พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๖. สัปปสูตร มารนิรมิตเพศเป็นพระยางู

 
บ้านธัมมะ
วันที่  29 ส.ค. 2564
หมายเลข  36333
อ่าน  516

[เล่มที่ 25] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 17

๖. สัปปสูตร

มารนิรมิตเพศเป็นพระยางู


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 25]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 27 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 17

๖. สัปปสูตร

มารนิรมิตเพศเป็นพระยางู

    [๔๓๑] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้ :-

    สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับ อยู่ ณ พระวิหารเวฬุวันอันเป็นสถานที่พระราชทานเหยื่อแก่กระแต กรุงราชคฤห์.

    สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ประทับนั่งกลางแจ้งในราตรีอันมืดสนิททั้งฝนก็ลงเม็ดประปรายอยู่.

    [๔๓๒] ครั้งนั้น มารผู้มีบาปประสงค์จะให้เกิดความกลัว ความครั่นคร้าม ขนลุกขนพองแก่พระผู้มีพระภาคเจ้า จึงนิรมิตเพศเป็นพระยางูใหญ่เข้าไปใกล้พระผู้มีพระภาคเจ้าถึงที่ประทับ กายของพระยางูนั้นเป็นเหมือนเรือลำใหญ่ที่ขุดด้วยซุงทั้งต้น พังพานของมันเป็นเหมือนเสื่อลำแพนผืนใหญ่ สำหรับปูตากแป้งของนักผลิตสุรา นัยน์ตาของมันเป็นเหมือนถาดสำริดขนาดใหญ่ของพระเจ้าโกศล ลิ้นของมันแลบออกจากปากเหมือนสายฟ้าแลบ ขณะเมฆกำลังกระหึ่ม เสียงหายใจเข้าออกของมัน เหมือนเสียงสูบช่างทองที่กำลังพ่นลมอยู่ฉะนั้น.

    [๔๓๓] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทราบว่า นี่มารผู้มีบาป ดังนี้ จึงได้ตรัสกะมารผู้มีบาปด้วยพระคาถาทั้งหลายว่า

    มุนีใดเสพเรือนว่างเปล่าเพื่ออยู่อาศัย มุนีนั้นสำรวมตนแล้ว สละความอาลัยในอัตภาพนั้นเที่ยวไป เพราะการสละความอาลัยในอัตภาพแล้วเที่ยวไปนั้น เหมาะสมแก่มุนีเช่นนั้น.

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 27 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 18

    สัตว์ที่สัญจรไปมาก็มาก สิ่งที่น่ากลัวก็มาก อนึ่ง เหลือบยุง และสัตว์เลื้อยคลานก็ชุกชุม (แต่) มหามุนีผู้อยู่ในเรือนว่างเปล่า ย่อมไม่ทำแม้แต่ขนให้ไหว เพราะสิ่งที่น่ากลัวเหล่านั้น.

    ถึงแม้ท้องฟ้าจะแตก แผ่นดินจะไหว สัตว์ทั้งหลายพึงสะดุ้งกลัวกันหมดก็ตามที แม้ถึงว่าหอกจะจ่ออยู่ที่อกก็ตามเถิด พระพุทธเจ้าทั้งหลายย่อมไม่ทรงป้องกันเพราะอุปธิ (คือขันธ์) ทั้งหลาย.

    ครั้งนั้น มารผู้มีบาป เป็นทุกข์เสียใจว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงรู้จักเรา พระสุคตทรงรู้จักเรา ดังนี้ จึงได้อันตรธานไปในที่นั้นเอง.

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 27 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 19

