พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๑. สัมพหุลสูตร มารกวนภิกษุ

 
บ้านธัมมะ
วันที่  30 ส.ค. 2564
หมายเลข  36353
อ่าน  457

[เล่มที่ 25] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 56

ตติยวรรคที่ ๓

๑. สัมพหุลสูตร

มารกวนภิกษุ


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 25]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 27 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 56

ตติยวรรคที่ ๓

๑. สัมพหุลสูตร

มารกวนภิกษุ

    [๔๗๘] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้ :-

    สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ที่นครศิลาวดี ในแคว้นสักกะ.

    ก็สมัยนั้นแล ภิกษุมากด้วยกัน เป็นผู้ไม่ประมาท มีความเพียร ตั้งใจมั่นอยู่ในที่ใกล้พระผู้มีพระภาคเจ้า.

    [๔๗๙] ครั้งนั้นแล มารผู้มีบาปนิรมิตเพศเป็นพราหมณ์มุ่นชฎาใหญ่นุ่งหนังเสือ แก่ หลังโกง หายใจเสียงดังครืดคราด ถือไม้เท้าทำด้วยไม้มะเดื่อ เข้าไปหาภิกษุเหล่านั้นถึงที่อยู่ ครั้นแล้วจึงกล่าวกะภิกษุเหล่านั้นว่า ท่านบรรพชิตผู้เจริญทั้งหลายล้วนแต่เป็นคนหนุ่มกระชุ่มกระชวย มีผมดำ ประกอบด้วยความหนุ่มแน่น ยังอยู่ในปฐมวัยไม่เบื่อในกามารมณ์ทั้งหลาย ขอท่านจงบริโภคกามอันเป็นของมนุษย์ อย่าละผลอันเห็นเอง วิ่งไปสู่ผลชั่วคราวเลย.

    ภิกษุเหล่านั้น ตอบว่า ดูก่อนพราหมณ์ พวกเราย่อมไม่ละผลอันเห็นเอง วิ่งไปสู่ผลชั่วคราว แต่เราทั้งหลายละผลชั่วคราววิ่งไปสู่ผลอันเห็นเอง ดูก่อนพราหมณ์ เพราะว่ากามทั้งหลาย พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่าเป็นของชั่วคราว มีทุกข์มาก มีความคับแค้นมาก โทษในกามทั้งหลายมีมากยิ่ง ธรรมนี้มีผลอันเห็นเองให้ผลไม่จำกัดกาล เป็นของควรเรียกกันมาดู ควรน้อมมาไว้ในตน อันวิญญูชนทั้งหลายพึงรู้ได้เฉพาะตน.

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 27 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 57

    เมื่อภิกษุเหล่านั้นกล่าวอย่างนี้แล้ว มารผู้มีบาปจึงสั่นศีรษะ แลบลิ้นทำหน้าขมวดเป็นสามรอย จดจ้องไม้เท้าหลีกไป.

    [๔๘๐] ครั้งนั้นแล ภิกษุเหล่านั้นเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้ายังที่ประทับถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ภิกษุเหล่านั้นครั้นนั่งแล้ว จึงกราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า พระเจ้าข้า ข้าพระองค์ทั้งหลายเป็นผู้ไม่ประมาท บำเพ็ญความเพียร ตั้งใจมั่น อยู่ในที่ใกล้พระองค์ ณ ที่นี้พระเจ้าข้า มีพราหมณ์คนหนึ่ง มุ่นชฎาใหญ่ นุ่งหนังเสือ เป็นคนแก่ หลังโกง หายใจเสียงดังครืดคราด ถือไม้เท้าทำด้วยไม้มะเดื่อ เข้าไปหาข้าพระองค์ยังที่อยู่ ครั้นแล้วได้กล่าวกะข้าพระองค์ว่า ท่านบรรพชิตผู้เจริญทั้งหลายล้วนแต่เป็นคนหนุ่มกระชุ่มกระชวย มีผมดำ ประกอบด้วยความหนุ่มแน่น ยังอยู่ในปฐมวัยไม่เบื่อในกามารมณ์ทั้งหลาย ขอท่านจงบริโภคกามอันเป็นของมนุษย์ อย่าละผลอันเห็นเอง วิ่งไปสู่ผลชั่วคราวเลย พระเจ้าข้า เมื่อพราหมณ์กล่าวอย่างนี้แล้ว พวกข้าพระองค์ได้กล่าวกะพราหมณ์นั้นว่า ดูก่อนพราหมณ์ พวกเราย่อมไม่ละผลอันเห็นเอง วิ่งไปสู่ผลชั่วคราว แต่พวกเราละผลชั่วคราววิ่งไปสู่ผลอันเห็นเอง ดูก่อนพราหมณ์ เพราะกามทั้งหลาย พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า เป็นของชั่วคราว มีทุกข์มาก มีความคับแค้นมาก โทษในกามทั้งหลายนั้นมีมากยิ่ง ธรรมนี้มีผลอันเห็นเอง ให้ผลไม่จำกัดกาล เป็นของควรเรียกมาดู ควรน้อมไว้ในตน อันวิญญูชนทั้งหลายพึงรู้เฉพาะตน พระเจ้าข้า เมื่อข้าพระองค์กล่าวอย่างนี้แล้ว พราหมณ์นั้นสั่นศรีษะ. แลบลิ้น ทำหน้าขมวดเป็นสามรอย จดจ้องไม้เท้าหลีกไป.

