๑. ตโปกรรมสูตร ตบะอื่นไม่อํานวยประโยชน์ (เริ่มเล่ม 25)
[เล่มที่ 25] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 1
มารสังยุต
ปฐมวรรคที่ ๑
๑. ตโปกรรมสูตร
ตบะอื่นไม่อํานวยประโยชน์
อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 25]
พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 1
มารสังยุต
ปฐมวรรคที่ ๑
๑. ตโปกรรมสูตร
ตบะอื่นไม่อำนวยประโยชน์
[๔๑๖] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้ :-
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสรู้ใหม่ๆ ประทับอยู่ที่ต้นไม้อชปาลนิโครธ ใกล้ฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ณ ตำบลอุรุเวลา ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับพักร้อนอยู่ในที่ส่วนพระองค์ ได้เกิดความตรึกแห่งพระทัยอย่างนี้ว่า สาธุ เราเป็นผู้พ้นจากทุกกรกิริยานั้นแล้วหนอ สาธุ เราเป็นผู้พ้นแล้วจากทุกกรกิริยาอันไม่ประกอบด้วยประโยชน์นั้นหนอ สาธุ เราเป็นสัตว์ที่บรรลุโพธิญาณแล้วหนอ.
พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 2
[๔๑๗] ครั้งนั้น มารผู้มีบาปได้ทราบความตรึกแห่งพระทัยของพระผู้มีพระภาคเจ้าด้วยจิต จึงเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าถึงที่ประทับ แล้วได้ทูลด้วยคาถาว่า
มาณพทั้งหลายย่อมบริสุทธิ์ได้ด้วยการบำเพ็ญตบะใด ท่านหลีกจากตบะนั้นเสียแล้ว เป็นผู้ไม่บริสุทธิ์ มาสำคัญตนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ ท่านพลาดมรรคาแห่งความบริสุทธิ์เสียแล้ว.
[๔๑๘] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทราบว่า นี่มารผู้มีบาป จึงได้ตรัสกะมารผู้มีบาปด้วยพระคาถาว่า
เรารู้แล้วว่า ตบะอื่นๆ อย่างใดอย่างหนึ่ง ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ ตบะทั้งหมดหาอำนวยประโยชน์ให้ไม่ ดุจถ่อเรือบนบก ฉะนั้น (เรา) เจริญมรรคคือ ศีล สมาธิ และปัญญา เพื่อความตรัสรู้ เป็นผู้บรรลุความบริสุทธิ์อย่างยอดเยี่ยมแล้ว ดูก่อนมารผู้กระทำซึ่งที่สุด ตัวท่านเป็นผู้ที่เรากำจัดเสียแล้ว.
ครั้งนั้น มารผู้มีบาปเป็นทุกข์เสียใจว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงรู้จักเรา พระสุคตทรงรู้จักเรา ดังนี้ จึงได้อันตรธานไปในที่นั้นเอง.
พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 3
มารสังยุต
อรรถกถาตโปกรรมสูตร
พึงทราบวินิจฉัยในตโปกรรมสูตรที่ ๑ วรรคที่ ๑ ต่อไป :-
บทว่า อุรุเวลายํ วิหรติ ความว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้แทงตลอดพระสัพพัญญุตญาณ ทรงอาศัยหมู่บ้านอุรุเวลาประทับอยู่ บทว่า ปมาภิสมฺพุทฺโธ ความว่า ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า ภายใน ๗ สัปดาห์แรกนั่นเทียว. บทว่า ทุกฺกรการิกาย ได้แก่ ด้วยทุกกรกิริยา ที่ทรงทำมาตลอด ๖ ปี. บทว่า มโร ปาปิมา ความว่า ที่ชื่อว่ามาร เพราะทำเหล่าสัตว์ผู้ปฏิบัติเพื่อก้าวล่วงวิสัยของตนให้ตาย. ที่ชื่อว่า ปาปิมา เพราะประกอบสัตว์ไว้ในบาป หรือประกอบตนเองอยู่ในบาป มารนั้นมีชื่ออื่นๆ บ้าง มีหลายชื่อเป็นต้นว่า กัณหะ อธิปติ วสวัตติ อันตกะ นมุจี ปมัตตพันธุ ดังนี้บ้าง. แต่ในพระสูตรนี้ระบุไว้ ๒ ชื่อเท่านั้น. บทว่า อุปสงฺกมิ ความว่า มารคิดว่าพระสมณโคดมนี้บัญญัติว่า เราเป็นผู้หลุดพ้นแล้ว จำเราจักกล่าวข้อที่พระสมณโคดมนั้นยังไม่เป็นผู้หลุดพ้น ดังนี้แล้ว จึงเข้าไปเฝ้า.