อรรถกถาสัปปสูตร

    พึงทราบวินิจฉัยในสัปปสูตรที่ ๖ ต่อไป :-

    บทว่า โสณฺฑิกา กิลญฺชํ ได้แก่ เสื่อลำแพน สำหรับเกลี่ยแป้งของพวกทำสุรา. บทว่า โกสลิกา กํสจาฏิ ได้แก่ ภาชนะใส่ของเสวยขนาดล้อรถ ของพระเจ้าโกศล. บทว่า คฬคฬายนฺเต ได้แก่ ออกเสียงดัง บทว่า กมฺมารคคฺคริยา ได้แก่ สูบเตาไฟของช่างทอง. บทว่า ธมมานาย ได้แก่ให้เต็มด้วยลมในกระสอบหนัง. บทว่า อิติ วิทิตฺวา ความว่า มารคิดว่าพระสมณโคดม ประกอบความเพียรเนืองๆ นั่งเป็นสุข จำเราจักกระทบกระเทียบเขาดู แล้วเนรมิตอัตภาพมีประการดังกล่าวแล้วจึงเดินด้อมๆ ณ ที่ทรงทำความเพียร พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเห็นด้วยแสงฟ้าแลบ ทรงนึกว่าสัตว์ ผู้นี้เป็นใครกันหนอ ก็ทรงทราบว่า ผู้นี้เป็นมาร ดังนี้

    บทว่า สุฺเคหานิ แปลว่า เรือนว่าง. บทว่า เสยฺยา ความว่า ผู้ใดเสพเรือนว่างทั้งหลาย เพื่อจะนอน คือเพื่อต้องการอย่างนี้ว่า เราจักยืน จักเดิน จักนั่ง จักนอน. บทว่า โส มุนิ อตฺตสญฺโต ความว่า พุทธมุนีใด สำรวมตัวแล้ว เพราะไม่มีการคะนองมือและเท้า. บทว่า โวสฺสชฺช จเรยฺย ตตฺถ โส ความว่า พุทธมุนีนั้น สละความอาลัยเยื่อใยในอัตภาพนั้น พึงจาริกไป. บทว่า ปฏิรูปํ หิ ตถาวิธสฺส ตํ ความว่า ความสละความเยื่อใยในอัตภาพนั้นจาริกไป ของพุทธมุนี ผู้เช่นนั้น คือผู้ดำรงอยู่อย่างนั้น ก็เหมาะ ก็ชอบ ก็สมควร.

    บทว่า จรกา ได้แก่ สัตว์ผู้สัญจรไปมีสีหะและเสือเป็นต้น. บทว่า เภรวา ได้แก่ สภาพที่น่ากลัว ทั้งมีวิญญาณและไม่มีวิญญาณ บรรดาสภาพ

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 27 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 20

ที่น่ากลัวเหล่านั้น สัตว์มีสีหะ และเสือเป็นต้น ชื่อว่า สภาพที่น่ากลัวมีวิญญาณตอไม้และจอมปลวกเป็นต้น ในเวลากลางคืน ชื่อว่า สภาพที่น่ากลัวไม่มีวิญญาณเป็นความจริง สภาพที่น่ากลัวแม้เหล่านั้น ย่อมปรากฏเป็นประหนึ่งยักษ์ในเวลานั้น เชือกและเถาวัลย์เป็นต้น ก็ปรากฏประหนึ่งงู. บทว่า ตตฺถ ความว่า พุทธมุนี เข้าไปสู่เรือนว่าง ไม่ทำอาการแม้เพียงขนลุก ในสภาพที่น่ากลัวเหล่านั้น.

    บัดนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อทรงแสดงการกำหนดสิ่งที่มิใช่ฐานะ จึงตรัสว่า นภํ ผเลยฺย เป็นต้น. บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ผเลยฺย ได้แก่ท้องฟ้าจะพึงแตกเป็นริ้วๆ ประหนึ่งตีนกา. บทว่า จเลยฺย ได้แก่ แผ่นดินจะพึงไหว เหมือนหยาดน้ำบนใบบัวที่ต้องลม. บทว่า สลฺลมฺปิ เจ อุรสกํ ปสฺเสยฺยุํ ความว่า แม้ว่าคนทั้งหลาย จะพึงจ่อหอกและหลาวอันคมไวัตรงอก. บทว่า อุปธีสุ ได้แก่ ในเพราะอุปธิ คือขันธ์ทั้งหลาย. บทว่า ตาณํ น กโรนฺติ ความว่า คนทั้งหลาย เมื่อเขาจ่อหลาวอันคมไว้ตรงอกก็หนีเข้าระหว่างที่กำบังและภายในกระท่อมเป็นต้น เพราะความกลัว ชื่อว่ากระทำการป้องกัน. แต่พระพุทธะทั้งหลาย ไม่กระทำการป้องกันเห็นปานนั้น เพราะท่านเพิกถอนความกลัวหมดทุกอย่างแล้ว.

    จบอรรถกถาสัปปสูตรที่ ๖