พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๓. โทณปากสูตร คาถากันบริโภคอาหารมาก

 
บ้านธัมมะ
วันที่  29 ส.ค. 2564
หมายเลข  36286
อ่าน  666

[เล่มที่ 24] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 465

๓. โทณปากสูตร

คาถากันบริโภคอาหารมาก


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 24]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 31 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 465

๓. โทณปากสูตร

คาถากันบริโภคอาหารมาก

[๓๖๔] พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่... กรุงสาวัตถี.

สมัยนั้น พระเจ้าปเสนทิโกศลเสวยพระสุธาหารหุงด้วยข้าวสารหนึ่งทะนาน เสวยแล้วทรงอึดอัด เสด็จเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้า แล้วประทับนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง.

[๓๖๕] ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทราบว่า พระเจ้าปเสนทิโกศลนั้นเสวยแล้วทรงอึดอัด จึงได้ตรัสพระคาถานี้ในเวลานั้นว่า

มนุษย์ผู้มีสติอยู่ทุกเมื่อ รู้จักประมาณในโภชนะที่ได้มา ย่อมมีเวทนาเบาบาง เขาย่อมแก่ช้า อายุยืน.

[๓๖๖] สมัยนั้น มหาดเล็กหนุ่มชื่อสุทัศนะ ยืนอยู่เบื้องพระปฤษฎางค์พระเจ้าปเสนทิโกศล.

ลำดับนั้น พระเจ้าปเสนทิโกศลจึงตรัสเรียกสุทัศนมาณพมารับสั่งว่ามานี้สุทัศนะ เจ้าจงเรียนคาถานี้ในสำนักพระผู้มีพระภาคเจ้า แล้วจงกล่าวในเวลาเราบริโภคอาหาร อนึ่ง เราจะให้ค่าอาหารแก่เจ้าวันละ ๑๐๐ กหาปณะทุกวัน.

สุทัศนมาณพรับสนองพระดำรัสพระเจ้าปเสนทิโกศลว่า เป็นพระมหากรุณาอย่างยิ่ง พระเจ้าข้า ดังนี้ แล้วเรียนคาถานี้ในสำนักพระผู้มีพระภาคเจ้า แล้วกล่าวในเวลาที่พระเจ้าปเสนทิโกศล เสวยพระกระยาหารว่า

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 31 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 466

มนุษย์ผู้มีสติอยู่ทุกเมื่อ รู้จักประมาณในโภชนะที่ได้มา ย่อมมีเวทนาเบาบาง เขาย่อมแก่ช้า อายุยืน.

[๓๖๗] ครั้งนั้น พระเจ้าปเสนทิโกศล ทรงดำรงอยู่โดยมีพระกระยาหารหนึ่งทะนานข้าวสุกเป็นอย่างมากเป็นลำดับมา.

ในลำดับต่อมา พระเจ้าปเสนทิโกศลมีพระวรกายกระปรี้กระเปร่าดี ทรงลูบพระวรกายด้วยฝ่าพระหัตถ์ ทรงเปล่งพระอุทานนี้ในเวลานั้นว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น ทรงอนุเคราะห์เราด้วยประโยชน์ทั้ง ๒ คือประโยชน์ปัจจุบันและประโยชน์ภายหน้าหนอ.

อรรถกถาโทณปากสูตร

พึงทราบวินิจฉัยในโทณปากสูตรที่ ๓ ต่อไป :-

บทว่า โทณปากสุทํ ได้แก่ พระกระยาหาร คือ ข้าวสุกแห่งข้าวสารทะนานหนึ่ง. อธิบายว่า พระเจ้าปเสนทิโกศลเสวยข้าวสุกแห่งข้าวสารทะนานหนึ่ง และแกงกับที่เหมาะแก่ข้าวสุกนั้น.

บทว่า ภุตฺตาวี ความว่าทรงบรรเทาความเมาในพระกระยาหารก่อนแล้วพักผ่อนครู่หนึ่งแล้วจึงเสด็จไปเฝ้าพระพุทธองค์ แต่วันนั้น ท้าวเธอกำลังเสวย ระลึกถึงพระทศพล ก็ล้างพระหัตถ์แล้วเสด็จไป.

บทว่า มหสฺสาสี ความว่า ท้าวเธอกำลังเสด็จไปก็เกิดความกระวนกระวายเพราะพระกระยาหาร อย่างรุนแรง เพราะฉะนั้น จึงทรงหายใจด้วยพระอัสสาสะอย่างแรง หยาดพระเสโทก็ไหลออกจากพระวรกายของพระองค์ พวกราชบุรุษต้องยืนประคองทั้งสองข้าง พัดวีพระองค์ด้วยขั้วใบ

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 31 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 467

ตาลคู่ แต่ท้าวเธอก็ไม่อาจบรรทม เพราะทรงคารวะในพระพุทธองค์. ท่านหมายเอาข้อนี้จึงกล่าวว่า มหสฺสาสี.

