๘. ตายนสูตร
[เล่มที่ 24] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 336
๘. ตายนสูตร
อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 24]
พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 336
๘. ตายนสูตร
[๒๓๘] ครั้งนั้น ตายนเทวบุตรผู้เป็นเจ้าลัทธิมาเก่าก่อน เมื่อสิ้นราตรีปฐมยาม มีวรรณะอันงามยิ่งนัก ทำพระวิหารเชตวันให้สว่างทั่วแล้ว เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าถึงที่ประทับ ครั้นแล้วก็ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้วได้ยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง.
[๒๓๙] ตายนเทวบุตร ยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้วได้กล่าวคาถาเหล่านี้ ในสำนักพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า
ท่านจงพยายามตัดกระแสตัณหา จงบรรเทากามเสียเถิดพราหมณ์.
มุนีไม่ละกาม ย่อมเข้าไม่ถึงความที่จิตมีอารมณ์เป็นหนึ่งได้ ถ้าบุคคลจะพึงทำความเพียร พึงทำความเพียรนั้นจริงๆ พึงบากบั่นทำความเพียรนั้นให้มั่น เพราะว่าการบรรพชาที่ปฏิบัติย่อหย่อน ยิ่งโปรยโทษดุจธุลี.
ความชั่วไม่ทำเสียเลยประเสริฐกว่า ความชั่วย่อมเผาผลาญในภายหลัง.
ก็กรรมใดทำแล้ว ไม่เดือดร้อนในภายหลัง กรรมนั้นเป็นความดี ทำแล้วประเสริฐกว่า หญ้าคาอันบุคคลจับไม่ดีย่อมบาดมือนั่นเอง ฉันใด.
พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 337
ความเป็นสมณะ อันบุคคลปฏิบัติไม่ดี ย่อมฉุดเข้าไปในนรก ฉันนั้น.
กรรมอันย่อหย่อนอย่างใดอย่างหนึ่ง วัตรอันใดที่เศร้าหมอง และพรหมจรรย์ที่น่ารังเกียจ ทั้งสามอย่างนั้น ไม่มีผลมาก.
ตายนเทวบุตร ครั้นได้กล่าวดังนี้แล้ว ก็ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้า ทำประทักษิณแล้วอันตรธานไปในที่นั้นเอง.
[๒๔๐] ครั้งนั้น โดยล่วงราตรีนั้นไป พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายมาว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เมื่อคืนนี้ เทวบุตรนามว่าตายนะ ผู้เป็นเจ้าลัทธิแต่เก่าก่อน เมื่อสิ้นราตรีปฐมยาม มีวรรณะงามยิ่งนัก ทำพระวิหารเชตวันให้สว่าง เข้ามาหาเรา อภิวาทเราแล้ว ได้ยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ตายนเทวบุตร กล่าวคาถาเหล่านี้ในสำนักของเราว่า
ท่านจงพยายามตัดกระแสตัณหา จงบรรเทากามเสียเถิดพราหมณ์.
มุนีไม่ละกาม ย่อมเข้าไม่ถึงความที่จิตมีอารมณ์เป็นหนึ่งได้ ถ้าบุคคลจะพึงทำความเพียร พึงทำความเพียรนั้นจริงๆ พึงบากบั่นทำความเพียรนั้นให้มั่น เพราะว่าการบรรพชาที่ปฏิบัติย่อหย่อน ยิ่งโปรยโทษดุจธุลี.
ความชั่วไม่ทำเสียเลยประเสริฐกว่า ความชั่วย่อมเผาผลาญในภายหลัง.
พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 338
ก็กรรมใดทำแล้วไม่เดือดร้อนในภายหลัง กรรมนั้นเป็นความดี ทำแล้วประเสริฐกว่า หญ้าคาอันบุคคลจับไม่ดีย่อมบาดมือนั่นเอง ฉันใด.
ความเป็นสมณะ อันบุคคลปฏิบัติไม่ดี ย่อมฉุดเข้าไปในนรก ฉันนั้น.
กรรมอันย่อหย่อนอย่างใดอย่างหนึ่ง วัตรอันใดที่เศร้าหมอง และพรหมจรรย์ที่น่ารังเกียจ ทั้งสามอย่างนั้น ไม่มีผลมาก.
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ตายนเทวบุตรครั้นได้กล่าวดังนี้แล้ว ก็อภิวาทเราทำประทักษิณแล้วอันตรธานไปในที่นั้นเอง ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลาย จงศึกษา จงเล่าเรียน จงทรงจำตายนคาถาไว้ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ตายนคาถาประกอบด้วยประโยชน์ เป็นเบื้องต้นแห่งพรหมจรรย์.
