๕. ภีตสูตร
[เล่มที่ 24] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 305
๕. ภีตสูตร
อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 24]
พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 305
๕. ภีตสูตร
[๒๐๗] เทวดาทูลถามว่า
ประชุมชนเป็นอันมากในโลกนี้ กลัวอะไรหนอ มรรคเท่านั้น พระพุทธเจ้าตรัสไว้ด้วยเหตุมิใช่น้อย ข้าแต่พระโคดมผู้มีปัญญาดุจแผ่นดิน ข้าพระองค์ขอถามถึงเหตุนั้น ว่าบุคคลตั้งอยู่ในอะไรแล้ว ไม่พึงกลัวปรโลก.
[๒๐๘] พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสตอบว่า
บุคคลตั้งวาจาและใจไว้โดยชอบ มิได้ทำบาปด้วยกาย อยู่ครอบครองเรือนที่มีข้าวและน้ำมาก เป็นผู้มีศรัทธา เป็นผู้อ่อนโยน มีปกติเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ทราบถ้อยคำ ผู้ที่ตั้งอยู่ในธรรม ๔ อย่างเหล่านี้ ชื่อว่าผู้ดำรงในธรรม ไม่ต้องกลัวปรโลก.
พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 306
อรรถกถภีตสูตร
พึงทราบวินิจฉัยในภีตสูตรที่ ๕ ต่อไป :-
บทว่า กิํสูธ ภีตา แก้เป็น กิํ ภีตา แปลว่า กลัวอะไร.
บทว่า มคฺโค วเนกายตนํ ปวุตฺโต แปลว่า มรรคเท่านั้น พระพุทธเจ้าตรัสไว้ด้วยเหตุมิใช่น้อย อธิบายว่า พระผู้มีพระภาคเจ้า ตรัสไว้ด้วยเหตุเป็นเครื่องกระทำมิใช่น้อย ด้วยสามารถแห่งอารมณ์ ๓๘ ครั้นเมื่อเป็นเช่นนั้น เทวดาจึงกล่าวว่า ประชุมชนนี้ยึดถือทิฏฐิ ๖๒ กลัวแล้วต่ออะไร ดังนี้.
บทว่า ภูริปญฺา แปลว่า มีปัญญาดุจแผ่นดิน ชื่อว่า มีปัญญามาก มีปัญญาหนาแน่น.
บทว่า ปรโลกํ น ภาเย แปลว่า ไม่พึงกลัวปรโลก คือว่า เมื่อไปสู่ปรโลก จากโลกนี้ ไม่พึงกลัว.
บทว่า ปณิธาย แปลว่า ตั้งไว้แล้ว.
บทว่า ฆรมาวสนฺโต แปลว่า อยู่ครอบครองเรือน อธิบายว่า บุคคลผู้อยู่ครอบครองเรือนที่มีข้าวและน้ำมาก ดุจชนทั้งหลาย มีอนาถบิณฑิกเศรษฐี เป็นต้น.
บทว่า สํวิภาคี แปลว่า มีปกติเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ อธิบายว่า เป็นผู้ยังวัตถุแม้อันตนถือเอาเพียงนิ้วมือ ก็ยังแบ่งด้วยเล็บให้แก่คนอื่นแล้วจึงบริโภค.
บทว่า วทญฺญู มีเนื้อความได้กล่าวไว้แล้ว.
บัดนี้ พึงยกองค์ (ส่วนประกอบ) แห่งคาถาขึ้นแสดงต่อไป.
จริงอยู่ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสวาจาสุจริต ๔ อย่าง ที่บุคคลศึกษาแล้ว ด้วยคำว่า วาจา นี้ และตรัสมโนสุจริต ๓ ด้วยคำว่า ใจ. ตรัสกายสุจริต ๓ อย่างด้วยคำว่า กาย.
กุศลกรรมบถ ๑๐ เหล่านี้ ชื่อว่าเป็นองค์ ที่บริสุทธิ์ในเบื้องต้น ด้วยประการฉะนี้.
ด้วยบทว่า อยู่ครอบครองเรือนที่มีข้าวและน้ำมาก
พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 307
นี้ พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงถือเอาสิ่งที่นำมาเป็นเครื่องบูชาอันสำเร็จแล้วด้วยการให้.
บทว่า ศรัทธา เป็นองค์อันหนึ่ง.
บทว่า ผู้อ่อนโยน เป็นองค์อันหนึ่ง.
บทว่า เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ เป็นองค์อันหนึ่ง.
บทว่า วทญฺญู (ผู้ทราบถ้อยคำ) เป็นองค์อันหนึ่ง.
เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่าผู้ตั้งอยู่ในธรรม ๔ เหล่านี้ หมายเอาองค์ ๔ เหล่านี้.
อีกปริยายหนึ่ง บทว่า วาจา เป็นต้น เป็นองค์ ๓.
อนึ่ง ด้วยบทว่า มีข้าวและน้ำมาก นี้ทรงถือเอาสิ่งที่เขานำมาเป็นเครื่องบูชา.
เป็นผู้มีศรัทธา เป็นผู้อ่อนโยน มีปกติเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ทราบถ้อยคำ ทั้ง ๔ นี้ เป็นองค์อันหนึ่ง.
ชื่อว่านัยที่สองอีกปริยายหนึ่ง คือ บทว่า วาจา หรือว่า ใจ นี้เป็นองค์หนึ่ง.
บทว่า มิได้ทำบาปด้วยกาย อยู่ครอบครองเรือนที่มีข้าวและน้ำมาก นี้เป็นองค์อันหนึ่ง.
บทว่า มีศรัทธา มีความอ่อนโยน เป็นองค์อันหนึ่ง.
บทว่า มีปกติ เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ทราบถ้อยคำ นี้เป็นองค์อันหนึ่ง.
ผู้ที่ตั้งอยู่ในธรรม ๔ อย่างเหล่านี้ ชื่อว่า ผู้ดำรงอยู่ในธรรม.
ก็บุคคลนั้น เมื่อไปสู่ปรโลกจึงไม่กลัว ดังนี้.
จบอรรถกถาภีตสูตรที่ ๕