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 27 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 58

    [๔๘๑] พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย นั้นมิใช่พราหมณ์ นั้นเป็นมารผู้มีบาป มาเพื่อประสงค์จะทำปัญญาจักษุของพวกเธอให้พินาศ.

    ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทราบเนื้อความนั้นแล้ว จึงภาษิตพระคาถานี้ในเวลานั้นว่า

    ผู้ใดได้เห็นทุกข์มีกามเป็นเหตุแล้ว ไฉนผู้นั้นจะพึงน้อมใจไปในกามเล่า บุคคลผู้ทราบอุปธิว่า เป็นเครื่องข้องอยู่ในโลกแล้ว พึงศึกษาเพื่อกำจัดอุปธินั้นเสีย.

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 27 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 59

ตติยวรรคที่ ๓

อรรถกถาสัมพหุลสูตร

    พึงทราบวินิจฉัยในสัมพหุลสูตรที่ ๑ วรรคที่ ๓ ต่อไป:-

    บทว่า ชฏณฺฑุเวน ได้แก่เทริดเซิงผม. บทว่า อชินกฺขิปนิวตฺโถได้แก่หนังเสือที่มีเล็บเท้างาม นุ่งผืนหนึ่ง ห่มผืนหนึ่ง. บทว่า อุทุมฺพรทณฺฑํ ได้แก่ถือไม้เท้าไม้มะเดื่อ คดนิดหน่อย เพื่อประกาศความเป็นผู้มักน้อย. บทว่า เอตทโวจ ความว่า มารถือเพศนักบวชพราหมณ์แก่ เพราะเป็นนักบวชในจำพวกพราหมณ์ก็ดี เป็นผู้แก่ในจำพวกนักบวชก็ดี ด้วยเข้าใจว่าธรรมดาถ้อยคำของพราหมณ์ รับฟังกันด้วยดีในโลก แล้วเข้าไปหาภิกษุเหล่านั้น ผู้ทำกิจ ณ ที่สำหรับทำความเพียร ยกมือทั้งสองขึ้น ได้กล่าวคำว่า ทหรา ภวนฺโต เป็นต้นนั้น. บทว่า โอกมฺเปตฺวา แปลว่า เอาคางจดท้องค้อมตัวลงต่ำ. บทว่า ชิวฺหํ นิลฺลาเฬตฺวา ได้แก่แลบลิ้นใหญ่รับคำข้าว เสียไปสองข้างทั้งข้างบนทั้งข้างล่าง. บทว่า ติวิสาขํ ได้แก่ ๓ รอย. บทว่า นลาฏิกํ ความว่ารอยย่น ปรากฏที่หน้าผากอันสยิ้ว. บทว่า ปกฺกามิ ความว่า พราหมณ์แก่กล่าวว่า พวกท่านไม่เชื่อคำของผู้รู้ จงเข้าไปที่เร้นของตนเถิด แล้วจับทางไปทางหนึ่ง.

    จบอรรถกถาสัมพหุลสูตรที่ ๑