห่งนกดุเหว่าแก่ภิกษุเหล่านั้นแล้วนำไปในที่นั้น ก็จักบรรเทาความไม่ยินดีได้ดังนี้ แล้วได้กล่าวพรรณนาถึงทะเลสาบอันเป็นที่อาศัยอยู่แห่งนกดุเหว่านั้นแก่ภิกษุทั้งหลาย. ภิกษุเหล่านั้นใคร่เพื่อจะเห็นทะเลสาบแห่งนกนั้น.

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสถามว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พวกเธอใคร่เพื่อจะเห็นหรือ.

พวกภิกษุกราบทูลว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า พวกข้าพระองค์ใคร่เพื่อจะเห็น พระเจ้าข้า.

 
  ข้อความที่ 9  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 30 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 208

พระผู้มีพระภาคเจ้า. ถ้าพวกเธอประสงค์อย่างนี้ ก็จงมา เราจักไป.

ภิกษุ. ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า พวกข้าพระองค์จักไปสู่ที่เป็นที่เข้าถึงของบุคคลผู้มีฤทธิ์ได้อย่างไร.

พระผู้มีพระภาคเจ้า. พวกเธอใคร่จะไป เราก็จักพาไปด้วยอานุภาพของเรา.

พระภิกษุ. ดีแล้ว พระเจ้าข้า.

พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพาภิกษุ ๕๐๐ รูป เหาะขึ้นไปในอากาศแล้วหยุดลงที่ทะเลสาบอันเป็นที่อาศัยอยู่แห่งพวกนกดุเหว่า แล้วตรัสกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ในทะเลสาบอันเป็นที่อาศัยอยู่แห่งนกดุเหว่านี้ พวกเธอยังไม่รู้จักชื่อปลาเหล่าใด จงถามเราดังนี้ ภิกษุเหล่านั้นทูลถามแล้วๆ พระผู้มีพระภาคเจ้าก็ตรัสบอกคำอันพวกภิกษุเหล่านั้นทูลถามแล้วๆ อนึ่ง ทรงอนุญาตให้พวกภิกษุเหล่านั้นทูลถามชื่อปลาเหล่านั้นเท่านั้นก็หาไม่ ให้ทูลถามถึงชื่อแห่งต้นไม้ทั้งหลายในไพรสณฑ์นั้นบ้าง ชื่อแห่งพวกนกมีสองเท้าและสี่เท้าบ้าง และก็ตรัสบอกแล้ว.

ลำดับนั้น นกดุเหว่าผู้เป็นสกุณราช เกาะที่ท่อนไม้อันพวกนกเหล่านั้นใช้จงอยปากคาบถือเอาไว้แวดล้อมมาอยู่ด้วยหมู่แห่งนกทั้งสองข้าง คือ ทั้งข้างหน้าและข้างหลัง. พวกภิกษุเห็นนกนั้นแล้วทูลถามว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พวกข้าพระองค์ย่อมสำคัญว่า นกดุเหว่าตัวนั้นจักเป็นราชาแห่งพวกนกเหล่านี้ พวกนกเหล่านี้จักเป็นบริวารของนกนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่าอย่างนั้นนั่นแหละ แม้ข้อนี้ก็เป็นเช่นวงศ์ของพวกเรา เป็นประเพณีของเราเหมือนกัน. ภิกษุกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ในบัดนี้ พวกข้าพระองค์เห็นนกเหล่านี้เท่านั้น แต่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสคำใดว่า แม้นี้ก็เป็นวงศ์ของเราเป็นประเพณีของเราเหมือนกัน ดังนี้ พวกข้าพระองค์ใคร่เพื่อจะสดับ

 
  ข้อความที่ 10  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 30 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 209

ฟังพระดำรัสนั้น. พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พวกเธอต้องการจะฟังหรือ. พวกภิกษุรับพระดำรัสว่า พระพุทธเจ้าข้า. พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ถ้าอย่างนั้น พวกเธอจงฟัง. พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสกุณาลชาดก อันประดับด้วยพระคาถา ๓๐๐ คาถา ทรงบรรเทาแล้วซึ่งความไม่ยินดียิ่งของพวกภิกษุเหล่านั้น.

ในเวลาจบเทศนา ภิกษุแม้ทั้งหมด (๕๐๐) ตั้งอยู่เฉพาะแล้วในโสดาปัตติผล. แม้ฤทธิ์ของภิกษุเหล่านั้นก็มาแล้ว (สำเร็จแล้ว) ด้วยมรรคนั้นนั่นแหละ.

เรื่องของภิกษุทั้งหลาย ขอหยุดไว้เพียงเท่านี้ก่อน จากนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จขึ้นไปในอากาศ ได้เสด็จไปสู่มหาวันแล้วทีเดียว. แม้ภิกษุเหล่านั้น ในเวลาไป ได้ไปด้วยอานุภาพของพระทศพล ในเวลามาได้แวดล้อมพระผู้มีพระภาคเจ้ามาหยั่งลงในมหาวัน ด้วยอานุภาพของตน.