บทว่า อิมํ คาถํ อภาสิ ความว่า พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงพระดำริว่า พระราชาทรงลำบาก เพราะไม่ทรงรู้จักประมาณในโภชนะ เราจักทำพระองค์ให้อยู่ผาสุก ณ บัดนี้ แล้วจึงได้ตรัส [พระคาถานี้].

บทว่า มนุชสฺส แปลว่า สัตว์.

บทว่า กหาปณสตํ ได้แก่ ๑๐๐ กหาปณะ อย่างนี้คือ เวลาพระกระยาหารเช้า ๕๐ เวลาพระกระยาหารเย็น ๕๐.

บทว่า ปาปุณิตฺวา ความว่าไปกับพระราชาได้หน่อยหนึ่ง ก็ทูลว่า ขอเดชะ ข้าพระบาทจะให้พระแสงดาบมงคลเล่มนี้แก่ใคร พระเจ้าข้า เมื่อท้าวเธอรับสั่งว่า ให้แก่คนโน้น สุทัศนมาณพนั้น ก็ให้ดาบนั้น กลับมาสำนักพระทศพล ยืนถวายบังคมแล้วทูลว่า ท่านพระโคดมเจ้าข้า โปรดตรัสพระคาถาแล้วก็เรียนพระคาถาที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสแล้ว.

ถามว่า ได้ยินว่า สุทัศนมาณพกล่าวพระคาถาทุกเวลาที่เทียบพระเครื่องกล่าวอย่างไร.

ตอบว่า กล่าวโดยทำนองที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงสอน.

ความจริง พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงสอนมาณพนั้นอย่างนี้ว่า ดูก่อนมาณพ เจ้าอย่ากล่าวคาถานี้พร่ำเพรื่อ ในที่ไปถึงๆ (เหมือนนักร้องนักรำ) จงยืนใกล้ที่เสวยของพระราชา อย่ากล่าวเมื่อเสวยพระกระยาหารก้อนแรก พึงกล่าวเมื่อทรงถือก้อนสุดท้าย พระราชาทรงได้ยินแล้ว จักทรงทิ้งก้อนข้าว เมื่อเป็นดังนั้น เมื่อทรงล้างพระหัตถ์แล้ว ก็พึงชักถาดออกมานับเมล็ดข้าว [ได้เท่าใด] รู้จักกับแกล้มที่ผสมกับข้าวนั้น [แยกกับข้าวออก] วันรุ่งขึ้น ก็พึงลดข้าวสารเสียเพียงเท่านั้น พึงกล่าวเฉพาะในเวลาเสวยพระกระยาหารเช้า อย่ากล่าวในเวลาเสวยพระกระยาหารเย็น มาณพนั้นรับพระพุทธดำรัสแล้ว ได้กล่าวคาถาโดยทำนองที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงสอนในเวลาเสวยพระกระยาหารเย็น เพราะในวันนั้นพระราชาเสวยพระกระยาหารเช้าเสร็จเสด็จไปเสียแล้ว. พระราชาทรงระลึกถึงพระดำรัสของพระทศพล ก็ทิ้งก้อนข้าวลงในถาด

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 31 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 468

นั่นแหละ เมื่อทรงล้างพระหัตถ์แล้ว มาณพก็ชักถาดออกมานับเมล็ดข้าว [ได้เท่าใด] วันรุ่งขึ้น ก็ลดข้าวสารเสียเท่านั้น.

บทว่า นาฬิโกทนปรมตาย สณฺาสิ ความว่า ได้ยินว่า มาณพนั้น ไปสำนักพระตถาคตทุกวัน เป็นผู้คุ้นกับพระทศพล. ต่อมาวันหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสถามมาณพนั้นว่า พระราชาเสวยเท่าไร. มาณพนั้นทูลตอบว่าข้าวสุกทะนานหนึ่ง พระเจ้าข้า ตรัสว่าด้วยปริมาณเพียงเท่านี้ ส่วนของบุรุษนี้นับว่าเหมาะ ตั้งแต่นี้ไป เจ้าอย่ากล่าวคาถาเลย. ดั่งนั้น พระราชาจึงดำรงอยู่ในปริมาณนั้นนั่นแล.

ในคำว่า ทิฏฺธมฺมิเกน เจว อตฺเถน สมฺปรายิเกน จ นี้ ความที่พระราชามีพระสรีระ สละสลวย ชื่อว่าเป็นประโยชน์ปัจจุบัน. ศีลชื่อว่าประโยชน์ภายหน้า. ด้วยว่า ความเป็นผู้รู้จักประมาณในโภชนะ ย่อมชื่อว่าเป็นองค์ [ส่วน] ของศีลแล.

จบอรรถกถาโทณปากสูตรที่ ๓