พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๕. ทามลิสูตร

 
บ้านธัมมะ
วันที่  29 ส.ค. 2564
หมายเลข  36248
อ่าน  483

[เล่มที่ 24] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 328

๕. ทามลิสูตร


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 24]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 30 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 328

๕. ทามลิสูตร

[๒๒๙]... อารามแห่งอนาถบิณฑิกเศรษฐี กรุงสาวัตถี ครั้งนั้น ทามลิเทวบุตร เมื่อสิ้นราตรีปฐมยาม มีวรรณะงามยิ่งนัก ทำพระวิหารเชตวันให้สว่างทั่วแล้ว เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า ถวายบังคมแล้ว ได้ยืน ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง

[๒๓๐] ทามลิเทวบุตร... ได้กล่าวคาถานี้ ในสำนักพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า

พราหมณ์ผู้ไม่เกียจคร้าน พึงทำความเพียรนี้ เขาไม่ปรารถนาภพด้วยเหตุนั้น เพราะละกามได้ขาด.

[๒๓๑] พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า

ทามลิ กิจไม่มีแก่พราหมณ์ เพราะว่าพราหมณ์ทำกิจเสร็จแล้ว สัตว์เกิดยังไม่ได้ท่าจอดในแม่น้ำทั้งหลาย เพียงใด เขาต้องพยายามด้วยตัวทุกอย่าง เพียงนั้น ก็ผู้นั้นได้ท่าที่จอดแล้ว ยืนอยู่บนบก ไม่ต้องพยายาม เพราะว่า เขาถึงฝั่งแล้ว.

ดูก่อนทามลิเทวบุตร นี้เป็นข้ออุปมาแห่งพราหมณ์ ผู้สิ้นอาสวะแล้ว มีปัญญาเพ่งพินิจ พราหมณ์นั้น ถึงที่สุดแห่งชาติและมรณะแล้ว ไม่ต้องพยายาม เพราะถึงฝั่งแล้ว.

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 30 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 329

อรรถกถาทามลิสูตร

พึงทราบวินิจฉัยในทามลิสูตรที่ ๕ ต่อไป :-

บทว่า น เตนาสิํสเต ภวํ ความว่า เขาไม่ปรารถนาภพใดภพหนึ่ง ด้วยเหตุนั้น.

เทพบุตรผู้มีความเพียรติดต่อองค์นี้ คิดว่า ความสิ้นสุดกิจของพระขีณาสพไม่มี ด้วยว่า พระขีณาสพ ทำความเพียรมาตั้งแต่ต้นเพื่อบรรลุพระอรหัต ต่อมา ก็บรรลุพระอรหัต เพราะเหตุนั้น ท่านจงอย่านิ่งเสีย จงทำความเพียร จงบากบั่นในที่นั้นๆ นั่นแล ดังนี้แล้วจึงกล่าวอย่างนี้.

ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพระดำริว่า เทพบุตรองค์นี้ไม่กล่าวการจบกิจของพระขีณาสพ กล่าวแต่คำสอนของเราว่าเป็นอนิยยานิก ไม่นำสัตว์ออกจากทุกข์ เราจักแสดงการจบกิจของพระขีณาสพนั้น ดังนี้แล้ว จึงตรัสว่า นตฺถิ กิจฺจํ ดังนี้เป็นต้น.

ได้ยินว่า ในปิฎกทั้งสาม คาถานี้ ไม่แตกต่างกัน. ด้วยว่า ขึ้นชื่อว่า โทษของความเพียร พระผู้มีพระภาคเจ้ามิได้ทรงแสดงไว้ในที่อื่น. แต่ในทามลิสูตรนี้ ทรงปฏิเสธเทพบุตรองค์นี้ จึงตรัสอย่างนี้เพื่อทรงแสดงการจบกิจของพระขีณาสพว่า เบื้องต้นภิกษุอยู่ป่า ถือเอากัมมัฏฐานทำความเพียร เพื่อความสิ้นไปแห่งอาสวะสำเร็จเป็นพระขีณาสพ [สิ้นกิเลสหมด] แล้ว ต่อมา ถ้าเธอประสงค์จะทำความเพียรก็ทำ ถ้าไม่ประสงค์ เธอจะอยู่ตามสบาย ก็ได้ ดังนี้.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า คาธํ แปลว่า ท่าเป็นที่จอด.

จบอรรถกถาทามลิสูตรที่ ๕