บทว่า ตโปกมฺมา อปกฺกมฺม แปลว่า หลีกออกจากตบะกรรม ด้วยบทว่า อปรทฺโธ มารกล่าวว่า ท่านยังห่างไกลจากทางแห่งความหมดจด. บทว่า อปรํ ตปํ ความว่า ตบะอันเศร้าหมองที่กระทำเพื่อประโยชน์แก่ตะบะอย่างอื่นอีก เป็นอัตตกิลมถานุโยค ประกอบตนให้ลำบากเปล่า. บทว่า สพฺพํนตฺถาวหํ โหติ ความว่า รู้ว่าตบะทั้งหมดไม่นำประโยชน์มาให้เรา. บทว่า ถิยา ริตฺตํว ธมฺมนิ ความว่า เหมือนถ่อเรือบนบกในป่า. ท่านอธิบายว่า
พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 4
เปรียบเสมือนคนทั้งหลาย วางเรือไว้บนบกในป่า บรรทุกสิ่งของแล้ว เมื่อมหาชนขึ้นเรือแล้วก็จับถ่อ ยันมาข้างนี้ ยันไปข้างโน้น ความพยายามของมหาชนนั้น ไม่ทำเรือให้เขยื้อนไปแม้เพียงนิ้วหนึ่ง สองนิ้ว ก็พึงไร้ประโยชน์ไม่นำประโยชน์มาให้ ข้อนั้น ฉันใด ข้อนี้ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน เรารู้ว่า ตบะอื่นๆ ทั้งหมด ย่อมเป็นตบะที่ไม่นำประโยชน์มาให้ จึงสละเสีย.
ครั้นทรงละตบะอย่างอื่นๆ นั้นแล้ว บัดนี้ เมื่อจะทรงแสดงทางที่เกิดเป็นพระพุทธเจ้า จึงตรัสว่า สีลํ เป็นต้น. ในคำว่า สีลํ เป็นต้นนั้น ทรงถือเอาสัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ และสัมมาอาชีวะ ด้วยคำว่า สีลํ ทรงถือเอาสัมมาวายามะ สัมมาสติ และสัมมาสมาธิ ด้วยสมาธิ ทรงถือเอาสัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ ด้วยปัญญา. บทว่า มคฺคํ โพธาย ภาวยํ ได้แก่ ทรงเจริญอริยมรรคมีองค์ ๘ นี้ เพื่อตรัสรู้. ก็ในคำนี้ บทว่า โพธาย ได้แก่ เพื่อมรรค เหมือนอย่างว่า คนทั้งหลายต้มข้าวต้มอย่างเดียว ก็เพื่อข้าวต้ม ปิ้งขนมอย่างเดียว ก็เพื่อขนม ไม่ทำกิจไรๆ อย่างอื่น ฉันใด บุคคลเจริญมรรคอย่างเดียว ก็เพื่อมรรค ฉันนั้น. ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า มคฺคํ โพธาย ภาวยํ ดังนี้. บทว่า ปรมํ สุทฺธึ ได้แก่ พระอรหัต.บทว่า นีหโต ได้แก่ ท่านถูกเราตถาคต ขจัดออกไป คือทำให้พ่ายแพ้ไปแล้ว.
จบอรรถกถาตโปกรรมสูตรที่ ๑