พระองค์เสด็จประทับนั่งบนอาสนะที่ปูลาดไว้แล้วตรัสเรียกภิกษุเหล่านั้นมาด้วยคำว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจงมานั่ง เราจักบอกกรรมฐานแก่พวกเธอซึ่งยังมีกิเลสที่ควรฆ่าด้วยมรรค ๓ เบื้องบน ดังนี้ แล้วตรัสบอกกรรมฐาน. ภิกษุทั้งหลายคิดว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทราบถึงความที่พวกเรามีความไม่ยินดียิ่ง จึงทรงนำมายังทะเลสาบอันเป็นที่อาศัยอยู่แห่งพวกนกดุเหว่า ทรงบรรเทาความไม่ยินดี โดยตรัสกุณาลชาดก เมื่อพวกเราบรรลุโสดาปัตติผลในที่นั้นแล้ว บัดนี้ ได้ประทานกรรมฐานเพื่อบรรลุมรรค ๓ ในที่มหาวันนี้ ก็การที่พวกเราให้เวลาผ่านไปโดยคิดว่า พวกเราเข้าถึงกระแสธรรมแล้ว ดังนี้ ย่อมไม่สมควรเลย การที่พวกเราเป็นเช่นกับพวกชนทั้งหลายก็ไม่สมควร ดังนี้. ภิกษุเหล่านั้นจึงถวายบังคมพระยุคลบาทพระศาสดาแล้วลุกขึ้นจับผ้านิสีทนะสำหรับนั่งสะบัดแล้วปูนั่งในที่เฉพาะตน และนั่งแล้วที่โคนไม้ใกล้เงื้อมเขา.

 
  ข้อความที่ 11  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 30 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 210

พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพระดำริว่า แม้ว่า ภิกษุเหล่านี้จะมีการงานยังไม่คุ้นแล้ว ตามปกติ แต่ชื่อว่าเหตุที่ทำให้ลำบากของภิกษุผู้ได้อุบายแล้ว ย่อมไม่มี เมื่อภิกษุเหล่านี้แยกย้ายกันไปปฏิบัติ เริ่มตั้งวิปัสสนาบรรลุพระอรหัตแล้วก็จักมาสู่สำนักของเรา ด้วยประสงค์ว่า พวกเราจักบอกคุณวิเศษที่ตนแทงตลอดแล้ว ครั้นเมื่อภิกษุเหล่านี้มาแล้ว พวกเทวดาในหมื่นจักรวาลจักประชุมกันในจักรวาลหนึ่ง (นี้) มหาสมัย คือ การประชุมใหญ่ จักมี เราจึงควรนั่งในโอกาสอันสงัด ดังนี้. ลำดับนั้น จึงเสด็จประทับนั่ง ณ พุทธอาสนะในที่อันสงัด.

พระเถระผู้ไปถือเอากรรมฐานก่อนกว่าภิกษุทั้งหมด บรรลุแล้วซึ่งพระอรหัต พร้อมกับปฏิสัมภิทาทั้งหลาย. ต่อจากนั้น ภิกษุอื่นอีกๆ โดยทำนองนี้ ขยายออกไปจนถึง ๕๐๐ รูป บรรลุพระอรหัตพร้อมกับปฏิสัมภิทาทั้งหลาย เหมือนดอกปทุมทั้งหลายขยายออกไปจากกอปทุม ฉะนั้น.

ภิกษุผู้บรรลุพระอรหัตก่อนกว่าภิกษุทั้งปวง คิดว่า เราจักกราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้า ดังนี้ จึงแยกบัลลังก์แล้วลุกขึ้นจับผ้านิสีทนะสะบัดแล้วได้มุ่งหน้าต่อพระทศพลไปแล้ว. ภิกษุอื่นอีกๆ ด้วยอาการอย่างนี้แม้ทั้ง ๕๐๐ รูปได้ไปแล้วโดยลำดับเทียว ราวกะว่า เข้าไปสู่ โรงฉันอาหาร ภิกษุผู้มาก่อนถวายบังคมแล้วปูผ้านิสีทนะ (ผ้าสำหรับรองนั่ง) แล้วก็นั่ง ณ ที่สมควรส่วนข้างหนึ่ง เป็นผู้ใคร่เพื่อจะบอกคุณวิเศษที่ตนแทงตลอดแล้ว และเหลียวกลับแลดูทางที่ตนมา ด้วยคิดว่า ใครๆ อื่นมีอยู่หรือไม่หนอ ดังนี้ ไม่เห็นแล้วแม้บุคคลอื่นเลย เพราะฉะนั้น ภิกษุเหล่านั้น แม้ทั้งหมดมาแล้วนั่งแล้ว ณ ที่สมควรส่วนข้างหนึ่งๆ ภิกษุนี้มาอยู่ก็ไม่บอกแก่ภิกษุนี้ แม้ภิกษุนี้มาแล้วก็ไม่บอกแก่ภิกษุนี้เหมือนกัน ได้ยินว่าอาการ ๒ อย่าง ย่อมมี แก่พระขีณาสพทั้งหลาย คือ ท่านยังจิตให้เกิดขึ้นว่า โอหนอ สัตว์โลก พร้อม

