พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๑๐. พันธนสูตร ว่าด้วยเครื่องจองจําที่มั่นคง

 
บ้านธัมมะ
วันที่  29 ส.ค. 2564
หมายเลข  36283
อ่าน  489

[เล่มที่ 24] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 448

๑๐. พันธนสูตร

ว่าด้วยเครื่องจองจําที่มั่นคง


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 24]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 31 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 448

๑๐. พันธนสูตร

ว่าด้วยเครื่องจองจำที่มั่นคง

[๓๕๒] สมัยนั้น หมู่มหาชนถูกพระเจ้าปเสนทิโกศลให้จองจำไว้แล้ว บางพวกถูกจองจำด้วยเชือก บางพวกถูกจองจำด้วยขื่อคา บางพวกถูกจองจำด้วยโซ่ตรวน.

ครั้งนั้น ภิกษุหลายรูปครองผ้าเรียบร้อยแล้วในเวลาเช้า ถือบาตรและจีวรเข้าไปสู่กรุงสาวัตถี เพื่อบิณฑบาต ครั้นกลับจากบิณฑบาตในเวลาหลังภัตตาหารแล้ว เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าถวายบังคม แล้วได้นั่งอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง.

พวกภิกษุเหล่านั้น ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ วันนี้หมู่มหาชนถูกพระเจ้าปเสนทิโกศลให้จองจำไว้แล้ว บางพวกถูกจองจำด้วยเชือก บางพวกถูกจองจำด้วยขื่อคา บางพวกถูกจองจำด้วยโซ่ตรวน.

[๓๕๓] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทราบเนื้อความนั้นแล้ว จึงได้ตรัสพระคาถาเหล่านั้นในเวลานั้นว่า

นักปราชญ์ทั้งหลายไม่ได้กล่าวว่า เครื่องจองจำที่ทำด้วยเหล็ก ทำด้วยไม้และทำด้วยหญ้า (เชือก) เป็นเครื่องจองจำที่มั่น นักปราชญ์ทั้งหลายกล่าวว่าความรักใคร่นักในแก้วมณีและกุณฑล และความอาลัยในบุตรและภรรยาทั้งหลายว่าเป็นเครื่องจองจำที่มั่น พาให้ตกต่ำ เป็นเครื่องจองจำที่

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 31 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 449

หย่อนๆ แต่แก้ยาก นักปราชญ์ทั้งหลายตัดเครื่องจองจำแม้เช่นนั้นออกบวช เป็นผู้ไม่มีความอาลัย ละกามสุขเสียแล้ว.

อรรถกถาพันธนสูตร

พึงทราบวินิจฉัยในพันธนสูตรที่ ๑๐ ต่อไป :-

ภิกษุเหล่านั้น ทูลเหตุที่พระอานนทเถระกระทำดีในมนุษย์เหล่านั้น ดังนี้ว่า อิธ ภนฺเต รญฺา.

ได้ยินว่า แก้วมณี ๘ เหลี่ยม ที่ท้าวสักกะประทานแก่พระเจ้ากุสราช มาสืบๆ กันตามประเพณี. เวลาทรงประดับ พระราชาตรัสสั่งให้นำแก้วมณีนั้นมา. มนุษย์ทั้งหลายกราบทูลว่า พวกข้าพระองค์ไม่พบในที่เก็บ. พระราชาจึงให้จองจำพนักงานที่ปฏิบัติงานภายในพระราชนิเวศน์ไว้ สั่งว่า พวกเจ้าจงเสาะหาแก้วมณีนั้นมาให้. พระอานนทเถระเห็นคนเหล่านั้นแล้วก็ให้กั้นม่านไว้ แล้วบอกอุบายแก่พวกคนเก็บรักษา. คนเหล่านั้น ก็กราบทูลแด่พระราชา. พระราชารับสั่งว่า พระเถระเป็นบัณฑิต พวกเจ้าจงทำตามพระเถระ พวกคนเก็บรักษา ก็ตั้งหม้อน้ำไว้ที่พระลานหลวงกั้นม่านไว้ แล้วบอกผู้คนเหล่านั้นว่า พวกท่านจงห่มผ้าแล้วไปที่นั้นจงจุ่มมือลง. คนขโมยแก้วมณีคิดว่า เราไม่อาจจำหน่ายหรือใช้สอยของของพระราชาได้กลับไปเรือน เอาแก้วมณีหนีบรักแร้ห่มผ้ามาแล้วใส่ลงในหม้อน้ำ แล้วก็หลีกไป. เมื่อมหาชนกลับไปแล้ว พวกคนของพระราชา เอามือควานในหม้อน้ำก็พบแก้วมณีแล้วนำไปถวายแด่พระราชา. ได้ยินว่า พระอานนทเถระเห็นแก้วมณี โดยนัยที่แสดง

