๒. ปัญจราชสูตร ว่าด้วยยอดกาม
[เล่มที่ 24] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 459
๒. ปัญจราชสูตร
ว่าด้วยยอดกาม
อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 24]
พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 459
๒. ปัญจราชสูตร
ว่าด้วยยอดกาม
[๓๕๙] พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับ... กรุงสาวัตถี.
สมัยนั้น พระราชา ๕ พระองค์ มีพระเจ้าปเสนทิโกศลเป็นประมุขผู้เอิบอิ่มเพรียบพร้อม ได้รับบำเรออยู่ด้วยเบญจพิธกามคุณ เกิดกล่าวถามในระหว่างสนทนาขึ้นว่า อะไรเป็นยอดแห่งกามทั้งหลาย.
บรรดาพระราชาเหล่านั้น บางองค์ได้ตรัสอย่างนี้ว่า รูปทั้งหลายเป็นยอดแห่งกามทั้งหลาย.
บางองค์ได้ตรัสอย่างนี้ว่า เสียงทั้งหลายเป็นยอดแห่งกามทั้งหลาย.
บางองค์ได้ตรัสอย่างนี้ว่า กลิ่นทั้งหลายเป็นยอดแห่งกามทั้งหลาย.
บางองค์ได้ตรัสอย่างนี้ว่า รสทั้งหลายเป็นยอดแห่งกามทั้งหลาย.
บางองค์ได้ตรัสอย่างนี้ว่า โผฏฐัพพะทั้งหลายเป็นยอดแห่งกามทั้งหลาย.
เพราะเหตุที่พระราชาเหล่านั้น ไม่อาจทรงยังกันและกันให้เข้าพระทัยได้ พระเจ้าปเสนทิโกศลจึงได้ตรัสกะพระราชาเหล่านั้นว่า มาเถิดท่านสหายทั้งหลาย เราจักเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า จักทูลถามความข้อนี้กะพระผู้มีพระภาคเจ้า พระผู้มีพระภาคเจ้าจักทรงพยากรณ์แก่เราทั้งหลายอย่างใด เราทั้งหลายพึงจำคำพยากรณ์นั้นไว้อย่างนั้นเถิด.
พระราชาเหล่านั้น ทรงรับพระดำรัสของพระเจ้าปเสนทิโกศลแล้ว.
[๓๖๐] ครั้งนั้น พระราชา ๕ พระองค์เหล่านั้น มีพระเจ้าปเสนทิโกศลเป็นประมุข เสด็จเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นแล้วก็ถวายบังคมประทับนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง.
พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 460
พระเจ้าปเสนทิโกศล ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ทั้งหลายในที่นี้ เป็นราชาทั้ง ๕ คน เอิบอิ่มเพรียบพร้อมได้รับบำเรออยู่ด้วยเบญจกามคุณ เกิดกล่าวถามกันระหว่างสนทนาขึ้นว่า
อะไรเป็นยอดแห่งกามทั้งหลาย บางท่านกล่าวอย่างนี้ว่า รูปทั้งหลายเป็นยอดแห่งกามทั้งหลาย บางท่านกล่าวอย่างนี้ว่า เสียงทั้งหลายเป็นยอดแห่งกามทั้งหลาย บางท่านกล่าวอย่างนี้ว่า กลิ่นทั้งหลายเป็นยอดแห่งกามทั้งหลาย บางท่านกล่าวอย่างนี้ว่า รสทั้งหลายเป็นยอดแห่งกามทั้งหลาย บางท่านกล่าวอย่างนี้ว่า โผฏฐัพพะทั้งหลายเป็นยอดแห่งกามทั้งหลาย ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อะไรเป็นยอดแห่งกามทั้งหลาย.
