พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๓. โคธิกสูตร ว่าด้วยพระโคธิกะปรินิพพาน

 
บ้านธัมมะ
วันที่  30 ส.ค. 2564
หมายเลข  36355
อ่าน  411

[เล่มที่ 25] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 63

๓. โคธิกสูตร

ว่าด้วยพระโคธิกะปรินิพพาน


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 25]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 27 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 63

๓. โคธิกสูตร

ว่าด้วยพระโคธิกะปรินิพพาน

    [๔๘๘] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้ :-

    สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ พระวิหารเวฬุวัน อันเป็นสถานที่พระราชทานเหยื่อแก่กระแต กรุงราชคฤห์.

    ก็สมัยนั้นแล ท่านโคธิกะ อยู่ที่กาฬศิลาข้างภูเขาอิสิคิลิ.

    [๔๘๙] ครั้งนั้นแล ท่านโคธิกะเป็นผู้ไม่ประมาท มีความเพียร ตั้งใจมั่น ได้บรรลุเจโตวิมุตติอันเป็นโลกีย์ ภายหลังท่านโคธิกะได้เสื่อมจากเจโตวิมุตติอันเป็นโลกีย์นั้น แม้ครั้งที่ ๒ ท่านโคธิกะเป็นผู้ไม่ประมาท มีความเพียร ตั้งใจมั่น ได้บรรลุเจโตวิมุตติอันเป็นโลกีย์ แม้ในครั้งที่ ๒ ก็ได้เสื่อมจากเจโตวิมุตติอันเป็นโลกีย์นั้น แม้ครั้งที่ ๓ ท่านโคธิกะเป็นผู้ไม่ประมาท มีความเพียร ตั้งใจมั่นอยู่. ได้บรรลุเจโตวิมุตติอันเป็นโลกีย์ แม้ในครั้งที่ ๓ ก็ได้เสื่อมจากเจโตวิมุตติอันเป็นโลกีย์นั้น แม้ครั้งที่ ๔ ท่านโคธิกะเป็นผู้ไม่ประมาท มีความเพียร ตั้งใจมั่น ได้บรรลุเจโตวิมุติอันเป็นโลกีย์ แม้ในครั้งที่ ๔ ก็ได้เสื่อมจากเจโตวิมุตติอันเป็นโลกีย์นั้น แม้ครั้งที่ ๕ ท่านโคธิกะเป็นผู้ไม่ประมาท มีความเพียร ตั้งใจมั่น ได้บรรลุเจโตวิมุตติอันเป็นโลกีย์ แม้ในครั้งที่ ๕ ก็ได้เสื่อมจากเจโตวิมุตติอันเป็นโลกีย์นั้น แม้ครั้งที่ ๖ ท่านโคธิกะเป็นผู้ไม่ประมาท มีความเพียร ตั้งใจมั่น ได้บรรลุเจโตวิมุตติอันเป็นโลกีย์ แม้ในครั้งที่ ๖ ก็ได้เสื่อมจากเจโตวิมุตติอันเป็นโลกีย์นั้น แม้ครั้งที่ ๗ ท่านโคธิกะเป็นผู้ไม่ประมาท มีความเพียร ตั้งใจมั่น ก็ได้บรรลุเจโตวิมุตติอันเป็นโลกีย์อีก.

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 27 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 64

    ครั้งนั้นแล ท่านโคธิกะได้เกิดความคิดอย่างนี้ว่า เราได้เสื่อมจากเจโตวิมุตติอันเป็นโลกีย์ถึง ๖ ครั้งแล้ว ถ้ากระไร เราพึงนำศัสตรามา.

    [๔๙๐] ลำดับนั้นแล มารผู้มีบาปทราบความปริวิตกแห่งจิตของท่านโคธิกะด้วยจิตแล้ว จึงเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าถึงที่ประทับ ครั้นแล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าด้วยคาถาว่า

    ข้าแต่พระองค์ผู้มีจักษุ มีเพียรใหญ่ มีปัญญามาก รุ่งเรืองด้วยฤทธิ์และยศ ก้าวล่วงเวรและภัยทั้งปวง ข้าพระองค์ขอถวายบังคมพระบาททั้งคู่ ข้าแต่พระองค์ผู้มีเพียรใหญ่ สาวกของพระองค์อันมรณะครอบงำแล้ว ย่อมคิดจำนงหวังความตายข้าแต่พระองค์ผู้ทรงไว้ซึ่งความรุ่งเรือง ขอพระองค์จงห้ามสาวกของพระองค์นั้นเสียเถิด.

    ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้ปรากฏในหมู่ชน สาวกของพระองค์ยินดีในพระศาสนา ยังไม่ได้บรรลุพระอรหัต ยังเป็นพระเสขะอยู่ ไฉนจะพึงกระทำกาละเสียเล่า.

    ก็เวลานั้น ท่านโคธิกะได้นำศัสตรามาแล้ว.

    [๔๙๑] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทราบว่า ผู้นี้เป็นมารผู้มีบาป จึงได้ตรัสกะมารผู้มีบาปด้วยพระคาถาว่า

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 27 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 65

    ปราชญ์ทั้งหลายย่อมทำอย่างนี้แล ย่อมไม่ห่วงใยชีวิต โคธิกะภิกษุ ถอนตัณหาพร้อมด้วยราก นิพพานแล้ว.

    [๔๙๒] ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายมาแล้วตรัสว่า ภิกษุทั้งหลาย เรามาไปสู่กาลศิลา ข้างภูเขาอิสิคิลิ อันเป็นที่โคธิกกุลบุตร นำศัสตรามาแล้ว

    ภิกษุเหล่านั้น กราบทูลรับพระดำรัสของพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว.

    ครั้นนั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าพร้อมด้วยภิกษุหลายรูปได้เข้าไปยังกาลศิลาข้างภูเขาอิสิคิลิ.

    พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทอดพระเนตรเห็นโคธิกะมีคออันพลิกแล้ว นอนอยู่บนเตียงที่ไกลเทียว ก็เวลานั้นแล ควันหรือหมอกพลุ่งไปสู่ทิศตะวันออก ทิศตะวันตก ทิศเหนือ ทิศใต้ ทิศเบื้องบน ทิศเบื้องต่ำ และอนุทิศ.

    [๔๙๓] ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พวกเธอเห็นไหม ควันหรือหมอกนั้นพลุ่งไปสู่ทิศตะวันออก ทิศตะวันตก ทิศเหนือ ทิศใต้ ทิศเบื้องบน ทิศเบื้องต่ำ และอนุทิศ เมื่อภิกษุเหล่านั้นกราบทูลรับพระดำรัสแล้วจึงตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย นั่นมารผู้มีบาป เที่ยวแสวงหาวิญญาณของโคธิกกุลบุตร ด้วยคิดว่า วิญญาณของโคธิกกุลบุตรตั้งอยู่ ณ ที่ไหน ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย โคธิกกุลบุตร มีวิญญาณอันไม่ตั้งอยู่แล้ว ปรินิพพานแล้ว.

    [๔๙๔] ครั้งนั้นแล มารผู้มีบาปถือพิณมีสีเหลืองเหมือนมะตูมสุก เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าถึงที่ประทับ ครั้นแล้ว ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคเจ้าด้วยคาถาว่า

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 27 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 66

    ข้าพระองค์ได้ค้นหาวิญญาณของโคธิกกุลบุตร ทั้งในทิศเบื้องบน ทั้งทิศเบื้องต่ำ ทั้งทางขวาง ทั้งทิศใหญ่ ทิศน้อย ทั่วแล้ว มิได้ประสบ โคธิกะนั้นไป ณ ที่ไหน.

    [๔๙๕] พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสตอบว่า

    นักปราชญ์ผู้ใดสมบูรณ์ด้วยธิติ มีปกติเพ่งพินิจ ยินดีแล้วในฌานทุกเมื่อ พากเพียรอยู่ตลอดวันและคืน ไม่มีความอาลัยในชีวิต ชนะเสนาของมัจจุราชแล้ว ไม่กลับมาสู่ภพใหม่ นักปราชญ์นั้นคือโคธิกกุลบุตร ได้ถอนตัณหาพร้อมด้วยราก ปรินิพพานแล้ว.

    พิณได้พลัดตกจากรักแร้ของมารผู้มีความเศร้าโศก ในลำดับนั้น ยักษ์นั้นมีความโทมนัส หายไปในที่นั้นนั่นเอง.

 
  ข้อความที่ 5  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 27 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 67

