๙. ปฐมอายุสูตร ว่าด้วยอายุน้อย
[เล่มที่ 25] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 26
๙. ปฐมอายุสูตร
ว่าด้วยอายุน้อย
อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 25]
พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 26
๙. ปฐมอายุสูตร
ว่าด้วยอายุน้อย
[๔๔๐] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้ :-
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับ อยู่ ณ พระวิหารเวฬุวัน อันเป็นสถานที่พระราชทานเหยื่อแก่กระแต กรุงราชคฤห์.
ณ ที่นั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ดังนี้.
ภิกษุเหล่านั้นทูลรับพระดำรัสพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว.
พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อายุของมนุษย์ทั้งหลายนี้น้อยนัก จำต้องไปสู่สัมปรายภพ ควรทำกุศล ควรประพฤติพรหมจรรย์ สัตว์ผู้เกิดมาแล้วจะไม่ตายไม่มี ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย คนที่เป็นอยู่นาน ย่อมเป็นอยู่ได้เพียงร้อยปี หรือจะอยู่เกินไปได้บ้าง ก็มีน้อย.
[๔๔๑] ครั้งนั้น มารผู้มีบาปได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า แล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าด้วยคาถาว่า
อายุของมนุษย์ทั้งหลายยืนยาว คนดีไม่ควรดูหมิ่นอายุนั้นเลย ควรประพฤติดุจเด็กอ่อนที่เอาแต่กินนม ฉะนั้น ไม่มีมัจจุมาดอก.
[๔๔๒] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทราบว่า นี่มารผู้มีบาปจึงได้ตรัสกะมารผู้มีบาปด้วยพระคาถาว่า
อายุของมนุษย์ทั้งหลายน้อย คนดีควรดูหมิ่นอายุนั้นเสีย ควรประพฤติดุจคน
พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 27
ที่ถูกไฟไหม้ศีรษะ ฉะนั้น การที่มัจจุไม่มา จะไม่มีเลย.
ครั้งนั้น มารผู้มีบาป เป็นทุกข์เสียใจว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงรู้จักเรา พระสุคตทรงรู้จักเรา ดังนี้ จึงได้อันตรธานไปในที่นั้นแล.
อรรถกถาปฐมอายุสูตร
พึงทราบวินิจฉัยในปฐมอายุสูตรที่ ๙ ต่อไป :-
บทว่า อปฺปํ วา ภิยฺโย ความว่า คนเมื่อเป็นอยู่เกินก็ไม่อาจเป็นอยู่เกิน ๑๐๐ ปี คือเป็นอยู่ ๕๐ ปีบ้าง ๖๐ ปีบ้าง. บทว่า อชฺฌภาสิ ความว่า มารคิดว่า พระสมณโคดมกล่าวว่า อายุของเหล่ามนุษย์น้อย จำเราจักกล่าวว่า อายุนั้นยืนยาว จึงพูดข่มเพราะเป็นผู้ชอบขัดคอ.
บทว่า น นํ หิเฬ ได้แก่ ไม่พึงดูหมิ่นอายุนั้นว่าอายุนี้น้อย. บทว่า ขีรมตฺโตว ความว่า เปรียบเหมือนเด็กอ่อนนอนหงายดื่มนม นอนบนเบาะหลับไปเหมือนไม่รู้สึกตัว บุคคลย่อมไม่คิดว่า อายุของใครน้อย หรือยืนยาว.คนดีก็คิดอย่างนั้น. บทว่า จเรยฺยาทิตฺตสีโสว ได้แก่ รู้ว่าอายุน้อย พึงประพฤติตัวเหมือนคนมีศีรษะถูกไฟไหม้.
จบอรรถกถาปฐมอายุสูตรที่ ๙