พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๕. ปัพพโตปมสูตร

 
บ้านธัมมะ
วันที่  29 ส.ค. 2564
หมายเลข  36298
อ่าน  597

[เล่มที่ 24] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 522

๕. ปัพพโตปมสูตร


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 24]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 31 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 522

๕. ปัพพโตปมสูตร

[๔๑๑] สาวัตถีนิทาน.

ครั้งนั้น พระเจ้าปเสนทิโกศลได้เสด็จเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าในตอนกลางวัน ครั้นแล้วได้ทรงอภิวาท แล้วประทับอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง.

พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงได้ตรัสกะท้าวเธอว่า เชิญเถิดมหาบพิตร พระองค์เสด็จไปไหนมาแต่วัน.

พระเจ้าปเสนทิโกศลกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระราชากษัตริย์ผู้ได้มูรธาภิเษกแล้ว ผู้เมาแล้วเพราะความเมาในความเป็นใหญ่ ถูกความกำหนัดในกามรุมแล้ว ถึงแล้วซึ่งความมั่นคงในชนบท ชำนะปฐพีมณฑลอันใหญ่แล้วครอบครองอยู่ ย่อมมีราชกรณียะอันใด บัดนี้ ข้าพระองค์ก็ขวนขวายในราชกรณียะเหล่านั้น.

[๔๑๒] พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ดูก่อนมหาบพิตร พระองค์จะทรงสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน ณ ที่นี้ ข้าราชการของพระองค์ ผู้ควรเชื่อถือ มีวาจาเป็นหลักฐาน พึงมาแต่ทิศตะวันออก เข้ามาเฝ้าพระองค์ แล้วกราบทูลอย่างนี้ว่า ข้าแต่พระมหาราชเจ้า ขอพระองค์พึงทรงทราบฝ่าละอองพระบาท ข้าพระเจ้ามาจากทิศตะวันออก ณ ที่นั้น ได้เห็นภูเขาใหญ่สูงเทียมเมฆ กำลังกลิ้งบดปวงสัตว์มา พระเจ้าข้า สิ่งใดที่พระองค์จะพึงทรงกระทำ ขอได้โปรดกระทำเสีย ลำดับนั้น ข้าราชการคนที่ ๒ ผู้ควรเชื่อถือ มีวาจาเป็นหลักฐาน พึงมาแต่ทิศใต้ ฯลฯ ต่อจากนั้น ข้าราชการคนที่ ๓ ผู้ควรเชื่อถือ มีวาจาเป็นหลักฐาน พึงมาจากทิศตะวันตก ฯลฯ ต่อจากนั้น ข้าราชการคนที่ ๔ ผู้ควรเชื่อถือ มีวาจาเป็นหลักฐาน มาจากทิศเหนือ เข้ามาเฝ้าพระองค์แล้ว พึงกราบทูลอย่างนี้ว่า

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 31 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 523

ข้าแต่พระมหาราชเจ้า ขอพระองค์ทรงทราบฝ่าละอองพระบาท ข้าพระเจ้ามาจากทิศเหนือ ณ ที่นั้น ได้เห็นภูเขาใหญ่สูงเทียมเมฆ กำลังกลิ้งบดปวงสัตว์มา พระเจ้าข้า สิ่งใดที่พระองค์จะพึงทรงกระทำ ขอได้โปรดกระทำเสียเถิด.

ดูก่อนมหาบพิตร ครั้นเมื่อมหาภัยอันร้ายกาจ ที่ใหญ่โตถึงเพียงนี้ บังเกิดขึ้นแล้วแก่พระองค์ อะไรเล่า ที่พระองค์จะพึงทรงกระทำในความเป็นมนุษย์ที่หาได้ยาก.

พระเจ้าปเสนทิโกศลกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ครั้นเมื่อมหาภัยอันร้ายกาจ อันจะทำให้มนุษญ์สิ้นชีวิตที่ใหญ่โตถึงเพียงนั้น บังเกิดขึ้นแก่หม่อมฉัน อะไรจะพึงเป็นกิจที่หม่อมฉันพึงกระทำในความเป็นมนุษย์ที่หาได้ยาก นอกจากประพฤติธรรม ประพฤติให้เหมาะสม ประพฤติให้สม่ำเสมอ สร้างบุญกุศลเอาไว้.

