พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๑๐. ฆฏิกรสูตร ว่าด้วยภิกษุ ๗ รูป ตัดเครื่องผูก

 
บ้านธัมมะ
วันที่  28 ส.ค. 2564
หมายเลข  36211
อ่าน  598

[เล่มที่ 24] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 265

๑๐. ฆฏิกรสูตร

ว่าด้วยภิกษุ ๗ รูป ตัดเครื่องผูก


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 24]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 30 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 265

๑๐. ฆฏิกรสูตร

ว่าด้วยภิกษุ ๗ รูป ตัดเครื่องผูก

[๑๕๒] ฆฏิกรพรหมกราบทูลว่า

ภิกษุ ๗ รูป ผู้เข้าถึงพรหมโลกชื่อว่า อวิหา เป็นผู้หลุดพ้นแล้ว มีราคะ โทสะสิ้นแล้ว ข้ามเครื่องเกาะเกี่ยวในโลกได้แล้ว.

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสถามว่า

ก็ภิกษุเหล่านั้น คือผู้ใดบ้าง ผู้ข้ามเครื่องข้องเป็นบ่วงของมารที่ข้ามได้แสนยาก ละกายของมนุษย์แล้วก้าวล่วงซึ่งทิพยโยคะ.

ฆฏิกรพรหมกราบทูลว่า

คือท่านอุปกะ ๑ ท่านผลคัณฑะ ๑ ท่านปุกกุสาติ ๑ รวมเป็น ๓ ท่าน ท่านภัททิยะ ๑ ท่านขัณฑเทวะ ๑ ท่านพหุทันตี ๑ ท่านสิงคิยะ ๑ (รวมเป็น ๗ ท่าน) ท่านเหล่านั้นล้วนแต่ละกายของมนุษย์ก้าวล่วงทิพยโยคะได้แล้ว.

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 30 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 266

[๑๕๓] พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสถามว่า

ท่านเป็นผู้มีความฉลาด กล่าวสรรเสริญภิกษุเหล่านั้น ผู้ละบ่วงมารได้แล้ว ภิกษุเหล่านั้นตรัสรู้ธรรมของใครเล่าจึงตัดเครื่องผูกคือภพเสียได้.

[๑๕๔] ฆฏิกรพรหมกราบทูลว่า

ท่านเหล่านั้น ตรัสรู้ธรรมของผู้ใดจึงตัดเครื่องผูกคือภพเสียได้ ผู้นั้นไม่มีอื่นไปจากพระผู้มีพระภาคเจ้า และธรรมนั้นไม่มีอื่นไปจากคำสั่งสอนของพระองค์.

นามและรูปดับไม่เหลือในธรรมใด ท่านเหล่านั้นได้รู้ธรรมนั้นในพระศาสนานี้ จึงตัดเครื่องผูกคือภพเสียได้.

[๑๕๕] พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสถามว่า

ท่านกล่าววาจาลึกรู้ได้ยาก เข้าใจให้ดีได้ยาก ท่านรู้ธรรมของใคร จึงกล่าววาจาเช่นนี้ได้.

[๑๕๖] ฆฏิกรพรหมกราบทูลว่า

เมื่อก่อนข้าพระองค์เป็นช่างหม้อทำหม้ออยู่ในเวภฬิงคชนบท เป็นผู้เลี้ยงมารดาและบิดา ได้เป็นอุบาสกของพระกัสสปพุทธเจ้า เป็นผู้เว้นจากเมถุนธรรม เป็นผู้ประพฤติพรหมจรรย์ ไม่เกี่ยวด้วย

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 30 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 267

อามิส ได้เคยเป็นคนร่วมบ้านกับพระองค์ ทั้งได้เคยเป็นสหายของพระองค์ในกาลปางก่อน ข้าพระองค์รู้จักภิกษุ ๗ รูปเหล่านี้ ผู้หลุดพ้นแล้ว มีราคะและโทสะสิ้นแล้ว ผู้ข้ามเครื่องข้องในโลกได้แล้ว.

