พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๗. ปฐมอัปปมาทสูตร

 
บ้านธัมมะ
วันที่  29 ส.ค. 2564
หมายเลข  36290
อ่าน  487

[เล่มที่ 24] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 479

๗. ปฐมอัปปมาทสูตร


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 24]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 31 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 479

๗. ปฐมอัปปมาทสูตร

[๓๗๘] พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับ... กรุงสาวัตถี... พระเจ้าปเสนทิโกศล ประทับนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้ว ได้ทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ธรรมอย่างหนึ่งที่ยึดไว้ได้ซึ่งประโยชน์ทั้ง ๒ คือประโยชน์ปัจจุบันนี้ และประโยชน์ในภายหน้า มีอยู่หรือ พระเจ้าข้า.

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ดูก่อนมหาบพิตร ธรรมอย่างหนึ่งที่ยึดไว้ได้ซึ่งประโยชน์ทั้ง ๒ คือ ประโยชน์ปัจจุบันนี้ และประโยชน์ในภายหน้า มีอยู่.

พระเจ้าปเสนทิโกศลทูลถามว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ธรรมอย่างหนึ่งที่ยึดไว้ได้ซึ่งประโยชน์ทั้ง ๒ คือ ประโยชน์ปัจจุบันนี้ และประโยชน์ในภายหน้า คืออะไร.

[๓๗๙] พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ดูก่อนมหาบพิตร คือ ความไม่ประมาท.

ดูก่อนมหาบพิตร รอยเท้าของสัตว์ทั้งหลายที่สัญจรไปบนแผ่นดินชนิดใดชนิดหนึ่ง รอยเท้าเหล่านั้นทั้งหมด ย่อมรวมลงในรอยเท้าช้าง รอยเท้าช้าง ย่อมกล่าวกันว่า เป็นเลิศกว่ารอยเท้าเหล่านั้น เพราะเป็นของใหญ่ ข้อนี้มีอุปมา ฉันใด ดูก่อนมหาบพิตร ธรรมอย่างหนึ่งที่ยึดไว้ได้ซึ่งประโยชน์ทั้ง ๒ คือ ประโยชน์ปัจจุบัน และประโยชน์ในภายหน้า คือ ความไม่ประมาท ก็มีอุปไมยฉันนั้น.

[๓๘๐] พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้พระสุคตศาสดา ครั้นตรัสไวยากรณ์คำร้อยแก้วนี้จบลงแล้ว จึงได้ตรัสคาถาคำร้อยกรองต่อไปอีกว่า

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 31 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 480

บุคคลปรารถนาอยู่ซึ่งอายุ ความไม่มีโรค วรรณะ สวรรค์ ความเกิดในตระกูลสูง และความยินดีอันโอฬารต่อๆ ไป พึงบำเพ็ญความไม่ประมาท บัณฑิตทั้งหลายย่อมสรรเสริญความไม่ประมาทในบุญกิริยาทั้งหลาย บัณฑิตผู้ไม่ประมาท ย่อมยึดไว้ได้ซึ่งประโยชน์ทั้ง ๒ คือ ประโยชน์ปัจจุบันนี้ และประโยชน์ในภพหน้า เพราะยึดไว้ได้ซึ่งประโยชน์นั้น ผู้มีปัญญา ท่านจึงเรียกว่า "บัณฑิต".

อรรถกถาปฐมอัปปมาทสูตร

พึงทราบวินิจฉัยในปฐมอัปปมาทสูตรที่ ๗ ต่อไป :-

บทว่า สมติคฺคยฺห แปลว่า ยึดไว้ได้ อธิบายว่า ถือไว้ได้.

อัปปมาท ธรรมที่หนุนให้ทำบุญ ชื่อว่า อัปปมาท ความไม่ประมาท.

บทว่า สโมธานํ ได้แก่ ตั้งลงพร้อม คือ รวมลง.

ด้วยบทว่า เอวเมว โข พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงว่า การาปกอัปปมาท (ความไม่ประมาทอันอุดหนุนบุคคลผู้กระทำตาม) เหมือนรอยเท้าช้าง กุศลธรรมที่เป็นไปในภูมิ ๔ ที่เหลือ ก็เหมือนรอยเท้าสัตว์ที่เหลือ กุศลธรรมเหล่านั้น ย่อมประชุมลงในอัปปมาทธรรม เป็นไปภายในอัปปมาทธรรม เหมือนรอยเท้าสัตว์ที่เหลือรวมลงในรอยเท้าช้าง

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 31 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 481

อนึ่ง รอยเท้าช้างเลิศ ประเสริฐสุด ใหญ่กว่ารอยเท้าสัตว์ที่เหลือ ฉันใด อัปปมาทธรรม ก็เลิศประเสริฐสุด ใหญ่กว่าธรรมทั้งหลายที่เหลือ ฉันนั้น.

จริงอยู่ อัปปมาทธรรมนั้น แม้เป็นโลกิยะอยู่ ก็ยังเลิศอยู่นั่นเอง เพราะอรรถว่าเป็นเหตุให้ได้ธรรมที่เป็นมหัคคตะและโลกุตระ.

บทว่า อปฺปมาทํ ปสํสนฺติ ความว่า บัณฑิตทั้งหลาย ย่อมสรรเสริญความไม่ประมาทเท่านั้นว่า ผู้ปรารถนาอายุ เป็นต้นเหล่านั้น พึงทำความไม่ประมาทอย่างเดียว.

อีกอย่างหนึ่ง ก็เพราะบัณฑิตทั้งหลาย สรรเสริญความไม่ประมาทในการกระทำบุญทั้งหลาย ฉะนั้น ผู้ปรารถนาอายุ เป็นต้น พึงทำความไม่ประมาทโดยแท้.

บทว่า อตฺถาภิสมยา ได้แก่ เพราะได้ประโยชน์.

จบอรรถกถาปฐมอัปปมาทสูตรที่ ๗