[๔๑๓] พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ดูก่อนมหาบพิตร อาตมภาพขอบอกกล่าว ขอเตือนให้ทรงทราบ ดูก่อนมหาบพิตร ชราและมรณะย่อมครอบงำพระองค์ ดูก่อนมหาบพิตร ก็และเมื่อชรามรณะครอบงำพระองค์อยู่ อะไรเล่า จะพึงเป็นกิจที่มหาบพิตรพึงกระทำ?

พระเจ้าปเสนทิโกศลตรัสว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็และเมื่อชรามรณะครอบงำข้าพระองค์อยู่ อะไรเล่าจะพึงเป็นกิจที่หม่อมฉันควรจะทำ นอกจากประพฤติธรรม นอกจากประพฤติสม่ำเสมอ นอกจากทำกุศล นอกจากทำบุญ. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระราชากษัตริย์ ผู้ได้มูรธาภิเษกแล้ว ผู้เมาแล้วเพราะความเมาในความเป็นใหญ่ ถูกความกำหนัดในกามรุมแล้ว ผู้ถึงความมั่นคงในชนบท ผู้ชำนะปฐพีมณฑลอันใหญ่ แล้วครอบครองอยู่ ทรงทำการรบด้วยทัพช้างเหล่าใด ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อชรามรณะครอบงำอยู่ ก็ไม่ใช่วิสัยที่จะทำการรบด้วยทัพช้างแม้เหล่านั้น (๑) ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระราชากษัตริย์ ผู้ได้มูรธา-


(๑) สุดวิสัยที่จะรบด้วยช้าง

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 31 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 524

ภิเษกแล้ว ผู้เมาแล้วเพราะความเมาในความเป็นใหญ่ ผู้ถูกความกำหนัดในกามรุมแล้ว ผู้ถึงความมั่นคงในชนบท ผู้ชำนะปฐพีมณฑลอันใหญ่แล้วครอบครองอยู่ ทรงทำการรบด้วยทัพม้าแม้เหล่าใด ฯลฯ รบด้วยทัพรถแม้เหล่าใด ฯลฯ รบด้วยทัพทหารเดินเท้าแม้เหล่าใด ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อมรณะครอบงำอยู่ก็ไม่ใช่วิสัยที่จะทำการรบด้วยทัพทหารเดินเท้าแม้เหล่านั้น ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญในราชสกุลนี้ มหาอำมาตย์ผู้มีมนต์ ซึ่งสามารถจะใช้มนต์ทำลายข้าศึกที่ยกมา ก็มีอยู่เหมือนกัน ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ แต่เมื่อชรามรณะครอบงำสิ ก็ไม่ใช่คติวิสัยที่จะทำการรบด้วยมนต์แม้เหล่านั้น ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อนึ่ง ในราชสกุลนี้ เงินทองทั้งที่อยู่ในพื้นดิน ทั้งที่อยู่ในเวหาส ซึ่งพวกข้าพระองค์สามารถจะใช้เป็นเครื่องมือยุแหย่ให้ข้าศึกที่ยกมาแตกกันก็มีอยู่เป็นอันมาก ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ แต่เมื่อชรามรณะครอบงำ ก็ไม่ใช่วิสัยที่จะทำการรบด้วยทรัพย์แม้เหล่านั้น ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็แลเมื่อมรณะครอบงำอยู่ อะไรเล่าจะพึงเป็นกิจที่หม่อมฉันควรทำ นอกจากประพฤติธรรม นอกจากประพฤติสม่ำเสมอ นอกจากทำกุศล นอกจากการทำบุญ.

[๔๑๔] พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ถูกแล้วๆ มหาบพิตร ก็เมื่อชรามรณะครอบงำอยู่ อะไรเล่าจะพึงเป็นกิจที่พระองค์ควรทำนอกจากประพฤติธรรม ประพฤติให้เหมาะสม ประพฤติให้สม่ำเสมอ สร้างบุญกุศลเอาไว้.

[๔๑๕] พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้พระสุคตศาสดา ครั้นตรัสไวยากรณ์คำร้อยแก้วนี้จบลงแล้ว จึงได้ตรัสคาถาคำร้อยกรองต่อไปอีกว่า

ภูเขาใหญ่ล้วนแล้วด้วยศิลา สูงจดท้องฟ้า กลิ้งบดสัตว์มาโดยรอบทั้ง ๔ ทิศ แม้ฉันใด ชราและมัจจุก็ฉันนั้น ย่อมครอบงำสัตว์ทั้งหลาย

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 31 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 525

คือ พวกกษัตริย์ พวกพราหมณ์ พวกแพศย์ พวกศูทร พวกจัณฑาล และคนเทมูลฝอย ไม่เว้นใครๆ ไว้เลย ย่อมย่ำยีเสียสิ้น ณ ที่นั้น ไม่มียุทธภูมิสำหรับพลช้าง ไม่มียุทธภูมิสำหรับพลรถ ไม่มียุทธภูมิสำหรับพลราบ และไม่อาจจะเอาชนะแม้ด้วยการรบด้วยมนต์หรือด้วยทรัพย์.

