พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๑๐. นานาติตถิยสูตร

 
บ้านธัมมะ
วันที่  29 ส.ค. 2564
หมายเลข  36273
อ่าน  482

[เล่มที่ 24] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 399

๑๐. นานาติตถิยสูตร


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 24]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 31 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 399

๑๐. นานาติตถิยสูตร

[๓๑๓] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้ :-

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ พระวิหารเวฬุวัน อันเป็นที่ให้เหยื่อแก่กระแต กรุงราชคฤห์ ณ กาลครั้งหนึ่ง เมื่อล่วงปฐมยาม พวกเทพบุตรผู้เป็นสาวกเดียรถีย์ต่างๆ เป็นอันมาก คือ อสมเทพบุตร สหลีเทพบุตร นิกเทพบุตร อาโกฏกเทพบุตร เวฏัมพรีเทพบุตร มาณวคามิยเทพบุตร มีวรรณะงามยิ่ง ทำพระวิหารเวฬุวันให้สว่างทั่วแล้ว เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าถึงที่ประทับ ครั้นแล้วจึงอภิวาท แล้วยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง.

[๓๑๔] อสมเทพบุตร ครั้นยืนอยู่ ณ ส่วนที่ควรข้างหนึ่งแล้ว ได้กล่าวคาถานี้ในสำนักพระผู้มีพระภาคเจ้า ปรารภถึงท่านปูรณะกัสสปว่า

ครูปูรณะกัสสป เพียงแต่มองไม่เห็นบาปหรือบุญของตน เพราะเหตุที่สัตว์ถูกฟัน ถูกฆ่า ถูกโบย เสื่อมเสีย ในโลกนี้เท่านั้น ท่านบอกให้วางใจเสีย ท่านย่อมควรที่จะได้รับยกย่องว่าเป็นศาสดา.

[๓๑๕] สหลีเทพบุตร ได้กล่าวคาถานี้ในสำนักพระผู้มีพระภาคเจ้า ปรารภถึงท่านมักขลิโคศาล ต่อไปว่า

ครูมักขลิโคศาล สำรวมตนดีแล้ว เพราะรังเกียจบาปด้วยตบะ ละวาจาที่ก่อให้เกิดความทะเลาะกับคนเสีย เป็นผู้

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 31 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 400

สม่ำเสมอ งดเว้นจากสิ่งที่มีโทษ พูดจริง ท่านมักขลิโคศาล จัดว่าเป็นผู้คงที่ ไม่กระทำบาปโดยแท้.

[๓๑๖] นิกเทพบุตร ได้กล่าวคาถานี้ในสำนักพระผู้มีพระภาคเจ้า ปรารภถึงท่านนิครนถ์ นาฏบุตร ต่อไปว่า

ครูนิครนถ์ นาฏบุตร เป็นผู้เกลียดบาป มีปัญญารักษาตัว เห็นภัยในสงสาร เป็นผู้ระมัดระวังทั้ง ๔ ยาม บอกสิ่งที่ตนเห็นแล้วและฟังแล้ว น่าจะไม่ใช่ผู้หยาบช้าโดยแท้.

[๓๑๗] อาโกฏกเทพบุตร ได้กล่าวคาถานี้ในสำนักพระผู้มีพระภาคเจ้าปรารภถึงพวกเดียรถีย์ต่างๆ ต่อไปอีกว่า

ท่านปกุธะกัจจายนะ ท่านนิครนถ์ นาฏบุตร และพวกท่านมักขลิโคศาล ท่านปูรณะกัสสปเหล่านี้ ล้วนแต่เป็นศาสดาของหมู่ บรรลุผลแห่งสมณธรรมแล้ว ท่านเหล่านั้นคงเป็นผู้ไม่ไกลไปจากสัตบุรุษแน่นอน.

[๓๑๘] เวฏัมพรีเทพบุตร ได้กล่าวตอบอาโกฏกเทพบุตรด้วยคาถาว่า

สุนัขจิ้งจอกสัตว์เลวๆ ใคร่จะตีตนเสมอราชสีห์ แม้จะไม่ใช่สัตว์ขี้เรื้อน แต่ก็มีบางคราวที่ทำตนเทียมราชสีห์ ครูของหมู่เปลือยกาย พูดคำเท็จ มีมรรยาทน่ารังเกียจ จะเทียบกับสัตบุรุษย่อมไม่ได้.

