พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๘. สกลิกสูตร เทวดาสรรเสริญความอดทน

 
บ้านธัมมะ
วันที่  28 ส.ค. 2564
หมายเลข  36199
อ่าน  544

[เล่มที่ 24] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 220

๘. สกลิกสูตร

เทวดาสรรเสริญความอดทน


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 24]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 30 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 220

๘. สกลิกสูตร

เทวดาสรรเสริญความอดทน

[๑๒๒] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้ :-

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ มิคทายวัน ในสวนมัททกุจฉิ กรุงราชคฤห์ ก็โดยสมัยนั้นแล พระบาทของพระผู้มีพระภาคเจ้าถูกสะเก็ดหินกระทบแล้ว ได้ยินว่า เวทนาทั้งหลาย ของพระผู้มีพระภาคเจ้ามาก เป็นความลำบากมีในพระสรีระ กล้าแข้ง เผ็ดร้อน ไม่สำราญ ไม่ทรงสบาย ได้ยินว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงมีพระสติสัมปชัญญะอดกลั้นเวทนาทั้งหลาย ไม่ทรงเดือดร้อน ในครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้ารับสั่งให้ปูผ้าสังฆาฏิสี่ชั้น ทรงสำเร็จสีหไสยาสน์โดยพระปรัศว์เบื้องขวา ซ้อนพระบาทเหลื่อมด้วยพระบาท ทรงมีพระสติสัมปชัญญะอยู่.

[๑๒๓] ครั้งนั้นแล เมื่อปฐมยามล่วงไปแล้ว พวกเทวดาสตุลลปกายิกาเจ็ดร้อย มีวรรณะงาม ยังสวนมัททกุจฉิทั้งสิ้นให้สว่าง เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นแล้วถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้วได้ยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง.

[๑๒๔] เทวดาองค์หนึ่งครั้นยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้ว ได้เปล่งอุทานนี้ในสำนักพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า พระสมณโคดมผู้เจริญ เป็นนาคหนอ ก็แหละพระสมณโคดม ทรงมีพระสติสัมปชัญญะ ทรงอดกลั้นซึ่งเวทนาทั้งหลายอันมีในพระสรีระเกิดขึ้นแล้ว เป็นความลำบาก กล้าแข็ง เผ็ดร้อน ไม่สำราญ ไม่ทรงสบาย ด้วยความที่พระสมณโคดมเป็นนาค มิได้ทรงเดือดร้อน.

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 30 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 221

[๑๒๕] ในครั้งนั้นแล เทวดาอื่นอีก ได้เปล่งอุทานนี้ในสำนักพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า พระสมณโคดมผู้เจริญ เป็นสีหะหนอ ก็แหละพระสมณโคดมทรงมีพระสติสัมปชัญญะอดกลั้นซึ่งเวทนาทั้งหลายอันมีในพระสรีระเกิดขึ้นแล้ว เป็นความลำบาก กล้าแข็ง เผ็ดร้อน ไม่สำราญ ไม่ทรงสบาย ด้วยความที่พระสมณโคดมเป็นสีหะ มิได้ทรงเดือดร้อน.

[๑๒๖] ในครั้งนั้นแล เทวดาอื่นอีก ได้เปล่งอุทานนี้ในสำนักพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า พระสมณโคดมผู้เจริญ เป็นอาชาไนยหนอ ก็แหละพระสมณโคดมทรงมีพระสติสัมปชัญญะอดกลั้นเวทนาทั้งหลายอันมีในพระสรีระเกิดขึ้นแล้ว เป็นความลำบาก กล้าแข็ง เผ็ดร้อน ไม่สำราญ ไม่ทรงสบาย ด้วยความที่พระสมณโคดมเป็นอาชาไนย มิได้ทรงเดือดร้อน.

[๑๒๗] ในครั้งนั้นแล เทวดาอื่นอีก ได้เปล่งอุทานนี้ในสำนักพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า พระสมณโคดมผู้เจริญ เป็นผู้องอาจหนอ ก็แหละพระสมณโคดมทรงมีพระสติสัมปชัญญะอดกลั้นซึ่งเวทนาทั้งหลาย อันมีในพระสรีระเกิดขึ้นแล้ว เป็นความลำบาก กล้าแข็ง เผ็ดร้อน ไม่สำราญ ไม่ทรงสบาย ด้วยความที่พระสมณโคดมเป็นผู้องอาจ มิได้ทรงเดือดร้อน.