 
  ข้อความที่ 12  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 30 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 211

ทั้งเทวโลกพึงแทงตลอดซึ่งคุณอันเราแทงตลอดได้โดยพลันเหมือนกันเถิด ดังนี้ และพระขีณาสพทั้งหลาย ย่อมไม่ประสงค์จะบอกคุณวิเศษแก่กันและกันเหมือนบุรุษผู้ได้ขุมทรัพย์แล้วไม่บอกขุมทรัพย์อันตนรู้เฉพาะแล้วนั้น.

ก็ครั้นเมื่ออริยมณฑล คือ มรรคอันยังผลให้เกิดขึ้นอย่างนี้ เกิดขึ้นแล้ว มณฑลแห่งพระจันทร์เพ็ญก็ปราศจากเครื่องเศร้าหมองเหล่านี้ คือ หมอกน้ำค้าง ควันไฟ ธุลี และราหู (เจ้าแห่งพวกอสูร) โดยรอบเทือกเขายุคันธรแห่งทิศปราจีน อันประกอบด้วยสิริดุจล้ออันสำเร็จด้วยเงินที่บุคคลจับให้หมุนไปอยู่โลดแล่นขึ้น ดำเนินไปสู่กลางหาว (ท้องฟ้า) เหมือนมณฑลแห่งแว่นใหญ่อันสำเร็จแล้วด้วยเงินที่ยกขึ้นไว้ทางทิศปราจีน เพื่อแสดงถึงสิ่งซึ่งเป็นที่น่าเพลิดเพลินของโลกที่ประดับด้วยพุทธุปบาทนี้ ฉะนั้น.

พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงประทับอยู่ในสักกชนบทชั่วขณะหนึ่ง คือ เป็นเวลาชั่วระยะหนึ่ง ครู่หนึ่งกับด้วยหมู่แห่งภิกษุ ๕๐๐ รูป ซึ่งเป็นหมู่ใหญ่ในป่าใหญ่ใกล้พระนครกบิลพัสดุ์ ภิกษุทั้งหมดนั่นแหละเป็นพระอรหันต์ดังพรรณนามาฉะนี้. พึงทราบความต่อไปอีกว่า แม้พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงอุบัติขึ้นในวงศ์แห่งพระเจ้ามหาสมมต แม้พวกภิกษุ ๕๐๐ รูปเหล่านั้นก็เกิดในตระกูลของพระเจ้ามหาสมมต. พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเกิดในครรภ์แห่งกษัตริย์ แม้ภิกษุเหล่านั้นก็เกิดในครรภ์แห่งกษัตริย์ พระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นราชบรรพชิต แม้ภิกษุเหล่านั้นก็เป็นราชบรรพชิต. พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเศวตฉัตรสละความเป็นพระเจ้าจักรพรรดิอันอยู่ในเงื้อมพระหัตถ์ ผนวชแล้ว แม้ภิกษุเหล่านั้นก็ละเศวตฉัตรสละความเป็นพระราชาทั้งหลายอันอยู่ในเงื้อมมือ บวชแล้ว.

พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเป็นผู้บริสุทธิ์แล้วโดยพระองค์เอง ในโอกาสอันบริสุทธิ์แล้วในส่วนแห่งราตรีอันบริสุทธิ์แล้ว ทรงมีบริวารอันบริสุทธิ์แล้ว ทรงมีราคะปราศจากไปแล้ว มีบริวารซึ่งมีราคะปราศจากไปแล้ว มีโทสะปราศจากไปแล้ว มีบริวารซึ่งมีโทสะปราศจากไปแล้ว มีโมหะปราศ

 
  ข้อความที่ 13  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 30 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 212

จากไปแล้ว มีบริวารซึ่งมีโมหะปราศจากไปแล้ว มีตัณหาออกแล้ว มีบริวารผู้มีตัณหาออกแล้ว ไม่มีกิเลส มีบริวารผู้ไม่มีกิเลส ทรงสงบระงับแล้ว มีบริวารผู้สงบระงับแล้ว ทรงฝึกดีแล้ว มีบริวารที่ฝึกดีแล้ว ทรงเป็นผู้พ้นแล้ว มีบริวารผู้พ้นแล้ว จึงรุ่งโรจน์ยิ่งในป่าใหญ่นั้น ดังนี้.

