๕. ทุติยปาสสูตร พระพุทธเจ้าตรัสการพ้นจากบ่วงมาร
[เล่มที่ 25] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 13
๕. ทุติยปาสสูตร
พระพุทธเจ้าตรัสการพ้นจากบ่วงมาร
อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 25]
พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 13
๕. ทุติยปาสสูตร
พระพุทธเจ้าตรัสการพ้นจากบ่วงมาร
[๔๒๘] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้ :-
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน กรุงพาราณสี ณ ที่นั่น พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย.
ภิกษุเหล่านั้นได้ทูลรับพระดำรัสของพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว.
พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราพ้นแล้วจากบ่วงทั้งปวงทั้งที่เป็นของทิพย์ ทั้งที่เป็นของมนุษย์ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย แม้เธอทั้งหลายก็พ้นแล้วจากบ่วงทั้งปวง ทั้งที่เป็นของทิพย์ ทั้งที่เป็นของมนุษย์ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงเที่ยวจาริกไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่ชนหมู่มาก เพื่อความสุขแก่ชนหมู่มาก เพื่ออนุเคราะห์โลก เพื่อประโยชน์ เพื่อเกื้อกูล เพื่อความสุขแก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เธอทั้งหลายอย่าได้ไปทางเดียวกัน ๒ รูป ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงแสดงธรรม งามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด จงประกาศพรหมจรรย์ พร้อมทั้งอรรถพร้อมทั้งพยัญชนะ. บริสุทธิ์บริบูรณ์สิ้นเชิง สัตว์ทั้งหลายผู้มีธุลีในจักษุน้อยมีอยู่ เพราะไม่ได้ฟังธรรมย่อมเสื่อมเสีย ผู้รู้ทั่วถึงซึ่งธรรมยังจักมี ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย แม้เราก็จักไปยังอุรุเวลาเสนานิคม เพื่อแสดงธรรม.
[๔๒๙] ครั้งนั้น มารผู้มีบาปเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้วได้ทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าด้วยคาถาว่า
พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 14
ท่านเป็นผู้ที่ถูกเราผูกไว้แล้วด้วยบ่วงทั้งปวง ทั้งที่เป็นของทิพย์ทั้งที่เป็นของมนุษย์ ท่านเป็นผู้ที่ถูกเราผูกไว้แล้ว ด้วยเครื่องพันธนาการอันใหญ่ ดูก่อนสมณะ ท่านจักไม่พ้นเราไปได้.
[๔๓๐] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทราบว่า นี่มารผู้มีบาปจึงได้ตรัสกะมารผู้มีบาปด้วยพระคาถาว่า
เราเป็นผู้พ้นแล้วจากบ่วงทั้งปวง ทั้งที่เป็นของทิพย์ ทั้งที่เป็นของมนุษย์ เราเป็นผู้พ้นแล้วจากเครื่องพันธนาการอันใหญ่ ดูก่อนมารผู้กระทำซึ่งความพินาศท่านเป็นผู้ที่เรากำจัดเสียแล้ว
ครั้งนั้น มารผู้มีบาปเป็นทุกข์ เสียใจว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงรู้จักเรา พระสุคตทรงรู้จักเรา ดังนี้ จึงได้อันตรธานไป ณ ที่นั้นเอง.
พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 15
อรรถกถาทุติยปาสสูตร
พึงทราบวินิจฉัยในทุติยปาสสูตรที่ ๕ ต่อไป:-
บทว่า มุตฺตาหํ แปลว่า เราพ้นแล้ว. สูตรต้นตรัสภายในพรรษา ส่วนสูตรนี้ ตรัสในเวลาปวารณาออกพรรษาแล้ว. บทว่า จาริกํ ได้แก่จาริกไปตามลำดับ. ตรัสว่า พวกเธอจงจาริกไปวันละหนึ่งโยชน์เป็นอย่างยิ่ง.บทว่า มา เอเกน เทฺว แปลว่า อย่าไปทางเดียวกัน ๒ รูป. ด้วยว่า เมื่อไปทางเดียวกัน ๒ รูป เมื่อรูปหนึ่งกล่าวธรรม อีกรูปหนึ่ง ก็จำต้องยืนนิ่ง เพราะฉะนั้น จึงตรัสอย่างนี้.