เพราะฉะนั้นแล บุรุษผู้เป็นบัณฑิตมีปัญญา เมื่อเห็นประโยชน์ตน พึงตั้งศรัทธาไว้ในพระพุทธเจ้า ในพระธรรมและในพระสงฆ์.

ผู้ใดมีปกติประพฤติธรรมด้วยกาย ด้วยวาจา หรือด้วยใจ บัณฑิตทั้งหลายย่อมสรรเสริญผู้นั้น ในโลกนี้นั่นเทียว ผู้นั้นละโลกนี้ไป ย่อมบันเทิงในสวรรค์.

จบปัพพโตปมสูตรที่ ๕

จบโกสลสังยุตตติยวรรคที่ ๓

 
  ข้อความที่ 5  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 31 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 526

อรรถกถาปัพพโตปมสูตร

พึงทราบวินิจฉัยในปัพพโตปมสูตรที่ ๕ ต่อไป :-

บทว่า มุทฺธาวสิตานํ ได้แก่ ผู้อันเขารดน้ำแล้วบนพระเศียรด้วยอภิเษกเป็นกษัตริย์ ชื่อว่าผู้อันเขาทำการอภิเษกแล้ว.

บทว่า กามเคธปริยุฏฺีตานํ แปลว่า ผู้อันความกำหนัดในกามทั้งหลายกลุ้มรุม คือครอบงำแล้ว.

บทว่า ชนปทถาวริยปฺปตฺตานํ แปลว่า ผู้ถึงความมั่นคงในชนบท.

บทว่า ราชกรณียานิ แปลว่า การงานของพระราชา คือ กิจที่พระราชาพึงทรงกระทำ.

บทว่า เตสฺวาหํ ตัดเป็น เตสุ อหํ.

บทว่า อุสฺสุกํ อาปนฺโน แปลว่า ถึงความขวนขวาย ได้ยินว่า พระราชานั้น เข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าวันละ ๓ ครั้ง เสด็จไประหว่างนั้น ก็หลายครั้ง เมื่อท้าวเธอเสด็จไปเป็นประจำ หมู่ทหารก็มากบ้าง น้อยบ้าง ต่อมาวันหนึ่ง โจร ๕๐๐ คิดกันว่าพระราชาพระองค์นี้ เสด็จไปเฝ้าพระสมณโคดม โดยหมู่พลจำนวนน้อย ในเวลาไม่สมควร จำเราจักดักระหว่างทาง ยึดสมบัติ. โจรเหล่านั้นก็พากันไปซุ่มซ่อนอยู่ในป่าอันธวัน. ก็ธรรมดาพระราชาทั้งหลายย่อมเป็นผู้มีบุญญาธิการมาก. ครั้งนั้น บุรุษผู้หนึ่งออกไปจากกลุ่มโจรเหล่านั้นนั่นแหละ กราบทูลแด่พระราชา. พระราชาก็พาหมู่ทหารจำนวนมาก ไปล้อมป่าอันธวัน จับโจรเหล่านั้นได้หมด โปรดให้ปักหลาวไว้ใกล้สองข้างทางตั้งแต่อันธวันจนถึงประตูพระนคร ให้เหล่าโจรหวาดเสียวที่หลาวทั้งหลาย โดยประการที่เหล่าโจรได้แต่เอาตาจดจ้องมองตากันและกัน พระราชาทรงหมายถึงเรื่องนี้ จึงตรัสอย่างนั้น.

ครั้งนั้นพระศาสดาทรงพระดำริว่า ถ้าเราจะกล่าวว่า ถวายพระพร เมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เช่นเราอยู่ ณ วิหารใกล้ๆ กรรมอันทารุณที่มหา-

 
  ข้อความที่ 6  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 31 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 527

บพิตรทรงทำแล้ว ไม่สมควร มหาบพิตรก็ทรงทำเสียแล้ว ดังนี้ เมื่อเป็นดังนั้น พระราชาพระองค์นี้ ก็จะทรงเก้อเขิน ไม่อาจเหนี่ยวรั้งพระทัยได้ เมื่อเรากำลังกล่าวธรรมโดยปริยายก็จักทรงกำหนดไม่ได้ เมื่อทรงเริ่มพระธรรมเทศนา จึงตรัสว่า ตํ กิํ มญฺญสิ ดังนี้เป็นต้น.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สทฺธายิโก ความว่า ผู้ที่ท่านพึงเชื่อฟังคำ.