คำว่า สักกะ นี้มีมากประมาณเพียงไร บัณฑิตพึงกล่าวเพียงนั้น นี้ชื่อว่า วรรณภูมิ.

คำว่า ภิกษุมีประมาณ ๕๐๐ รูปล้วนเป็นพระอรหันต์ นี้ ท่านกล่าวหมายเอาภิกษุเหล่านี้ด้วยประการฉะนี้.

คำว่า เยภุยฺเยน แปลว่า โดยมาก คือได้แก่ พวกเทวดาทั้งหลายที่ประชุมกันมีมาก พวกที่ไม่ได้ประประชุมกันมีน้อย คือ พวกที่เป็นอสัญญสัตว์และเกิดในอรูปาวจรเท่านั้น.

พวกเทวดาหมื่นจักรวาลประชุมกัน

พึงทราบลำดับแห่งเทวดาทั้งหลายที่มาประชุมกันในป่ามหาวัน ดังต่อไปนี้

ได้ยินว่า พวกเทวดาผู้อาศัยอยู่รอบๆ ป่ามหาวัน ส่งเสียงดังว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญทั้งหลาย พวกเราจงมา ชื่อว่าการเห็นพระพุทธเจ้ามีอุปการะมาก การฟังธรรมมีอุปการะมาก การเห็นพระสงฆ์ก็มีอุปการะมาก พวกเราทั้งหลายจงมาๆ เถิด ดังนี้ จึงมาถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้า และพระขีณาสพซึ่งบรรลุพระอรหัตในครู่นั้นแล้วได้ยืนอยู่ ณ ที่สมควรส่วนข้างหนึ่ง. โดยอุบายนี้นั่นแหละ พวกเทวดาทั้งหลายฟังเสียงเทวดาเหล่านั้นสิ้นสามครั้งในหิมวันต์อันแผ่ออกไปสามพันโยชน์ด้วยสามารถแห่งเสียงมีเสียงระหว่างกึ่งคาวุต หนึ่งคาวุต กึ่งโยชน์ หนึ่งโยชน์ เป็นต้น พวกเทวดาในชมพูทวีปทั้งสิ้น คือ ผู้อาศัยอยู่ในพระนคร ๖๓ พัน ที่ลำรางน้ำ ๙๙ แสน ที่เมืองท่า ๙๖ แสน และในที่เป็น

 
  ข้อความที่ 14  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 30 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 213

ที่เกิดแห่งรัตนะ คือ ทะเล ๕๖ แสน ในจักรวาลทั้งสิ้น คือ ในบุพวิเทหะ อมรโคยานะ อุตตรกุรุ และในทวีปเล็ก ๒ พัน ต่อจากนั้น เทวดาที่อยู่ในจักรวาลที่สอง โดยทำนองนี้แหละ. บัณฑิตพึงทราบว่าพวกเทวดาทั้งหลายในหมื่นจักรวาลนาประชุมกันแล้ว ด้วยประการฉะนี้.

ก็หมื่นจักรวาลในที่นี้ ท่านประสงค์เอาโลกธาตุสิบ ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า ทสหิ จ โลกธาตูหิ เทวตา เยภุยฺเยน สนฺนิปติกา โหนฺติ (แปลว่า ก็เทวดามาแต่โลกธาตุสิบแล้วประชุมกันโดยมาก) ครั้นเมื่อความเป็นอย่างนี้ ห้องแห่งจักรวาลทั้งสิ้น ก็เต็มไปด้วยเทวดาทั้งหลายผู้มาประชุมกันแล้วตั้งแต่พรหมโลกมา ราวกะเข็มที่บุคคลทะยอยใส่ในกล่องเข็มโดยไม่ขาดระยะฉะนั้น.

ในที่นี้นั้น พึงทราบความสูงของพรหมโลก อย่างนี้ว่า

ได้ยินว่า ในโลหะปราสาท มีก้อนหินเท่าเรือนยอดแห่งบรรพต ตั้งอยู่ในพรหมโลก ทิ้งก้อนหินนั้นลงมายังโลกมนุษย์นี้ ๔ เดือน จึงตกถึงแผ่นดิน. ในโอกาส คือ ที่ว่างอันกว้างใหญ่อย่างนี้ บุคคลยืนอยู่ข้างล่างขว้างปาดอกไม้หรือต้นไม้ย่อมไม่ได้เพื่อไปในเบื้องบน หรือยืนอยู่เบื้องบนเอาเมล็ดพรรณผักกาดโยนไปข้างล่าง ย่อมไม่ได้ช่องเพื่อตกไปในเบื้องล่างได้ ด้วยอาการอย่างนี้ เทวดาทั้งหลายได้มาไม่ขาดระยะจนหาที่ว่างมิได้.