อรรถกถาตายนสูตร
พึงทราบวินิจฉัยในตายนสูตรที่ ๘ ต่อไป :-
บทว่า ปุราณติตฺถกโร แปลว่า ผู้เป็นเจ้าลัทธิมาแต่ก่อน.
ในคำว่า ปุราณติตฺถกโร นั้น ทิฏฐิ ๖๒ ชื่อว่า ลัทธิ [ติตถ].
ศาสดาผู้ก่อกำเนิดลัทธิเหล่านั้น ชื่อว่า เจ้าลัทธิ คือใคร. คือ นันทะ มัจฉะ กิสะ สังกิจจะ และที่ชื่อว่า เดียรถีย์ทั้งหลาย มีปุรณะ เป็นต้น.
ถามว่า ก็ตายนเทพบุตรนี้ก่อทิฏฐิขึ้นแล้วบังเกิดในสวรรค์ได้อย่างไร.
ตอบว่า เพราะเป็นกัมมวาที.
ได้ยินว่า ตายนเทพบุตรนี้ ได้ให้อาหารในวันอุโบสถ เป็นต้น เริ่มตั้งอาหาร
พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 339
ไว้สำหรับคนอนาถา ทำที่พัก ให้ขุดสระโบกขรณีทั้งหลายได้ทำความดีมากแม้อย่างอื่น. เพราะผลวิบากแห่งความดีนั้น เขาจึงบังเกิดในสวรรค์ แต่เขาไม่รู้ว่า พระศาสนาเป็นธรรมนำสัตว์ออกจากทุกข์. เขามายังสำนักพระตถาคตด้วยประสงค์จะกล่าวคาถาคำร้อยกรอง ประกอบด้วยความเพียรอันเหมาะแก่พระศาสนา จึงกล่าวคาถาว่า ฉินฺท โสตํ ดังนี้เป็นต้น.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ฉินฺท เป็นคำสั่งที่ไม่แน่นอน.
บทว่า โสตํ ได้แก่ กระแสตัณหา.
บทว่า ปรกฺกม ได้แก่ ทำความเพียร.
บทว่า กาเม ได้แก่ กิเลสกามบ้าง วัตถุกามบ้าง.
บทว่า ปนูท แปลว่า จงนำออก.
บทว่า เอกตฺตํ ได้แก่ ฌาน.
ท่านอธิบายว่า มุนีไม่ละกามทั้งหลาย ย่อมไม่เข้าถึง คือ ไม่ได้ฌาน.
บทว่า กยิรา เจ กยิราเถนํ ความว่า ถ้าบุคคลพึงทำความเพียรไซร้ ก็ไม่พึงท้อถอยความเพียรนั้น.
บทว่า ทฬฺหเมนํ ปรกฺกเม ความว่า พึงทำความเพียรนั้นให้มั่นคง.
บทว่า สิถิโล หิ ปริพฺพาโช ได้แก่ บรรพชาที่ถือไว้หย่อนๆ.
บทว่า ภิยฺโย อากรเต รชํ แปลว่า พึงโปรยธุลี คือ กิเลสไว้เบื้องบนมากมาย.
บทว่า อกตํ ทุกฺกฏํ เสยฺโย แปลว่า ความชั่ว ไม่ทำเสียเลยดีกว่า.
บทว่า ยงฺกิญฺจิ ความว่า มิใช่แต่สามัญญผล คุณเครื่องเป็นสมณะ ที่ผู้บวชทำชั่วทำไว้อย่างเดียว แม้กิจกรรมอย่างอื่นอะไรๆ ที่ผู้บวชทำย่อหย่อน ก็เป็นเช่นนั้นเหมือนกัน.
บทว่า สงฺกิลิฏฺํ ความว่า วัตรที่ทำได้ยาก คือ ธุดงควัตร ที่สมาทานเพราะปัจจัยลาภเป็นเหตุในพระศาสนานี้ ก็เศร้าหมองทั้งนั้น.
บทว่า สงฺกสฺสรํ ได้แก่ ที่ระลึกด้วยความรังเกียจ คือ ที่สงสัย รังเกียจอย่างนี้ว่า แม้ข้อนี้ ก็จักเป็นข้อที่ผู้นี้กระทำแล้ว แม้ข้อนี้ก็จักเป็นข้อที่ผู้นี้กระทำแล้ว.
บทว่า อาทิพฺรหฺมจริยกา ได้แก่ เป็นเบื้องต้น คือ เป็นที่ปรากฏแห่งมรรคพรหมจรรย์.
จบอรรถกถาตายนสูตรที่ ๘