๙. ปฐมาปุตตกสูตร
[เล่มที่ 24] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 491
๙. ปฐมาปุตตกสูตร
อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 24]
พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 491
๙. ปฐมาปุตตกสูตร
[๓๘๖] สาวัตถีนิทาน.
ครั้งนั้น พระเจ้าปเสนทิโกศลเสด็จเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า ในเวลาเที่ยงวัน ถวายบังคมแล้วประทับนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง.
พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสกะพระเจ้าปเสนทิโกศลว่า เชิญเถิดมหาบพิตร พระองค์เสด็จจากไหนมาในเวลาเที่ยงวัน.
พระเจ้าปเสนทิโกศลทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ คฤหบคีผู้เป็นเศรษฐีในกรุงสาวัตถีนี้ กระทำกาลกิริยาแล้ว ข้าพระองค์ให้ขนทรัพย์สมบัติอันไม่มีบุตรรับมรดกนั้น มาไว้ในพระราชวังแล้วก็มา ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เฉพาะเงินเท่านั้นมี ๘,๐๐๐,๐๐๐ ส่วนเครื่องรูปิยะไม่ต้องพูดถึง ก็แต่คฤหบดีผู้เป็นเศรษฐีนั้น ได้บริโภคอาหารเห็นปานนี้ คือ บริโภคปลายข้าวกับน้ำส้มพะอูม ได้ใช้ผ้าเครื่องนุ่งห่มเห็นปานนี้ คือ นุ่งห่มผ้าเนื้อหยาบที่ตัดเป็นสามชิ้นเย็บติดกัน ได้ใช้ยานพาหนะเห็นปานนี้ คือ ใช้รถเก่าๆ กั้นร่มทำด้วยใบไม้.
[๓๘๗] พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ดูก่อนมหาบพิตร ข้อนี้เป็นอย่างนั้น ดูก่อนมหาบพิตร ข้อนี้เป็นอย่างนั้น ดูก่อนมหาบพิตร อสัตบุรุษได้โภคะอันโอฬารแล้ว ไม่ทำตนให้ได้รับความสุข ให้ได้รับความอิ่มหนำเลย ไม่ทำมารดาและบิดาให้ได้รับความสุข ให้ได้รับความอิ่มหนำ ไม่ทำบุตรและภรรยาให้ได้รับความสุข ให้ได้รับความอิ่มหนำ ไม่ทำทาสกรรมกรให้ได้รับความสุข ให้ได้รับความอิ่มหนำ ไม่ทำมิตรและอำมาตย์ให้ได้รับความสุข ให้ได้รับความอิ่มหนำ ไม่ทำทักษิณาอันมีผลในเบื้องบน มีอารมณ์ดี มีวิบากเป็นสุข เป็นไปเพื่อสวรรค์ ให้ตั้งอยู่ในสมณพราหมณ์ทั้งหลาย โภคะเหล่านั้น
พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 492
ของเขาที่มิได้ใช้สอยโดยชอบอย่างนี้ พระราชาทั้งหลายเอาไปบ้าง โจรทั้งหลายเอาไปบ้าง ไฟไหม้เสียบ้าง น้ำพัดไปเสียบ้าง ทายาททั้งหลายผู้ไม่เป็นที่รักเอาไปบ้าง.
ดูก่อนมหาบพิตร เมื่อเป็นเช่นนี้ โภคะที่มิได้ใช้สอยโดยชอบของเขาเหล่านั้น ย่อมหมดสิ้นไปเปล่าโดยไม่มีการบริโภคใช้สอย.
