พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๒. สมิทธิสูตร ว่าด้วยมารขู่พระสมิทธิ

 
บ้านธัมมะ
วันที่  30 ส.ค. 2564
หมายเลข  36354
อ่าน  485

[เล่มที่ 25] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 60

๒. สมิทธิสูตร

ว่าด้วยมารขู่พระสมิทธิ


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 25]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 27 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 60

๒. สมิทธิสูตร

ว่าด้วยมารขู่พระสมิทธิ

    [๔๘๒] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้ :-

    สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ที่กรุงศิลาวดี แคว้นสักกะ.

    ก็สมัยนั้นแล ท่านสมิทธิเป็นผู้ไม่ประมาท มีความเพียร ตั้งใจมั่นอยู่ในที่ใกล้พระผู้มีพระภาคเจ้า.

    ครั้งนั้นแล ท่านสมิทธิผู้พักผ่อนอยู่ในที่ลับ มีความปริวิตกแห่งจิตเกิดขึ้นอย่างนี้ว่า เป็นลาภของเราดีแท้ที่เราได้พระอรหันต์ผู้ตรัสรู้เองโดยชอบเป็นพระศาสดาของเรา เป็นลาภของเราดีแท้ที่เราได้บวชในพระธรรมวินัยอันพระศาสดาตรัสดีแล้วอย่างนี้ เป็นลาภของเราดีแท้ที่เราได้เพื่อนพรหมจรรย์อันมีศีลมีกัลยาณธรรม.

    [๔๘๓] ครั้งนั้นแล มารผู้มีบาปทราบความปริวิตกแห่งจิตของท่านสมิทธิด้วยจิตแล้ว เข้าไปหาท่านสมิทธิถึงที่อยู่ ครั้นแล้ว จึงทำเสียงดังน่ากลัวน่าหวาดเสียวประดุจแผ่นดินจะถล่ม ณ ที่ใกล้ท่านสมิทธิ.

    [๔๘๔] ลำดับนั้น ท่านสมิทธิเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้ายังที่ประทับ ถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาคเจ้า แล้วนั่ง ณ ที่ควรข้างหนึ่ง ท่านสมิทธิครั้นนั่ง ณ ที่ควรข้างหนึ่งแล้ว จึงได้กราบทูลว่า พระเจ้าข้า ข้าพระองค์เป็นผู้ไม่ประมาท มีความเพียร ตั้งใจมั่น อยู่ในที่ใกล้พระองค์ ณ ที่นี้พระเจ้าข้า ข้าพระองค์อยู่ในที่ลับเร้น มีความปริวิตกแห่งจิตเกิดขึ้นอย่างนี้ว่าเป็นลาภของเราดีแท้ที่เราได้พระอรหันต์ผู้ตรัสรู้เองโดยชอบ เป็นพระศาสดาของเรา เป็นลาภของเราดีแท้ที่เราได้บวชในพระธรรมวินัยอันพระศาสดาตรัสดีแล้วอย่างนี้ เป็นลาภของเราดีแท้ที่เราได้เพื่อนพรหมจรรย์ อันมีศีลมีกัลยาณ-

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 27 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 61

ธรรม พระเจ้าข้า ขณะนั้น ก็ได้มีเสียงดังน่ากลัว น่าหวาดเสียวประดุจแผ่นดินจะถล่ม เกิดขึ้นในที่ใกล้ข้าพระองค์.

    [๔๘๕] พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า สมิทธิ นั้นไม่ใช่แผ่นดินจะถล่ม นั้นเป็นมารผู้มีบาปมาเพื่อประสงค์จะทำปัญญาจักษุของเธอให้พินาศ เธอจงไปเถิด สมิทธิ จงเป็นผู้ไม่ประมาท มีความเพียร ตั้งใจมั่นอยู่ในที่นั้นตามเดิมเถิด.

    ท่านสมิทธิรับพระดำรัสแล้วลุกขึ้นจากอาสนะ ถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาคเจ้า ทำประทักษิณแล้วหลีกไป.