อนึ่ง ที่เป็นที่ประทับนั่งของพระเจ้าจักรพรรดิ ย่อมไม่คับแคบ กษัตริย์ทั้งหลายผู้มีศักดิ์ใหญ่เสด็จมาแล้วๆ ย่อมได้โอกาส คือช่องว่าง ทีเดียว ความคับแคบยิ่งข้างนี้และข้างนี้ย่อมไม่มีฉันใด ข้อนี้ก็ฉันนั้นแหละ ที่เป็นที่ประทับนั่งของพระผู้มีพระภาคเจ้า ไม่คับแคบ ไม่มีสิ่งขัดขวาง พวกเทวดาผู้มีศักดิ์ใหญ่ และพวกพรหมทั้งหลายมาแล้วๆ ยังที่ประทับของพระผู้มีพระภาคเจ้าย่อมไม่มีสิ่งขัดขวางย่อมได้โอกาส คือ ช่องว่างทีเดียว.

 
  ข้อความที่ 15  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 30 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 214

ได้ยินว่า พวกเทพทั้งหลาย ๑๐ องค์บ้าง ๒๐ องค์บ้าง เนรมิตอัตภาพให้เล็ก แล้วอยู่ในที่สักว่าเจาะเข้าไปเท่าปลายขน ณ ที่ใกล้พระผู้มีพระภาคเจ้าก็มี. พวกเทพ ๖๐ พวก ได้ยืนอยู่ข้างหน้าของเทวดาทั้งปวง.

บทว่า สุทฺธาวาสกายิกานํ แปลว่า ผู้อยู่ในสุทธาวาส. พรหมโลก ๕ ชั้น อันเป็นที่อยู่แห่งพระอนาคามีและพระขีณาสพทั้งหลาย ชื่อว่า สุทธาวาส.

บทว่า เอตทโหสิ แปลว่า พวกพรหมได้มีความดำริ.

ถามว่า เพราะเหตุไร พวกพรหมจึงมีความดำริ.

ตอบว่า ได้ยินว่า พวกพรหมเหล่านั้นเข้าสมาบัติและก็ออกตามที่กำหนดไว้ แล้วแลดูภพของพรหมทั้งหลายได้เห็นความว่างเปล่า เหมือนเรือนภัตในเวลาที่บุคคลกินแล้ว (ในเวลาภายหลังแห่งภัต) ทีนั้น จึงพิจารณาดูว่าพวกพรหมเหล่านี้ไปไหน ทราบแล้วซึ่งสมาคมใหญ่ว่า สมาคมนี้ พวกเราโดยมากซึ่งถูกปล่อยทิ้งไว้ข้างหลังแล้ว ก็โอกาสของบุคคลผู้ล้าหลังย่อมหาได้ยาก เพราะฉะนั้น พวกเราเมื่อไปก็จะไม่ไปมือเปล่า ควรแต่งคาถาองค์ละคาถาแล้วจักไป พวกเราจักให้เขารู้ซึ่งความที่ตนมาแล้วในสมาคมใหญ่ ด้วยคาถานี้ และจะกล่าวพรรณนาคุณของพระทศพล ดังนี้ด้วยประการฉะนี้ ความดำรินี้จึงได้มีแล้ว เพราะความที่พวกพรหมเหล่านั้นออกจากสมาบัติแล้ว พิจารณา.

พระบาลีว่า ภควโต ปุรโต ปาตุรหํสุ แปลความว่า มาปรากฏอยู่เฉพาะหน้าของพระผู้มีพระภาคเจ้า คือได้แก่ พวกพรหมที่กล่าวคาถาในสำนักพระผู้มีพระภาคเจ้า เหมือนหยั่งลงในที่เฉพาะหน้า. ก็เนื้อความอย่างนี้ในที่นี้ไม่พึงเข้าใจอย่างนั้น ก็พวกพรหมเหล่านั้นดำรงอยู่ในพรหมโลกนั่นแหละร้อยกรองคาถาทั้งหลายแล้ว องค์หนึ่งหยั่งลงที่ขอบจักรวาลด้านปุรัตถิมทิศ (ทิศตะวันออก) องค์หนึ่งหยั่งลงที่ขอบจักรวาลด้านทักษิณ (ทิศใต้) องค์หนึ่งหยั่งลงที่ขอบจักรวาลด้านปัจฉิม (ทิศตะวันตก) องค์หนึ่งหยั่งลงที่ชอบจักรวาลด้านอุดร (ทิศเหนือ).