[๑๒๘] ในครั้งนั้นแล เทวดาอื่นอีก ได้เปล่งอุทานนี้ในสำนักพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า พระสมณโคดมผู้เจริญ เป็นผู้ใฝ่ธุระหนอ ก็แหละพระสมณโคดมทรงมีพระสติสัมปชัญญะอดกลั้นเวทนาทั้งหลายอันมีในพระสรีระเกิดขึ้นแล้ว เป็นความลำบาก กล้าแข็ง เผ็ดร้อน ไม่สำราญ ไม่ทรงสบาย ด้วยความที่พระสมณโคดมเป็นผู้ใฝ่ธุระ มิได้ทรงเดือดร้อน.

[๑๒๙] ในครั้งนั้นแล เทวดาอื่นอีก ได้เปล่งอุทานนี้ในสำนักพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า พระสมณโคดมผู้เจริญ เป็นผู้ฝึกแล้วหนอ ก็แหละพระสมณโคดมทรงมีพระสติสัมปชัญญะ อดกลั้นซึ่งเวทนาทั้งหลายอันมีใน

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 30 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 222

พระสรีระเกิดขึ้นแล้ว เป็นความลำบาก กล้าแข็ง เผ็ดร้อน ไม่สำราญ ไม่ทรงสบาย ด้วยความที่พระสมณโคดมเป็นผู้ฝึกแล้ว มิได้ทรงเดือดร้อน.

[๑๓๐] ในครั้งนั้นแล เทวดาอื่นอีก ได้เปล่งอุทานนี้ในสำนักพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ท่านทั้งหลายจงดูสมาธิที่พระสมณโคดมให้เจริญดีแล้ว อนึ่ง จิตพระสมณโคดมให้พ้นดีแล้ว อนึ่ง จิตเป็นไปตามราคะ พระสมณโคดมไม่ให้น้อมไปเฉพาะแล้ว อนึ่ง จิตเป็นไปตามโทสะ พระสมณโคดมไม่ให้กลับมาแล้ว อนึ่ง จิตพระสมณโคดมหาต้องตั้งใจข่ม ต้องคอยห้ามกันไม่ บุคคลใดพึงสำคัญพระสมณโคดมผู้เป็นบุรุษนาค เป็นบุรุษสีหะ เป็นบุรุษอาชาไนย เป็นบุรุษองอาจ เป็นบุรุษใฝ่ธุระ เป็นบุรุษฝึกแล้วเห็นปานนี้ว่าเป็นผู้อันตนพึงล่วงเกิน บุคคลนั้นจะเป็นอะไรนอกจากไม่มีตา.

เทวดานั้นครั้นกล่าวดังนี้แล้ว ได้กล่าวคาถาทั้งหลายนี้ว่า

พราหมณ์ทั้งหลายมีเวทห้า มีตบะ ประพฤติอยู่ตั้งร้อยปี แต่จิตของพราหมณ์เหล่านั้นไม่พ้นแล้วโดยชอบ พราหมณ์เหล่านั้นมีจิตเลว ย่อมไม่ลุถึงฝั่ง.

พราหมณ์เหล่านั้น เป็นผู้อันตัณหาครอบงำแล้ว เกี่ยวข้องด้วยพรตและศีล ประพฤติตบะอันเศร้าหมองอยู่ตั้งร้อยปี แต่จิตของพราหมณ์เหล่านั้นไม่พ้นแล้วโดยชอบ พราหมณ์เหล่านั้นมีจิตเลวย่อมไม่ลุถึงฝั่ง.

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 30 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 223

ความฝึกฝนย่อมไม่มีแก่บุคคลที่ใคร่มานะ ความรู้ย่อมไม่มีแก่บุคคลที่มีจิตไม่ตั้งมั่น บุคคลผู้เดียวเมื่ออยู่ในป่า ประมาทอยู่แล้ว ไม่พึงข้ามพ้นฝั่งแห่งแดนมัจจุได้.