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 31 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 401

[๓๑๙] ลำดับนั้น มารผู้มีบาปเข้าสิงเวฏัมพรีเทพบุตรแล้วได้กล่าวคาถานี้ ในสำนักพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า

สัตว์เหล่าใด ขวนขวาย ในความเกลียดบาปด้วยตบะ รักษาความสงบสงัดอยู่ ติดอยู่ในรูป ปรารถนาเทวโลก สัตว์เหล่านั้นย่อมสั่งสอนชอบ เพื่อปรโลกโดยแท้.

[๓๒๐] ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทราบว่า นี้เป็นมารตัวร้ายกาจ จึงได้ตรัสคาถาตอบมารผู้มีบาปว่า

รูปใดๆ จะอยู่ในโลกนี้หรือโลกอื่น และจะอยู่ในอากาศ มีรัศมีรุ่งเรืองก็ตามที รูปทั้งหมดเหล่านั้น อันมารสรรเสริญแล้ว วางดักสัตว์ไว้แล้ว เหมือนเขาใส่เหยื่อล่อเพื่อฆ่าปลา ฉะนั้น.

[๓๒๑] ลำดับนั้น มาณวคามิยเทพบุตร ได้กล่าวคาถาเหล่านี้ในสำนักพระผู้มีพระภาคเจ้า ปรารภถึงพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า

ภูเขาเวปุละ เขากล่าวกันว่า สูงเป็นเยี่ยมกว่าภูเขาที่ตั้งอยู่ในกรุงราชคฤห์ เสตบรรพตเป็นเลิศกว่าภูเขาที่ตั้งอยู่ในป่าหิมวันต์ ดวงอาทิตย์เป็นเลิศกว่าสิ่งที่ไปในอากาศ มหาสมุทรเป็นเลิศกว่าห้วงน้ำทั้งหลาย ดวงจันทร์เป็นเลิศกว่าดวงดาวทั้งหลาย พระพุทธเจ้ากล่าวกันว่าเป็นเลิศกว่าประชุมชนในทั้งโลก พร้อมทั้งเทวโลก.

จบนานาติตถิยสูตรที่ ๑๐

จบนานาติตถิยวรรคที่ ๓

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 31 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 402

อรรถกถานานาติตถิยสูตร

พึงทราบวินิจฉัยในนานาติตถิยสูตรที่ ๑๐ ต่อไป :-

บทว่า นานาติตฺถิยสาวกา ความว่า เทพบุตรสาวกของเดียรถีย์ต่างๆ เหล่านั้น เป็นกัมมวาที นับถือกรรม เพราะฉะนั้น จึงกระทำบุญทั้งหลาย มีทาน เป็นต้น บังเกิดในสวรรค์ เทพบุตรเหล่านั้น สำคัญว่าเราบังเกิดในสวรรค์ เพราะเลื่อมใสในศาสดาของตน จึงมาด้วยหมายใจว่าเราจะไปยืนในสำนักของพระทศพล กล่าวคุณศาสดาของเรา แล้วกล่าวด้วยคาถาองค์ละ ๑ คาถา.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ฉินฺทิตมาริเต จ หตชานีสุ ได้แก่ ในการโบย และในการเสื่อมทรัพย์ทั้งหลาย.

ด้วยบทว่า ปุญฺํ วาปน อสมเทพบุตร ไม่ตามพิจารณาแม้แต่บุญของตน กล่าวโดยย่อว่า วิบากของบุญและบาปไม่มี ดังนี้.

บทว่า ส เว วิสฺสาสมาจิกฺขิ ความว่า อสมเทพบุตรนั้นแล เมื่อกล่าวว่า วิบาก ทั้งของบาปที่ทำแล้ว ทั้งของบุญที่ทำแล้วไม่มี ดังนี้ จึงบอกที่พักอาศัย ที่พึ่งของสัตว์ทั้งหลาย เพราะฉะนั้น จึงกล่าวว่าศาสดาปุรณกัสสป ควรแก่การนับถือ การไหว้ การบูชา.

บทว่า ตโปชิคุจฺฉาย ได้แก่ เพราะเกลียดบาป ด้วยตปะคือการทำกายให้ลำบาก.

บทว่า สฺสํวุโต ได้แก่ ประกอบแล้ว หรือปิดแล้ว.

บทว่า เชคุจฺฉี ได้แก่ เกลียดบาปด้วยตปะ.

บทว่า นิปโก ได้แก่ บัณฑิต.

