๕. อัตตรักขิตสูตร
[เล่มที่ 24] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 429
๕. อัตตรักขิตสูตร
อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 24]
พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 429
๕. อัตตรักขิตสูตร
[๓๓๗] พระเจ้าปเสนทิโกศล ประทับนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้วได้ทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ วันนี้ข้าพระองค์ได้เข้าห้องส่วนตัวพักผ่อนอยู่ ได้เกิดความนึกคิดอย่างนี้ว่า ชนพวกไหนหนอ ชื่อว่าเป็นผู้รักษาตน ชนพวกไหนหนอ ชื่อว่าเป็นผู้ไม่รักษาตน ข้าพระองค์ได้คิดต่อไปว่า ก็ชนบางพวกย่อมประพฤติทุจริตด้วยกาย วาจา ใจ ชนพวกนั้นชื่อว่าเป็นผู้ไม่รักษาตน ถึงแม้พลช้าง พลม้า พลรถ หรือพลเดินเท้า จะพึงรักษาเขา ถึงเช่นนั้นชนพวกนั้น ก็ชื่อว่าไม่เป็นผู้รักษาตน.
ข้อนั้นเป็นเพราะเหตุไร ก็เพราะเหตุว่า การรักษาเช่นนั้น เป็นการรักษาภายนอก มิใช่เป็นการรักษาภายใน ฉะนั้น ชนพวกนั้นจึงชื่อว่าเป็นผู้ไม่รักษาตน.
ส่วนว่าชนบางพวกย่อมประพฤติสุจริตด้วยกาย วาจา ใจ ชนพวกนั้นชื่อว่าเป็นผู้รักษาตน ถึงแม้ว่าพลช้าง พลม้า พลรถหรือพลเดินเท้า จะไม่รักษาเขา ถึงเช่นนั้นชนพวกนั้นก็ชื่อว่าเป็นผู้รักษาตน.
ข้อนั้นเป็นเพราะเหตุไร ก็เพราะเหตุว่าการรักษาเช่นนั้น เป็นการรักษาภายใน มิใช่เป็นการรักษาภายนอก ฉะนั้น ชนพวกนั้นจึงชื่อว่าเป็นผู้รักษาตน.
[๓๓๘] พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสตอบว่า ถูกแล้วๆ มหาบพิตร ก็ชนบางพวกย่อมประพฤติทุจริตด้วยกาย วาจา ใจ ชนพวกนั้นชื่อว่าเป็นผู้ไม่รักษาตน ถึงแม้ชนพวกนั้นจะมีพลช้าง พลม้า พลรถ หรือพลเดินเท้า คอยรักษา ถึงเช่นนั้นชนพวกนั้นก็ชื่อว่าไม่รักษาตน ข้อนั้นเป็นเพราะเหตุไร ก็เพราะเหตุว่าการรักษาเช่นนั้นเป็นการรักษาภายนอก มิใช่เป็นการรักษาภายใน ฉะนั้น ชนพวกนั้นจึงชื่อว่าไม่รักษาตน.
ส่วนว่าชนบางพวกย่อมประพฤติสุจริตด้วยกาย
พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 430
วาจา ใจ ชนพวกนั้นชื่อว่าเป็นผู้รักษาตน ถึงแม้ชนพวกนั้นจะไม่มีพลช้าง พลน้ำ พลรถ หรือพลเดินเท้า คอยรักษา ถึงเช่นนั้นชนพวกนั้นก็ชื่อว่ารักษาตน ข้อนั้นเป็นเพราะเหตุไร ก็เพราะเหตุว่าการรักษาเช่นนั้นเป็นการรักษาภายใน มิใช่เป็นการรักษาภายนอก ฉะนั้น ชนพวกนั้นจึงชื่อว่าเป็นผู้รักษาตน.
[๓๓๙] พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้พระสุคตศาสดา ครั้นตรัสไวยากรณ์คำร้อยแก้วนี้จบลงแล้ว จึงได้ตรัสคาถาคำร้อยกรองต่อไปอีกว่า
การสำรวมทางกายเป็นการดี การสำรวมทางวาจาเป็นการดี การสำรวมทางใจเป็นการดี การสำรวมในที่ทั้งปวงเป็นการดี บุคคลสำรวมในที่ทั้งปวงแล้วมีความละอายต่อบาป เรากล่าวว่าเป็นผู้รักษาตน.
อรรถกถาอัตตรักขิตสูตร
พึงทราบวินิจฉัยในอัตตรักขิตสูตรที่ ๕ ต่อไป :-
บทว่า หตฺถิกาโย ได้แก่ หมู่พลช้าง. แม้ในหมู่พลที่เหลือก็นัยนี้เหมือนกัน.
บทว่า สํวโร ได้แก่ ปิด.
ด้วยบทว่า สาธุ สพฺพตฺถ สํวโร นี้ พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงแสดงความสำรวมแห่งกรรมที่ยังไม่ถึงความแตกแห่งกรรมบถ.
บทว่า ลชฺชี แปลว่า ผู้มีหิริละอาย แม้โอตตัปปะ ก็เป็นอันทรงถือเอาแล้วด้วย ลัชชี ศัพท์ในบทนี้.
จบอรรถกถาอัตตรักขิตสูตรที่ ๕