พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๗. สุพรหมสูตร

 
บ้านธัมมะ
วันที่  29 ส.ค. 2564
หมายเลข  36260
อ่าน  549

[เล่มที่ 24] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 355

๗. สุพรหมสูตร


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 24]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 30 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 355

๗. สุพรหมสูตร

[๒๖๔] สุพรหมเทวบุตร ยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้ว ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าด้วยคาถาว่า

จิตนี้สะดุ้งอยู่เป็นนิตย์ ใจนี้หวาดเสียวอยู่เป็นนิตย์ ทั้งเมื่อกิจไม่เกิดขึ้น ทั้งเกิดขึ้นแล้วก็ตาม ถ้าความไม่สะดุ้งกลัวมีอยู่ ข้าพระองค์ทูลถามแล้ว โปรดตรัสบอกความไม่สะดุ้งนั้นแก่ข้าพระองค์เถิด.

[๒๖๕] พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า

เรายังมองไม่เห็นความสวัสดีแห่งสัตว์ทั้งหลาย นอกจากปัญญา และความเพียร นอกจากความสำรวมอินทรีย์ นอกจากความสละวางทุกสิ่งทุกอย่าง.

สุพรหมเทวบุตรได้กล่าวดังนี้แล้ว ฯลฯ ก็อันตรธานไปในที่นั้นเอง.

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 30 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 356

อรรถกถาสุพรหมสูตร

พึงทราบวินิจฉัยในสุพรหมสูตรที่ ๗ ต่อไป :-

บทว่า สุพฺรหฺมา ความว่า ได้ยินว่า เทพบุตรนั้น อันเหล่าเทพอัปสรห้อมล้อมแล้ว ไปยังสนามกีฬานันทนวัน นั่ง ณ อาสนะที่จัดไว้ ใต้โคนต้นปาริฉัตร เหล่าเทพธิดา ๕๐๐ ก็นั่งล้อมเทพบุตรนั้น. เหล่าเทพธิดา ๕๐๐ ก็ปีนขึ้นต้นไม้.

ถามว่า ก็ต้นไม้แม้สูง ๑๐๐ โยชน์ ก็น้อมลงมาถึงมือด้วยอำนาจจิตของเหล่าเทวดามิใช่หรือ เหตุไร เทพธิดาเหล่านั้น จึงต้องปีนขึ้นเล่า.

ตอบว่า เพราะเทพธิดาเหล่านั้นสนใจแต่จะเล่น แต่ครั้นปีนขึ้นไปแล้ว ก็ขับเพลงด้วยเสียงอันไพเราะ ทำดอกไม้ทั้งหลายให้หล่นลง เหล่าเทพธิดานอกนี้ (ที่ไม่ได้ปีนขึ้น) เก็บดอกไม้เหล่านั้น เอามาร้อยทำเป็นพวงมาลัยขั้วเดียวกันเป็นต้น.

ครั้งนั้น เหล่าเทพธิดา ที่ปีนขึ้นต้นไม้ ก็ทำกาละ (จุติ) ด้วยอำนาจอุปัจเฉทกกรรมประหารครั้งเดียวเท่านั้น ไปบังเกิดในอเวจีนรกเสวยทุกข์ใหญ่.

เมื่อเวลาล่วงไป เทพบุตรก็นึกรำพึงว่า ไม่ได้ยินเสียงเทพธิดาเหล่านั้น ดอกไม้ก็ไม่หล่น เขาไปไหนกันหนอ. ก็เห็นไปบังเกิดในนรก เกิดรันทดใจ เพราะความโศกในของรัก จึงดำริว่า ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ เหล่าเทพธิดาก็ไปตามกรรม ตัวเราจะมีอายุสังขารเท่าไรกันเล่า เทพบุตรนั้น ดำริว่า ในวันที่ ๗ เราก็จะพึงทำกาละ พร้อมกับเหล่าเทพธิดา ๕๐๐ ส่วนที่เหลือพากันไปบังเกิดในนรกนั้นเหมือนกัน รันทดระทมเพราะความโศกที่รุนแรง.

เทพบุตรนั้น ก็ดำริว่า ในมนุษยโลกพร้อมทั้งเทวโลก นอกจากพระตถาคตแล้ว ก็ไม่มีใครสามารถดับความโศกของเรานี้ได้ จึงไปเฝ้า กล่าวคาถาว่า นิจฺจมุตฺรสฺตํ

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 30 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 357

ดังนี้เป็นต้น.

บรรดาบทเหล่านั้น ด้วยบทว่า อิทํ เทพบุตรนั้น แสดงจิตของตน.

บทที่ ๒ เป็นไวพจน์ของบทต้นนั่นแหละ.

ก็บทว่า นิจฺจํ ไม่พึงถือเอาความว่า จำเดิมแต่กาลที่บังเกิดในเทวโลก. พึงทราบความนั้นว่าเป็นนิตย์ จำเดิมแต่เวลาที่สะเทือนใจ.

บทว่า อนุปฺปนฺเนสุ กิจฺเจสุ ได้แก่ ในทุกข์ทั้งหลายที่เกิดขึ้น โดยล่วงไป ๗ วัน แต่วันนี้.

ด้วยบทว่า อโถ อุปฺปตฺติเตสุ จ เทพบุตรนั้นแสดงว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า ในทุกข์ทั้งหลายที่เกิดขึ้นแล้ว และยังไม่เกิดขึ้นเหล่านี้ อย่างนี้ คือ ในทุกข์ที่ข้าพระองค์เห็นนางอัปสร ๕๐๐ บังเกิดในนรก จิตของข้าพระองค์ก็หวาดสะดุ้งเป็นนิตย์ ข้าพระองค์เป็นประหนึ่งถูกไฟเผาอยู่ในอก.

บทว่า นาญฺตฺร โพชฺฌงฺคตปสา ความว่า นอกจากการเจริญโพชฌงค์ และ คุณ คือ ตปะ เรามองไม่เห็นความสวัสดีในที่อื่น.

บทว่า สพฺพนิสฺสคฺคา ได้แก่ พระนิพพาน.

ก็ในบทนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงถือเอาการเจริญโพชฌงค์ก่อน ภายหลังก็ทรงถือเอาอินทรียสังวร ก็จริงอยู่ ถึงอย่างนั้น โดยใจความอินทรียสังวร ก็พึงทราบว่า ทรงถือเอาก่อน ด้วยว่าเมื่อภิกษุถือเอาอินทรียสังวรแล้ว ก็เป็นอันถือเอาจตุปาริสุทธิศีลด้วย.

ภิกษุตั้งอยู่ในจตุปาริสุทธิศีลนั้น เป็นนิสสัยมุตตกะ (พ้นจากการถือนิสสัยกับอุปัชฌาย์หรืออาจารย์) สมาทานตปคุณ กล่าวคือ ธุดงค์เข้าป่าเจริญกัมมัฏฐาน ย่อมทำโพชฌงค์ให้เกิดมีพร้อมกับวิปัสสนา.

อริยมรรคของภิกษุนั้น ทำนิพพานธรรมอันใดเป็นอารมณ์แล้วเกิดขึ้น นิพพานธรรมอันนั้น ชื่อว่า สัพพนิสสัคคะ.

พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเปลี่ยนเทศนาเป็นสัจจะ ๔.

เมื่อจบเทศนา เทพบุตรก็ตั้งอยู่ในโสดาปัตติผล.

จบอรรถกถาสุพรหมสูตรที่ ๗