อรรถกถาโคธิกสูตร

    พึงทราบวินิจฉัยในโคธิกสูตรที่ ๓ ต่อไป :-

    บทว่า อิสิคิลิปสฺเส ได้แก่ ข้างภูเขาชื่อ อิสิคิลิ. บทว่า กาฬสิลายํ ได้แก่ ก้อนหินสีดำ. บทว่า สามายิกํ เจโตวิมุตฺติ ความว่า สมาบัติฝ่ายโลกิยะ ชื่อว่า สามายิกาเจโตวิมุตติ เพราะจิตหลุดพ้นจากธรรมที่เป็นข้าศึกในขณะที่จิตแน่วแน่แนบแน่น และน้อมไปในอารมณ์. บทว่า ผุสิ ได้แก่กลับได้. ในบทว่า ปริหายิ ถามว่า เพราะเหตุไร ท่านโคธิกะ จึงเสื่อมถึง ๖ ครั้ง. ตอบว่า เพราะท่านมีอาพาธ. ได้ยินว่า พระเถระมีอาพาธเรื้อรัง [ประจำตัว] โดยเป็นโรคลมน้ำดีและเสมหะ. ด้วยอาพาธนั้น พระเถระจึงไม่อาจบำเพ็ญอุปการธรรมให้เป็นสัปปายะของสมาธิได้ จึงเสื่อมจากสมาบัติที่แน่วแน่แนบแน่นไปเสีย.

    บทว่า ยนฺนูนาหํ สตฺถํ อาหเรยฺยํ ความว่า ได้ยินว่า พระเถระคิดจะฆ่าตัวตาย. ผู้มีฌานเสื่อมกระทำกาละ [ตาย] คติไม่แน่นอน. ผู้มีฌานไม่เสื่อม คติแน่นอนคือย่อมบังเกิดในพรหมโลก เพราะฉะนั้น พระเถระจึงประสงค์จะฆ่าตัวตายเสีย. บทว่า อุปสงฺกมิ ความว่า มารคิดว่า สมณะนี้ประสงค์จะฆ่าตัวตาย ก็ขึ้นชื่อว่า การฆ่าตัวตายนี้ ย่อมมีแก่ผู้ไม่เยื่อใยในร่างกายและชีวิต สมณะนั้นพิจารณามูลกัมมัฏฐานแล้ว ย่อมสามารถยึดแม้พระอรหัตไว้ได้ ถึงเราห้ามปราม เธอคงไม่ละเว้น ต่อพระศาสดาทรงห้ามปราม จึงจะเว้น ดังนี้ จึงทำเหมือนหวังดีต่อพระเถระ เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า.

    บทว่า ชลํ แปลว่า รุ่งเรืองอยู่. บทว่า ปาเท วนฺทามิ จกฺขุม ความว่า ท่านผู้มีจักษุด้วยจักษุทั้ง ๕ ข้าพระองค์ขอไหว้พระบาทของพระองค์.

 
  ข้อความที่ 6  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 27 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 68

บทว่า ชุตินฺธร ได้แก่ ผู้ทรงอานุภาพ. บทว่า อปฺปตฺตมานโส ได้แก่ ผู้ยังไม่บรรลุพระอรหัต. บทว่า เสกฺโข ได้แก่ผู้กำลังศึกษาศีลเป็นต้น ชื่อว่าผู้ยังมีกิจที่จะต้องทำ. บทว่า ชเน สุตา ได้แก่ ผู้ปรากฏในหมู่ชน. บทว่า สตฺถํ อาหริตํ โหติ ความว่า ได้ยินว่า พระเถระคิดว่า เราจะมีประโยชน์อะไรด้วยชีวิตนี้ จึงนอนหงายเอามีดตัดหลอดคอ. ทุกขเวทนาทั้งหลายก็เกิดขึ้น. พระเถระข่มเวทนาแล้วกำหนดเวทนานั้นนั่นแหละเป็นอารมณ์ตั้งสติมั่นพิจารณามูลกัมมัฏฐานก็บรรลุพระอรหัต เป็นสมสีสี ปรินิพพานแล้ว. ก็ชื่อว่าสมสีสีมี ๓ ประเภท คืออิริยาปถสมสีสี โรคสมสีสี ชีวิตสมสีสี.

    บรรดาพระอรหันต์ ๓ ประเภทนั้น พระอริยะรูปใดอธิษฐานอิริยาบถทั้งหลายมียืนเป็นต้น อิริยาบถอย่างใดอย่างหนึ่ง ตั้งวิปัสสนาไว้มั่นด้วยหมายจะไม่เปลี่ยนอิริยาบถนี้แล้ว บรรลุพระอรหัต เมื่อเป็นดังนั้น พระอริยะรูปนั้นบรรลุพระอรหัตและไม่เปลี่ยนอิริยาบถพร้อมคราวเดียวกัน พระอริยะรูปนี้ชื่อว่าอิริยาปถสมสีสี. อนึ่ง พระอริยะรูปใดเมื่อบรรดาโรคทั้งหลายมีโรคตาเป็นต้น อย่างใดอย่างหนึ่งมีอยู่ ตั้งวิปัสสนาไว้มั่นว่า ถึงไม่หายจากโรคนี้ ก็จักบรรลุพระอรหัต เมื่อเป็นดังนั้น พระอริยะรูปนั้นบรรลุพระหัต และหายโรคพร้อมคราวเดียวกัน พระอริยะรูปนี้ชื่อว่า โรคสมสีสี. แต่อาจารย์บางพวกบัญญัติพระอรหันต์นั้นเป็นสมสีสีในข้อนี้ โดยปรินิพพาน ในเพราะอิริยาบถนั้นนั่นแหละ และในเพราะโรคนั้นนั่นแหละ. อนึ่ง พระอริยรูปใด สิ้นอาสวะและสิ้นชีพ พร้อมคราวเดียวกัน พระอริยะรูปนี้ ชื่อว่าชีวิตสมสีสีสมจริงดังที่ที่ในกล่าวไว้ว่า บุคคลใดสิ้นอาสวะและสิ้นชีพไม่ก่อนไม่หลัง บุคคลนี้ เรียกว่า สมสีสี.