    [๔๘๖] แม้ครั้งที่สอง ท่านสมิทธิเป็นผู้ไม่ประมาท มีความเพียร ตั้งใจมั่นอยู่ในที่นั้นนั่นเอง แม้ในครั้งที่สอง ท่านสมิทธิไปในที่ลับเร้นอยู่ มีความปริวิตกเกิดขึ้นอย่างนี้ ฯลฯ แม้ในครั้งที่สอง มารผู้มีบาปทราบความปริวิตกแห่งจิตของท่านสมิทธิด้วยจิตแล้ว ฯลฯ จึงทำเสียงดังน่ากลัว น่าหวาดเสียวประดุจแผ่นดินจะถล่ม ณ ที่ใกล้ท่านสมิทธิ.

    [๔๘๗] ลำดับนั้น ท่านสมิทธิทราบว่า ผู้นี้เป็นมารผู้มีบาป จึงกล่าวกะมารผู้มีบาปด้วยคาถาว่า

    เราหลีกออกจากเรือนบวชเป็นผู้ไม่มีเรือนด้วยศรัทธา สติและปัญญาของเรา เรารู้แล้ว อนึ่ง จิตของเราตั้งมั่นดีแล้ว ท่านจักบันดาลรูปต่างๆ อันน่ากลัวอย่างไร ก็จักไม่ยังเราให้หวาดกลัวได้เลยโดยแท้.

    ลำดับนั้น มารผู้มีบาปเป็นทุกข์ เสียใจว่า ภิกษุสมิทธิรู้จักเรา ดังนี้ได้หายไปในที่นั้นนั่นเอง.

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 27 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 62

อรรถกถาสมิทธิสูตร

    พึงทราบวินิจฉัยในสมิทธิสูตรที่ ๒ ต่อไป:-

    บทว่า ลาภา เม กต สุลทฺธํ วต เม ความว่า เป็นลาภของเรา เราได้ดีแล้ว เพราะเราได้พระศาสดา พระธรรม และเพื่อนพรหมจารีเห็นปานนั้น. ได้ยินว่า ท่านสมิทธินั้น ภายหลัง พิจารณามูลกัมมัฏฐานแล้ว ก็ยืดกัมมัฏฐานที่น่าเลื่อมใสไว้ก่อน ด้วยหมายจะยึดเอาพระอรหัตให้ได้ ระลึกคุณของพระพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์ ให้เกิดความที่จิตเหมาะแล้ว นั่งทำจิตให้ร่าเริงยินดี ด้วยเหตุนั้น ท่านสมิทธินั้นจึงคิดอย่างนี้. บทว่า อุปสงฺกมิ ความว่า มารคิดว่า พระภิกษุสมิทธินี้ ก็เป็นเช่นเดียวกับภิกษุที่นั่งถือกัมมัฏฐานที่น่าเลื่อมใส ตราบใด ยังถือเอาพระอรหัตไม่ได้ ตราบนั้น จำเราจักทำอันตรายแก่เธอ ดังนี้ แล้วจึงเข้าไปหา. บทว่า คจฺฉ ตฺวํ ความว่า พระศาสดาทรงตรวจดูทั่วชมพูทวีป ทรงพบว่า กัมมัฏฐานจักเป็นสัปปายะสำหรับภิกษุนั้นในที่นั้นนั่นแล เพราะฉะนั้น จึงตรัสอย่างนี้. บทว่า สติ ปญฺา จ เม พุทฺธา ความว่า เรารู้สติและปัญญาของเรา. บทว่า กามํ กรสฺสุ รูปานิได้แก่ ท่านจะทำรูป ที่น่ากลัวแม้มากมาย. บทว่า เนว มํ พฺยาธยิสฺสสิ ได้แก่ ท่านไม่ทำเราให้หวั่นไหวได้.

    จบอรรถกถาสมิทธิสูตรที่ ๒