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 31 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 450

แล้ว. มหาชนก็โกลาหลแตกตื่น. ภิกษุเหล่านั้น เมื่อกราบทูลเหตุที่พระอานนท์เถระทำดีนั้น แด่พระตถาคต จึงกราบทูลเรื่องนี้.

พระศาสดาตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ไม่อัศจรรย์เลย ที่อานนท์ให้นำแก้วมณี ที่ตกอยู่ในมือพวกมนุษย์มาได้ พวกบัณฑิตแต่ก่อน ตั้งอยู่ในญาณของตนแล้วก็ให้นำสิ่งของที่ตกอยู่ในความครอบครอง แม้ของสัตว์ดิรัจฉานซึ่งบังเกิดในอเหตุกปฏิสนธิมาถวายแด่พระราชาได้ แล้วตรัสมหาราชสารชาดกว่า

อุกฺกุฏฺเ สูรมิจฺฉนฺติ มนฺเตสุ อกุตูหลํ ปิยญฺจ อนฺนปานมฺหิ อตฺเถ ชาเต จ ปณฺฑิตํ

ในคราวคับขัน ต้องการคนกล้า ในคราวปรึกษา ต้องการคนไม่พูดพล่าม ในคราวมีข้าวน้ำ ต้องการคนรัก ในคราวเกิดคดี ต้องการบัณฑิต.

บทว่า น ตํ ทฬฺหํ ความว่า ปราชญ์ทั้งหลายไม่กล่าวว่าเครื่องจองจำนั้นมั่นคง.

บทว่า ยทายสํ ได้แก่ เครื่องจองจำใดทำด้วยเหล็ก.

บทว่า สารตฺตรตฺตา ได้แก่ ยินดีแล้วยินดีเล่าด้วยดี หรือยินดีแล้ว โดยยินดีนักแล้ว อธิบายว่า ยินดีแล้วด้วยความสำคัญว่าสิ่งนี้เป็นสาระ.

บทว่า อเปกฺขา ได้แก่ ความอาลัย ความเยื่อใย.

บทว่า อาหุ แปลว่า กล่าว.

บทว่า โอหารินํ ได้แก่ คร่าไปในอบาย ๔.

บทว่า สิถิลํ ได้แก่ ไม่ห้ามอิริยาบถ เหมือนอย่างเครื่องจองจำมีเหล็ก เป็นต้น.

จริงอยู่ เหล่าคนที่ถูกจองจำด้วยเครื่องจองจำนั้น ย่อมไปประเทศอื่นก็ได้ สมุทรอื่นก็ได้ทั้งนั้น.

บทว่า ทุปฺปมุญฺจํ ได้แก่ ไม่อาจแก้ได้ เว้นแต่โลกุตรญาณ.

จบอรรถกถาพันธนสูตรที่ ๑๐

จบโกสลสังยุตปฐมวรรคที่ ๑

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 31 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 451

รวมพระสูตรในโกสลสังยุตปฐมวรรค คือ

๑. ทหรสูตร

๒. ปุริสสูตร

๓. ราชสูตร

๔. ปิยสูตร

๕ อัตตรักขิตสูตร

๖. อัปปกสูตร

๗. อัตถกรณสูตร

๘. มัลลิกาสูตร

๙. ยัญญสูตร

๑๐. พันธนสูตร

พร้อมทั้งอรรถกถา.