พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๘. ปิณฑิกสูตร ว่าด้วยมารดลใจไม่ให้ใส่บิณฑบาต

 
บ้านธัมมะ
วันที่  30 ส.ค. 2564
หมายเลข  36350
อ่าน  468

[เล่มที่ 25] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 45

๘. ปิณฑิกสูตร

ว่าด้วยมารดลใจไม่ให้ใส่บิณฑบาต


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 25]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 27 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 45

๘. ปิณฑิกสูตร

ว่าด้วยมารดลใจไม่ให้ใส่บิณฑบาต

    [๔๖๗] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ บ้านพราหมณ์ ในปัญจสาลคาม แคว้นมคธ.

    ก็สมัยนั้นแล ที่บ้านพราหมณ์ ในปัญจสาลคาม มีนักขัตฤกษ์แจกของแก่พวกเด็กๆ ครั้นรุ่งเช้า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงครองแล้ว ทรงถือบาตรและจีวรเสด็จเข้าไปสู่บ้านพราหมณ์ในปัญจสาลคามเพื่อบิณฑบาต.

    ก็โดยสมัยนั้นแล พราหมณ์ผู้คฤหบดีชาวปัญจสาลคามถูกมารผู้มีบาปเข้าดลใจ ด้วยประสงค์ว่า พระสมณโคดมอย่าได้บิณฑบาตเลย.

    พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จเข้าสู่บ้านพราหมณ์ในปัญจสาลคามเพื่อบิณฑบาตด้วยบาตรเปล่าอย่างใด ก็เสด็จกลับมาด้วยบาตรเปล่าอย่างนั้น.

    [๔๖๘] ลำดับนั้น มารผู้มีบาปเข้าไปหาพระผู้มีพระภาคเจ้าถึงที่ประทับ ครั้นแล้ว จึงกล่าวกะพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า สมณะ ท่านได้บิณฑบาตบ้างไหม.

    พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า แน่ะมารผู้มีบาป ท่านได้กระทำให้เราไม่ได้บิณฑบาตมิใช่หรือ.

    มารผู้มีบาปกราบทูลว่า ถ้าอย่างนั้น ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าจงเสด็จเข้าไปสู่บ้านพราหมณ์ในปัญจสาลคาม เพื่อบิณฑบาตครั้งที่สองอีกเถิด พระเจ้าข้า ข้าพระองค์จักกระทำให้พระผู้มีพระภาคเจ้าได้บิณฑบาต.

    [๔๖๙] พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า

    มารมาขัดขวางตถาคต ได้ประสบสิ่งมิใช่บุญแล้ว ดูก่อนมารผู้มีบาป ท่านเข้าใจว่า บาปย่อมไม่ให้ผลแก่เรา ฉะนั้น

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 27 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 46

หรือพวกเราไม่มีความกังวล ย่อมอยู่เป็นสุขสบายหนอ พวกเราจักมีปีติเป็นภักษาดุจอาภัสสรเทพ ฉะนั้น.

    ครั้งนั้นแล มารผู้มีบาปเป็นทุกข์เสียใจว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงรู้จักเรา พระสุคตทรงรู้จักเรา ดังนี้ จึงได้หายไปในที่นั้นนั่นเอง.