 
  ข้อความที่ 16  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 30 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 215

ลำดับนั้น พระพรหมผู้หยั่งลงที่ขอบจักรวาลด้านปุรัตถิมทิศ เข้าสมาบัติมีนีลกสิณเป็นอารมณ์ แล้วปล่อยรัศมีสีเขียวยังเทวดาในหมื่นจักรวาลให้รู้ซึ่งความที่ตนมาแล้ว เหมือนบุคคลสวมใส่อยู่ซึ่งหนังสำเร็จแล้วด้วยแก้วมณีธรรมดาว่า พุทธวิถีใครๆ ก็ไม่อาจเพื่อจะให้ยิ่งกว่า เพราะฉะนั้น พรหมจึงมาตามพุทธวิถีอันตนไม่สามารถผ่านไป ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้วได้ยืนอยู่ ณ ที่สมควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นยืนอยู่ ณ ที่สมควรแล้วก็ได้ภาษิตคาถาที่ตนแต่งมา.

พระพรหมองค์หนึ่งซึ่งหยั่งลงที่ขอบจักรวาลด้านทักษิณ เข้าสมาบัติมีปิตกสิณเป็นอารมณ์เดียว ปล่อยรัศมีสีทอง ยังพวกเทวดาในหมื่นจักรวาลให้รู้ซึ่งความที่ตนมาแล้ว เหมือนบุคคลห่มผ้าสีทองอยู่ แล้วได้กระทำเหมือนอย่างนั้นนั่นแหละ (เหมือนองค์ก่อน).

พระพรหมผู้หยั่งลงที่ขอบจักรวาลด้านปัจฉิม เข้าสมาบัติมีโลหิตกสิณเป็นอารมณ์ แล้วปล่อยรัศมีสีแดง ยังพวกเทวดาในหมื่นจักรวาลให้รู้ซึ่งความที่ตนมาแล้ว เหมือนบุคคลพันกายอยู่ด้วยผ้ากัมพลอันประเสริฐซึ่งมีสีแดง แล้วกระทำเหมือนอย่างนั้นนั่นแหละ.

พระพรหมผู้หยั่งลงที่ขอบจักรวาลด้านอุดร เข้าสมาบัติโอทาตกสิณแล้วปล่อยรัศมีสีขาว ยังพวกเทวดาในหมื่นจักรวาลให้รู้ซึ่งความที่ตนมาแล้วเหมือนบุคคลห่มอยู่ซึ่งแผ่นผ้าดอกมะลิ แล้วได้ทำเหมือนอย่างนั้นเหมือนกัน.

แต่ในพระบาลีกล่าวว่า ในครั้งนั้นแหละ พวกเทวดา ๔ องค์นั้นได้หายจากหมู่พรหมชั้นสุทธาวาส มาปรากฏอยู่เฉพาะพระพักตร์พระผู้มีพระภาคเจ้า ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้วได้ยืนอยู่ ณ ที่สมควรส่วนข้างหนึ่ง ดังนี้ ราวกะในขณะเดียวกันทั้ง ๔ องค์ คือว่า ความปรากฏเฉพาะพระพักตร์ด้วยความเป็นคือถวายบังคมแล้วได้ยืนอยู่ ณ ที่สมควรส่วนข้างหนึ่งด้วย ที่แท้นั้น พระพรหมนั้นได้มีแล้ว โดยลำดับตามที่กล่าวแล้วนี้

 
  ข้อความที่ 17  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 30 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 216

ท่านกล่าวแสดงกระทำรวมกัน. ก็การกล่าวคาถาของเทวดาทั้ง ๔ นั้น แม้ในพระบาลีท่านก็กล่าวไว้คนละส่วนเหมือนกัน.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า มหาสมโย แก้เป็น มหาสมูโห แปลว่า การประชุมใหญ่. พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเรียก ป่าใหญ่ ว่าไพรสณฑ์. แม้ด้วยคำทั้งสองนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าก็ตรัสว่า การประชุมกัน คือ การประชุมใหญ่ในไพรสณฑ์ ในวันนี้ ดังนี้.

ลำดับนั้น เพื่อแสดงถึงเทวดาที่ประชุมกันจึงกล่าวว่า เทวกายา สมาคตา แปลว่า พวกเทวดามาประชุมกันแล้ว.

บรรดาคำเหล่านั้น คำว่า เทวกายา แก้เป็น เทวฆฎา แปลว่า พวกเทวดา.

บทว่า อาคตมฺห อิมํ ธมฺมสมยํ แปลว่า พวกข้าพเจ้ามาแล้วสู่ที่ชุมนุมอันเป็นธรรมนี้ ความว่า เพราะเห็นหมู่เทวดามาประชุมกันแล้วอย่างนี้ แม้พวกข้าพเจ้าก็มาแล้ว สู่ที่ประชุมอันเป็นธรรมนี้.

ถามว่าเพราะเหตุไร.

ตอบว่า เพราะเพื่อจะเยี่ยมพระสงฆ์ผู้อันใครๆ ให้แพ้ไม่ได้.

