พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๑. ปฐมกัสสปสูตร

 
บ้านธัมมะ
วันที่  29 ส.ค. 2564
หมายเลข  36244
อ่าน  453

[เล่มที่ 24] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 320

เทวปุตตสังยุต

วรรคที่ ๑

๑. ปฐมกัสสปสูตร


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 24]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 30 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 320

เทวปุตตสังยุต

วรรคที่ ๑

๑. ปฐมกัสสปสูตร

[๒๒๑] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้ :-

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ในพระวิหารเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี กรุงสาวัตถี.

ครั้งนั้น กัสสปเทวบุตร เมื่อสิ้นราตรีปฐมยาม มีวรรณะอันงามยิ่งนัก ทำพระวิหารเชตวันทั้งสิ้นให้สว่าง เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า ถวายบังคมแล้วได้ยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง กัสสปเทวบุตรได้ทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงประกาศภิกษุไว้แล้ว แต่ไม่ทรงประกาศคำสั่งสอนของภิกษุ.

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ดูก่อนกัสสปเทวบุตร ถ้าอย่างนั้นคำสั่งสอนนั้น จงแจ่มแจ้ง ณ ที่นี้เถิด.

[๒๒๒] กัสสปเทวบุตร ได้ทูลว่า

บุคคลพึงศึกษาคำสุภาษิต ศึกษาการเข้าไปนั่งใกล้สมณะ ศึกษาการนั่งในที่เร้นลับแต่ผู้เดียว และศึกษาการสงบระงับจิต.

พระศาสดาได้ทรงพอพระทัย.

ลำดับนั้น กัสสปเทวบุตรทราบว่า พระศาสดาทรงโปรดเราแล้ว จึงถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้าทำประทักษิณแล้วอันตรธานไปในที่นั้นเอง.

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 30 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 321

อรรถกถาปฐมกัสสปสูตร

พึงทราบวินิจฉัยในกัสสปสูตรที่ ๑ วรรคที่ ๑ ต่อไป :-

บทว่า เทวปุตฺโต ความว่า บุรุษผู้เกิดที่ตักเทวดา ชื่อว่า เทพบุตร สตรีผู้เกิดที่ตักเทวดา ชื่อว่า เทพธิดา.

เทวดาที่ไม่ปรากฏนามท่านเรียกว่า เทวดาองค์หนึ่ง เทพที่ปรากฏนาม ท่านเรียกว่า เทพบุตรมีชื่ออย่างนี้. เพราะฉะนั้น เทวดาองค์ใดองค์หนึ่ง ท่านกล่าวไว้ในหนหลังแล้ว ในสูตรนี้จึงกล่าวว่า เทพบุตร.

บทว่า อนุสาสํ แปลว่า คำสั่งสอน.

เขาว่า เทพบุตรองค์นี้ได้ฟังว่าพระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงทำยมกปาฏิหาริย์ในพรรษาที่ ๗ นับแต่ตรัสรู้ ทรงเข้าจำพรรษา ณ เทวบุรี (ดาวดึงส์) แสดงพระอภิธรรม ตรัสภิกขุนิทเทสไว้ในฌานวิภังค์อย่างนี้ว่า บทว่า ภิกฺขุ ได้แก่ ชื่อว่า ภิกษุเพราะสมัญญา ชื่อว่า ภิกษุ เพราะปฏิญญา แต่เทพบุตรนั้น ไม่ได้ฟังคำโอวาทภิกษุ คำสั่งสอนภิกษุ อย่างนี้ว่า พวกเธอจงตรึกอย่างนี้ อย่าตรึกอย่างนี้ จงใส่ใจอย่างนี้ อย่าใส่ใจอย่างนี้ จงละข้อนี้ จงเข้าถึงข้อนี้อยู่.

เทพบุตรนั้น หมายเอาข้อนั้น จึงกล่าวว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงประกาศภิกษุไว้ ไม่ทรงประกาศคำสั่งสอนของภิกษุ.

บทว่า เตนหิ ความว่า ก็เพราะเหตุที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่าเราไม่ประกาศคำสั่งสอนของภิกษุฉะนั้น.

บทว่า ตญฺเเวตฺถปฏิภาตุ ความว่า การประกาศคำสั่งสอนนี้จงปรากฏแก่ท่านผู้เดียว.

ความจริง ผู้ใดประสงค์จะกล่าวปัญหา ก็ไม่อาจจะกล่าวเทียบกับพระสัพพัญญุตญาณได้ หรือว่า ผู้ใดไม่ประสงค์จะกล่าว ก็อาจจะกล่าวปัญหาได้ หรือว่า ผู้ใดไม่ประสงค์จะกล่าว ทั้งไม่อาจจะกล่าวด้วย. พระผู้มีพระภาคเจ้า ย่อมไม่ทรงทำปัญหาของคนเหล่า

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 30 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 322

นั้นทั้งหมดให้เป็นภาระ แต่เทพบุตรองค์นี้ ประสงค์จะกล่าวด้วย ทั้งอาจกล่าวได้ด้วย. เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อทรงทำปัญหาให้เป็นภาระของเทพบุตรนั้นผู้เดียว จึงตรัสอย่างนี้. แม้เทพบุตรนั้น ก็กล่าวปัญหา.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สุภาสิตสฺส สิกฺเขถ ความว่า พึงศึกษาคำสุภาษิต คือ พึงศึกษาวจีสุจริต ๔ อย่าง ที่อิงอาศัยสัจจะ ๔ อิงอาศัยกถาวัตถุ ๑๐ อิงอาศัยโพธิปักขิยธรรม ๓๗ เท่านั้น.

บทว่า สมณูปาสนสฺส จ ความว่า การเข้าถึงความสงบ อันสมณะทั้งหลายพึงเสพ คือ พึงศึกษา พึงเจริญกัมมัฏฐาน ๓๘ ประเภท.

อีกอย่างหนึ่ง แม้การเข้าไปหาเหล่าภิกษุผู้เป็นพหูสูตก็ชื่อว่า การเข้าไปนั่งใกล้สมณะ.

อธิบายว่า พึงศึกษาประโยชน์แห่งความรู้ด้วยปัญญา โดยการถามปัญหาว่า ท่านเจ้าข้า แม้ข้อนั้นก็เป็นกุศลหรือ ดังนี้เป็นต้น.

บทว่า จิตฺตวูปสมสฺส จ ความว่า และพึงศึกษาความสงบจิตด้วยอำนาจสมาบัติ ๘.

ดังนั้น สิกขา ๓ เป็นอันเทพบุตรกล่าวแล้ว.

จริงอยู่ เทพบุตรนั้นกล่าวอธิศีลสิกขาด้วยบทแรก กล่าวอธิปัญญาสิกขาด้วยบทที่ ๒ กล่าวอธิจิตตสิกขา ด้วยการสงบจิต เพราะฉะนั้น คำสอนแม้ทั้งสิ้น จึงเป็นอันเทพบุตรนั้นประกาศแล้ว ด้วยคาถานี้แล.

จบอรรถกถากัสสปสูตรที่ ๑