บุคคลละมานะแล้ว มีจิตตั้งมั่นดีแล้ว มีจิตดี พ้นในธรรมทั้งปวงแล้วผู้เดียวอยู่ในป่า ไม่ประมาทแล้ว บุคคลนั้นพึงข้ามพ้นฝั่งแห่งแดนมัจจุได้.

อรรถกถาสกลิกสูตร

พึงทราบวินิจฉัยในสกลิกสูตรที่ ๘ ต่อไป :-

บทว่า มัททกุจฉิ ได้แก่ สวนอันมีชื่ออย่างนี้.

จริงอยู่ สวนนั้นเมื่อพระเจ้าอชาตศัตรูบังเกิดในครรภ์แล้ว พระมารดาของพระเจ้าอชาตศัตรูนั้นมีความประสงค์จะให้ครรภ์ตกไป ด้วยทรงดำริว่า ครรภ์อันอยู่ในท้องของเรานี้จักเป็นศัตรูของพระราชา จะมีประโยชน์อะไรด้วยครรภ์นี้ ดังนี้ จึงให้ทำลายครรภ์ในสวนนั้น เพราะเหตุนั้น สวนนั้น จึงชื่อว่า มัททกุจฉิ ดังนี้.

ก็ป่าที่ท่านเรียกว่า มิคทาย เพราะความที่ป่านั้น อันพระราชาพระราชทาน เพื่อความปลอดภัยแห่งเนื้อทั้งหลาย.

ในบทว่า ก็โดยสมัยนั้นแล นี้เป็นอนุปุพพิกถา คือ วาจาเป็นเครื่องกล่าวโดยลำดับ.

 
  ข้อความที่ 5  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 30 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 224

ก็พระเทวทัตอาศัยพระเจ้าอชาตศัตรูแล้ว แม้ส่งนายขมังธนูทั้งหลายและช้างธนปาลกะไปแล้ว ก็ไม่อาจเพื่อทำอันตรายชีวิตของพระตถาคตได้ จึงคิดว่า เราจักยังพระตถาคตให้ตายด้วยมือของเราทีเดียว ดังนี้ ขึ้นสู่ภูเขาคิชฌกูฏแล้วยกศิลาใหญ่ประมาณเรือนยอดขว้างไป ด้วยคิดว่า พระสมณโคดม จงแหลกละเอียด ดังนี้. ได้ยินว่า พระเทวทัตนั้นมีกำลังมาก ย่อมทรงกำลังถึงช้างพลายห้าเชือก. ก็แล อันตรายแห่งชีวิตของพระพุทธเจ้าทั้งหลายที่จะพึงมีได้ด้วยความพยายามของบุคคลอื่น ข้อนั้นแลเป็นอฐานะ คือ เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ เพราะฉะนั้น ศิลาอื่นจึงตั้งขึ้นในอากาศแล้วรับศิลาก้อนนั้นซึ่งมาอยู่ตรงพระสรีระของพระตถาคต. สะเก็ดแผ่นหินอันใหญ่ตั้งขึ้นแล้ว เพราะศิลาทั้งสองกระทบกัน จึงกระเด็นไปถูกที่สุดแห่งหลังพระบาทของพระผู้มีพระภาคเจ้า. พระบาทมีพระโลหิตห้อขึ้นราวกะถูกประหารด้วยขวานใหญ่ ราวกะย้อมด้วยน้ำเหลวของครั่ง.

พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแลดูเบื้องบนแล้วได้ตรัสกะพระเทวทัตว่า ท่านใด มีจิตประทุษร้ายแล้ว มีจิตฆ่าทำโลหิตของตถาคตให้ตั้งขึ้น (ให้ห้อ) ดูก่อนโมฆบุรุษ ท่านนั้นประกอบสิ่งที่มิใช่บุญเป็นอันมากดังนี้ ตั้งแต่นั้นมาความไม่ผาสุกได้เกิดขึ้นแล้วแก่พระผู้มีพระภาคเจ้า.