บทว่า ทกฺขิตาเยว อปราชิตสํฆํ แปลว่า เพื่อจะเยี่ยมหมู่พระอันใครๆ ให้แพ้ไม่ได้นี้ อธิบายว่า พวกข้าพเจ้ามาแล้วเพื่อจะเห็นพระสงฆ์ผู้อันใครๆ ให้แพ้ไม่ได้ ผู้มีสงครามอันตนย่ำยีมารทั้งสามชนะได้แล้วในวันนี้แล.

ก็พรหมนั้น ครั้นกล่าวคาถานี้แล้ว ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้วได้ยืนอยู่ ณ ขอบจักรวาลด้านปุรัตถิมทิศ.

ลำดับนั้น พรหมองค์ที่สองก็มาแล้วโดยนัยที่กล่าวแล้วนั่นแหละ ได้กล่าวคาถาว่า ตตฺร ภิกฺขโว สมาทหํสฺ ฯเปฯ รกฺขนฺติ ปณฺฑิตา แปลความว่า

ภิกษุทั้งหลายในที่ประชุมนั้นตั้งมั่นแล้ว ได้ทำจิตของตนให้ตรงแล้ว ภิกษุทั้งปวงนั้นเป็นบัณฑิต ย่อมรักษาอินทรีย์ทั้งหลาย ดุจดังว่านายสารถีถือบังเหียน ฉะนั้น.

 
  ข้อความที่ 18  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 30 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 217

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ตตฺร ภิกฺขโว แก้เป็น ตสฺมิํ สนฺนิปาตฏฺาเน ภิกฺขู แปลว่า ภิกษุทั้งหลายในที่ประชุมนั้น.

บทว่าสมาทหํสุ แปลว่า ตั้งจิตมั่นแล้ว คือได้แก่ ประกอบแล้วด้วยสมาธิ.

บทว่า อตฺตโน อุชุกมกํสุ แปลว่า ได้ทำจิตของตนให้ตรงแล้ว อธิบายว่าละแล้วซึ่งจิตทั้งปวงของตน อันเป็นส่วนที่คดโค้งที่ไม่ตรงแล้ว ทำให้ตรง.

บทว่า สารถีว เนตฺตานิ คเหตฺวา แปลว่า นายสารถีถือบังเหียนอธิบายว่า เมื่อม้าสินธพวิ่งไปดีแล้ว นายสารถีผู้มีปะฏักห้อยลงแล้ว ถือเอาซึ่งบังเหียนทั้งปวงแล้ว ไม่เตือนอยู่ ไม่เหยียดปะฏักออกอยู่ ถือบังเหียนมั่นอยู่ฉันใด ภิกษุ ๕๐๐ รูป ทั้งหมดเหล่านี้ ประกอบด้วยฉฬังคุเบกขา มีทวารอันคุ้มครองแล้ว เป็นบัณฑิตย่อมรักษาอินทรีย์ทั้งหลาย ฉันนั้น ด้วยอาการอย่างนี้แหละ เทวดาทั้งหลายจึงกล่าวว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า พวกข้าพระองค์มาแล้วในที่นี้เพื่อเห็นภิกษุเหล่านั้น. แม้เทวดาองค์นั้น ไปแล้วก็ยืนอยู่ในที่สมควรนั่นแหละ.

ลำดับนั้น พรหมองค์ที่สามก็มาแล้วโดยนัยที่กล่าวแล้วนั่นแหละ ได้กล่าวคาถาว่า เฉตฺวา ขีลํ เฉตฺวา ปลีฆํ ฯเปฯ สุสู นาคา แปลว่า

ภิกษุทั้งหลายนั้นตัดกิเลสดังตะปูเสียแล้ว ตัดกิเลสดังว่าลิ่มสลักเสียแล้ว ถอนกิเลสดังว่าเสาเขื่อนเสียแล้ว มิได้มีความหวั่นไหว เป็นผู้หมดจด ปราศจากมลทิน อันพระพุทธเจ้าผู้มีจักษุทรงฝึกดีแล้ว เป็นหมู่นาคหนุ่มไปอยู่.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า เฉตฺวา ขีลํ แปลว่า ตัดกิเลสดังตะปูเสียแล้ว คือว่า ตัดราคะโทสะและโมหะเพียงดังตะปูเสียแล้ว.

บทว่า

 
  ข้อความที่ 19  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 30 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 218

ปลีฆํ แปลว่า ลิ่มสลัก ได้แก่ ราคะโทสะและโมหะนั่นแหละเป็นดังลิ่มสลัก.

บทว่า อินฺทขีลํ แปลว่า เสาเขื่อน ได้แก่ ราคะโทสะและโมหะนั่นแหละเป็นดังเสาเขื่อน.

