พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๗. อิสสรสูตร

 
บ้านธัมมะ
วันที่  29 ส.ค. 2564
หมายเลข  36239
อ่าน  478

[เล่มที่ 24] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 310

๗. อิสสรสูตร


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 24]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 30 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 310

๗. อิสสรสูตร

[๒๑๑] เทวดาทูลถามว่า

อะไรหนอเป็นใหญ่ในโลก อะไรหนอเป็นสูงสุดแห่งภัณฑะทั้งหลาย อะไรหนอเป็นดังสนิมศัสตราในโลก อะไรหนอเป็นเสนียดในโลก ใครหนอนำของไปอยู่ย่อมถูกห้าม แต่ใครนำไปกลับเป็นที่รัก ใครหนอมาหาบ่อยๆ บัณฑิตย่อมยินดีต้อนรับ.

[๒๑๒] พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสตอบว่า

อำนาจเป็นใหญ่ในโลก หญิงเป็นสูงสุดแห่งภัณฑะทั้งหลาย ความโกรธเป็นดังสนิมศัสตราในโลก พวกโจรเป็นเสนียดในโลก โจรนำของไปอยู่ย่อมถูกห้าม แต่สมณะนำไปกลับเป็นที่รัก สมณะมาหาบ่อยๆ บัณฑิตย่อมยินดีต้อนรับ.

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 30 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 311

อรรถกถาอิสสรสูตร

พึงทราบวินิจฉัยในอิสสรสูตรที่ ๗ ต่อไป:-

บทว่า สตฺถมลํ ได้แก่ ศัสตราที่มีสนิมเกาะแล้ว.

บทว่า กิํสุหรนฺตํ วาเรนฺติ คือ ย่อมป้องกันมิให้นำไป.

บทว่า วโส ได้แก่ ความเป็นไปทั่วแห่งอำนาจ.

บทว่า อิตฺถี ความว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า หญิง เป็นสูงสุดแห่งภัณฑะทั้งหลาย คือ เป็นภัณฑะอันประเสริฐ เพราะเป็นภัณฑะที่ไม่พึงทอดทิ้ง.

อีกอย่างหนึ่ง พระโพธิสัตว์ทั้งหลายและพระเจ้าจักรพรรดิแม้ทั้งหมด ย่อมเกิดในท้องของมารดาเท่านั้น เพราะฉะนั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า หญิงเป็นสูงสุดแห่งภัณฑะทั้งหลาย ดังนี้.

บทว่า โกโธ สตฺถมลํ อธิบายว่า ความโกรธเช่นกับด้วยศัสตราอันสนิมเกาะกินแล้ว.

อีกอย่างหนึ่ง เป็นสนิมของศัสตรา คือ ปัญญา เพราะฉะนั้นจึงตรัสว่า สนิมของศัสตรา ดังนี้.

บทว่า อพฺพุทํ ได้แก่ เป็นเหตุแห่งความพินาศ อธิบายว่า พวกโจรเป็นผู้ทำความพินาศในโลก.

บทว่า หรนฺโต ความว่า ถือเอาวัตถุทั้งหลายมีสลากภัต เป็นต้น ไปอยู่.

จริงอย่างนั้น สมณะเมื่อนำวัตถุทั้งหลาย มีสลากภัต เป็นต้น เหล่านั้น อันมนุษย์ทั้งหลายสละถวายแล้วในเวลาที่ตั้งไว้นั่นแหละไป ชื่อว่า ย่อมเป็นที่รักของมนุษย์เหล่านั้น. เมื่อสมณะไม่นำวัตถุไป พวกมนุษย์ย่อมเป็นผู้วิปปฏิสาร (เดือดร้อน) เพราะอาศัยความเสื่อมจากบุญ (ที่จะได้).

จบอรรถกถาอิสสรสูตรที่ ๗