พวกภิกษุคิดว่า วิหารนี้เป็นที่ดอน ไม่เรียบ ไม่เหมาะแก่ชนจำนวนมากมีกษัตริย์ เป็นต้น และแก่บรรพชิตทั้งหลาย. ภิกษุเหล่านั้นจึงช่วยกันหามพระตถาคตด้วยเสลี่ยงแห่งเตียงน้อยนำไปสู่สวนชื่อว่า มัททกุจฉิ.

ด้วยเหตุนั้นแหละ ท่านพระอานนท์เถระ จึงกล่าวว่า ก็โดยสมัยนั้นแหละ พระบาทของพระผู้มีพระภาคเจ้าถูกสะเก็ดหินกระทบแล้ว.

บทว่า ภูสา แปลว่า มาก คือ มีกำลังยิ่ง.

บทว่า สุทํ สักว่า เป็นนิบาติ.

บทว่า ทุกฺขา แปลว่า ลำบาก ได้แก่ไม่มีความสุข.

บทว่า ติปฺปา แปลว่า กล้า ได้แก่

 
  ข้อความที่ 6  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 30 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 225

มีมาก.

บทว่า ขรา แปลว่า แข็ง ได้แก่ หยาบ.

บทว่า กฏุกา แปลว่า เผ็ดร้อน ได้แก่ กล้าแข็ง.

บทว่า อาสาตา แปลว่า ไม่สำราญ ได้แก่ ไม่ชุ่มชื่น.

ชื่อว่า ไม่ทรงสบาย เพราะอรรถว่า ใจย่อมไม่แนบสนิทในอารมณ์เหล่านั้น อารมณ์เหล่านั้นไม่ยังใจให้เอิบอาบ คือ ไม่ให้เจริญ.

บทว่า สโต สมฺปชาโน แปลว่า มีพระสติสัมปชัญญะ ได้แก่ เป็นผู้ประกอบด้วยพระสติและสัมปชัญญะอดกลั้นในเวทนา.

บทว่า อวิหญฺมาโนปิ แปลว่า ไม่ทรงเดือดร้อน คือ ไม่ถูกบีบคั้นอยู่ ไม่ไปสู่อำนาจแห่งเวทนาทั้งหลายอันให้เป็นไป.

ในบทว่า สีหเสยฺยํ นี้ ได้แก่ การนอน ๔ อย่าง คือ

กามโภคีเสยฺยา คือ การนอนของผู้มีปกติเสพกาม

เปตเสยฺยา คือ การนอนของเปรต (ผู้ตายแล้ว)

สีหเสยฺยา คือ การนอนของสีหะ

ตถาคตเสยฺยา คือ การนอนของพระตถาคต.

ในการนอน ๔ เหล่านั้น การนอนที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สัตว์ผู้บริโภคกามโดยมากย่อมนอนโดยข้างเบื้องซ้าย (ตะแคงซ้าย) นี้ชื่อว่า กามโภคีไสยา.

จริงอยู่ในบรรดาสัตว์ผู้บริโภคกามเหล่านั้นชื่อว่า การนอนโดยข้างเบื้องขวา (ตะแคงขวา) มีไม่มาก.

การนอนที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เปรตทั้งหลาย โดยมากย่อมนอนหงาย นี้ชื่อว่า เปตเสยยา.

จริงอยู่ เปรตทั้งหลายย่อมไม่อาจเพื่อนอนโดยข้างหนึ่งได้ เพราะความที่ตนมีเนื้อและเลือดน้อย เพราะความที่โครงกระดูกยุ่งเหยิง จึงนอนหงายเท่านั้น.

การนอนที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สีหมิคราช โดยมาก ให้หางของตนเข้าไปในระหว่างขาอ่อน แล้วนอนตะแคงขวา นี้ชื่อว่า สีหไสยา.