    ก็ในคำว่า สมสีสี นี้ สีสะมี ๒ คือ ปวัตตสีสะและกิเลสสีสะ. บรรดาสีสะทั้ง ๒ นั้น ชีวิตินทรีย์ ชื่อว่า ปวัตตสีสะ อวิชชาชื่อว่า กิเลสสีสะ. บรรดา

 
  ข้อความที่ 7  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 27 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 69

ชีวิตินทรีย์และอวิชชานั้น จุติจิตย่อมทำชีวิตินทรีย์ให้สิ้นไป มรรคจิต ทำอวิชชาทั้งหลายให้สิ้นไป. จิตสองดวงย่อมไม่เกิดพร้อมคราวเดียวกัน. แต่ผลจิตเกิดในลำดับมรรคจิต ภวังคจิตเกิดในลำดับผลจิต ออกจากภวังคจิต ปัจจเวกขณจิตก็เกิด. ปัจจเวกขณจิตนั้นบริบูรณ์บ้างไม่บริบูรณ์บ้าง. จริงอยู่แม้เอาดาบอันคมกริบตัดศีรษะ ปัจจเวกขณจิตย่อมเกิดขึ้น ๑ วาระ หรือ ๒ วาระโดยแท้ แต่เพราะจิตทั้งหลายเป็นไปเร็ว การสิ้นอาสวะและการสิ้นชีพจึงปรากฏเหมือนมีในขณะเดียวกันนั่นเทียว.

    บทว่า สมูลํ ตณฺหํ อพฺภุยฺห ได้แก่ เพิกถอนตัณหาพร้อมทั้งมูล โดยมูลคืออวิชชาเสียด้วยพระอรหัตตมรรค. บทว่า ปรินิพฺพุโต ได้แก่ปรินิพพานด้วยอนุปาทิเสสปรินิพพาน.

    บทว่า วิวตฺตกฺขนฺธํ ได้แก่ พลิกตัว. บทว่า เสยฺยมานํ ได้แก่นอนหงาย. ก็พระเถระนอนหงายก็จริงอยู่ ถึงอย่างนั้น ศีรษะของท่านก็เปลี่ยนไปอยู่ข้างขวา เพราะนอนคุ้นแต่ข้างขวา. บทว่า ธุมายิตตฺตํ ได้แก่ ภาวะที่เป็นควัน. จริงอยู่ ขณะนั้น เหมือนฝนควันและฝนมืดปรากฏขึ้นมา. บทว่า วิญฺาณํ สมนฺเวสติ ได้แก่ มารแสวงหาปฏิสนธิจิต. บทว่า อปฺปติฏฺิเตน ได้แก่มีปฏิสนธิวิญญา มิได้ตั้งอยู่แล้ว อธิบายว่ามีเหตุแห่งปฏิสนธิวิญญาณไม่ตั้งอยู่แล้ว. บทว่า เวฬุวปณฺฑุ วีณํ ได้แก่ พิณเหลืองเหมือนผลมะตูมสุก คือพิณใหญ่สีเหมือนทอง. บทว่า อาทาย ได้แก่หนีบรักแร้. บทว่า อุปสงฺกมิ ความว่า มารคิดว่า เราไม่รู้ที่เกิดของพระโคธิกเถระ ต้องถามพระสมณโคดมจึงจะหมดสงสัย แล้วแปลงเพศเป็นเด็กเล็กเข้าไปเฝ้า. บทว่า นาธิคจฺฉามิ ได้แก่ไม่เห็น. บทว่า โสกปเรตสฺส ได้แก่ถูกความโศกกระทบแล้ว. บทว่าอภสฺสถ ได้แก่ ตกไปที่หลังเท้า.

    จบอรรถกถาโคธิกสูตรที่ ๓