[๓๖๑] พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ดูก่อนมหาบพิตร ที่สุดแห่งความพอใจนั่นแหละ อาตมภาพกล่าวว่าเป็นยอดในเบญจกามคุณ ดูก่อนมหาบพิตร รูปเหล่าใดเป็นที่พอใจของคนบางคน รูปเหล่านั้นไม่เป็นที่พอใจของคนบางคน เขาดีใจ มีความดำริบริบูรณ์ด้วยรูปเหล่าใด รูปอื่นจากรูปเหล่านั้น จะยิ่งกว่า หรือประณีตกว่า เขาก็ไม่ปรารถนา รูปเหล่านั้นเป็นอย่างยิ่งสำหรับเขา รูปเหล่านั้นเป็นยอดเยี่ยมสำหรับเขา ดูก่อนมหาบพิตร เสียงเหล่าใด... ดูก่อนมหาบพิตร กลิ่นเหล่าใด... ดูก่อนมหาบพิตร รสเหล่าใด... ดูก่อนมหาบพิตร โผฏฐัพพะเหล่าใด เป็นที่พอใจของคนบางคน โผฏฐัพพะเหล่านั้น ไม่เป็นที่พอใจของคนบางคน เขาดีใจ มีความดำริบริบูรณ์ด้วยโผฏฐัพพะเหล่าใด โผฏฐัพพะอื่นจากโผฏฐัพพะเหล่านั้นจะยิ่งกว่า หรือประณีตกว่า เขาก็ไม่ปรารถนา โผฏฐัพพะเหล่านั้นเป็นอย่างยิ่งสำหรับเขา โผฏฐัพพะเหล่านั้นเป็นยอดเยี่ยมสำหรับเขา.
[๓๖๒] สมัยนั้น จันทนังคลิกอุบาสกนั่งอยู่ในบริษัทนั้น.
พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 461
ลำดับนั้น จันทนังคลิกอุบาสกลุกจากอาสนะ ทำผ้าห่มเฉวียงบ่าข้างหนึ่ง ประนมอัญชลีไปทางพระผู้มีพระภาคเจ้า แล้วได้กราบทูลว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า เหตุอย่างหนึ่ง ย่อมแจ่มแจ้งกะข้าพระองค์ ข้าแต่พระสุคต เหตุอย่างหนึ่งย่อมแจ่มแจ้งกะข้าพระองค์.
พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ดูก่อนจันทนังคลิกะ ขอเหตุนั่นจงแจ่มแจ้งเถิด.
ลำดับนั้น จันทนังคลิกอุบาสก ได้สรรเสริญพระผู้มีพระภาคเจ้าเฉพาะพระพักตร์ ด้วยคาถาที่สมควรแก่เหตุนั้นว่า
ดอกปทุมชื่อโกกนุท บานในเวลาเช้า ยังไม่สิ้นกลิ่น ยังมีกลิ่นหอมอยู่ ฉันใด ท่านจงดูพระอังคีรส ผู้ไพโรจน์อยู่ดุจดวงอาทิตย์ รุ่งโรจน์อยู่ในอากาศ ฉันนั้น.
[๓๖๓] ลำดับนั้น พระราชา ๕ พระองค์เหล่านั้น ทรงให้จันทนังคลิกอุบาสกห่มด้วยผ้า ๕ ผืน (คือพระราชทานผ้าห่ม ๕ ผืน).
ทันใดนั้น จันทนังคลิกอุบาสก ก็ถวายให้พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงห่มด้วยผ้า ๕ ผืนเหล่านั้น.
อรรถกถาปัญจราชสูตร
พึงทราบวินิจฉัยในปัญจราชสูตรที่ ๒ ต่อไป :-
บทว่า รูปา ได้แก่ อารมณ์คือรูป ต่างโดยรูปสีเขียวสีเหลือง เป็นต้น.
บทว่า กามานํ อคฺคํ ความว่า ผู้หนักในรูปก็กล่าวรูปนั้นว่า สูงสุดประเสริฐสุดแห่งกามทั้งหลาย แม้ในอารมณ์ที่เหลือก็นัยนี้เหมือนกัน.
บทว่า
พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 462
ยโต แปลว่า ในกาลใด.