จริงอยู่ สีหมิคราชมีอำนาจมาก เมื่อจะนอนก็วาง

 
  ข้อความที่ 7  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 30 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 226

เท้าหน้า ๒ เท้าไว้ที่หนึ่ง วาง ๒ เท้าหลังไว้ที่หนึ่ง แล้วเอาหางใส่ไว้ระหว่างขาอ่อน กำหนดโอกาสที่วางเท้าหน้า เท้าหลังและหางไว้ แล้ววางศีรษะไว้บนเท้าหน้าทั้งสองแล้วนอน ครั้นนอนแม้ทั้งวัน เมื่อตื่นก็ไม่ตกใจตื่น คือว่ายกศีรษะขึ้นกำหนดโอกาสที่วางเท้าหน้า เป็นต้น ถ้าอะไรๆ ตั้งผิดไป ก็จะไม่มีใจเป็นของๆ ตน จะเสียใจว่า เหตุนี้ ไม่สมควรแก่ชาติของท่าน (ของตน) ทั้งไม่สมควรแก่ความเป็นผู้กล้าหาญ ดังนี้ ย่อมนอนเหมือนอย่างนั้น ไม่ยอมไปหาอาหาร ก็แต่เมื่ออวัยวะมีเท้าหน้า เป็นต้น ตั้งไว้เรียบร้อย ก็จะมีใจร่าเริงว่าเหตุนั้น สมควรแก่ชาติของท่าน และสมควรแก่ความเป็นผู้กล้าหาญ ลุกขึ้นบิดกายแบบราชสีห์ สะบัดขนสร้อยคอบันลือสีหนาทแล้วก็ออกไปโคจร (หาอาหาร).

การนอนในฌานที่ ๔ ตรัสเรียกว่า ตถาคตไสยา. ในการนอนทั้ง ๔ นั้น การนอนดังสีหะมาในสูตรนี้.

จริงอยู่ การนอนนี้ ชื่อว่า การนอนอันอุดม เพราะความที่การนอนนั้นเป็นอิริยาบถอันมีอำนาจมาก.

บทว่า ปาเท ปทํ ได้แก่ วางเท้าซ้ายบนเท้าขวา.

บทว่า อจฺจาธาย แปลว่า ซ้อนเท้า ได้แก่ เหลื่อมเท้ากันหน่อยหนึ่ง เพราะว่า ข้อเท้ากระทบกับข้อเท้า เข่ากระทบกับเข่า เวทนาย่อมเกิดบ่อยๆ จิตก็จะไม่ตั้งมั่น การนอนก็ไม่ผาสุก คือว่า การนอนย่อมไม่ติดต่อกัน การเหลื่อมเท้าแล้ววางอย่างนี้ เวทนาย่อมไม่เกิด จิตย่อมตั้งมั่น เพราะฉะนั้น จึงนอนอย่างนี้.

บทว่า สโต สมฺปชาโน ได้แก่ มีสติสัมปชัญญะกำหนดในการนอน.

ก็บทว่า อุฏฺานสญฺํ แปลว่า มีความสำคัญในการที่จะลุกขึ้นนี้ ท่านไม่ได้กล่าวไว้ในที่นี้.

ก็การสำเร็จสีหไสยาของพระตถาคตนั้น เป็นการนอนเพราะประชวร.

ครั้งนั้นแล เมื่อปฐมยามล่วงไปแล้ว พวกเทวดาสตุลลปกายิกาเจ็ดร้อยมีวรรณะงาม ยังสวนมัททกุจฉิทั้งสิ้นให้สว่าง เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นแล้วถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาคเจ้า แล้วได้ยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง

 
  ข้อความที่ 8  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 30 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 227

บทว่า สตฺตสตา แปลว่า เจ็ดร้อย คือ เทวดาเหล่านั้นแม้ทั้งหมดในพระสูตรนี้ มาสู่ที่เป็นที่บรรทมประชวร.