ดูก่อนมหาบพิตร ในที่ของอมนุษย์ มีสระโบกขรณีซึ่งมีน้ำใส มีน้ำเย็น มีน้ำจืดสนิท ใสตลอด มีท่าดี น่ารื่นรมย์ น้ำนั้นคนไม่พึงตักเอาไปเลย ไม่พึงดื่ม ไม่พึงอาบ หรือไม่พึงกระทำตามที่ต้องการ ดูก่อนมหาบพิตร ก็เมื่อเป็นเช่นนี้ น้ำที่มิได้บริโภคโดยชอบนั้น พึงถึงความหมดสิ้นไปเปล่า โดยไม่มีการบริโภค แม้ฉันใด ดูก่อนมหาบพิตร อสัตบุรุษได้โภคะอันโอฬารแล้ว ไม่ทำตนให้ได้รับความสุข ให้ได้รับความอิ่มหนำเลย ฯลฯ ดูก่อนมหาบพิตร เมื่อเป็นเช่นนี้ โภคะที่มิได้บริโภคโดยชอบของเขาเหล่านั้น ย่อมถึงความหมดสิ้นไปเปล่าโดยไม่มีการบริโภค ฉันนั้นเหมือนกัน.
[๓๘๘] ดูก่อนมหาบพิตร ส่วนสัตบุรุษได้โภคะอันโอฬารแล้ว ย่อมทำตนให้ได้รับความสุข ให้ได้รับความอิ่มหนำ ย่อมทำมารดาและบิดาให้ได้รับความสุข ให้ได้รับความอิ่มหนำ ย่อมทำบุตรและภรรยาให้ได้รับความสุข ให้ได้รับความอิ่มหนำ ย่อมทำทาสกรรมกรให้ได้รับความสุข ให้ได้รับความอิ่มหนำ ย่อมทำมิตรและสหายให้ได้รับความสุข ให้ได้รับความอิ่มหนำ ย่อมประดิษฐานซึ่งทักษิณาอันมีผลในเบื้องบน มีอารมณ์ดี มีวิบากเป็นสุข เป็นไปเพื่อสวรรค์ ไว้ในสมณพราหมณ์ทั้งหลาย โภคะเหล่านั้นของเขา ที่บริโภคโดยชอบอยู่อย่างนี้ พระราชาทั้งหลายก็เอาไปไม่ได้ โจรทั้งหลายก็เอาไปไม่ได้ ไฟก็ไม่ไหม้ น้ำก็ไม่พัดไป ทายาททั้งหลายผู้ไม่เป็นที่รักก็เอาไปไม่ได้.
พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 493
ดูก่อนมหาบพิตร เมื่อเป็นเช่นนี้ โภคะที่บริโภคอยู่โดยชอบของเขาเหล่านั้น ย่อมมีการบริโภค ไม่หมดสิ้นไปเปล่า.
ดูก่อนมหาบพิตร ในที่ไม่ไกลคามหรือนิคม มีสระโบกขรณี ซึ่งมีน้ำใส มีน้ำเย็น มีน้ำจืดสนิท ใสตลอด มีท่าดี น่ารื่นรมย์ น้ำนั้นคนพึงตักไปบ้าง พึงดื่มบ้าง พึงอาบบ้าง พึงกระทำตามที่ต้องการบ้าง ดูก่อนมหาบพิตร ก็เมื่อเป็นเช่นนี้ น้ำที่บริโภคอยู่โดยชอบนั้น พึงมีการบริโภค ไม่หมดสิ้นไปเปล่า แม้ฉันใด ดูก่อนมหาบพิตร สัตบุรุษได้โภคะอันโอฬารแล้ว ย่อมยังตนให้ได้รับความสุข ให้ได้รับความอิ่มหนำ ฯลฯ เมื่อเป็นเช่นนี้ โภคะที่บริโภคอยู่โดยชอบของเขาเหล่านั้น ย่อมมีการบริโภค ไม่หมดสิ้นไปเปล่า ฉันนั้นเหมือนกัน.
[๓๘๙] พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้พระสุคตศาสดา ครั้นตรัสไวยากรณ์คำร้อยแก้วนี้จบลงแล้ว จึงได้ตรัสคาถาคำร้อยกรองต่อไปอีกว่า
น้ำมีอยู่ในถิ่นของอมนุษย์ คนย่อมงดน้ำที่ไม่พึงดื่มนั้น ฉันใด คนชั่วได้ทรัพย์แล้ว ย่อมไม่บริโภคด้วยตนเอง ย่อมไม่ให้ทาน ฉันนั้น ส่วนวิญญูชนผู้มีปัญญา ได้โภคะแล้ว เขาย่อมบริโภคและทำกิจ เขาเป็นคนอาจหาญ เลี้ยงดูหมู่ญาติ ไม่ถูกติเตียน ย่อมเข้าถึงแดนสวรรค์.
พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 494
อรรถกถาปฐมาปุตตกสูตร
พึงทราบวินิจฉัยในปฐมาปุตตกสูตรที่ ๙ ต่อไป :-
บทว่า ทิวาทิวสฺส แปลว่า วันแห่งวัน อธิบายว่า เวลากลางวัน (เที่ยงวัน).
บทว่า สาปเตยฺยํ แปลว่า ทรัพย์.
บทว่า โก ปน วาโทรูปิยสฺส ความว่า ก็จะป่วยกล่าวไปไยถึงสิ่ง ทั้งที่ทำเป็นแท่ง ต่างโดยเป็นเงิน ทองแดง เหล็ก สำริด เป็นต้น ทั้งที่เป็นรูปิยภัณฑ์ ต่างโดยเป็นภาชนะใช้สอย เป็นต้น คือ จะพูดกำหนดอะไรกันว่า ชื่อมีเท่านี้.
บทว่า กณาชกํ ได้แก่ ข้าวมีรำ (ข้าวกล้อง).
บทว่า ทิลงฺคทุติยํ แปลว่า มีน้ำส้มพะอูมเป็นที่สอง.
บทว่า สาณํ ได้แก่ ผ้าที่ทำด้วยเปลือกป่าน.
บทว่า ติปกฺขวสนํ ได้แก่ ผ้าที่ตัดเป็น ๓ ชิ้น เย็บริมทั้งสองติดกัน.
บทว่า อสปฺปุริโส แปลว่า บุรุษผู้เลว.
ทักษิณาชื่อว่า อุทฺธคฺคิกา ในคำว่า อุทฺธคฺคิกํ เป็นต้น เพราะมีผลในเบื้องบน (สูง) โดยให้ผลในภูมิสูงๆ ขึ้นไป.
ชื่อว่า โสวคฺคิกา เพราะเป็นประโยชน์เกื้อกูลแก่สวรรค์ เหตุให้อุบัติในสวรรค์นั้น.
ชื่อว่า สุขวิปากา เพราะทักษิณานั้นมีสุขเป็นวิบากในที่บังเกิดแล้วบังเกิดเล่า.
ชื่อว่า สคฺคสํวตฺตนิกา เพราะเป็นที่บังเกิดของวิเศษ มีวรรณะทิพย์ เป็นต้นอันเลิศดี. อธิบายว่า ทักษิณาทานเห็นปานนี้ย่อมประดิษฐานอยู่.
บทว่า สาโตทกา ได้แก่ มีน้ำรสอร่อย.
บทว่า เสตกา ได้แก่ น้ำอันขาว เพราะน้ำในที่คลื่นแตกกระจาย สีขาว.
บทว่า สุปติตฺถา แปลว่า มีท่าอันดี.
บทว่า ตญฺชโน ความว่า น้ำที่จืดสนิท โดยน้ำชนิดใด ชนหา
พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 495
พึงบรรจุน้ำชนิดนั้นใส่ภาชนะนำไปได้ไม่.
บทว่า น ยถาปจฺจยํ กเรยฺย ความว่า กิจด้วยน้ำใดๆ บุคคลพึงทำด้วยน้ำ เขาหาพึงทำกิจด้วยน้ำนั้นๆ ได้ไม่.
บทว่า ตทเปยฺยมานํ แปลว่า น้ำนั้นเขาดื่มไม่ได้.
บทว่า กิจฺจกโร จ โหติ ความว่า ผู้ทำกิจคือการงาน และผู้ทำกิจคือกุศลของตน ย่อมบริโภค ย่อมประกอบการงานและให้ทาน.
จบอรรถกถาปฐมาปุตตกสูตรที่ ๙