บทว่า โอหจฺจมเนชา แปลว่า มิได้มีความหวั่นไหว อธิบายว่า ภิกษุเหล่านี้มิได้มีความหวั่นไหว ด้วยความหวั่นไหว คือ ตัณหาเป็นผู้ดึงขึ้นแล้ว ถอนขึ้นแล้วซึ่งตัณหา เพียงดังเสาเขื่อน.

บทว่า เต จรนฺติ แปลว่า ภิกษุเหล่านั้นเที่ยวไปอยู่ อธิบายว่า ย่อมเที่ยวจาริกไปโดยไม่ถูกกระทบกระเทือนแล้วในทิศทั้ง ๔.

บทว่า สุทฺธา แปลว่า เป็นผู้หมดจด ได้แก่ เป็นผู้ไม่มีอุปกิเลส.

บทว่า วิมลา แปลว่า ปราศจากมลทิน คือ ไม่มีมลทิน.

คำว่า ปราศจากมลทินนี้เป็นไวพจน์ของคำว่า เป็นผู้หมดจดแล้วนั้นนั่นแหละ.

บทว่า จกฺขุมา แปลว่า ผู้มีจักษุ คือได้แก่ ผู้มีจักษุ ๕.

บทว่า สุทนฺตา แปลว่า ฝึกดีแล้ว ได้แก่ ฝึกแล้วทางจักษุบ้าง ทางโสตบ้าง ทางฆานะบ้าง ทางชิวหาบ้าง ทางกายบ้าง และทางใจบ้าง.

บทว่า สุสู นาคา แปลว่า เป็นหมู่นาคหนุ่ม ได้แก่ เป็นนาครุ่นหนุ่ม.

พึงทราบวจนัตถะในคำว่า นาคะนั้น ดังนี้.

ฉนฺทาทีหิ น คจฺฉนฺตีติ นาคา

ชนเหล่าใด ย่อมไม่ลำเอียง ด้วยอคติทั้งหลายมีฉันทะเป็นต้น เหตุนั้น ชนเหล่านั้น จึงชื่อว่า นาคา.

เตน เตน มคฺเคน ปหีเน กิเลเส น อาคจฺฉนฺตีติ นาคา

ชนเหล่าใด ย่อมไม่มาสู่กิเลสทั้งหลายอันมรรคนั้นๆ ละแล้ว เหตุนั้น ชนเหล่านั้น จึงชื่อว่า นาคา.

นานปฺปการํ อาคุํ น กโรนฺตีติ นาคา

ชนเหล่าใด ย่อมไม่กระทำความผิดมีประการต่างๆ เหตุนั้น ชนเหล่านั้น จึงชื่อว่า นาคา.

 
  ข้อความที่ 20  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 30 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 219

นี้เป็นเนื้อความย่อในคำว่า นาคะ นี้ ส่วนความพิสดาร พึงทราบโดยนัยที่กล่าวไว้ในมหานิทเทส.

อีกอย่างหนึ่ง พึงทราบเนื้อความอย่างนี้ในที่นี้ว่า บุคคลย่อมไม่ทำความชั่ว ย่อมไม่ติดในเครื่องผูกอันประกอบไว้ในโลกอย่างใดๆ ในที่ทั้งปวง เป็นผู้หลุดพ้นแล้ว ท่านเรียกว่า นาคะ คือ ผู้คงที่มั่นคง.

ในบทว่า สุสูนาคา นี้อธิบายว่า หมู่นาคหนุ่ม ถึงแล้วซึ่งสมบัติแห่งความเป็นนาคะ ดังนี้. พวกเทวดาเหล่านั้น กล่าวว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า พวกข้าพระองค์มาแล้วเพื่อเยี่ยมพวกนาคหนุ่มอันอาจารย์ผู้มีความเพียรชั้นยอดเห็นปานนี้ฝึกแล้ว แม้พรหมองค์นั้นก็ได้ไปยืนอยู่ในที่สมควรนั่นแหละ.

ลำดับนั้น พรหมองค์ที่ ๔ มาแล้วโดยนัยที่กล่าวแล้วนั่นแหละได้กล่าวคาถาว่า เยเกจิ พุทฺธํ สรณํ คตาเส เป็นต้น แปลความว่า

ชนเหล่าใดเหล่าหนึ่งถึงแล้วซึ่งพระพุทธเจ้าเป็นสรณะ ชนเหล่านั้นจักไม่ไปสู่อบายภูมิ ละร่างกายอันเป็นของมนุษย์แล้วจักยังหมู่เทวดาให้บริบูรณ์.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า คตาเส แปลว่า ถึงแล้ว ได้แก่ ถึงสรณคมน์อันปราศจากความแคลงใจ. แม้พรหมนั้นก็ได้ยืนอยู่ในที่สมควรนั่นแหละดังนี้แล.

จบอรรถกถาสมยสูตรที่ ๗