อรรถกถาปิณฑิกสูตร

    พึงทราบวินิจฉัยในปิณฑิกสูตรที่ ๘ ต่อไป :-

    บทว่า ปาหุนกานิ ภวนฺติ ความว่า ของขวัญที่พึงส่งไปในที่นั้นๆ ในงานนักขัตฤกษ์เห็นปานนั้นหรือไทยทานเป็นบรรณาการสำหรับต้อนรับแขก [อาคันตุกะ] ได้ยินว่า วันนั้นเป็นวันเที่ยวเตร่กันตามลำพัง [เสรี] พวกหนุ่มๆ ที่มีวัยและชาติเสมอกันอันตระกูลคุ้มครองแล้วก็ออกไปชุมนุมกัน. แม้พวกสาวๆ ก็แต่งตัวด้วยเครื่องตกแต่งอันเหมาะแก่สมบัติตนๆ เที่ยวเตร่กันไปในที่นั้นๆ ในจำพวกหนุ่มสาวเหล่านั้น แม้พวกสาวๆ ก็ส่งของขวัญให้แก่พวกหนุ่มๆ ที่ตนพอใจ. ถึงพวกหนุ่มๆ ก็ส่งของขวัญให้พวกสาวๆ เหมือนกัน. เมื่อไม่มีของขวัญอย่างอื่น โดยที่สุดก็คล้องแม้ด้วยพวงมาลัย. บทว่า อนฺวาวิฏฺา ได้แก่ เข้าไปสิงแล้ว. ได้ยินว่า วันนั้น พวกสาว ๕๐๐ คน กำลังเดินไปเล่นในสวน พบพระศาสดาสวนทางมาก็พึงถวายขนมอ่อน. พระศาสดาจึงทรงแสดงธรรมเบ็ดเตล็ด เพื่ออนุโมทนาทานของพวกสาวเหล่านั้น. เมื่อจบเทศนา พวกสาวทั้งหมดพึงตั้งอยู่ในโสดาปัตติผล ดังนั้น มารจึงเข้าดลใจ ด้วยหมายจักทำอันตรายแก่สมบัตินั้น. แต่ในบาลี ท่านกล่าวไว้เพียงว่า ขอพระสมณโคดมอย่าได้อาหารเลย.

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 27 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 47

    ถามว่า พระศาสดาไม่ทรงทราบการดลใจของมารหรือจึงเสด็จเข้าไป.ตอบว่าใช่ไม่ทรงทราบ. เพราะเหตุไร. เพราะไม่ทรงนึกไว้. จริงอยู่ การนึกว่าเราจักได้หรือไม่ได้อาหารในที่โน้น ดังนี้ ไม่สมควรแก่พระพุทธทั้งหลาย.ก็พระศาสดาเสด็จเข้าไปแล้ว ทรงเห็นความผิดแผกแห่งการปฏิบัติของเหล่าผู้คนทรงนึกว่า นี้อะไรกัน ก็ทรงทราบ ทรงพระดำริว่า การทำลายการดลใจของมาร เพื่ออามิสไม่สมควร จึงไม่ทรงทำลายเสด็จออกไปเสีย.

    บทว่า อุปสงฺกมิ ความว่า มารดีใจเหมือนชนะศัตรู จึงแปลงเพศเป็นชาวบ้านเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า ผู้ไม่ได้อาหารแม้เพียงทัพพีเดียวในบ้านทั้งสิ้น กำลังเสด็จออกไปจากหมู่บ้าน. คำว่า ตถาหํ กริสฺสามิ นี้เป็นคำที่มารพูดเท็จ ได้ยินว่า มารนั้นคิดอย่างนี้ว่า เมื่อเรากล่าวอย่างนี้แล้ว พระสมณโคดมเสด็จเข้าไปอีก ที่นั้น พวกเด็กชาวบ้านก็จักพูดเยาะเย้ยเป็นต้นว่า พระสมณโคดมเที่ยวไปทั่วบ้าน ไม่ได้ภิกษาแม้แต่ทัพพีเดียว ออกจากหมู่บ้านแล้วยังเสด็จเข้าไปอีก ดังนี้. พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพระดำริว่า ถ้ามารนี้จักเบียดเบียนเราอย่างนี้ ศีรษะของเขาก็จักแตก ๗ เสี่ยงแน่ จึงไม่เสด็จเข้าไปด้วยทรงเอ็นดูในมารนั้นจึงตรัส ๒ พระคาถา.

    บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ปสวิ ได้แก่ให้เกิด คือให้เกิดขึ้น. บทว่า อาสชฺช นํ ได้แก่ขัดขวาง คือ กระทบแล้ว. ด้วยบทว่า น เม ปาปํ วิปจฺจติ ทรงแสดงว่าท่านยังจะสำคัญอยู่อย่างนี้หรือว่า บาปจะไม่ให้ผลแก่เรา คือบาปนั้นไม่มีผล ท่านอย่าสำคัญอย่างนั้น ผลของบาปที่ท่านทำมีอยู่ ดังนี้. บทว่า กิญฺจนํ ได้แก่ ข่ายคือกิเลสมีกิเลสเครื่องกังวลคือราคะเป็นต้น ที่สามารถย่ำยีได้.บทว่า อาภสฺสรา ยถา ความว่า เราจักเป็นเหมือนเหล่าเทวดาชั้นอาภัสสระที่ดำรงอัตภาพด้วยฌานที่มีปิติ ชื่อว่ามีปีติเป็นภักษาหาร.

    จบอรรถกถาปิณฑิกสูตรที่ ๘