บทว่า อุทานํ อุทาเนสิ แปลว่า ได้เปล่งอุทาน ได้แก่ พวกเทวดาผู้มาสู่ที่บรรทมประชวรแล้ว จะพึงมีโทมนัสนั่นแหละได้เปล่งแล้ว อธิบายว่า ก็พวกเทวดาเหล่านั้น เห็นความอดกลั้นต่อเวทนาของพระตถาคตแล้วจึงเปล่งอุทานว่า โอ ความที่พระพุทธเจ้าทั้งหลายมีอานุภาพมาก เมื่อเวทนาชื่อเห็นปานนี้เป็นไปอยู่แม้สักว่าการครางก็มิได้มี ทรงบรรทมด้วยพระวรกายอันไม่หวั่นไหวราวกะรูปอันสำเร็จด้วยทองที่บุคคลประดับแล้วตั้งไว้บนที่นอนอันเป็นสิริ บัดนี้ พระสรีระของพระผู้มีพระภาคเจ้าย่อมรุ่งโรจน์ยิ่ง ดุจพระจันทร์เพ็ญสมบูรณ์ด้วยรัศมี พระพักตร์ของพระผู้มีพระภาคเจ้าก็งดงาม ดุจดอกปทุมกำลังแย้มบาน ในขณะนี้ แม้วรรณะแห่งพระวรกายก็ผ่องใส ดุจทองคำที่หลอมดีแล้ว ดังนี้.

ก็ในบทว่า นาโค วต โภ แปลว่า พระสมณโคดมผู้เจริญ เป็นนาคหนอ นี้เป็นคำร้องเรียกพระผู้มีพระภาคเจ้าโดยธรรม. อธิบายว่า ชื่อว่านาคะ เพราะอรรถว่ามีกำลัง.

บทว่า นาควตา แก้เป็น นาคภาเวน แปลว่า เพราะความเป็นนาคะ.

ในครั้งนั้นแล เทวดาอื่นอีก ได้เปล่งอุทานนี้ในสำนักพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า

พระสมณโคดม ทรงเป็นสีหะหนอ...

พระสมณโคดม ทรงเป็นอาชาไนยหนอ..

พระสมณโคดม ทรงเป็นผู้อาจหนอ...

พระสมณโคดม ทรงเป็นผู้ใฝ่ธุระหนอ...

พระสมณโคดม ทรงเป็นผู้ฝึกแล้วหนอ...

พึงทราบวินิจฉัยในบทว่า สีโห วต เป็นต้น ชื่อว่า สีหะ เพราะอรรถว่า เป็นผู้ไม่สะดุ้งตกใจ.

ชื่อว่า อาชาไนย เพราะอรรถว่าปฏิบัติหน้าที่

 
  ข้อความที่ 9  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 30 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 228

ด้วยความเฉลียวฉลาด หรือเพราะรู้ถึงเหตุ.

ชื่อว่า นิสภะ คือ ผู้องอาจเพราะอรรถว่า หาผู้เปรียบเสมอมิได้.

จริงอยู่ โคอุสภะเป็นสัตว์ประเสริฐเป็นหัวหน้าในฝูงแห่งโคร้อยตัว โคอาสภะ เป็นสัตว์ประเสริฐสุดเป็นหัวหน้าในฝูงแห่งโคพันตัว โคนิสภะ บัณฑิต กล่าวว่าเป็นสัตว์ประเสริฐสุดกว่าฝูงแห่งโคร้อยตัวและพันตัว.

ก็พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงปฏิญญา คือ รับรองอาสภฐาน (ฐานะอันประเสริฐ) เพราะอรรถว่าหาผู้เปรียบเสมอมิได้.

ในที่นี้ เทวดากล่าวคำว่า นิสภศัพท์ ด้วยอรรถนั้นนั่นแหละ.

ชื่อว่า เป็นผู้ใฝ่ธุระ เพราะอรรถว่านำธุระไป.

ชื่อว่า เป็นผู้ฝึกแล้ว เพราะอรรถว่า มีการเสพผิดออกแล้ว.

บทว่า ปสฺส แปลว่า จงดู ได้แก่ เป็นคำสั่งที่ไม่มีกำหนด.

บทว่า สมาธิํ ได้แก่ สมาธิในอรหัตตผล.

บทว่า สุวิมุตฺติ แปลว่า ให้พ้นดีแล้ว ได้แก่ ให้พ้นดีแล้วด้วยความพ้นของผลจิต. อนึ่ง จิตเป็นไปตามราคะพระสมณโคดมไม่ให้น้อมไปแล้ว และจิตเป็นไปตามโทสะ พระสมณโคดมไม่ให้กลับมาแล้วนี้ เทวดากล่าวว่า ไม่ให้น้อมไปเฉพาะแล้วและไม่ให้กลับมาแล้ว เพราะความไม่มีจิตทั้งสองนั้น.