บทว่า มนาปปริยนฺตํ ได้แก่ ทำอารมณ์ที่น่าพอใจให้เสร็จชื่อว่าเป็นยอดอารมณ์ที่น่าพอใจ.
ในคำว่า มนาปปริยนฺตํ นั้น อารมณ์ที่น่าพอใจมี ๒ คือ อารมณ์ที่น่าพอใจของบุคคล อารมณ์ที่น่าพอใจโดยสมมติ สิ่งใดเป็นของที่น่าปรารถนา น่าใคร่ของบุคคลคนหนึ่ง สิ่งนั้นนั่นแหละ ไม่น่าปรารถนาไม่น่าใคร่ของบุคคลอื่น ชื่อว่าสิ่งที่น่าพอใจของบุคคล. เป็นความจริง ไส้เดือน ย่อมเป็นของที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ ของชาวปัจจันตประเทศ แต่ชาวมัชฌิมประเทศเกลียดนัก. ส่วนเนื้อนกยูง เป็นต้น เป็นที่น่าปรารถนาของชาวมัชฌิมประเทศเหล่านั้น แต่สำหรับชาวปัจจันตประเทศนอกนี้เกลียดนัก.
นี้คือสิ่งที่น่าพอใจของบุคคล.
สิ่งที่น่าพอใจโดยสมมติเป็นอย่างไร.
ชื่อว่า อิฏฐารมณ์ (น่าปรารถนา) และอนิฏฐารมณ์ (ที่ไม่น่าปรารถนา) ที่แยกกันในโลกไม่มีเลย แต่ก็พึงจำแนกแสดง. แต่เมื่อจะจำแนกก็จำต้องยกพระเจ้ามหาสมมตปฐมกษัตริย์ พระเจ้ามหาสุทัสสนะและพระเจ้าธรรมาโศกราช เป็นต้น จำแนกแยกแยะ.
จริงอยู่ อารมณ์แม้สำเร็จจากทิพย์ ก็ปรากฏว่า ไม่สมพระทัยของกษัตริย์เหล่านั้น แต่ไม่พึงจำแนก โดยยกเอาข้าวน้ำที่หายาก สำหรับคนเข็ญใจอย่างยิ่ง.
จริงอยู่ คนเข็ญใจอย่างยิ่งเหล่านั้น เมล็ดข้าวสวยปลายเกวียนก็ดี รสเนื้อเน่าก็ดี ก็มีรสอร่อยเหลือเกิน เสมือนอมฤตรส. แต่พึงจำแนก โดยยกคนปานกลาง เช่น หัวหน้าหมู่ มหาอำมาตย์ เศรษฐี กุฎุมพีและพาณิช เป็นต้น ซึ่งบางคราวก็ได้สิ่งที่น่าปรารถนา บางคราวก็ได้สิ่งที่ไม่น่าปรารถนา ก็แต่ว่า สิ่งที่น่าปรารถนาและสิ่งที่ไม่น่าปรารถนานั้น ก็ไม่อาจกำหนดชวนจิตในอารมณ์ได้.
จริงอยู่ ชวนจิต ย่อมยินดีในสิ่งที่น่าปรารถนาก็มี ในสิ่งที่ไม่น่าปรารถนาก็มี ยินร้ายในสิ่งที่น่าปรารถนาก็มี ในสิ่งที่ไม่น่าปรารถนาก็มี. ด้วยว่า วิบากจิต
พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 463
ย่อมกำหนดอารมณ์ที่น่าปรารถนาและไม่น่าปรารถนา โดยอารมณ์อันเดียวกัน.
