พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๖. ธีตุสูตร ว่าด้วยสตรีก็เป็นผู้ประเสริฐได้

 
บ้านธัมมะ
วันที่  29 ส.ค. 2564
หมายเลข  36289
อ่าน  476

[เล่มที่ 24] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 477

๖. ธีตุสูตร

ว่าด้วยสตรีก็เป็นผู้ประเสริฐได้


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 24]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 31 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 477

๖. ธีตุสูตร

ว่าด้วยสตรีก็เป็นผู้ประเสริฐได้

[๓๗๖] สาวัตถีนิทาน.

ครั้งนั้น พระเจ้าปเสนทิโกศลเสด็จเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าถึงที่ประทับ ถวายบังคมแล้วประทับนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง.

ลำดับนั้น ราชบุรุษเข้าไปเฝ้าพระเจ้าปเสนทิโกศล แล้วกราบทูล ณ ที่ใกล้พระกรรณของพระเจ้าปเสนทิโกศลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้ประเสริฐ พระนางมัลลิกาเทวีประสูติพระธิดาแล้ว.

เมื่อบุรุษกราบทูลอย่างนี้แล้ว พระเจ้าปเสนทิโกศลก็ไม่ทรงเบิกบานพระทัย.

[๓๗๗] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทราบว่า พระเจ้าปเสนทิโกศลไม่ทรงเบิกบานพระทัย จึงได้ตรัสพระคาถาเหล่านี้ในเวลานั้นว่า

ดูก่อนมหาบพิตร ผู้เป็นใหญ่ยิ่งกว่าปวงชน แท้จริง แม้สตรีบางคนก็เป็นผู้ประเสริฐ พระองค์จงชุบเลี้ยงไว้ สตรีที่มีปัญญา มีศีล ปฏิบัติแม่ผัวพ่อผัวดังเทวดา จงรักสามี.

บุรุษที่เกิดจากสตรีนั้น ย่อมเป็นคนแกล้วกล้า เป็นเจ้าแห่งทิศได้ บุตรของภริยาดีเช่นนั้น ก็ครองแม้ราชสมบัติได้.

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 31 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 478

อรรถกถาธีตุสูตร

พึงทราบวินิจฉัยในธีตุสูตรที่ ๖ ต่อไป :-

บทว่า อุปสงฺกมิ ความว่า พระเจ้าปเสนทิโกศลโปรดให้จัดเรือนประสูติ เวลาพระนางมัลลิกาเทวีประสูติ พระราชทานการอารักขาแล้วเสด็จไปเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า.

บทว่า อนตฺตมโน อโหสิ ความว่า ทรงเสียพระทัยว่า เราให้อิสริยะอย่างใหญ่ แก่ธิดาของตระกูลที่เข็ญใจ ถ้านางได้ลูกชาย ก็จักประสบสักการะอย่างใหญ่แน่แท้ บัดนี้ นางสูญสิ้นจากสักการะนั้นไปเสียแล้ว.

บทว่า เสยฺยา ความว่า สตรีบางคนถึงจะเสมอกับผู้มีปัญญาชักช้า ก็ยังประเสริฐกว่าลูกเป็นใบ้.

บทว่า โปส แปลว่า โปรดทรงชุบเลี้ยงไว้.

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเรียกพระราชาผู้ปกครองประชาชนว่า ชนาธิป.

บทว่า สสฺสุเทวา ได้แก่ แม่ผัวและพ่อผัวเป็นดังเทวดา.

บทว่า ทิสมฺปติ ได้แก่ ผู้เป็นใหญ่ในทิศ.

บทว่า ตาทิสา สุภริยา แปลว่า ของภริยาที่ดีเช่นนั้น.

จบอรรถกถาธีตุสูตรที่ ๖