บทว่า น จ สสงฺขารนิคฺคยฺห วาริตวตํ ได้แก่ ไม่ต้องข่มไม่ต้องห้ามกิเลสทั้งหลายอันเป็นไปกับสัมปโยคะ อันเป็นไปกับด้วยสังขาร. คือ จิตตั้งมั่นเป็นไปกับด้วยผลสมาธิ เพราะท่านตัดกิเลสทั้งหลายแล้ว.

บทว่า อติกฺกมิตพฺพํ แปลว่า เป็นผู้อันตนพึงล่วงเกิน คือว่า พึงเป็นผู้อันตนข่มได้อันตนพึงเบียดเบียนได้.

บทว่า อทสฺสนา ได้แก่ ไม่มีญาณ จริงอยู่ บุคคลผู้ไม่มีญาณ ก็ต้องเป็นอันธพาลเท่านั้น.

คำว่า เอวรูเป สตฺถริ อปรชฺเฌยฺย ความว่า เทวดาทั้งหลายย่อมกล่าวติเตียนพระเทวทัตว่า เมื่อพระศาสดามีคุณเห็นปานนี้ ท่านยังทำอันตรายได้ ดังนี้.

บทว่า ปญฺจเวทา แปลว่า มีเวท ๕ ได้แก่ เป็นผู้ทรงไว้ซึ่งเวททั้งหลาย มีอิติหาสเวทเป็นที่ ๕

 
  ข้อความที่ 10  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 30 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 229

(คือความรู้ทางประเพณีเป็นที่ ๕).

บทว่า สตํ สมํ แก้เป็น วสฺสสตํ แปลว่า ร้อยปี.

บทว่า ตปสฺสี แปลว่า มีตบะ ได้แก่ อาศัยตบะ.

บทว่า จรํ แก้เป็น จรนฺตา แปลว่า ประพฤติอยู่.

บทว่า น สมฺมา วิมุตฺตํ แปลว่า ไม่พ้นแล้วโดยชอบ อธิบายว่า แม้พราหมณ์ทั้งหลายเห็นปานนี้ประพฤติพรตอยู่ตั้งร้อยปี ถึงอย่างนั้น จิตของพราหมณ์นั้นก็ไม่พ้นแล้วโดยชอบ.

บทว่า หีนตฺตรูปา น ปารํ คมา เต แปลว่า พราหมณ์เหล่านั้นมีรูปอันเลว ย่อมไม่ลุถึงฝั่ง อธิบายว่า พราหมณ์เหล่านั้นมีสภาวะอันเลว ย่อมไม่ลุถึงพระนิพพาน.

พระบาลีว่า หีนตฺถรูปา ดังนี้ก็มี อธิบายว่าพราหมณ์เหล่านั้นมีชาติอันเลว มีประโยชน์อันเสื่อมรอบแล้ว.

บทว่า คณฺหาธิปนฺนา แก้เป็น ตณฺหาย อชฺโฌตฺถตา แปลว่า พราหมณ์เหล่านั้น เป็นผู้อันตัณหาครอบงำแล้ว.

บทว่า วตฺตสีลพทฺธา แปลว่าเกี่ยวข้องแล้วด้วยพรตและศีล อธิบายว่า พราหมณ์เหล่านั้นเป็นผู้อันพรตทั้งหลาย มีความประพฤติดังแพะ และประพฤติดังสุนัข เป็นต้น และศีลทั้งหลายเช่นนั้นแหละผูกพันไว้แล้ว.

บทว่า ลูขํ ตปํ แปลว่า ตบะอันเศร้าหมอง ได้แก่ ตบะซึ่งมีความพอใจในการย่างตน ๕ อย่าง มีการนอนบนหนาม เป็นต้น.

บัดนี้ เทวดานั้น เมื่อจะกล่าวถึงความที่ศาสนาเป็นนิยานิกธรรม จึงกล่าวคำว่า น มานกามสฺส เป็นอาทิ.

คำนั้น มีเนื้อความได้กล่าวไว้แล้วแล.

จบอรรถกถาสกลิกสูตรที่ ๘