[๑๕๗] พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า

แนะนายช่างหม้อ ท่านกล่าวเรื่องอย่างใด เรื่องนั้นได้เป็นจริงแล้วอย่างนั้นในกาลนั้น เมื่อก่อนท่านเคยเป็นช่างหม้อทำหม้ออยู่ในเวภฬิงคชนบท เป็นผู้เลี้ยงมารดาและบิดา เป็นอุบาสกของพระกัสสปพุทธเจ้า เป็นผู้เว้นจากเมถุนธรรม เป็นผู้ประพฤติพรหมจรรย์ ไม่เกี่ยวด้วยอามิส ได้เป็นคนเคยร่วมบ้านกันกับเรา ทั้งได้เคยเป็นสหายของเราในปางก่อน.

พระสังคีติกาจารย์กล่าวว่า

สหายเก่าทั้งสอง ผู้มีตนอันอบรมแล้ว ทรงไว้ซึ่งสรีระมีในที่สุด ได้มาพบกันด้วยอาการอย่างนี้.

จบฆฏิกรสูตร

จบอาทิตตวรรคที่ ๕

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 30 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 268

อรรถกถาฆฏิกรสูตร

พึงทราบวินิจฉัยในฆฏิกรสูตรที่ ๑๐ ต่อไป :-

บทว่า ผู้เข้าถึง ได้แก่ เข้าถึงแล้วด้วยอำนาจแห่งความเกิดขึ้น.

บทว่า เป็นผู้หลุดพ้นแล้ว ได้แก่ เป็นผู้หลุดพ้นแล้ว ด้วยความหลุดพ้นแห่งพระอรหัตตผลในระหว่างแห่งเวลาใกล้ชิดกับความอุบัติขึ้นในอวิหาพรหมโลก.

ในข้อนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสสังโยชน์เบื้องต่ำ ๕ อย่างนี้ว่า มานุสํ เทหํ แปลว่า กายของมนุษย์.

ตรัสสังโยชน์อันเป็นส่วนเบื้องบน ๕ อย่าง ด้วยบทว่า ทิพฺพโยคํ แปลว่า ทิพยโยคะ นี้.

บทว่า อุปจฺจคุํ แปลว่า ก้าวล่วงแล้ว.

บทว่า ท่านอุปกะ เป็นต้น เป็นชื่อของพระเถระเหล่านั้น.

บทว่า ความฉลาด ในคำว่า ท่านเป็นผู้มีความฉลาด กล่าวสรรเสริญภิกษุเหล่านั้น นี้มีอยู่แก่บุคคลนี้ใด เพราะเหตุนั้น บุคคลนั้น จึงชื่อว่า มีความฉลาด อธิบายว่า ท่านเป็นผู้มีความฉลาด มีวาจาไม่มีโทษ กล่าวชมเชยสรรเสริญพระเถระเหล่านั้น คือว่า ตรัสว่า ดูก่อนเทวบุตร ท่านเป็นผู้ฉลาด.

บทว่า ตํ เต ธมฺมํ อิธญฺาย ความว่า พระเถระเหล่านั้นรู้ธรรมนั้นในพระศาสนาของพระองค์นี้.

บทว่า คมฺภีรํ ได้แก่ มีอรรถอันลึก.

บทว่า ผู้ประพฤติพรหมจรรย์ไม่เกี่ยวด้วยอามิส ความว่า ชื่อว่า ผู้ประพฤติพรหมจรรย์ไม่เกี่ยวด้วยอามิส คือ พระอนาคามี. อธิบายว่า ได้สำเร็จเป็นพระอนาคามีแล้ว.

บทว่า อหุวา แปลว่า ได้เคยเป็นแล้ว.

บทว่า สคาเมยฺโย แปลว่า ได้เคยเป็นคนร่วมบ้านกับพระองค์.

ปริโยสานคาถา พระสังคีติกาจารย์ทั้งหลายกล่าว.

จบอรรถกถาฆฏิกรสูตรที่ ๑๐

จบอาทิตตวรรคที่ ๕

 
  ข้อความที่ 5  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 30 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 269

สูตรที่กล่าวในอาทิตตวรรคนั้น คือ

๑. อาทิตตสูตร

๒. กินททสูตร

๓. อันนสูตร

๔. เอกมูลสูตร

๕. อโนมิยสูตร

๖. อัจฉราสูตร

๗. วนโรปสูตร

๘. เชตวนสูตร

๙. มัจฉริสูตร

๑๐. ฆฏิกรสูตร

พร้อมทั้งอรรถกถา.