พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๑๐. ปัชโชตสูตร

 
บ้านธัมมะ
วันที่  29 ส.ค. 2564
หมายเลข  36242
อ่าน  443

[เล่มที่ 24] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 315

๑๐. ปัชโชตสูตร


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 24]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 30 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 315

๑๐. ปัชโชตสูตร

[๒๑๗] เทวดาทูลถามว่า

อะไรหนอ เป็นแสงสว่างในโลก อะไรหนอ เป็นธรรมเครื่องตื่นอยู่ในโลก อะไรหนอ เป็นสหายในการงานของผู้เป็นอยู่ด้วยการงาน อะไรหนอ เป็นเครื่องสืบต่อชีวิตของเขา อะไรหนอ บุคคลผู้เกียจคร้านบ้าง ไม่เกียจคร้านบ้าง ย่อมพะนอเลี้ยงดุจมารดาเลี้ยงดูบุตร เหล่าสัตว์มีชีวิตที่อาศัยแผ่นดิน อาศัยอะไรหนอเลี้ยงชีวิต.

[๒๑๘] พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสตอบว่า

ปัญญาเป็นแสงสว่างในโลก สติเป็นธรรมเครื่องตื่นอยู่ในโลก ฝูงโคเป็นสหายในการงานของผู้เป็นอยู่ด้วยการงาน ไถเป็นเครื่องต่อชีวิตของเขา ฝนย่อมเลี้ยงบุคคลผู้เกียจคร้านบ้าง ไม่เกียจคร้านบ้าง เหมือนมารดาเลี้ยงบุตร เหล่าสัตว์มีชีวิตที่อาศัยแผ่นดิน อาศัยฝนเลี้ยงชีวิต.

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 30 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 316

อรรถกถาปัชโชตสูตร

พึงทราบวินิจฉัยในปัชโชตสูตรที่ ๑๐ ต่อไป :-

บทว่า แสงสว่าง ได้แก่ แสงสว่างดุจประทีป.

บทว่า เครื่องตื่นอยู่ ได้แก่ ย่อมเป็นดุจชาคริกพราหมณ์ (พราหมณ์ผู้ตื่นอยู่).

บทว่า ฝูงโคเป็นสหายในการงานของผู้เป็นอยู่ อธิบายว่า ฝูงโคเท่านั้นเป็นสหายในการงาน ชื่อว่า มีการงานเป็นเพื่อนสอง ในการงานของพวกชนที่มีชีวิตอยู่กับการงาน คือว่า พวกเขาย่อมยังกสิกรรม เป็นต้น ให้สำเร็จกับด้วยโคมณฑลทั้งหลาย.

บทว่า สิตสฺส อิริยาปโถ ได้แก่ ไถเป็นอิริยาบถ คือ เป็นเครื่องสืบต่อแห่งชีวิตของหมู่สัตว์นั้น.

บทว่า สิตํ แปลว่า คันไถ. เพราะว่า นาของชาวนาคนใด แม้มีประมาณน้อย ย่อมไม่ทำการไถแล้ว เขาย่อมกล่าวว่าเราจักเป็นอยู่ได้อย่างไร ดังนี้.

จบอรรถกถาปัชโชติสูตรที่ ๑๐