พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๒. นาคสูตร มารแปลงเพศเป็นพระยาช้าง

 
บ้านธัมมะ
วันที่  29 ส.ค. 2564
หมายเลข  36329
อ่าน  435

[เล่มที่ 25] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 5

๒. นาคสูตร

มารแปลงเพศเป็นพระยาช้าง


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 25]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 27 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 5

๒. นาคสูตร

มารแปลงเพศเป็นพระยาช้าง

    [๔๑๙] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้ :-

    สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสรู้แล้วใหม่ๆ ประทับอยู่ที่ต้นไม้อชปาลนิโครธ ใกล้ฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ณ อุรุเวลาประเทศ สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับนั่งกลางแจ้ง ในราตรีอันมืดสนิท และฝนลงเม็ดประปรายอยู่.

    [๔๒๐] ครั้งนั้น มารผู้มีบาปประสงค์จะให้เกิดความกลัว ความครั่นคร้าม ขนลุกขนพองแก่พระผู้มีพระภาคเจ้า จึงเนรมิตเพศเป็นพระยาช้างใหญ่ เข้าไปใกล้พระผู้มีพระภาคเจ้า พระยาช้างนั้นมีศีรษะเหมือนกับก้อนหินใหญ่สีดำ งาทั้งสองของมันเหมือนเงินบริสุทธิ์ งวงเหมือนงอนไถใหญ่.

    [๔๒๑] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทราบว่า นี่มารผู้มีบาป ดังนี้ แล้วได้ตรัสกะมารผู้มีบาปด้วยพระคาถาว่า

    ท่านจำแลงเพศทั้งที่งามและไม่งาม ท่องเที่ยวอยู่ตลอดกาล อันยืดยาวนาน มารผู้มีบาปเอ๋ย ไม่พอที่ท่านจะต้องจำแลงเพศอย่างนั้นเลย ดูก่อนมารผู้กระทำซึ่งที่สุด ตัวท่านเป็นผู้ที่เรากำจัดเสียแล้ว.

    ครั้งนั้น มารผู้มีบาปเป็นทุกข์เสียใจว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงรู้จักเรา พระสุคตทรงรู้จักเรา ดังนี้ จึงได้อันตรธานไปในที่นั้นเอง.

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 27 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 6

อรรถกถานาคสูตร

    พึงทราบวินิจฉัยในนาคสูตรที่ ๒ ต่อไป :-

    บทว่า รตฺตนฺธการติมิสายํ ได้แก่ ในราตรีมืดมาก คือมืดมีองค์ ๔ ที่กระทำให้เป็นประหนึ่งคนตาบอด. บทว่า อชฺโฌกาเส นิสินฺโน โหติ ความว่า เสด็จออกจากพระคันธกุฎี วางจีวรผืนใหญ่ไว้บนพระเศียร ประทับนั่งกำหนดความเพียรบนแผ่นหิน ท้ายที่จงกรม.

    ถามว่า มรรคที่พระตถาคคยังไม่เจริญ กิเลสที่ยังไม่ได้ละ อกุปปธรรมที่ยังไม่แทงตลอด หรือนิโรธที่ยังไม่ทำให้แจ้งของพระตถาคต ไม่มีเลยมิใช่หรือ เพราะเหตุไร จึงได้ทรงกระทำอย่างนั้น. ตอบว่า พระศาสดาทรงพิจารณาเห็นประโยชน์ดังขอช้าง [บังคับช้าง] สำหรับกุลบุตรทั้งหลายในอนาคตว่า กุลบุตรทั้งหลายในอนาคตกาล รำลึกถึงทางที่เราตถาคคดำเนินไปแล้ว สำคัญถึงที่อยู่ซึ่งควรอยู่กลางแจ้ง จักกระทำกรรมคือความเพียร จึงได้ทรงกระทำดังนั้น. บทว่า มหา แปลว่า ใหญ่. บทว่า อริฏฺโก แปลว่า ดำ.บทว่า มณิ ได้แก่ หิน. บทว่า เอวมสฺส สีสํ โหติ ความว่า ศีรษะของช้างนั้น ก็เป็นอย่างนั้น คือ เสมือนหินก้อนใหญ่สีดำขนาดเท่าเรือนยอด.

    ด้วยบทว่า สุภาสุภํ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ก็ท่านท่องเที่ยวอยู่ตลอดกาลยาวนาน มาแปลงเพศทั้งดีและไม่ดี. อีกนัยหนึ่ง. บทว่า สํสรํ แปลว่า ท่องเที่ยวมา. บทว่า ทีฆมทฺธานํ ได้แก่ ตลอดทางไกลตั้งแต่ถิ่นของท้าววสวัตดี จนถึงตำบลอุรุเวลาและตลอดกาลนาน กล่าวคือสมัยทรง

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 27 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 7

บำเพ็ญทุกกรกิริยาตลอด ๖ ปี ก่อนตรัสรู้. บทว่า วณฺณํ กตฺวา สุภาสุภํ ความว่า ท่านแปลงเพศ ทั้งดีและไม่ดี มีประการต่างๆ มายังสำนักเราหลายครั้ง. ได้ยินว่า ขึ้นชื่อว่า เพศนั้นไม่มีดอก. พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสอย่างนั้นกับมาร ก็โดยเพศที่มารไม่เคยมายังสำนักของพระผู้มีพระภาคเจ้า เพื่อประสงค์จะหลอกให้ทรงหวาดกลัว. บทว่า อลนฺเต เตน ความว่า ดูก่อนมาร ท่านขวนขวายแสดงสิ่งที่น่ากลัวน่าจะพอกันที.

    จบอรรถกถานาคสูตรที่ ๒