พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๕. จันทนสูตร

 
บ้านธัมมะ
วันที่  29 ส.ค. 2564
หมายเลข  36258
อ่าน  493

[เล่มที่ 24] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 352

๕. จันทนสูตร


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 24]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 30 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 352

๕. จันทนสูตร

[๒๖๐] จันทนเทวบุตร ยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้ว ได้ทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าด้วยคาถาว่า

บุคคลผู้ไม่เกียจคร้านทั้งกลางคืนและกลางวัน จะข้ามโอฆะได้อย่างไร ใครไม่จมในห้วงน้ำลึก อันไม่มีที่พึ่ง ไม่มีที่ยึดเหนี่ยว.

[๒๖๑] พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า

บุคคลผู้สมบูรณ์ด้วยศีล ทุกเมื่อ มีปัญญา มีใจตั้งมั่นดีแล้ว ปรารภความเพียร มีตนส่งไปแล้ว ย่อมข้ามโอฆะที่ข้ามได้ยาก เขาเว้นขาดแล้วจากกามสัญญา ล่วงรูปสัญโญชน์ได้ สิ้นภพเป็นที่เพลิดเพลินแล้ว ย่อมไม่จมในห้วงน้ำลึก.

อรรถกถาจันทนสูตร

พึงทราบวินิจฉัยในจันทนสูตรที่ ๕ ต่อไป :-

บทว่า อปฺปติฏฺเ อนาลมฺเพ ได้แก่ ไม่มีที่พึ่งในเบื้องต่ำ ไม่มีที่ยึดในเบื้องบน.

บทว่า สุสมาหิโต ได้แก่ ตั้งมั่นด้วยดี ด้วยอัปปนาสมาธิบ้าง ด้วยอุปจารสมาธิบ้าง.

บทว่า ปหิตตฺโต แปลว่า มีตนส่งไปแล้ว.

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 30 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 353

บทว่า นนฺทิภวปริกฺขีโณ แปลว่า สิ้นภพเป็นที่เพลิดเพลินแล้ว.

อภิสังขารคือกรรม ๓ [ปุญญาภิสังขาร อปุญญาภิสังขาร และอเนญชาภิสังขาร] ชื่อว่าภพเป็นที่เพลิดเพลิน.

ดังนั้น ในพระคาถานี้ สังโยชน์เบื้องต่ำ ๕ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงถือเอาด้วยศัพท์ว่า กามสัญญา สังโยชน์เบื้องบน ๕ ทรงถือเอาด้วยศัพท์ว่า รูปสังโยชน์ อภิสังขาร คือ กรรม ๓ ทรงถือเอาด้วยศัพท์ว่า นันทิภพ.

ผู้ใดละสังโยชน์ ๑๐ และอภิสังขาร คือ กรรม ๓ ได้อย่างนี้ ผู้นั้นย่อมไม่จมลงในโอฆะใหญ่ที่ลึก.

อีกนัยหนึ่ง กามภพทรงถือเอาด้วยกามสัญญา รูปภพทรงถือเอาด้วยรูปสังโยชน์ อรูปภพทรงถือเอาด้วยศัพท์ทั้งสองนั้น อภิสังขาร คือ กรรม ๓ ทรงถือเอาด้วยนันทิภพ.

เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงทรงแสดงแม้ว่า ผู้ใดไม่มีสังขาร ๓ ในภพ ๓ อย่างนี้ ผู้นั้น ย่อมไม่จมลงในห้วงน้ำลึก ดังนี้.

จบอรรถกถาจันทนสูตรที่ ๕