จริงอยู่ พวกมิจฉาทิฏฐิเห็นพระพุทธเจ้าก็ดี พระสงฆ์ก็ดี อารมณ์อันโอฬารมีมหาเจดีย์ เป็นต้น ก็ดี ย่อมปิดตา ประสบความเสียใจ ได้ยินเสียงแสดงธรรม ก็ปิดหูทั้งสอง แต่จักขุวิญญาณและโสตวิญญาณ ก็เป็นกุศลวิบากของพวกเขา. สุกรกินคูถเป็นต้น ได้กลิ่นคูถก็เกิดความดีใจว่า เราจักกินคูถดังนี้ ก็จริงอยู่ ถึงกระนั้นจักขุวิญญาณของมันในการเห็นคูถ ฆานวิญญาณในการดมกลิ่นคูถนั้น และชิวหาวิญญาณในการลิ้มรส ย่อมเป็นอกุศลวิบากโดยแท้.
พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงหมายเอาความเป็นสิ่งที่น่าพอใจของบุคคล จึงตรัสว่า เต จ มหาราช รูปา เป็นต้น.
คำว่า จนฺทนงฺคลิโย (๑) นี้ เป็นชื่อของอุบาสกนั้น.
บทว่า ปฏิภาติ มํ ภควา ความว่า เหตุอย่างหนึ่ง ย่อมปรากฏแจ่มแจ้งแก่ข้าพระองค์.
จันทนังคลิกอุบาสกนั้น เห็นพระราชาทั้ง ๕ พระองค์ทรงสวมกุณฑลมณี แม้เสด็จมาด้วยพระอิสริยยศและสมบัติอย่างเยี่ยม ด้วยราชานุภาพอย่างใหญ่ โดยประทับนั่งรวมกัน ณ พื้นที่สำหรับดื่ม ซึ่งจัดไว้ ต่างก็สิ้นสง่าสิ้นความงาม ตั้งแต่ประทับยืน ณ สำนักของพระทศพล เหมือนดวงประทีปเวลากลางวัน เหมือนถ่านไฟที่เอาน้ำรด และเหมือนหิ่งห้อยเวลาพระอาทิตย์ขึ้น จึงเกิดปฏิภาณขึ้นว่า ท่านผู้เจริญ ธรรมดาว่าพระพุทธะทั้งหลายใหญ่หนอ เพราะฉะนั้น เขาจึงกล่าวอย่างนี้.
คำว่า โกกนทํ นี้ เป็นไวพจน์ของปทุมนั่นเอง.
บทว่า ปาโต ได้แก่ ต่อกาลเทียว.
บทว่า สิยา แปลว่า พึงมี.
บทว่า อวีตคนฺธํ ได้แก่ ไม่ปราศจากกลิ่น.
บทว่า องฺคีรสํ ได้แก่ พระสัมมาสัมพุทธเจ้า.
จริงอยู่ พระรัศมีทั้งหลาย ย่อมซ่านออกจากพระวรกายของพระผู้มีพระภาคเจ้า เพราะฉะนั้น จึงเรียกว่า องฺคีรโส พระอังคีรส.
ความย่อในคำนี้ มีดังนี้ว่า
(๑) บาลีเป็น จนฺทนงฺคลิโก
พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 464
ดอกปทุม กล่าวคือ ดอกโกกนท บานแต่เช้าตรู่ ยังไม่ปราศจากกลิ่น หอมระรื่นฉันใด ท่านจงดูพระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามว่า อังคีรส ทรงรุ่งโรจน์ดุจดวงอาทิตย์ ส่องแสงจ้า กลางนภากาศ ฉันนั้นเหมือนกัน.
บทว่า ภควนฺตํ อจฺฉาเทสิ ความว่า ได้ถวายแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า.
แต่ว่าโดยโวหารโลกในข้อนี้ คำก็มีเช่นนี้.
ได้ยินว่า อุบาสกนั้นคิดว่า พระราชาเหล่านี้ทรงเลื่อมใสในพระคุณทั้งหลายของพระตถาคต พระราชทานผ้าห่มแก่เราถึง ๕ ผืน จำเราจักถวายผ้าห่มเหล่านั้น แด่พระผู้มีพระภาคเจ้าแต่พระองค์เดียว ดังนี้จึงได้ถวาย.
จบอรรถกถาปัญจราชสูตรที่ ๒