บทว่า จาตุยามสุสํวุโต ได้แก่ สำรวมด้วยดีด้วยยาม ๔ ส่วนทั้ง ๔ เหล่านี้ คือ ผู้ห้ามน้ำทั้งปวง ผู้ประกอบในการห้ามบาปทั้งปวง ผู้กำจัดบาปทั้งปวง ผู้ห้ามบาปทั้งปวงถูกต้อง ชื่อว่ายาม ๔.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สพฺพวาริวาริโต จ ได้แก่ ห้ามน้ำทั้งหมด อธิบายว่า น้ำเย็นทั้งหมดห้ามขาด เขาว่านิครนถนาฏบุตรนั้น สำคัญ

 
  ข้อความที่ 5  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 31 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 403

ว่ามีตัวสัตว์ในน้ำเย็น เพราะฉะนั้น จึงไม่ใช้น้ำเย็นนั้น.

บทว่า สพฺพวาริยุตฺโต ได้แก่ ประกอบด้วยการห้ามบาปทุกอย่าง.

บทว่า สพฺพวาริธุโต ได้แก่ กำจัดบาปเสียแล้ว ด้วยการห้ามบาปทุกอย่าง.

บทว่า สพฺพวาริผุฏฺโ ได้แก่ ผู้อันการห้ามบาปทั้งปวงถูกต้องแล้ว.

บทว่า ทิฏฺํ สุตญฺจ อาจิกฺขํ ได้แก่ บอกว่าสิ่งที่เห็นเราเห็นแล้ว ข้อที่ฟัง เราฟังแล้วไม่ปิดเลย.

บทว่า นหิ นูน กิพฺพิสี ความว่า ศาสดาเห็นปานนั้น ย่อมชื่อว่า เป็นผู้กระทำความชั่วร้าย.

บทว่า นานาติตฺถิเย ความว่า เขาว่า อาโกฏกเทพบุตรนั้นเป็นอุปัฏฐากของเหล่าเดียรถีย์ต่างๆ นั้นแล เพราะฉะนั้น เขาจึงกล่าวปรารภเดียรถีย์เหล่านั้น.

บทว่า ปกุทฺธโก กาติยาโน ได้แก่ ศาสดาชื่อปกุธกัจจายนะ.

บทว่า นิคนฺโถ ได้แก่ ศาสดาชื่อนาฏบุตร.

บทว่า มกฺขลิปูรณาเส ได้แก่ ศาสดาชื่อมักขลิ และชื่อปูรณะ.

บทว่า สามญฺปฺปตฺตา ได้แก่ ถึงที่สุดในสมณธรรม.

ด้วยบทว่า นหิ นูน เต อาโกฏกเทพบุตรกล่าวว่าศาสดาเหล่านั้นไม่ไกลไปจากสัตบุรุษทั้งหลายเลย ศาสดาเหล่านั้นนั่นแล จึงชอบที่จะเป็นสัตบุรุษในโลก.

บทว่า ปจฺจภาสิ ความว่า เวฏัมพรีเทพบุตรคิดว่า อาโกฏกเทพบุตรผู้นี้ ยืนกล่าวคุณของศาสดาชีเปลือย ผู้ไร้สิริเหล่านี้ในสำนักของพระทศพล ดังนั้น เราจักกล่าวโทษของศาสดาเหล่านั้น แล้วจึงกล่าวโต้ตอบ.

บทว่า สห รจิตมตฺเตน ได้แก่ พร้อมด้วยเหตุเพียงแต่งถ้อยคำ.

บทว่า ฉโว สิงฺคาโล ได้แก่ สุนัขจิ้งจอกตาบอด ต่ำทราม.

บทว่า โกฏฺโก เป็นไวพจน์ของคำนั้นนั่นแหละ.

บทว่า สงฺกสฺสราจาโร ได้แก่ มีความประพฤติที่น่ารังเกียจ.

บทว่า น สตํ สริกฺขโก ความว่าศาสดาของท่านจะเทียมสัตบุรุษผู้เป็นบัณฑิตหาได้ไม่ ท่านก็เสมือนสุนัขจิ้งจอกตาบอด ยังจะทำเดียรถีย์ให้เป็นราชสีห์หรือ.

บทว่า อนฺวาวิสิตฺวา ความว่ามารผู้มีบาป ดำริว่า เวฏัมพรีเทพบุตรผู้นี้ กล่าวโทษของเหล่าศาสดาเห็น

 
  ข้อความที่ 6  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 31 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 404

ปานนั้น ด้วยเหตุนั้นนั่นแหละ เราจะให้เขากล่าวคุณด้วยปากนั่นแหละ จึงเข้าสิงในร่างของเวฏัมพรีเทพบุตรนั้น น้อมใจตามไป ชื่อว่า เข้าไปอาศัยอยู่ ด้วยประการฉะนี้.

บทว่า อายุตฺตา ได้แก่ ขวนขวายขะมักเขม้น ในอันเกลียดตปะ.

