๖. ปัตตสูตร ว่าด้วยบาตร
[เล่มที่ 25] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 40
๖. ปัตตสูตร
ว่าด้วยบาตร
อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 25]
พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 40
๖. ปัตตสูตร
ว่าด้วยบาตร
[๔๖๑] พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี กรุงสาวัตถี.
ก็สมัยนั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงยังภิกษุทั้งหลายให้เห็นแจ้ง ให้สมาทาน ให้อาจหาญ ให้ร่าเริง ด้วยธรรมีกถาเกี่ยวด้วยอุปาทานขันธ์ ๕ ก็ภิกษุเหล่านั้นทำในใจให้สำเร็จประโยชน์ น้อมนึกมาด้วยความเต็มใจ เงี่ยโสตลงสดับธรรมอยู่.
ครั้งนั้นแล มารผู้มีบาปได้มีความคิดว่า พระสมณโคดมนี้แล ยังภิกษุทั้งหลายให้เห็นแจ้ง ให้สมาทาน ให้อาจหาญ ให้ร่าเริง ด้วยธรรมีกถาเกี่ยวด้วยอุปาทานขันธ์ ๕ ก็ภิกษุเหล่านั้นทำในใจให้สำเร็จประโยชน์ น้อมนึกมาด้วยความเต็มใจ เงี่ยโสตลงสดับธรรมอยู่ ถ้ากระไร เราพึงเข้าไปหาพระสมณโคดมถึงที่ประทับ เพื่อประสงค์จะยังปัญญาจักษุให้พินาศ.
ก็โดยสมัยนั้นแล ภิกษุเหล่านั้นได้วางบาตรเป็นอันมากไว้ในที่กลางแจ้ง.
[๔๖๒] ลำดับนั้น มารผู้มีบาปแปลงเพศเป็นโคเดินไปยังที่บาตรเหล่านั้นวางอยู่.
ลำดับนั้น ภิกษุรูปหนึ่งจึงบอกกะภิกษุอีกรูปหนึ่งว่า ภิกษุๆ โคนั้นพึงทำบาตรทั้งหลายให้แตก.
เมื่อภิกษุนั้นพูดอย่างนั้นแล้ว พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสกะภิกษุนั้นว่า ภิกษุ นั่นมิใช่โค นั่นเป็นมารผู้มีบาป มาเพื่อประสงค์จะยังปัญญาจักษุของพวกเธอให้พินาศ.
พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 41
[๔๖๓] ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทราบว่า ผู้นี้เป็นมารผู้มีบาป จึงตรัสกะมารผู้มีบาปด้วยพระคาถาว่า
พระอริยสาวกย่อมเบื่อหน่ายในรูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ อย่างนี้ว่า เราไม่ใช่นั่น นั่นไม่ใช่ของเรา แม้มารและเสนามารแสวงหาอยู่ในที่ทั้งปวง ก็ไม่พบอริยสาวผู้เบื่อหน่ายแล้ว อย่างนี้ มีอัตภาพอันเกษมล่วงพ้นสังโยชน์ทั้งปวงแล้ว.
ลำดับนั้น มารผู้มีบาปเป็นทุกข์ เสียใจว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงรู้จักเรา พระสุคตทรงรู้จักเรา ดังนี้ จึงได้หายไปในที่นั้นนั่นเอง.
พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 42
อรรถกถาปัตตสูตร
พึงทราบวินิจฉัยในปัตตสูตรที่ ๖ ต่อไป :-
บทว่า ปญฺจนฺนํ อุปาทานกฺขนฺธานํ อุปาทาย ความว่า พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงถือเอาอุปาทานขันธ์ ๕ ขึ้นจำแนกแสดง โดยประการต่างๆ ด้วยอำนาจสภาวะและสามัญลักษณะ. บทว่า สนฺทสฺเสติ ได้แก่ ทรงแสดงสภาวะและลักษณะเป็นต้นของขันธ์ทั้งหลาย. บทว่า สมาทเปติ ได้แก่ ทรงให้ถือไว้. บทว่า สมุตฺเตเชติ ได้แก่ ทรงให้เกิดอุตสาหะในการสมาทานถือเอา. บทว่า สมฺปหํเสติ ได้แก่ ทรงให้ผ่องแผ้ว ให้สว่างด้วยคุณที่แทงตลอดแล้ว. บทว่า อฏฺิกตฺวา แปลว่า ทำให้เป็นประโยชน์ ได้แก่ กำหนดอย่างนี้ว่า เราพึงได้ประโยชน์นี้ แล้วมีความต้องการด้วยเทศนานั้น.บทว่า มนสิกริตฺวา ได้แก่ ตั้งไว้ในจิต. บทว่า สพฺพโส สมนฺนาหริตฺวาได้แก่ รวบรวมไว้ด้วยจิตที่ทำการนั้นทั้งหมด. บทว่า โอหิตโสตา ได้แก่ตั้งโสตไว้. บทว่า อชฺโฌกาเส นิกฺขิตฺตา ได้แก่ บาตรที่เหล่าภิกษุวางไว้กลางแจ้งเพื่อผึ่งแดด.
บทว่า รูปํ เวทยิตํ สญฺํ ได้แก่ ขันธ์ ๓ มีรูปเป็นต้นเหล่านี้.ทรงถือเอาสังขารขันธ์ ด้วยบทนี้ว่า ยญฺจ สงฺขตํ. บทว่า เอวํ ตตฺถ วิรชฺชติ ได้แก่ พระอริยสาวกเมื่อเห็นว่า เราไม่เป็นนั่น นั่นไม่ใช่ของเรา ย่อมเบื่อหน่ายในขันธ์เหล่านั้นอย่างนี้. บทว่า เขมตฺตํ ได้แก่ อัตภาพที่มีความเกษม พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงขณะแห่งผลจิต ด้วยบทนี้. บทว่า อนฺเวสํ ได้แก่ แสวงหาในที่ทั้งปวง กล่าวคือ ภพ กำเนิด คติ ฐิติและสัตตาวาส. บทว่า นาชฺฌคา ได้แก่ ไม่เห็น.
จบอรรถกถาปัตตสูตรที่ ๖