พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๒. อัยยิกาสูตร

 
บ้านธัมมะ
วันที่  29 ส.ค. 2564
หมายเลข  36295
อ่าน  405

[เล่มที่ 24] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 510

๒. อัยยิกาสูตร


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 24]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 31 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 510

๒. อัยยิกาสูตร

[๓๙๙] สาวัตถีนิทาน.

ครั้งนั้นเป็นเวลากลางวัน พระเจ้าปเสนทิโกศลเสด็จเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า ถวายอภิวาทแล้ว ประทับอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง.

พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสกะท้าวเธอว่า เชิญเถิดมหาบพิตร พระองค์เสด็จจากไหนมาแต่วัน.

พระเจ้าปเสนทิโกศลทูลว่า พระพุทธเจ้าข้า พระอัยยิกาของข้าพระองค์ ผู้ทรงชรา เป็นผู้เฒ่า เป็นผู้ใหญ่ ล่วงกาลผ่านวัย มีพระชนม์ ๑๒๐ พรรษา ได้เสด็จทิวงคตเสียแล้ว ท่านเป็นที่รัก เป็นที่พอใจของข้าพระองค์มาก พระเจ้าข้า หากข้าพระองค์จะพึงได้สมหวังว่า ขอพระอัยยิกาเจ้าของเราอย่าได้เสด็จทิวงคตเลย ดังนี้ แม้ด้วยใช้ช้างแก้วแลกไซร้ ข้าพระองค์พึงให้แม้ซึ่งช้างแก้วเพื่อให้ได้สมหวัง ดังนี้ พระเจ้าข้า หากข้าพระองค์พึงได้สมหวังว่า ขอพระอัยยิกาเจ้าของเราอย่าได้เสด็จทิวงคตเลย แม้ด้วยใช้ม้าแก้วแลกไซร้ ข้าพระองค์พึงให้แม้ซึ่งม้าแก้วเพื่อให้ได้สมหวัง พระเจ้าข้า หากข้าพระองค์พึงได้สมหวังว่า ขอพระอัยยิกาเจ้าของเราอย่าได้เสด็จทิวงคตเลย ดังนี้ แม้ด้วยใช้บ้านส่วยแลกไซร้ ข้าพระองค์พึงให้แม้ซึ่งบ้านส่วยเพื่อให้ได้สมหวัง พระเจ้าข้า หากข้าพระองค์พึงได้สมหวังว่า ขอพระอัยยิกาเจ้าของเราอย่าได้เสด็จทิวงคตเลย ดังนี้ แม้ด้วยใช้ชนบทแลกไซร้ ข้าพระองค์พึงให้แม้ซึ่งชนบทเพื่อให้ได้สมหวัง พระเจ้าข้า. พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสคำนี้ไว้ว่า สัตว์ทั้งหลายทั้งปวง มีมรณะเป็นธรรมดา มีมรณะเป็นที่สุด ไม่ล่วงพ้นมรณะไปได้เลย

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 31 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 511

ดังนี้ พระเจ้าปเสนทิโกศลทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ คำที่ตรัสนั้น เป็นคำตรัสที่ชอบ เป็นของอัศจรรย์ ไม่เคยมีมาแล้ว.

[๔๐๐] พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ข้อนั้นเป็นอย่างนั้น มหาบพิตร ข้อนั้นเป็นอย่างนั้น มหาบพิตร สัตว์ทั้งหลายทั้งปวง มีความตายเป็นธรรมดา มีความตายเป็นที่สุด ไม่ล่วงพ้นความตายไปได้เลย ดูก่อนมหาบพิตร ภาชนะดิน ชนิดใดชนิดหนึ่ง ทั้งที่ดิบทั้งที่สุก ภาชนะดินเหล่านั้นทั้งหมด มีความแตกเป็นธรรมดา มีความแตกเป็นที่สุด ไม่ล่วงพ้นความแตกไปได้เลย แม้ฉันใด ดูก่อนมหาบพิตร สัตว์ทั้งหลายทั้งปวง มีความตายเป็นธรรมดา มีความตายเป็นที่สุด ไม่ล่วงพ้นความตายไปได้เลย ฉันนั้นเหมือนกัน.

[๔๐๑] พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้พระสุคตศาสดา ครั้นตรัสไวยากรณ์คำร้อยแก้วนี้จบลงแล้ว จึงได้ตรัสพระคาถาคำร้อยกรองต่อไปอีกว่า

สัตว์ทั้งปวงจักตาย เพราะชีวิตมีความตายเป็นที่สุด สัตว์ทั้งหลายจักไปตามกรรม เข้าถึงผลแห่งบุญและบาป คือ ผู้มีกรรมเป็นบาป จักไปสู่นรก ส่วนผู้มีกรรมเป็นบุญ จักไปสู่สุคติ.

เพราะฉะนั้น เมื่อสั่งสมกรรมอันมีผลในภายหน้า พึงทำแต่กรรมงามนี้ บุญทั้งหลายย่อมเป็นที่พึ่งของสัตว์ทั้งหลายในปรโลก.

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 31 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 512

อรรถกถาอัยยิกาสูตร

พึงทราบวินิจฉัยในอัยยิกาสูตรที่ ๒ ต่อไป :-

บทว่า ชิณฺณา ได้แก่ แก่เพราะชรา.

บทว่า วุฑฺฒา ได้แก่ เจริญโดยวัย.

บทว่า มหลฺลิกา ได้แก่ แก่เฒ่าโดยชาติ.

บทว่า อทฺธคตา ได้แก่ ล่วงกาลไกล คือกาลนาน.

บทว่า วโยอนุปฺปตฺตา ได้แก่ ถึงปัจฉิมวัย.

บทว่า ปิย มนาปา ความว่า ได้ยินว่า เมื่อพระชนนีของพระราชาทิวงคตแล้ว พระราชาก็ทรงสถาปนาพระอัยยิกาไว้ในตำแหน่งพระชนนีแล้วทรงทนุบำรุง ด้วยเหตุนั้น ท้าวเธอจึงทรงมีความรักแรงกล้าในพระอัยยิกา เพราะฉะนั้น จึงตรัสอย่างนี้.

บทว่า หตฺถิรตเนน ความว่า ช้างมีค่าแสนหนึ่งประดับด้วยเครื่องประดับมีค่าแสนหนึ่ง ชื่อว่า หัตถิรัตนะ.

แม้ในอัสสรัตนะ ก็นัยนี้เหมือนกัน.

แม้บ้านส่วย ก็คือ หมู่บ้านที่มีรายได้เกิดขึ้นแสนหนึ่งนั่นเอง.

บทว่า สพฺพานิ ตานิ เภทนธมฺมานิ ความว่า บรรดาภาชนะของช่างหม้อเหล่านั้น ภาชนะบางอันที่ช่างหม้อกำลังทำอยู่นั่นแหละ ย่อมแตกได้ บางอันทำเสร็จแล้ว เอาออกจากแป้นหมุนก็แตก บางอันเอาออกแล้ว พอวางลงที่พื้นก็แตก บางอันอยู่ได้เกินไปกว่านั้นก็แตก แม้ในสัตว์ทั้งหลาย ก็อย่างนั้นเหมือนกัน บางคนเมื่อมารดาตายทั้งกลม ไม่ทันออกจากท้องมารดาก็ตาย บางคนพอคลอดก็ตาย บางคนอยู่ได้เกินไปกว่านั้นก็ตาย เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสอย่างนี้.

จบอรรถกถาอัยยิกาสูตรที่ ๒