บทว่า ปาลยํ ปวิเวกํ แปลว่า รักษาความสงัด.

ได้ยินว่า เดียรถีย์เหล่านั้นถอนผมตนเอง ด้วยคิดว่า เราจักรักษาความสงัดจากการแต่งผม เปลือยกายเที่ยวไป ด้วยคิดว่า เราจักรักษาความสงัดจากผ้า กินอาหารที่พื้นดินหรือที่มือดุจสุนัข ด้วยคิดว่า เราจักรักษาความสงัดจากอาหาร นอนบนหนาม เป็นต้น ด้วยคิดว่า เราจักรักษาความสงัดจากที่นั่งที่นอน.

บทว่า รูเป นิวิฏฺา ได้แก่ ตั้งอยู่ในรูป ด้วยตัณหาและทิฏฐิ.

บทว่า เทวโลกาภินนฺทิโน ได้แก่ ปรารถนาเทวโลก.

บทว่า มาติยา ได้แก่ สัตว์ที่ต้องตาย มารผู้มีบาปกล่าวว่า เหล่าเดียรถีย์ย่อมสั่งสอนสัตว์ที่จะต้องตายเหล่านั้นแหละ โดยชอบ เพื่อประโยชน์แก่ปรโลก.

บทว่า อิติ วิทิตฺวา ความว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงระลึกว่า เทพบุตรผู้นี้ กล่าวโทษของศาสดาเหล่านี้ก่อนแล้ว บัดนี้ กลับมากล่าวคุณ ผู้นี้เป็นใครหนอ แล้วก็ทรงทราบ.

บทว่า เย จนฺตลิกฺขสฺมิ ปภาสวณฺณา ความว่า บรรดารูปรัศมีดวงจันทร์ รัศมีดวงอาทิตย์ ประกายเพชรพลอย รุ้งกินน้ำ และดวงดาวทั้งหลาย รูปเหล่าใดมีวรรณะสว่างไสวในท้องฟ้า.

บทว่า สพฺเพว เต เต ได้แก่ รูปเหล่านั้นทั้งหมด อันท่านสรรเสริญแล้ว.

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเรียกมารว่า นมุจิ. ด้วยบทว่า อามิสํว มจฺฉานํ วธาย ขิตฺตา พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า มารย่อมเหวี่ยงเหยื่อติดปลายเบ็ด เพื่อต้องการฆ่าปลาทั้งหลาย ฉันใด ท่านกล่าวสรรเสริญหว่านรูปเหล่านั้นก็เพื่อมัดสัตว์ทั้งหลาย ฉันนั้น.

บทว่า มาณวคามิโย ความว่า ได้ยินว่า เทพบุตรองค์นี้ เป็นพุทธอุปัฏฐาก.

บทว่า ราชคหิยานํ

 
  ข้อความที่ 7  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 31 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 405

ได้แก่ ภูเขาในกรุงราชคฤห์.

บทว่า เสโต ได้แก่ เขาไกรลาส.

บทว่า อฆคามินํ ได้แก่ ที่โคจรไปในอากาศ.

บทว่า อุทธีนํ ได้แก่ รองรับน้ำ.

ท่านอธิบายไว้ดังนี้ว่า ภูเขาวิบูลบรรพตประเสริฐสุด แห่งบรรดาภูเขาที่ตั้งอยู่ในกรุงราชคฤห์ ภูเขาไกรลาสประเสริฐสุด แห่งบรรดาภูเขาในป่าหิมพานต์ ดวงอาทิตย์ประเสริฐสุด แห่งบรรดาสภาวะที่โคจรไปในอากาศ สมุทร [ทะเล] ประเสริฐสุด แห่งบรรดาสภาวะที่รองรับน้ำ ดวงจันทร์ประเสริฐสุด แห่งบรรดาดวงดาวทั้งหลาย ฉันใด พระพุทธเจ้าก็ประเสริฐสุด แห่งโลกพร้อมทั้งเทวโลก ฉันนั้น.

จบอรรถกถานานาติตถิยสูตรที่ ๑๐

วรรคที่ ๓

เทวปุตตสังยุตจบเพียงเท่านี้

พระสูตรในนานาติตถิยวรรคที่ ๓ นี้ คือ

๑. สิวสูตร

๒. เขมสูตร

๓. เสรีสูตร

๔. ฆฏิการสูตร

๕. ชันตุสูตร

๖. โรหิตัสสสูตร

๗. นันทสูตร

๘. นันทิวิสาลสูตร

๙. สุสิมสูตร

๑๐. นานาติตถิยสูตร

พร้อมทั้งอรรถกถา.

จบเทวปุตตสังยุต