คำว่า ปจฺจยิโก เป็นไวพจน์ของคำว่า สทฺธายิโก นั้นนั่นแหละ อธิบายว่า ผู้ที่ท่านพึงเธอถือคำ.

บทว่า อพฺภสมํ ได้แก่ เสมออากาศ.

บทว่า นิปฺโปเถนฺโต อาคจฺฉติ ความว่า ภูเขาใหญ่สูงเทียมเมฆ กลิ้งมาตั้งแต่พื้นแผ่นดินจดอกนิฏฐพรหมโลก บดสัตว์ทั้งสิ้นทำให้แหลกละเอียดเหมือนผงงา.

บทว่า อญฺตฺร ธมฺมจริยาย ความว่า เว้นธรรมจริยา การประพฤติธรรมเสีย ก็ไม่มีกรรมอย่างอื่นที่ควรทำ การประพฤติธรรม กล่าวคือกุศลกรรมบถ ๑๐ เท่านั้น ควรทำพระเจ้าข้า.

บทว่า สมจริยา เป็นต้น เป็นไวพจน์ของบทว่า ธมฺมจริยา นั้นนั่นแหละ.

บทว่า อาโรเจมิ แปลว่า บอก.

บทว่า ปฏิเวทยามิ ได้แก่ ให้รู้.

บทว่า อธิวตฺตติ ได้แก่ ท่วมทับ.

บทว่า หตฺถิยุทฺธานิ ได้แก่ กิจที่ควรขึ้นช้างที่ประดับศีรษะด้วยข่ายทอง เช่น ช้างนาฬาคิรีแล้วรบ.

บทว่า คติ ได้แก่ ความสำเร็จ.

บทว่า วิสโย ได้แก่ โอกาสหรือสมรรถภาพ จริงอยู่ ใครๆ ก็ไม่อาจต่อต้านชรามรณะด้วยทัพเหล่านั้นได้.

บทว่า มนฺติโน มหามตฺตา ได้แก่ มหาอำมาตย์ เช่น มโหสถบัณฑิตและวิธุรบัณฑิต ผู้พรั่งพร้อมด้วยปัญญา.

บทว่า ภูมิคตํ ได้แก่ เงินทองที่เขาบรรจุหม้อเหล็กใหญ่วางไว้บนดิน.

บทว่า เวหาสฏฺํ ได้แก่ ที่เขาบรรจุในกระสอบหนัง แขวนไว้ที่ขื่อและจันทัน เป็นต้น และที่บรรจุวางไว้ที่หอคอย เป็นต้น.

บทว่า อุปลาเปตุํ ได้แก่ เพื่อทำลายกันและกัน คือเพื่อทำโดยอาการที่คนสองคนไม่ไปทางเดียวกัน.

 
  ข้อความที่ 7  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 31 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 528

บทว่า นภํ อาหจฺจ ได้แก่ เต็มอากาศ.

บทว่า เอวํ ชรา จ มจฺจุ จ ในสูตรนี้ ทรงถือเอาภูเขา ๒ เท่านั้น ส่วนในราโชวาท ภูเขามา ๔ ลูก คือ ชรา มรณะ พยาธิ วิบัติ อย่างนี้ว่า ชรามาถึงแล้วก็ปล้นวัยหนุ่มสาวเสียสั้น.

บทว่า ตสฺมา ได้แก่ ก็เพราะเหตุที่ใครๆ ก็ไม่สามารถเอาชนะชรามรณะได้ด้วยการต่อยุทธ์ด้วยทัพช้าง เป็นต้น ฉะนั้น.

บทว่า สทฺธํ นิเวสเย ได้แก่ พึงดำรงพึงตั้งไว้ซึ่งศรัทธา.

จบอรรถกถาปัพพโตปมสูตรที่ ๕

จบวรรคที่ ๓ โกสลสังยุต

เพียงเท่านี้

รวมพระสูตรในตติยวรรคที่ ๓

๑. ปุคคลสูตร

๒. อัยยิกาสูตร

๓. โลกสูตร

๔. อิสสัตถสูตร

๕. ปัพพโตปมสูตร

พร้อมทั้งอรรถกถา

โกสลสังยุตวรรคนี้มี ๕ สูตร

พระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐ สุคตตรัสเทศนาแล้ว.