บทว่า กลฺยาณํ ในบทว่า อาทิกลฺยาณํ เป็นต้น แปลว่า ดี เจริญในเบื้องต้น ในท่ามกลางและในที่สุดก็เหมือนกัน ก็ชื่อว่า เบื้องต้นท่ามกลางและที่สุดนี้มี ๒ คือ ศาสนาและเทศนา. ใน ๒ อย่างนั้น ศีล เป็นเบื้องต้นของศาสนา สมถวิปัสสนาและมรรคเป็นท่ามกลาง ผลนิพพานเป็นที่สุด. อีกนัยหนึ่ง ศีล และสมาธิเป็นเบื้องต้น วิปัสสนาและมรรคเป็นท่ามกลาง ผลนิพพานเป็นที่สุด อีกนัยหนึ่ง ศีล สมาธิ วิปัสสนา เป็นเบื้องต้น มรรคเป็นท่ามกลาง ผลนิพพานเป็นที่สุด. ส่วนเทศนา สำหรับคาถา ๔ บทก่อน บทที่ ๑ เป็นเบื้องต้น บทที่ ๒ - ๓ เป็นท่ามกลาง บทที่ ๔ เป็นที่สุด สำหรับ ๕ บทหรือ ๖ บท บทแรกเป็นเบื้องต้น บทสุดท้ายเป็นที่สุด ที่เหลือเป็นท่ามกลาง.สำหรับพระสูตรมีอนุสนธิเดียว คำนิทานเริ่มต้นเป็นเบื้องต้น. คำนิคมลงท้ายว่า อิทมโวจ เป็นที่สุด คำที่เหลือเป็นท่ามกลาง. สำหรับพระสูตรที่มีอนุสนธิมาก แม้จะมากตรงกลาง ก็จัดเป็นอนุสนธิเดียวเท่านั้น คำนิทานเป็นเบื้องต้น คำลงท้ายว่า อิทมโวจ เป็นที่สุด.
พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 16
บทว่า สาตฺถํ ได้แก่ แสดงให้พร้อมอรรถ. บทว่า สพฺยญฺชนํ ได้แก่ จงแสดงให้บริบูรณ์ด้วยพยัญชนะและบท. บทว่า เกวลปริปุณฺณํ แปลว่า บริบูรณ์สิ้นเชิง. บทว่า ปริสุทฺธํ ได้แก่ ปราศจากอุปกิเลส. บทว่า พฺรหฺมจริยํ ได้แก่ ศาสนพรหมจรรย์ที่สงเคราะห์ด้วยสิกขา ๓. บทว่า ปกาเสถ ได้แก่ กระทำให้แจ้ง.
บทว่า อปฺปรชกฺขชาติกา ได้แก่ มีสภาพธุลี คือกิเลสน้อย ในจักษุคือปัญญา อธิบายว่า เหล่าสัตว์ที่สามารถบรรลุพระอรหัต เมื่อจบคาถา ๔ บท ประหนึ่งปิดไว้ด้วยม่านผ้าเนื้อละเอียด มีอยู่. บทว่า อสฺสวนตา แปลว่า เพราะไม่ได้ฟังธรรม. บทว่า ปริหายนฺติ ได้แก่ ย่อมเสื่อมจากธรรม โดยไม่เสื่อมจากลาภ. บทว่า เสนานิคโม ได้แก่ หมู่บ้านที่ตั้งอยู่ในโอกาสที่ตั้งกองทัพของเหล่ามนุษย์ต้นกัป อีกนัยหนึ่ง ได้แก่ หมู่บ้านเสนานิคมของบิดานางสุชาดา. บทว่า เตนุปสงฺกมิสฺสามิ ความว่า เราส่งพวกเธอไปให้สร้างสถานที่มีบริเวณเป็นต้น ถูกพวกอุปัฏฐากเป็นต้นบำเรออยู่หามิได้.แต่เราครั้นแสดงยมกปาฏิหาริย์ ๑,๕๐๐ แก่ชฏิลสามพี่น้องแล้วเข้าไปก็เพื่อแสดงธรรมอย่างเดียว. บทว่า อุปสงฺกมิ ความว่า มารคิดว่า พระสมณโคดมนี้ ส่งพระภิกษุ ๖๐ รูปไปด้วยกล่าวว่า พวกเธออย่าไปทางเดียวกัน ๒รูป จงแสดงธรรม ประหนึ่งทำการรบใหญ่ ก็เมื่อพระสมณโคดมนี้แม้องค์เดียวแสดงธรรมอยู่ เรายังไม่มีความสบายใจเลย เมื่อภิกษุเป็นอันมากแสดงอยู่อย่างนี้ เราจักมีความสบายใจได้แค่ไหนเล่า จำเราจักห้ามกันพระสมณโคดมนั้นเสีย ดังนี้แล้วจึงเข้าไปเฝ้า.
จบอรรถกถาทุติยปาสสูตรที่ ๕